30 สิงหาคม 2564 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ส่งหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการต่อนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้พ้นจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เนื่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้มีการประชุมลับ เพื่อพิจารณาการเขียนข้อความบนเฟซบุ๊คของนายสุชาติ ว่าสร้างความขัดแย้งในสังคม และหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่
15 กันยายน 2564 The Isaan Record ร่วมกับ กลุ่มพลังคลับ ชวนเปิดห้องคลับเฮาส์พูดคุยในหัวข้อ ‘คิดต่าง = ชังชาติ?: กรณีปลด ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ พ้นศิลปินแห่งชาติ’
โอกาสนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและอดีตศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดใจถึงประเด็นการถูกปลด และชี้ให้เห็นข้อกังขาจากคำสั่งที่ว่านั้น
“ผมได้รับหนังสือทางไปรษณีย์ ได้หนังสือหลังจากที่เป็นข่าวเสียหายแล้วมา 10 วัน ซึ่งในหนังสือนั้น ประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติไม่ได้เซ็น แต่เซ็นโดยข้าราชการระดับรองอธิบดีฯ ที่ทำหน้าที่แทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม คล้ายเป็นผู้รับเคราะห์แทนอะไรทำนองนั้น
“หลังจากได้รับหนังสือ ผมจึงได้รู้ความจริงว่า การประชุมที่เขาเรียกว่า ‘ประชุมลับ’ มันเป็นเสียง 2 ใน 3 ไม่ใช่มติเอกฉันท์อย่างที่บางสื่อเอาไปลงข่าว
“ในหนังสือที่เขาบอกมานั้น คล้ายๆ กับว่าให้ผมชี้แจงกลับไปภายใน 30 วัน หลายคนก็บอกว่าผมควรอุทธรณ์ ซึ่งผมได้เขียนลงไปในเฟซบุ๊คว่า ผมไม่อุทธรณ์ เพราะผมรู้สึกว่ามันไม่ชอบมาพากล
“หนังสือถอดถอนศิลปินแห่งชาติ แต่เซ็นโดยรองอธิบดีที่ทำหน้าที่แทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แล้วประธานคณะกรรมการฯ อยู่ที่ไหน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ที่ไหน ถ้าหากว่าสองคนนี้คือผู้เซ็นชื่อ หรือแม้กระทั่งปลัดกระทรวงฯ เซ็นมา มันก็ยังพอมีน้ำหนัก
“ผมคิดว่า เรื่องมันอยู่เลยตัวผมไปแล้ว มีการวิพากษ์วิจารณ์หลายๆ แง่มุม ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือฝ่ายที่เข้ามาแสดงความเห็นว่าผมควรจะต่อสู้ ควรจะทำให้เป็นบรรทัดฐานไว้ เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับศิลปินแห่งชาติคนอื่นๆ ด้วย
“ในครั้งแรก ผมรู้สึกไม่แยแสแล้ว แต่หลายคนก็บอกว่าควรจะสู้ ผมก็เลยต้องสู้ โดยมอบหมายให้ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นคนคอยดูแลเรื่องนี้
“ล่าสุดเขาได้ก็ได้ส่งหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงฯ เพื่อขอข้อมูลข่าวสาร ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ว่าที่ประชุมกันวันนั้นจะสามารถให้ข้อมูลข่าวสารรายละเอียดการประชุมได้หรือไม่ เป็นหนังสือขอทราบข้อกล่าวหาที่กล่าวถึงผม ว่ามีรูปธรรมอย่างไรบ้าง เราจะได้ชี้แจงและต่อสู้ถูก”
“ผมโพสต์วันละหลายโพสต์ เพราะถือว่าเฟซบุ๊คคือเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นของผม ซึ่งก็ชัดเจนมา 7-8 ปีแล้วว่า ผมไม่นิยมการรัฐประหาร ไม่นิยมเผด็จการ นี่ล่ะมั้งที่เขาบอกว่าผมโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม
“หนังสือถอดถอนที่ส่งมาถึงผมนั้น ผมสรุปได้ 2 ข้อกล่าวหา กับ 3 ข้อสั่งสอนคือ
“2 ข้อกล่าวหา คือ หนึ่ง-โพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม ในสื่อเฟซบุ๊คเป็นประจำ สอง-โพสต์ถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันกษัตริย์
