ความเจ็บปวดไม่มีอายุความ: คดีตากใบ ใครรับผิดชอบ

การสังหารหมู่ประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นประวัติศาสตร์เลือดที่ไม่ว่าจะเกิดกี่ครั้งผู้กระทำผิดก็มักจะลอยนวล เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ตากใบ ในวันที่คดีใกล้จะหมดอายุความ จำเลยทั้งหมดไม่มาปรากฏตัวต่อศาล ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถดำเนินต่อได้

“แต่ความเจ็บปวดมันไม่มีอายุความครับ” เสียงจากน้องชายผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบกล่าวในวงสนทนา

คำถามคือรัฐกระตือรือร้นเพียงใดในการทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ และจริงใจเพียงใดในการเอาคนผิดมารับโทษ 2 ทศวรรษที่ผานมา มีเพียงความสูญเสียที่รอคอยการชำระ

วงเสวนา ‘คดีอาญาตากใบขาดอายุความ ความรับผิดชอบใคร จะดำเนินคดีต่อได้หรือไม่’ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 พูดคุยกันท่ามกลางบรรยากาศที่คดีใกล้หมดอายุความในอีกไม่กี่วัน ร่วมเสวนาโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความในคดีตากใบ ศูนย์ทนายความมุสลิม สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการ นักนิติศาสตร์สากล พร้อมด้วยญาติผู้เสียชีวิตในคดีตากใบ

ดิ้นสุดกำลังในเวลาเพียงน้อยนิด

การพูดคุยของบรรดานักนิติศาสตร์ในวงนี้มี ‘อายุความ’ เป็นใจความสำคัญ ทำให้เกิดคำถามที่ว่าหากคดีขาดอายุความจะทำอย่างไรได้อีกบ้าง 

รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า การใช้อำนาจของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเสมอ แต่หลายครั้งหลายหนที่รัฐละเลยสิ่งนี้อย่างร้ายแรง จึงมีการตรากฎหมายฉบับใหม่เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไทย คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังกับกรณีตากใบได้

ในกรณีตากใบ อัยการเห็นควรสั่งฟ้องในข้อหาฆ่าคนตายหรือทำร้ายทำให้ถึงแก่ความตาย เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีอาญาผู้กระทำความผิดไปแล้ว แต่ผู้กระทำความผิดกลับลาไปต่างประเทศในระยะเวลาที่ใกล้จะหมดอายุความ นี่คือสิ่งที่ รศ.ดร.ปกป้อง ตั้งต้นเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขเฉพาะหน้าและระยะยาว

กระบวนการยุติธรรมมีหลักการว่า ความผิดอาญามีอายุความยาวนานที่สุดคือ 20 ปี ซึ่งมี 2 เงื่อนไขประกอบกัน ได้แก่ คำสั่งฟ้องของอัยการ และผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาล ซึ่งในคดีนี้แม้มีคำสั่งฟ้องของอัยการแล้ว แต่ผู้ต้องหาไม่มาปรากฏตัว ขณะที่อายุความยังคงนับอยู่ สิ่งนี้กลายเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำความผิดสามารถหลบเลี่ยงได้

รศ.ดร.ปกป้อง ชี้ชวนให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนับอายุความในต่างประเทศที่เป็นระบบสากล โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ระบบหลักๆ

หนึ่ง – ระบบที่มีอายุความทุกฐานความผิด เช่น ประเทศในยุโรปอย่างฝรั่งเศส ซึ่งเหตุผลของการกำหนดให้มีอายุความ เพื่อเร่งรัดกระบวนการยุติธรรม ให้หลักฐานไม่สูญหาย หรือถ้าปล่อยให้นานไปคนก็จะลืมเลือน

ข้อสังเกตในกฎหมายฝรั่งเศสคือ แม้ว่าคดีจะมีการนับอายุความ แต่การนับนั้นสามารถ ‘สะดุดหยุดลง’ ได้เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง และให้เริ่มนับใหม่ เมื่อพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ อายุความก็ต้องหยุดลงและเริ่มนับใหม่ใหม่ ผลคืออายุความในกฎหมายฝรั่งเศสจะหยุดทุกครั้งเมื่อมีการดำเนินคดีในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่ไม่มีการสะดุดหยุดลง แต่นับไปเรื่อยๆ โดยจะหยุดแค่กรณีเดียวคือ มีคำสั่งฟ้องและมีตัวผู้ต้องหา

