อำนาจนำของความเป็นชาย: ศึกษาผ่านวรรณกรรมและภาพยนตร์

หากนับเอา Too Many Way to Be No.1 ภาพยนตร์จากฮ่องกงหลังปี 1997 และ องค์บาก ภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในห้วงปีเดียวกันเป็นเกณฑ์ในการชี้วัดการสะท้อนภาพ ‘ความเป็นชาย’ ซึ่งโยงไปยังวิกฤติชาติ อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์จากทั้งสองประเทศบอกแทนความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองโดยมีพื้นอยู่บนความเป็นชาย ซึ่งไม่เพียงครอบคลุมชนชาติตะวันออกเท่านั้น

และไม่เพียงแต่ภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นชาย แต่ยังรวมไปถึงวรรณกรรม คลิปโฆษณามีดโกนหนวดซึ่งรณรงค์ภาพลักษณ์ว่าความเป็นชายแท้จริงควรเป็นเช่นไร ดนตรี แฟชั่น

เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ ดร.วันชนะ ทองคำเภา จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายผ่านโครงการบรรยายสาธารณะของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไว้ว่า กำเนิดของงานศึกษาด้านความเป็นชายหรือ masculinity นั้น มีหมุดหมายเริ่มต้นจากคำว่า man (mankind) อันหมายถึง มนุษย์ที่จำกัดจำเพาะไว้เฉพาะเพศชาย man (male) เท่านั้นมาตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างอารยธรรมตะวันตก

ในด้านของผู้ดำเนินรายการ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม จากภาควิชาวรรณคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แนะนำวันชนะในฐานะผู้ศึกษาความเป็นชายผ่านภาพยนตร์และวรรณกรรมไว้ว่า

“วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ภาควิชาวรรณคดีจัดกิจกรรมบรรยายสาธารณะ ซึ่งภาควิชาวรรณคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นสูงและชั้นนำด้านวรรณคดีศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเราภูมิใจมากในฐานะ Department of Literature แห่งเดียวในประเทศไทย

“อาจารย์วันชนะ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและศึกษาภาษาวัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทนั้น อาจารย์วันชนะจบจากภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องภาพตัวแทนของพระมหาธรรมราชาในวรรณกรรมไทย เป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้แนวทางด้าน cultural studies กับการศึกษาวรรณกรรมไทยในยุคแรก ต่อมาอาจารย์ก็เขียนงานเกี่ยวกับพระเอกผู้ชายในประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับแนวคิด New Historicism (ประวัติศาสตร์นิยมใหม่) ซึ่งสัมพันธ์กับอาจารย์วันชนะโดยตรง

“อาจารย์กำลังจะได้รับปริญญาเอกด้านสื่อและการสื่อสารศึกษาจาก Monash University ประเทศออสเตรเลีย วันนี้สิ่งที่อาจารย์จะบรรยายนั้นเกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นชายจากทั้งในวรรณกรรมและภาพยนตร์ไทย”

นัทธนัย ประสานนาม
รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม

ประวัติการเกิด Masculinity

วันชนะกล่าวว่า เบื้องต้นเราตัดสินความเป็นเพศบนฐานชีววิทยา ดังนั้นทุกอย่างในสังคมจึงปรับให้เป็นไปตามลักษณะทางกายภาพ จึงนำมาซึ่งปัญหาของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม นั่นคือกลไกทางอำนาจที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ และอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ masculinity ณ ที่นี้ไม่ได้วางอยู่บนฐานชีววิทยา แต่เป็นการประกอบสร้างทางสังคม กำหนดพฤติกรรมของความเป็นชาย ซึ่งความเป็นชายนั้นเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมและเงื่อนไขต่างๆ

