นักวิจัยชาวบ้าน: ‘แพรกหนามแดง’ ฟากฝั่งของความขัดแย้ง

ในความเชื่อของคนฟากฝั่งริมมหาสมุทร เดือนดาวไม่ได้มีหน้าที่แค่กะพริบแสงจากอดีตให้ความสวยงามเชิงโรแมนติกแก่ผู้ที่เงยหน้าขึ้นมองเท่านั้น แต่เดือนหรือดวงจันทร์มีหน้าที่ในการกำหนดน้ำขึ้น-น้ำลง หมุนรอบโลกไปตามกรอบเวลาที่เรียกข้างขึ้น-ข้างแรม วิถีชีวิตเกษตรกร ชาวนา ชาวประมง ล้วนขึ้นอยู่กับการอ่านวงโคจรของเดือนดาวที่มีผลต่อสภาพอากาศ ดิน ฟ้า ฝน ไปจนถึงสัตว์น้อยใหญ่ทั้งบนบนและในน้ำ ทั้งในลำคลองและในมหาสมุทร

สมุทรสงครามเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันตก มีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน 3 อำเภอ คือ บางคนที อัมพวา และเมืองสมุทรสงคราม อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 65 กิโลเมตร

การขึ้นลงของน้ำทะเลวันละ 2 ครั้ง ทำให้สมุทรสงครามเป็นเมืองสามน้ำ คือ เขตน้ำเค็ม ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ส่วนเขตน้ำกร่อย อยู่ถัดจากพื้นที่น้ำเค็มลึกเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภออัมพวาตอนล่างและอำเภอสมุทรสงครามตอนบน และเขตน้ำจืด ในพื้นที่อำเภออัมพวาตอนบนและอำเภอบางคนทีทั้งอำเภอ สภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาการเกิดน้ำขึ้น-น้ำลงของแต่ละวันตามอิทธิพลของดวงจันทร์

อิทธิพลของดวงจันทร์นี้เองเป็นจุดเริ่มของทุกสิ่งที่นำมาสู่การลุกขึ้นของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อตอบโจทย์ที่นำไปสู่เหตุและผลของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างคนสองฟากฝั่ง

ระหว่างคนน้ำเค็มและคนน้ำจืด

 

สองฝั่งคลอง

“เดิมทีผมไม่ใช่คนที่นี่ ผมเกิดกระทุ่มแบนแล้วไปโตที่พันท้ายนรสิงห์ (จังหวัดสมุทรสาคร) แล้วปี 2521 มาทำมาหากินที่นี่ เพราะพี่น้องเรา 7-8 คน ที่ทำกินที่มหาชัยไม่พอ ความรู้อะไรก็ไม่มี ทีนี้ ถามว่าเพราะอะไรถึงมาอยู่ที่นี่?”

จากคำตอบของชายตรงหน้าในวัย 60 ที่ย้อนกลับมายังเราในฐานะผู้ตั้งคำถาม เพื่อจะบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของต้นเค้าอันนำไปสู่ปลายทางของการลงมือทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำด้วยตัวของชาวบ้านเอง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในชื่อโครงการ ‘รูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม’

ชายร่างสันทัด ผิวกร้านกรำจากการทำงาน บ่งบอกร่องรอยชีวิตมาอย่างโชกโชนกระทั่งในดวงตา ปัญญา โตกทอง ผู้เป็นหัวหน้าคณะวิจัยชาวบ้านในโครงการนี้ ตอบคำถามที่เขาได้เอ่ยเองไว้ว่า “ที่มาอยู่แพรกหนามแดงก็เพราะว่า เราได้ข่าวว่ากุ้งหอยปูปลาที่นี่เยอะมาก เพราะเมื่อก่อนที่นี่จะเป็นน้ำจืด แต่พอน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามา คนที่นี่ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น เพราะเคยทำแต่มะพร้าวกับนา จนกระทั่งปลายปี 2521 จึงมีคนถวายฎีกาต่อในหลวงว่าที่แพรกหนามแดงเกิดปัญหาน้ำเค็มรุก จริงๆ มันรุกทั้งจังหวัด เหตุจากว่าเขาสร้างเขื่อนศรีนครินทร์”

เขาหันไปมองสักจุดหนึ่งบนเวิ้งน้ำในทุ่งนาที่เลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ไว้ แล้วบอกเล่าจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาทำงานวิจัยในฐานะคนในชุมชนที่จบการศึกษาเพียงแค่ ป.4

“พอคนที่นี่ย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น คนจากถิ่นอื่นก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ เมื่อก่อนแถวนี้จะเป็นน้ำจืด ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำอาชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง ในที่ดินสี่เหลี่ยมผืนผ้าแปลงหนึ่ง เขาจะแบ่งไว้ทำสวนมะพร้าว เพราะมะพร้าวทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน บริเวณร่องสวนจะเอาไว้เลี้ยงปลา ส่วนที่ปลายนา เขาจะปลูกข้าวนาปี เฉพาะหน้าแล้งเขาก็จะไปเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู วิถีชีวิตจะเป็นแบบนั้น”

ย้อนกลับไปเมื่อราว 40 ปีก่อน การเปลี่ยนแปลงในแพรกหนามแดงเริ่มต้นขึ้นจากความแปรปรวนของธรรมชาติ เมื่อทะเลหนุนสูง น้ำเค็มค่อยๆ รุกคืบเข้าไปยังลำคลองสายต่างๆ แม้จะส่งผลให้มีสัตว์ทะเลมากขึ้น อาทิ กุ้งขาว กุ้งตะกาด กุ้งแชบ๊วย ปูทะเล ปลาทะเล จนชาวบ้านมีรายได้จากการขายสัตว์น้ำเค็ม แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องสูญเสียรายได้จากนาข้าว บนพื้นที่เดิมที่เคยเป็นของเจ้าสัวเชื้อสายจีนที่ชื่อ กิมเลี้ยง วังตาล หรือ หลวงสิทธิ์เทพการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการสร้างทำนบคันดินเพื่อป้องกันน้ำเค็ม

