คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ชีวิตที่ไร้หลักประกัน

stateless_person-2

เรื่อง: พัชรา ไชยฤทธิ์

ภาพ: อารยา คงแป้น

 

ปัญหาการเข้าถึงสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลของคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ หรือผู้ไร้สถานะในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง ทั้งที่จริงแล้วปัญหาเหล่านี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไข รัฐไทยจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาจัดการช่วยเหลือให้คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน

เตือนใจ_ดีเทศน์

“องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ว่า สิทธิในการมีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมี เราต้องมองว่ามนุษย์ทุกคนในโลกนี้ควรจะได้รับการดูแลด้วยหลักมนุษยธรรมและด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบเรื่องความมั่นคง เพราะเป็นคนที่อยู่ในประเทศนั้นมานานแล้ว ไม่ใช่คนที่เพิ่งเข้ามาใหม่” เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงความต้องการให้มีการคืนสิทธิให้กับบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ได้มีสิทธิพื้นฐานเต็มขั้น และเสนอให้คืนสิทธิแก่คนไร้รัฐที่ตกสำรวจด้วยเช่นกัน

ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2553 กำหนดให้คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ได้รับการสำรวจแล้ว ให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ต่อมาได้มีการยกเลิกสิทธินี้ไป ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลใดๆ นักเคลื่อนไหวกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจึงออกมาเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิแก่คนเหล่านี้

ต่อมา ‘กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ’ ตามมติ ครม. ปี 2553 ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง แต่ก็ใช่ว่าคนไร้รัฐทุกคนจะได้รับสิทธิในกองทุนคืนสิทธิฯ ดังกล่าวเท่ากันหมดทุกคน เนื่องจากยังมีบุคคลที่ตกสำรวจและบุคคลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตัวตนอีกจำนวนไม่น้อย

 

stateless_person-1

+ กองทุนคืนสิทธิฯ ไม่ถ้วนหน้า

สำหรับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่มีทั้งผู้มีเลขและไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน สิทธิที่จะได้รับก็จะแตกต่างกัน การแบ่งกลุ่มคนไร้รัฐในที่นี้มี 3 ประเภท คือ

  1. กลุ่มที่มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 0 และในหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 89 (0-xxxx-89xxx-xx-x) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการสำรวจในปี 2549 และ 2552 อยู่ระหว่างรอเปลี่ยนสถานะ ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิการรักษาจากกองทุนคืนสิทธิฯ
  2. กลุ่มที่มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 0 และในหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 00 (0-xxxx-00xxx-xx-x) กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบุตรหลานของคนกลุ่มแรก ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล และต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเมื่อเข้ารับการรักษา
  3. กลุ่มที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน เป็นกลุ่มคนที่ตกหล่นยังไม่ได้รับการสำรวจ หรือไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ คนกลุ่มนี้จะไม่มีสิทธิใดๆ ในกองทุนคืนสิทธิฯ และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2

ปัจจุบันประชากรกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ทั้งสองกลุ่มนี้นอกจากจะประสบปัญหาไร้หลักประกันสุขภาพแล้ว ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิ บางคนก็ไม่ทราบว่าตัวเองได้รับสิทธิ เพราะก่อนหน้านี้เคยถูกตัดสิทธิไป ทางมูลนิธิพัฒนาชุมและเขตภูเขาจึงเสนอให้มีการคืนสิทธิให้กับกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งประชาสัมพันธ์แก่กลุ่มที่ 1 ได้รับทราบโดยถ้วนหน้าว่าทุกคนได้รับการคืนสิทธิแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษามากยิ่งขึ้น

 

วิวัฒน์ ตามี่

อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ในกองทุนคืนสิทธิฯ เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิในระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบหลักของผู้มีสัญชาติไทย จะพบว่ายังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำปรากฏอยู่ ดังที่ วิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ระบุว่า

“ถึงแม้คนไร้สัญชาติจะได้รับสิทธิจากกองทุนคืนสิทธิฯ ตามมติ ครม. 2553 แต่สิทธิประโยชน์ก็ยังไม่เท่าเทียมกันในหลายเรื่อง เช่น การคุ้มครอง 4 โรคร้าย ได้แก่ โรคไต เอดส์ หัวใจ และมะเร็ง ซึ่งกองทุนคืนสิทธิฯ จะไม่มีงบนี้โดยตรง ต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ที่ดูแลครอบคลุมทั้ง 4 โรค”

