จาการ์ตา แก้ปัญหารถติดด้วยแอพในมือถือ!

‘participate and engage directly’ ส่วนหนึ่งจาก https://www.youtube.com/watch?v=vfNdBIcO0EA
เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

การจัดอันดับเมืองสุดยอดรถติดแห่งปี 2014 (ประกาศเมื่อต้นปี 2015) โดยบริษัทน้ำมันคาสตรอล (Castrol) กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ติดโผอันดับหนึ่งของรายการ จัดเกณฑ์ด้วยความถี่การเหยียบและปล่อยเบรกรถได้ 33,240 ครั้งต่อคัน/ต่อปี

ตัวเลขนี้มีนัยว่า ยิ่งเหยียบๆ เบรกๆ มากเท่าไร ก็แปลว่าถนนไม่โล่ง แปลว่ารถติดมากเท่านั้น

หันไปดูการจัดอันดับของ TomTom Traffic Index จัดอันดับความคล่องตัวของถนนด้วยระบบ open data ที่รวบรวมข้อมูลมาจัดอันดับกันราววันต่อวัน พบว่ากรุงจาการ์ตาไม่ติดอยู่ในโผเมืองที่มีรถติดที่สุดแล้ว (แต่กรุงเทพฯ ติดอยู่ในอันดับที่ 2)

แดเนียล จีโอวานนี (Daniel Giovanni) ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ ‘Jakarta Smart City’ อธิบายถึงโมเดลการแก้ไขระบบคมนาคมขนส่งพื้นฐานที่เมืองจาการ์ตาว่า

โครงการสมาร์ทซิตี คือระบบที่ถูกคิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเมือง ด้วยเทคโนโลยีทีเรียกว่า ‘open data’ ข้อมูลหรือคำบ่นที่ส่งตรงมาจากผู้ใช้ทางจริง มีทีมงานที่สำคัญคือ “รัฐ ระบบเชื่อมต่อ (เทคโนโลยีและการประมวลผล) และองค์กรเอกชน (Paticipant)

การแก้ปัญหาเมือง เราปล่อยให้รัฐเป็นผู้จัดการอยู่ฝ่ายเดียวได้ เพราะนอกจากเขาจะไม่ได้เป็นผู้รู้จริงๆ แล้ว ข้อมูลการจราจรมันเปลี่ยนทุกวัน สิ่งที่รัฐสำรวจวันนี้ พรุ่งนี้อาจใช้ไม่ได้ ฉะนั้น ข้อมูลที่จะถูกนำไปใช้ได้จริง ต้องเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา” แดเนียลกล่าว

Daniel Giovanni, Communications Manager for Jakarta Smart City

Jakarta Smart City คืออะไร?

บนเวที ‘การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริการประชาชนอย่างทั่วถึง’ ชวนคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะระบบ open data ในการแก้ปัญหาเมือง อย่างทีม YouPin, UDDC โครงการเมืองเดินได้เดินดี และมูลนิธิโลกสีเขียว

แดเนียลอธิบายถึงกลไกของ open data ใน Jakarta Smart City ว่าคือการให้ประชากรรายงานปัญหาด้วยเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน -ถ่ายรูป ติดโลเคชั่น และนำเสนอวิธีการแก้ไข- ส่งตรงไปยังรัฐ วิธีการคือ

หนึ่ง-คนส่งคำบ่น (report) เข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด 8 ช่องทาง คือ เฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์, อีเมล, online forum trust, ข้อความทางโทรศัพท์, โปรแกรม Lapor (แปลว่า report) และ แอพลิเคชั่น Qlue

สอง-ระบบจะนำข้อมูลนั้นไปจัดประมวลผล และรายงานไปที่หน่วยงานให้แก้ไข

สาม-เมื่อรายงานปัญหาไปแล้ว ระบบจะมีการจับเวลาว่าปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่ และแก้ภายในระยะเวลาเท่าไร โดยข้อมูลส่วนนี้จะถูกนำไปประเมินผลแสดงผลเป็นเส้นกราฟ เพื่อดูพัฒนาการแก้ปัญหาโดยภาครัฐ หรือใช้ข้อมูลตรงนี้ในการวิเคราะห์เพื่อซูมดูสาเหตุว่า ปัญหาใดที่แก้ได้ช้านั้นช้าเพราะอะไร

สี่-เมื่อแก้ไขแล้วระบบจะทำการส่งฟีดแบ็คกลับไป

ขีดเส้นใต้ห้าร้อยเส้น แดเนียลกล่าวว่า ทันทีที่ระบบรายงานไปแล้วทางการแก้ไขได้ช้า หรือแก้ไม่ได้ ระบบจะสอบถามไปยังหน่วยงานนั้นๆ ไม่ใช่เพื่อกดดัน แต่เพื่อถามว่าติดปัญหาที่ตรงไหน และระบบจะประสานงานกับใครเพื่อส่งทีมไปช่วยเหลือได้บ้าง

ทำไมระบบ Open Data จึงเวิร์ค?

