เผาบ้านผู้นำศรีลังกา-ประธานาธิบดีสละเก้าอี้ ถึงคราวเศรษฐกิจล่มสลายโดยสมบูรณ์

สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความร้อนระอุและเป็นที่จับตามองของชาวโลก ข้อผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาลศรีลังกาภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่น่าเป็นห่วงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นำมาสู่ปลายทางของหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลที่เกินรับมือ เป็นเชื้อไฟชั้นดีที่ปลุกให้ประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่ โกตาบายา ราชปักษะ (Gotabaya Rajapaksa) ประธานาธิบดีศรีลังกาคนปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติม: เศรษฐกิจศรีลังกาในภาวะโคม่า จากกับดักหนี้ข้ามชาติสู่การล่มสลายของรัฐ

แม้จะเกิดการสลายการชุมนุมและประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินไปในเดือนเมษายน แต่การประท้วงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังคงไม่จบลงง่ายๆ เมื่อหนี้สินและความขาดแคลนภายในศรีลังกาเข้าสู่ภาวะวิกฤต การดำรงชีวิตของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบากถึงขีดสุด บีบคั้นให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ จนโกตาบายาต้องยอมออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สั่นคลอนการปกครองในประเทศ หลังจากตระกูลราชปักษะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศศรีลังกามาเกือบ 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่ มาฮินดา ราชปักษะ (Mahinda Rajapaksa) ถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 และครองอำนาจร่วมกับพี่น้องตระกูลราชปักษะในอีกหลายตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะถึงวันลาออกจากตำแหน่งของโกตาบายา ราชปักษะ อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 WAY ชวนย้อนดูสถานการณ์สำคัญในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อันนำมาสู่การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดภายใต้สภาวะโคม่าของศรีลังกา

พฤษภาคม 2565

  • เกิดการปะทะระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บกว่า 200 คน กลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผาบ้านของตระกูลราชปักษะซึ่งเป็นตระกูลของผู้นำประเทศศรีลังกา ผลจากการกดดันดังกล่าวส่งผลให้ มาฮินดา ราชปักษะ (Mahinda Rajapaksa) ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  • รานิล วิกรามาสิงหะ (Ranil Wickremesinghe) เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนมาฮินดา ภายใต้วาระของโกตาบายา ราชปักษะ (Gotabaya Rajapaksa) ประธานาธิบดีศรีลังกาที่ยังยืนยันไม่ลาออกจากตำแหน่ง
  • เกิดวิกฤตขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะเชื้อเพลิงและอาหาร ประชาชนไม่สามารถแบกรับภาระและหนี้สินของประเทศได้

มิถุนายน 2565

  • ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรต่างประเทศมูลค่า 78 ล้านดอลลาร์ และถูกฟ้องดำเนินคดีโดยธนาคารฮามิลตัน รีเสิร์ฟ (Hamilton Reserve Bank) ซึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐบาลกลางนิวยอร์ก เพื่อขอให้ศรีลังกาชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวน 
  • รัฐบาลศรีลังกาเร่งขอความช่วยเหลือจากจีน อินเดีย และญี่ปุ่น เพื่อการหาหนทางแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายลง
  • นายกรัฐมนตรีประกาศว่าเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะ ‘ล่มสลายโดยสมบูรณ์’ เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นเป็น 45.3% ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงเหลือ 50 ล้านดอลลาร์ ส่วนการขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ยังคงอยู่ในระหว่างการเจรจาอย่างต่อเนื่อง
  • เกิดการจลาจลระลอกใหม่ สาเหตุมาจากสถานการณ์ขาดแคลนเชื้อเพลิง อันนำไปสู่วิกฤตที่รุนแรงและเรื้อรังในด้านการเงินและความมั่นคงระดับประเทศ

กรกฎาคม 2565

  • กระทรวงพลังงานศรีลังกาประกาศนำเข้าเชื้อเพลิงจากบริษัทน้ำมันต่างชาติมูลค่า 587 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องชำระตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นไปเพื่อนำเข้าเชื้อเพลิงจนถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคม
  • การเจรจาข้อตกลงความช่วยเหลือทางการเงินกับ IMF ไม่สำเร็จ เนื่องจากศรีลังกาถูกประเมินว่ามีหนี้สาธารณะที่ไม่ยั่งยืน ต้องรอการรับรองจากประเทศเจ้าหนี้จึงจะสามารถรับเงินช่วยเหลือได้ ทั้งนี้ IMF จะยังคงหารือเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มผู้ประท้วงทางการเมืองบุกบ้านพักประธานาธิบดีโกตาบายา และจุดไฟเผาบ้านพักส่วนตัวของรานิล นายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้โกตาบายายอมลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยจะพ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 กรกฎาคม 2565
ที่มา

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า