“We stand against racial discrimination.
We condemn violence.
You, I and we all have the right to be respected. We will stand together.”
“เรายืนอยู่ข้างการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
เราขอประณามความรุนแรง
ทั้งคุณและผม เราต่างมีสิทธิ์ที่จะได้รับความเคารพเหมือนๆ กัน เราจะยืนหยัดไปด้วยกัน”
ข้อความตอนหนึ่งจากแถลงการณ์ต่อต้านความเกลียดชังชาวเอเชียโดยศิลปินกลุ่ม BTS เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ผ่านทางทวิตเตอร์ @BTS_twt ภายหลังจากเหตุการณ์ที่มีชาวเอเชียในอเมริกาถูกเหยียดเชื้อชาติและทำร้ายร่างกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อความของพวกเขากลายเป็นทวีตที่มียอดรีทวีตสูงที่สุดแห่งปี และปัจจุบันมียอดรีทวีตถึง 1 ล้านครั้ง และถูกกดไลก์กว่า 2.5 ล้านครั้ง
นับตั้งแต่มีผู้อพยพชาวจีนเข้าไปทำงานและตั้งถิ่นฐานที่อเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 ระหว่างยุคอุตสาหกรรมเหมืองทองเฟื่องฟู หลังจากนั้นไม่นานความเกลียดชังของชนชาติอเมริกันที่มีต่อชาวเอเชียก็เริ่มต้นขึ้นจากฐานความคิดเรื่องการแย่งชิงงานและทรัพยากร โดยความเกลียดชังเหล่านั้นถูกสะท้อนผ่านความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางวาจา การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การสร้างภาพจำที่เลวร้ายจากสื่อมวลชน และการออกกฎหมายห้ามอพยพ ความคิดเหยียดเชื้อชาติที่ชาวเอเชียต้องเผชิญในสังคมอเมริกาจึงกลายเป็นมายาคติที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน
แม้ว่าในปัจจุบันที่ความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและความคิดจะทำให้ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกาดูทุเลาลงไปเมื่อเทียบกับอดีต กระนั้น มายาคติที่ซุกไว้ใต้พรมแห่งโลกาภิวัตน์ก็ถูกรื้อขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 ภายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอเมริกา ซึ่งชาวเอเชียถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด จนเกิดเป็นอาชญากรรมหลายรูปแบบที่สร้างความหดหู่ให้แก่ชาวโลก และสร้างความสะเทือนขวัญให้แก่ชาวเอเชียในอเมริกา ทำให้มีกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและยุติการสร้างความรุนแรงต่อชาวเอเชียผ่านทางแฮชแท็ก #StopAsianHate บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากมาย
อคติความเกลียดชังในวันที่ความหวาดกลัวกัดกินมนุษยธรรม
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาพร้อมกับอคติต่อเชื้อชาติที่ชาวเอเชียต้องเผชิญ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัล ทรัมป์ ที่ยังคงดำรงตำแหน่งในช่วงแรกของการแพร่ระบาด มักจะเรียกขานเชื้อไวรัสชนิดนี้ว่า ‘ไวรัสจีน’ หรือ ‘Kung Flu’ (เลียนเสียงคำว่า กังฟู) บนหน้าสื่ออยู่หลายครั้ง ซึ่งผู้คนต่างลงความเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่แสดงออกถึงการเหยียดเชื้อชาติ
รายงานจากองค์กรยุติความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก (STOP AAPI Hate) ระบุว่า ช่วงปี 2564 คนเอเชียในอเมริกาตกเป็นเป้าในการถูกทำร้ายมากกว่า 3,795 ครั้ง โดยช่วงแรกของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดเหตุการณ์คุกคามชาวเอเชียกว่า 500 ครั้ง หนึ่งในนั้นมีชาวไทยที่อาศัยอยู่ในอเมริการวมอยู่ด้วย
ย้อนกลับไปในวันที่ 28 มกราคม 2564 ก่อนเกิดกระแส #StopAsianHate วิชา รัตนภักดี ชายไทยวัย 84 ปี ในนครซานฟรานซิสโก ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสโดยชาวผิวขาวคนหนึ่ง ขณะเดินออกกำลังกายแถวละแวกบ้าน เขาถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตลงในวันที่ 30 มกราคม 2564 จากเหตุการณ์ดังกล่าว โลกโซเชียลได้มีการผลักดันแฮชแท็ก #JusticeForVicha ควบคู่ไปกับ #AsianAreHuman เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อผู้เสียชีวิต และขับเคลื่อนกระแสต่อต้านความเกลียดชังชาวเอเชีย