“2 ข้อกล่าวหานี้ ไม่มีรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีตัวอย่างว่าผมโพสต์ถ้อยคำอะไร ภาพอะไร หมิ่นเหม่ยังไง
“ส่วนอีก 3 ข้อสั่งสอนที่เขาเขียนมาในหนังสือถอดถอนคือ หนึ่ง-การเป็นศิลปินแห่งชาติต้องเคารพในหลักวัฒนธรรมไทย สอง-การเป็นศิลปินแห่งชาติ ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม ประพฤติปฏิบัติโดยแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจที่ไม่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย สาม-มีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
“เมื่อสรุปตามข้อกล่าวหาและข้อสั่งสอนของเขาแล้ว หากว่าใครทำไม่ได้ตามนี้ ก็ถือว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงข้อ 10 วรรค 2 ที่แก้ไขเมื่อกลางปี 2563
“การแก้กฎกระทรวงเพื่อปลดศิลปินแห่งชาติ เป็นการใช้วิธี ‘นิติสงคราม’ ที่ผมเรียกว่า Lawfare เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างทางความคิด ไม่แตกต่างไปจากที่เด็กๆ โดน ม.112 ซึ่งเรื่องนิติสงครามนั้น เราก็ว่ากันมาตั้งแต่ปี 2555 กรณีใช้ ม.112 กับอากง ซึ่งตอนนั้นอากงอายุ 64 แล้ว ต้องคดี ม.112 รับโทษ 20 ปี แล้วก็ไปตายในคุก
“ผมคิดว่า ลักษณะของการใช้นิติสงครามนั้น เห็นชัดเจนขึ้นหลังจากที่มีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 แม้นว่าจะใช้กฎอัยการศึก ใช้ ม.44 แต่หลังจากนั้นเขาก็ใช้นิติสงครามโดยผ่าน ม.112 แล้วก็ใช้ พ.ร.บ. อะไรทำนองนั้น
“วิธีนี้คือวิธีการปิดปากผู้เห็นต่างทางความคิด ซึ่งถ้าว่ากันไปแล้ว การแสดงออกซึ่งความเห็นต่าง เป็นเสรีภาพที่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ผมสงสัยว่า ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ไม่ทราบหรืออย่างไรว่ามันมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้”
“การเป็นศิลปิน คือการเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่จะต้องติดต่อสื่อสารกับระบบความคิดต่างๆ ในความเห็นของผมนั้น ไม่ว่าศิลปินจะคิดอย่างไรก็ตาม เขาไม่ใช่วัวควายที่จะต้องถูกสนตะพาย การออกกฎกระทรวงของกระทรวงวัฒนธรรมครั้งนี้ สรุปคือเป็นการกำจัดคนเห็นต่างทางการเมือง การกระทำให้ผมอับอายในครั้งนี้ เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูอย่างที่เขาว่ากัน
“เรื่องนี้มันเลยตัวผมไปแล้ว เพราะอะไรน่ะหรือ คุณไม่รู้หรือ…คุณศิลปินแห่งชาติทั้งหลาย ว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวกับคุณด้วย เท่าที่ผมเห็นก็มีแต่คนอื่นๆ นอกแวดวงศิลปินแห่งชาติที่เข้ามาให้ความเห็น เข้ามาดูแลช่วยเหลือ แต่เหล่าศิลปินแห่งชาตินั้น ไม่รู้หรือว่านี่คือเรื่องของคุณ การแก้กฎกระทรวงเพื่อปลดศิลปินแห่งชาติ มันไม่เคยมีก่อน
“ก่อนหน้านี้มีกรณีเรื่องที่เรียกร้องการถอดถอนศิลปินแห่งชาติคนหนึ่งที่ไปเขียนบทกวีหยาบคาย ผมจำปีไม่ได้ ตอนนั้นคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมจำได้ว่า อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ออกมาให้ข่าวว่า เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีอำนาจที่จะทำตรงนี้
“หลังจากการรัฐประหารของ คสช. ผมเข้าใจว่า เขาคงไถฟีดดูการเล่นเฟซบุ๊คของผม แล้วทำให้เขาไม่พอใจ… ใครไม่พอใจ ผมไม่ทราบ แต่เรื่องนี้มันเหนือกว่าข้าราชการในกระทรวงวัฒนธรรม เขาไม่มีอำนาจที่จะทำได้ กฎกระทรวงจึงตามมาว่า ทำได้
“สำหรับผม เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ผมต้องลงมาสู้ตรงนี้ หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง”