ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับชาวสวีเดน เป็นความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันไม่ขาด จนสวีเดนถูกขนานนามว่า ‘Booze Nation’ หรือประเทศสายดื่ม จากประสบการณ์ที่เคยสัมผัสจากหมู่เพื่อนชาวสวีเดน ตามธรรมเนียมปฏิบัติหากมีปาร์ตี้เมื่อใด แต่ละคนก็มักจะหิ้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แยกใครแยกมัน เพื่อนำไปแชร์กันที่งานเลี้ยง หรือใครอยากดื่มอะไรแบบไหนก็ซื้อติดมือไปเอง ทำให้โต๊ะเต็มไปด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากมายหลายแบบ ยิ่งเป็นฤดูหนาวการดื่มแอลกอฮอล์ยังช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ทำให้ดื่มได้มากขึ้น Skål (ชนแก้ว) กันไม่ยั้ง
ความมึนเมาแบบสวีเดนนี้มีที่มาอย่างยาวนานในห้วงประวัติศาสตร์ จากการเป็นประเทศยากจน สู่ประเทศอุตสาหกรรม และกลายเป็นประเทศรัฐสวัสดิการในที่สุด ซึ่งวัฒนธรรมความเมาก็แปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาต่างๆ ภายใต้การออกกฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวด จนเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนในปัจจุบันว่า สวีเดนสามารถแก้ไขปัญหาเมาแล้วขับได้ถึง 99.75 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019 ตามตัวเลขและตัวชี้วัดของสภาความปลอดภัยในการขนส่งแห่งยุโรป (European Transport Safety Council)
นอกจากความเข้มงวดทางกฎหมายและข้อบังคับในการจราจรแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ความเข้มงวดในการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท จากความเดิมตอนที่แล้วที่ได้พูดถึงสวรรค์นักดื่มภายใต้กฎการควบคุมของรัฐ นั่นคือ Systembolaget
แน่นอนว่าเมื่อปาร์ตี้มาถึง ผู้เขียนและเพื่อนๆ จะต้องเดินทางไปยัง Systembolaget หรือร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผูกขาดโดยรัฐบาลสวีเดนแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของความพยามยามของรัฐในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศกลุ่มนอร์ดิก หรือที่เรียกว่า ‘alcohol monopoly’ แปลง่ายๆ คือ ‘การผูกขาดแอลกอฮอล์’ ตามด้วยวงเล็บว่า ‘โดยรัฐ’ หาใช่ทุนใหญ่หรือเจ้าสัวรายใดไม่ โดยรัฐจะเป็นผู้ควบคุมการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์ กำหนดเวลาจัดจำหน่ายที่ชัดเจน โดยระบบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นนี้เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic countries) เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เป็นต้น
Booze Nation ประวัติศาสตร์ว่าด้วยความเมา ภายใต้กติการัฐสวีเดน
ประวัติศาสตร์การดื่มของชาวสวีเดนนั้น เริ่มเห็นรูปเห็นร่างนับตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมาที่เบียร์ได้รับความนิยม จนกระทั่งเทคโนโลยีการกลั่นมาถึงสวีเดนในช่วงศตวรรษที่ 15 ทำให้ชาวสวีเดนสามารถผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทวอดก้าที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าได้ นั่นคือ Brännvin (บรานวิน) เครื่องดื่มอันเป็นจิตวิญญาณทางวัฒนธรรมของสวีเดนและกลุ่มประเทศนอร์ดิก จนกระทั่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ได้มีกฎหมายกำหนดให้ชาวสวีเดนผลิตบรานวินเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น โดยทางการให้เวลาในการผลิตเพียง 3 เดือนต่อปี
จากหลักฐานข้อมูลพบว่า ในทศวรรษ 1840 ชาวสวีเดนวัยผู้ใหญ่ดื่มบรานวินโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ลิตรต่อสัปดาห์ ด้วยปริมาณการดื่มที่ค่อนข้างสูง จึงนำไปสู่การควบคุมการดื่มหรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า Systembolaget โดยเริ่มต้นที่เมืองฟาลุน ในปี 1850 เพื่อป้องกันการดื่มหนักและการหากำไรจากการขาย ต่อมาจึงขยายมาตรการเข้มข้นขึ้นด้วยการสั่งห้ามผลิตบรานวินในครัวเรือนตั้งแต่ปี 1855
ความพยายามของสวีเดนในการลดจำนวนนักดื่มและการควบคุมการดื่มเป็นผลมาจากตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 ที่สวีเดนกลายมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดเมืองใหญ่หลายเมืองที่เป็นฐานอุตสาหกรรม คนจำนวนมากเดินทางจากชนบทเข้าสู่เมืองเพื่อปากท้องทางเศรษฐกิจ และด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงานยาวนาน ทำให้แรงงานสวีเดนจำนวนมากนิยมดื่มเพื่อการผ่อนคลาย จนก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพและเกิดอันตรายถึงชีวิต
