สุรพงษ์ กองจันทึก: คืนความยุติธรรมให้บิลลี่ คืนความยุติธรรมให้ผู้คน

หลังจากสิ้นหวังมากว่า 5 ปี ทันทีที่ดีเอสไอพบชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ในเดือนกันยายน 2562 จากนั้นขั้นตอนนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่ เป็นการตรวจแบบ ‘ไมโทคอนเดรีย’ ซึ่งการตรวจไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอเป็นการตรวจเพื่อพิสูจน์ว่ามีความเกี่ยวดองกันทางฝ่ายแม่หรือไม่ จึงยืนยันได้ว่ากะโหลกศีรษะที่พบเป็นของบิลลี่ และบิลลี่เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมแล้ว

ความชัดเจนจากที่คลุมเครือมากว่า 5 ปีก็ส่องแสงเรืองรอง อย่างน้อยๆ ครอบครัวของเขาก็ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าบิลลี่ตายแล้ว ไม่ต้องรอแล้ว

นำไปสู่การอนุมัติหมายจับโดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อนุมัติหมายจับ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 นายบุญแทน บุษราคัม ผู้ต้องหาที่ 2 นายธนเสฏฐ์ หรือ นายไพฑูรย์ แช่มเทศ ผู้ต้องหาที่ 3 และ นายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ ตามที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร้องขอ ในคดีฆาตกรรมนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ทั้งหมด 7 ข้อหา

ก่อนที่ อัยการสำนักงานคดีพิเศษพิจารณาคดี จะมีมติเอกฉันท์ ไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 ในคดีที่เกี่ยวกับการฆาตกรรม ยกเว้นคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จากการที่พบบิลลี่ครอบครองน้ำผึ้งป่า

WAY พูดคุยกับ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย เขาบอกว่าคำแถลงไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมบิลลี่เป็นสิ่งเหนือความคาดหมาย และชวนให้เราจับตามอง ว่ากระบวนการยุติธรรมจะส่งมอบความยุติธรรมให้ผู้คนได้หรือไม่

 

หลังจากที่อัยการคดีพิเศษมีมติเอกฉันท์ไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 ในคดีเกี่ยวกับการฆาตกรรมบิลลี่ ขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

พนักงานสอบสวนคือดีเอสไอ ได้สรุปสำนวนตั้งข้อหาทั้งหมด 8 ข้อหา ส่งสำนวนให้อัยการคดีพิเศษ ซึ่งคณะอัยการคดีพิเศษก็มีมติออกมาว่าไม่สั่งฟ้อง 7 ข้อหา สั่งฟ้องข้อหาเดียวคือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากคุณชัยวัฒน์และทีมได้ควบคุมตัวบิลลี่ และพบว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่า แทนที่จะนำบิลลี่ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป แต่กลับปล่อยบิลลี่ไป ซึ่งเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นี่คือข้อมูลตอนนี้

แล้วขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร เมื่ออัยการแจ้งไปแล้ว อัยการต้องดูครับ ว่าอำนาจในการควบคุมตัวคุณชัยวัฒน์จะเป็นอย่างไร เพราะถ้าเป็นคดีร้ายแรง อำนาจในการควบคุมตัวก็จะมีมาก เมื่อคดีลดความร้ายแรงลงอำนาจในการควบคุมตัวก็อาจจะน้อยตามด้วย อำนาจในการควบคุมตัวนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ ช่วงเช้าของวันนั้นคุณชัยวัฒน์จะไปรายงานตัว เราต้องดูว่าทางอัยการจะเอายังไง จะฟ้องเลยหรือเปล่าในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือจะไม่ฟ้องแล้วค่อยมาเริ่มกระบวนการใหม่ ก็สามารถทำได้ นี่คือในส่วนของอัยการ

