มนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ต ห่วงโซ่อุปทาน และอาหารที่ยั่งยืน

เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณาณวาสกุล

 

คงจะเคยกันบ้าง เมื่อเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อบ้าง ซูเปอร์มาร์เก็ตบ้าง แล้วปรี่ไปซื้อสินค้าหนึ่งมาพร้อมกับอาหาร แล้วพบว่า หนึ่ง-ราคาของสินค้านั้นไม่ตรงกับป้ายราคาบนชั้นวาง สอง-แม้จะตรวจสอบดีแล้ว ทั้งการบรรจุและวันหมดอายุ แต่อาหารที่ซื้อมากลับเน่าเสียเร็วกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก

เมื่อปัญหาเช่นนั้นเกิดขึ้น ทางเลือกของผู้บริโภคคืออะไร?

ระหว่างมองข้ามมันไป เพราะเลือกที่จะหยวนๆ ดีกว่าเสียเวลา หรือ…

เรียกร้องทวงคืนซึ่งสิทธิอันพึงมีในฐานะผู้บริโภค ในฐานะมนุษย์ผู้เดินเข้า-ออกซูเปอร์มาร์เก็ต

ต้นเดือนที่ผ่านมา ณ ร้านหนังสือบุ๊คโมบี้ รีดเดอร์ส คาเฟ่ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร งานเสวนา ‘มนุษย์ซุปเปอร์ (มาร์เก็ต)’ จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย ว่าด้วยระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารที่เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูปและกระจายสินค้า เรียกได้ว่าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผ่านธุรกิจค้าปลีกอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นในฐานะคนกลางเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน นโยบายและวิถีการดำเนินธุรกิจของบริษัทเหล่านี้จึงส่งผลต่อผู้บริโภคและชีวิตของผู้คนจำนวนมากในกระบวนการผลิตอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อทำความเข้าใจและเห็นภาพรวมของปัญหาทั้งหมด ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค – สารี อ๋องสมหวัง, กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จาก กินเปลี่ยนโลก และ ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ จาก WAY Magazine จึงมาเปิดวงเสวนา โดยมี จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย รับหน้าที่ดำเนินรายการ

 

กาลครั้งหนึ่งนั้น ก่อนจะมีซูเปอร์มาร์เก็ต

จักรชัย โฉมทองดี เริ่มต้นวงเสวนา ด้วยการเชิญชวนให้นึกย้อนกลับไปสัก 10 ปี กิจวัตรและวิถีชีวิตของคนเมืองเปลี่ยนไปอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ จากการขยายตัวเพิ่มมากมายของบรรดาร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก บรรดาโมเดิร์นเทรดต่างๆ ที่เรียกรวมกันง่ายๆ ว่า ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ กลายเป็นที่ประจำ หลายคนต้องเดินเข้าไปจับจ่ายให้ครัวเรือน ขณะที่บางคนเข้าไปยังไม่รู้จะซื้ออะไร แต่เดินเข้าไปแล้วสบายใจ ขอให้ได้เข้าไว้ก่อน

“จากการสำรวจดูแล้ว แพทเทิร์นของผู้ที่เดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ รวมถึงโมเดิร์นเทรดที่มีอยู่หลายขนาด จากที่เคยเดินเข้าไปเพียงเดือนละครั้ง หรือเดือนละสองครั้ง อาทิตย์เว้นอาทิตย์ มาเป็นสัปดาห์ละครั้ง มาเป็นสัปดาห์ละสองครั้ง วันนี้เราได้ก้าวเข้าสู่พรมแดนที่คนเมืองส่วนใหญ่เข้าร้านสะดวกซื้อทุกวัน บางวันอาจไม่กลับบ้าน แต่ว่าเข้าร้านสะดวกซื้อทุกวัน เพราะฉะนั้นมันจึงอาจจะเป็นที่ที่ไปมากที่สุด”