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2500 หลวงสิทธิ์เทพการได้ถอนตัวออกไปจากการดูแลทำนบคันดิน เพราะไม่มีลูกหลานสืบทอดธุรกิจ เมื่อไม่มีรายได้ จึงไม่มีเงินในการจ้างคนดูแลทำนบดิน ทำนบจึงพังทลายจากรุกล้ำของน้ำทะเล ในปี พ.ศ. 2505 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำของน้ำทะเลจึงเริ่มเปลี่ยนอาชีพไปทำสวนมะพร้าวแทนการทำนาดำ เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชที่ชอบน้ำกร่อย

วิถีชุมชนของแพรกหนามแดงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปนับจากนั้น

การทำสวนมะพร้าวกลายเป็นอาชีพของชาวแพรกหนามแดงอยู่ระยะเวลาหนึ่ง จนถึงปี 2519 เกิดสภาวะฝนแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำเค็มเพิ่มสูงและทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2522-2523 จากปัจจัยที่หนุนเสริมเข้ามาอย่างการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ในปี พ.ศ. 2519 และการสร้างถนนสายธนบุรี-ปากท่อก่อนหน้านั้นในปี 2516

“พอน้ำเค็มรุกเข้ามามากขึ้น มะพร้าวยืนต้นตาย ร่องสวนที่เคยเลี้ยงปลาน้ำจืดก็มีกุ้งน้ำเค็มเข้ามา แต่คนที่นี่ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน เพราะเคยทำแต่มะพร้าวกับนา พอมะพร้าวยืนต้นตาย ไม่ออกลูก นาข้าวก็ทำไม่ได้ สุดท้ายต้องย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่สวนผึ้ง ชัฏป่าหวาย (ราชบุรี) ปราณบุรี (ประจวบฯ) แล้วคนจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ก็เข้ามาอยู่แทนที่”

ปัจจัยที่ว่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำจืดแห้งแล้ง ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นๆ น้ำเค็มที่ทะลักเข้ามาในลำคลองของตำบลแพรกหนามแดง แผ่ขยายไปจนถึงอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ทำให้ต้นมะพร้าวในแพรกหนามแดงต้องยืนต้นตายเพราะน้ำเค็ม

ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ไม่เพียงส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเค็มทะลักเข้าไปยังลำคลองสายต่างๆ ของตำบลแพรกหนามแดง หากยังแผ่ขยายไปยังพื้นที่ตำบลใกล้เคียงและเกือบทั่วทั้งจังหวัดสมุทรสงคราม อีกทั้งบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี

ปัญญาบอกเล่าจากความทรงจำจากเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วที่เกิดภาวะภัยแล้งรุนแรงที่สุดในตำบลแพรกหนามแดง น้ำจืดในลำคลองแทบไม่มีน้ำหลงเหลือ คลองบางผีหลอกที่เคยเต็มไปด้วยหิ่งห้อยโบยบินอยู่ช่วงหนึ่งต้องสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ ส่วนลำคลองอื่นๆ ที่ปิดน้ำกันน้ำเค็มไม่อยู่ น้ำเค็มก็จะรุกเข้าไปจนทั่ว

“ตอนนั้นน้ำแห้งถึงขนาดคลองบางผีหลอกยังลงไปเดินได้”

แม้จะมีการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ แต่ชาวบ้านกลับต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ชาวสวนต้องพากันซื้อน้ำปี๊บละ 1 บาท (ค่าเงินเมื่อปี 2522-2523) จากเรือที่ล่องมาขาย จนกระทั่งราวปี 2524-2525 เมื่อกรมชลประทานได้ริเริ่มสร้างประตูระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งควบคู่ปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำไปด้วยกัน หากทว่าความปรารถนาดีที่ต้องการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านโดยขาดองค์ความรู้จากการลงพื้นที่คลุกคลีเพื่อศึกษาที่มาที่ไปของปัญหา กลับกลายเป็นก่อปัญหาขึ้นมาใหม่

ปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวนา-ชาวสวน ทั้งฟากฝั่งน้ำเค็มและฟากฝั่งน้ำจืด ถึงขนาดชาวบ้านต้องลากมีดลากปืนมาประจันหน้ากัน

“คนน้ำจืดมาคุยกับคนน้ำเค็ม เอาคนน้ำเค็มไปคุยกับคนน้ำจืด แต่พอไปทำแล้วก็มีปัญหาอีก เขาบอกว่าอย่าไปเซ็นชื่อให้มัน พวกนี้มันจะเอาเงินเราไปกิน กี่ผู้ว่าฯ กี่นายอำเภอยังทำไม่ได้เลย ชาติหน้าก็แก้ไม่ได้ เขาพูดอย่างนี้ ทีนี้พอคุยกันดีๆ ไม่ได้ แล้วจะคุยเรื่องอะไรได้ล่ะ?”

 

ฟากฝั่งของความขัดแย้ง

ตำบลแพรกหนามแดง ประสบปัญหาเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี ที่ถูกขีดคั่นด้วยถนนพระราม 2 จนมีสภาพเป็นสองฟากฝั่งอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่น้ำเค็มและพื้นที่น้ำจืด โดยพื้นที่ทางทิศใต้ที่ใกล้กับทะเลจะมีสภาพเป็นน้ำเค็มเพิ่มขึ้น เนื่องจากถนนเป็นตัวสกัดกั้นการไหลของน้ำให้ขึ้นไปอีกด้านหนึ่งน้อยลง ในทางกลับกัน น้ำจืดจากทางด้านตรงข้ามก็ไม่สามารถไหลลงมาผลักดันน้ำเค็มหรือเจือจางความเค็มลง

และเมื่อมีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อกักเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันตก พื้นที่แพรกหนามแดงจึงตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่น้ำจืด จนชาวบ้านต้องพากันร้องทุกข์ไปยัง ชัยวัฒน์ หุตะเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และ อนันต์ รามสูตร นายอำเภออัมพวา ในสมัยนั้น จนกระทั่งนำไปสู่การสร้างประตูระบายน้ำเพื่อกักกั้นน้ำเค็มและน้ำจืดในลำคลองต่างๆ ทั่วทั้งอำเภออัมพวา ซึ่งมีตำบลแพรกหนามแดงรวมอยู่ด้วยในที่สุด จำนวนทั้งสิ้น 15 ประตู

ทว่าสามารถใช้งานได้จริงเพียง 10 ประตู ส่วนที่เหลืออีก 5 ประตู สภาพลำคลองแห้งขอดจนไม่สามารถใช้งานได้