“ข้อมูลที่เปิดเผยนี้ เป็นข้อมูลดิบ (raw data) นะครับ หมายความว่าหน่วยงานเอกชน หน่วยงานวิจัย หรือกระทั่งประชาชนสามารถหยิบนำไปใช้หรือพัฒนาต่อยอดได้ เพราะเราเชื่อว่า ลำพังแค่รัฐเก็บงำข้อมูลนี้ไปฝ่ายเดียว เขาก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร และเมื่อคนนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้มากพอ ข้อมูลดังกล่าวมันจะถูกส่งกลับมายังรัฐในอีกครั้งหนึ่ง”

แดเนียลให้สัมภาษณ์กับ WAY และอธิบายกลไกของ open data ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘การออกแบบระบบ’

ในความเป็น open data คือการทำงานบนข้อมูลในโลกสมัยใหม่ที่ทุกอย่างถูกส่งตรงมาจากผู้ใช้งานจริง ความลำบากของมันคือ การต้องรวบรวมข้อมูลมหาศาลแล้วจัดเก็บให้เป็นระบบเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนวิเคราะห์และส่งไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

แดเนียลกล่าวว่า Jakarta Smart City ได้ปรับเปลี่ยนระบบมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งความคิดดั้งเดิมของโครงการ คือการเปิดแพลตฟอร์มให้มาก เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ทางจริงส่งเสียงหรือคำบ่นเข้ามาได้ง่ายที่สุด ขณะที่ปัจจุบัน รัฐและบริษัทเอกชนต้องการพัฒนาระบบ ที่จะรวบรวมปัญหาจากทุกช่องทางแล้วไปเก็บไว้ยังจุดๆ เดียว

รัฐไม่ยอมทำงานฝ่ายเดียว

เมื่อถามว่าใครเป็นต้นคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาเมือง ต้องให้เอกชนและประชาชนเข้ามาร่วมด้วย

แดเนียลตอบกลับว่า “หน่วยงานรัฐ”

“เริ่มจากตั้งแต่ครั้งที่นายโจโค วิโดโด หรือ ‘โจโควิ’ ยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตา เขาประกาศ หรือหาเสียงเลือกตั้ง โดยการชูประเด็นแก้ไขปัญหาเมืองหลายๆ อย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปัญหารถติด ซึ่งทำให้ในปี 2557 เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียในที่สุด

“และอาจพูดได้ว่า เขาเป็นผู้เห็นว่า การทำงานแบบนี้ ต้องดึงหน่วยงานเอกชน หรือ Third Party เข้ามาออกแบบระบบ”

รัฐ เทคโนโลยี และหน่วยงานเอกชนผู้เกี่ยวข้อง คือสามเสาที่ Jakarta Smart City วางเอาไว้ แดเนียลอธิบายว่า เพราะรัฐไม่อาจรู้ปัญหาที่แท้จริง และบริษัทเอกชนก็ไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ รัฐจึงต้องเข้ามาอยู่ในระบบและเป็นผู้รับใช้แก้ปัญหาต่อ

Open Data = Transparency

เมื่อถามว่านอกจากกรุงจาการ์ตา มีแผนจะขยายโครงการอย่างนี้ไปในพื้นที่อื่นอีกไหม แดเนียลอธิบายว่า

ปัญหาเมืองของจาการ์ตา อาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญของเมืองอื่น แต่ลักษณะของ open data จะใช้ได้กับทุกปัญหา เมื่อมันมีปัญหา ประชาชนจะเริ่มตั้งคำถาม และพวกเขาสามารถนำข้อมูลดิบๆ ที่เปิดเผยเอาไว้ ไปคิดและหาทางออก เพื่อเสนอกลับมายังรัฐได้”

ก่อนบทสนทนาสั้นๆ จะจบลง แดเนียลย้ำถึงจุดประสงค์ของโปรเจ็คต์นี้ว่า “Jakarta Smart City เกิดขึ้นเพื่อช่วยรัฐออกแบบระบบ กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่มาจากข้อมูลที่แสดงอยู่ตรงหน้า ไม่ได้มาจากดุลพินิจ”

แยกย้ายกับมิสเตอร์แดเนียลไปแล้ว หนึ่งในทีมงานYouPin รำเพยขึ้นว่า

“จริงๆ โมเดลของป้ายุพิน ตั้งใจอยากจะให้ไปไกลถึงระดับนั้นเลยนะ แต่ของจาการ์ตา รัฐบาลเขาเอาด้วยไง แต่ของเราเขายังไม่ซื้อ”

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า