เรื่อง + ภาพ: นทีธร ทิพย์สุมาลัย
คำขวัญวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เมื่อ 10 กันยายนที่ผ่านมา โดยองค์การอนามัยโลก ‘ป้องกันการฆ่าตัวตาย ยื่นมือเพื่อช่วยชีวิต’ (Suicide Prevention: Reaching Out and Saving Life)
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน หรือวันละ 2,739 คน การพยายามฆ่าตัวตายเป็นการสื่อสารเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ จากความรู้สึกที่อัดแน่นท่วมท้นอยู่ในใจของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งมักมาจากความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง และคิดว่าไม่มีใครช่วยได้อีกแล้ว
ผลกระทบที่ตามมาจากการฆ่าตัวตายสำเร็จหนึ่งครั้ง จะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อยหกคน ไม่ว่าจะเป็น คู่สมรส ลูก พ่อแม่พี่น้อง และเพื่อนสนิท ขณะที่ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ได้รับข่าวสารเกิดความสะเทือนใจ
+ สถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทย
สภาวะจิตตกหรือโรคซึมเศร้าเป็นอีกสาเหตุของการฆ่าตัวตายที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ทางการแพทย์ยืนยันว่านี่คือ ‘โรค’ ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบว่าสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย เช่น โรคไบโพลาร์ ภาวะติดแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด
ความรู้สึกว่าตนไร้คุณค่า มีความวิตกกังวล รู้สึกผิด ความโกรธ ความรู้สึกว่าต้องการแก้แค้น รวมทั้งความรู้สึกที่ไม่อยากจะอยู่ในอารมณ์และสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีส่วนผลักดันให้ผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายเพื่อสื่อความรู้สึกที่แท้จริงออกมา
ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละสัปดาห์ มีคนไข้ที่พยายามฆ่าตัวตายเข้ารับการรักษา 2-3 ราย จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต พบว่า การฆ่าตัวตายสูงสุดของประเทศไทยอยู่ทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน แพร่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน
ในปี 2557 จังหวัดลำพูนมีผู้ฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับ 1 จึงเริ่มมีการรณรงค์อย่างจริงจัง ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงพอสมควร แต่จากนั้น สถิติกลับเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากขาดการรณรงค์ต่อเนื่องและการสนับสนุนอย่างจริงจัง
“การรณรงค์ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อัตราลดลงแล้วหยุด เพราะปัญหาความเครียดมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่เสมอ” ผศ.นพ.ปราการ กล่าว
+ จุดสังเกตสำคัญ
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามักส่งสัญญาณบอกว่าตัวเองกำลังป่วยแต่จะไม่สื่อสารด้วยคำพูดตรงๆ และจะไม่ลงมือทำร้ายตัวเองทันที ซึ่งคนรอบข้างสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จากเป็นคนไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่มาก่อน ก็เริ่มมีการทดลองใช้
จากงานวิจัยศึกษาและชันสูตรศพของผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จพบว่า ร้อยละ 50-70 มีแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกาย เนื่องจากผู้ที่มีภาวะคิดฆ่าตัวตายจะเกิดความลังเลสับสน เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้ขาดสติ ขาดการยับยั้งชั่งใจจนนำไปสู่การกระทำที่เป็นความสูญเสียดังกล่าว
ผู้ที่มีสภาวะคิดอยากฆ่าตัวตายหรือป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแตกต่างกันไป บางคนอาจจะเล่าปัญหาในใจให้ฟังบ้าง ทำให้คนอื่นๆ มองว่าเป็นเรื่องปกติ หรือบางคนอาจเก็บตัวเงียบ พูดน้อยลง
