100 ปี โซฟี โชล: ไม่ต้องลืม แต่ขอให้จำ

“จงให้อภัยศัตรูของคุณ, แต่ห้ามลืมชื่อของพวกเขาเด็ดขาด” คำกล่าวก้องโลกของ จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 35 แห่งสหรัฐอเมริกา อาจจะใช้ได้ผลอย่างชะงัดทั้งในแง่มุมสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์ของมนุษย์

การจดจำชื่อและสิ่งที่ศัตรูได้กระทำความเลวร้ายเอาไว้ ดูจะยากยิ่งขึ้นเมื่อศัตรูตัวฉกาจนั้นคือตัวตนของเราเอง ดังที่ความตายของ โซฟี โชล (Sophie Scholl) ด้วยเครื่องประหารกิโยตินของนาซี ภายใต้เสียงสนับสนุนเรือนหมื่นเรือนแสนของประชาชนชาวเยอรมันในขณะนั้น ซึ่งต้องใช้เวลาร่วมร้อยปีในการค่อยๆ ทำให้คนเยอรมันในปัจจุบันหันกลับไปยอมรับเรื่องราวอันโหดร้ายของชาติตนเองอีกครั้ง พร้อมกับโอบรับความทรงจำด้านเลวร้ายของตนเองในอดีต เพื่อให้มนุษยชาติเดินต่อไปข้างหน้าได้ 

22 เมษายน 2021 หน่วยเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกแห่งกระทรวงการคลังเยอรมนี มุนเซ ดอย์ชแลนด์ (Münze Deutschland) ได้ออกเหรียญที่ระลึกถึงบุคคลสำคัญผู้ต่อสู้กับเผด็จการจนถูกประหารชีวิต อย่าง โซฟี โชล เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีที่เธอได้ลืมตาดูโลก เหรียญนี้ถูกผลิตที่โรงกษาปณ์แห่งรัฐบาวาเรียในเมืองมิวนิค ได้รับการออกแบบโดย โอลาฟ สตอย (Olaf Stoy) นักออกแบบจากมลรัฐแซกโซนี โดยใช้รูปของ โซฟี โชล ช่วงอายุประมาณ 18 ปีเป็นต้นแบบ 

ด้านหนึ่งของเหรียญ คือสัญลักษณ์นกอินทรีที่ล้อมรอบด้วยหมู่ดาว ชื่อประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bundesrepublik Deutschland) ปีที่ผลิต (2021) ค่าเงิน (20 EURO) และเนื้อโลหะ (silber 925) หากพลิกดูที่ขอบเหรียญก็จะพบข้อความ ‘EIN GEFUEHL WAS RECHT UND UNRECHT IST’ หรือแปลได้ว่า ‘ความรู้สึกระหว่างสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่ผิด’ ที่อ้างอิงมาจากประโยคที่ โซฟี โชล เขียนให้เพื่อนของเธอ ฟริตซ์ ฮาร์ทนาเกิล (Fritz Hartnagel) เมื่อปี 1940 เหรียญนี้นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเธอแล้ว ยังเป็นการระลึกถึงความกล้าหาญขององค์กรจัดตั้งกุหลาบขาว (White Rose) ในการต่อสู้เผด็จการอย่างสันติวิธี และเหรียญนี้ยังเป็นหนึ่งในการทบทวนอดีตของชาวเยอรมันในสิ่งที่กระทำผิดพลาด

กระบวนการยอมรับหรือทบทวนตนเองดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของกระบวนการเลือกที่จะลืม และเลือกที่จะจำบางส่วนของประวัติศาสตร์ที่ต้องการความเข้าใจที่มากขึ้น เนื่องจากในเกือบทุกพื้นที่บนโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ล้วนมีประวัติศาสตร์ที่ชุ่มโชกไปด้วยสิ่งที่ผิดพลาดและอยากลืม ขณะที่บางสิ่งก็ถูกเลือกที่จะยอมรับและจดจำ ‘กระบวนการเลือกจดจำ’ จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะนำพามนุษย์ก้าวผ่านหน้าประวัติศาสตร์ไปได้ 