ทั้งถนนพระราม 2 ที่นำเอาโรงงานอุตสาหกรรมและน้ำเสียเข้ามายังพื้นที่ ทั้งประตูระบายน้ำที่กางกั้นคนในพื้นที่จนมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงที่ซ่อนลึกลงไปภายใต้การเปิด-ปิดประตูของกรมชลประทานซึ่งทำได้เพียงการชักขึ้นและลงเท่านั้น ทำให้ปัญญามองว่าการแก้ปัญหาของภาครัฐไม่อาจสะสางตะกอนดินก้นคลองได้เหมือนในยามเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามที่ภาครัฐเข้าใจ

เพราะตะกอนของเสียนั้นเองที่นำมาซึ่งความขัดแย้ง นำมาซึ่งการเผชิญหน้าระหว่างชาวนา-ชาวสวน ระหว่างคนน้ำเค็มและคนน้ำจืดที่ยกพวกไปขวางกั้นไม่ให้อีกฝ่ายได้เปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ด้วยกลัวว่าจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่นาไร่ ทั้งนาน้ำเค็มและนาน้ำจืด คำถามคือ แล้วจะสร้างความลงรอยระหว่างทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร

ลำพังชาวบ้านจะเปลี่ยนประตูที่กางกั้นความสมัครสมานสามัคคีระหว่างคนสองฟากฝั่ง และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสันติได้อย่างไร?

คำตอบนั้นอยู่ที่ชาวบ้าน

 

เรียนรู้ด้วยการวิจัย

ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่ปะทุมานานหลายปี กระทั่งราวปี 2542 เริ่มมีสัญญาณคลี่คลายเมื่อชาวบ้านได้รับบทเรียนจากอดีต และเริ่มเรียนรู้โดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วม มีการจัดกระบวนการกลุ่ม และได้รับแรงสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นพันธมิตรในการแก้ไขปัญหา เช่น ประชาคมคนรักแม่กลอง และหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการและการทำวิจัยอย่าง สกว.

แกนนำชุมชนหลายคนเริ่มเล็งเห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมภายใต้การทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น น่าจะนำไปสู่ทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ จึงมีการจัดเวทีระดมความคิดในพื้นที่ 6 หมู่บ้านของตำบลแพรกหนามแดง เพื่อค้นหาคำตอบว่า รูปแบบการจัดการน้ำในลำคลองที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนควรเป็นอย่างไร ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่นจาก สกว. ในปี 2545

“งานวิจัยจะสอนเราเอง เราทำไปเรียนรู้ไป หลักคิดของงานวิจัยคือ ก่อนลงมือทำ ให้รู้จักวางแผน ใครทำอะไร ใครมีหน้าที่อะไร ใครจัดเตรียมอะไร ใครมีประเด็นอะไร แล้ววางแผนให้ดี วางแผนเสร็จไปทำกิจกรรม ทำกิจกรรมเสร็จมาถอดบทเรียน”

แต่ใช่ว่าการใช้ความรู้เป็นธงนำในการแก้ไขปัญหาจะราบรื่นเสมอไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง การจัดเวทีประชาคมจึงไม่ได้รับเสียงตอบรับเท่าที่ควร ทีมวิจัยจึงต้องหากลวิธีสะท้อนปัญหาให้ชาวบ้านเกิดความตระหนัก โดยเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

“แม้ว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะไม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำโดยตรง แต่ก็เกี่ยวโดยอ้อม เราจึงมุ่งไปคุยกับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร เราไปคุยแบบลูกหลาน แบบอ่อนน้อมถ่อมตน ไปขอความรู้ ไปถึงก็สวัสดีคุณตา คุณลุง คุณปู่ เมื่อก่อนน้ำในคลองแพรกหนามแดงเป็นยังไงบ้างครับ ผมมาอยู่ไม่ทัน พอถามเขาไปแบบนี้ เขาก็จะพรั่งพรูออกมาเลยว่า เมื่อก่อนน้ำในคลองแพรกหนามแดงมันไหลใสสะอาด คนพายเรือไปวัดไปวา รู้จักกันตลอดลำคลอง ความขัดแย้งไม่มี ขยะไม่มี ทำให้เราได้เห็นความเป็นมาเป็นไปและชีวิตความเป็นไปของผู้คนในแพรกหนามแดง

“ถามว่าความขัดแย้งนี้ลดลงได้อย่างไร ก็เพราะการไปจัดเวทีทำให้เรามีโอกาสได้นั่งจับเข่าพูดคุยกัน เหมือนรักแท้แพ้ใกล้ชิด เมื่อคนเราได้พูดคุยกันก็เกิดความสนิทสนม ผู้สูงอายุจะบอกกับลูกหลานเขาเลยว่า ‘เฮ้ย! ไหนมึงบอกไอ้พวกนี้เขาคิดแทนมึงไง กูไม่เห็นมันคิดแทนเลย มันมาดี มาขอความรู้กู มึงลองฟังดูสิ มันไม่ได้คิดแทนเลย มันมาขอความรู้ มันอยากจะแก้ปัญหา’ ผู้สูงอายุมีอิทธิพลต่อลูกหลาน ลูกหลานเขาก็เริ่มใจอ่อน แล้วพอเขามานั่งฟัง เขาจะคิดดี เมื่อเขาคิดดีแล้วเขาจะพูดดี เมื่อเขาพูดดีมิตรไมตรีก็จะตามมา ความขัดแย้งก็เริ่มลดลง”

น้ำเกิด-น้ำตาย

“คนเรานี่ต้องรู้จักคิดวิเคราะห์ อย่างผมฟังเพลงลูกทุ่งผมก็คิดวิเคราะห์ ฟังเพลงลูกทุ่งแล้วเข้าใจระบบนิเวศ อย่างเช่นที่เพลงบอกว่า ‘ตกเดือนสามน้ำแห้งขอดตลอดลำคลอง’ เดือนสามก็ตรงกับเดือนมีนาคม ช่วงนี้พระอาทิตย์จะแผดเผาน้ำทะเล จนน้ำทะเลเอาไปทำเกลือได้ พอเผาแล้วความเค็มของน้ำก็เข้มข้นขึ้น พอหลังสงกรานต์ ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำๆ”

ถ้อยคำของปัญญา โตกทอง พาให้นึกถึงเพลงอีกหลายเพลงที่เคยคุ้นจากความทรงจำในวัยเยาว์ หลายเพลงที่เราไม่เคยรู้ถึงความหมายและความนัยที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเพลง ในถ้อยทำนองที่บ่งบอกวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ ดำรงวิถีอยู่กับธรรมชาติ