แม้รัฐจะออกกฎควบคุมการผลิตบรานวิน แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่พยายามสร้างอุตสาหกรรมบรานวินขึ้นด้วย อันเป็นจุดกำเนิดของวอดก้าแบรนด์ดังในปี 1879 และเป็นที่รู้จักของนักดื่มทั่วโลกในเวลาต่อมา เนื่องจากใช้กรรมวิธีการผลิตสมัยใหม่ รสชาติดีกว่า คุณภาพดีกว่า นับเป็นการท้าทายอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นกรุงสตอกโฮล์มที่ผูกขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดย จนนำมาสู่ ‘สงครามวอดก้า’ เมื่อผู้ผลิตใช้วิธีหลบเลี่ยงด้วยการเปิดโรงงานผลิตนอกเขตควบคุม ก่อนนำลงเรือข้ามฟากส่งกลับมาขายในกรุงสตอกโฮล์มอีกที ทำให้ ลาร์ส โอลส์ซอน สมิธ (Lars Olsson Smith) เจ้าของแบรนด์ มีชื่อเสียงโด่งดังและธุรกิจรุ่งเรือง แต่ท้ายที่สุดการท้าทายอำนาจรัฐในสังเวียนความมึนเมาก็ไม่บรรลุผล สุดท้ายกิจการของเขาก็ถูกควบรวมเข้าไปอยู่ในการผูกขาดของรัฐในปี 1917
ในศตวรรษต่อมา สวีเดนออกกฎหมายควบคุมที่เข้มงวดกว่าเดิม ผ่านระบบ The Bratt System ในปี 1919 ที่บังคับว่าประชาชนจะต้องลงบันทึกการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกครั้งลงในสมุดที่เรียกว่า motbok อย่างไรก็ตามระบบการลงบันทึกการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะต้องมีตราประทับรับรองจากรัฐก็นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางสังคม เช่น ผู้ชาย ชนชั้นสูงของสังคม ได้รับโควต้าในการซื้อมากกว่า หรือมีการยืม motbok ของผู้อื่นมาซื้อแทน โดยโควต้าเฉลี่ยในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 1948 คือ 1.8 ลิตรต่อเดือนเท่านั้น
จนกระทั่งในปี 1922 การลงประชามติแบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นอันล้มเหลว โดยประชาชนโหวตเห็นชอบกับการแบน 49 เปอร์เซ็นต์ และโหวตไม่เห็นชอบ 51 เปอร์เซ็นต์ แม้การลงประชามติของกลุ่มไม่เห็นชอบกับการแบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเฉือนชนะเพียงเล็กน้อย แต่ก็สะท้อนภาพสังคมสวีเดนที่ก้ำกึ่งระหว่าง 2 ฝ่าย
ระบบ Bratt ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1955 ถูกแทนที่ด้วยระบบ Systembolaget ที่รัฐยังคงผูกขาดนํ้าเมาอยู่เช่นเคย โดยเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์ จะต้องจำหน่ายผ่าน Systembolaget แต่เพียงผู้เดียว
เมาแล้วขับ สวีเดนจับอย่างไร
สำหรับสวีเดนแล้ว การต่อสู้บนสังเวียนนํ้าเมาระหว่างรัฐ-ผู้ผลิต ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมาในประวัติศาสตร์มาโดยตลอด โดยรัฐมีความเชื่อว่าการเข้าไปผูกขาดการจัดจำหน่ายเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการบริโภค โดยเน้นยํ้าถึงความสำคัญด้านสุขอนามัยของประชาชนและผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปวิธีการจัดการเช่นนี้ไม่เพียงพอ เพราะพัฒนาการด้านการขนส่ง การมีรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน
ตามกฎหมายของสวีเดน กำหนดว่าผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกายถือเป็น ‘ผู้ที่เมาแล้วขับ’ โดยจะต้องมีค่าแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC: Blood Alcohol Concentration) ตํ่าสุดที่ 0.02 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าตํ่ากว่าประเทศส่วนใหญ่ที่กำหนดไว้ที่ 0.05-0.08 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การทดสอบลมหายใจหรือการเป่านั้นอยู่ที่ 0.10 มิลลิกรัมต่อลิตร หากมากกว่านั้นถือว่าเป็นผู้ที่เมาแล้วขับ ไม่ว่าจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ก็ตาม
มากไปกว่านี้ กฎหมายควบคุมการเมาแล้วขับยังรวมไปถึงการขับขี่เรือยนต์อีกด้วย โดยเรือยนต์ที่ห้ามขับขี่ในระหว่างเมาคือ เรือที่มีความเร็วเกินกว่า 15 น็อต และมีความยาวมากกว่า 10 เมตร หากกระทำผิดจะมีความผิดฐาน ‘เมาแล้วขับทางทะเล’ (the criminal act drunkeness at sea)
โดยบทลงโทษนั้น หากมีค่าแอลกอฮอล์ที่ 0.02 เปอร์เซ็นต์ จะมีอัตราโทษด้วยการปรับหรือจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ถูกยึดใบขับขี่เป็นเวลาทั้งสิ้น 12 เดือน หากค่าแอลกอฮอล์มากกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะมีการเพิ่มโทษเป็นจำคุก 2 ปี ยึดใบขับขี่ 24 เดือน
นอกจากนี้ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ตำรวจสวีเดนยังมีการตั้งด่านตรวจเพื่อสกัดจับผู้ที่เมาแล้วขับ โดยมีชาวสวีเดนเคยแชร์ประสบการณ์ว่า เขาได้ขับรถไปทำงานในยามเช้า แต่ถูกตำรวจเรียกตรวจ เขาจึงถามตำรวจว่าเรียกตรวจทำไม เกรงว่าจะบริโภคแอลกอฮฮล์ในระหว่างมื้อเช้าหรือ แต่ตำรวจตอบว่า ไม่ใช่ แล้วตำรวจก็กล่าวต่อไปอีกว่า คุณอาจจะมีแอลกอฮอล์หลงเหลืออยู่ในร่างกายหากคุณดื่มตั้งแต่เมื่อคืนวาน ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานเชิงรุกที่ได้ผลในการลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้คุณจะดื่มไปตั้งแต่เมื่อคืนก็ตาม