ภาคแรก: แสงแดด
1
อีซูซุ-มิวสีขาวออกจากเมืองปัตตานีช่วงสายวันหนึ่งของเดือนกรกฎาคม แสงแดดก่อนเที่ยงสร้างภาพลวงตาว่าผิวถนนข้างหน้ากำลังละลาย แผงโซลาร์พาเนลกำลังการผลิต 390 วัตต์ติดตั้งบนหลังคา พวกมันกำลังเก็บเกี่ยวแสงแดดเพื่อจ่ายเข้าแบตเตอรี มอนิเตอร์บอกปริมาณกระแสไฟฟ้าติดตั้งบนแผงคอนโซล รวมถึงแผงสวิตช์สลับระบบพลังงานระหว่างน้ำมันและแสงแดด อุปกรณ์ที่ติดตั้งเพิ่มเติมรองรับระบบโซลาร์เซลล์ทำให้ราวกับว่ารถคันนี้แล่นออกมาจากภาพยนตร์ไซไฟ
สมพร ช่วยอารีย์ ละมือซ้ายจากพวงมาลัยมาสลับสวิตช์บนแผงควบคุมบริเวณกระปุกเกียร์เพื่อสาธิตระบบไฮบริดของรถยนต์คันนี้
“ถ้าผมโยกสวิตช์ตัวนี้ รถคันนี้จะเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ถ้าโยกตัวนี้จะใช้ไฟจากรถยนต์ ส่วนสวิตช์นี้ใช้เปิดไฟบนหลังคา เวลากลางคืนผมก็สามารถใช้ไฟฟ้าจากรถได้” เจ้าของรถยนต์นิยมแสงแดดคันนี้อธิบาย ก่อนจะย้ำว่า “รถคันนี้ยังไม่สามารถวิ่งด้วยแดด 100 เปอร์เซ็นต์”
หลังเสร็จสิ้นภารกิจประจำวัน สมพรขับรถกลับที่พักในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขาจอดรถไว้ชั้นล่างก่อนจะพ่วงสายส่งไฟฟ้าจากรถยนต์จ่ายเข้าที่พัก รุ่งเช้าเขาขับรถออกมารับแสงแดด ก่อนจะกลับไปจ่ายไฟฟ้าจากแสงแดดเข้าบ้าน – ถ้าไฟฟ้าเหลือ
ระหว่างทางจากปัตตานีไปอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทหารยืนพร้อมอาวุธตามจุดตรวจเป็นระยะ นี่คือภาพสามัญในเมืองปัตตานีและบริเวณรอบนอกเมือง รถยนต์ที่ติดตั้งแผงโซลาร์พาเนลไว้บนหลังคาคันนี้ชะลอเมื่อผ่านจุดตรวจ สมพรลดกระจกลงตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ใช้เส้นทางสัญจร ดวงตาของนายทหารนายหนึ่งอมยิ้มเมื่อรถยนต์คันนี้เคลื่อนผ่าน
“แผงโซลาร์พาเนลข้างบนหลังคา 390 วัตต์ต่อชั่วโมง แต่สามารถปรับให้เป็น 600 วัตต์ได้” สมพรบอก
เขาเล่าให้ฟังถึงโครงการปรับโครงสร้างรถยนต์ ภาพร่างในจินตนาการของเขามีอยู่ว่า เมื่อรถยนต์คันนี้จอดนิ่ง แผงโซลาร์พาเนลจะเลื่อนลงมาจากหลังคาโน้มลงครอบปิดกระจกหน้ารถ เพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจาก 390 วัตต์ เป็น 600 วัตต์
“ผมไม่ได้กังวลว่ารถจะสวยหรือไม่ ผมอยากขับเคลื่อนเรื่องพลังงาน” สมพรเล่าถึงโปรเจ็คต์ติดตั้งอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไว้ที่รถยนต์ให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เขาติดตั้งกังหันลมขนาดเล็กไว้บนหลังคา เมื่อรถเคลื่อนที่ปะทะแรงลม กังหันลมผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบภายในรถยนต์
“กังหันลมจะหมุนพร้อมกับปั่นไฟ (generate) ด้วย แต่เราอยากให้รถยนต์คันนี้ไป generate ความคิดของคนมากกว่า ให้เกิดการนำไปต่อยอดทางความคิด สมมุติเขานั่งอยู่ในวงน้ำชา เห็นรถคันนี้ผ่านไป…มันคืออะไร เขาก็จะมีเรื่องคุยในวงน้ำชา นำไปสู่การมองกลับมาที่ตัวเขาเอง ในบ้านของเขา ในองค์กรของเขา ผมชอบสร้างแรงจูงใจให้คน การพูดอย่างเดียวไม่พอต่อการสร้างแรงจูงใจ ต้องทำให้เห็นเชิงประจักษ์ด้วย” สมพรบอก
ระยะเวลา 3 ปีที่เขาเริ่มสนใจเรื่องพลังงานทางเลือก ก่อนจะเริ่มศึกษาและทดลองทำด้วยตนเอง ตั้งแต่เรียนรู้พื้นฐานไฟฟ้าจนกระทั่งติดตั้งแผงโซลาร์พาเนลไว้ที่ชีวิต
2
