ไม่ว่าจะเลือกน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมดับกระหาย ก็มีโอกาสผลักร่างกายให้เสียชีวิตไวขึ้นได้พอๆ กัน โดยผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร JAMA Network Open ระบุว่า การดื่มน้ำผลไม้มากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ตั้งแต่ 9-42 เปอร์เซ็นต์
แม้แต่น้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งน้ำส้มที่อ้างว่าเป็นน้ำส้มธรรมชาติ ก็มีน้ำตาลพอๆ กับน้ำอัดลมและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลชนิดอื่นๆ
“ควรมีการจำกัดเครื่องดื่มรสหวานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้” จีน เอ. เวลช์ (Jean A. Welsh) บอก เธอเป็นผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) รัฐแอตแลนตา
ตอนนี้ 7 เมืองในอเมริกา รวมถึงนิวยอร์ค และล่าสุดฟิลาเดลเฟีย ได้เริ่มเรียกเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานจากน้ำตาล โดยตั้งเป้าเพื่อลดการบริโภคความหวาน กฎหมายเหล่านี้กำลังเน้นย้ำข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานต่างๆ ล้วนมีส่วนต่อโรคอ้วนในเด็กและโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ทั้งสิ้น
น้ำผลไม้เสี่ยงเท่าน้ำอัดลม
ผลการศึกษาใหม่ได้ให้นิยาม ‘เครื่องดื่มรสหวาน’ ว่าเป็นทั้งเครื่องดื่มดับกระหายที่เติมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสผลไม้ เช่นเดียวกับน้ำผลไม้ธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เติมน้ำตาล
แล้วน้ำผลไม้ถูกจัดรวมอยู่กับน้ำอัดลมได้อย่างไร
“การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การบริโภคน้ำตาลสูงจากน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ เชื่อมโยงกับหลายปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด” เวลช์อธิบาย โดยโรคอ้วน เบาหวาน และไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่เพิ่มขึ้นล้วนอยู่ในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงที่โยงกับการกินน้ำตาลมากไป “ด้วยการศึกษาเพียงไม่กี่ครั้งก็เห็นแล้วว่าการกินแบบนี้นำไปสู่การเสียชีวิตได้”
เพื่อหาทางออกให้ปัญหา เธอและทีมงานได้ดึงข้อมูลมาจากผลการศึกษาด้านสาเหตุของความแตกต่างทางภูมิศาสตร์และเชื้อชาติในโรคหลอดเลือดสมอง โดยทำความเข้าใจสาเหตุที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมากกว่าเชื้อชาติอื่น และสาเหตุที่ชาวตะวันออกเฉียงใต้มีอาการเส้นเลือดอุดตันมากกว่าในพื้นที่อื่นของอเมริกา
จากการศึกษาผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เวลช์และทีมงานได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป 13,440 คน ผลคือเกือบ 71 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยเป็นผู้ชายไปเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์
การศึกษายังเปิดเผยว่า คนที่บริโภคแคลอรีจากน้ำหวานวันละ 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 44 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากสาเหตุต่างๆ 14 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าคนที่รับแคลอรีจากเครื่องดื่มรสหวานน้อยกว่าวันละ 5 เปอร์เซ็นต์
การดื่มน้ำผลไม้วันละ 12 ออนซ์ (354 มล.) ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ สูงกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ และการดื่มน้ำหวานในปริมาณเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยง 11 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ตรงกันระหว่างเครื่องดื่มรสหวานและการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
“สำหรับผลต่อน้ำรสหวานและน้ำผลไม้แต่ละชนิด เราจำเป็นต้องชัดเจนว่า ความเสี่ยงที่นำเสนอออกไปนั้นสัมพันธ์กับการบริโภคขั้นต่ำสุดของแต่ละคนในปัจจุบันจริงๆ” เวลช์อธิบาย
เธอไม่แปลกใจกับการค้นพบนี้ โดยบอกว่า “จำนวนกลไกทางชีววิทยาชี้ให้เห็นว่าน้ำหวานยิ่งทำให้ร่างกายต่อต้านอินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่การบริโภคน้ำตาลฟรุคโตสอาจกระตุ้นฮอร์โมนที่เร่งให้รอบเอวขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน”
ดื่มน้ำผลไม้แค่ไหนดี
“การศึกษานี้เป็นหนึ่งในครั้งแรกๆ ที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่มรสหวานต่างๆ รวมถึงน้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” มาร์ทา กวาช-เฟอร์เร (Marta Guasch-Ferré) นักวิจัยจากภาควิชาโภชนวิทยา วิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ทีเอช ชาน (Harvard T.H. Chan School of Public Health) และ แฟรงค์ บี. ฮู (Frank B. Hu) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด ก็ได้ตีพิมพ์บทความใหม่คู่ไปกับผลการศึกษาดังกล่าว
กวาช-เฟอร์เรและฮู ซึ่งไม่เกี่ยวกับการวิจัยนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผลที่ได้ยังมีข้อจำกัด เพราะมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยมาก การวิเคราะห์ดังกล่าวจึงถือว่ายังไม่แข็งแรงพอ ต้องอาศัยเวลาและผู้เข้าร่วมจำนวนมากจึงจะทำให้สัญญาณความเสี่ยงเหล่านั้นแข็งแรงขึ้น แถมผู้เข้าร่วมแต่ละคนบันทึกการดื่มน้ำหวานแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และอ้างอิงจากการรายงานด้วยตนเองซึ่งไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ
“แม้ว่าน้ำผลไม้อาจไม่อันตรายเท่าเครื่องดื่มรสหวาน แต่การบริโภคเครื่องดื่มจำพวกนี้ควรผ่านการกลั่นกรองในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนที่อยากคุมน้ำหนัก” ทั้งสองเขียนไว้
สถาบันกุมารเวชศาสตร์และแนวทางการบริโภคของชาวอเมริกัน (American Academy of Pediatrics and the Dietary Guidelines for Americans) แนะนำไว้ว่า เด็กอายุระหว่าง 1-6 ปีต้องมีการจำกัดการดื่มน้ำผลไม้ไว้แค่วันละ 6 ออนซ์ ขณะที่เด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป วัยรุ่น และผู้ใหญ่ควรจำกัดไว้ที่วันละ 8 ออนซ์
“คงต้องทำวิจัยเพิ่มเพื่อตรวจสอบความเสี่ยงที่ชัดเจนขึ้น” กวาช-เฟอร์เรและฮู บอก
เมื่อคิดถึงปริมาณน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละวัน คงต้องพิจารณาทั้งน้ำผลไม้และน้ำหวานต่างๆ โดยระหว่างเครื่องดื่มสองชนิด เวลช์ให้น้ำหนักไปทางน้ำผลไม้มากกว่าเล็กน้อย
“จากข้อความที่ระบุว่ามีวิตามินและแร่ธาตุที่พบบ่อยบนฉลาก น้ำผลไม้อาจสร้างผลกระทบในแบบที่ไม่เห็นในน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานประเภทอื่น”
สนับสนุนโดย