“ดังนั้นมันจึงมีความสำคัญที่เราจะต้องเริ่มหันมามองดูว่า ในมุมของผู้บริโภคเอง และรวมถึงในมุมของเศรษฐกิจไทยว่าบรรดาร้านสะดวกซื้อต่างๆ มีนัยยะอย่างไร พอมองในภาพที่ใหญ่มากๆ ณ ขณะนี้มูลค่าของโมเดิร์นเทรดไทยอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งเวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจไทย เราไม่ค่อยพูดถึงการค้าปลีกค้าส่ง แต่นี่คือเซ็คเตอร์ที่สร้างมูลค่าใหญ่เป็นอันดับสองของ GDP ชาตินะครับ อยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ อยู่หลังภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่ามันไม่ได้แค่กำหนดวิถีชีวิตของเราแต่ละคน แต่มันกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทยด้วย”

ประเด็นสำคัญต่อมา จักรชัยมองว่าโมเดิร์นเทรดต่างๆ ยังเป็นภาคธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงต่อกลุ่มคนหลากหลายมิติ หลากหลายภาคการผลิต และหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่เกษตรกร แรงงาน ขนส่ง มาจนถึงคนที่เข้าไปซื้อสินค้าอาหารและบริการ เพราะฉะนั้น พอมองดูแล้ว หลายครั้งที่เราเห็นปัญหาในสังคมไทย เราจะเห็นโอกาสควบคู่กันไปด้วย เช่น เวลาที่สินค้าทางเกษตรราคาตกต่ำ หรือเวลาที่แรงงานได้ค่าแรงไม่คุ้มค่ากับการทำงาน

“บางครั้งเรามองอยู่ในหลายเซ็คเตอร์ หรือเรามองเห็นว่ามันมีความก้าวหน้า มีมิติใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคมบางด้าน เช่น การแก้ไขปัญหาสินค้าประมง วงการค้าปลีกจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทย วันนี้เราจะลองเริ่มมาคุยกันนะครับว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตของเราเดินไปถึงไหนอย่างไร”

 

ก้าวของผู้บริโภค

ในฐานะที่ทำงานเพื่อผู้บริโภคมาตลอด สารี อ๋องสมหวัง  ฉายภาพให้เห็นก่อนว่า ในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีปัญหากับซูเปอร์มาร์เก็ตมากแค่ไหน เราอาจเคยเห็นข่าวพบเจอหนู แมลงสาบ ในซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ และอีกสารพัดปัญหา  แต่สารีอยากให้มองว่าเป็นเรื่องน่ายินดี

ยินดีตรงที่มีกลุ่มคนลุกขึ้นมาร้องเรียนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เฉพาะคนในเมือง หรือในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่อยู่ต่างจังหวัดอีกด้วยที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเองมากขึ้น

“ในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา จากประชากรทั้งหมด 70 กว่าล้าน เรามีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,362 เรื่องจากทั่วประเทศ เฉพาะของมูลนิธิฯ 1,200 ราย มี 60 รายที่ร้องเรียนแต่เรื่องซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่เรื่องอาหารหมดอายุ ไปจนถึงขึ้นราบ้าง แล้วก็อาหารเสีย อาหารไม่สะอาด หรือว่านมหมดอายุ เจอแมลงสาบ อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้บริโภคเจอ”

“คือจริงๆ เราดีใจนะเวลาคนร้องเรียนเรื่องอาหาร เพราะคนมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารน้อย มันเป็นเรื่องที่คิดในเชิงมูลค่า ถือว่าไม่มาก แต่การที่คนร้องเรียนเรื่องอาหารเยอะขึ้น มันสะท้อนว่าคนให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพชีวิตมากขึ้น เรื่องใกล้ตัวมากขึ้น”