แต่ในอีกขั้นตอนหนึ่ง เมื่ออัยการส่งเรื่องไปที่ดีเอสไอ กฎหมายก็บังคับอีกครับว่า หากดีเอสไอไม่เห็นด้วย ดีเอสไอสอบสวนข้อมูลเป็นอีกอย่างหนึ่ง เห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็สามารถทำความเห็นแย้งไปถึงอัยการสูงสุดได้ ผมเห็นในรายละเอียดจากข่าวว่า ดีเอสไอมีเวลา 30 วันที่จะทำเรื่องเหล่านี้ ดีเอสไอน่าจะใช้เวลาไม่ถึง 30 วัน เพราะเก็บข้อมูลมาหมดแล้ว ซึ่งอัยการสูงสุดก็น่าจะมีคณะทำงาน คงไม่ลงมาพิจารณาเรื่องนี้ด้วยตัวเอง หากเห็นด้วยกับดีเอสไอก็อาจจะฟ้องหรืออะไรก็ว่าไป หากไม่เห็นด้วยคำร้องก็ตกไป

ในส่วนของผู้เสียหาย หรือภรรยา มึนอก็สามารถร้องเรียนความเป็นธรรมไปถึงอัยการสูงสุดได้เช่นเดียวกันหากเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร หากเห็นว่าข้อมูลคลาดเคลื่อนอย่างไรก็สามารถส่งข้อมูลไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาประกอบกับข้อมูลที่ดีเอสไอส่งไปด้วยก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ คุณชัยวัฒน์ก็มายื่นเรื่องขอความเป็นธรรมเหมือนกัน ก็เป็นสิทธิที่สามารถยื่นได้

ในการแถลงไม่ฟ้องคุณชัยวัฒน์และผู้ต้องหาทั้งหมดของอัยการ บอกว่าผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องเองได้ แต่คุณบอกว่าเรื่องนี้อัยการควรจะฟ้องเอง

อัยการต้องฟ้องนะครับ กรณีทั่วไปรัฐควรจะฟ้อง ฟ้องฝ่ายเดียวให้ประชาชน ทำตามอำนาจหน้าที่ของเขา แต่เนื่องจากกรณีนี้ ทางมึนอ สภาทนายความ นักกฎหมายหลายๆ คน ได้ตามเรื่องนี้มาแต่แรก ก็อยากจะมาช่วยร่วมกัน เข้าไปช่วยรัฐด้วย เราเข้าไปเสริมกำลังรัฐ เป็นกรณีพิเศษนะครับ ต้องย้ำนะครับ

ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องได้อยู่แล้ว จะยื่นฟ้องก่อน ฟ้องหลัง หรือฟ้องร่วมก็ได้ แต่เราอยากให้มีการฟ้องร่วมเพราะว่าอะไร เพราะคนที่ตายไปหรือสูญหายไป เป็นทรัพยากรของประเทศ ซึ่งสำคัญด้วยนะ คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ การฆ่าคนถือเป็นอาชญากรที่ร้ายแรงที่สุด รัฐมีหน้าที่นำคนแบบนี้ไปสู่กระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นหลักการของกรณีบิลลี่ เราอยากจะเป็นโจทก์ร่วม ดำเนินการเรื่องนี้ร่วมกัน เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ สังคมจะได้มีความปลอดภัย

ระบบความยุติธรรมของทั้งโลกวางไว้แบบนี้ครับ ถ้าเรื่องที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อสังคม เขาจะไม่ปล่อยให้ประชาชนไปทำเรื่องเอง เขาจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลความสงบสุขและความยุติธรรมให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งคือตำรวจ มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านปกป้องตัวเอง ต้องมีคนของรัฐเข้ามาคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชน ใครที่มาละเมิดประชาชนรัฐต้องสืบสวนหาตัวมา ตำรวจมีหน้าที่สืบสวนสอบสวน ส่วนหน้าที่ในการฟ้องเป็นของอัยการ ศาลมีหน้าที่ตัดสินคดีความให้ ถ้าผิดก็ไปสู่ระบบราชทัณฑ์ต่อไป มันมีระบบของรัฐที่ดูแลสังคมอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐมีเงินเดือนจากภาษีประชาชน รัฐควรจัดการเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นการฟ้องด้วยประชาชนเองมันยากลำบาก ประชาชนจะเอาเวลาที่ไหนไปฟ้อง เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญต้องมาทำ ซึ่งเราก็แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ขึ้นทำหน้าที่แล้ว ตำรวจก็ทำหน้าที่สืบสวน อัยการก็ทำหน้าที่ในการฟ้อง แต่อัยการกลับออกมาบอกว่า ให้ประชาชนฟ้องเอง