พื้นฐานด้านการศึกษาของ ดร.สมพร จบปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ปริญญาโท สาขาวิทยาการคณนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน ดร.สมพรเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขาบอกว่าการศึกษาและลงมือทำเรื่องพลังงานทางเลือกคือความสนใจส่วนตัว เขาเริ่มนับหนึ่งที่ขั้นพื้นฐาน ทดลองผิดถูก จนกระทั่งเขาติดตั้งระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ภายในครัวเรือนได้อย่างเต็มระบบ การลงมือทดลองทำเรื่องพลังงานทางเลือกหล่อหลอมอุดมการณ์ด้านพลังงานแก่เขา
นี่คือเหตุผลของการเดินทางจากปัตตานีสู่อำเภอเทพาในวันนี้
หนึ่งในประเด็นที่ ‘เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา’ เห็นต่างจากหน่วยงานรัฐ คือ ความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่า พื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านนั้นตรงข้าม
ในฐานะนักวิชาการด้านคณิตศาสตร์ ดร.สมพรนำเครื่องมือทางมานุษยวิทยา 7 ชนิด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในการศึกษาและสร้างสุขภาวะแก่ชุมชน โดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้ง 7 ชนิดนี้ผ่านเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ หรือ คศน.
เครื่องมือทางมานุษยวิทยา 7 ชนิด ได้แก่ 1. แผนที่เดินดิน 2. ประวัติศาสตร์ชุมชน 3. โครงสร้างองค์กรชุมชน 4. ระบบสุขภาพชุมชน (แหล่งพึ่งพาทางด้านสุขภาพ) 5. ปฏิทินชุมชน 6. ชีวประวัติ 7. ผังเครือญาติ
และด้วยความที่เป็นคนรักในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ศ.ดร.สมพรนำระบบ GIS[i] ไปให้ชาวบ้านอำเภอเทพาได้เรียนรู้ถึงวิธีการใช้งานเพื่อจัดทำข้อมูลชุมชน
“ชาวบ้านพยายามหาหนทาง ทำอย่างไรที่จะปกป้องพื้นที่อาหาร พื้นที่ทำมาหากิน และบ้านเกิดที่พวกเขาอยู่มารุ่นต่อรุ่นที่ยาวนาน ต้องยอมรับว่าเขาอยู่กันมารุ่นต่อรุ่นที่ยาวนานผ่านประวัติศาสตร์ชุมชน เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาต้องการองค์ความรู้หรือข้อมูลไปคัดง้างกับโครงการของรัฐ
“เราจึงพูดคุยกันว่า เรามีทรัพยากรอะไรในชุมชนที่จะนำมาค้านว่าพื้นที่นี้ไม่เหมาะกับการสร้างโรงไฟฟ้า ถ้าคุณจะปกป้องชุมชนอย่างมีพลัง คุณก็ต้องสร้างข้อมูลชุมชนขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่คุณหมอโกมาตรได้ให้ไว้กับพวกเรา จึงนำเครื่องมือทางมานุษยวิทยามาประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์ ผมจึงแนะนำชาวบ้านทำระบบ GIS เพื่อทำข้อมูลให้เป็นจริง คนอื่นจะรับฟังและเข้าใจบริบทชุมชนได้” ดร.สมพรบอก
ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ชาวบ้านและนักวิชาการร่วมกันหารือเรื่องข้อมูลชุมชนที่จะบอกแก่สังคมว่า พื้นที่อำเภอเทพาไม่เหมาะกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทและแกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หารือกับ ดร.สมพร และชาวบ้านถึงกรณีความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา
ตรงหน้าพวกเขา ภาพแผนที่ชุมชนอำเภอเทพาถูกวาดบนกระดาษแข็งขนาดใหญ่ ข้อมูลบนกระดาษเหล่านี้เป็นจุดตั้งต้นในการนำข้อมูลเข้าระบบ GIS เพื่อบอกเล่ากิจกรรมในพื้นที่ และชะตากรรมในอนาคตของคนที่นี่
ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองเทพา บอกว่า จากการจัดทำข้อมูลชุมชน พบว่าข้อมูลชุมชนขัดแย้งกับข้อมูลของหน่วยงานรัฐ