กองทุนคืนสิทธิฯ เป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฉุกเฉิน ที่นำเสนอโดยฝ่ายบริหารของรัฐบาล กองทุนนี้จึงเป็นกองทุนที่ไม่มีความมั่นคงถาวร ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามประเด็นปัญหานี้มีความกังวลว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กองทุนนี้จะยังคงได้รับสนับสนุนต่อไปหรือไม่ เพราะปัจจุบันเงินสนับสนุนที่กองทุนจะได้รับในบางปีก็ไม่ได้เท่ากับงบประมาณที่วางไว้

“พอเราได้รับงบมาก็จัดสรรให้โรงพยาบาลร้อยละ 65 แล้วกันอีกส่วนไว้เพื่อที่จะให้โรงพยาบาลไปเบิกในเคสที่มีค่ารักษาพยาบาลแพงๆ ประมาณร้อยละ 35 เช่น หนองบัวลำพูที่มีคนไร้รัฐไม่เกิน 10 คน งบรายหัวก็จะได้น้อย แต่ถ้าเจอกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลสูง หนองบัวลำภูก็จะเจ๊งเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน” นายวิวัฒน์ กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับมาในแต่ละรอบ

“งบส่วนกลางนี้กันไว้เพื่อที่จะชดเชย เป็นกองทุนสำรอง จริงๆ ถ้าจัดสรรเงินตามจำนวนประชากรคนไร้รัฐ โดยที่ไม่มีงบกลาง เราก็จะไม่สามารถช่วยเหลือโรงพยาบาลขนาดเล็กได้ ความเสี่ยงที่โรงพยาบาลจะขาดสภาพคล่องก็จะสูงขึ้น”

ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อคนไร้รัฐเท่านั้น โรงพยาบาลในพื้นที่ก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย เพราะการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่แจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะให้งบตามจำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทยในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ตามแนวชายแดนหรือพื้นที่สูงที่มีคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ อาศัยอยู่จำนวนมาก มักได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จริง

ภาระค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเงินที่ได้รับจากกองทุน อาจส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง การบริหารงานในโรงพยาบาลอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะดูแลคนไข้ได้ทุกคน เพราะขาดงบประมาณ ขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ หรือกระทั่งขาดบุคลากร

 

stateless_person-3

+ โมเดล ‘โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง’ และการมีส่วนร่วมของชุมชน

ขณะที่โรงพยาบาลตามแนวชายแดนหลายๆ แห่งต้องเผชิญภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่อง ทว่า ‘โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง’ กลับมีวิธีบริหารจัดการภายในตัวเองที่ทำให้อยู่รอดได้

“เราใช้วิธีการบริหารงบภายในที่เราได้มาทั้งหมดก่อน เพราะถ้าหากว่าเราไปรอ หรือหวังว่าจะมีเงินมาชดเชยทุกครั้งที่เราให้การรักษาคนไข้ที่ไม่มีสิทธิ มันก็จะดูเป็นการเครียดเกินไปในการบริหาร เมื่อเราใช้วิธีบริหารงบภายในอย่างนี้มาหลายปี ก็พบว่าในทางบัญชีไม่มีปัญหา เงินก็ยังมีสภาพคล่องเหมือนเดิม

“และหากถึงวาระพิเศษที่มีเงินงบประมาณมาชดเชยให้ ซึ่งเราก็จะไม่ถือตรงนั้นเป็นสาระ หากต้องมานั่งคิดว่าจะต้องมีเงินมาชดเชยเท่าไหร่ถึงจะปิดบัญชีได้ มันคงยุ่งยากเกินไป” ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง กล่าว

วิธีการบริหารงบประมาณของโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงโดยไม่ให้ขาดสภาพคล่องตามที่ ทพญ.ปาริชาติ กล่าวถึงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวบ้านให้ความร่วมมือ โดยชาวบ้านบางรายที่ใช้สิทธิบัตรทอง มีการร่วมจ่ายเงิน 30 บาทกับทางโรงพยาบาลในทุกครั้งที่มารับการรักษา เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล แม้ว่าชาวบ้านจะมีสิทธิเลือกที่จะจ่ายหรือไม่จ่าย 30 บาทก็ได้ แต่ทุกคนก็ยินยอมพร้อมใจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิจากกองทุนคืนสิทธิฯ หรือจากระบบประกันสุขภาพใดๆ ก็ยังคงจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง หากแต่ทางโรงพยาบาลได้ผ่อนปรนให้โดยสามารถค้างชำระได้