“พอฝนตกมา ต้นไม้แตกใบอ่อน ดินอุ้มน้ำ ต้นไม้อุ้มน้ำ พอกลางเดือนแปด เดือนเก้า เดือนสิบ ต้นไม้อุ้มน้ำเต็ม แผ่นดินอุ้มน้ำเต็ม น้ำก็จะไหลลงมาเป็นน้ำกร่อย เป็นระบบนิเวศน้ำกร่อย จากน้ำเค็มเป็นน้ำกร่อย พอถึงเดือนสิบเอ็ดน้ำนอง น้ำก็จะจืด ดังที่คนโบราณบอกว่า ฝนกลุ่มสารท ออกพรรษา กลุ่มกฐิน น้ำจะไหลทิ้งทะเลอยู่เดือนเดียว น้ำจืด พอถึงเดือนสิบสองน้ำทรง น้ำจะเปลี่ยนจากขึ้นกลางคืนมาขึ้นตอนเช้า ช่วงน้ำทรงน้ำก็ยังจืดอยู่ พอถึงเดือนยี่น้ำรี่ไหลลง ต้นไม้ก็คลายน้ำ แผ่นดินก็คลายน้ำ ตกเดือนสามน้ำคงตลอดลำคลองก็เค็มต่อ”

พวงทอง เม้งเกร็ด จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม เขียนไว้ในหนังสือ ชุมชนแพรกหนามแดง จากการจัดการน้ำสู่การจัดการสวัสดิการชุมชน เอาไว้ว่า “…เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนผ่านการเล่าเรื่องราวในอดีต และทำให้ทราบองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีในชุมชน การเก็บรวบรวมข้อมูล จัดหมวดหมู่ และสรุปวิเคราะห์ทั้งคุณภาพน้ำ การจัดการน้ำในอดีต วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ เพื่อค้นหาสาเหตุของการจัดการน้ำที่ผ่านมา จนเกิดการออกแบบประตูหับเผยของ อุมา ศิลาวงศ์ ชาวบ้านที่นำองค์ความรู้ท้องถิ่นเรื่องบานหน้าต่างของชาวบ้านน้ำจืดและการระบายน้ำของคนน้ำเค็ม มีความกว้างของขนาดประตูเท่ากับลำคลอง ทำให้สามารถระบายน้ำจากส่วนบนของบานประตูให้ไหลไปได้…”

ปัญญาอธิบายผ่านเพลงไปสู่การออกแบบประตูระบายน้ำที่มีความสอดคล้องกันอย่างบังเอิญและบรรจบกับวิถีคนแพรกหนามแดง เพราะเพลงนั้นกำหนดขึ้นจากวิถีของชาวบ้าน

การแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำจึงวางแนบชิดอยู่กับวิถีนั้นอย่างไม่อาจแยกขาด

“การจัดการประตูระบายน้ำของเราก็สอดคล้องกับเพลง อย่างพอเดือนสาม น้ำเหลือน้อยเราก็ยกเก็บไว้ พอเดือนหก เดือนเจ็ด ฝนตกมาเราก็ยกกดลง เดือนแปด เดือนเก้า พอเดือนสิบเอ็ด น้ำเริ่มไหลนองเราก็ยกขึ้นแขวน พอถึงเดือนสิบสองน้ำทรงเราก็ยกลง พอเดือนยี่น้ำรี่ไหลลงเราก็ยกเก็บไว้ ซึ่งก็เป็นไปตามระบบนิเวศ”

การหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำนาทั้งสองฟากฝั่งแทบตลอดทั้งปี ในส่วนของนาน้ำจืดนั้น ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ผลจากน้ำเค็มที่ทะลักเข้ามายังพื้นที่น้ำจืด เช่น ที่ประตูคลองบางหัวหญ้า ประตูคลองวัว ประตูคลองแพรกหนามแดง แต่หากระบายน้ำเค็มออก ก็ชะเอาตะกอนดินเลนที่จะส่งผลต่อกุ้ง หอย ปู ปลา ของชาวบ้านฝั่งน้ำเค็มอีก มิหนำซ้ำ หากระบายน้ำออกไปจากพื้นที่น้ำจืด ชาวบ้านก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ไม่มีน้ำจืดที่จะนำไปใช้ในหน้าแล้ง

กระนั้น นั่นไม่ใช่เพียงปัญหาเดียว

“จริงๆ คนก็ไม่เข้าใจเรื่องน้ำเกิด-น้ำตาย คนถามว่าน้ำขึ้น-น้ำลงเหรอ ไม่ใช่ น้ำขึ้น-น้ำลงต่างไปจากน้ำเกิด-น้ำตาย เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองจะมีหน้าที่สองอย่างคือ กำหนดวันและกำหนดเดือน ส่วนดวงจันทร์ก็มีหน้าที่สองอย่างคือ หมุนรอบโลก ทำให้เกิดข้างขึ้นข้างแรม และเมื่อหมุนรอบโลกก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเกิด-น้ำตาย”

คือดวงจันทร์กำหนดเดือนและกำหนดน้ำ

ดวงอาทิตย์หมุนรอบหนึ่งก็จะเกิดปีเกิดฤดูกาล

เมื่อถึงเดือนมีนาคม เมษายน กรมชลประทานจะปล่อยน้ำให้ชาวนาได้ทำนาปรัง น้ำบนที่สูงจะไหลลงคลองธรรมชาติต่างๆ ในเขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการทำฟาร์มหมูหลายสิบฟาร์ม และฟาร์มเหล่านี้ได้ปล่อยน้ำล้างคอกหมูลงมาในคลองธรรมชาติ เมื่อน้ำที่ไหลจากคลองชลประทานผ่านมายังคลองธรรมชาติในบริเวณที่มีการเลี้ยงฟาร์มหมูมาจนถึงพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง ชาวนาในพื้นที่น้ำจืดก็ประสบปัญหาเดือดร้อนจากน้ำเน่าเสีย ครั้นจะปล่อยให้น้ำระบายลงสู่ทะเลเพื่อชาวนาจะได้กักเก็บน้ำจืดที่ไม่เน่าเสียไว้ใช้ก็ส่งผลกระทบต่อชาวนาเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา

ล่วงถึงช่วงต้นฝน เดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม ฝนจะตกลงมาเป็นช่วงๆ สังเกตได้ว่าฝนจะตกในช่วงน้ำเกิด พอน้ำทะเลขึ้น ฝนจะตกทุกครั้ง ฝนมาจากเทือกเขาตะนาวศรี อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ก่อนจะผ่านเข้าสู่ตำบลแพรกหนามแดง

“แพรกหนามแดงเป็นตำบลน้ำผ่าน แต่ทุกวันนี้พอฝนตกในช่วงน้ำเกิด ถ้าประตูระบายน้ำถูกปิดอยู่ น้ำฝนออกทะเลไม่ได้ จะเปิดประตูก็ไม่ได้ เพราะถ้าเปิดประตูระบายน้ำก็จะถูกเปิดจากก้นประตูเหมือนเดิม ทำให้พี่น้องที่มีอาชีพเลี้ยงกุ้งเดือดร้อน แต่ฝนตกแทบทุกวัน น้ำก็ท่วม ทำให้ชาวบ้านฝั่งน้ำจืดเดือดร้อน”

ปัญญาบอกเล่าสภาพปัญหาของพื้นที่น้ำจืด ตั้งแต่น้ำท่วมสนามโรงเรียน ห้องส้วมราดน้ำไม่ลง บ่อเลี้ยงปลาหรือสวนผักที่ทำคันล้อมต่ำก็ประสบความเดือดร้อน ทำให้ชาวบ้านฝั่งน้ำจืดกล่าวหาว่าชาวบ้านฝั่งน้ำเค็มเห็นแก่ตัว ไม่ยอมให้เปิดประตู

“ในช่วงนั้นทะเลาะกันมาตลอด เมื่อชาวบ้านฝั่งน้ำจืดทนไม่ไหวก็มาเปิดประตู ชาวบ้านฝั่งน้ำเค็มก็กล่าวหาว่าชาวบ้านฝั่งน้ำจืดเห็นแก่ตัว รอแค่วันสองวันให้จับกุ้งก่อนไม่ได้ ใครเห็นแก่ตัวกันแน่ พอเปิดประตูก็เหมือนกับทุกครั้ง ไม่มีอะไรเหลือ กุ้งทุกชนิดตายหมด ปลาทุกอย่างตายหมดในลำคลอง”

กระทั่งเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน แพรกหนามแดงซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำฝนที่ไหลชะลงมาจากเทือกเขาทั้งหมดก็จะมารวมอยู่ที่แพรกหนามแดง แต่ไม่อาจไปต่อได้เนื่องจากประตูนั้นแคบกว่าลำคลอง ทุกๆ ประตูระบายน้ำสู่ทะเลไม่ทัน ทำให้พื้นที่ไร่นาของชาวบ้านฝั่งน้ำจืดเสียหาย

“เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ทำให้น้ำท่วมฝั่งน้ำจืดแทบทุกปี ทำให้คนน้ำจืดหมดตัว ถ้าท่วมบ่อปลา นาข้าว สวนผัก ปลาสลิดกำลังเติบโตหน้าฝน และจะจับขายในหน้านาว ข้าวนาปีกำลังโตดีจะเกี่ยวขายได้ในหน้าหนาว กำลังจะได้เงิน เหน็ดเหนื่อยมาเป็นปี แต่สุดท้ายก็มาหมดตัว เพราะถูกน้ำท่วม เพราะประตูแคบกว่าลำคลอง

“น้ำเกิด-น้ำตาย คนโบราณจะมีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ วันพระใหญ่จะเป็นน้ำเกิด ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โลก มาอยู่แนวเดียวกัน น้ำทะเลก็จะถูกดวงจันทร์ดึง น้ำในโลกเราก็จะขึ้นมากและลงมาก พอน้ำขึ้นมาก คลื่นแรง ลมแรง แพลงตอนมีเยอะ ห่วงโซ่อาหารฟุ้งกระจาย

“พอดวงจันทร์ขยับมาเรื่อยๆ จาก 15 ค่ำ มา 2 ค่ำ 3 ค่ำ 4 ค่ำ พอถึงวันพระเล็ก 8 ค่ำ น้ำตายสนิท เพราะโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ ทำให้น้ำบนโลกถูกดวงจันทร์ดึงไปซีกหนึ่ง ดวงอาทิตย์ดึงไปซีกหนึ่ง ก็ทำให้น้ำขึ้นน้อยลงน้อย พอขึ้นน้อยลงน้อย แพลงตอนหรือห่วงโซ่อาหารไม่ฟุ้งกระจาย สัตว์ทะเลก็ลอกคราบ จำศีล หยุดหากิน ไปหากินอีกทีตอนน้ำเกิด วงจรทั้งหมดก็จะเป็นแบบนั้น”

 

ช่างไม้นักประดิษฐ์

ทั้งปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งขนาดถึงขั้นคว้ามีด คว้าปืน เตรียมจะห้ำหั่น ทั้งปัญหาจากความแปรปรวนของธรรมชาติ ตลอดจนสภาพพื้นที่ของตำบลแพรกหนามแดง ซึ่งทุกๆ การแก้ปัญหาหรือการพูดคุยใดๆ จะต้องไปจบยังหน้าประตูระบายน้ำที่มีรูปลักษณะไม่ตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นขนาดประตูที่แคบกว่าลำคลอง การเปิดปิดประตูที่ไม่เอื้อต่อสภาพฤดูกาล อันนำมาซึ่งปัญหาการกักเก็บน้ำในฝั่งน้ำเค็ม และการทนรับสภาพของความเป็นพื้นที่รับน้ำท่วมขังของฝั่งน้ำจืด ปัญญามองเห็นว่า หนทางเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ การไม่รอให้ภาครัฐยื่นมือลงมาช่วยเหลืออย่างที่เคยเป็น การระดมสมองเพื่อการแก้ปัญหาของชาวบ้านโดยไม่รอการช่วยเหลือจากภาครัฐจึงเริ่มต้นขึ้น

