Open Data เพื่อกรุงเทพฯที่ดีกว่า

you pin L 50
ภาพ: ‘ยุพิน ทีม’

 

อนาคตของกรุงเทพฯจะดีขึ้นได้ ด้วยการเป็น Data-driven City

 

เพราะเชื่อว่าข้อมูลจะเป็นตัวขับเคลื่อนกรุงเทพฯให้ดีขึ้นได้ open platform อย่าง ‘ยุพิน’ สร้างขึ้นด้วยความหวังว่า อยากจะทำฟีดแบ็คงาน service ให้ครบลูป เพราะถ้าครบลูปเมื่อไหร่ service เหล่านั้นจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มต้นด้วยการรับฟังฟีดแบ็คประชาชน เวลาประชาชนมีฟีดแบ็คอะไร แล้วสามารถแจ้งกลับได้ง่าย (user-friendly) เมื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ ก็ไม่ใช่ส่งไปแต่ปัญหา ต้องจัดกลุ่มและจัดลำดับความสำคัญ (prioritize) ไปให้ด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น และจัดการปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่าเดิม

you pin L 13-1

“ถ้าเรามีแพลตฟอร์ม หรือ dashboard ใดๆ ให้เจ้าหน้าที่ ขณะที่อยู่ในสำนักงาน ก็จะสามารถมองเห็นปัญหาได้เลยว่าที่ไหนมีปัญหาอะไร เราจะทำอะไรกันต่อ วันนี้ดีกว่าเมื่อวานอย่างไร วันนี้ดีกว่าเดือนที่แล้วอย่างไร อาจจะพูดว่า data ประเภท API (Application Programing Interface) มันจะช่วยให้การทำงานดีมากขึ้น” ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ตัวแทนกลุ่ม ‘ยุพิน’ กล่าว

สำหรับข้อดีของ crowdsource แบบยุพิน ก็คือ ช่วยจัดลำดับความสำคัญของปัญหาได้แม่นยำยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ หากมีสองปัญหาตรงหน้า ปัญหาแรกมีคนหนึ่งคนอยากให้แก้ กับอีกปัญหาที่มีคนประมาณพันคนอยากแก้ แต่เดิมไม่มีเครื่องมือ ฉะนั้น เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ปัญหานี้กับอีกปัญหาหนึ่ง อะไรรุนแรงกว่ากัน แต่ถ้ามีเครื่องมือช่วย เจ้าหน้าที่จะตัดสินใจและจัดลำดับงานที่จะทำได้ทันที

“ยกตัวอย่างบอสตัน ทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในเมือง ถูกจัดการออกมาเป็น open data ซึ่งสามารถ track ได้ว่าหน่วยงานใดทำงานเป็นอย่างไร สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าวัดได้ขนาดนี้ จะไม่มีการใช้อารมณ์ หรือการวางแผนที่ไม่มีสิ่งใดมาสนับสนุนความคิดและการตัดสินใจ ก็จะช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้นมาก”

เมื่อบอสตันมี Mayor’s Dashboard ทุกๆ เช้า นายกเทศมนตรีจะสามารถดูได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเมือง ฐิติพงษ์เพิ่มเติมว่า ลองนึกภาพว่าถ้ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯบ้าง น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจและรับมือปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

Youpin Hack 073-1

ต่อยอด data แก้ปัญหาเมือง

กิจกรรม ‘Bangkok Urban Hack Day’ เมื่อ 29-31 กรกฎาคม คือการชักชวนผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์ นักคิด นักออกแบบ ไปจนถึงนักการตลาด ที่มีความสนใจและความหวังร่วมกันว่า กรุงเทพฯสามารถพัฒนากว่านี้ได้ มาใช้เวลาร่วมกัน 30 ชั่วโมง เพื่อผลลัพธ์คือ แอพพลิเคชั่นหรือแนวคิดต้นแบบในการแก้ปัญหาเมืองทั้งห้าด้าน คือ การเดินทาง ขนส่ง ทางเท้า, Universal Design, ชุมชนและการมีส่วนร่วม, มลภาวะและสิ่งแวดล้อม และ ผังเมืองและการจัดสรรพื้นที่

โดยทุกทีมอาศัยข้อมูลเบื้องต้นจาก ‘ยุพิน’ ซึ่งมีฐานะประหนึ่งยานแม่ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมรายงานสถานการณ์และปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน จากนั้นจึงต่อยอดและขยายไปในหัวข้อที่แต่ละทีมสนใจ

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้แบ่งเป็น 10 ทีม มีทั้งรวมกลุ่มกัน 4-5 คน และมาแบบลุยเดี่ยว แม้ในวันสุดท้ายจะมีการประกาศผล 3 รางวัลสำคัญ คือ ‘RattanaGoPin’ ได้รับรางวัลขวัญใจผู้เข้าชม (Popular Vote) ‘ดี ฟรี เย็น: Bangkok Survivor Guide’ ได้รางวัล Best Creativity จากคณะกรรมการตัดสิน และ ‘Khya: ขยะ’ ได้รางวัล Best Solution จากสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร

you pin L 81-1

RattanaGoPin

เป็นแอพพลิเคชั่นให้ข้อมูลกับคนที่มาเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ โดยผู้ใช้สามารถช่วยกันพินวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสถานที่ทรงคุณค่าเข้าไป โดยมีพื้นที่นำร่องเป็นชุมชนรอบคลองบางลำพู ซึ่งอ้างอิงจากรายงานสำรวจโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำร่วมกับ กทม.

