ละครโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อคนไทยสูงที่สุดอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ไม่ว่าจะผ่านกี่ยุคกี่สมัย ละครไทยก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ ด้วยลักษณะสื่อบันเทิงไม่ซับซ้อน เนื้อหาดราม่าที่มีแรงดึงดูดมัดใจผู้ชมทุกเพศทุกวัยให้นั่งอยู่หน้าจอได้ จึงแพร่หลายในวงกว้างได้มากกว่าสื่ออื่นๆ
จากวงเสวนาหัวข้อ ‘สังคมวิทยาของสิทธิมนุษยชน’ ใน ‘การประชุมวิชาการประจำปีด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ครั้งที่ 1: ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด’ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) ได้มีการนำเสนอบทความวิจัยเกี่ยวกับ ‘ละครกับการสร้างพื้นที่ทางสังคม’ ทั้งหมดสามหัวข้อ
บ้านตายาย
ถ้าพูดถึง ‘บ้านตายาย’ เราคงนึกภาพกระท่อมไม้หลังหนึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวในพื้นที่ป่าข้างๆ พระราชวัง ในละครไทยจักรๆ วงศ์ๆ แม้เราจะเคยเจอบ้านตายายอยู่ในละครไทยหลายต่อหลายเรื่อง แต่ยังคงไม่มีงานศึกษาในเชิงวิชาการเสียเท่าไร ที่จะบอกเล่าความสัมพันธ์ของบ้านตายายทั้งในแง่ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ รวมถึงการสร้างพื้นที่ทางมานุษยวิทยาและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
อิทธิเดช พระเพ็ชร นักศึกษาปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกศึกษาการสร้างพื้นที่ทางสังคมผ่านบ้านตายายในละครจักรๆ วงศ์ๆ พบว่าอยู่ในลักษณะ ‘ขอบ-ข้าม-เชื่อม’ จากการปรากฏอยู่ในละครยอดนิยม เช่น สี่ยอดกุมาร อุทัยเทวี สังข์ทอง และ แก้วหน้าม้า
- เชื่อม
บ้านตายายในละครจักรๆ วงศ์ๆ ได้สร้างความเป็นพื้นที่ในเชิงมานุษยวิทยา ให้เห็นจุดเชื่อมระหว่างชนชั้นของคนในลักษณะต่างๆ ในละคร ตั้งแต่กษัตริย์จนถึงชาวบ้าน
- ข้าม
บ้านตายายเป็นพื้นที่ใช้ข้ามไปมาระหว่างมนุษย์-ยักษ์ มนุษย์-ปีศาจ เห็นได้จากเหตุการณ์หลายครั้ง บ้านตายายมักเป็นพื้นที่ที่อมนุษย์สามารถเข้าถึงได้ การข้ามไปมาเช่นนี้ตอกย้ำโลกทัศน์แบบไตรภูมิพระร่วง ที่มีการจัดลำดับแบ่งชั้นทั้ง เทวดา มนุษย์ สัตว์ ให้ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้
- ขอบ
อย่างที่รู้กันดีว่า ละครจักรๆ วงศ์ๆ ล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับราชสำนัก ในเชิงสังคมวิทยา บ้านตายายได้แสดงให้เห็นขอบเขตของพระราชอาณาเขต มักจะอยู่พ้นจากกำแพงวังไปแล้ว ในเชิงภูมิศาสตร์ บ้านตายายจึงกลายเป็นสัญญะให้เห็นพื้นที่บริเวณชายขอบของชุมชนทางการเมืองละครจักรๆ วงศ์ๆ
นอกจากการสร้าง ‘พื้นที่’ ให้ผู้ชมได้เห็นร่วมกันอย่างกว้างขวางผ่านหน้าจอโทรทัศน์ อีกนัยสำคัญหนึ่งยังแฝงไว้ ซึ่งสร้างและจรรโลงความเชื่อทางวัฒนธรรมจารีตประเพณีแบบไทยๆ โดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์และความกตัญญูผ่านพื้นที่บ้านตายายได้อย่างแยบยล เห็นได้จากบทละครที่มักฉายให้เห็นชีวิตของคนที่หนีไปพักอยู่ในบ้านตายาย แล้วเมื่อหลุดพ้นจากช่วงเวลายากลำบากหรือได้ดิบได้ดีแล้ว จะต้องกลับมาตอบแทนบุญคุณตายายในฐานะผู้มีพระคุณ ที่ช่วยเลี้ยงดูและเป็นที่พึ่งพายามเดือดร้อน
