ท่ามกลางบรรยากาศของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ นอกจากพรรคการเมืองพรรคต่างๆ ที่ถูกให้ความสนใจเป็นพิเศษแล้ว ยังมีอีกกลุ่มคณะที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษไม่แพ้กัน นั่นก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นที่กังขาอย่างมากโดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อาทิ การยกเลิกการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ของคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างแดน ซึ่งทำให้เกิดอุปสรรคในการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น หรือการยกเลิกการแสดงผลคะแนนการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ หรือกรณี ‘บัตรเขย่ง’ ที่มิอาจยอมรับได้ในสายตาของประชาชน
ด้วยผลงานเหล่านี้ จึงทำให้ประชาชนอดไม่ได้ที่จะจับตามอง กกต. อย่างใกล้ชิด และตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมในการทำงานของ กกต. ชุดนี้อยู่ตลอดเวลา จนนำไปสู่คำถามที่ว่า “กกต. มีไว้ทำไม?”
ด้วยความสงสัยเคลือบแคลงใจไม่แพ้กัน WAY จึงเดินทางไปพบกับ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่จะฉายภาพของหน่วยงานนี้ให้เราเห็นได้อย่างกระจ่างแจ้ง ซึ่งปัจจุบันเขาได้โยกย้ายที่ทางของตัวเองมาอยู่ในเส้นทางการเมือง ด้วยการร่วมงานกับพรรคเสรีรวมไทย และในการเลือกตั้งครั้งนี้ สมชัยลงผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 6
WAY เดินทางมาพบเขาในยามบ่าย ณ ที่ทำการพรรคเสรีรวมไทย หลังจากที่เขาต้องออกเดินสายเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของ กกต. ในฐานะที่มีประสบการณ์ตรง เรานั่งลงคุยกับเขาในห้องทำงาน เพื่อล้วงลึกให้ถึงตับไตไส้พุงของหน่วยงานจัดการเลือกตั้งที่เนื้อหอมที่สุดในทศวรรษนี้ และรวมไปถึงพูดคุยถึงการต่อสู้ของพรรคเสรีรวมไทยในสนามการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
กกต. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีพัฒนาการอย่างไร
ก่อนหน้าปี 2540 กระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้ง แต่ก็เกิดคำถามว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานราชการอยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายการเมือง การที่มหาดไทยเป็นผู้จัดการเลือกตั้งจะมีความเหมาะสมหรือไม่ จนเกิดแนวความคิดว่าจะต้องมีองค์กรอิสระสักองค์กรหนึ่งเป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้ง ซึ่งได้ตัวแบบจากต่างประเทศที่เขามี election commission หรือหน่วยงานจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรอิสระ
รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเกิดนวัตกรรมอันได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หน่วยงานเหล่านี้เป็นกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยหวังว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ เกิดการปฏิรูปการเมือง เกิดการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เป็นหน่วยงานกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับใคร
ถ้ามองพัฒนาการของ กกต. เรามี กกต. มาแล้ว 5 ชุด ชุดที่ 1 เป็นชุดที่สังคมมองว่าตรงไปตรงมา ทำงานจริงจัง ให้ใบเหลืองใบแดงเต็มที่ ได้รับคำชมเชย ตอนนั้นเป็นการทดลอง คนที่เป็น กกต. ในตอนนั้นเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาใหม่ บทบาทของแต่ละคนก็จะเป็นการทำงานตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดมาใหม่ กติกาบางอย่างก็ยังไม่ค่อยชัดเจน แต่มีความจริงจังในการทำงานมาก เช่น จะไม่ปล่อยให้คนผิดเข้าสภาได้ หรือเพียงแค่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตก็จะลงโทษทันที
ฉะนั้นในการจัดการเลือกตั้งคราวนั้นจึงเกิดภาพในลักษณะที่ว่า เอะอะอะไรก็แจกใบเหลือง เอะอะอะไรก็แจกใบแดง ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ ตัวอย่างเช่น ในสมัยนั้นที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังมาจากการเลือกตั้ง บางจังหวัดต้องเลือกกันถึง 6 รอบ แจกใบเหลืองแล้วใบเหลืองอีก หลังจากชุดที่ 1 หมดวาระก็เกิดการเปลี่ยนแปลง คือเราเห็นแล้วว่ากระบวนการแบบนี้บางครั้งมันกลายเป็นผลลบ หนึ่ง คือทำให้ต้องเสียเงิน สอง คือทำให้ท้ายที่สุดไม่สามารถเปิดสภาได้ จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็เลยมีการกำหนดว่า กกต. ต้องประกาศผลเลือกตั้งให้ได้ 95 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 60 วัน
พอเข้าสู่ยุค กกต. ชุดที่ 2 ฝ่ายการเมืองเริ่มที่จะเห็นฤทธิ์เดชของ กกต. แล้วว่าไม่ธรรมดา สามารถให้ใบเหลืองใบแดงได้ และมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล เลยมีกระบวนการแทรกแซง กกต. เช่น พยายามส่งคนของตัวเองเข้ามาใน กกต. พยายามจะทำให้กระบวนการสรรหาได้คนในฝั่งของตัวเองเข้าไปอยู่มากขึ้น