ยกตัวอย่าง ผู้บริโภครายหนึ่งที่พบว่าตนเองได้ซื้อสินค้าหมดอายุไปแล้ว และตัดสินใจกลับไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมเรียกร้องค่าเดินทางจากบ้านมาซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นจำนวนเงิน 500 บาทนอกเหนือจากราคาสินค้า โดยมีการประสานระหว่างเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับตัวแทนของซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นๆ ผลก็คือซูเปอร์มาร์เก็ตยอมจ่ายให้

ต่อไปหากผู้บริโภคพบสินค้าหมดอายุเมื่อไหร่ให้ถือเป็นความโชคดี เพราะจะสามารถเรียกร้องเอาเงินจากซูเปอร์มาร์เก็ตได้โดยให้ถือเป็นค่าเสียเวลา ทางห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเองก็จะต้องคอยระแวดระวังการจำหน่ายสินค้าของตัวเอง

สารียังเสริมอีกว่า กรณีที่เกิดปัญหานี้ขึ้น ความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่ห้างสรรพสินค้า ในฐานะเจ้าของพื้นที่ให้ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันตลอดเส้นทาง นับตั้งแต่สินค้านั้นออกจากสายพานการผลิตจนมาถึงมือผู้บริโภค

นอกจากนี้ ปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคน่าจะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ คือราคาขายไม่ตรงกับป้ายบนชั้นวางสินค้า โดยสารียกตัวอย่าง สินค้าติดฉลากราคา 22 บาท แต่ป้ายกลับระบุราคา 18 บาท และผู้บริโภคส่วนมากมักไม่ค่อยตรวจสอบส่วนต่างของจำนวนเงินเพียง 3 บาท ทั้งๆ ที่ปัญหานี้เป็นเรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะในวันหนึ่งๆ ไม่ได้มีผู้บริโภคเพียงรายเดียวที่เจอเรื่องแบบนี้

อีกกรณีที่มีเข้ามาไม่น้อย คือ โฆษณาสินค้าเกินคุณภาพตามจริง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มุ่งโฆษณาชักชวนให้เกิดการซื้อมากกว่าที่ควรเป็น กระทั่งบรรดาโปรโมชั่นต่างๆ เช่น การซื้อสินค้าแล้วได้ของแถม บ่อยครั้งผู้บริโภคกลับไม่ได้สินค้าตามที่โฆษณาไว้

“เราต่างเจอปัญหานี้กันทั้งนั้นเลย แต่การที่เราจะจัดการ หรือการเรียกเงินคืนในจำนวนที่เล็กๆ นี้ บางทีมันยาก บางคนไปคุยกับพนักงาน อาจจะไม่ได้ ต้องไปคุยกับหัวหน้า หรือบางที่ก็ดีมากเลย ไม่ต้องคุยกับหัวหน้า พอเจอปัญหาคิดเงินไม่ตรงราคา คุณก็ได้เงินคืนทันทีเลย”

ไม่เพียงผู้บริโภคที่จัดการปัญหาได้ด้วยตัวเองเท่านั้น สารียังเล่าอีกด้วยว่า ในจำนวน 60 รายนั้น มีทั้งกรณีที่เป็นผู้บริโภครายเล็กๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ และส่วนที่ไม่ได้ต้องการแก้เพียงปัญหาของตนเอง แต่ต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาในวงกว้างมากขึ้น กล่าวให้ชัดกว่านั้นคือ ยกระดับการแก้ปัญหาไปสู่ระดับนโยบายของบรรดาห้างร้านต่างๆ นั่นเอง

“เพราะฉะนั้น แม้ตัวเลขจะมีจำนวนไม่มาก แต่มันสะท้อนว่าคนจำนวนไม่น้อยอยากเห็นการปรับปรุงและแก้ไขจากซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญคือ การตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภค เชื่อว่าหลายคนอยากเห็นการตอบสนองที่เป็นมิตรมากขึ้น ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ยกตัวอย่างปัญหาที่เราเจอสม่ำเสมอคือ ราคาสินค้าที่ไม่ตรงกับป้าย ซึ่งอันนี้จะทำยังไงให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนของทุกห้างสรรพสินค้า ว่าทันทีที่คุณเจอปัญหาแบบนี้ปุ๊บ คุณเดินไปที่เคาน์เตอร์เอาเงินคืนได้เลย”

