ประวัติศาสตร์การสร้างชาติไต้หวัน: ตัวตนของเด็กกำพร้าแห่งเอเชีย

เป็นอีกครั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และจีน ได้เพิ่มอุณหภูมิความร้อนแรงและความตึงเครียดไปทั่วโลก หลังจากแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้เดินทางไปเยี่ยมไต้หวันในช่วงต้นเดือนสิงหาคม แม้จะเป็นการเยือนช่วงสั้นๆ ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2022 ทางฝั่งจีนก็ไม่รีรอตอบกลับการสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไต้หวันและสหรัฐอเมริกานี้ด้วยการประกาศซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันเป็นพัลวัน สร้างความหวาดวิตกกังวลไปทั่วโลกว่า จีนจะบุกไต้หวันจนทำให้เกิดสงครามหรือไม่ จนเกิดการวิเคราะห์คาดการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และจีนไปตามมุมมองต่างๆ

หากลองถอยกลับมามองความสัมพันธ์แสนยุ่งเหยิงนี้เสียใหม่ จากมุมมองประวัติศาสตร์และพัฒนาการตัวตนของไต้หวัน คนทั่วไปมักสนใจไต้หวันในฐานะพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน มากกว่าที่จะมองและให้ความสนใจไต้หวันในฐานะชาติที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาของตัวเองเช่นเดียวกันกับชาติอื่นๆ 

หรือบางทีเราอาจจะรู้เรื่องของไต้หวันน้อยเกินไปจริงๆ เรารู้เรื่องไต้หวันเพียงรางเลือนจนแทบแยกไม่ออกจากจีน ว่าไต้หวันและจีนต่างกันอย่างไร ในเมื่อชาวไต้หวันก็เป็นชาวจีนเช่นเดียวกัน หรือเพียงแค่ว่าไต้หวันเป็นประชาธิปไตย และจีนเป็นเผด็จการแค่นั้นหรือ คำถามเหล่านี้จะกระจ่างขึ้นหากเราขุดคุ้ยย้อนไปดูประวัติศาสตร์ไต้หวัน ที่ซึ่ง ‘เด็กกำพร้าแห่งเอเชีย’[1] ได้ถือกำเนิดขึ้น

Japanese troops enter Taipei, 11 June 1895

ไต้หวัน คือชื่อเกาะแสนสวยงามอันเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ที่เรียกขานกันว่า ‘ฟอร์โมซา’ (Formosa) หรือเกาะแสนงามในภาษาโปรตุเกส เกาะแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง และเป็นที่แย่งชิงของเหล่าชาติล่าอาณานิคมมาตลอดศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนมณฑลฝูเจี้ยน (คนไทยจะคุ้นชินในชื่อฮกเกี้ยน) ในสมัยราชวงศ์ชิงของจีนในปี 1683 นับแต่นั้นมาก็มีคนจีนจากมณฑลฝูเจี้ยนอพยพเข้าไปอยู่บนเกาะไต้หวันเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลา 200 ปี จนกระทั่งจีนแพ้สงครามให้ญี่ปุ่นในสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 1895 นั่นทำให้เกาะไต้หวันได้กลายเป็นดินแดนอาณานิคมปกครองของญี่ปุ่น จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงคราม เกาะไต้หวันก็ย้อนกลับคืนสู่อ้อมอกจีน กลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมิกายาจีนเพียงหนึ่งเดียว แต่แล้วแผ่นดินจีนก็กลับแตกเป็น 2 ฝ่าย คือสาธารณรัฐจีน (Republic of China นิยมเรียกย่อๆ ว่า ROC) นำโดย เจียง ไคเชก จากพรรคก๊กมินตั๋ง (จีนชาตินิยม) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (People Republic of China นิยมเรียกย่อๆ ว่า PRC) ซึ่งนำโดย เหมา เจ๋อตง จากพรรคคอมมิวนิสต์

เมื่อก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ให้กับคอมมิวนิสต์จีน ก๊กมินตั๋งได้ถ่อยร่นไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน พร้อมแบกรับความฝันไว้ว่าสักวันชาวจีนที่อพยพมายังเกาะไต้หวันพร้อมกับผู้นำเจียง ไคเชก จะกลับไปบุกยึดคืนแผ่นดินใหญ่และรวมชาติให้เป็นจีนเพียงหนึ่งเดียวให้ได้ นั่นคือปณิธานอันหาญมุ่งของเหล่าชาวจีนก๊กมินตั๋งที่อพยพเข้ามาในไต้หวันในช่วงปี 1949 แต่ความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะสถาปนาจีนหนึ่งเดียวนั้นก็ไม่เคยเป็นความจริงขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ซ้ำร้ายความปรารถนานั้นกลับถูกศัตรูจากอีกฝั่งทะเลช่วงชิงไปใช้กล่าวอ้างเพื่อครอบครองไต้หวัน

