ตรวจพบยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซตตกค้างใน ‘ถั่วเหลือง’

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจ ‘ถั่วเหลือง’ พบยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซตตกค้างใน 5 ผลิตภัณฑ์ จากทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันมติเดิมที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยไม่มีการเลื่อนออกไป และให้เร่งพิจารณาเพิกถอนไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด

จากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เมล็ดถั่วเหลือง โดยนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2562 จำนวน 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกและค้าส่ง เพื่อตรวจหาสารตกค้างจากยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซต ผลการทดสอบปรากฏดังนี้

ไม่พบสารไกลโฟเซต 3 ตัวอย่าง ได้แก่

  1. ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี
  2. ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์
  3. ถั่วเหลืองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท

พบสารไกลโฟเซตตกค้าง 5 ตัวอย่าง ได้แก่

  1. ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ 0.53 มก./กก.
  2. ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน 0.50 มก./กก.
  3. ถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต 0.24 มก./กก.
  4. ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท 0.20 มก./กก.
  5. ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ 0.07 มก./กก.
ภาพ: นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ปริมาณสารไกลโฟเซตที่ตรวจพบจะมีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารสากลที่กำหนด คือ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (MRL CODEX: glyphosate 2006) แต่การที่มีไกลโฟเซตตกค้างในผลิตผลทางการเกษตรก็ทำให้เกิดความเสี่ยงและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมี

สารีกล่าวว่า ไกลโฟเซตถือเป็นสารเคมีอันตราย เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A การสัมผัสสารจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่งผลต่อต่อมไร้ท่อ ที่ผ่านมาพบว่ามีการตกค้างในเลือดแม่และสะดือทารกแรกเกิดสูงถึง 50.7 เปอร์เซ็นต์ และมีคดีที่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฟ้องร้องบริษัท มอนซานโต้-ไบเออร์ มากกว่า 10,000 คดีในสหรัฐอเมริกา จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด รวมทั้งขอให้ยุติการเลื่อนการใช้สารเคมีอันตราย 2 รายการ ได้แก่ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสด้วย

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการ ขอให้ระบุในฉลากให้ชัดเจน หากมีการใช้ไกลโฟเซตในการเพาะปลูกหรือมีการนำเข้า และเรียกร้องกระทรวงเกษตรฯ ต้องบังคับให้มีการแจ้งแหล่งที่มาของอาหาร โดยระบุว่า “มีการใช้สารไกลโฟเซตในกระบวนการผลิต” เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 เมษายน 2563 จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งคาดว่าอาจมีการพิจารณาเลื่อนการยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นปลายปี 2563 จากเดิมที่มีมติให้ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนสารไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ตามความเหมาะสม แต่ยังไม่มีมติให้เพิกถอน

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงได้ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนร่วมกันชุมนุมออนไลน์ เพื่อแสดงพลังคัดค้านการเลื่อนการแบน 3 สารพิษ ด้วยการถ่ายรูปตัวเองหรือคนใกล้ชิด พร้อมติดแฮชแท็ก #MobFromHome #แบน3สารพิษเดี๋ยวนี้ #ครัวไทยต้องไม่ใช่ครัวโรค #อย่าฉวยโอกาสอ้างโควิดไม่แบน3สาร

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า