Spiritual Health: ถ้าจิตใจปราศจากหมอกควัน

ครูป้อม-ศุภลักษณ์ ทัดศรี

เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ (คภยส.) ภายใต้การนำของ เภสัชกรคฑา บัณฑิตากุล ได้จัดอบรมเทคนิคการใช้การให้บริการเลิกบุหรี่ แก่นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ เภสัชกรประจำร้านขายยา และผู้สนใจ เมื่อวันจันทร์ ที่ 15 มกราคม 2561 ณ มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา โดยมีเป้าประสงค์หลักอยู่ที่การให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความอยากเลิกบุหรี่ ยาสูบ รวมไปถึงสุรา ภายใต้กรอบของสิ่งที่เรียกว่า ‘Spiritual Health’ หรือ สุขภาพของจิตวิญญาณที่ดี

แน่นอน อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณอาจจะคิด…นี่จะขายศาสตร์ที่เจือปนด้วยสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ใช่หรือไม่

อะไรคือจิตวิญญาณ?

แล้วอะไรคือความหมายของความเข้าใจต่อจิตวิญญาณ?

ความหมายของคำว่าสุขภาพแบบองค์รวมที่แน่นอน ไม่ได้หมายถึงเรื่องของผีสางดวงวิญญาณแต่อย่างใด

อะไรคือสุขภาพแบบองค์รวม

ก่อนจะไปถึงความหมายของ Spiritual Health เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า สุขภาพแบบองค์รวม หรือ Politic Health มีอยู่ด้วยกัน 4 อค์ประกอบ กาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งอธิบายอย่างรวบรัดและง่ายที่สุดคือ กาย=สุขภาพกายดี จิต=สุขภาพจิตดี สังคม=อยู่ในภาวะสังคมที่ดี ครอบครัวดี แล้วจิตวิญญาณล่ะ?

ตามการนิยามของ ‘ครูป้อม’ ศุภลักษณ์ ทัดศรี  จากบ้านพินทุ ศูนย์การเรียนรู้ บราห์มา กุมารี มหาวิทยาลัยทางจิตของโลก อดีตศิลปินที่ผันตัวมาศึกษาเรื่อง Spiritual Health กระทั่งเดินทางไปถึงประเทศอินเดียเพื่อศึกษาเรื่องนี้กับ ‘คุรุ’ โดยตรง จิตวิญญาณในกรอบคิดของ Spiritual Health หมายถึงการมีสุขภาพสติปัญญาที่ดี ซึ่งกินความไปถึงการมีปัญญาในการใช้ชีวิต การใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข

ไม่ได้มีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผีสางดวงวิญญาณเลย

“การเป็นผู้ให้บริการหรือการช่วยเหลือคนอื่น เราจำเป็นจะต้องสร้างสภาพจิตที่เข้มแข็งกับตัวเราเอง”

บุคลากรสายสาธารณสุข เป็นกลุ่มบุคคลที่ครูป้อมบอกว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากสภาพจิตใจที่ถูกกดดันจากการอยู่กับคนที่เจ็บป่วยอยู่โดยตลอด แม้แต่อาชีพเภสัชกรที่บางคนอาจมองว่าเป็นอาชีพที่ทำหน้าที่แค่การจ่ายยา แต่ในมุมของครูป้อมมองว่า คนที่มาหายาที่ร้านเภสัช ไม่ได้มาเพียงเพื่อหาซื้อยากลับไปแก้อาการที่ทำให้ทุกข์กายทุกข์ใจ แต่ยังมาเพื่อนำเอาความเครียด ความวิตก มาแบ่งปันให้ ก่อเกิดเป็นความเสี่ยงจากลักษณะภาษาที่ห้วนห้าวไร้มารยาท อะไรเหล่านี้หากไม่มีการปกป้องตัวเอง ย่อมง่ายที่จะกลายเป็นผู้ที่มีความคิดและมุมมองในแง่ลบ พูดง่ายๆ คือ ไม่ health นั่นเอง

และหากเราไม่มีความสุขแล้ว เราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข เป็นคนที่มีแต่จิตวิญญาณเต็มไปด้วยความทุกข์

“จิตวิญญาณคือบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ หรือรูปกายภายนอก คำว่า Spiritual ในภาษาอังกฤษ key ของมันจริงๆ ก็คือ spirit นั่นแหละ เหมือนกับคำว่า มีสปิริตนักกีฬา คนทำงานก็อาจจะบอกถึงความรับผิดชอบ มีสปิริต ดังนั้น spirit ในความหมายของคำว่า spiritual จึงหมายถึงวิญญาณ หมายถึง soul หมายถึงชีวิต”

การมี Spiritual ที่ดี ไม่ใช่แค่การป้องกัน body ให้มีสุขภาพดี แต่ยังรวมถึงทัศนคติที่เรามีต่อตัวเอง และมุมมองที่เรามีต่อคำว่า Spiritual Health

คฑา บัณฑิตากุล

Spiritual กับมุมมองต่อตัวเรา

เรื่องหนึ่งที่มักเกิดสม่ำเสมอ คือการโดดเรียน แต่มีความแตกต่างระหว่างนักเรียนระดับชั้นมัธยมที่หายไปห้าคน กับนักเรียนชั้นอนุบาลหายไปหนึ่งคน

ความแตกต่างนั้นบ่งบอกถึงช่วงอายุที่แตกต่างและความใส่ใจของครูชั้นอนุบาล หลังจากพักเที่ยงผ่านไปแล้วพบว่านักเรียนหญิงชั้นอนุบาลหนึ่งคนได้หายตัว การหายตัวไปนั้น ครูไม่สามารถที่จะสอนต่อได้ ไม่เหมือนนักเรียนชั้นมัธยมที่หายไปห้าคน

ความโกลาหลพลันบังเกิด ครูชั้นอนุบาลหยุดการสอนเพื่อตามหาเด็กหญิงที่หายไป จนกระทั่งตามไปพบเด็กหญิงนอนจมกองเลือดในห้องน้ำ มีมีดโกนตกอยู่ข้างกาย

“ความคิดแรกของเราคือ เด็กตัวน้อยๆ คนหนึ่งทำอะไรกับร่างกายตนเองใช่ไหม?” ครูป้อมตั้งคำถาม และเล่าต่อว่า ความคิดแรกก็มุ่งไปทางนั้น จนกระทั่งเด็กน้อยได้รับการพยาบาลแล้วฟื้นคืนสติ การสอบถามจากครู ผู้ปกครอง จึงเปิดเผยเรื่องราวของเด็กหญิงผิวสีที่ขโมยมีดโกนพ่อมาเพื่อขูดเอาสีผิวที่ดำคล้ำออกไป แต่เด็กน้อยไม่รู้ว่าแค่การเปลี่ยนมุมองศา ใบมีดที่ควรขูดเอาสีผิวออกไปตามความเชื่อความเข้าใจของเด็กหญิง กลับเฉือนเข้าเนื้อ ด้วยความช็อกและความเจ็บปวด เด็กหญิงจึงสลบไปท่ามกลางกองเลือดที่ไหลอาบ

นั่นเป็นความเศร้าใช่ไหม? เพราะเด็กน้อยไม่เข้าใจว่า ลึกลงไปใต้ผิวที่ดำคล้ำกว่าเพื่อนร่วมชั้นไม่ได้มีสีผิวขาวซ่อนอยู่ แต่คือร่างกายที่เจ็บปวดจากความพยายามเป็นให้เหมือนคนอื่นๆ

จากเรื่องนี้ ครูป้อมโยงกลับมายังจิตใจของคนเรา แม้ในวัยที่เติบโตขึ้น เราก็ยังคงไม่เข้าใจว่าร่างกายนี้ไม่ได้บ่งบอกตัวตนที่อยู่ข้างในตัวเรา เราไม่ได้อ้วนเมื่อคนอื่นชี้นิ้วว่าเราอ้วน แม้เป็นเรื่องยากที่จะทำใจ กระทั่งเข้าใจยอมรับว่าจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องของผีสางที่ลี้ลับพิสูจน์ไม่ได้

“เมื่อสายลมพัดผ่าน เรามองไม่เห็น แต่เรารู้สึกถึงมันได้ใช่ไหม? อากาศหนาว เราเกาะกุมมันไม่ได้ ถูกไหม? แต่เราก็ยังต้องใส่เสื้อกันหนาว จิตวิญญาณก็เหมือนกัน”

อาจจะฟังดูเลื่อนลอย เพราะถ้าหากร่างกายไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่ควรรู้สึกหนาวเหน็บสิ แต่ครูป้อมอธิบายว่า ความเข้าใจส่วนใหญ่ของคนไม่ได้จำแนกความแตกต่างระหว่างร่างกายกับจิตวิญญาณ ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับว่า ‘ใจ’ ของเราจำแนกความเข้าใจต่างๆ ในนิยามความหมายแบบใด เช่น คำว่า ‘ใจง่าย’ ความเข้าใจแรกของเรามักจะคิดไปในทางลบใช่ไหม?