กระบวนการเลือกจดจำ ความทรงจำกับการเมือง

โมริส อัลบ์วัคส์ (Maurice Halbwachs) นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวเอาไว้ว่า ความทรงจำของปัจเจกไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะแยกขาดออกจากความทรงจำแบบส่วนรวม (collective memories) ได้ เนื่องจากความทรงจำนั้นเป็นสิ่งที่ปัจเจกแต่ละคนและแต่ละกลุ่มสังคมร่วมกันประกอบสร้างขึ้นมา กระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แม้แต่การดำรงอยู่ด้วยตัวคนเดียวของปัจเจก เพราะแม้แต่การอยู่ตัวคนเดียวก็ยังหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกตรงหน้าไม่ได้ กระทั่งโลกตรงหน้าก็เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ขณะเดียวกันความคิดนี้ถูกต่อยอดไปอีกด้วยแนวคิดของ วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) ที่เสนอว่ากระบวนการความทรงจำร่วมนั้นสามารถเคลื่อนที่ผ่านสถานที่และช่วงเวลาได้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ 

โมริส อัลบ์วัคส์ (Maurice Halbwachs) นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส

กระบวนการของการเลือกจดจำ เริ่มที่จะปรากฏชัดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกผ่านการต่อสู้กับการถูกกดขี่โดยเผด็จการทหารและเผด็จการเบ็ดเสร็จ การเรียกร้องเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำ คลังข้อมูลและวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่ถูกรัฐบาลในช่วงเผด็จการ บังคับให้ ‘ลืม’ จึงถูกนำกลับมา ‘จำ’ ใหม่อีกครั้ง ดังนั้นความทรงจำจึงเกี่ยวข้องกับผู้ที่ถือครองอำนาจในสังคมที่จะกำหนดทิศทางของเรื่องเล่าในอดีตที่ควรจดจำ ควรรักษา หรือควรถูกลืม

ความทรงจำยังถูกเลือกให้ต่างออกไปเป็นเหรียญคนละด้านได้เช่นกัน ดังที่ อเลสซานโดร พอร์เทลลี ( Alessandro Portelli) นักวิชาการด้านวรรณคดีและวรรณกรรมชาวอเมริกันได้ทำการศึกษากรณีประวัติศาสตร์การสังหารหมู่ของนาซีที่เมืองซีวิเทลลา เดล ตรอนโต (Civitella del Tronto) เหนือแผ่นดินอิตาลี ค้นพบว่าความทรงจำต่อเหตุการณ์ดังกล่าวถูกรัฐบาลอิตาลีสร้างภาพจำว่าเป็นความกล้าหาญของฝ่ายต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์ และระลึกถึงในฐานะเกียรติภูมิของชาติ แต่ขณะเดียวกันความทรงจำของคนในพื้นที่กลับจดจำว่า เมืองนี้ถูกสังหารหมู่เนื่องจากความ ‘ประมาท’ ของกลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์ไม่กี่คนที่ทำให้นาซีสังหารหมู่ในสถานที่แห่งนี้ ในแง่นี้การเลือกที่จะจดจำเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจึงอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่ผู้มีอำนาจสามารถเลือกได้ว่าจะปกปิดความทรงจำชนิดใดไว้บ้าง ปัญหาคือ ไม่ค่อยมีผู้มีอำนาจประเทศใดที่จะเลือกเปิดเผยความทรงจำด้านแย่ออกมามากนัก 

งานศึกษาของ มาเรีย เพาลา, นาสซิเมนโต อราอูโช และ มาเรียน เซปุลเวดา ดอส-ซานโตส (Maria Paula, Nascimento Araújo and Myrian Sepúlveda dos Santos) ภายใต้หัวข้อ ‘History, Memory and Forgetting: Political Implications’ สรุปประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาความทรงจำเอาไว้ว่า มีหลากหลายวิธีที่แต่ละสังคมจะจัดการกับความทรงจำของตนเองผ่านผลประโยชน์ อำนาจ และการจัดการ การเมืองจึงเป็นเรื่องของการรักษาสมดุลระหว่างการหมกมุ่นอยู่กับอดีตและการบังคับลืม