ภาพของ กกต. ชุดที่ 2 จึงเป็นภาพที่ประชาชนเริ่มตั้งข้อสงสัย ว่าทำงานอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เช่น เรื่องการหันคูหาเลือกตั้ง โดยปกติคูหาจะถูกวางไว้ให้ผู้ใช้สิทธิ์กาบัตรเลือกตั้งได้โดยไม่มีใครรู้ว่าเลือกใคร เพื่อให้เป็นพื้นที่เฉพาะของตัวเอง แต่ กกต. ชุดนั้นเขาอาจไปเห็นการเลือกตั้งในต่างประเทศที่หันคูหากลับด้าน ซึ่งเขามองว่าการวางคูหาในลักษณะนี้สามารถป้องกันการทุจริตได้จริง เพราะว่ามีความโปร่งใส ผู้ที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะล้วงหยิบโพย หรือหยิบโทรศัพท์มือถือออกมาไม่ได้เลย แต่ก็นำมาสู่การฟ้องว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่สุจริต
ผลก็คือ กกต. ชุดนั้นโดนสอบสวนเรื่องการกระทำผิด ทำให้ราชการเสียหายไป 2,800 ล้านบาทในการจัดการเลือกตั้งใหม่ ใช้เวลาในการสอบสวนเป็นปี จนได้คำตอบว่าประมาทเลิ่นเล่อ แต่ไม่ร้ายแรง เลยไม่ต้องจ่ายเงิน ซึ่งถ้าให้ผมวิจารณ์ในกรณีนี้ ผมก็ว่า กกต. ไม่ได้ผิด แต่คนก็รู้สึกว่า กกต. ผิด และมองว่า กกต. กระทำการบางอย่างที่อาจไม่ค่อยถูกต้องมากนัก
ทว่า กกต. ชุดที่ 2 ก็โดนข้อหาที่รุนแรงข้อหาหนึ่งว่าไปช่วยพรรคใหญ่ให้สามารถตั้งรัฐบาลได้ จากเหตุการณ์การเลือกตั้งในภาคใต้ เมื่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่งไม่ยอมส่งผู้สมัครเข้าแข่งขัน ทำให้เหลือผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวโดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องได้คะแนนจากคนที่มาใช้สิทธิเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปรากฏว่ายังไงก็ไม่ถึง เพราะคนในภาคใต้ก็บอยคอตการเลือกตั้งด้วย
กกต. ก็เลยขอให้มีการสมัครหลอกๆ จากพรรคอื่นให้ส่งผู้เข้าแข่งขันด้วย ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ แต่มันก็ทำให้ใครก็ตามที่ได้คะแนนมากกว่าไม่ว่าจะเท่าไรก็ตามสามารถชนะได้แบบถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ถูกมองว่าไปเอื้อพรรคใหญ่ให้สามารถเอาพรรคเล็กที่มาลงสมัครได้ กกต. ก็เลยถูกฟ้องดำเนินคดี โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า กกต. ผิด แต่ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่มีความผิด แต่กว่าจะถึงศาลฎีกา กกต. ก็ต้องติดคุกไปก่อนแล้ว
ผลที่ตามมา ทำให้ กกต. ชุดที่ 3-4 อยู่ในสภาวะคล้ายๆ กันก็คือ ไม่ว่า กกต. จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา หรือดำเนินการแบบไม่เป็นกลาง ก็จะถูกอีกฝ่ายมองว่าเข้าข้างอีกฝ่ายอยู่ดี และไม่มีความเป็นกลางอยู่ดี
ส่วน กกต. ชุดที่ 5 ซึ่งเป็นชุดปัจจุบันก็ถูกสังคมตั้งคำถามเยอะ คำถามแรกคือที่มาของ กกต. แม้จะมาจากการสรรหา แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการรับรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งก็คือคนที่รัฐบาลรัฐประหารของ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ฉะนั้นความรู้สึกว่าที่มาของ กกต. ชุดนี้อาจเป็นคนของ คสช. หรือไม่ ก็เป็นคำถามแรกของประชาชน ว่าท่านมีความเป็นกลางจริงหรือไม่ หรือเป็นกลไกของคณะรัฐประหารที่เข้ามาจัดการเลือกตั้งหรือเปล่า
คำถามที่สอง ก็มาจากพฤติกรรมของ กกต. ในการตัดสินเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการตัดสินยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ก็ดำเนินการอย่างรวดเร็ว และข้อกล่าวหาก็ดูจะไม่ชัดเจน เช่น การยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่มีการกู้เงินจากคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่ง กกต. บอกว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้เงินได้ เพราะเงินกู้เป็นเงินที่ควรรู้ หรือควรจะรู้ว่ามาจากแหล่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วเจตนาของมาตรานี้เขาไม่ได้หมายถึงเงินกู้หรอก เขาหมายถึงเงินสีเทา เงินที่มาจากธุรกิจผิดกฎหมาย แล้วเอามาฟอกเงินด้วยการบริจาคผ่านพรรคการเมือง โดยหวังผลว่าถ้าพรรคการเมืองนั้นได้เป็นรัฐบาลก็จะมาคุ้มครองธุรกิจสีเทาต่อไป
แต่ กกต. ไปตีความว่าเงินกู้คือเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 1 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พูดถึงเรื่องรายได้ของพรรคการเมือง ซึ่งไม่มีคำว่าเงินกู้อยู่ในมาตรานั้น เขาจึงตีความว่าเงินกู้เป็นเงินผิดกฎหมาย
ผมก็แย้งว่าแล้วพรรคอื่นอีกหลายพรรคเขาก็กู้ พรรคดังๆ หลายๆ พรรคเขากู้กัน 10 ล้าน 20 ล้าน เพราะพรรคการเมืองก็ต้องมีเงินในการหล่อเลี้ยงอยู่แล้ว ก็เกิดการโต้แย้งว่าเขากู้น้อย กู้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่มีกฎหมายบอกด้วยซ้ำว่า ถ้ากู้ไม่ถึง 10 ล้าน หรือกู้น้อยจะไม่ผิด ก็เลยทำให้สังคมเกิดความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยหนักมากขึ้นว่า กกต. เป็นกลางจริงหรือเปล่า ทำไมพรรคบางพรรคคุณเล่นงานได้ แต่ทำไมพรรคบางพรรคกลับกลายเป็นว่ายื่นเรื่องไป ถูกปัดตกมาก็มี
กกต. ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอในเรื่องความไม่มีประสิทธิภาพและความล่าช้าในการทำงาน ปัญหาเหล่านี้มีปัจจัยมาจากอะไร
มีปัจจัย 2 ส่วนที่ทำให้การทำงานของ กกต. มีความล่าช้า ส่วนแรกคือส่วนที่เป็นยอดบนของ กกต. คือคณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 7 คนตามกฎหมายใหม่ ฝ่ายที่ออกแบบให้คน 7 คนนี้ มาดำรงตำแหน่งเป็น กกต. คือกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งออกแบบกลไกโดยนึกถึงคนที่ดี มีความสามารถ มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เลยคิดว่าคนที่จะมีองค์ประกอบแบบนี้ได้จะต้องมีตำแหน่งระดับสูง นี่คือตรรกะของเขา ซึ่งผมว่าผิด