จีนเพียงหนึ่งเดียว และการกำเนิดเด็กกำพร้าแห่งเอเชีย

อันที่จริงแล้วนโยบายจีนเพียงหนึ่งเดียว (One-China policy) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกล่าวอ้างในปัจจุบันเพื่อครอบครองฮ่องกงและไต้หวันนั้น คือสิ่งเดียวกันกับที่สาธารณรัฐจีนและพรรคก๊กมินตั๋งเคยกล่าวอ้างเพื่อครอบครองไต้หวันในอดีต หลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองสาธารณรัฐจีนก็ย้ายมาสถิตยังเกาะไต้หวัน รวมถึงการย้ายศูนย์กลางความเป็นจีนและประวัติศาสตร์จีนต่อเนื่องกว่า 4,000 ปี มาครอบงำและปกครองไต้หวันที่เพิ่งจะหลุดพ้นจากอำนาจอาณานิคมญี่ปุ่นหมาดๆ ทำให้สิ่งต่างๆ ที่ชาวไต้หวันคุ้นชินในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาญี่ปุ่น การอ่านหนังสือญี่ปุ่น ระบบการจัดการต่างๆ ที่อาณานิคมญี่ปุ่นได้ปูทางไว้ให้ได้พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเป็นการสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด ให้ไปใช้ภาษาจีนและความนิยมในธรรมเนียมปฏิบัติแบบวัฒนธรรมจีนให้หมด นั่นทำให้เกิดแรงต่อต้านจากชาวไต้หวันที่อยู่มาก่อน ก่อเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวไต้หวันที่อยู่มาก่อนและผ่านยุคสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น กับชาวจีนที่ย้ายมายังเกาะไต้หวัน 

ชาวจีนมองชาวไต้หวันอย่างไม่ไว้ใจว่าเป็นพวกทาสญี่ปุ่น เป็นคนทรยศพี่น้องร่วมแผ่นดินเข้ากับศัตรูอย่างญี่ปุ่น และไม่มีความรักชาติในแผ่นดินเกิดเหมือนชาวจีน ในขณะชาวไต้หวันในทีแรกมองชาวจีนด้วยความปีติยินดี ว่าจะได้เป็นอิสระจากการปกครองของญี่ปุ่นและได้กลับคืนสู่พี่น้องร่วมชาติเดียวกัน จนกระทั่งชาวไต้หวันได้เรียนรู้ว่า ชาวจีนเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์จากเกาะไต้หวันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หาได้สนใจการปลดปล่อยไต้หวัน ซ้ำร้ายกลับปกครองด้วยความละโมบและเหี้ยมโหดรุนแรงเสียยิ่งกว่าญี่ปุ่น จนเกิดคำพูดสบถติดปากคนไต้หวันในสมัยนั้นว่า “หมาญี่ปุ่นจากไป หมูจีนก็เข้ามาแทน” 

ความขัดแย้งสะสมเรื่อยมา จนเกิดการประท้วงทั่วไต้หวันเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองจากผู้ปกครองชาวจีนในเหตุการณ์ประท้วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 แต่การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยปกครองตนเองกลับจบลงด้วยการสังหารหมู่ชาวไต้หวัน จนมีการเรียกขานการประท้วงครั้งนั้นว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ 228 (The 228 Massacre)[2]

เหตุการณ์สังหารหมู่ 228 ถูกให้ความหมายใหม่ย้อนหลังว่าเป็นเหตุการณ์บาดแผลสร้างชาติ[3] ที่ทำให้ชาวไต้หวันรู้ว่าตนไม่อาจประนีประนอมกับความเป็นจีนที่เข้ามาสวมทับตัวตนของตนได้อีกต่อไป กลายเป็นจุดแตกหักทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้ชาวไต้หวันรู้ตัวว่า ตนเป็นเด็กกำพร้าแห่งเอเชียที่ต้องแตกหักกับความเป็นญี่ปุ่นและความเป็นจีนที่เข้ามาสวมทับความเป็นรากเหง้าให้กับตน 

ในทางกลับกัน ความเป็นไต้หวันก็ไม่อาจขาดจากความเป็นญี่ปุ่นและความเป็นจีนไปได้เลย ไต้หวันเป็นทั้งญี่ปุ่นและจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่จีนและญี่ปุ่น หากแต่เป็นไต้หวัน เด็กกำพร้าที่ต้องหยัดยืนด้วยตัวเองหลังจากเคยอยู่ในความอุปถัมภ์ของทั้งญี่ปุ่นและจีน แต่การที่จะเติบโตขึ้นของไต้หวันล้วนแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของผู้ที่หาญกล้าหยัดยืนสู้กับระบอบเผด็จการความเป็นจีนที่เข้ามาปกครองไต้หวัน

