เบื้องหลังเหตุระเบิดในวันอีสเตอร์ที่ศรีลังกา

เหตุการณ์หลังเสียงระเบิด

เบื้องหลังความอลหม่านและสับสน ท่ามกลางไอควันที่ยังคละคลุ้งหลังเหตุระเบิดครั้งใหญ่ นับว่าเหตุนองเลือดในวันอีสเตอร์นับเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่สุดในศรีลังกานับตั้งแต่สงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหลกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE)

ขณะที่สายข่าววงในด้านความมั่นคงของประเทศกล่าวถึงการก่อเหตุในเทศกาลอีสเตอร์ที่ผ่านมาว่าเป็นการกลับมาของการก่อการร้ายในระดับองค์กร ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1983 และสิ้นสุดลงในปี 2009

การระเบิดเริ่มต้นที่วิหารเซนต์แอนโธนี (St.Anthony’s Shrine) ในโคลัมโบ เวลาประมาณ 8.45 น. ถัดมาคือโบสถ์เซนต์เซบาสเตียน (St.Sebastian Catholic Church) ในเนกอมโบ เมืองคาทอลิกทางตอนเหนือของโคลัมโบ และโบสถ์โปรเตสแตนท์ไซออน (Protestant Zion Church) ในเมืองบัตติคาเลา ไม่นานจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันเหตุระเบิดในโคลัมโบที่โรงแรมหรู 3 แห่ง Cinnamon Grand, Shangri-La และ Kingsbury ตามมาด้วยเกสต์เฮาส์อีกหนึ่งแห่ง

และล่าสุดเย็นวันที่ 22 เมษายน เกิดเหตุระเบิดรถตู้ใกล้วิหารเซนต์แอนโธนีขณะเจ้าหน้าที่ STF (Special Task Force) กำลังปลดชนวน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้ามาควบคุมสถานการณ์

นอกจากนี้ยังพบวัตถุระเบิดอีก 87 ชิ้นที่สถานีรถบัสในโคลัมโบอีกด้วย

 

คำถามคือ ‘ใคร’

ในเช้าหลังวันเกิดเหตุ มีการบุกจับกุมผู้ต้องสงสัยกว่า 24 คน ตั้งแต่เกิดเหตุขึ้นมีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามให้ชาวศรีลังกาออกจากเคหะสถานในยามวิกาลระหว่าง 6 โมงเย็น – 6 โมงเช้า และการก่อเหตุครั้งนี้ถูกมองว่าไม่ใช่ทั้งจากฝีมือคนทั่วไปและทั้งกลุ่มอาชญากรทั้งหลายอย่างแน่นอน ทั้งการประกอบระเบิด การขนย้ายถ่ายเทระเบิดไปยังสถานที่เป้าหมาย หรือแม้แต่การเลือกเวลาปฏิบัติการ ได้บ่งชี้ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุมีความชำนาญอย่างมาก จายานาธ โคลอมบาจ (Jayanath Colombage) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือที่มีบทบาทในช่วงของสงครามกลางเมืองวิเคราะห์กับสื่อ

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย ฟิล ฮายส์ (Phill Heyes) จากฮ่องกง ก็มองว่า เหตุการณ์ในวันอีสเตอร์เป็น “การก่อการร้ายแบบบริสุทธิ์ (pure terrorism) มีความตั้งใจจะให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก” แต่เขาก็เริ่มถามกลับว่า “แล้วอะไรคือแรงจูงใจ พวกเขาทำไปเพื่ออะไรกัน?”  เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด “เหตุการณ์ครั้งนี้ต้องใช้เวลามากกว่า 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ ทั้งการวางแผนการก่อการร้ายและการระดมทุน” ฮายส์กล่าว

 

ข่าวลือในหมู่ประชาชน

การสืบสวนมุ่งความสนใจไปที่กลุ่มมุสลิมท้องถิ่น ตำรวจและหน่วยลับพบผู้ต้องสงสัยที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับมือระเบิดพลีชีพ หนึ่งในนั้นเป็นเศรษฐีผู้มั่งคั่งในกรุงโคลัมโบ