สถานที่แนะนำส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ที่คนในชุมชนคุ้นเคยกันดี แต่คนข้างนอกอาจจะไม่ทราบมาก่อน จนอาจจะเดินผ่านเลยไป เช่น บ้านไม้โบราณร้อยปี หรือร้านแผ่นเสียงร้านแรกของประเทศไทย ฯลฯ จุดเหล่านี้จะถูกพินเอาไว้ เพื่อให้ใช้เป็นไกด์และเดินเที่ยวตามนี้ได้

โดยจุดประสงค์ของกลุ่ม ต้องการให้คนในชุมชนภาคภูมิใจและหวงแหนสิ่งดีๆ ในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น

you pin L 9-1

ดี ฟรี เย็น: Bangkok Survivor’s Guide

จากพฤติกรรมในเมือง ที่เราสังเกตได้จากเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรม คนเมืองจะมีที่พักผ่อนไม่มากนัก ถ้าไม่นับห้างสรรพสินค้า แทบจะหาพื้นที่เหล่านี้ได้ยาก หลักๆ จึงเป็นการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแนะนำพื้นที่สาธารณะ (public space) ใหม่ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือพื้นที่ที่คนยังไม่รู้ว่าสามารถเข้าไปใช้งานได้

ถ้าเราเข้าไปที่แอพพลิเคชั่นนี้ จะพบกับพื้นที่ใหม่ๆ ให้ลองเข้าไปใช้งาน ซึ่งเราสามารถเลือกกิจกรรมที่ต้องการได้ เช่น อ่านหนังสือ ดื่มกาแฟ ฯลฯ และถ้าเราพบที่ไหนน่าสนใจ ก็สามารถถ่ายภาพให้ข้อมูลแล้วพินเพิ่มไว้ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับบางที่ถ้ามีการใช้งานเยอะมาก แต่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่ควร อาทิ ห้องน้ำ ม้านั่ง ข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในสิ่งที่ยังขาดอยู่ได้ตรงจุด

เบื้องต้น ทีมงานตั้งใจให้ช่วยกันพินพื้นที่สาธารณะก่อน แต่ถ้าห้างหรือเจ้าของพื้นที่เสนอตัว อยากเปิดพื้นที่ให้คนอื่นเข้ามาใช้ได้ด้วย ก็จะยิ่งดี

you pin L 3-1

‘Khya: ขยะ’

มีการพัฒนาแนวคิดใน 3 เฟส โดยเฟสแรกเริ่มต้นด้วยการเปิดเพจเฟซบุ๊ค เฟสที่สองให้บริการผ่านเว็บไซต์ และเฟสที่สามจะพัฒนาแอพพลิเคชั่น โดยทีมมีตัวอย่างหน้าตาเว็บไซต์ พร้อมอธิบายการทำงานคร่าวๆ ใน 5 หัวข้อ

– ให้ความรู้เกี่ยวกับขยะที่เราผลิต เส้นทางการกำจัดขยะ ให้ข้อมูลราคากลางของขยะ

– ช่วยกันพินว่าจุดไหนมีขยะล้น หรือถังขยะไม่พอ ข้อมูลนี้จะส่งต่อให้ กทม. พิจารณาแก้ปัญหา

– Recycle Station ให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา พินว่าตรงไหนมีร้านรับซื้อของเก่าบ้าง จากนั้นทีมงานจะจัดทำแผนผังเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค

– เรียกรถเก็บขยะรีไซเคิลมาที่บ้าน โดยใช้ระบบคล้ายๆ กับ Grab และ Uber แต่งานนี้จะเป็น Grab Trash ซึ่งทั้งผู้ให้และผู้รับบริการต้องสมัครสมาชิกก่อน

– Event เสริม ให้ข้อมูลว่าขยะสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง อาทิ สอนประดิษฐ์ขยะ ทำของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก เป็นตัวกลางรวบรวมและประชาสัมพันธ์งานทอดผ้าป่าขยะที่มีผู้จัดอยู่แล้ว

you pin L 84-1

นอกจาก 3 ทีมที่จะได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาแนวคิดต่อไปแล้ว ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจและมีศักยภาพเพียงพอจะพัฒนาและต่อยอดให้สามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็น

‘ลุงสุขุม’ chatbot ให้ข้อมูลสายรถเมล์และระยะเวลารอรถเมล์ จากเดิมที่มีรถประจำทางเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถระบุพิกัดให้ผู้ใช้บริการทราบระยะเวลาในการรอได้

‘Bangkok Modular’ เห็นประโยชน์จากพื้นที่รกร้างทั่วกรุงเทพฯ ด้วยการผสมผสานเข้ากับที่พักอาศัยชั่วคราวติดตั้งสะดวกและบริการสำหรับแบ็คแพ็คเกอร์ โดยทีมงานต้องการให้คนตระหนักถึงการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ทั้งในเชิงธุรกิจและสังคม

‘อยู่ดี’ (Universal Design: UD) อุปกรณ์สวมข้อมือ (wearable device) ที่เน้นอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ใช้การโต้ตอบด้วยเสียง สามารถวัดค่าชีพจร ความดัน และความเคลื่อนไหวของตัวเครื่อง หากอยู่ใน pattern ที่อาจเกิดความเสี่ยง เช่น การล้ม จะส่งข้อมูลไปยังผู้ดูแลได้ทันท่วงที นอกจากนั้นยังสามารถแนะนำการเดินทางที่สะดวกที่สุดสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้การพัฒนากรุงเทพฯเป็นไปอย่างตรงใจและตรงจุดอย่างแท้จริง การอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากประชาชนโดยตรงนั้นจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับปรุงบริการและจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เชื่อมั่นร่วมกันว่า เราสามารถทำให้กรุงเทพฯดีขึ้นได้

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า