“ข้อมูลของเราบอกว่า พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าไม่ได้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่มีคนอาศัยอยู่เยอะมาก เกือบ 300 ครัวเรือนเลยนะที่จะต้องอพยพออกไปหากมีการสร้างโรงไฟฟ้า ประชากร 850 คน มัสยิด 2 หลัง กุโบร์ 2 หลัง ปอเนาะ 1 หลัง เราต้องการให้สังคมรู้ว่าพื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่า แต่เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ความแข็งแรงทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะมิติทางศาสนา คนในชุมชนมองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ควรมาสร้าง เพราะในคำสอนอิสลามไม่อนุญาตให้ย้ายกุโบร์หรือมัสยิด มัสยิดกับชุมชนควรอยู่ร่วมกัน นี่คือข้อมูลของเรา” ดิเรกเล่า
“นี่คือหนทางของประชาชนในการส่งเสียงเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง” ศ.ดร.สมพรเสริม
อุดมการณ์ด้านพลังงานของ ดร.สมพร ไม่ใช่แนวคิดการรวมศูนย์การผลิตไฟฟ้าอย่างที่ภาครัฐดำเนินนโยบายมา แต่เป็นกระบวนการที่เป็นไปทั้งสองทิศทาง คือ การกระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการผลิตไฟฟ้า ณ จุดที่ผู้ใช้ไฟฟ้าอาศัยอยู่ กระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
“การผลิตไฟฟ้าควรกระจายกันตามที่ที่ผู้ใช้ไฟอยู่ ผลิตไฟฟ้า ณ ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ เราไม่ต้องสร้างโรงงานใหญ่แล้วลากสายส่งไป แต่เป็นแนวคิดพึ่งตนเอง คุณอยู่ตรงไหน มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าเท่าไร คุณใช้ไฟเท่าไร ถ้าคุณผลิตไม่พอกับปริมาณการใช้ เอาเข้ามาจากระบบสายส่งได้มั้ย หรือหากคุณผลิตไฟฟ้าเหลือใช้ คุณจ่ายคืนเข้าระบบสายส่งได้มั้ย มันควรเกิดกระบวนการสองทิศทาง ปัจจุบันคนไทยอยู่ในบริบทของการรับเข้ามา กฟผ. มีมา 40 กว่า ปี ผลิตไฟให้คนไทยใช้…ต้องขอบคุณ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยน ราคาก็ปรับลงมาเยอะ ผมคิดว่าชาวบ้านทุกหลังคาเรือนควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการผลิตพลังงาน” สมพรบอก
เสียงเพลงวงซูซูขับร้องถึงการปกป้องทรัพยากรชุมชนบรรเลงขึ้นภายในรถยนต์อีกครั้งหลังจาก ดร.สมพรสอนวิธีใช้งานระบบ GIS และร่ำลาชาวอำเภอเทพา พวกเขาค่อยๆ ตัวเล็กลง ตัวเล็กลงจนหายไปถ้าเรามองพวกเขาจากท้ายรถยนต์กินแสงแดดคันนี้
3
นอกจากหลังคารถยนต์ แผงโซลาร์พาเนลสามารถติดตั้งได้ทุกที่ที่มีแนวโน้มจะหันหน้าไปหาแสงแดด ดร.สมพรไม่ได้พูด แต่ทำ
ท้ายจักรยาน / ท้ายมอเตอร์ไซค์ / หมวก / ดาดฟ้าแฟลต / บ้านทั้งหลัง
จักรยาน
แบบจักรยานไฟฟ้าจากแสงแดดถูกร่างขึ้นด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน แบบในกระดาษบ่งบอกถึงจินตนาการของเขา แต่จินตนาการจะกลายเป็นจริงได้ ต้องอาศัยความรู้ และลงมือทำ
แผงโซลาร์พาเนลถูกติดตั้งที่ท้ายจักรยานเสือภูเขาธรรมดาคันหนึ่ง มอเตอร์ขนาด 250 วัตต์ติดตั้งบริเวณจานโซ่เพื่อจ่ายไฟเข้าแบตเตอรีก่อนที่จะจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบคันเร่งที่เขาติดตั้งไว้ที่แฮนด์ด้านขวาของจักรยาน
บ้าน
สมัยที่บ้าน ‘ช่วยอารีย์’ ที่อำเภอจุฬารัตน์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังใช้ไฟฟ้าจากส่วนกลาง แม่ล้วน ช่วยอารีย์ เสียบปลั๊กกระติกทำความร้อนไว้ทั้งวัน แต่หลังจากที่บ้าน ‘ช่วยอารีย์’ ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์กำลังการผลิต 4,440 วัตต์ บ้านหลังนี้ใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทั้งระบบ แม่ล้วนต้องคอยตรวจสอบสถานการณ์ของไฟฟ้าจากแสงแดดเพื่อวางแผนการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