ก้าวของการเปลี่ยนด้วยการกิน

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกินเปลี่ยนโลก สะท้อนในมุมของผู้ผลิตและส่งสินค้าป้อนซูเปอร์มาร์เก็ตและชวนตั้งคำถามว่า “ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตจะรับผิดชอบได้อย่างไร”  ในเมื่อมีโมเดิร์นเทรดต่างๆ เหล่านี้รวมกันแล้วกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งนับรวมถึงมินิสโตร์ ดิสเคาท์สโตร์ เอ็กซ์ตรามาร์ท และคอนวิเนียนมาร์ท ครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าปลีก 61 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการตลาด

ขณะที่ตัวเลขอีก 39 เปอร์เซ็นต์ ถูกกระจายไปในวงผู้ประกอบการค้าแบบดั้งเดิมซึ่งนับได้เกือบ 800,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ยังไม่นับรวมผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งรถเข็นและพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดต่างๆ

ตัวเลขทั้งหมดนี้บอกอะไร?

โมเดิร์นเทรดกว่า 20,000 แห่งนี้และอยู่ในกำมือของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่เกินสิบราย ส่วนแบ่งตลาด 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือรายยักษ์ 3-4 รายเท่านั้น ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 800,000 ราย จึงควรมีความรับผิดชอบที่มากกว่าตามไปด้วย

“นั่นหมายความว่า ถ้าอะไรก็ตามที่เข้ามาอยู่ในขอบเขตปริมณฑลของคุณ คุณต้องดูแล ผู้บริโภคต้องมีสิทธิที่จะคาดหวังได้ว่าโมเดิร์นเทรดจะรับผิดชอบเรื่องมาตรฐาน ความปลอดภัยของสินค้า และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ”

“ลองนึกดูตัวเราในฐานะผู้บริโภค เราไปซื้อของป้า สมมุติว่าป้าแม้น…ร้านชำข้างบ้าน แกคงมีลูกค้าสักสามสี่ร้อย เราเป็นหนึ่งในนั้น เวลาเราเจอของไม่ดีเรากลับไปต่อว่าได้ แต่กับห้าง สาขาหนึ่งๆ มีลูกค้าเป็นล้านๆ คน เราจะรู้สึกตัวไม่ใหญ่เท่าเวลาเราเป็นลูกค้าป้าแม้น”

แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้ามีความซับซ้อนกว่าร้านชำป้าแม้น

“ทีนี้คำถามคือ อาหารที่ห้างเอามาขายเป็นแบบไหน มันมีรูปการหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาจะมีเรื่องพื้นที่ฝากขายให้เจ้าของแบรนด์มาเช่าพื้นที่ เปิดบูธ ห้างมีผู้รวบรวมผลผลิตเจ้าประจำของเขาเอง รวมไปถึงผู้ประกอบการและโรงงานต่างๆ และห้างก็เป็นผู้จัดหามาเองด้วย หลังๆ เริ่มมีการขายผัก ผลไม้ ก็เริ่มมีระบบซื้อตรงจากฟาร์ม ทีนี้คำถามก็คือ ทั้งสามสี่รูปแบบนี้ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา เป็นความรับผิดชอบของใคร” จักรชัยถาม

กิ่งกรตอบคำถามในทำนองเดียวกับสารีว่า เป็นความรับผิดชอบตั้งแต่เจ้าของแบรนด์การผลิตจนมาถึงมือผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงเจ้าของพื้นที่ให้เช่าอย่างห้างสรรพสินค้าด้วย แม้ไม่อาจปฏิเสธว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ล้วนสวมหมวกพ่อค้าคนกลางเช่นกัน แต่กิ่งกรมองว่าเพราะพวกเขาถือสัดส่วนการตลาดที่มากเกินครึ่ง นั่นทำให้พวกเขาคือพ่อค้าคนกลางรายใหญ่