“ผู้ที่ประสบปัญหาจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากญาติ ครอบครัว หรือเพื่อนสนิท แต่คนใกล้ชิดผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมองข้าม ไม่ทันสังเกต และคิดว่ามันเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจ เป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมาก” นพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท จากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ให้ข้อมูล
การรับมือกับความสูญเสียก็เป็นอีกสาเหตุของอาการซึมเศร้า การสูญเสียบุคคลใกล้ชิดไปเป็นเรื่องส่งผลต่อสภาพจิตใจมากพออยู่แล้ว แต่กับการสูญเสียคนในครอบครัวไปจากการฆ่าตัวตาย จะทำให้ผู้ใกล้ชิดเกิดความทุกข์ และนำไปสู่สภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
หากผ่านไประยะหนึ่ง ญาติของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายยังทำใจไม่ได้ หรือมีอาการไม่ดีขึ้นหลังจากสูญเสียคนใกล้ชิดไป นอนไม่หลับ และต้องพึ่งยานอนหลับ ก็จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด พยายามเก็บของหรืออาวุธที่สามารถหยิบมาทำร้ายตัวเองได้ให้พ้นสายตามากที่สุด
นพ.ปทานนท์ แนะนำว่า “ถ้าผู้ป่วยต้องการอยู่คนเดียวก็สามารถปล่อยให้อยู่คนเดียวได้ แต่ให้เสนอทางเลือกของความช่วยเหลือไว้ เช่น ถ้ามีปัญหาหรืออยากได้อะไรให้โทรหา หรือคอยสังเกตอยู่ห่างๆ วิธีนี้ก็สามารถช่วยได้”
+ ความช่วยเหลือจากคนธรรมดา
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความกระจ่างว่า เราสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในสภาวะซึมเศร้าได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช เพียงเปิดใจรับฟัง และอย่าด่วนตัดสินหรือแสดงความคิดเห็นว่าความคิดของคนคนนั้นถูกหรือผิด
เช่นเดียวกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย (samaritansthai.com) ที่มีบริการอาสาสมัครรับโทรศัพท์จากผู้ที่โทรมาขอคำปรึกษาที่เบอร์ 02-713-6793 ทุกวัน เวลา 12.00-22.00 น. ตระการ เชนศรี ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย บอกว่าทุกคนสามารถโทรศัพท์เข้ามาบอกเล่าความทุกข์ใจได้ โดยทางอาสาสมัครจะไม่ทราบหมายเลขโทรศัพท์ที่ปลายสาย
“โทรศัพท์ของทางสมาคมสะมาริตันส์ ถ้าโทรเข้ามาจะไม่โชว์เบอร์ของผู้ขอคำปรึกษา ทำให้เราไม่ทราบว่าเขาเป็นใคร เพราะเราเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่โทรเข้ามา แต่บางกรณีที่ผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตก็จะสอบถามว่า อยากพบกับทางเราเป็นการส่วนตัวหรือไม่ ถ้าต้องการจึงจะขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อออกไปพบเขา เพื่อช่วยเหลือเขาให้ได้มากที่สุด” ตระการ อธิบาย
บางครั้งการตั้งคำถามอาจไม่จำเป็นสำหรับผู้สูญเสีย ภาพร ศุขเกษมพงศ์ ผู้ที่มีประสบการณ์สูญเสียลูกชายคนเดียวจากการฆ่าตัวตาย นอกจากจะต้องทนแบกรับความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตแล้ว ยังต้องรับมือกับความเห็นจากคนรอบข้างที่พูดโดยไม่ได้ไตร่ตรองหรือนึกถึงจิตใจผู้ฟัง
“บางทีเจอคำถามว่า ‘เลี้ยงลูกยังไงให้ฆ่าตัวตาย ทำไมลูกถึงโง่ฆ่าตัวตาย’ ซึ่งคนฟังเป็นผู้สูญเสียควรที่จะปลอบใจมากกว่าการตั้งคำถามที่ไม่ได้คิด คนถามไม่รู้สึกอะไรหรอก แต่คนฟังเจ็บปวด” ภาพร กล่าว
+ สื่อกับการนำเสนอข่าวความสูญเสีย
การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายในสื่อต่างๆ มีความเชื่อมโยงกับอัตราการฆ่าตัวตาย โดยปัจจัยที่ส่งผลเกิดจากการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายซ้ำๆ ติดๆ กันหลายวันบนหน้าหนังสือพิมพ์ การเผยแพร่ละครโทรทัศน์ที่มีฉากการฆ่าตัวตายและมีการแสดงวิธีการอย่างละเอียด ขณะเดียวกัน พบอัตราการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นลดลง หลังการเข้าฉายของภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นผลกระทบที่ตามมาจากการฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจของคนใกล้ชิด ไปจนถึงพลาดโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่มุ่งหวังไว้