ถ้าคุณเป็นส่วนราชการ หรือเป็นอธิบดี ต้องเป็น 5 ปี ซึ่งไม่ง่ายนะ หรือบางหน่วยงานแทบจะหาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 5 ปี ย้อนไปในประวัติศาสตร์ไทยก็แทบไม่ค่อยมีเลยนะ อธิบดีกรมใหญ่ๆ สำคัญๆ ที่เขาแย่งกันขึ้นมาเนี่ย การจะดำรงตำแหน่งถึง 5 ปี ก็แทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราจึงได้อธิบดีที่มาจากหน่วยงานที่อาจไม่ได้มีการแข่งขันมากนักเข้ามาดำรงตำแหน่ง กกต. ผมเคยยกตัวอย่างการสรรหา กกต. ชุดที่ 5 ซึ่งสุดท้าย สนช. ก็ไม่ได้รับรองนะ มีอธิบดีกรมหม่อนไหมได้เข้ามาในกระบวนการสรรหาด้วย ซึ่งเป็นกรมที่ไม่ได้มีความรู้หรือความชำนาญในการจัดการเลือกตั้ง เพียงแต่ระดับของเขามันได้
ถ้าเป็นอาจารย์ก็ต้องดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์มาแล้ว 5 ปี ซึ่งมันก็ทำให้เราได้ศาสตราจารย์ที่ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดเลือกตั้งหรือการเมืองการปกครองนักเข้ามาเป็น กกต. ในขณะที่คณบดีคณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเขาอาจมีความรู้ด้านการเมืองมากกว่า แต่ว่าต้องเป็นคณบดีเกิน 5 ปี ซึ่งไม่ค่อยจะมีเท่าไร คนเหล่านี้จึงถูกตัดสิทธิออกไป ในปัจจุบันเราเลยได้ศาสตราจารย์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามา ซึ่งก็ไม่ได้มีความรู้โดยตรงทางด้านการจัดการเลือกตั้ง
กระบวนการสรรหา กกต. มีข้อจำกัดว่าถ้าใครจะมาดำรงตำแหน่งนี้ คุณต้องมีประวัติว่าเป็นข้าราชการระดับสูง และดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งหาได้น้อยมาก และคำถามสำคัญคือ ข้าราชการระดับสูงแบบนี้ เขาไม่อิงการเมืองเลยเหรอ เขาไม่วิ่งตามนักการเมือง หรือไม่เป็นคนของนักการเมืองที่ถูกเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเลยเหรอ
ความก้าวหน้าของอาชีพข้าราชการในสังคมไทย ผมว่าจำนวนไม่น้อยมาจากการวิ่งเต้นเส้นสาย นั่นหมายความว่า ถ้าวันหนึ่งคุณมาทำงานกำกับดูแลฝ่ายการเมือง คุณจะสลัดเส้นสายเหล่านั้นออกไปได้หรือเปล่า หนี้บุญคุณยังมีไหม
นี่ก็เป็นส่วนบนของพีระมิดที่ทำให้เราไม่ได้คนเก่งๆ เข้ามาใน กกต. ทั้งๆ ที่รอง ผบ.ตร. บางคนอาจช่วย กกต. จัดการเลือกตั้งมาโดยตลอด รู้ปัญหาต่างๆ มากมาย หรืออาจารย์ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ที่สอนด้านการเมืองการปกครอง รู้ปัญหาสารพัด แต่คนเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิที่จะสมัคร สุดท้ายเราก็ได้ข้าราชการหลังเกษียณมารับตำแหน่งกินเงินเดือน แล้วก็ทำงานไปเรื่อยๆ แบบที่ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่กล้าออกมาตอบคำถามสื่อ เพราะตัวเองก็ไม่รู้
ปัญหาประการที่สอง ก็คือโครงสร้างระดับล่างที่สนับสนุนการตัดสินใจของยอดพีระมิด ก็คือสำนักงาน กกต. ที่ใหญ่โต มีคนเป็นพัน ปัญหาคือคนเหล่านี้ไม่ได้ทำงานแบบองค์กรอิสระ แต่ทำงานแบบหน่วยงานราชการ แล้วรับเงินแบบองค์กรอิสระ ราชการได้ 100 เขาได้ 150 การทำงานแบบข้าราชการคือทำน้อย ผิดน้อย ทำมาก ผิดมาก เพราะงั้นถ้าไม่ทำเลยก็ไม่ผิด ฉันจะจัดเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ไปทำไม ถ้าทำแล้วมีโอกาสผิด แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ผิด นี่คือวิธีแบบหน่วยงานราชการที่ทำให้ไม่มีนวัตกรรมออกมาเลย เพราะของเดิมที่มีก็ดีอยู่แล้ว บัตรเลือกตั้งใช้มา 50 ปี ก็ใช้กันต่อไป ไม่เคยคิดว่ามันมีเทคโนโลยีอื่นที่จะมาใช้แทนกันได้
ในบางประเทศเขามีการเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ตกันแล้ว แต่เขาใช้ในกรณีเฉพาะ เช่น คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมากๆ อย่างออสเตรเลีย บางพื้นที่เป็นทะเลทราย ไปไหนมาไหนลำบาก เขาก็ยอมให้คนเหล่านี้เลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ตได้ หรือประชากรที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ ถ้าให้เขาเดินทางมาเลือกตั้งที่สถานทูตก็จะมีความยากลำบาก เขาก็ให้เลือกตั้งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และมีเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและป้องกันไม่ให้มีการเข้าไปแฮกข้อมูลได้ หรืออาจนำมาใช้กับกลุ่มคนพิการที่อาจเดินทางลำบาก ก็มีการให้เลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ตได้ นี่คือวิธีคิดที่หลายประเทศเขาเปลี่ยนไปแล้ว แต่ กกต. ยังไม่ยอมทำ
การเลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ต ในสมัยที่ผมเป็น กกต. ผมทำเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2560 ด้วยซ้ำ ทำโปรแกรมเสร็จแล้วก็นำไปให้คนไทยในต่างประเทศได้ทดลองใช้ เช่น คนไทยที่ไปอยู่ญี่ปุ่น จอร์แดน และนอร์เวย์ ก็ฟีดแบ็กกลับมาดีมาก กระทรวงการต่างประเทศก็บอกให้ใช้โปรแกรมนี้เลย แต่พอมาถึง กกต. ชุดปัจจุบัน ท่านก็ยกเลิก โยนทิ้งไป
การรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ยุคผมก็ทำแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘Rapid Report’ วิธีใช้คือให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งแต่ละคน โหลดแอปพลิเคชันไว้ในมือถือ แล้วข้อมูลจะวิ่งตรงมาที่ส่วนกลาง โดยไม่ต้องไปผ่านเขต ไม่ต้องผ่านจังหวัด ไม่ต้องมีอะไรมากรองข้อมูลไว้ ทุกอย่างวิ่งตรงเข้าส่วนกลาง และส่วนกลางไม่จำเป็นต้องแตะข้อมูลด้วย เพราะข้อมูลนี้จะถูกโปรแกรมคำนวณ รวมคะแนนโดยอัตโนมัติ นำเสนอต่อประชาชนในทุกวินาทีที่มีการนับคะแนน หรือผมทำแอปอีกตัว ซึ่งเมื่อคุณใส่ข้อมูลเลข 13 หลักลงไป มันจะขึ้นมาเลยว่าคุณต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งไหน โรงเรียนอะไร ถนนอะไร
แต่ด้วยวิธีการคิดแบบราชการก็ทำให้ กกต. ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะจะทำไปทำไม ถ้าไม่ทำก็ไม่ผิด กกต. ก็เลยทำงานเชิงรับไปเรื่อยๆ แล้วก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนต่อไป
ประเด็นที่ต้องจับตามองการทำงานของ กกต. ในการเลือกตั้ง 2566 มีอะไรบ้าง
พอมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะถึงในเร็วๆ นี้ มีหลายเรื่องที่ กกต. คิดจะทำและส่งผลให้เกิดคำถามตามมา เช่น การยกเลิกระบบรายงานผลแบบเรียลไทม์ บอกว่าเงินไม่มี แพงไป ทำแล้วไม่แน่ใจว่าจะสามารถจะทำงานได้จริง ก็เลยยกเลิก แล้วกลับไปใช้ระบบรายงานผลแบบที่ใช้กันมา 20 กว่าปี เหมือนการเลือกตั้งปี 2544 ก็เลยเกิดคำถามว่า จะมีสิ่งที่ไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่
ประเด็นต่อมา คือการเลือกตั้งของคนไทยนอกราชอาณาจักร ซึ่งคนไทยเหล่านี้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่กลับกลายเป็นว่ามีการออกแบบวิธีการให้คนเหล่านี้เข้าถึงการเลือกตั้งได้อย่างยากลำบาก หลายประเทศที่เคยมีระบบการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ กกต. ก็ไปยกเลิก แล้วให้ไปใช้สิทธิที่สถานทูต ซึ่งเลวร้ายมาก ถ้าคุณอยู่ในประเทศใหญ่ และสถานทูตมีอยู่ที่เดียวที่เมืองหลวง คุณก็ต้องนั่งรถไฟ นั่งเครื่องบินหลายชั่วโมงเพื่อมาใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วใครเขาจะมา
แล้วที่เลวร้ายกว่าคือ บางประเทศจัดให้มีการเลือกตั้งในวันธรรมดา เช่น วันอังคาร วันพฤหัสบดี เป็นต้น แทนที่จะจัดวันหยุดให้คนไทยสามารถมาใช้สิทธิได้โดยง่าย ซึ่งจุดนี้ กกต. จะหวังผลอะไรผมก็ไม่อาจทราบได้
แล้วการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่เคยมี ซึ่งมันสะดวกและง่าย เพราะทุกประเทศเขาก็มีระบบไปรษณีย์ ประชาชนอยู่ที่บ้าน รับบัตรเลือกตั้ง กาเสร็จ ก็ส่งบัตรกลับประเทศ ผ่านทางสถานทูต เป็นวิธีการที่ใช้กันทั่วโลก แต่คุณก็ไปยกเลิกโดยไม่ทราบสาเหตุ จะอ้างว่าชื่อที่อยู่อาจไม่ตรงก็อ้างไม่ได้หรอก เพราะคุณมีระบบการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าอยู่แล้ว พวกเขาก็ต้องกรอกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เพราะงั้นชื่อที่อยู่มันก็จะต้องตรงอยู่แล้ว มันเลยเป็นคำถามว่ามีอะไรบางอย่างที่ดูแปลกๆ สำหรับ กกต. ชุดนี้
เรื่องที่สาม คือ เรื่องบัตรเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ กกต. กำหนดรูปแบบให้มีบัตร 2 ใบ คือบัตรลงคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับบัตร ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งบัตรแบบบัญชีรายชื่อไม่มีปัญหา เพราะมีทั้งชื่อพรรค โลโก้พรรค และหมายเลข แต่บัตรแบบแบ่งเขต เขาทำเป็นบัตรโหล คือทุกเขต ทั้งประเทศ ใช้บัตรเหมือนกันหมด ทำแค่ตัวเลข ไม่มีโลโก้พรรค ไม่มีชื่อพรรค บัตรโหลทำง่าย คือพิมพ์ทีเดียวใช้ทั้งประเทศ ส่งไปพร้อมๆ กันทีเดียว แต่ถามว่ามันก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนไหม เวลาประชาชนเข้าถึงคูหา เขาอยากจะตรวจสอบขั้นสุดท้ายว่าเบอร์นั้นมันใช่พรรคที่เขาจะเลือกไหม ถ้ามีโลโก้พรรคติดอยู่ ก็ทำให้เขาสามารถกาได้อย่างมั่นใจ แต่ตอนนี้คือเข้าไปถึงคูหาก็ต้องเสี่ยงเอาเอง นี่คือความยากลำบากที่ประชาชนต้องเผชิญ
คำถามต่อมาคือบัตรโหลแบบนี้ ปลอมง่ายไหม ทุจริตง่ายไหม คำตอบคือง่ายมาก เพราะบัตรมันเหมือนกัน คุณจะไปใส่ที่ไหนก็ได้ หรือแม้กระทั่งบัตรที่กาไปแล้วก็ยังโยกย้ายไปที่ต่างๆ ได้ หรือในการเลือกตั้งล่วงหน้า คุณอาจกาเบอร์นี้ เขตนี้ แต่บัตรอาจถูกส่งไปให้อีกเขตหนึ่ง ก็กลายเป็นคะแนนของคนอื่นไป นี่เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ กกต. ก็ไม่คิดที่จะแก้
ตอนนี้เขาดื้อ เขาจะเดินแบบนี้ ก็เหมือนตอนเอาราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมาคิดรวมกับประชากรในพื้นที่ ผมพูดไปตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2566 ก็ดื้ออยู่ 14 วัน ยังมาบอกผมอีกว่าทำแบบนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงยอมส่งให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัย และกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ 3 มีนาคม 2566 ทำให้การประกาศเขตเลือกตั้งช้าไป 17 วัน พรรคการเมืองเขาก็วุ่นวาย กกต. เองไม่เปิดรับฟัง และคิดว่าตัวเองถูก แทนที่จะเดินไปในทางที่มีปัญหาน้อย ก็กลายเป็นเดินไปในทางที่มีปัญหามากตลอดเวลา