เพื่อให้การเปลี่ยนไต้หวันกลายเป็นแผ่นดินจีนอย่างสมบูรณ์แบบและราบรื่น รัฐบาลเผด็จการของก๊กมินตั๋งจึงได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 1949 เพื่อกดปราบศัตรูผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงป้องกันภัยจากการบุกของสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยความร่วมมือจากสหรัฐอเมริกาที่เห็นพ้องกับหลักการจีนเพียงหนึ่งเดียวของสาธารณรัฐจีนในตอนนั้น จนกลายเป็นยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวสีขาว (white terror) ที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามคนเห็นต่างทุกรูปแบบ 

ด้วยอำนาจเผด็จการเช่นนั้น ส่งผลให้กระบวนการกลืนกลายเป็นจีนดำเนินไปอย่างราบรื่น ผ่านการศึกษาที่ใช้ภาษาจีนกลางเป็นหลัก และห้ามการใช้ภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาจีนสำเนียงฝูเจี้ยนในที่สาธารณะ ไปพร้อมกับการสอนประวัติศาสตร์จีน 4,000 ปี ตลอดจนนโยบายชาตินิยมต่างๆ[4] เพื่อปลูกฝังความหวังให้ชาวไต้หวันรุ่นถัดๆไปยึดถือในความเป็นจีนเพียงหนึ่งเดียว จนถึงขนาดที่ว่าในช่วงขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ลบล้างขนบธรรมเนียมจีนที่สืบทอดกันมา 4,000 ปีทิ้งไปนั้น ทางฝั่งสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันก็เกิด ‘กระแสการเกิดใหม่ของวัฒนธรรมจีน’ (Chinese Cultural Renaissance Movement) อันเป็นการกล่าวอ้างทางประวัติศาสตร์ว่า มรดกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนกว่า 4,000 ปี ได้รับการสืบทอดและรักษาไว้เป็นอย่างดีในเกาะไต้หวัน

กล่าวได้ว่าในสภาพสังคมเผด็จการจีนชาตินิยม ทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรมภายในไต้หวันตอนนั้นไม่เปิดโอกาสให้ความเป็นไต้หวันได้เติบโตขึ้นมาได้เลย สภาพสังคมไต้หวันคงเป็นเผด็จการหยุดนิ่งไปเสียเช่นนั้นอีกนาน หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาเสียก่อน

Dwight D. Eisenhower with Chiang Kai-Shek in Taipei, 1960.

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและการค้นหาตัวตนความเป็นไต้หวัน

ผลของการกลับมาสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนหลังสงครามเย็นสงบลง ทำให้สาธารณรัฐจีนหรือไต้หวันถูกเตะออกจากเก้าอี้ในสหประชาชาติ และสูญเสียตำแหน่งประเทศจีนเพียงหนึ่งเดียวให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวันกลายเป็นเพียงแค่รัฐ De facto หรือรัฐที่มีองค์ประกอบความเป็นรัฐครบถ้วน หากแต่ไม่มีประเทศใดโลกนี้ประกาศรับรองความเป็นรัฐให้กับไต้หวันเลย 

แรงผลักดันจากการเมืองโลก ทำให้สาธารณรัฐจีนทบทวนท่าทีเผด็จการของตนกับประชาชน ไปพร้อมกับเกิดขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแรกในไต้หวันนับจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 228 คือ เกิดการเดินขบวนประท้วงของประชาชนไต้หวันที่เรียกร้องประชาธิปไตยในนามของกลุ่ม ‘ตั่งไว่’ (Dangwai) ซึ่งแปลว่า ผู้อยู่นอกพรรคก๊กมินตั๋ง ในปี 1979 โดยเรียกขานการประท้วงคราวนั้นว่า ‘เหตุการณ์ฟอร์โมซา’ (Formosa Incident) ตามชื่อนิตยสาร Formosa; The Magazine of Taiwan’s Democratic Movement[5] อันเป็นช่องทางที่กลุ่มตั่งไว่เขียนบทความทางการเมือง สังคมวัฒนธรรมว่าด้วยความเป็นไต้หวัน แม้ว่าการเดินประท้วงในคราวนั้นจะถูกปราบปรามลง แต่เชื้อไฟประชาธิปไตยได้ถูกจุดขึ้นมาแล้ว