ถ้าเราดูในคำแถลงของอัยการคดีพิเศษดีๆ นะครับ อัยการบอกว่า การที่อัยการไม่ฟ้อง โดยให้ประชาชนฟ้องเอง เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก เพราะถ้าอัยการไปฟ้องแล้วเกิดแพ้ สมมุตินะครับ คดีมันก็จบ ฟ้องใหม่ไม่ได้ ในคำของอัยการ ถ้ามึนอฟ้องเอง ก็จะมีเวลาไปรวบรวมหลักฐานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การที่อัยการพูดแบบนี้ เป็นสิ่งที่น่าห่วงครับ เพราะตามหลักการแล้ว อัยการมีหน้าที่ฟ้องแทนประชาชน ทำหน้าที่แทนแผ่นดิน แล้วก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องนี้ เรียนจบกฎหมายมา มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการสืบสวนข้อมูล หาข้อมูลเพิ่มเติม ไม่พอใจก็เรียกตำรวจให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ต้องการตรงไหนสั่งได้หมด ประชาชนทำอะไรไม่ได้เลยนะครับ คุณไม่มีสิทธิไปบ้านใคร ไม่มีสิทธิดึงเอกสารจากใคร ฉะนั้นถ้าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานของสังคม ผมก็เสนอว่ายุบอัยการไปเลยไม่ดีเหรอถ้าจะให้ประชาชนฟ้องเอง

แต่เราแต่งตั้งให้อัยการทำเรื่องนี้ ประชาชนจะได้ไม่ต้องทำเอง ถ้าอัยการพูดมาแบบนี้ก็น่าเป็นห่วงครับ เพราะถ้าเกิดมึนอหรือชาวบ้านไปเชื่ออัยการ ต้องไปฟ้องเอง กลายเป็นว่าต่อไปอัยการก็ไม่ต้องทำงานนี้ บ้านเมืองเราก็จะวุ่นวายขึ้นครับ ผลักภาระให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายอยู่แล้วด้วย ต้องถูกกระทำซ้ำเติมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แทนที่จะไปหาคนฆ่าสามีให้เขา กลับให้เขาต้องไปหาคนที่ฆ่าสามีเอง ไปซ้ำเติมเขาทำไม

อัยการย้ำในการแถลงว่า ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คน กระทำความผิด สิ่งเหล่านี้เกินความคาดหมายไหมครับ

สำหรับผม เกินความคาดหมาย เพราะที่ผ่านมาดีเอสไอให้ข่าวว่ารวบรวมข้อมูลได้มากพอสมควรที่น่าเชื่อในหลายเรื่อง ก่อนที่อัยการจะสรุป อัยการได้แจงในรายละเอียดมาก่อนหน้านี้ เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อนะ ก็เลยสรุปว่าไม่น่าเชื่อ ข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่ฟ้อง

ถ้าจะมาดูประเด็นแต่ละประเด็น อัยการมองอย่างไร อัยการบอกว่า การตรวจดีเอ็นเอ… ผมขออนุญาตค้นสักครู่นะ

ไมโทคอนเดรีย?