กกต. ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าถ้าอยากจะเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เรื่องอะไรต่างๆ เหล่านี้ จะต้องจัดการ แก้ไข เปลี่ยนแปลง ไม่งั้นสุดท้ายแล้วจะไปสู่คำถามที่ว่า เรายังจำเป็นต้องมี กกต. อยู่หรือเปล่า
มีประเทศไหนที่ไม่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างราบรื่นไหม
มีๆ อย่างเยอรมนีเขาใช้สำนักทะเบียนราษฎร และสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการจ๋าเลย แต่ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ อยู่ที่ว่าหน่วยงานราชการเขามีความเป็นมืออาชีพและอยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายการเมืองแค่ไหน ถ้าคุณเป็นข้าราชการมืออาชีพ และฝ่ายการเมืองมายุ่งไม่ได้ ก็ไม่มีปัญหา
ทั่วโลกก็มีโมเดลแตกต่างกัน แต่โมเดลของการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นโมเดลที่ใช้เยอะที่สุดแล้ว น่าจะสักประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศบนโลกนี้
แสดงว่าหากระบบราชการมีความเอนเอียง ก็ไม่เหมาะที่จะจัดการเลือกตั้งเอง
อย่างประเทศไทย ผมก็มองว่าจำเป็นต้องมี กกต. ถ้าให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง เหมือนสมัยก่อนปี 2540 มันเลวร้ายมาก อย่างจังหวัดปทุมธานี ผมเคยไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รถตู้คันหนึ่งมีเด็กประมาณ 6-7 คน ก็วนกันใช้สิทธิไปทีละหน่วย ผมก็ให้ตำรวจตระเวนชายแดนไปจับ ปรากฏว่าเป็นลูกนักการเมือง อายุยังไม่ถึง 18 ปีเลย คำถามก็คือกรรมการประจำหน่วยแต่ละหน่วยปล่อยให้มาใช้สิทธิได้อย่างไร เขาก็รู้กันหมด กาชื่อประชาชนทิ้ง แล้วมหาดไทยก็ไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้
หรือในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก มีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุด 92.5 เปอร์เซ็นต์ ได้โล่จากกระทรวงมหาดไทยว่าเป็นอำเภอที่ประชาธิปไตยจ๋า แต่ที่จริงคือเขากาใส่หีบทั้งหมด ยอดคนใช้สิทธิก็เลยสูงลิ่ว หลายคนได้เป็น ส.ส. ตลอดชีพก็ด้วยวิธีการนี้
เหตุการณ์เมื่อปี 2562 อย่างบัตรเขย่ง บัตรเลือกตั้งมาถึงล่าช้า จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้อีกไหม
เรื่องบัตรเขย่ง จริงๆ ผมเห็นใจเขานะ มันไม่มีทางที่มันจะเป๊ะๆ หรอก แต่มันก็ไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรนัก หากไม่ได้มีจำนวนมากมาย เรื่องบัตรล่าช้า ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเขามีการออกแบบระบบที่ดี มอนิเตอร์งานตลอดเวลา และไม่ได้ทำงานแบบราชการ เมื่อเวลาเจอปัญหาก็คุยกัน หาทางแก้ปัญหา มันก็จะไม่เป็นปัญหา แต่คราวที่แล้วเขาขีดเส้นไว้ว่าถ้ามาเลยเวลานี้โยนทิ้งหมด ทั้งๆ ที่จริงมันไม่จำเป็นต้องโยนทิ้งทั้งหมด
ถ้าเขาใช้ความพยายามมากกว่านี้ เช่น บัตรมาถึงคาร์โกแล้ว ก็กระจายไปตามเขตต่างๆ ถ้าเขตไหนทันก็นับ เขตไหนไม่ทันก็ไม่ต้องนับ ก็ยังจะดีกว่า มันสามารถแก้ปัญหาให้บัตรจำนวน 1,700 กว่าใบ ไม่เสียเปล่า
ข้อเสนอการปฏิรูป กกต. ของพรรคเสรีรวมไทย มีหลักการอย่างไร
หนึ่ง คือที่มา ต้องทำให้ กกต. ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ส่วนกระบวนการสรรหาก็ควรมีกรรมการสรรหาที่มาจากภาคประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ เช่น สมมุติให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 2 คน และ ส.ส. ฝ่ายค้าน 2 คน เข้ามาทำหน้าที่ ก็จะมาคานกันเอง
สอง คือ ลดสเปกให้ต่ำลง เพื่อให้คนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ตำแหน่งไม่ได้สูง สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่ง กกต. ได้
สาม ต้องถอดถอนได้ ถ้าคุณทำผิด ก็ต้องมีกลไกที่ใช้ในการถอดถอนออกจากตำแหน่ง
การกลับไปใช้ระบบบัตร 2 ใบ จะส่งผลต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างไร
ระบบบัตร 2 ใบ เป็นระบบที่ถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการแยกการใช้สิทธิ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเลือก ส.ส.เขต และอีกส่วนหนึ่งก็เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ว่าระบบที่ออกแบบมาในขณะนี้เป็นระบบการนับคะแนนแบบคู่ขนาน ก็คือบัตรใครบัตรมัน คะแนนใครชนะสูงสุด คนนั้นก็ได้เป็น ส.ส. ส่วนคนที่แพ้ ต่อให้แพ้แค่ 1 คะแนน แต่คะแนนที่เหลือก็จะเทลงน้ำหมด ไม่ได้เอามาคิดรวมอะไรทั้งสิ้น
ส่วนแบบบัญชีรายชื่อก็คิดเป็นสัดส่วนจาก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเรามี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ถึงคุณจะได้เขตแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณถูกตัดสินในบัญชีรายชื่อ การออกแบบเช่นนี้พรรคใหญ่จึงได้เปรียบ เพราะว่า หนึ่ง เขากินคะแนนเขตแล้ว และมีแนวโน้มว่าเมื่อกินคะแนนเขตได้แล้วก็จะมากินคะแนนบัญชีรายชื่อด้วย ซึ่งก็มีงานศึกษาที่บอกว่าพอคนเลือกเขตแล้ว ก็มักจะเลือกบัญชีรายชื่อพรรคเดียวกัน