“ประวัติเบื้องต้นของความ masculinity ซึ่งมองว่าภาพลักษณ์ของมนุษยชาตินั้นถูกตัดสินใจไว้แล้วว่าต้องเป็นผู้ชาย ดังนั้นในโลกตะวันตก เมื่อพูดถึงมนุษย์ เขาพูดถึงผู้ชาย ซึ่งแม้แต่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ก็ยังบอกว่าร่างกายที่สมบูรณ์คือร่างกายของผู้ชาย ทำให้ feminist ในคลื่นลูกที่สองพยายามต่อต้านสิ่งที่ผู้ชายเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิด Woman’s Studies ที่วิพากษ์วิจารณ์อำนาจของผู้ชาย นำมาซึ่งกระแสต่างๆ ทั้งการที่ผู้ชายลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับ feminist โดยการวิจารณ์ gender role (บทบทหน้าที่ตามเพศสถานะ) แต่มองบนฐานของประสบการณ์ของผู้ชาย อีกกลุ่มหนึ่งคือตอบโต้ด้วยความก้าวร้าว ที่เรียกตัวเองว่า Men’s Right Group”

วันชนะมองว่าการโจมตีของฝั่ง Feminist ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ของความเป็นชายด้วยเช่นกัน โดยแสดงออกผ่านการฆ่าตัวตาย วิกฤติของความเป็นชายเริ่มต้นพูดในมิติของเศรษฐกิจยุค Post-industrial เมื่อเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาท รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปเป็นการทำงานในออฟฟิศ มีอุตสาหกรรมที่เน้นการบริการและการสื่อสาร บทบาทของผู้ชายบนพื้นที่ของการทำงานจึงลดความสำคัญลง กระทบต่อเสถียรภาพทางอำนาจ จึงเกิดการแสดงออกด้วยความก้าวร้าว

“หากพิจารณาประวัติศาสตร์ของความเป็นชายจะพบว่า ด้วยความที่ผู้ชายผิวขาวได้รับอภิสิทธิ์มาโดยตลอด ทว่าเมื่อสังคมเปลี่ยน เช่น ผู้หญิงเข้ามาบนพื้นที่การทำงาน ได้รับเงินมากขึ้น หรือการที่คนผิวสีมีสิทธิมากขึ้น ทำให้ผู้ชายผิวขาวรู้สึกสูญเสีย ในแนวคิดหลังอาณานิคมนั้นยังระบุว่า ผู้ชายผิวขาววัยกลางคนพูดอะไรก็ถูกต้องเสมอ ดังนั้นความหลากหลายของโลกที่มอบสิทธิให้กลุ่มอื่นๆ มากขึ้นทำให้สิทธิของเขาเปลี่ยนไป”

วันชนะ ทองคำเภา
ดร.วันชนะ ทองคำเภา

อำนาจนำของความเป็นชาย

โดยสรุปแล้ว การศึกษาด้านความเป็นชาย แม้จะผ่านการสำรวจปริมณฑลภาพยนตร์ Too Many Way to Be No.1, องค์บาก และในส่วนของวรรณกรรม ลับแลแก่งคอย, โลกใบเล็กของซัลมาน หากมองย้อนกลับไปยังพื้นฐานแล้ว วันชนะใช้แนวคิดของ อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) นักคิดสายมาร์กซิสต์มาอธิบาย โดยมองว่าชนชั้นที่ได้เปรียบจะพยายามสร้างองค์ความรู้ให้ชนชั้นล่างหรือชนชั้นที่ด้อยกว่ายอมรับว่ามันเป็นไปเช่นนี้อยู่แล้ว

“ซึ่ง คอนเนลล์ (Raewyn Connell-นักสังคมวิทยา ผู้เขียน Gender and Power) ก็นำมาดัดแปลงแล้วบอกว่าผู้ชายเองก็สร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อบอกว่าปิตาธิปไตยนั้นดีอยู่แล้ว โดยสร้างผ่านตัวละครที่ชายเป็นอำนาจนำ ซึ่งถูกกำหนดคุณสมบัติสำคัญบางประการ เช่นความเป็นชายในครอบครัวไทยเชื้อสายจีน โดยเราเชื่อว่านั่นจะเป็นเจ้าสัว ลักษณะเหล่านี้คือเป็นความเป็นชายที่มีคุณค่าเชิงอุดมการณ์ที่จะสามารถกดขี่ผู้ชายได้ตลอดไป ซึ่งเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและบริบทสังคม”