ผลจากเหตุการณ์ทางการเมืองในระดับโลกและระดับภายในประเทศ ทำให้พรรคก๊กมินตั๋งเริ่มปรับเปลี่ยนท่าทีจนนำไปสู่การยกเลิกกฎอัยการศึกในปี 1987 พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ตลอดจนการย้อนกลับไปรื้อฟื้นรากเหง้าตัวตนความเป็นไต้หวัน ทั้งการกลับไปทำความเข้าใจบาดแผลความรุนแรงทั้งจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 228 การใช้กฎอัยการศึกปราบปรามประชาชนในช่วงความหวาดกลัวสีขาว[6] การหวนรำลึกถึงมรดกอาณานิคมญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งร้างไป การกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ไต้หวันเสียใหม่ว่า การจะเล่าประวัติศาสตร์ไต้หวันควรจะเล่าถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่เกาะไต้หวันแห่งนี้ที่มีผู้คนมากมายมาอาศัยอยู่ในยุคสมัยต่างๆ รวมถึงการให้ความสำคัญแก่ชนพื้นเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายในไต้หวันมาก่อน 

กล่าวได้ว่า ความเป็นไต้หวันคือประสบการณ์ที่คนผู้ซึ่งอยู่ในพื้นที่เกาะแห่งนี้ได้เผชิญตลอดมา ไม่ว่าจะการเป็นอาณานิคมญี่ปุ่นนานถึง 50 ปี หรือการอยู่ใต้เผด็จการแบบจีนเพียงหนึ่งเดียวมาตลอด 40 ปี ล้วนหล่อหลอมให้ไต้หวันเป็นอย่างไต้หวันในปัจจุบันนี้ เป็นไต้หวันที่จะไม่ยอมก้มหัวให้หลักการจีนเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป เพราะพวกเขาเคยรับรู้ด้วยประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนมาแล้วว่า การยอมอยู่ภายใต้หลักการจีนเดียวของเผด็จการนั้นเป็นเช่นไร 

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาวะที่โดดเดี่ยวทางการทูตของไต้หวันในตอนนี้ก็ไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากว่า ไต้หวันเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ แต่อาจเป็นได้มากสุดคือ เด็กกำพร้าแห่งเอเชียที่หาตัวตนของตนเองพบแล้วนั่นเอง

เชิงอรรถ

[1] เด็กกำพร้าแห่งเอเชีย (orphan of Asia) เป็นชื่อหนังสือของ อู่ ฉัวหลิว (Wu Chuoliu) นักเขียนไต้หวัน เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ของชาวไต้หวันในช่วงที่อยู่ใต้อาณานิคมญี่ปุ่น รวมถึงความรู้สึกของชาวไต้หวันว่าไม่อาจลงรอยกับความเป็นญี่ปุ่นหรือความเป็นจีนได้

[2] ความขัดแย้งระหว่างชาวไต้หวันและชาวจีน รวมถึงบันทึกเหตุการณ์ 228 อย่างละเอียด โปรดดูในบันทึกทางการทูตของ George H. Kerr. Formosa Betrayed. Camphor Press, 2018.

[3] การตีความเหตุการณ์ 228 ว่าเป็นบาดแผลสร้างชาติ โปรดดูใน Stolojan, Vladimir. “Transitional Justice and Collective Memory in Taiwan”. China Perspectives (2017): 27-35.

[4] นโยบายการควบคุมกลืนกลายให้เป็นจีนของก๊กมินตั๋ง โปรดดูใน Ketty W. Chen. “Disciplining Taiwan: The Kuomintang’s Methods of Control during the White Terror Era (1947-1987)”. Taiwan International Studies Quarterly 4.4 (2008): 185-210.

[5] พัฒนาการความขัดแย้งทางตัวตนของไต้หวันจนนำไปสู่การก่อตั้งนิตยสาร Formosa โปรดดูใน Fu-chang Wang. “Why Bother about School Textbooks?: An Analysis of the Origin of the Disputes over Renshi Taiwan Textbooks in 1997”. John Makeham and A-chin Hsiau. Cultural, Ethnic, and Political Nationalism in Contemporary Taiwan. New York: PALGRAVE MACMILLAN, 2005. 55-99.

[6] ประวัติศาสตร์และตัวตนความเป็นไต้หวันที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ 228 และความหวาดกลัวสีขาว โปรดดูบทที่ 2 ในวิทยานิพนธ์ “บาดแผลและความทรงจำ : เรื่องเล่าเหตุการณ์ 228 และ ไวต์ เทอร์เรอร์ (White Terror) ในไต้หวัน” http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/79962

รณฤทธิ์ มณีพันธุ์
เป็นนักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่สนใจแวดวงหนังสือ วรรณกรรมศึกษา เรื่องเล่า และการอ่านในสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ และวิดีโอเกม มีความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นเรื่องความทรงจำศึกษาและความทรงจำบาดแผลศึกษา ปัจจุบันเพิ่งจบการศึกษาปริญญาโทด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ ในหัวข้อ ‘บาดแผล และความทรงจำ: เรื่องเล่าเหตุการณ์ 228 และไวต์ เทอร์เรอร์ ในไต้หวัน’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า