“เวลารักษาคนไข้ เราจะไม่ดูว่าคนนั้นมีสิทธิอะไร ไม่มีสิทธิอะไร เราจะรักษาไปตามปกติ แต่ก่อนที่คนไข้จะรับยา เขาจำเป็นต้องถูกเรียกไปชำระเงิน แต่หากไม่มีเงินจริงๆ ทางโรงพยาบาลก็จะให้ติดค้างชำระทางบัญชีไว้ได้” ทพญ.ปาริชาติ กล่าว

ทั้งนี้ โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงยังมีข้อยกเว้นให้แก่เด็กนักเรียนทุกคนที่มีเลขประจำตัว 0-xxxx-00xxx-xx-x เพื่อให้ได้รับสิทธิในการรับการรักษาฟรี เมื่อนักเรียนมาเข้ารับการรักษา ทางโรงพยาบาลจะตัดค่าชำระให้เป็น 0 บาท หรือที่เรียกว่าระบบ ‘อนุเคราะห์’

ปัญหาในการเข้าถึงการรักษาของคนไร้รัฐ ไม่ได้มีแค่เรื่องการเสียเงินค่าบริการ แต่เรื่องการสื่อสารก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากในพื้นที่ที่โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงดูแลอยู่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายถึง 9 ชาติพันธุ์ แต่ละชาติพันธุ์ล้วนมีภาษาเป็นของตัวเอง หากเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ก็มักจะไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงต้องจ้างงาน ‘ล่าม’ เพื่อให้ทำงานร่วมกับหมอ พยาบาล อีกแรงหนึ่ง

 

stateless_person-5

+ เฝ้าระวังโรคบนตะเข็บชายแดน

พื้นที่ตามแนวชายแดนถือเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ทางโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงมีการลงพื้นที่เข้าไปฉีดวัคซีนให้แก่เด็กๆ โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งต้องข้ามแนวชายแดนเพื่อเข้าไปฉีดวัคซีนให้กับเด็กฝั่งประเทศพม่า

“แม้ว่าคนฝั่งโน้นจะเข้ามาฝากท้องแล้วคลอดที่เรา เราก็ต้องให้วัคซีนตามมาตรฐานที่ควรจะได้ บางทีเป็นช่วงรณรงค์โรคระบาด เราก็เข้าไปหยอดวัคซีนให้ ไปยืนอยู่ตรงตะเข็บชายแดนแล้วก็เรียกเด็กนักเรียนฝั่งโน้นมาหยอดวัคซีนโปลิโอ” ทพญ.ปาริชาติ กล่าวและว่า “วัคซีนน่ะราคาไม่เท่าไหร่ เพราะถ้าจะรอให้เขาป่วยแล้วค่อยมารักษา มันอาจจะขึ้นเป็นหลักพันหรือหลักหมื่น ถ้าเรารู้สึกว่าอย่างนี้ถูกกว่าเราก็ทำ กันไว้ก่อน”

การป้องกันและควบคุมโรคตามแนวชายแดนถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการคืนสิทธิ ทางเครือข่ายหมอชายแดน จึงร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เสนอนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้ง ‘กองทุนควบคุมโรคตามชายแดน’ ขึ้น เหตุผลหลักเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเข้ามาในประเทศไทย

“กลุ่มคนที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่ในประเทศไทย อาจทำให้โรคติดต่อหลายประเภทที่หายไปจากประเทศไทยแล้วกลับเข้ามาแพร่ระบาดได้อีก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล ฉะนั้นก็จะไม่มีการป้องกัน” นายวิวัฒน์ ตามี่ กล่าวเสริม

“การตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน ไม่ได้เป็นการเอางบหรือภาษีประชาชนไปให้คนตามแนวชายแดน จริงๆ แล้วเราป้องกันคนของเราที่เป็นคนส่วนใหญ่ เราตระหนักว่าถ้าเราไม่ควบคุมโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันก็จะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย หรืออาจจะแพร่ไปถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ สิ่งที่เราทำคือการป้องกัน ยิ่งจะเปิด AEC ประเทศในอาเซียนจะต้องหลั่งไหลเข้ามา เราควรรีบทำ ก่อนที่จะเกิดปัญหา”

