สัญญาณความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นอีกครั้ง จากเหตุคาร์บอมบ์ใกล้กับ สภ.ปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 รวมถึงเหตุคาร์บอมบ์ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 บริเวณใกล้บ้านพักนายอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส สะท้อนถึงความเชื่อมโยงต่อกรณีคดีตากใบ
24 ตุลาคม 2567 หรือ 1 วันก่อนหมดอายุความคดีตากใบ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงขอโทษและแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
“รู้สึกเสียใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหลาย และรัฐบาลตั้งแต่สมัย 20 ปีที่แล้ว ได้ออกมาแสดงความเสียใจและออกมาขอโทษ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการชดเชยจ่ายค่าเยียวยาไปแล้ว”
ความน่าเคลือบแคลงของคดีตากใบ นอกเหนือจากความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับญาติผู้เสียชีวิตแล้ว จนถึงนาทีสุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 14 ราย มาดำเนินคดีได้แม้แต่รายเดียว
หลายภาคส่วนได้พยายามให้ข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกหลากหลายแนวทาง แนวทางแรกที่รัฐบาลต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ การติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย หากสามารถนำผู้ต้องหามาแสดงตัวต่อศาลได้ทันก่อนหมดอายุความก็จะทำให้คดีเดินหน้าต่อไปได้ แต่ในทางปฏิบัติ ตำรวจกลับไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหาได้แม้แต่รายเดียว และถึงแม้จะมีการประสานกับตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) เพื่อขออำนาจจับกุมตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีออกนอกประเทศ แต่กลับไม่มีความคืบหน้า
อีกข้อเสนอที่ภาคประชาชนเรียกร้องคือ ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติออก พ.ร.ก.ขยายอายุความคดีตากใบ อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากการดำเนินคดีของหน่วยงานรัฐเองมีความล่าช้า ขณะที่นายกฯ แพทองธาร ชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้ หลังปรึกษากับสำนักงานคณะการกฤษฎีกาแล้ว ด้วยเหตุผลว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. ตามมาตรา 172 และ 174 อีกทั้งการต่ออายุความเฉพาะคดีนี้ อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคดีอื่นๆ และขัดต่อหลักกฎหมายอาญาสากล
แม้เสียงเรียกร้องของหลายฝ่ายจะพยายามเสนอทางออกให้กับรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าทางออกนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ประชาชนคาดหวังยิ่งกว่าก็คือ การแสดงถึงความมุ่งมั่นจริงจังของรัฐบาลที่จะดำเนินการให้คดีมีความคืบหน้าอย่างถึงที่สุด มิใช่ประวิงเวลาหลีกหนีปัญหาหรือเบี่ยงเบนว่าเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง
ความยุติธรรมตีบตัน ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยเวทีการเมือง
ล่วงเข้าสู่วันสุดท้ายที่คดีตากใบจะต้องสิ้นสุดอายุความ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วันที่ 25 ตุลาคม 2567 รอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ยื่นญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบกรณีการขาดอายุความของคดีตากใบ และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรอมฎอนอภิปรายถึงคดีตากใบที่ใกล้จะหมดอายุความว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลวร้ายลง การที่คดีกำลังจะหมดอายุความโดยที่ไม่มีผู้ต้องหาปรากฏตัวต่อศาลแม้แต่คนเดียว ย่อมหมายถึงกระบวนการยุติธรรมกำลังถูกท้าทายและใกล้ถึงภาวะตีบตัน
“เหตุการณ์ตากใบเป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตไปมากกว่า 7,000 คน และเหตุการณ์ตากใบอยู่ในนั้น แต่เหตุการณ์ตากใบเป็นปมสำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ต้องชำระสะสางอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อที่เราจะสามารถเดินหน้าต่อไปในการสร้างสันติภาพ หาข้อยุติจากความขัดแย้งนี้ เราต้องการทางออกทางการเมือง”
ในอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เคยใช้รัฐสภาในการเปิดเวทีภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2540 ในวันที่ 30 กับ 31 มีนาคม 2548 หรือประมาณ 5 เดือนหลังเหตุการณ์ตากใบ นายกฯ ทักษิณ ได้ให้ทั้ง 2 สภาร่วมอภิปรายปัญหาใหญ่ระดับชาตินี้ ซึ่งรอมฎอนกล่าวถึงความคาดหวังว่า 20 ปีผ่านมา ที่เรายังคงมีมรดกตกค้างที่ต้องคลี่คลายสะสาง จึงอยากเรียกร้องว่าควรต้องใช้พื้นที่แห่งนี้ในการร่วมหาทางออก เพราะความยุติธรรมอาจจะไม่ใช่แค่การดำเนินคดีในชั้นศาลเท่านั้น แต่หมายถึงการเปิดเผยความจริง การเยียวยาฟื้นฟู และการปฏิรูปเชิงสถาบันต่างๆ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการใช้อำนาจรัฐเข่นฆ่าประชาชนอีก
กมธ. สันติภาพชายแดนใต้ เร่งถอดบทเรียนประวัติศาสตร์บาดแผล
จาตุรนต์ ฉายแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อภิปรายต่อเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่นี้ว่า ได้เชิญสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาชี้แจง ซึ่งมีการคาดการณ์จาก สมช. ว่าเหตุการณ์อาจลุกลามบานปลายขึ้นได้ เพราะประชาชนมีความรู้สึกโกรธแค้น จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เข้มข้นมากขึ้น กำชับห้ามซ้อมทรมานผู้ต้องหา ต้องมีการหาทางเยียวยาให้มากกว่าที่เคยทำมา และเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อไป
“แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอ จะต้องมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลทุกเหตุการณ์ สร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย ซึ่งกรรมาธิการยังได้กำชับแม่ทัพภาค 4 ว่าอย่าให้ใครไปคุกคามประชาชนที่ฟ้องคดีตากใบ เพราะได้ทราบมาว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนอ้างว่าไปเยี่ยม ไปพบโจทก์ที่ฟ้องคดีตากใบ ซึ่งดูจะกลายเป็นการคุกคามเสียมากกว่า รวมทั้งกรรมาธิการเราก็เสนอให้ทุกฝ่ายละเว้นความรุนแรง”
พร้อมระบุว่า กมธ. จะเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์นโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากที่ทำกันมาอย่างมาก ส่วนจะเป็นที่ยอมรับแค่ไหนอย่างไร จาตุรนต์กล่าวว่าคงต้องดูกันต่อไป
ทางด้าน ทวี สอดส่อง สส. พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า เหตุการณ์ตากใบไม่เพียงกระทบความรู้สึกของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลพยายามจะส่งเสริมตำรวจและหน่วยงานทางความมั่นคงติดตามจับกุมผู้กระทำผิด เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ทันเวลาอายุความ โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยให้ความช่วยเหลือผู้ถูกออกหมายจับ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องเหตุการณ์ภาคใต้คือ ต้องให้ประชาชนมาเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา ผ่านตัวแทนประชาชนอย่าง สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาผลกระทบหรือเหตุการณ์กรณีคดีที่ขาดอายุความ ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรมที่พี่น้องประชาชนเห็นได้ชัดเจน เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ควรร่วมกันทำให้เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการเยียวยาจิตใจ และจิตวิญญาณของคนที่ต้องการความยุติธรรม
“เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเรียนว่าเป็นพลวัตในการแก้ปัญหา ในตลอดกว่า 20 ปี ทุกภาคส่วนโหยหาทางออกจากไฟใต้ วันนี้เราเชื่อว่าเราพบทางออกแล้ว แต่เรายังไม่มีข้อยุติในการแก้ปัญหา ข้อยุติในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าผมสรุปสั้นๆ สักหนึ่งประโยคก็คือ การส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ทวี กล่าว
ทวี สอดส่อง ยังกล่าวด้วยว่า หากสังคมใดขาดความยุติธรรม สังคมนั้นจะมีความแตกแยก ไม่ใช่เฉพาะคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมที่จะอยู่ไม่ได้ แต่ผู้มีอำนาจก็จะอยู่ไม่ได้ด้วยเช่นกัน