นายกรัฐมนตรีศรีลังกา รานิล วิกรามาสิงหะ (Ranil Wickremesinghe) ยอมรับว่าหน่วยรักษาความปลอดภัยทำงานล้มเหลว เพราะมีข่าวล่วงหน้าแจ้งว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น “เราต้องมานั่งคิดว่า ทำไมข่าวที่ได้รับยังไม่เพียงพอให้เราเตรียมการป้องกันเหตุการณ์ ทั้งผมและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ต่างก็ไม่ได้รับข้อมูล”

ตรงกันข้ามกับชาวเมืองโคลัมโบที่กล่าวว่า พวกเขาได้ยินข่าวลือว่าจะเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนแล้ว “ตลอดทั้งเดือนนี้มีข่าวลือว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น พวกชาวบ้านเขาก็คุยถึงเรื่องนี้ตลอด”

ความล้มเหลวของหน่วยข่าวกรองในการปฏิบัติการอยู่ในการเตือนของ ภูชิต ชัยสันตระ (Pujith Jayasundara) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า มีคำเตือนมาก่อนหน้านี้แล้ว ในช่วงวันก่อนเทศกาลหยุดยาวของชาวศรีลังกา อย่างเทศกาลปีใหม่ของสิงหลและทมิฬ “การเตือนที่ว่ามันก็มาก่อนหน้านี้แล้ว ยิ่งในช่วงวันที่ 12-15 เมษายน” นักการเมืองคนหนึ่งของศรีลังกากล่าว

 

ความมั่นคงของฝ่ายการเมือง

ความล้มเหลวในด้านความมั่นคงนั้นมีที่มามาจาก ความไม่สงบภายในประเทศ ด้วยรูปแบบของรัฐบาลพันธมิตรของศรีลังกา หลังจากมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2015 ทำให้สถานการณ์ไม่สงบประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา (Maithripala Sirisena) หัวหน้าฝ่ายบริหารได้มีความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการขับไล่นายกรัฐมนตรีวิกรามาสิงหะลงจากอำนาจ รวมทั้งทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญในช่วงปลายปีที่แล้ว “สถานการณ์ตอนนี้คือ 2 พรรคที่เป็นรัฐบาลมี 2 หัวเรือใหญ่ที่กำหนดทิศทางของประเทศ”

สถานการณ์ของการเป็นรัฐบาล 2 พรรคการเมือง ทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองมองว่า จุดนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจภายใต้รูปแบบระบบราชการ และส่งผลต่อการจัดการภัยด้านความมั่นคง ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยข่าวกรองของประเทศบางส่วนยังคงจงรักภักดีและเป็นพรรคพวกของอดีตประธานาธิบดีมาฮินดา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบคณาธิปไตยนานนับทศวรรษ กระทั่งพ่ายแพ้ให้กับสิริเสนาในการเลือกตั้งปี 2015 ท่ามกลางความสับสนของคนในประเทศ แต่ด้วยมาดและความเด็ดขาดของเขา ทำให้อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ยังคงความนิยมหยั่งรากลึกในหมู่ชาวสิงหล

 

National Thowheeth Jama’ath คือผู้ต้องสงสัยเบอร์ 1

แม้ศรีลังกาจะเคยเกิดสงครามกลางเมืองและเผชิญกับการระเบิดพลีชีพของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม แต่ศรีลังกาได้สัมผัสความรุนแรงจากการก่อการร้ายน้อยมาก อย่างไรก็ตาม การสืบสวนเหตุระทึกขวัญในวันอีสเตอร์พุ่งเป้าไปที่ National Thowheeth Jama’ath (NTJ) กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้วางระเบิดครั้งนี้ โดยเฉพาะก่อนหน้านี้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีคำขู่ก่อเหตุส่งมาจาก NTJ

NTJ เป็นที่รู้จักในศรีลังกาจากเหตุการณ์ทำลายพระพุทธรูปในปี 2016 โดยครั้งนั้น อับดุล ราซิค (Abdul Razik) เลขาธิการขององค์กรถูกจับจากข้อหาเหยียดเชื้อชาติ