สอง – ระบบที่ไม่มีอายุความในคดีร้ายแรง แม้เกิดการฆาตกรรมมาแล้ว 30-40 ปี ถ้ารวบรวมหลักฐานได้ หรือจับผู้ต้องหาได้เมื่อไรก็สามารถดำเนินคดีต่อได้ 

ทั้งสองระบบมีสิ่งที่ตรงกันคือ ‘ความผิดอาญาร้ายแรงสูงสุด 4 ฐานความผิด’ จะต้องไม่มีอายุความ ได้แก่

  1. ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์
  2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
  3. อาชญากรรมสงคราม
  4. อาชญากรรมรุกราน

“ในอนาคตถ้าเราไม่อยากเห็นผู้กระทำผิดร้ายแรงอาศัยช่องว่างทางอายุความหลบหนีไปต่างประเทศ พอคดีหมดอายุความแล้วก็กลับมา ผมว่าข้อเสนอหนึ่งที่เป็นไปได้คือต้องแก้กฎหมายว่าทำอย่างไรให้อายุความสะดุดหยุดลงได้บ้าง” รศ.ดร.ปกป้อง กล่าว

สำหรับแนวทางในคดีตากใบอาจมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ก็ต้องดิ้นให้สุดแรง เพราะเป็นไปได้ค่อนข้างยากด้วยกรอบเวลาที่เหลืออยู่ 

“ภายใน 25 ตุลาคมนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการต้องร่วมมือกัน ท่านต้องออกกฎหมายว่าหากผู้ต้องหาหลบหนี ต้องไม่นับอายุความ และศาลฎีกาต้องเปลี่ยนแนวคำพิพากษา”

การออก พ.ร.ก. ให้ทันก่อนคดีขาดอายุความเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่อาจจะทำได้เร็วที่สุดในตอนนี้ รศ.ดร.ปกป้อง เน้นย้ำว่าศาลฎีกาต้องเปลี่ยนแนวคำพิพากษา ซึ่งตามหลักสากลแล้วสามารถบังคับใช้ได้หากคดีนั้นยังไม่ขาดอายุความ

ทางด้าน รศ.ดร.ปริญญา มีข้อเสนอ 2 ประเด็น คือเรื่องเฉพาะหน้า ต้องช่วยกันติดตามและทวงถามรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรในเวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดนี้ 

“ถ้าลองเปรียบเทียบกับคดี The Icon ตำรวจไทยเก่งจะตาย จะจับยังไงก็จับได้ ถ้าจะจับ”

อีกประเด็นคือ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันแก้ไขกฎหมายเรื่องอายุความ เพราะสันติภาพกับความยุติธรรมย่อมมาคู่กันเสมอ ระบบยุติธรรมมีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง ถ้าไม่มีความยุติธรรม สันติภาพก็ยากที่จะเกิด

อีกประเด็นสำคัญคือรัฐต้องทำให้ความจริงปรากฏ รศ.ดร.ปริญญา เสนอต่อว่า หากคดีหมดอายุความไปโดยที่ไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิด ควรเปิดให้มีเวทีไต่สวนสาธารณะ เพื่อทำความจริงให้ประจักษ์ และขั้นต่ำที่สุดคือรัฐต้องขอโทษประชาชน ขอโทษที่รัฐบาลล้มเหลว ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้ความยุติธรรมบังเกิดได้

ฟ้องศาลโลก

สัณหวรรณให้ข้อมูลว่า การแก้ปัญหากรณีผู้ต้องหาไม่มาขึ้นศาล มีอยู่ 2 แนวทาง ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ผูกพันกับไทย

หนึ่ง – แก้กฎหมายให้ไม่มีอายุความในความผิดบางกรณี ซึ่งมีอยู่ 5 กรณี โดยเพิ่มจากที่ รศ.ดร.ปกป้อง นำเสนอไปแล้ว ได้แก่

  1. ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์
  2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
  3. อาชญากรรมสงคราม
  4. อาชญากรรมรุกราน
  5. ความผิดฐานทรมาน

ทั้งยังมีแนวทางใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกา คือเพิ่มกรณีที่รัฐเป็นผู้ต้องสงสัยเข้าไปด้วย