ก่อนหน้านั้น การดำเนินการค้าขายของห้างสรรพสินค้าจะมีหลายแบบ 1. ระบบฝากขาย ห้างหักเปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ของสดจากเกษตรกรก็มักใช้ระบบนี้ ผู้ฝากเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงของเน่าเสีย 2. การจัดหาสินค้าผ่านโรงงาน หรือฟาร์ม และ 3. การติดต่อซื้อขายจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งทั้งสามรูปแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน กิ่งกรมองว่าเมื่อสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคแล้ว ทางห้างสรรพสินค้าไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

 ประสบการณ์ของไทยแพนทำงานตรวจผักมาสี่ห้าปี เมื่อจะแถลงผลก็มีการเชิญห้างต่างๆ มารับฟังข้อมูลที่เราจะประกาศต่อสาธารณะ พบว่ามีสองสามห้างเท่านั้นที่กระตือรือร้นแก้ไขปัญหา อยากจะแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. แอ็คทีฟ-ตอบสนองปัญหาดี พยายามไปสืบเสาะหาข้อมูล เพื่อสร้างระบบที่เชื่อถือได้  2. ยังอึ้งๆ อยู่ แต่พอทำงานไปสักพักก็จะขยับและปรับแก้ปัญหาได้ และ 3. ไม่มีการตอบสนองใดๆ    

มนุษย์แม่ในซูเปอร์มาร์เก็ต

อีกบทบาทหนึ่งเป็นเฟืองขับเคลื่อนสำคัญของระบบคือ ผู้บริโภค ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ จาก Way Magazine ที่นับนิ้วแล้วพบว่าเดือนๆ หนึ่งไปซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณสี่ครั้ง เพราะรับหน้าที่จับจ่ายซื้อของเข้าบ้านเป็นหลัก

‘ของ’ หรือสินค้าส่วนใหญ่ในฐานะแม่บ้านของทิพย์พิมลไม่ได้แตกต่างจากบ้านอื่นๆ คือสินค้าพื้นฐานทั่วไป และเช่นเดียวกันกับแม่บ้านคนอื่นๆ ทิพย์พิมลไม่เคยตั้งคำถามต่อการเข้าไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต จนเมื่อได้รับเชิญให้มาร่วมพูดคุย จึงนึกทบทวนย้อนกลับไปว่า เริ่มเปลี่ยนจากเดินตลาดสดไปเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งแต่เมื่อไหร่

“ทำไมเราถึงกลายมาเป็นมนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ทั้งๆ ที่ตอนยังเด็กเราเป็นคนปั่นจักรยานไปซื้อของที่ตลาดสดให้แม่ แต่หลังๆ นี้ไม่มีแล้ว ก็พยายามหาคำตอบว่าทำไมเราถึงกลายมาเป็นมนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วพอเราเปิดดูกระเป๋าสตางค์ของแต่ละคน ก็จะเห็นว่าเป็นสมาชิกของที่ไหนบ้าง หรือห้างสรรพสินค้ากับซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะมีการรวมตัว ซื้อของในห้างนี้ก็จะได้รับส่วนลดในซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ คือเป็นโมเดิร์นเทรดของแท้”

กล่าวให้ชัดกว่านั้น ด้วยแผนการตลาดที่ถูกจัดวางมาแล้วของทั้งจากห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ทำให้ ‘บัตรสมาชิก’ เขยิบมาเป็นปัจจัยสำคัญช่วยเราเลือกว่าจะไปช็อปที่ไหน

ด้วยรูปแบบที่เป็น ทิพย์พิมลออกตัวว่า ถึงกับซื้อกระเป๋าใบเล็กอีกใบเพื่อมาเก็บบรรดาบัตรสมาชิกต่างๆ เพราะพื้นที่ในกระเป๋าสตางค์เต็มหมดแล้ว