ดังนั้น ถ้าพรรคใหญ่เขาได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อก้อนใหญ่มาแล้ว เขาก็จะได้ ส.ส.เขตก้อนใหญ่ด้วย ในขณะที่ตอนนี้หลายคนประเมินว่า พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ ส.ส.เขต เป็นกอบเป็นกำ 180-200 คน แล้วก็จะได้จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ อีกสักประมาณ 40-50 คน เพราะฉะนั้นโอกาสที่พรรคเล็กพรรคน้อยจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะน้อยลง พรรคที่ได้หนึ่งเสียงเหมือนเมื่อก่อนจะสูญพันธุ์ และพรรคอื่นๆ ก็จะได้สัดส่วนน้อยลงตามมา
ภายใต้ระบบนี้ คำถามก็คือว่ามันจะทำให้เกิดผลอะไร คำตอบก็คือมันจะทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพียงแค่ 1-2 พรรค และถ้าพรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ท้ายสุดมันก็อาจทำให้ระบบรัฐสภาเกิดการผูกขาดขึ้นมา และนำไปสู่ภาวะที่เราเคยเจอในอดีต คือเผด็จการรัฐสภา ฝ่ายค้านมีจำนวนน้อยมาก จนไม่สามารถจะตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลได้เลย
แน่นอนว่ารัฐบาลเข้มแข็ง แต่สำหรับสังคมประชาธิปไตย การออกแบบระบบการเมืองคุณจำเป็นต้องมีระบบในการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้ารัฐบาลเข้มแข็งเกินไป ตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย ก็เท่ากับว่าโอกาสที่จะมีการทำผิดกฎหมายจากฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากเองก็สูงมาก อาจออกกฎหมายตามใจชอบ อาจบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่สนใจว่าจะต้องมีการตรวจสอบได้ แม้ฝ่ายค้านจะขอเปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็อาจเสียงไม่พอ เป็นต้น
ผมคิดว่า ณ วันนี้ เราต้องทำให้สังคมไทยมีความสมดุลในระดับหนึ่ง ไม่สวิงจนเกินไป จนทำให้เกิดเป็นปัญหาเหมือนแต่ก่อน
การที่นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ส่งผลกระทบอย่างไร
หลักการที่กำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เคยอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ด้วยความเชื่อในเชิงเหตุและผลว่า การที่นายกฯ เป็น ส.ส. จะทำให้เขามีความเชื่อมโยงกับประชาชน รู้ปัญหาของประชาชน ผมเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ใครก็ตามที่จะมาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ถ้าหากคุณมีโอกาส คุณควรลง ส.ส.เขต สักครั้งหนึ่งในชีวิต จะชนะหรือแพ้ไม่เป็นไร เพราะการลง ส.ส.เขต คุณจะต้องลงไปเดินตามตรอกซอกซอย ต้องไปสัมผัสกับประชาชน ไปเห็นคนยากคนจน ต้องไปเห็นว่าพื้นที่ในประเทศไทยไม่ได้มีเพียงตึกรามบ้านช่องสวยๆ และเมื่อคุณมาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณก็จะตระหนักตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณจะต้องดำเนินการแก้ไข
ถ้าถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส. ด้วย รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้เป็นหรือไม่เป็นก็ได้ เพราะมองว่าการเสนอคนนอกมาเป็นนายกฯ ก็อาจได้คนนอกที่มีความรู้ ความสามารถ ก็เป็นได้ แต่ผมคิดว่าถ้าเป็น ส.ส. ด้วยจะดีกว่า และอย่าไปคิดกลัวแพ้ ไม่ใช่ว่าเราลงกับพรรคการเมืองนี้ และพรรคนี้ไม่ได้เสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ต้องออกไปเป็นฝ่ายค้าน นั่งในสภาเฉยๆ ไม่สมศักดิ์ศรี ไม่อยากให้คิดแบบนั้น ถ้าคุณอยากจะทำงานการเมืองให้ดี ให้เกิดความสำเร็จในอนาคต การนั่งเป็น ส.ส. ในสภา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็แล้วแต่ มันคือการเรียนรู้ทางการเมือง
การเมืองไทยหลายคนอาจมองว่ามันมีทางลัด แต่ผมอยากให้มองเส้นทางการเมืองแบบขั้นบันได ก็คือค่อยๆ ขึ้นมา เรียนรู้ในแต่ละเรื่อง คุณจะเป็นเศรษฐี เป็นทายาทนักการเมือง หรือเป็นใครก็แล้วแต่ ขอให้มานั่งในสภา ขอให้เรียนรู้การทำงานในสภา มาเป็นกรรมาธิการชุดต่างๆ มาสัมผัสกับระบบราชการ ว่าราชการเขาทำงานกันอย่างไร มีขั้นตอนต่างๆ อย่างไร และเมื่อวันหนึ่งคุณขึ้นไปในตำแหน่งสูงขึ้น เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นนายกฯ คุณจะบริหารได้อย่างมีความเข้าใจ เพราะงั้นในมุมของผมจึงมีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.ด้วย
ทั้งนี้ก็แล้วแต่พรรคว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร และก็แล้วแต่ตัวบุคคลที่ตัดสินใจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย เท่าที่เราเห็น อย่างพรรคเพื่อไทยหรือรวมไทยสร้างชาติ ตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2-3 คน เขารู้สึกว่าพร้อมเป็นนายกฯ แต่ไม่พร้อมเป็น ส.ส. ซึ่งก็มองได้ว่ามันไม่ใช่คำตอบที่ดูดีเพียงพอ
สำหรับคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจมีคำตอบที่พอฟังได้ก็คือ คงจะเบื่อแล้ว เพราะอยู่ในตำแหน่งสูงสุดมาแล้ว ถ้าให้มาเป็น ส.ส. อาจทำใจไม่ได้ สำหรับเพื่อไทย คุณเศรษฐา ทวีสิน เขาเป็นนักธุรกิจมาก่อน ถ้าจะออกจากธุรกิจ เขาอยากได้ตำแหน่งนายกฯ อย่างเดียว แต่เขาไม่พร้อมจะออกจากธุรกิจมาเป็น ส.ส. ชั่งน้ำหนักแล้วมันไม่คุ้มกัน เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลส่วนตัวของคุณ แต่ถ้าคุณอยากทำงานการเมืองจริงๆ คุณต้องเลือก ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด
สำหรับคุณอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าอยากจะเป็นนายกฯ ในอนาคตข้างหน้า สมัยหน้า หรือสองสมัยหน้า การได้เป็น ส.ส. ในสภา จะฝ่ายไหนก็แล้วแต่ คือโอกาสในการเรียนรู้ด้านการเมือง และคนที่มีพื้นฐานและวิธีการคิดดีแบบนี้ ผมยอมรับเขาเก่งมาก ถ้าเขามีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีการทำงานในสภา เข้าใจระบบราชการ เขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีในอนาคต
พรรคเสรีรวมไทยจะต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร เมื่อกติกาแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพอสมควร
กติกานี้ทำให้เราต้องสู้ทั้ง 2 แนวรบ คือทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ ถ้าเป็นบัตรใบเดียวเหมือนครั้งก่อนมันก็ยังไม่มีปัญหา ถึงแพ้ในเขต คะแนนก็ถูกมานับต่อในบัญชีรายชื่อได้ แต่วันนี้สมรภูมิแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนเขตสำคัญกว่าด้วย เพราะมีถึง 400 คน เพราะงั้นการสรรหาผู้สมัครในระดับเขตจึงมีความหมายมาก
ยอมรับว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผู้สมัคร ส.ส.เขตของเราอาจไม่ได้มีชื่อเสียงมากมายนัก และก็บางครั้งอาจขอให้สมัครให้เต็มจำนวนไว้ก่อน เพราะเรารู้ว่าเขตไหนที่เราไม่ได้สมัคร เราก็จะไม่มีคะแนนในเขตนั้นเลย ผู้สมัครบางคนก็ไม่ได้ทำงานการเมืองมาอย่างยาวนาน คนในพื้นที่บางคนก็เพิ่งรู้จักพรรคเสรีรวมไทยด้วยซ้ำ
แต่คราวนี้แตกต่างกัน 4 ปีในสภาและบทบาทของหัวหน้าพรรค พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ก็ทำให้พรรคเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้รับความไว้วางใจสูงจากประชาชน และบทบาทที่สังคมมองเราว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำงานด้วยอุดมการณ์ ตรงไปตรงมา ดังนั้นการไหลเข้าของผู้สมัครที่มีคุณภาพก็มีมากขึ้น ผู้สมัครของเราในแต่ละเขต ผมคิดว่าไม่แพ้ใคร เพียงแต่ด้วยชื่อเสียงพรรค หรือเงินที่ใช้ในการหาเสียงซึ่งก็ไม่ได้มีมาก การจะจัดเวทีขนาดใหญ่ก็คงทำไม่ได้ แต่ด้วยคุณภาพของผู้สมัครก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าพรรคอื่น
ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สูตรการคำนวณเปลี่ยนไปจาก 70,000 เสียง เป็น 350,000 เสียง นั่นคือ 5 เท่า คะแนนคราวที่แล้วได้ 800,000 เสียง แต่คราวนี้ด้วยการที่คนรู้จักเรามากขึ้น เราคาดการณ์ว่าเราน่าจะได้ประมาณ 3 ล้านคะแนน ก็เท่ากับล้านละ 3 คน ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9 คน นี่คือตัวอย่างที่เป็นไปได้ ก็ต้องต่อสู้ทั้ง 2 แนวทาง
พรรคเสรีรวมไทยแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างไร
สังเกตว่าตอนนี้นโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก เช่น บำนาญผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ก็เกทับกันไปมา บางพรรคบอก 700 บาท บางพรรคบอก 1,000 บาท ซึ่งจริงๆ แล้วนี่เป็นเพียงนโยบายในซีกของเศรษฐกิจที่จะทำให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นแค่นั่นเอง แต่เวลาที่จะต้องทำจริง จะต้องคำนึงถึงสถานะการคลังของประเทศด้วย ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
สิ่งที่เราพยายามผลักพรรคเสรีรวมไทยออกจากกลุ่มที่เหมือนกันเหล่านี้ คือเราจะมีนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจน นโยบายทางการเมืองกินไม่ได้ แต่จะทำให้โลกและสังคมดีขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่ององค์กรอิสระต้องปรับเปลี่ยน เรื่อง ส.ว. ต้องปรับเปลี่ยน ไม่เอาแล้ว ส.ว. ที่มาจากการลากตั้งและสรรหา หรือเรื่องการตรวจสอบองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ หน่วยงานต่างๆ เราก็พยายามหานโยบายที่ฉีกออกไปและทำให้เห็นว่าเรากล้าทำจริง เช่น การตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ การจัดซื้ออาวุธของกองทัพ ก็ต้องมาดูกันให้เหมาะสม แน่นอนว่ามันอาจทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกขัดใจ แต่เรายอมขัดใจ เพราะเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน
หรือเรื่องการจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ผมคิดว่าตอนนี้ไม่มีใครจะพูดได้ดีกว่าพรรคเสรีรวมไทยแล้ว เพราะเสรีพิศุทธิ์เป็นประธานกรรมมาธิการ ป.ป.ช. และจัดการกับคนทุจริตไม่รู้กี่รายแล้ว และไม่ได้เป็นประเภทปืนลม คือยิงไปแล้วไม่เกิดผล เรายิงไปแล้วได้เรื่องทุกคน
เราเชื่อว่าจุดนี้จะทำให้ประชาชนเลือกพรรคเสรีรวมไทยเข้าไปในสภา เพราะเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
หน้าตาของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะสามารถรวมกันได้หรือไม่
พรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด ก็จะเป็นฝ่ายที่เลือกคนเข้ามาร่วมรัฐบาล แต่วิธีการคิดที่ผมพยายามจะปรับให้คิดไปในทางเดียวกัน ก็คือในการเลือกรัฐบาลรูปแบบที่ 1 พรรคเพื่อไทยควรจะเลือกพรรคในฝั่งประชาธิปไตยด้วยกัน เพราะพรรคเหล่านี้มีจุดยืนอุดมการณ์ร่วมกัน และร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่ต้น ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ ก็มาลองจับมือกันดูว่า 5 พรรคนี้จะได้สักเท่าไร ถ้ารวมแล้วได้ 300 ปิดการขายเลยครับ ไม่ต้องชวนใครมาเพิ่มแล้ว เพราะแค่ 300 คุณเป็นเสียงข้างมากในสภาล่างแล้ว และถ้าเราได้ 300 ผมคิดว่า ส.ว. ก็คงไม่กลืนน้ำลาย ไม่เลือกพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า