“พื้นที่ตรงนี้มีปัญหามาก มีการเพาะเลี้ยงกุ้งในระบบปิด ไม่ได้มีการหากินตามธรรมชาติแบบเมื่อก่อน สภาพพื้นที่เริ่มไม่สอดคล้องกับอาชีพ ผู้ใช้น้ำจืดต้องการน้ำจืด แต่ไม่ต้องการน้ำท่วม ส่วนผู้เพาะเลี้ยงกุ้งฝั่งน้ำเค็มก็ไม่ต้องการน้ำจืด นี่คือข้อขัดแย้ง ทีนี้จะแก้ปัญหาอย่างไรให้โดนใจคนทั้งสองฝั่ง” ปัญญากล่าว

อุมา ศิลาวงศ์ บอกเล่าในช่วงเวลาก่อนงานวิจัยจะเริ่มต้นขึ้น ในฐานะที่เป็นคนแพรกหนามแดง แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เดิมทีนั้นอุมาเป็นคนจากพื้นที่อื่น ก่อนจะย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่บริเวณประตูคลองบางหัวหญ้าติดทางรถไฟ ปลูกกระท่อมหลังเล็กๆ และประกอบอาชีพช่างไม้ด้วยทักษะที่สืบทอดมาจากพ่อ

หากถามว่าฝีไม้ลายมือของอุมาจัดเจนแค่ไหน เจ้าตัวออกปากว่า ผลงานแต่ละชิ้นของเขานั้นมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ โต๊ะ ซุ้มศาลา อุมาจะใส่รายละเอียดที่แตกต่างลงไปในแต่ละชิ้นงาน ต้องอาศัยคนช่างสังเกตเท่านั้นจึงจะแลเห็น

ด้วยความที่ไม่ใช่คนพื้นที่แพรกหนามแดงมาตั้งแต่เกิด แม้จะอาศัยอยู่บนที่ดินลุ่มน้ำเค็มมาร่วม 40 ปี แต่อุมาก็เฝ้ามองสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากหน้ากระท่อมตนเองมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่ความขัดแย้งเรื่องประตูระบายน้ำเริ่มก่อตัว จนมาถึงช่วงที่ปัญญา โตกทอง ก้าวขึ้นเป็นแกนนำชาวบ้านเพื่อรวมทั้งสองฟากฝั่งที่ขัดแย้งให้เป็นฝั่งเดียวภายใต้ความเป็นแพรกหนามแดงร่วมกัน

“ผมเห็นชาวบ้านเวลาเขามีปัญหามากๆ เขามีพลังนะ เขาจะรวมตัวมาคุยกันว่า ปัญหาแบบนี้เราจะแก้กันอย่างไร คือคนปลายน้ำเขาเดือดร้อนจากความไม่รู้ว่าจะเปิดประตูระบายน้ำเมื่อไหร่ ส่วนคนน้ำจืด ถ้าฤดูฝนจะเปิดบ่อยมาก เปิดทุกครั้งก็หมายถึงการทำร้ายจิตใจ ทำร้ายธุรกิจปลายน้ำของคนน้ำเค็ม เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบตรงๆ”

อุมายังมองอีกว่า ปัญหาการระบายน้ำเกิดขึ้นจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น 30-50 เซนติเมตร ก่อนจะมีประตูระบายน้ำ แต่การเจรจาแก้ปัญหาในระยะเริ่มแรกกลับไม่มีใครมองเห็นตรงจุดนี้

“ผมคิดว่ารูปแบบการระบายน้ำควรจะต้องเปลี่ยนใหม่ เราทิ้งแค่น้ำส่วนเกินได้ไหม ในอดีตเมื่อพูดถึงการระบายน้ำก็ต้องระบายทิ้งทั้งคลอง แล้วก็ผลักไปทุกอย่าง ทั้งตะกอนเลน ขยะเน่า ผลักทุกอย่างไปให้คนปลายน้ำ ถามว่าเขามีความผิดอะไร ผมก็มานั่งคิดว่า เราระบายน้ำแค่ส่วนเกินได้ไหม ผมจึงร่างแบบใส่กระดาษทำชาร์ตใหญ่ๆ ไปอธิบายในเวทีชาวบ้านผู้ใช้น้ำทั้งสองฟากฝั่ง ว่าถ้าเราปรับเปลี่ยนรูปแบบการระบายน้ำ ผลกระทบอาจจะลดน้อยลง”

 

ประตูหับเผย

“เวลาเราระบายน้ำ เราจะระบายเฉพาะน้ำส่วนเกินที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ในขณะที่ภาคน้ำเค็มจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเราไม่ได้ระบายน้ำไปทั้งก้อนจนกระทบกับวิถีชีวิตของเขา”

อุมาอธิบายหลักการง่ายๆ ของจุดเริ่มในการสร้างแบบบานประตูระบายน้ำเพื่อสอดคล้องกับโจทย์ปัญหาในพื้นที่ชุมชน และจากการเฝ้ามองประตูระบายน้ำของกรมชลประทานตรงหน้าบ้านตนเองวันแล้ววันเล่า จนออกมาเป็นบานประตูที่ใช้หลักการซึ่งอิงกับกระแสน้ำขึ้นน้ำลง

รูปแบบการทำงานของประตูระบายน้ำแบบใหม่คือ เมื่อน้ำทะเลขึ้นและลง ประตูน้ำจะเปิด-ปิดเองตามปริมาณน้ำ โดยที่น้ำเสียก้นคลองไม่ได้ไหลออกไปด้วย และระบายน้ำได้ภายในเวลา 2 วัน จึงไม่ส่งผลกระทบกับชาวนากุ้ง ควบคู่ไปกับข้อตกลงในการเปิด-ปิดประตูน้ำจากชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการทดลองใช้ประตูกั้นน้ำ คือเปิดในช่วงน้ำตาย วันแรม 7 ค่ำ และปิดก่อน 14 ค่ำ เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีเชื้อกุ้งและอาหารในธรรมชาติ

“ผมก็ให้ไอเดียนี้ไป แล้วผมก็ร่างแบบออกมา”

อุมานำแบบร่างด้วยฝีมือของตนออกมากางออกตรงหน้าให้เห็น จากนั้นอธิบายลักษณะของประตูที่ต้องมีขนาดความกว้างเท่ากับลำคลองและมีความลึกเสมอท้องคลอง เนื่องจากจะช่วยให้ระบายน้ำได้ดีในช่วงฤดูฝน และไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่น้ำจืดในช่วงฤดูมรสุม

ลักษณะประตูระบายน้ำจะออกเป็น 3 ส่วน ส่วนล่างเป็นบานทึบเพื่อดักตะกอน ความสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนกลางเป็นประตูบานเลื่อน สามารถปรับระดับน้ำที่ต้องการในแต่ละช่วงฤดูกาล และส่วนบน ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด โดยนำชื่อมาจากบานหน้าต่างที่เรียกว่า ‘หับเผย’ อยู่ทางฝั่งน้ำเค็ม สามารถเปิดได้ด้วยแรงดันของน้ำในฝั่งน้ำจืดเมื่อปริมาณน้ำเกินจากระดับที่กำหนด และจะปิดเองเมื่อปริมาณน้ำเค็มเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดแรงดันกลับ

“ชาวบ้านเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ผู้บริหารจัดการน้ำคือกรมชลฯ เราจะไปง้างเขาได้ยังไง เราเป็นชาวบ้าน โดยเฉพาะผมเอง ผมสวมเครื่องแบบชาวบ้านมาทั้งชีวิต ความคิดของชาวบ้านกับความคิดของส่วนราชการไม่เคยสวมกันเข้าพอดี เขาก็มองว่าเราคือผู้ไม่รู้ แต่จริงๆ เราคือผู้รู้และผู้เห็น ว่าอะไรคือปัญหาในพื้นที่ แต่เราไม่มีอำนาจ ไม่มีหน้าที่ที่จะไปปรับแก้ของใครได้ แต่เผอิญว่าผมเป็นคนเดียวในกลุ่มที่พอจะร่างแบบได้ ผมก็ร่างแบบขึ้นมาเสนอในเวทีชาวบ้าน ทั้งๆ ที่อาชีพของผมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเกษตรหรือการประมงเลย แต่ผมรักพื้นที่ตรงนี้ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ผมก็ขอมีส่วนช่วยเล็กๆ น้อยๆ”

จากจุดนั้น อุมาค่อยๆ ขึ้นแบบจากบนหน้ากระดาษมาเป็นประตูระบายน้ำในรูปแบบจำลอง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าประตูมีรูปแบบอย่างไร มีลักษณะการระบายน้ำแบบไหน

“แต่ทุกฝ่ายไม่มีใครชนะ เพราะเรายังต้องอยู่กับฤดูกาลของธรรมชาติ ในฤดูมรสุม หน้าที่ของประตูก็คือ กั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้ามายังฝั่งน้ำจืด แต่ถ้าฝั่งน้ำจืดมีน้ำมากก็ต้องระบายลงทะเล ผมก็เลยสร้างรูปแบบการเปิดปิดประตูให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น”

หากทว่านั่นเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น คำถามต่อไปคือ จากต้นแบบบนกระดาษ ทำอย่างไรจึงจะกลายเป็นประตูระบายน้ำที่ยังประโยชน์ให้กับชาวแพรกหนามแดงอย่างแท้จริงขึ้นมาได้

จากจินตนาการสู่ความเป็นจริง

ก่อนการทดลองประตูระบายน้ำของชุมชนแพรกหนามแดง มีการสำรวจสภาพลำคลองพบว่า ในพื้นที่น้ำจืดมีวัชพืชรก และมีตะกอนของเสียสะสมเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีสัตว์น้ำค่อนข้างน้อยในบริเวณน้ำจืด ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจวัดคุณภาพน้ำที่พบว่า มีปริมาณออกซิเจนต่ำ (ประมาณ 0-1 มิลลิกรัม) และปริมาณแอมโมเนียสูง ในขณะที่พื้นที่ฝั่งน้ำเค็มมีการไหลเวียนดี เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเล

หลังการทดลองเปิดปิดประตูระบายน้ำ ทีมวิจัยได้สำรวจข้อมูลพบว่า พื้นที่น้ำจืดน้ำไหลเวียนดีและมีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ปริมาณออกซิเจนสูงขึ้นจากเดิม 4-5 มิลลิกรัม ในขณะที่พื้นที่น้ำเค็มก็มีความเค็มลดลง

นับตั้งแต่เริ่มทดลองประตูระบายน้ำแบบที่มีบานหับเผยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2547 และจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ในการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลของทีมวิจัยและในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่า ชาวบ้านมั่นใจและเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งระหว่างคนสองฟากฝั่งคลองจะลดลง

 

วันนี้ที่แพรกหนามแดง

“จากปัญหาน้ำเค็มรุก รัฐก็เข้ามาแก้ปัญหาด้วยการสร้างประตูระบายน้ำให้ แล้วกรมชลฯ ก็ตัดเสื้อโหลใส่ให้ทั้งประเทศ ซึ่งความจริงแล้วใช้ไม่ได้กับทุกพื้นที่ เพราะประตูระบายน้ำที่เขาสร้างให้จะชักขึ้นจากก้นคลองเท่านั้น ทำให้ตะกอนเลนและขยะของเสียต่างๆ ถูกระบายออกมาด้วย” ปัญญา โตกทอง ตอกย้ำอีกครั้งถึงวิธีคิดในการแก้ปัญหาของรัฐ

จากปัญหา ‘เสื้อโหล’ ที่กรมชลประทานตัดให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศสวมใส่ โดยไม่คำนึงถึงบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สามลุ่มน้ำอย่างที่แพรกหนามแดง ปัญญาจึงได้นำข้อมูลและชุดความรู้ที่ได้จากการออกแบบประตูหับเผยของอุมา เพื่อประสานต่อไปยัง สุรจิต ชิรเวทย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงครามในขณะนั้น และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม กระทั่งนำเรื่องเข้าสู่ประชาคมคนรักแม่กลองเพื่อหาแนวทางแก้ไขรูปแบบบานประตู โดยหอการค้าจังหวัดได้นำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนจะส่งเรื่องต่อไปยังชลประทานจังหวัดสมุทรสงครามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากรูปแบบบานประตูออกแบบโดยช่างชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนจบทางด้านวิศวกรรม งบประมาณจึงสูงเกินกว่าที่องค์การส่วนบริหารตำบลจะให้การสนับสนุน