ผลลัพธ์คือไฟฟ้าเหลือใช้ เครื่องสีข้าวจึงถูกนำมาผลาญพลังงานแสงแดดเหลือใช้ แต่กลับกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้มาฟัง ดร.สมพร บรรยายเรื่องการจัดการพลังงานระดับครัวเรือน
นอกจากบทเรียนเรื่องการสีข้าวด้วยแสงแดด หลังบ้านช่วยอารีย์มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ แผงโซลาร์พาเนลลอยอยู่บนผิวน้ำ ดร.สมพรใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์สูบน้ำขึ้นมาจากบ่อเพื่อใช้ในสวน
ดาดฟ้าแฟลต
“รถคันนี้ไม่ต้องไปแย่งที่จอดรถในร่มเหมือนคันอื่น” ก็คงจะจริงอย่างที่เจ้าของรถพูด ศ.ดร.สมพรจอดรถไว้ลานหน้าอาคารที่พักภายในมหาวิทยาลัย
“ถ้าขึ้นไปบนดาดฟ้า จะมองเห็นทะเล” ดร.สมพรแนะนำ
บนดาดฟ้า แผงโซลลาร์พาเนลกำลังการผลิต 1,160 วัตต์ถูกติดตั้งบนดาดฟ้า อุปกรณ์มากมายวางกองอยู่บนนั้น ไฟฟ้าจากแสงแดดจะถูกส่งเข้าภายในห้องพักของเขา ตัวเลขแสดงปริมาณไฟฟ้าติดตั้งไว้ที่บริเวณระเบียงห้องพัก เขายังติดตั้งระบบควบคุมการใช้ไฟฟ้าภายในห้องพักเชื่อมต่อระบบสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเขาสามารถตรวจสอบกำลังไฟฟ้าครัวเรือนของเขาผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน
ดร.สมพรง่วนอยู่กับอุปกรณ์บนดาดฟ้าตึก เม็ดเหงื่อผุดทั่วใบหน้าเหมือนเด็กเล่นซนจนเหนื่อยแต่ยังสนุก เส้นผมปลิวไหว ลมทะเลโชยมาจากทิศตะวันออก พระอาทิตย์อยู่ฝั่งตรงข้าม และกำลังจะตกดิน
“สิ่งที่ไม่ควรทำคือเหยียบแผง” เขาบอก เพราะ “แผงอาจจะชำรุด แผงนี้รับของสูง นี่ถือเป็นของสูงนะ…พระอาทิตย์”
ตรงขอบตึก เสาติดตั้งกังหันลมยืนโดดเดี่ยวบริเวณขอบตึก เสาต้นนี้เคยแขวนกังหันลม แต่ทำไมเขาจึงติดตั้งเสากังหันลมไว้ที่ขอบตึก
“สร้างแรงจูงใจให้เด็กที่เดินผ่านไปมา” ดร.สมพรบอก และว่า “เขาจะแหงนหน้าขึ้นมาดู เขาจะเกิดการคิดพัฒนาต่อ เขาจะผลิตของตัวเอง ผมคิดว่าเป็นการเรียนรู้ให้เด็ก เด็กคนหนึ่งชื่อตี๋เล็ก ตี๋เล็กชอบประดิษฐ์ เขาจะคอยดูตลอดว่ากังหันลมเป็นอย่างไรบ้าง เขาจะเกิดคำถามและสังเกต มันจะสร้างแรงผลักดันให้เขา เกิดจินตนาการที่จะไปทำอะไรของเขาต่อ
“นี่คือแนวทางการให้การศึกษานอกระบบ เมื่อจบออกมาแล้วเขาสามารถจะสานต่อได้ ไม่ว่าเขาเรียนอะไรมา นำเรื่องเหล่านี้ไปใช้ในวิถีชีวิต เป็นความรู้ที่สัมผัสได้ เป็นการศึกษาที่สัมผัสได้ เป็นทางเลือก แต่ทางเลือกตรงนี้คุณอาจจะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ เพราะถ้าไม่เข้ากับบริบทบ้านคุณ คุณก็ไม่ต้องเลือก” ดร.สมพรบอก
ถ้าคุณมีโอกาสได้พูดคุย เดินทาง หรือฟังการบรรยายของ ดร.สมพร คุณจะพบว่า เขาคือคนที่ลุ่มหลงเรื่องพลังงานทางเลือก เขาสามารถพูดเรื่องแสงแดดได้ทั้งวัน พูดเรื่องแผงโซลาร์พาเนลได้ทั้งวัน พูดเรื่องการกระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้าได้ทั้งวัน แต่ในชีวิตเราควรมีสักหนึ่งเรื่องที่สามารถพูดถึงมันได้ทั้งวันจริงหรือไม่
“ความสนุกในการทดลองเรื่องพลังงานของผมเหมือนการวิ่งลงเนิน แต่การต่อสู้เรื่องพลังงานของประเทศเพื่อให้เกิดกระบวนการเสรี เหมือนวิ่งขึ้นหน้าผา ผมสนุกมากที่ได้ทดลองเพราะผมได้ความรู้ใหม่ มีความสุขมากเลย เหมือนผมวิ่งลงเนิน ยิ่งเมื่อมีความเร่งแรงโน้มถ่วงของโลกฉุดผมให้ลงไปผ่านเส้นทางหลากหลาย การทดลองทำให้เห็นเชิงประจักษ์ เห็นแล้วมีความสุข