ครูป้อมยกตัวอย่างเรื่องสมมุติ หากเช้าวันหนึ่ง ลูกสาวตื่นมาอ้อนพ่อว่าวันนี้แม่ไม่อยู่ และพ่อจำเป็นต้องเข้าไปประชุมงานด่วน แล้วพ่อตัดสินใจอยู่กับลูก

เราจะมองว่าพ่อใจง่ายในทางลบหรือทางบวก?
กลับกัน หากพ่อไม่อยู่กับลูก แต่เลือกที่จะไปเที่ยวอาบอบนวด เราจะมองความใจง่ายของพ่อในทางบวกหรือทางลบ?

นิยามความหมายต่อสิ่งต่างๆ คือ หัวใจของ Spiritual หัวใจของจิตวิญญาณ

 

ถ้าจิตใจปราศจากหมอกควัน

กลับมายังเรื่อง Spirit ของการให้บริการในแง่มุมของวิชาชีพด้านเภสัชกร ครูป้อมกล่าวในสิ่งที่อาจดูเลื่อนลอยดุจหมอกควัน แต่มีน้ำหนักที่สูญไปจากจำนวนเงินในกระเป๋าและสุขภาพร่างกายที่ตายไปทีละเซลล์ ว่า

“ควันบุหรี่ไม่เข้าปอดหรอก ถ้าจิตใจปราศจากหมอกควัน”

ขณะที่เภสัชกรคฑากล่าวเสริมว่า

“คุณจ่ายยาที่ดีที่สุด ดูแลให้ดีที่สุดแค่ไหนก็ตาม หากคุณไม่พูดเรื่องเลิกบุหรี่ ทุกอย่างก็สูญเปล่า”

ทั้งนี้ การทำหน้าที่เภสัชกรต้องเป็นให้มากกว่าแค่คนจ่ายยาที่ถามไถ่เพียงเป็นอะไรมา? แต่ยังต้องให้คำแนะนำ สอบถามพื้นเพชีวิตที่ล้วนเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดสุขภาพที่เจ็บป่วยทั้งกาย จิต สังคม วิญญาณ ซึ่งการจะเข้าใจเพื่อนำไปสู่การให้คำแนะนำที่ดีได้นั้น พื้นฐานสำคัญคือ ต้องเข้าใจ ‘กลไกภาวะติดบุหรี่’ ที่เภสัชกรคฑาจำแนกออกเป็น 3 ภาวะ ประกอบไปด้วย

  • ทัศนคติ
  • สร้างสัมพันธ์
  • ภาวะติดนิโคติน

ภายใต้กรอบความคิดเหล่านี้ การถามไถ่ถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่แค่ไม่กี่นาที จะกระตุ้นให้เลิกสูบบุหรี่มากกว่าไม่ถามอะไรเลย เช่น

  • วันละกี่มวน
  • สูบมากี่ปี
  • สูบบุหรี่ชนิดไหน
  • คิดเป็นเงินวันละเท่าไหร่
  • เคยเลิกสูบมาก่อนหรือไม่
ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ

สุดท้าย ในทัศนะของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การจะช่วยเหลือผู้ติดบุหรี่ให้หยุดสูบ กระทั่งนำไปสู่การเลิกได้ ผู้ที่จะให้การช่วยเหลือไม่ได้จำกัดแค่เพียงแต่เภสัชกร หากยังรวมถึงคนในครอบครัว คือ หยุดประณามแล้วถามไถ่ให้ถึงสาเหตุ เพราะความเข้าใจของคนส่วนมากมักมองคนสูบบุหรี่ในเชิงลบและไม่เคยไถ่ถามถึงสาเหตุ แต่พร้อมที่จะตัดสินเขาไปก่อนแล้วในทำนอง เห็นไหม? คุณไม่รู้เหรอแม้สูบบุหรี่จะช่วยคลายเครียดได้ แต่มันก็มาพร้อมโรคที่ตามมา

“อย่าคิดบวกอย่างเดียว ต้องมองบวกด้วย”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า