ใช่ ผมยังเรียกไม่ถูกเลย บอกว่าการตรวจนี้ไม่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเราดูตามข้อมูล ดีเอสไอไม่ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาลอยๆ ดีเอสไอมีผู้เชี่ยวชาญ มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องด้วยนะครับ เชี่ยวชาญเรื่องไมโทคอนเดรียด้วยนะครับ มายืนยันผลการตรวจว่าใช่ กระดูกนี้มีผลตรวจตรงกับแม่ของเขา นำไปสู่การยืนยันว่ากระดูกที่พบคือบิลลี่ แต่อัยการไม่เห็นด้วย ผมก็แปลกใจว่า การอ้างว่าไม่เห็นด้วยนี้ อัยการได้ไปศึกษาได้มีผู้เชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญกว่าผู้เชี่ยวชาญที่ดีเอสไอนำมาตรวจหรือไม่ กลายเป็นว่าอัยการคิดเองหรือเปล่า เพราะอัยการไม่ได้บอกนะครับว่า ที่ไม่เห็นด้วยอ้างอิงจากนักวิชาการคนไหน หรือผู้เชี่ยวชาญคนไหน แปลว่าอัยการคิดเอง ซึ่งอัยการเป็นนักกฎหมายทั้งหมดเลยครับเหมือนผมนี่แหละ พูดง่ายๆ เรียกชื่อยังไม่ถูกเลย เพราะเราไม่ได้เรียนเรื่องนี้มาใช่ไหมครับ ถ้าด่วนสรุปว่ามันเชื่อถือไม่ได้ แล้วไปเถียงผู้เชี่ยวชาญผมก็แปลกใจ

ถ้าเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลนะครับ ถ้าเป็นประชาชนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญไปให้การกับศาลทำนองแบบนี้ ศาลจะไม่ฟังเลยนะครับ ศาลฟังเฉพาะพยานผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จะต้องเอาผู้เชี่ยวชาญกับผู้เชี่ยวชาญมาโต้กัน การเอาคนที่ไม่ได้มีความรู้หรือเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ มาให้การแย้งว่า ผู้เชี่ยวชาญพูดผิด ศาลไม่ฟังนะครับ ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ผมเห็นว่าทำไมอัยการสรุปแบบนั้น ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แล้วเถียงผู้เชี่ยวชาญด้วย

เรื่องอื่นๆ ก็เช่น อัยการบอกว่าพยานให้การในประเด็นปล่อยตัวบิลลี่ซ้ำไปซ้ำมา ให้การขัดแย้งกัน อัยการอ้างว่าศาลฏีกาตัดสินไว้แล้ว ว่าผู้ต้องหาได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว ซึ่งทีมทนายของผมที่ไปฟังก็โต้แย้งว่า ศาลไม่ได้ตัดสินแบบนั้น อันนี้ผิดข้อเท็จจริงอีกเรื่องนะครับ ศาลไม่ได้ตัดสินว่าปล่อยแล้ว ศาลยังไม่ได้ฟังพยานเลย ศาลยังไม่ได้พิจารณาอะไรเลย เขาบอกว่าศาลได้พิจารณาแล้ว แต่ศาลยังไม่ได้พิจารณาเรื่องเหล่านั้นเลยนะครับ ศาลบอกว่ายังไม่รับคำร้อง ซึ่งเป็นการอ้างที่ผิดข้อเท็จจริง

เราไม่คิดว่าอัยการจะมีเหตุผลออกมาในรูปแบบนี้ ซึ่งขัดกับความจริงในหลายเรื่อง ซึ่งนักกฎหมายจะไม่ทำอะไรในรูปแบบนี้

ถ้าอัยการบอกแบบนั้น หมายความว่าในมุมมองของอัยการ กระดูกนั้นไม่ใช่บิลลี่

อัยการพยายามจะพูดทำนองนั้น เมื่อมันไม่ใช่บิลลี่ ก็ไม่รู้บิลลี่ตายหรือเปล่า จะลงโทษใครเพราะตอนนี้ยังไม่รู้บิลลี่เสียชีวิตจริงไหม อัยการพยายามจะพูดทำนองนั้น