สอง – การหยุดนับอายุความ เช่น คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนของอเมริกา ระบุว่าไม่ควรใช้อายุความในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมเนิ่นนานล่าช้าจากฝั่งของรัฐเอง

นอกจากนี้ยังสามารถใช้กลไกนอกประเทศอย่างศาลโลกหรือศาลอาญาต่างประเทศได้ แต่การจะฟ้องศาลโลกต้องมีประเทศอื่นยื่นเรื่อง อย่างเช่นกรณีเมียนมาที่ไม่สามารถจัดการปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาได้ ทำให้ต่างประเทศต้องไปร้องต่อศาลโลกว่าการจัดการของเมียนมาไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

ความจริงจากทนาย

ทนายอับดุลกอฮาร์ ในฐานะที่เป็นทนายความให้กับคดีนี้กล่าวว่า ตากใบเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

“ผมเองในฐานะที่ทำงานอยู่ในพื้นที่มา 20 ปี สิ่งที่ผมเห็นคือกลไกของกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมในพื้นที่ได้”

ทนายอับดุลกอฮาร์ยกตัวอย่างคดีไต่สวนการตาย ไม่ใช่เฉพาะกรณีตากใบ มีหลายครั้งที่มีการไต่สวนเกิดขึ้น แต่ผู้กระทำความผิดกลับลอยนวลได้ ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

คดีไต่สวนการตายในกรณีตากใบ ไต่สวนเสร็จตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งจะต้องส่งสำนวนคืนไปยังพนักงานอัยการ และคืนไปยังพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับสำนวนคืนจากศาลแล้วจะต้องพิจารณาว่าในเหตุการณ์การตายที่เกิดขึ้นมีการกระทำผิดทางอาญาหรือไม่ 

“ถ้ามีการกระทำความผิดอาญาต้องเดินหน้าไปเลย หมายความว่า ต้องหาตัวผู้กระทำความผิดที่ทำให้คนตาย โดยแจ้งข้อหาและดำเนินคดี แต่คดีที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่า ‘ปฏิบัติราชการตามหน้าที่’ มันมีเกราะคุ้มกันในเรื่องการไต่สวนการตาย และพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า การตายในเหตุการณ์ตากใบไม่ได้เป็นผลแห่งการกระทำความผิดอาญา” ทนายอับดุลกอฮาร์กล่าว

เมื่อคดีไม่มีความคืบหน้า ญาติจึงรวมกลุ่มฟ้องในปี 2566 ก่อนที่คดีจะขาดอายุความในอีก 1 ปี สำหรับเรื่องนี้ทนายอับดุลกอฮาร์เน้นย้ำว่า ไม่เกี่ยวกับเงินเยียวยา แต่คือการทวงถามให้เปิดเผยความจริง

ทนายอับดุลกอฮาร์เล่าต่อว่า ตนเองเคยเป็นคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีการตาย แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้กระทั่งจะเรียกสำนวนคดีมาดูก็ยังทำไม่ได้เลย

ปากคำจากญาติผู้เสียชีวิต

“ผมอยากเล่านิทานความเจ็บปวดที่เป็นจริง ตลอดระยะเวลา 20 ปี ไม่สามารถจับผู้กระทำความผิดได้ ผมในนามญาติผู้เสียชีวิตต้องการส่งเสียงสะท้อนและหาความยุติธรรมให้กับคนที่เสียชีวิตไป 85 ศพ มันคือความเจ็บปวดของญาติผู้เสียชีวิต ที่รอคอยความยุติธรรมกว่า 20 ปี”

น้องชายของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเจือปนความเจ็บปวด ระบุต่อว่าญาติเพียงแค่ต้องการให้ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างน้อยๆ ให้ได้รับรู้สาเหตุการเสียชีวิตที่มากไปกว่า ‘ขาดอากาศหายใจ’ 

“ศพทุกศพ เฉพาะคนในหมู่บ้านของผมคอหักหมด รัฐเคยออกมาแถลงบ้างไหมว่าโดนอะไร ทำไมถึงถูกกระทำเหมือนไม่ใช่คน หรือว่าพวกเราเป็นคนมลายู หรือคุณคิดว่าทำเขาเสียชีวิตแล้วจ่ายก็จบ เราต้องการควายุติธรรม ต้องการให้หาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ”

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า