บุพเพสันนิวาส
นอกเหนือจากบ้านตายายที่กลายเป็นภาพจำของทุกคนแล้ว กลางปีที่ผ่านมา กระแสละครไทยย้อนยุคกลับมาตื่นตัวอีกครั้ง หลังปรากฏการณ์ ‘บุพเพสันนิวาสฟีเวอร์’ ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย สร้างเรตติ้งสูงเป็นประวัติการณ์ จนเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมหลายอย่างตามมา เช่น คำพูดที่ติดปากไปทั่วประเทศว่า ‘ออเจ้า’ กระแสการแต่งกายชุดไทยย้อนยุคหรือการรับประทานอาหารตามตัวละคร
ไม่ปฏิเสธว่าการบอกเล่าปากต่อปากและการกระพือกระแสผ่านโลกออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ละครโด่งดัง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายทั้งหมดได้ว่าทำไมละครบุพเพสันนิวาสจึงประสบความสำเร็จได้เช่นนี้ แม้จะมีละครเรื่องอื่นที่นำเสนอแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์คล้ายกัน ฉายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อยู่ในช่องทางเผยแพร่เดียวกัน ได้รับโอกาสปั่นกระแสเหมือนกัน แต่กลับไม่ได้เข้าไปครองใจผู้ชมเท่ากับละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส
แล้วเหตุผลใดช่วยสนับสนุนให้ละครเรื่องนี้ต่างจากเรื่องอื่น?
กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ความสำเร็จของละครบุพเพสันนิวาสผ่านงานวิจัย เป็นกรณีตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าละครโทรทัศน์ไทยไม่ใช่ ‘สื่อบันเทิงบริสุทธิ์’ แต่เป็นสื่อบันเทิงที่แฝงคุณค่าอะไรบางอย่างไว้เบื้องหลัง จนกล่าวได้ว่า ละครมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมทางสังคมของผู้ชม
ยกตัวอย่างนางเอกใน ทวิภพ ย้อนกลับเข้าไปอยู่ในภพอดีตเช่นเดียวกับนางเอกเรื่อง บุพเพสันนิวาส แต่กลับไม่มีการปะทะกับชุดคุณค่าใดๆ ต่างจากละคร บุพเพสันนิวาส ที่ฉายให้เห็นถึงการตั้งคำถามต่อโลกทัศน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเพณีธรรมเนียม ลำดับชนชั้น ความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ต่างๆ บนฐานความคิดของคนในยุคปัจจุบัน
แม้ละครจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการกล่อมเกลา แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน กระบวนการกล่อมเกลาย่อมเปลี่ยนตามด้วย ความคิดแบบคนสมัยใหม่อาจมีหลายมิติที่ขัดแย้งกับคนในยุคเดิม แต่หากไปบดขยี้ขนบธรรมเนียมหรือชุดความคิดดั้งเดิม แน่นอนว่าจะต้องเกิดการต่อต้านจากผู้ชม
ดังนั้นการแสดงออกด้วยท่าทีน่ารัก ไม่ก้าวร้าวหรือต่อต้านกับชุดคุณค่าใดๆ บวกกับตอนจบที่ลงเอยอย่างประนีประนอมของละคร บุพเพสันนิวาส จึงเป็นสาเหตุหลักที่ช่วยให้คนดูคล้อยตามและเปิดใจรับคุณค่าที่แฝงมากับละครโดยสนิทใจ ทำให้ละครเรื่องนี้เข้าไปครองใจและซึมซับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติทางสังคมได้โดยไม่รู้ตัว