แต่วิชาไม่ใช่คนเอเชียรายเดียวในอเมริกาที่ถูกทำร้ายร่างกายจากความเกลียดชัง ต่อมาไม่นาน ในวันที่ 16 มีนาคม 2564 เกิดเหตุบุกยิงร้านสปา 3 แห่งในเมืองแอตแลนตา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย และ 6 ใน 8 รายนั้นเป็นชาวเอเชีย
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในเวลา 17.00 น. ณ ร้านนวด Young’s Asian Massage ย่านแอคเวิร์ธ เชอร์โรกีเคาน์ตี เมืองแอตแลนตา ในเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตเป็นหญิงชาวเอเชีย 2 ราย หญิงผิวขาว 1 ราย ชายผิวขาว 1 ราย รวมเป็น 4 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นชายชาวละตินอเมริกาอีก 1 ราย
เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ณ ร้าน Gold Spa ซึ่งตำรวจได้รับรายงานว่ามีการปล้นเกิดขึ้นที่นั่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ส่วนเหตุการณ์สุดท้ายเกิดขึ้นที่ร้าน Aromatherapy Spa ตั้งอยู่อีกฟากของถนนที่เกิดเหตุการณ์ที่สอง โดยมีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตจากทั้งสองเหตุการณ์เป็นชาวเอเชียทั้งหมด
นอกจากการเสียชีวิตของวิชาและหญิงเอเชีย 6 รายนี้แล้ว ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชียในอเมริกา จนกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านความรุนแรงจากการเหยียดเชื้อชาติผ่านแฮชแท็ก #StopAsianHate ซึ่งมีชาวเอเชียจำนวนมากออกมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถูกเหยียดเชื้อชาติ ทั้งทางวาจาและการกระทำ รวมไปถึงเหล่าผู้มีชื่อเสียงจากหลายวงการมาร่วมรณรงค์ในกระแสต่อต้านความรุนแรงครั้งนี้ด้วย ซึ่งวง BTS ก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกเขาออกมาร่วมแชร์ความเจ็บปวดจากการถูกเหยียดเชื้อชาติในฐานะคนเอเชีย เช่น การต้องอดทนต่อคำผรุสวาสมากมาย หรือถูกถามแม้กระทั่งว่า ทำไมคนเอเชียหลายคนถึงพูดภาษาอังกฤษ
ส่วนทางด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน โจ ไบเดน ก็ได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชีย โดยการลงนามบันทึกการประณามและต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ พร้อมทั้งร่างกฎหมาย Anti-Asian Hate Crime เพื่อยุติความเกลียดชังต่อคนเชื้อชาติเอเชียในอเมริกา
และในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นอเมริกา (1 มิถุนายน 2565, 02.00 น. ไทย) วง BTS และ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะร่วมพูดคุยในประเด็นความสามัคคีและการเป็นตัวแทนเอเชีย รวมถึงความรุนแรงจากการเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชีย ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องในโอกาสเดือนแห่งประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย/ชาวพื้นเมืองฮาวายและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก (Asian American Native Hawaiian and Pacific Islanders Heritage Month)
เป็นที่น่าจับตามองว่าการพูดคุยระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และศิลปินชาวเอเชียระดับโลกกับในครั้งนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้การเหยียดเชื้อชาติและความรุนแรงที่ชาวเอเชียเผชิญมาอย่างยาวนานนี้จะลดน้อยลง
อ้างอิง
- จาก Chinese Exclusion Act สู่ #StopAsianHate การเป็น ‘คนอื่น’ ของชาวเอเชียในสังคมอเมริกา
- #AsianAreHuman ปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชีย
- เหตุยิงในสหรัฐฯ: ตร. คุมตัวชายวัย 21 ปี ผู้ต้องสงสัยยิงร้านสปา 3 แห่ง เสียชีวิต 8 ราย
- คนเอเชียตกเป็นเป้าความเกลียดชังเกือบ 4,000 ครั้งในสหรัฐฯช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
- โจ ไบเดน ประณามการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย
- Biden signs US anti-Asian hate crimes law
- The history behind ‘Yellow Peril Supports Black Power’ and why some find it problematic
- Covid-19 Fueling Anti-Asian Racism and Xenophobia Worldwide
- A Proclamation on Asian American and Native Hawaiian / Pacific Islander Heritage Month, 2021
- แถลงการณ์ต่อต้านความเกลียดชังชาวเอเชียโดย BTS