การจัดการความทรงจำในลักษณะดังกล่าวกำลังทำงานอยู่กับความทรงจำของประชาชนชาวเยอรมันด้วยเช่นกัน การสร้างเหรียญที่ระลึกต่อเหตุการณ์การต่อต้านนาซีของ โซฟี โชล และพรรคพวกกลุ่มกุหลาบขาว เป็นกระบวนการล่าสุดของการเลือกที่จะจดจำอดีตที่ย่ำแย่ของตนเอง เช่นเดียวกับกรณีก่อนหน้านี้ที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี วิลลี บรันท์ (Willy Brandt) ทรุดเข่าลงอย่างสงบนิ่งหลังทำพิธีวางพวงมาลาที่อนุสรณ์สถานแห่งชุมชนวอร์ซอ (Warsaw Ghetto) ประเทศโปแลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยถูกทหารเยอรมนีกระทำย่ำยีอย่างหนักหนาสาหัสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะไม่มีการเอ่ยถ้อยคำขอโทษจากปากของบรันท์ แต่ก็ถูกตีความได้ว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ในเชิงขอโทษประการหนึ่ง รวมถึงกรณีการตั้งชื่อจัตุรัสด้วยชื่อของสองพี่น้องตระกูลโชล (Geschwister-Scholl-Platz) และการตั้งชื่อโรงเรียนตามนามของผู้เสียชีวิตจากการกระทำของพรรคนาซี 

การพลิกกลับของประวัติศาสตร์สำหรับประเทศเยอรมนีถือว่ารวดเร็วกว่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก กระบวนการชดใช้ทางความทรงจำและการแสดงออกถึงความรู้สึกผิดที่บรรพบุรุษก่อไว้ ใช้เวลาเพียงเกือบร้อยปีเท่านั้นเมื่อเทียบเคียงกับสังคมอื่น ความน่าสนใจของสังคมเยอรมนีคือ การจัดการความทรงจำนี้ถูกกระทำโดยผู้มีอำนาจในสังคมขณะนั้น ตรงตามทฤษฎีของนักวิชาการหลายคนที่กล่าวไปข้างต้น ดังเช่นการคุกเข่าของนายกรัฐมนตรี วิลลี บรันท์ เป็นต้น ขณะที่ภาคส่วนอื่นของโลกนั้นผู้มีอำนาจในสังคมไม่เคยออกมากล่าวขอโทษหรือจดจำเรื่องเลวร้ายในอดีตแต่อย่างใดเลย

100 ปีของ โซฟี โชล กับโศกนาฏกรรมนับศตวรรษในการเมืองไทย

ในประเทศไทย กระบวนการเลือกจดจำยังไม่เกิดผลในทางที่ดีต่อผู้สูญเสีย ในทางกลับกันสังคมไทยยังคงถูกสั่งให้ลืมสิ่งต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สิ้นกลิ่นควันปืนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยาวมาจนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่ไม่มีผู้นำทางการเมืองคนใดออกมาคุกเข่า กราบพื้น ยกมือไหว้หน้ากล้อง เหมือนกรณีของ วิลลี บรันท์ ที่แสดงต่อชาวยิว

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีคนตายและเสียชีวิตจากความรุนแรงโดยรัฐจำนวนมากนั้น ธงชัย วินิจจะกูล ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาดังกล่าวว่า เป็นบรรยากาศของการ ‘เฉลิมฉลอง’ ต่อการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บุกเข้ามาสังหารหมู่นักศึกษา ไปจนถึงการได้พูดคุยกับระดับนำของมวลชนกลุ่มกระทิงแดงอีกหลายคนของอาจารย์ธงชัย ก็ค้นพบว่า ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่รู้สึกผิดและเสียใจในสิ่งที่ได้กระทำลงไปเลย

จาก พ.ศ. 2519 จนถึง พ.ศ. 2564 เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่ารัฐไทยจะพยายามทำให้เหตุการณ์นี้ค่อยๆ ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำ และเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอดีตจึงยิ่งง่ายต่อการถูกทำให้ลืม เมื่อหันกลับมามองประวัติศาสตร์ระยะใกล้อย่างการนองเลือดกลางปี 2553 ที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยศพ เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกกล่าวถึงโดยผู้นำของการเมืองไทยเพียงแค่ “โชคร้ายที่มีผู้เสียชีวิต” ไปจนถึงการพูดถึงอดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงในทำนองว่า “กังวลทำไม เขาทำถูกทำผิดกฎหมายก็เป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของสังคมและเรื่องของเจ้าหน้าที่ว่าจะยังไง แล้วทุกคนในประเทศไทยอยากให้เกิดแบบนี้อีกหรือ เธอเกิดทันหรือเปล่าปี 53 ถ้าทันก็ดูกันแล้วกัน ก็บอกเขาสิ” 