“แต่การทำให้โซลาร์เซลล์ หรือพลังงานทางเลือกให้ถูกใช้ในระดับครัวเรือนจนแพร่หลายไปทุกๆ ที่ แม้รัฐจะไม่ออกนโยบายพลังงานเสรี…ก็ยังยาก เพราะมันไปติดข้อระเบียบเยอะแยะไปหมดเลย ซึ่งมีข้ออ้างหลากหลาย เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ผมว่าอาจจะไม่ใช่เข็นนะ…แบกเลย แบกครกขึ้นภูเขา ผมเชื่อวันหนึ่งจะมีคนมาช่วยยกครกที่แบกอยู่ เราจะช่วยผ่อนแรงกัน แล้วเดินขึ้นเขาไปด้วยกัน” ดร.สมพรกล่าวไว้เช่นนี้
ภาคหลัง: คณิตศาสตร์
4
‘เครือข่าย’ เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทางเลือกและการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายไปสู่นโยบายสาธารณะ
วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์คือเครื่องมือหนึ่งที่ ดร.สมพร ใช้ในการถักทอเครือข่าย และทำลายเส้นแบ่งระหว่าง ‘คณิตศาสตร์’ กับ ‘ชีวิต’
การเรียนสาขาวิทยาการคณนาหรือคณิตศาสตร์ประยุกต์ไม่ใช่เรียนคณิตศาสตร์บนกระดาษเพียงอย่างเดียว สำหรับ ดร.สมพร คณิตศาสตร์ประยุกต์คือการเข้าใจธรรมชาติ
“ถ้าเราสนใจธรรมชาติประเด็นไหนเราก็ไปดูธรรมชาติว่าเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเราจะศึกษาสึนามิ คุณสมบัติของสึนามิเป็นอย่างไร คลื่นน้ำตื้นอยู่อย่างไรในทะเล ในทะเลลึกเป็นอย่างไร เคลื่อนที่อย่างไร นิสัยของสึนามิเป็นอย่างไร เมื่อรู้คุณสมบัติในรูปแบบของฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาหรือคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เราจะแปลงคุณสมบัติของธรรมชาติเหล่านี้มาเป็นคณิตศาสตร์ แล้วนำคอมพิวเตอร์มาช่วยแก้ปัญหานี้ เราหาคำตอบเชิงตัวเลข เมื่อได้คำตอบที่เป็นตัวเลข เรานำตัวเลขไปพล็อตกราฟ เขียนกราฟเพื่อให้คนเห็นหน้าตาของสึนามิจากตัวเลขเหล่านี้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แสดงออกมาเป็นภาพจำลองทางคอมพิวเตอร์ให้เห็น หรือสร้างภาพสามมิติ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติคือสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ ผมต้องการสร้างภาพให้คนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญ” สมพรเล่า
นอกจากเดินสายให้ความรู้แก่ชาวบ้านแถบภาคใต้เรื่องการจัดการพลังงานระดับครัวเรือน ก่อนหน้านี้ ดร.สมพร เดินสายให้ความรู้ประชาชนเรื่องภัยพิบัติ ในฐานะประธานเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ ลุ่มน้ำปัตตานี
นำมาสู่ความคิดที่จะรวมข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าฝนลมอากาศรวมถึงเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งเขามองว่าแวดล้อมและเป็นปัจจัยกำหนดชีวิตของชาวบ้าน ไม่ว่าจะทำการเกษตร ประมง ข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัว
เว็บไซต์ pbwatch.net จึงเกิดขึ้น หลังคำถามว่า “เป็นไปได้ไหม”
“เป็นไปได้มั้ยที่ข้อมูลที่กระจัดกระจายจากหน่วยงานต่างๆ จะมารวมในที่เดียวกัน” นี่คือคำถามเบื้องต้นของ ดร.สมพร ข้อมูลที่เขาหมายถึงคือข้อมูลเกี่ยวกับลมฝน คลื่นลม สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ น้ำ และดิน พูดง่ายๆ ว่าเป็นข้อมูลที่แวดล้อมชีวิตคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานกับดินและน้ำ
“เรามีข้อมูลของกรมอุตุฯ เรื่องฟ้าฝน ข้อมูลกรมชลประทานเรื่องน้ำ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรชายฝั่ง…ดิน แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติ ฝนตกหนักหรือคลื่นแรง มันจะเกี่ยวกับหลายๆ กรม เกี่ยวกับหลายหน่วยงาน เพราะสิ่งเหล่านี้คือเรื่องเดียวกัน” สมพรเล่า