ถามว่าทำไมไม่รวมให้ได้ 375 ให้จบๆ ไปเลย ก็แค่ไปชวนฝั่งที่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมา เขาอยากร่วมอยู่แล้วนี่ สำหรับผมมันไม่เกิดประโยชน์และเป็นอันตรายในอนาคตด้วย เมื่อคุณกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเกิน 375 เสียง เอาชนะ ส.ว. ไปแล้วในการเลือกนายกฯ คุณจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่ไม่มีใครตรวจสอบได้เลย พรรคฝ่ายค้านที่เหลืออยู่จะอภิปรายอะไรก็ไม่ได้ จะเสนออะไรก็ไม่ได้ มันก็จะกลายเป็นเผด็จการรัฐสภาอีกรอบหนึ่ง และคนก็จะอึดอัดกับการตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้ ก็จะเกิดการลงถนนอีก จะเกิดการล้มรัฐบาลอะไรขึ้นอีก ซึ่งไม่ใช่ภาวะที่สมควรจะเกิด เราควรปล่อยให้สภามีความสมดุลในระดับหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงข้างมากได้ แต่ต้องไม่มากจนเป็นเผด็จการ จนทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถทำอะไรได้เลย
รูปแบบที่ 2 ถ้าการร่วมกันของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยยังมีจำนวนไม่เพียงพอ การเลือกพรรคการเมืองอื่นที่เข้ามาก็ต้องจัดอันดับการเข้ามา เช่น ให้พรรคอนุรักษนิยมเข้ามาก่อน ส่วนพรรคอนุรักษนิยมสุดขั้วเก็บไว้ท้ายสุด หรือไม่ต้องเอาเข้ามาเลย เพราะงั้นระหว่างพรรคที่เหลือที่เป็นฝ่ายร่วมรัฐบาลมาก่อน เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็เชิญเขาเข้ามา และเชื่อว่าเขาก็มีความเต็มใจที่จะร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ก็จะเข้ามาเป็นกลุ่มต่อไป
ส่วนกลุ่มที่ต้องกันไว้ข้างนอกเลย คือพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะเขาเป็นพรรคอนุรักษนิยมสุดขั้ว และเป็นคนละแนวทางกัน พรรคคุณประยุทธ์ก็ชัดเจนว่าแกสุดขั้วแล้ว ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็มีการแปลงร่าง คือพยายามทำร่างให้กลายเป็นร่างใหม่ เช่น ปรองดอง ไม่ขัดแย้ง แต่ความจริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคที่แล้วก็มาจากพรรคพลังประชารัฐทั้งนั้น การแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งที่ไม่สำเร็จ ก็เพราะพลังประชารัฐเป็นเหตุ หรือแม้แต่เรื่องสุดท้ายก่อนปิดสภา ก็คือเรื่องการส่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อตัดไม่ให้เกิดการอภิปรายในสภา ก็เป็นการกระทำของพรรคพลังประชารัฐ เพราะงั้นผมคิดว่าเอาเขาไว้ข้างหลังสุดเลยดีกว่า ไม่ต้องยุ่ง
อะไรคือสิ่งที่พรรคเสรีรวมไทยต้องการจะผลักดันให้สำเร็จในช่วง 4 ปี หากได้เป็นรัฐบาล
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เฉพาะจุดยืนของผมเอง ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เรื่อง เพราะร่างขึ้นมาภายใต้วิธีการคิดที่ทำให้ประเทศมีปัญหา เพราะงั้นเรื่องแรกที่ต้องทำก่อนเลย คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง จะใช้เวลา 1 ปี หรือ 2 ปีก็แล้วแต่ เพื่อให้ 4 ปีข้างหน้า เราจะได้เลือกตั้งภายใต้กฎเกณฑ์กติกาใหม่ นี่คือสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกสุด
อย่างที่สองคือ เรื่องการปฏิรูประบบราชการ ผมคิดว่าปัญหาทั้งหมดของประเทศที่ขับเคลื่อนไปได้ช้า เป็นเพราะระบบราชการทั้งสิ้น ระบบราชการใหญ่เกินไป ระบบราชการถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองมากเกินไป ราชการเอื่อยเฉื่อยเกินไป ก็ต้องปฏิรูปราชการ ให้มีความกระตือรือร้นขึ้น ทำงานเหมือนเอกชน ทำงานภายใต้เป้าหมายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
อย่างที่สามคือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมันเป็นกรอบที่พันธนาการฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการ ถ้าเราแก้รัฐธรรมนูญได้ เราก็อาจยกสิ่งนี้ออกไปได้ แต่ตราบใดถ้าเราไม่แก้ยุทธศาสตร์ชาติก่อน เช่น ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลา 2 ปี แต่ถ้า 2 ปีนี้เราถูกพันธนาการด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ผมว่ามันก็ทำให้สำเร็จไม่ได้ เพราะงั้นในช่วงที่ยังร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเอายุทธศาสตร์ชาติออกไปไม่ได้ ก็ต้องทำให้กลไกของยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกลไกที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ประชาชนอยากได้ เช่น การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ เราต้องให้หัวหน้าพรรค พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธิ์เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ เช่น การจัดการงบกองทัพ ก็ต้องให้ท่านอยู่กระทรวงกลาโหม หรือถ้าจะให้จัดการเรื่องกฎหมายต่างๆ ก็ต้องอยู่กระทรวงยุติธรรม หรือถ้าจะให้จัดการกลไกการปกครองประเทศ การจัดการส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ ก็ต้องให้ท่านอยู่กระทรวงมหาดไทย ถ้าท่านได้อยู่ในจุดต่างๆ เหล่านี้ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถเปลี่ยนประเทศได้