สิ่งที่ทำให้กระบวนการทำงานของความทรงจำเพื่อที่จะตีกลับประวัติศาสตร์ของสังคมไทย แตกต่างไปจากปรากฏการณ์ทางสังคมในประเทศเยอรมนี เป็นเพราะว่าผู้มีอำนาจในการกำหนดว่าจะเลือกจดจำความทรงจำรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือจะลืมสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นไม่เคยพ่ายแพ้อย่างแท้จริง เหมือนกรณีพรรคนาซีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การค่อยๆ ถูกทำให้ลืมเลือนเรื่องราวในอดีตอันเลวร้ายของตนเองบนถนนสีเลือด และค่อยๆ สร้างเรื่องราวอภินิหารสร้างชาติต่างๆ นานาให้เป็นที่จดจำตามแบบเรียนนั้น เป็นการสะท้อนให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าศูนย์กลางทางอำนาจที่สามารถมีอิทธิพลต่อความทรงจำในสังคมไทยนั้นไม่เคยถูกพลิกกลับให้กลายเป็นผู้แพ้ และกลุ่มเหยื่อที่ถูกกระทำไม่เคยที่จะมีโอกาสในการสร้างชุดความทรงจำหรือแนวเรื่องเล่า (narratives) ใหม่ขึ้นมาโต้แย้งชุดความทรงจำแบบเดิม ไม่ว่าพวกเขาจะชนะการเลือกตั้งกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตาม 

ดังนั้นผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553 จึงไม่เคยได้รับการเอ่ยถึงในด้านบวกอย่างการถูกนำไปเป็นชื่อโรงเรียน ชื่อถนน ชื่อสถานที่สาธารณะ หรือการได้ไปปรากฏภาพอยู่บนเหรียญและธนบัตรเหมือน โซฟี โชล และอีกหลากหลายบุคคลในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี เนื่องจากความทรงจำที่ถูกเลือกจำโดยระดับนำในสังคมนั้นยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงในระดับเดียวกันกับที่เยอรมนี และอาจยังต้องใช้เวลาพัฒนากระบวนการรื้อฟื้นความทรงจำของเหตุการณ์อันน่าหดหู่ที่รัฐพยายามสั่งให้ลืม พอๆ กับระยะเวลาที่ชาวเยอรมันใช้เพื่อนำ โซฟี โชล และกลุ่มกุหลาบขาว กลับมาโลดแล่นในฐานะของการระลึกถึงอีกครั้ง 

การรื้อฟื้นและพลิกกลับด้วยกระบวนการเลือกจำในสังคมเยอรมนีจึงสามารถนำ โซฟี โชล และบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับประวัติของเธออย่างเพลง Die Gedanken Sind Frei (Thoughts are Free) กลับมาเผยแพร่อีกครั้ง ส่วนบทเพลงของชาวเสื้อแดง บทกวีของคนเดือนตุลา อาจจะต้องรอไปก่อนเพื่อให้กลไกทางประวัติศาสตร์ค่อยๆ ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าความทรงจำที่พวกเราทุกคนมีต่อสังคมและบุคคลในประวัติศาสตร์ที่สูญเสียไปนั้นถูกอิทธิพลของอำนาจระดับนำในสังคมกำหนดไว้ และกระบวนการพลิกกลับเพื่อกำหนดความทรงจำใหม่เพื่อคืนความยุติธรรมในประวัติศาสตร์อาจกินเวลานานนับศตวรรษ ดังเช่นที่ชาวเยอรมันทำสำเร็จ

ที่มา

Germany: New silver commemorative coins honour centenary birthday of WWII-era heroine Sophie Scholl

Maria Paula Nascimento Araújo and Myrian Sepúlveda dos Santos. (2009). History, Memory and Forgetting: Political Implications.

ธงชัย วินิจจะกูล : ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า