แต่ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเพียงนโยบายที่ยังไม่มีการปฏิบัติจริง สิ่งที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุดในตอนนี้คือการเคลื่อนไหวของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการหาทางแก้ปัญหากันเองของคนในชุมชน แต่หากจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุควรต้องมีการจัดการทั้งระบบ

“ปลายปี 2558 จะมีการเปิด AEC ถ้าเรายังควบคุมคนเหล่านี้โดยที่ไม่ให้สิทธิพวกเขา ขณะเดียวกันเรากลับเปิดโอกาสเปิดช่องให้คนต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมันดูย้อนแย้งนะ” นายวิวัฒน์ ตามี่ กล่าว

 

stateless_person-6

+ ขวากหนามของการคืนสิทธิคนไร้สถานะ

เตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า “ขณะนี้ได้มีการทำ MOU ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย โดยใช้อาสาสมัคร อสม. ร่วมกับสำนักทะเบียนอำเภอหรือเขตเทศบาลตำบลเข้าไปสำรวจในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลตำบล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โรงพยาบาลอำเภอ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีประชากรอยู่เท่าไหร่”

เตือนใจ กล่าวอีกว่า แม้จะมีการทำ MOU ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงมหาดไทย แต่ดูเหมือนการลงพื้นที่เข้าไปสำรวจจะไม่สามารถทำได้โดยง่าย เพราะยังเข้าไม่ถึงคนทุกกลุ่ม บางส่วนก็ยังคงตกหล่น ไม่ถูกสำรวจ หรือบางส่วนก็ยังคงหลบซ่อน

ด้าน ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา กล่าวว่า “ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความมั่นคง บางทีเวลาทหารปกครองจะเข้าไปสำรวจ คนเหล่านี้เขาก็จะหลบ เพราะเขาไม่รู้ agenda บางคนเขากลัวว่าเขาจะไม่มีสิทธิอยู่ในผืนแผ่นดินนี้ ถ้าอยู่แบบไม่เปิดตัวก็จะไม่มีใครไปยุ่งกับเขา แต่การออกมายอมให้บันทึกไว้ มันคือการเปิดตัว ซึ่งมันเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร กับความกลัวส่วนตัวของเขาด้วย”

สิ่งที่ต้องทำคือ สื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน โดยให้คนในชุมชนช่วยกันประชาสัมพันธ์ เช่นเดียวกับเรื่องข้อกฎหมายที่ประชาชนควรรู้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้กลัวคือ ความไม่รู้ในข้อกฎหมายว่ากฎหมายสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร

“การกระจายเสียงที่ผู้ใหญ่บ้านส่งข้อความให้กับชาวบ้านควรมีการให้ข้อมูลให้ข่าวสาร แต่ที่สำคัญที่สุดบุคลากรที่เป็นผู้นำท้องถิ่นจะต้องรู้กฎหมายเหล่านี้ด้วย ถ้าผู้นำในระดับชุมชนท้องถิ่นยังไม่รู้กฎหมายก็ยากที่ชาวบ้านจะรู้ ต้องมีความตื่นตัวที่จะทำให้คนไทยรู้กฎหมายและใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฏิบัติ” เตือนใจ ดีเทศน์ กล่าว

ปัญหาสิทธิของคนไร้รัฐเป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน แม้ว่ารัฐบาลจะรื้อฟื้นกองทุนคืนสิทธิฯ ให้กับคนไร้สัญชาติ แต่ก็ครอบคลุมเพียงแค่บางกลุ่ม และมีอีกไม่น้อยที่ตกสำรวจ

แม้รากที่แท้จริงของเรื่องนี้อยู่ที่ปัญหาความมั่นคง โดยปัญหาเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของปัญหาทั้งหมด แต่อย่างน้อยหากช่วยให้ผู้มีปัญหาสถานะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาล สิ่งนี้อาจเป็นแนวทางบุกเบิกที่ทำให้ปัญหาอื่นๆ คลี่คลายลงได้

“สิ้นปี 2558 นี้ เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ต่อไปการเดินทางข้ามแดนก็จะเกิดมากขึ้น ถ้ากล่าวถึงปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียม และจะต้องเป็นข้อตกลงกันใน 10 ประเทศอาเซียนทั้งหมด ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ตอนนี้เราตื่นตัวกันแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ในด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องความมั่นคงของชาติ” เตือนใจ ดีเทศน์ สรุป

 

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า