สื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีการนำเสนอเกี่ยวกับคนฆ่าตัวตายโดยบรรยายลักษณะสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจเป็นการชี้นำให้ผู้ที่ประสบภาวะซึมเศร้าเกิดความรู้สึกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายมีปัญหาคล้ายกับตน และมองว่านี่คือทางออกของปัญหาจนนำไปสู่การกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้น อีกทั้งการบรรยายโดยละเอียดเกินไปอาจเป็นการซ้ำเติมญาติผู้เสียชีวิตให้เกิดภาวะเครียดเพิ่มขึ้น
แนวทางหลีกเลี่ยงคือ ไม่นำเสนอขั้นตอนการฆ่าตัวตาย หรือสถานที่ฆ่าตัวตายแบบละเอียดเห็นภาพ การใช้ภาพประกอบข่าวไม่ควรให้เห็นเลือดหรือร่างกายผู้เสียชีวิต นพ.ปทานนท์ ยกตัวอย่างสื่อต่างประเทศที่นำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายอย่างเหมาะสม ดังต่อไปนี้
หนึ่ง เสนอว่า พบว่าผู้ตายมีปัญหาสุขภาพจิต และมีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของโรคซึมเศร้า ทำให้ผู้อ่านเกิดความระวังติดตามอาการญาติตัวเองที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
สอง นำเสนอว่า การฆ่าตัวตายของผู้ตายเป็นสิ่งที่สังคมต้องช่วยกันหาคำตอบและป้องกันต่อไป
สาม พบผู้ตายมีบาดแผลจากอาวุธปืนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เป็นการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ให้รายละเอียดชัดเจน
หรือ สี่ เพิ่มเติมเบอร์โทรศัพท์สายด่วนของหน่วยงานที่มีผู้ให้คำปรึกษาเรื่องนี้ในช่วงท้ายข่าว หรือเลือกนำเสนอเรื่องราวผู้ที่เอาชนะความคิดฆ่าตัวตายหรือการพยายามฆ่าตัวตาย
“เราสามารถช่วยกันนำเสนอข่าวที่จะช่วยลดการฆ่าตัวตายได้ โดยพยายามนำเสนอว่าคนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีปัญหาทางสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า รวมทั้งทำให้สังคมเข้าใจสาเหตุการฆ่าตัวตายมากขึ้น” นพ.ปทานนท์ กล่าว
การใช้ภาษาของสื่อ ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์หรือข่าวที่แชร์ต่อๆ กันบนในโซเชียลเน็ตเวิร์คค่อนข้างรวดเร็ว แต่ขาดการคัดกรอง ภาษาที่ใช้เน้นความดราม่าสะเทือนใจ อีกทั้งการบรรยายขั้นตอนการฆ่าตัวตาย หรือแชร์ภาพของผู้เสียชีวิตโดยไม่คำนึงถึงญาติผู้สูญเสีย อาจส่งผลตามมาโดยไม่คาดคิด
“ผมไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ แต่ในฐานะที่ทำงานกับคนไข้มา หลายครั้งพบว่าภาษาที่เราสื่อกับคนไข้และที่คนไข้สื่อกับเรามีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก สื่อควรระมัดระวังในการนำเสนอ ไม่ใช่แค่ขายข่าวเพียงอย่างเดียว ซึ่งคงเป็นอีกปัญหาที่สื่อจะต้องช่วยกันแก้ไขและหาทางออก เพราะการนำเสนอข่าวควรจะคำนึงถึงผู้สูญเสียให้มากที่สุด”
ที่มา: ‘สัมมนาการป้องกันการฆ่าตัวตาย’
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี
เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 2 เมษายน 2558
หมายเหตุ:
1323 สายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต สำหรับพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
1667 สายความรู้สุขภาพจิต เทปเสียงให้ความรู้เรื่องโรคต่างๆ
02-354-8152 สายด่วนสุขภาพจิต โรงพยาบาลราชวิถี
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย มีบริการอาสาสมัคร ‘รับฟังด้วยใจ’ โดยเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้โทร สามารถติดต่อได้ที่ 02-713-6793 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.