“เท่านั้นไม่พอ จะมีคูปองต่างๆ ส่งไปรษณีย์มาให้ที่บ้าน ซึ่งจูงใจเรามาก เพราะฉะนั้น ถ้าซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ลดราคาของที่เราต้องซื้ออยู่แล้ว มันจะเป็นแรงจูงใจอย่างมากให้เราขับรถเพื่อไปซื้อที่นั่น เพื่อให้ได้ของลดราคา แต่เราก็จะมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่แวะประจำ 2-3 ที่ ที่นี่สำหรับซื้อของใช้ ที่นั่นสำหรับซื้ออาหาร และที่นี่สะดวกดีใกล้บ้าน”

เหตุผลที่แยกเช่นนั้น ทิพย์พิมลเผยว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งระบุที่มาของอาหาร จึงเลือกที่จะไป บางแห่งเราเป็นสมาชิกจึงได้ส่วนลดพิเศษมากๆ เหมาะสำหรับซื้อของใช้ทีละเยอะๆ

“ที่ไหนที่เรารู้ที่มาได้ เราก็จะซื้อจากที่นั่น ถึงได้เป็นคำตอบที่ว่า ทำไมเราไปซื้ออาหารที่นี่ แต่ของใช้พื้นฐาน ทิชชู น้ำยาล้างจาน เราไปซื้อที่นู่น แต่บางทีพอไปถึงมันก็ไม่ประหยัดเสมอไป กลายเป็นว่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม เพราะว่าเชลฟ์มันมีอำนาจบางอย่าง เช่น มีป๊อปอัพราคาเด้งออกมา หรือติดป้าซื้อ 2 แถม 2 และที่สำคัญเรารู้สึกว่า วันไหนตู้เย็นว่างเราจะรู้สึกผิดมาก เรามองว่าซูเปอร์ฯ เป็นตู้เย็นใหญ่ของเมือง ถ้าของในบ้านพร่องเมื่อไหร่เราจะรีบไปซื้อของเข้าบ้านทันที”

เช่นเดียวกันกับผู้บริโภคทั่วไป ทิพย์พิมลเองก็เคยพบเจอปัญหาราคาสินค้าไม่ตรงกับป้าย ซึ่งเมื่อพบและนำไปแจ้งต่อพนักงานก็จะได้เงินคืนทันที รวมไปถึงกรณีสินค้าเกิดอาการเสียก่อนวันหมดอายุ ทั้งที่ตรวจสอบดีแล้ว ในส่วนนี้ ทิพย์พิมลจะมองความรับผิดชอบไปที่ตัวสินค้านั้นๆ เองมากกว่าจะเป็นที่ตัวซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้า

ไม่แต่เพียงการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างที่คุ้นเคยทั่วไป ในสังคมที่กำลังจะไร้เงินสดแบบนี้ รูปแบบการชี้ชวนเพื่อดึงเงินออกจากกระเป๋าในปัจจุบันยังขยายไปถึงบนโลกออนไลน์ที่เราสามารถซื้อขายผ่านแอพพลิเคชั่นของซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ได้อีกด้วย นั่นหมายความว่ากรณีสินค้ามีปัญหา เช่น เน่า เสีย หมดอายุ ผิดราคา ฯลฯ จำนวนผู้รับผิดชอบก็อาจเพิ่มมากขึ้น

ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องมีคะแนน

จักรชัยกล่าวต่อว่า เหตุผลหนึ่งที่ชักชวนแขกรับเชิญทั้งสามมาร่วมวงเสวนาพูดคุยในวันนี้ ไม่ใช่จู่ๆ ก็นึกขึ้นมาว่าอยากจะพูดคุยเรื่องซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น