เป้าหมายของ NTJ ไม่ใช่การก่อกบฏเหมือนที่เคยมี แอนน์ สเปคฮาร์ด (Anne Speckhard) ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความรุนแรงนานาชาติ (International Center for the Study of Violent Extremism) กล่าว แต่ NTJ ต้องการแผ่ขยายแนวคิดขบวนการนักรบอิสลามเพื่อสร้างความเกลียดชัง ความหวาดกลัว และการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม

“นี่ไม่ได้เกียวกับการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน” เธอกล่าว “มันเกี่ยวกับศาสนาและการฆ่าฟัน”

สเปคฮาร์ดบอกว่า การระเบิดพลีชีพที่มีการจัดตั้งมีเป้าหมายที่สมาชิกของโบสถ์โรมันคาทอลิก ชนกลุ่มน้อย และโรงแรมซึ่งเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ซึ่งคล้ายคลึงกับการก่อการร้ายของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ และที่สำคัญ นี่คือการปลุกปั่นความเกลียดชังด้านศาสนาด้วยการโจมตีโบสถ์หลายแห่งในวันสำคัญทางศาสนา

 

รอยร้าวของศาสนาและชาติพันธุ์

ศรีลังกามีประชากรราว 23 ล้านคน 75 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวสิงหล 15 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวทมิฬซึ่งอยู่บริเวณทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ประชากรศรีลังกาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุธ เป็นชาวมุสลิม 10 เปอร์เซ็นต์ และคริสเตียน 6 เปอร์เซ็นต์

ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการนองเลือดช่วงสงครามกลางเมืองโดยตรง แต่ปัจจุบันประชากรมุสลิมต้องเป็นเป้าหมายในการก่อม็อบจากกลุ่มชาวพุทธสิงหล ซึ่งเป็นประชากร 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ขณะที่ฮินดูมี 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

หลังสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหลกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจบลงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความร้าวฉานทางศาสนาเริ่มต้นและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับแต่นั้น

กันยายน 2011 กลุ่มชาวพุทธทำลายศาสนสถานอายุ 300 ปีของอิสลามนิกายซูฟี ในเมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) และเมษายน 2012 ชาวสิงหล 2,000 คน รวมทั้งพระสงฆ์ บุกเข้ามัสยิดจุมมา (Jumma Mosque) ในเมืองดัมบุลลา (Dambulla) หลังจากนั้นทางการได้สั่งย้ายมัสยิดอายุนับร้อยปีด้วยเหตุผลว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุธ

ปี 2013 กลุ่มชาวพุทธสิงหลหัวรุนแรง นำโดยกลุ่มสงฆ์โพดู บาลา เสนา (Bodu Bala Sena: BBS) รวบรวมคนนับหมื่นเดินขบวน ภายใต้ความเชื่อว่าชาวมุสลิมกำลังคัดเลือกเด็กเป็นสมาชิกองค์กรก่อการร้าย มีการโจมตีมัสยิด บอยคอตธุรกิจของชาวมุสลิม แบนการสวมฮิญาบ อาหารฮาลาล และห้ามแต่งงานกับหญิงชาวพุทธ

ปี 2018 กระแสต่อต้านชาวมุสลิมแพร่กระจายในศรีลังกา หลังมีข่าวการโจมตีชาวพุทธแพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย จนทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน

แม้บทสรุปยังไม่คลี่คลายว่าใครเป็นผู้ลงมือ แต่ผลของเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นคือความเจ็บปวด ความสูญเสียที่ทำให้ทั้งประเทศจมอยู่ในสภาวะช็อก สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ รูปแบบการโจมตีครั้งนี้ ไม่แน่ชัดว่าเป็นการโจมตีประชาชนและรัฐในฐานะเป้าหมายรอง หากเป็นเช่นนั้น ความต้องการจริงๆ คืออะไร การก่อการร้ายครั้งนี้จะสร้างคลื่นความขัดแย้งด้านศาสนาในประเทศมากขึ้นหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
asia.nikkei.com
edition.cnn.com
nytimes.come
worldbulletin.net
reuters.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า