ค่าน้ำในพื้นที่ประสบภัยต้องจ่ายแพงแค่ไหน?

วรรณา แต้มทอง

จังหวัดสุรินทร์กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก โรงพยาบาลสุรินทร์ประกาศตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน Emergency Operation Center (EOC) ขอความช่วยเหลือสนับสนุนน้ำจากหน่วยงานต่างๆ หลังน้ำประปาไม่พอใช้และปริมาณน้ำสำรองของโรงพยาบาลก็ถูกใช้จนหมดเกลี้ยง ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสุรินทร์บางรายต้องถูกเลื่อนการผ่าตัดออกไป สาเหตุเพราะน้ำประปาไม่ไหล และน้ำที่ปล่อยออกมาก็ไม่มีความสะอาดพอที่จะใช้ในการผ่าตัด ร้านอาหารหลายแห่งก็ต้องหยุดกิจการลง เพราะไม่มีน้ำล้างจาน หมู่บ้านการเคหะแห่งชาติและบ้านเอื้ออาทรในตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ น้ำประปาไม่ไหลติดต่อกันมาเป็นเวลา 5 วัน[1] ชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์หลายคนต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยการซื้อน้ำจากรถน้ำมาเติมใช้เองในครัวเรือน ในราคาที่สูงถึง 500 บาท ต่อ 1,000 ลิตร

เมื่อย้อนกลับมาสำรวจอัตราค่าน้ำประปาส่วนภูมิภาคที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปในพื้นที่จังหวัดที่น้ำไหลเป็นปกติจะพบว่า

น้ำประปา 1 ยูนิต   =   1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1,000 ลิตร

อัตราน้ำประปาช่วงการใช้น้ำที่ 0 – 10 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน

ในอาคารประเภทบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีอัตราค่าน้ำอยู่ที่ 10.20 บาท[2]

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการซื้อน้ำจากประปาส่วนภูมิภาค Vs. รถน้ำ

น้ำจากประปาส่วนภูมิภาค 1 ลิตร = 0.01 บาท

น้ำจากรถน้ำ 1 ลิตร = 0.5 บาท หรือ 50 สตางค์

 

การกดชักโครก 1 ครั้งใช้น้ำ 8-12 ลิตร ถ้าค่าน้ำลิตรละ 50 สตางค์ การเข้าห้องน้ำต่อครั้งของชาวสุรินทร์ต้องเสียเงินค่าน้ำถึง 4-6 บาท การอาบน้ำ 1 ครั้งใช้น้ำ 110-200 ลิตร ต้องเสียเงิน 55-100 บาท การเปิดน้ำ 1 นาทีใช้น้ำ 9 ลิตร เท่ากับต้องเสียเงินค่าน้ำนาทีละ 4 บาท 50 สตางค์[3]

จากปกติที่ประชาชนทั่วไปต้องจ่ายค่าน้ำเพียง 10.20 บาท เพื่อแลกกับน้ำ 1,000 ลิตร แต่ชาวสุรินทร์ที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำกลับต้องจ่ายค่าน้ำแพงถึง 500 บาท เพื่อแลกกับน้ำในปริมาณที่เท่ากัน หมายความว่าชาวบ้านต้องแบกรับภาระค่าน้ำที่เพิ่มขึ้นถึง 50 เท่าจากอัตราค่าน้ำปกติ

ทั้งที่ข้อมูลของคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติระบุว่า จังหวัดสุรินทร์เพียงจังหวัดเดียวมีอ่างเก็บน้ำอยู่ถึง 18 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว, ห้วยเชิง, ห้วยขนาดมอญ, อำปึล, ห้วยเสนง, ห้วยลำพอก, ห้วยด่าน, บ้านทำนบ, บ้านจรัส, บ้านเกาะแก้ว, ห้วยตาเกาว์, สุวรรณภา, ห้วยกะเลงเวก, ห้วยระหาร, หนองกา, ลุมพุก, หนองกระทุ่ม และอ่างเก็บน้ำลุงปุง[4] น่าแปลกใจว่าน้ำจากอ่างเก็บน้ำเหล่านี้หายไปไหน เหตุใดวันนี้ชาวบ้านถึงต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และต้องรับภาระค่าน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 50 เท่าเช่นนี้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

[1] วิกฤติหนัก! สุรินทร์เดือดร้อนประปาไม่ไหลมา 5 วัน หลายภาคส่วนเร่งนำรถบรรทุกน้ำมาแจกจ่าย, ข้อมูลจาก https://siamrath.co.th/n/94857

[2] อัตราค่าน้ำประปาส่วนภูมิภาค, ข้อมูลจาก https://www.pwa.co.th/contents/service/table-price

[3] เปรียบเทียบปริมาณอ้างอิงตามข้อมูลจากประปานครหลวง, ข้อมูลจาก https://www.mwa.co.th/ewt_news.php?nid=698&filename=index

[4] คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ, ตารางสรุปสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง, ข้อมูลจาก http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/show_sm_dam.php

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า