อ้างอิงจากหนังสือ The End of Masculinity ในหัวข้อ ‘The Crisis of Masculinity and The Politic of Identity’ จอห์น แมคินเนส (John MacInnes) บอกว่า คอนเนลล์ไม่เข้าใจความเป็นชายอำนาจนำ เพราะกลุ่มคนที่เป็นชายอำนาจนำสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อกดให้สังคมเป็นไปตามนั้น แต่สังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงไม่สามารถบอกเช่นนั้นได้

“ทฤษฎีดังกล่าวถูกใช้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งถูกวิจารณ์ว่า สิ่งที่คนวิจารณ์แล้วชื่นชม เพราะเห็นว่า ทฤษฎี Hegemonic Masculinity แสดงให้เห็นว่าความเป็นชายนั้นมีความหลากหลาย ซึ่งสำคัญมาก สองคือ Concept of Hegemony เป็นการสะท้อนการทำงานของชนชั้น รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ว่ารูปแบบของชายอำนาจนำนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมต่างๆ

“แต่สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบจนต้องเปลี่ยนแปลง อย่างแรกเลยก็คือต้องการให้มี Complex Gender of Hierarchy ซึ่งจะบอกว่ามันมีองค์ประกอบเพียง hegemonic (ผู้มีอำนาจนำ) กับ subordinate (ผู้ใต้บังคับบัญชา) เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสังคมมีความซับซ้อนซึ่งเราต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาด้วย เช่น ในไทย เรามองว่านักเลงคือความเป็นชายอำนาจนำ แต่เป็นกลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมาย แล้วบอกว่าความเป็นชายแบบอื่นๆ คือ subordinate ไม่ได้ ต่อมาก็คือต้องมีการเน้น Agency of Woman เพราะการมองเรื่องชายอำนาจนำเพียงอย่างเดียวนั้น ในมุมมองของ Feminist แล้วมันคือการกีดกันผู้หญิงออกไป ผู้หญิงไม่มีปากมีเสียง แล้วไม่มีบทบาทใดๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงนั้นมีบทบาทความสำคัญ

“ดังนั้นในการพูดเรื่อง Hegemonic Masculinity (ชายอำนาจนำ) นั้นต้องพูดเรื่องผู้หญิงเข้าไปด้วย ที่สำคัญคือ แต่ละสังคมนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ชายจะมีอำนาจนำในการกดขี่ผู้หญิงเสมอไป บางสังคมผู้หญิงก็มีความเท่าเทียมมากขึ้นเช่นกัน นี่คือสิ่งที่คอนเนลล์พูดไว้ว่าเขาถูกวิจารณ์และนำมาปรับปรุง

“เช่นนั้นแล้ว ในความเป็นชายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบ metrosexual หรือ spornosexual เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารูปแบบใดคือความเป็นชายอำนาจนำ ซึ่งอาจารย์ได้เสนอวิธีในการสังเกตเอาไว้ ประการแรกนั่นคือ มันช่วยเอื้อให้มีการกดขี่ให้ผู้หญิงมีสถานะด้อยกว่าผู้ชายหรือไม่ อย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Fight Club ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ชายออฟฟิศที่เข้ามาต่อสู้กันใน Fight Club แห่งนี้ ในที่สุดผู้ชายคนนี้ก็พยายามปลุกระดมให้มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มออกไปนอกสังเวียน Fight Club ซึ่งความเป็นชายอำนาจนำในเรื่องนี้คือความเป็นชายแบบที่เน้นความรุนแรง ทั้งยังพูดถึงความเป็นชายหลากหลายแบบ ทั้งในแง่ของความเป็นหนุ่มออฟฟิศ แต่ความเป็นชายลักษณะนั้นทำให้เขารู้สึกเบื่อจนต้องหันมาหาความเป็นชายแบบที่ใช้ความรุนแรง”

โดยวันชนะกล่าวต่อว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อภาพยนตร์ดังกล่าวนั้นมีมากมาย ทั้งในแง่ยุคอุตสาหกรรมที่ความเป็นชายอำนาจนำคือความเป็นชายแบบออฟฟิศ ซึ่งลบเลือนความเป็นชายแบบเกษตรกรรมไป Fight Club จึงเป็นสถานที่ที่จัดตั้งขึ้นและกลับเข้าไปสู่ความเป็นชายที่แท้จริง ในความเป็นชายที่หลากหลายนั้นจึงนำมาสู่ประเด็นที่น่าสนใจว่า ความเป็นชายแบบใดคือความเป็นชายที่แท้จริง ทำให้ต้องย้อนกลับมาดูว่า ความเป็นชายแบบใดคือความเป็นชายที่กดขี่ผู้หญิง

“อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของ Localizing Masculinity ซึ่งเป็นการตั้งคำถามว่าทฤษฎีตะวันตกใช้กับไทยได้หรือไม่ ซึ่งสามารถใช้ได้ แต่ต้องดูบริบท ณ ที่นี้คือความเป็นชายแบบชนบท เนื่องจากในสายตาของตะวันตกเองก็มองว่าความเป็นชายแบบเอเชียนั้นก็มีความแตกต่าง คอนเนลล์เคยกล่าวเอาไว้ว่า เมื่อการติดต่อสื่อสารมีมากมายหลากหลาย สุดท้ายความเป็นชายจะเป็นแบบเดียวกันทั้งโลก ซึ่งแนวคิด Localizing (เฉพาะพื้นที่) แย้งในข้อนั้น เนื่องจากเห็นว่าความเป็นชายไม่มีทางที่จะเป็นเหมือนกันทั้งหมด โดยเขามองว่าผู้ชายเอเชียที่อาศัยอยู่ด้วยกันนั้นไม่ได้เป็นเกย์เสมอไป เนื่องจากผู้ชายเอเชียอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นปกติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต่อยอดไปยังเรื่อง ‘วาย’ ต่อไป”

เนื่องจากความเป็นชายแบบเอเชียนั้นเป็นแบบ soft masculinity ซึ่งผู้ชายสามารถร้องไห้ได้ โดยที่ความเป็นชายไม่ถูกลดทอนลง หรือกระทั่งหน้าตาของผู้ชายเอเชียที่ค่อนไปทางน่ารักมากกว่าหล่อเข้มอย่างชาวตะวันตก แม้ในทางภาษาเอง การชมผู้ชายตะวันตกว่า cute ก็นับได้ว่าเป็นการสบประมาท แต่เราสามารถทำสิ่งนั้นได้ในผู้ชายเอเชีย ในวงวิชาการจะเรียกว่า ‘Kawaiiness’ ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายที่มีที่มาจากการ์ตูนตาหวานของญี่ปุ่น ใช้สำหรับนิยามผู้ชายที่หน้าหวาน ขนตายาว รูปร่างสูงโปร่ง หรือผู้ชายที่มีความเด็กทั้งหน้าตา วุฒิภาวะ เช่น หนังเกาหลีสมัยก่อนที่ตัวละครชายจะมีความร้าย เกเร งอแง ซึ่งคล้ายกับความเป็นน้องชาย ทำให้ดูน่าดูแล แต่ในความเป็นน้องนั้น ก็ยังแสดงความเป็น hypermasculinity ผ่านกล้ามของเขา ถึงเวลาก็สามารถพึ่งพาได้ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ K-pop ค้นพบและมันได้ผลในตลาด ความเป็นชายลักษณะนี้เมื่อมองจากสายตาตะวันตกจึงมีความแตกต่าง

“ในส่วนของความเป็นชายแบบไทย จะแสดงความเป็น polygamy ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเป็นปกติในอดีต กระทั่งเมื่อมีเรื่องของการปรับประเทศให้เข้าสู่ความศิวิไลซ์เข้ามา ซึ่งความเป็นชายลักษณะนี้คือความเป็นชายที่มีอำนาจนำที่แท้จริง ซึ่งแตกต่างจากความเป็นนักเลง งานศึกษาของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่า ความเป็นนักเลงนั้นเป็นบุคคลที่อยู่นอกกฎหมาย และสิ่งที่เขามีนั้นคือ ‘อิทธิพล’ ไม่ใช่ ‘อำนาจ’ จึงไม่อาจนับได้ว่านักเลงคือส่วนหนึ่งของความเป็นชายอำนาจนำ” วันชนะกล่าวทิ้งท้าย

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า