“เวลาเราพูดถึงปัญหาของเกษตรกร แรงงาน สวัสดิการของผู้บริโภค เราไปมองที่บริษัทขนาดใหญ่ที่ผลิตอาหาร ที่ผลิตของ แต่เรากลับไม่เคยมองถึงคนสุดท้ายที่มาต่อกับผู้บริโภคโดยตรง นั่นคือคนที่เขาเอาของมาให้เราหรือซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นเอง ซึ่งพอเราไปมองในต่างประเทศกลับพบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญมากๆ กับคนที่เอาของมาให้เขา เพราะเขาถือเป็นผู้รับผิดชอบต่อเขานะ คอนเซ็ปท์แบบนี้ทำไมคนไทยไม่ค่อยได้พูดถึง

“เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าเรามีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำอะไรได้บ้าง และจะทำอะไรกัน ฉะนั้นทั้งกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมเอง จึงได้มารวมตัวกันเป็นแพลตฟอร์มเพื่อจะทำงานตรวจสอบและประเมิน ซึ่งในต่างประเทศเองจะมีตัวประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตที่เรียกชื่อเล่น (แต่เอาจริง) ว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตสกอร์การ์ด”

แนวทางในการประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น จักรชัยอธิบายว่า เป็นเครื่องมือที่พัฒนาและใช้โดยองค์การอ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกว่า Food Retailers Accountability Assessment Tool ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมันนี เนเธอร์แลนด์ จะถูกประเมินด้านสังคม โดยผลการประเมินจะถูกเผยแพร่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ในประเทศไทย อ็อกแฟม กินเปลี่ยนโลก และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกันประเมิน ซูเปอร์มาร์เก็ตและบริษัทค้าปลีกอาหารของไทยจำนวน 8 ราย โดยผลการประเมินจะออกสู่สาธารณะในวันที่ 13 มีนาคมนี้

เช่นเดียวกับในระดับสากล กรอบการประเมินด้านสังคมนี้จะเน้นไปที่ความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ตลอดจนมิติในด้านสิทธิของแรงงาน ความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตรายย่อย โดยเฉพาะภาคการเกษตรต่างๆ ว่ามีการดูแลอย่างเป็นธรรมเพียงใด และด้านการสนับสนุนบทบาทและสิทธิสตรี โดยจักรชัยยกตัวอย่างว่า หากมีหญิงตั้งครรภ์มาสมัครทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการตรวจสอบว่าตั้งครรภ์จริงหรือไม่ ไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ทราบ แต่ตรวจสอบเพื่อจะไม่รับเข้าทำงาน

การประเมินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Food Retailers Accountability Assessment Tool นั้น จักรชัยอธิบายว่าได้มีการประเมินในรอบแรกไปแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม ปี 2560 ที่ผ่านมา ผ่านการอ้างอิงนโยบายที่บริษัทเผยแพร่สู่สาธารณะจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 เวลา 17.00 น.

“ระหว่างนี้ จากวันที่ 1 ธันวาคม 2560 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2561 เวลา 17.00 น. ซูเปอร์มาร์เก็ตและบริษัทค้าปลีกด้านอาหารทั้ง 8 แห่ง สามารถนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็น ตลอดจนปรับและเผยแพร่นโยบายเพิ่มเติมได้ตลอดสองเดือนนี้”

จนกว่าผลประเมินจะเสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และเปิดเผยสู่สาธารณะในวันที่ 13 มีนาคม 2561 ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานอาหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภค ได้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรับผิดชอบ ตลอดจนให้ความสำคัญต่อความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร นำไปสู่การดำเนินการที่ถูกต้อง เป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป

นอกเหนือจากมิติทางสังคมแล้ว ทั้งสามองค์กรยังวางแผนที่จะพัฒนาการประเมินในด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และสิทธิผู้บริโภคในอนาคต

“ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต่างก็เดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตกันนะครับ เราอาจจะไปเดินตลาดสด ตลาดทางเลือก แต่เราทุกคนก็เดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เราทุกคนต่างก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่ดีขึ้นของซูเปอร์มาร์เก็ตผ่านพลังของผู้บริโภค” จักรชัยทิ้งท้าย

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า