เว็บไซต์ pbwatch.net จึงเป็นพื้นที่ที่รวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ที่เดียวกัน
“เมื่อคุณเข้ามาที่ pbwatch.net ก็สามารถเห็นข้อมูลครบเลย เราจึงสร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่อดึงข้อมูลจากกรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เรานำข้อมูลมาใส่เพื่อเราจะเห็นข้อมูลเหล่านี้ร่วมกัน เราอยากจะให้ทุกอย่างทำงานไปด้วยกัน”
ระบบข้อมูลใน pbwatch.net สามารถสร้างภาพสามมิติ และซ้อนทับกับภาพถ่ายทางดาวเทียม ทำให้การนำเสนอข้อมูลเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน
“ถ้าเราตั้งโจทย์ว่า พายุกำลังเกิดที่ไหน การตั้งคำถามว่ามีพายุอยู่ไหม เราก็ต้องไปดูว่ามีข้อมูลอะไรที่บ่งบอกถึงพายุ” ดร.สมพรเล่าขณะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการของ pbwatch
“เราก็ต้องดูแผนที่ทางอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เราก็นำข้อมูลตรงนั้นมาซ้อนเข้าระบบของเรา เมื่อซ้อนเข้ามาในระบบของเรา คุณจะเห็นสภาพพื้นที่ทั่วโลกเลย มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก มีลมมั้ย มีหย่อมความกดอากาศต่ำตรงไหน ความกดอากาศสูงอยู่ตรงไหน พื้นที่นี้ช่วงนี้เป็นอย่างไร มีพายุหรือไม่มีพายุ
“เมฆ – เราลองซ้อนข้อมูลเมฆเข้ามาด้วยก็ได้ เมื่อซ้อนข้อมูลเมฆเข้ามาเราจะเห็นภาพเคลื่อนไหวได้ เพราะระบบสามารถ animate เป็นทั้งภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพสามมิติได้ ผมสอนวิธีใช้งานให้ชาวบ้านหมดเลยนะ เขาจะเข้าใจและเห็นความสำคัญ ภาพสามมิติและข้อมูลเรียลไทม์มันทำให้ชาวบ้านตื่นเต้นกับข้อมูลพวกนี้มากขึ้น” ระบบที่ ศ.ดร.สมพร สร้างขึ้นมานั้น เหมาะกับการทำงานของชุมชนอย่างฝ่ายสารสนเทศแห่งองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านต่อไป
“ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เกี่ยวพันกับอาชีพของเขา เช่น เกษตร ประมง เขาสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้วางแผนการทำงานของเขาได้ การให้ข้อมูลเชิงรุกแบบนี้ผมว่าสำคัญ”
บนจอคอมพิวเตอร์ แสดงภาพถ่ายดาวเทียมแผนที่ประเทศไทย เมื่อซูมเข้าใกล้จะเริ่มเห็นรายละเอียดของแผ่นดิน ผืนน้ำ ตามพื้นที่ต่างๆ บนภาพแผนที่มีข้อมูลบุคคลปักหมุดบอกตำแหน่งและข้อมูลติดต่อ ข้อมูลบุคคลเหล่านี้คือเครือข่ายที่ทำงานเรื่องภัยพิบัติและพลังงานร่วมกัน
“ถ้าเราเข้ามาดูในพื้นที่ที่มีประชาชนเข้าร่วมให้ข้อมูลกับเครือข่าย เราจะเห็นข้อมูลบุคคลที่อาศัยอยู่ตรงนั้น ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ ถ้าเราลองมองภาพทั้งประเทศเราเพื่อดูว่าเครือข่ายเหล่านี้อยู่ตรงส่วนไหนของประเทศบ้าง เราก็สามารถเลื่อนดูได้
“เราลองเข้าไปดูที่พัทลุง ข้อมูลจะแสดงสภาพอากาศในพื้นที่ ฝนเพิ่งตกไปเมื่อ 12 นาทีที่แล้ว บนพื้นที่ยังมีข้อมูลบุคคลซ้อนอยู่ ถ้าเราลองคลิกมาที่ไอคอนรูปคนบนแผนที่ จะพบว่านี่คือบ้านและข้อมูลของคุณสายศร นะดำ เราก็สามารถติดต่อเขาได้ จะมีบ้านเลขที่ ตำบล อำเภอ แสดงข้อมูลบอก มีเบอร์ติดต่อ
“เราสามารถติดต่อเขาได้ทันทีหากสภาพอากาศหรือแบบจำลองบ่งว่าอาจเกิดภัยพิบัติ เราสามารถตรวจสอบได้ ชาวบ้านสามารถตรวจสอบได้ ชาวบ้านก็สามารถคำนวณสภาพฝนฟ้าอากาศ คลื่นลม และทิศทางที่มรสุมจะเคลื่อนไป ถ้ามรสุมจะเคลื่อนมาทิศนี้ ก็แสดงว่าอีกไม่นานฝนจะตกที่บ้านของนายอำมร ซึ่งตอนนี้อาจกำลังตก เพราะนี่คือข้อมูลเมื่อ 12 นาทีที่แล้ว” สมพรเล่า