ทีมวิจัยจึงได้จัดเวทีนำเสนอผลงานให้ทุกภาคส่วนรับทราบ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ณ ที่ทำการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตำบลแพรกหนามแดง และเชิญชวนสื่อมวลชนมาช่วยประชาสัมพันธ์โครงการตามลำดับ จนกระทั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการผ่าน ประภาส บุญยินดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามในขณะนั้น โดยมีการทดลองใช้บานประตู 2 แห่งก่อน คือ คลองสัมงา หมู่ 4 และคลองผีหลอก หมู่ 6 ควบคู่กับการประสานงานกับกรมชลประทานให้ลงมาศึกษาดูงานในพื้นที่ จนเกิดการยอมรับรูปแบบบานประตูและปรับแก้ และมีการขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป

จากการดำเนินการทดลองในคลองผีหลอกและคลองสัมงา ซึ่งเป็นคลองหลักของชุมชนแพรกหนามแดง ในระยะแรกพบว่าเป็นที่น่าพอใจสำหรับคนทั้งสองฝั่ง แต่ยังมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องความสูงของประตูจากพื้นคลองที่ยังสูงเกินไปอยู่ ตลอดจนปัญหาขยะวัชพืชที่กีดขวางการทำงานของประตูระบายน้ำ ต่อมาทีมวิจัยจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดทำตะแกรงกั้นขยะบริเวณหน้าประตู

ภายหลังโครงการเสร็จสิ้น ทีมวิจัยภายใต้การนำของปัญญาได้นำข้อมูลไปขยายผลต่อยอดร่วมกับโครงการฟื้นฟูชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน ตำบลแพรกหนามแดง โดยนำข้อมูลจากงานวิจัยไปใช้ในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต โดยเฉพาะการส่งเสริมการทำนาข้าวปลอดสารพิษในพื้นที่บ้านรั้ว หมู่ 3 และยกระดับเยาวชนที่ผ่านการวิจัยเพื่อพัฒนาขึ้นเป็น ‘กลุ่มเยาวชนรักแพรกหนามแดง’

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหลักคิดที่อิงกับสภาพแวดล้อมของแพรกหนามแดง ภายใต้การจัดการน้ำที่สอดคล้องกับระบบนิเวศสามน้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย นอกจากนี้ การทำวิจัยของชุมชนยังชี้ให้เห็นถึงกระบวนการแก้ปัญหาของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสร้างความขัดแย้งให้กับชุมชน

ปัญญาเขียนไว้ในงานวิจัยว่า กระบวนการสนับสนุนชุมชนของข้าราชการและหน่วยงาน ควรมุ่งเน้นให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ การเป็นพี่เลี้ยงในการหนุนเสริมภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจในทางที่ถูกให้กับประชาชน ซึ่งจะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

“การที่ชาวบ้านได้มาร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทำให้คนในชุมชนเริ่มรู้จักคิดหาวิธีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและใช้เหตุใช้ผลกันมากขึ้น จากเดิมเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างคนฝั่งน้ำจืดและฝั่งน้ำเค็ม แต่เมื่อเอากระบวนการวิจัยเข้ามาแก้ปัญหา ทำให้เลิกทะเลาะเบาะแว้ง เกิดความสามัคคีปรองดองกันมากขึ้น จนกลายเป็นพลังแห่งการขับเคลื่อนชุมชนแพรกหนามแดง และเป็นชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนรู้”

ปัญญากล่าวเสริมว่า ผลสำเร็จจากการผลักดันให้เกิดประตูระบายน้ำบานสวิงหรือหับเผย ได้ นำไปสู่การต่อยอดโครงการต่างๆ ทั้งในส่วนของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินจากการรุกล้ำเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน นอกจากนี้ยังสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมากมาย

“จากเดิมที่แพรกหนามแดงมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในการจัดการน้ำ และที่ผ่านมาเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ขาดองค์ความรู้ ขาดภูมิปัญญา ใช้เพียงความเห็น ความเชื่อ ความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจในการบริหาร ทำให้ทรัพยากรโดยรวมของชุมชนถูกทำลายไปตามกระแสบริโภคนิยม ทุนนิยม ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ แต่พอชุมชนได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สืบค้นประวัติความเป็นมาเป็นไปของชุมชน ทำให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการวิจัยได้เห็นถึงความสำคัญขององค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น จนสามารถนำมาปรับใช้ในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของทรัพยากรในพื้นที่ให้กลับคืนมา”

ถึงจุดนี้อาจพอมองเห็นแล้วว่า ชุมชนตำบลแพรกหนามแดง แม้จะเคยทะเลาะเบาะแว้งขั้นรุนแรงระหว่างคนฝั่งน้ำจืดกับฝั่งน้ำเค็ม แต่สุดท้ายก็สามารถรวมกลุ่มรวมก้อนเพื่อจัดสรรทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น จนกระทั่งมองเห็นปัญหาร่วมกันว่า ปัญหาความขัดแย้งนั้นกว้างเพียงศอก จากผิวน้ำและขอบกั้นของประตูระบายน้ำที่ขีดขวางไม่ให้ผู้คนทั้งสองฝั่งมองเห็นสิ่งที่อยู่ในตัวของพวกเขา

สิ่งๆ นั้นก็คือ ความเป็นแพรกหนามแดงร่วมกัน

กว่าที่ชาวบ้านฝั่งน้ำจืดและน้ำเค็มจะเข้าใจซึ่งกันและกัน พวกเขาได้หันกลับไปทบทวนสิ่งที่เป็นจุดร่วมของคนทั้งสองฝั่ง นั่นคือภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาในการทำความเข้าใจระบบนิเวศสามน้ำ ปรากฏการณ์น้ำเกิด-น้ำตาย น้ำขึ้น-น้ำลง และอิทธิพลของโลกและดวงจันทร์ เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมาแต่โบร่ำโบราณ รวมถึงการนำสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาปรับใช้จนเกิดเป็นประตูระบายน้ำหับเผย ซึ่งไม่เพียงแก้ไขปัญหาโดยยึดโยงกับบริบทของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นนวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ที่คนจากพื้นที่อื่นสามารถเข้ามาศึกษาต้นแบบจากแพรกหนามแดงได้

“แต่ทุกฝ่ายไม่มีใครชนะ เพราะเรายังต้องอยู่กับฤดูกาลของธรรมชาติอยู่ดี” คำพูดของอุมาตอกย้ำให้เห็นถึงการอยู่ร่วมระหว่างคนกับธรรมชาติ มนุษย์ย่อมไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แต่เมื่อเกิดอุปสรรคและปัญหา การใช้ปัญญาตามกระบวนการวิจัยจะช่วยไขไปสู่ทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า