แต่ความจริงน่ะมีแน่ๆ ว่ากระดูกนั้นเคยมีชีวิต

เอาเป็นว่าถ้าเราเชื่อผู้เชี่ยวชาญ เขายืนยันว่าเป็นกระดูกของคน แล้วการตรวจด้วยวิธีการไมโทคอนเดรียพบว่า กระดูกนี้มีความสัมพันธ์ทางดีเอ็นเอกับแม่ของบิลลี่ ซึ่งลูกของแม่บิลลี่ที่เสียชีวิตไปแล้วมีแค่คนเดียว แล้วจะอ้างว่าเป็นญาติคนอื่นของคนกะเหรี่ยง แต่คนกะเหรี่ยงไม่มีการเอากระดูกไปทิ้งน้ำนะครับ และคนกะเหรี่ยงจะไม่เข้าไปในพื้นที่อุทยาน ชาวบ้านไม่มาเดินเล่นแถวนี้ครับ มันเป็นกระดูกที่ถูกนำมา แล้วมีการเผาด้วย แม้อัยการจะอ้างว่า อาจจะมาจากยายของบิลลี่กี่ชั่วโคตรก็ได้ แต่มันจะกี่ชั่วโคตรได้ยังไง ในเมื่อมันถูกเผา มีถังเหล็กถูกเผาเมื่อ 5 ปีมานี้เอง หลักฐานมันยืนยันว่ากระดูกนี้ถูกทำลายไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี้ ดังนั้นจะไปโยงถึงคนรุ่นทวดไม่ได้ครับ มันต้องโยงช่วงใกล้ ไม่ใช่โยงไปไกลขนาดนั้น ทั้งหมดนี้ถ้าเราดูตามเหตุผลมันก็ยืนยัน แต่แปลกใจที่อัยการพยายามโยงว่าไม่รู้ว่ากระดูกนี้กี่ชั่วโคตรมาแล้ว จะไม่รู้ได้ยังไงครับ กระดูกนี้ยืนยันแล้วว่าถูกเผาเมื่อ 5 ปีนี่เอง ลักษณะการเผามันบอกว่าเพิ่งทำ

ในฐานะนักกฎหมาย เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมไทย

(นิ่งคิด) ผมอยู่ในกระบวนการยุติธรรมตลอดมานะครับ ผมคิดว่าเราไม่ค่อยสนใจเรื่องความยุติธรรม เราไปติดเรื่องอื่น เช่น อัยการบอกว่ามันไม่มีพยานหลักฐาน เราก็เลยทำได้แค่นี้ แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า แล้วมันยุติธรรมไหมล่ะ ทำให้เรื่องนี้ยุติอย่างเป็นธรรมไหมละ ถ้าตราบใดยังไม่ถึงจุดนั้น คุณยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ คุณต้องทำให้เรื่องมันยุติอย่างเป็นธรรม เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

แม้กระทั่งศาลเองนะครับ ศาลอาจจะบอกว่า ก็ในเมื่อพยานหลักฐานมันมาแบบนี้ ผมก็ตัดสินแบบนี้ โดยไม่ถามว่าที่ตัดสินไปมันยุติธรรมไหมล่ะ เราอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่คำนึงเรื่องความยุติธรรมอย่างจริงจัง เราไปติดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หลักฐานมีแค่นี้นะ จึงยังไม่ชัดเจนนะ สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายปัญหาจึงเกิดขึ้นมากมายในสังคม เพราะเราไม่นำไปสู่การยุติเรื่องเหล่านั้นอย่างเป็นธรรมอย่างแท้จริง

กรณีบิลลี่ สังคมไทยควรจับตามองไปที่ประเด็นไหนเป็นพิเศษ

ผมอยากให้เราจับตาว่า เราจะคืนความยุติธรรมให้สังคมไทยอย่างไร วันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้เป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้สังคมไทยมีความยุติธรรมจริงๆ ทุกคนได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคกัน คนทำความผิดได้รับการลงโทษ สังคมมีความปลอดภัยทุกๆ ด้าน กลไกแต่ละกลไกของสังคมเดินไปตามหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าพนักงานสอบสวน อัยการ หรือว่าศาล เราอยากเห็นกระบวนการมันเคลื่อนทั้งหมด อยากให้ประเทศไทยพัฒนาเรื่องกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง เพราะว่าประเทศที่กระบวนการยุติธรรมดี มันจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นมา ทำให้มิติต่างๆ ดีขึ้นมา ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่เศรษฐกิจดีขึ้นเพราะเขาจริงจังกับกระบวนการยุติธรรมของเขา เริ่มจากตรงนี้ก่อนแล้วมันจะส่งผลไปยังทุกเรื่องของสังคม แล้วส่งผลไปยังคุณภาพของคนด้วย