5
“เราไม่เน้นเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาเพราะไม่ใช่หน้าที่ของเราแล้ว” ดร.สมพรอธิบายการทำงานเชิงรุกของเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ ลุ่มน้ำปัตตานี
“การเยียวยาเป็นภาระของรัฐ แต่เราก็อยากเห็นภาครัฐทำงานเชิงรุกแบบนี้มากขึ้นด้วย ข้อมูลหรือแบบจำลองในคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ สอดคล้องกับชีวิตของเขา
“ผมต้องการนำวิถีวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ลงไปสู่ครัวเรือนเพื่อให้เขาเห็นว่าภาพนี้หมายความว่าอย่างไร ตัวเลขนี้หมายความว่าอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาและสอดคล้องกับชีวิตของเขา ข้อมูลพวกนี้ทำให้เขาเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ เขาจะรับมือกับข่าวลือด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ภัยพิบัติทางจิตวิทยาหรือข่าวลือมีผลมาก ถ้าเขาจัดการข่าวลือไม่ได้เขาจะจัดการชีวิตไม่ได้ ในภาวะตระหนกตกใจอาจสร้างความเสียหายให้เขาได้” ดร.สมพรเล่า
ข้อมูลบุคคลของเครือข่ายใน pbwatch.net ยังเชื่อมต่อกับความสนใจอีกเรื่องของ ดร.สมพร – พลังงานทางเลือก
ข้อมูลบุคคลที่ปักหมุดเหล่านี้ยังบอกอีกว่า มีหลังคาเรือนใดบ้างที่ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์
เมื่อคุณเข้าไปยัง pbwatch.net/ReportME/solar ก็จะพบข้อมูลการปักหมุดของกลุ่มผู้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ การเพิ่มข้อมูลในระบบเป็นระบบเปิด ผู้ที่ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ไว้ที่ครัวเรือนสามารถเข้าไปปักหมุดเพื่อแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่ได้ว่าตำแหน่งที่คุณอยู่ก็ติดตั้งระบบโซลาร์เซล์
เราจะเห็นได้ว่า ผู้ติดตั้งระบบโซลลาร์เซลล์กระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยเท่าไร และรวมกำลังการผลิตเท่าที่มีผู้มาปักหมุดให้ข้อมูล
ข้อมูลของพวกเขาช่วยถักทอเป็นเครือข่าย เครือข่ายคนกินแดดแห่งชาติไทย
6
สิ่งที่ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทางเลือก การติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้บนรถ บนดาดฟ้า การใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เต็มระบบ รวมถึงการสร้างชุมชนเครือข่ายด้วยข้อมูลทางคณิตศาสตร์นั้น มีจุดหมายที่การพึ่งพาตัวเอง
“สิ่งที่ผมทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยพิบัติ เรื่องเมฆฝน เรื่องโซลาร์เซลล์ เป็นการทำให้เห็นคุณค่าเชิงประจักษ์ สิ่งเหล่านี้เป็นแค่บทเรียนหนึ่งเท่านั้น บทที่ว่าด้วยโซลาร์เซลล์ บทที่ว่าด้วยปั๊มน้ำ บทที่ว่าด้วยแผงโซลาร์เซลล์เคลื่อนที่ไปกับรถ เราอยากจะหาองค์ความรู้ที่นอกเหนือจากตำราหรือทฤษฎี
“เป็นบทเรียนที่อยู่นอกตำรา ขยายผลปรับใช้กับพื้นที่ต่างๆ การทำนาของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้แตกต่างกัน บริบทของเวลาต่างกัน ลมต่างกัน ดินต่างกัน การไหลของน้ำต่างกัน ผมต้องการความรู้ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคน”
ไม่มีซูเปอร์แมนอีกแล้วบนโลกนี้ ดร.สมพร กล่าวไว้เช่นนั้น การสร้างเครือข่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“การมองคนเดียวก็เห็นแค่นั้น แต่ถ้าเรามาร่วมกันมอง เรามองหลายๆ ทิศทางแล้วมารวมข้อมูลกัน เราจะเห็นภาพของการทำงานร่วม จะเกิดการนำไปสู่การวางแผนแล้วนำไปสู่การแก้ปัญหา โลกนี้มันไม่มีซูเปอร์แมนแล้ว
“ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมน ผมต้องการเพื่อนที่จะเดินร่วม เรามีเพื่อนเครือข่ายจากภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ฝั่งอันดามัน อ่าวไทย เพื่อจะทำงานร่วมกัน ผมได้รับความรู้มากมายจากเพื่อนในเครือข่าย คนที่ไม่ต้องการออกสื่อ แต่เขามีความรู้ และพร้อมที่จะให้เรา ข้อมูลอีกด้านเรื่องพลังงาน ความจริงอีกด้านหรือข้อเท็จจริงอีกด้านของพลังงาน เราก็รับเหมือนกัน ผมก็ได้เรียนรู้จากคนเหล่านี้เยอะมาก”
ระหว่างทางของการแบกครกขึ้นภูเขา กว่าจะถึงวันที่ภาคครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าโดยไม่ติดขัดข้อจำกัดทางกฎหมาย ดร.สมพร กำลังศึกษาเรื่องการทำรังของมดแดง
“เราทำคนเดียวไม่ได้ เรามีแค่สิบนิ้ว การทำงานต้องประสานเครือข่าย พลังจะมาก ผมชอบพลังมดแดง กว่าจะเป็นรังมดแดงเหนื่อยนะ เพราะกิ่งไม้อยู่แบบนี้ แต่ใบไม้ต้องแผ่หาแสงแดด เป็นไปไม่ได้ที่ใบไม้จะห่อตัวแบบนี้
“มดแดงตัวประมาณ 1 เซนติเมตร แต่มีเยอะ มันจะต่อเป็นสายโซ่เล่นกายกรรมเพื่อดึงใบนู้นมาชนใบนี้ เมื่อชนกันแล้วมดแดงไม่มีกาวตราช้างหรือกาวลาเท็กซ์ วิธีการคือต้องทำรังเล็กๆ นำใยของตัวอ่อนมาผสานใบให้ชนกัน เพื่อให้รังตัวเองโตขึ้น โน้มใบใบอื่นที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อทำให้รังโตขึ้น เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ นี่คือองค์ความรู้แบบรังมดแดง ซึ่งไม่ได้เรียนปริญญา” ดร.สมพรเล่า
ลมทะเลยังโชยมาจากทิศตะวันออก พระอาทิตย์อยู่ทิศตรงข้าม แต่ตกดินไปแล้ว.
[i] ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) คือกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้กำหนดข้อมูลและสารสนเทศ ที่มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เช่น ที่อยู่ บ้านเลขที่ สัมพันธ์กับตำแหน่งในแผนที่ ตำแหน่ง เส้นรุ้ง เส้นแวง ข้อมูลและแผนที่ใน GIS เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศที่อยู่ในรูปของตารางข้อมูล และฐานข้อมูลที่มีส่วนสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ซึ่งรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลาย จะสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย GIS และทำให้สื่อความหมายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับเวลาได้
ที่มา: ศูนย์วิจัยสารสนเทศเพื่อประเทศไทย
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ว่าด้วยผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ พวกเขาเป็นใครหลายคน ทั้งทนายความ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสันติวิธี นักดนตรี นักการละคร ฯลฯ
พวกเขาคือคนธรรมดา แต่ความตั้งใจและเนื้องานของพวกเขา ก่อให้เกิดมรรคผลต่อสังคม ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
บนเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายนี้ พวกเขาแต่ละคนไม่ได้เดินเพียงลำพัง พวกเขามีเพื่อน เครือข่าย สหวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวน ‘มาก’
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ที่มีทั้งรูปแบบบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น สารคดี และหนังสารคดี ผลิตโดยทีมงานนิตยสาร WAY