“เมื่อละคร บุพสันนิวาส ได้เสนอตอนจบเช่นนี้ ผู้ชมทุกคนที่อยู่ในฐานะคนยุคใหม่ อาจจะต้องตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ว่า เราเห็นดีเห็นงามไปกับบทสรุปของละครเรื่องนี้หรือไม่” กฤตภาศทิ้งท้าย
แปลความข้ามจักรวาลความรู้
ในเมื่อละครคือหนึ่งในศาสตร์ของศิลปะ นัยหนึ่งเราหลายคนคงคิดว่าพลังศิลปะ คงไม่สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างการสร้างนโยบายทางสังคมได้
ทว่า วริศ ลิขิตอนุสรณ์ นักวิชาการอิสระ ได้นำเสนอวิธีวิทยาและผลลัพธ์การทดลองการตีความนาฏยประดิษฐ์ร่วมสมัย ( Contemporary Choreography) ให้กลายเป็นหัวเชื้อในการสร้างนโยบายพัฒนาสังคม (Development Policy) เป็นการนำเสนอรูปแบบการแปลความภววิทยาในงานศิลปะให้กลายเป็นหัวเชื้อทางความคิดที่เป็นประโยชน์ในเชิงอรรถประโยชน์นิยมกับศาสตร์อื่น โดยไม่ได้อ้างแนวคิดเรื่องความเป็นมนุษย์หรือสุนทรียะ
ความสนใจเริ่มขึ้นจากการเป็นนักวิชาการทำงานอยู่ในโรงละคร (The Retreat, Democrazy Theatre Studio) พร้อมกับมีโอกาสได้เป็นผู้มีส่วนร่วมออกแบบนโยบายให้พรรคการเมืองหนึ่ง จึงรู้สึกว่าศาสตร์ทั้งสองแขนงในมือมีความสัมพันธ์บางอย่างที่น่าประหลาดซ่อนอยู่ และสามารถเชื่อมต่อกันได้ จึงลงมือศึกษา และพบว่า
การตีความแบบ ‘Traverse Interpretation’ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทำงาน
Traverse Interpretation คือการแปลความในลักษณะ มีอยู่ เป็นอยู่ และ เป็นไป จากจักรวาลความรู้หนึ่งให้ข้ามไปอยู่ในจักรวาลความรู้อื่นได้ และเกิดเป็น ‘ประโยชน์อื่น’ ในจักรวาลความรู้อื่น จึงทำให้โลกของนาฏยประดิษฐ์ร่วมสมัย และโลกของการพัฒนานโยบายทางสังคม มีลักษณะบางอย่างที่สามารถสื่อสารและเชื่อมเข้าด้วยกันได้
“งานชิ้นนี้ได้ประยุกต์แนวคิดต่างๆ เช่น The Dance of Agency ที่เล่าโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน ถ้าให้นึกถึงโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทุกคนคงนึกถึงเหล็ก รถไฟ เขื่อน ในขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานนั้นมันก็มีเรื่องของความหมายความเชื่อของมนุษย์ที่เข้าไปพัวพันในกระบวนการเต้นร่วมกันอยู่ด้วย”
“ดังนั้นเมื่อมองคนพิการผ่านท่าเต้นบางอย่าง จึงเกิดความคิดใหม่ได้ว่า ควรจะสร้างนโยบายใด เพื่อตอบสนองให้กับพวกเขา”
เช่นเดียวกับการทำงานของเสียงบนความรับรู้ของนักเต้นในโรงละคร มันข้ามไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของนักวิจัยเวลาไปลงพื้นที่ได้
เพื่อให้เห็นภาพ เมื่อเริ่มเปิดเพลง นักเต้นจะได้ยินเสียงทุกอย่างเข้ามาพร้อมกัน แต่ถ้าเลือกตัดทอนเสียงใดออกไป ได้ยินเสียงจังหวะของกลองก่อน ตามด้วยเสียงของเครื่องดนตรีอื่น จะทำให้การรับรู้ของนักเต้นเปลี่ยนไปจากเดิม
ไม่ต่างจากการลงพื้นที่ไปทำวิจัยหรือทำงานเชิงสังคมใดๆ ถ้าเราเลือกถามผู้นำชุมชนก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยเข้าถึงชาวบ้าน การรับรู้และผลวิจัยก็จะเปลี่ยนไปเป็นอีกมิติหนึ่ง