คุณมีความหวังหรือโกรธมากกว่ากันเวลามองไปที่กระบวนการยุติธรรม

ผมไม่เคยโกรธ เพราะถ้าเราไปโกรธ มันจะไปปิดบังไม่ให้เราเห็นอะไรตามความเป็นจริง เราต้องเอาความจริงมาพูดกัน ว่ามันเดินหน้าได้ แล้วค่อยๆ เดินไป และถึงแม้จะบอกว่ากลไกต่างๆ มันไม่ดี แต่ถ้าทำความดี สังคมเห็นนะครับ ผมยกตัวอย่างดีเอสไอ พูดตรงๆ นะ เมื่อก่อนดีเอสไอถูกสังคมมองแง่ลบมาก จากเคสต่างๆ เรื่องที่ควรทำไม่ทำ เรื่องที่ไม่ควรทำกลับทำ โดนมหาศาลเลยดีเอสไอ แต่พอดีเอสไอมาทำกรณีบิลลี่ ภาพลักษณ์กลายเป็นอีกแบบเลยครับ ดีเอสไอทำเรื่องดีๆ ก็ทำได้นะ ทำได้ดีด้วย จากลบเป็นบวก เป็นภาพบวกของกระทรวงยุติธรรม ว่าคนที่หายไป 5 ปี คนสิ้นหวังไปแล้ว กลับใช้เทคโนโลยี ใช้หลักการใหม่ๆ นำไปสู่การตั้งข้อหาผู้กระทำความผิดได้ นี่คือตัวอย่างที่ชัดว่า จากลบมาเป็นบวกได้

ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการสิ่งที่ดีงามมาตลอด มนุษย์ทุกคนมีมนุษยธรรมในจิตใจ คนดูละครก็จะเอาใจช่วยคนที่ถูกรังแกใช่ไหม เรารังเกียจคนไม่ดีตรงกันหมดนะครับ นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อนี่คือธรรมชาติของมนุษย์ เป็นธรรมชาติที่ดี เราจะส่งเสริมธรรมชาตินี้ของมนุษย์ร่วมกันอย่างไร

คุณทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนกะเหรี่ยงมานาน เห็นการต่อสู้ของคนกะเหรี่ยง การถูกเอารัดเอาเปรียบของคนกะเหรี่ยงมานาน เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ มันสะท้อนให้เราเห็นว่าพวกเขากำลังเผชิญอะไรอยู่ในประเทศนี้

สิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงเผชิญคือการไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคน ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคนไทย ไม่ยอมรับว่าชุมชนที่เขาอยู่เป็นชุมชนที่เขาอยู่มาเนิ่นนาน ภาพที่กะเหรี่ยงได้รับคือเป็นคนต่างด้าว เป็นพวกบุกรุก กองกำลังต่างชาติ พวกปลุกยาเสพติด เป็นพวกทำลายทรัพยากรของบ้านเรา ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้นำไปสู่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สมัยที่คุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้า ใช้เฮลิคอปเตอร์ สนธิกำลังบินเข้าไป ส่งเจ้าหน้าที่ไปเผาบ้านกะเหรี่ยง เผาหมู่บ้านกะเหรี่ยงคือหมู่บ้านใจแผ่นดินและหมู่บ้านบางกลอยบน ชาวบ้านถูกเผาบ้านเรือนเป็นร้อยๆ หลัง สื่อเคยมีบางช่องโหมเสนอว่าการกระทำนี้คือฮีโร่ที่ปกป้องสังคมไทย คนดูด้วยความชื่นชม บ้านชาวบ้านถูกเผา

ก่อนหน้านั้นไม่ถึงปีมีหนังเรื่อง อวตาร ออกมา มีฉากคนขึ้นเครื่องบินเข้าไปทำลายชนกลุ่มน้อย เป็นภาพเดียวกันเลย แต่ในประเทศไทยคือภาพจริง ยิ่งกว่าหนังอวตารเสียอีก แต่สังคมแทนที่จะไปเห็นใจชนกลุ่มน้อย กลับเห็นว่าคนที่เข้าไปเผาเป็นฮีโร่ของสังคม จนปู่คออี้ลุกขึ้นมา ปู่คออี้เป็นคนไทย ไม่ใช่คนต่างด้าวเหมือนที่เขาอ้างมา พอปู่คออี้ลุกขึ้นมา ชาวบ้านก็ลุกตาม ว่าเขาคือคนไทย มีบัตรประชาชน บ้านที่เขาอยู่มีเลขรหัส กระต๊อบที่ถูกเผาคือหมู่บ้านใจแผ่นดิน มีผู้ใหญ่บ้าน ตั้งมาเนิ่นนานเป็นร้อยปี ก็นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิว่าเขาถูกเผาบ้านนะ บ้านที่เขาอยู่มาเนิ่นนานแล้ว

พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ต้องมีการประสานงานโดยอาจารย์ทัศน์กมล โอบอ้อม เป็นคนเพชรบุรี ชวนปู่คออี้ลงมา ให้บิลลี่ลงมาเป็นล่าม มาเจอกับผมที่สภาทนายความ ตอนนั้นผมเป็นประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่นของสภาทนายความ ผมก็ลงไปที่แก่งกระจาน ก็เจอกัน เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงว่าที่ร้องเรียนมาเท็จจริงอย่างไร ก็มีโอกาสเจอบิลลี่ครั้งแรกตอนนั้น

หลังจากนั้น 7 วัน อาจารย์ทัศน์กมล โอบอ้อม โดนยิงตาย พออาจารย์ทัศน์กมล โอบอ้อม โดนยิงตาย บิลลี่ก็มาเป็นคนประสานงานต่อ ในการรวบรวมข้อมูลของปู่คออี้ของชาวบ้านเอามาให้สภาทนายความนำไปสู่การฟ้องศาล

บิลลี่ทำงานหนักที่จะเอาข้อมูลชาวบ้านไปดำเนินคดี ปู่คออี้เข้ากรุงเทพฯ มาที่ศาลปกครองกลาง บิลลี่วิ่งประสานงาน ระหว่างบิลลี่วิ่งประสานงานเพื่อเตรียมข้อมูล เขาก็ถูกอุ้มหายไปก่อนจะพบว่าถูกฆาตกรรม

เรื่องเหล่านี้มันยืนยัน มันมีที่มาที่ไป เป็นเคสการถูกกระทำที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงไม่เคยถูกเผาบ้านเป็นร้อยๆ หลังแบบนี้ ไม่เคยถูกสังคมหรือสื่อปรามาสว่ารุกป่า สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดเมื่อมิถุนายน 2561 บอกว่า การที่เจ้าหน้าที่ไปเผาบ้านชาวบ้านเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดกฎหมาย ไม่มีอำนาจเผา ต้องเยียวยา จ่ายเงินให้ชาวบ้าน และสำคัญที่สุดบอกว่า หมู่บ้านใจแผ่นดิน บางกลอยบน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม คำนี้เป็นคำตามรัฐธรรมนูญ เพราะชาวบ้านอยู่มาเนิ่นนาน มีสิทธิที่จะอยู่ตรงนั้น มีสิทธิที่จะจัดการพื้นที่ของเขาเอง

นี่คือผลที่บิลลี่ทำมาตลอด แต่ถึงทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ที่ทำการเผาก็ยังไม่มีการดำเนินการรับโทษเลยนะ

สิ่งที่บิลลี่ทำส่งผลมหาศาลต่อกระบวนการคิดของรัฐที่ไปรังแกชาวบ้านตลอดมา ผลที่ได้คือชาวบ้านเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม สังคมต้องเคารพสิทธิเขา เขามีสิทธิอยู่ในป่า เขาไม่ใช่คนบุกรุกป่า ปัจจุบันมีคนอยู่ในพื้นที่ป่าเป็นล้านคน ทั้งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาติพันธุ์อื่น คนไทยด้วย ถ้าอยู่มาเนิ่นนานก็เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่บิลลี่ทำสิ่งที่ปู่คออี้ทำมา ทั้งสองคนเสียชีวิตไปแล้ว แต่ผลจากการที่เขาลุกสู้ ส่งผลมหาศาลต่อสังคมไทย

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า