การงานของ ทองเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์นักปลูกป่า

ก่อนจะได้รับยกย่องกล่าวขานเป็นปราชญ์เกษตรพอเพียงอย่างทุกวันนี้ ทองเลี่ยม บุตรจันทา หรือ ‘พ่อเลี่ยม’ เคยเป็นบุคคลต้นเรื่องของโฆษณาโทรทัศน์อันลือลั่น ชุด ‘จน เครียด กินเหล้า’ เมื่อปี 2549 วัยหนุ่มเคยเป็นนักดื่มระดับตำนานประจำหมู่บ้าน ผ่านประสบการณ์เหลวแหลกมาไม่น้อย

จนวันหนึ่งชีวิตมาถึงจุดพลิกผัน สิ่งมอมเมาและอบายมุขทั้งหลาย ทั้งเหล้า หวย การพนัน ได้ห่างหายไปจากชีวิตพ่อเลี่ยม คงเหลือเพียงสิ่งเดียวที่ยังคงอยู่ไม่แปรเปลี่ยนคือ อาชีพเกษตรกร

พ่อเลี่ยมเป็นเกษตรกรเต็มขั้น งานหลักคือทำนา ปลูกข้าว ปลูกผัก และที่เพิ่มเติมคือปลูกป่า

ตั้งแต่ปี 2542 ผมตั้งปณิธานไว้ว่า จะปลูกต้นไม้ให้ได้วันละ 3 ต้น เหมือนกินข้าววันละ 3 มื้อ

หากในหนึ่งปีเรากินข้าว 1,095 มื้อ พ่อเลี่ยมก็จะปลูกต้นไม้ให้ได้ปีละ 1,095 ต้นเป็นอย่างน้อย และทำเช่นนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542 รวมถึงปลูกล่วงหน้าไปแล้วอีก 10 ปี ไม่เพียงแค่ปลูกป่าในพื้นที่เรือกสวนไร่นาของตัวเอง หากมีโอกาสได้รับเชิญไปบรรยายแลกเปลี่ยนเมื่อไหร่ หรือมีงานบุญทอดผ้าป่าต้นไม้ที่วัดไหน พ่อเลี่ยมก็จะเดินทางไปช่วยปลูกต้นไม้ในทุกๆ ที่ที่เยี่ยมเยือน

ถามว่าปลูกป่าเป็นเรื่องยากแค่ไหน? พ่อเลี่ยมตอบทันที “ไม่ยากเลยๆ (หัวเราะ) ลองสังเกตนกสิ ไม่เห็นมันต้องถือจอบถือเสียม มันก็ยังปลูกต้นไม้ได้”

เขาบอกเคล็ดลับด้วยว่า “หลักการง่ายมาก ถ้าตุ้มใหญ่ก็ขุดหลุมใหญ่ ถ้าตุ้มเล็กก็ขุดหลุมเล็ก พอขุดแล้วก็เอาต้นไม้ใส่ เริ่มต้นง่ายๆ แค่นี้ เดี๋ยวมันก็โตเอง (หัวเราะ)

“แต่ถ้าจะปลูกป่าให้เป็นป่าจริงๆ ต้องดูช่วงจังหวะเวลา ผมทดลองมาด้วยตัวเองแล้วว่า ฤดูกาลปลูกต้นไม้ที่ดีที่สุดในประเทศไทยคือ ต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงกรกฎาคม แต่ถ้าเลยไปถึงปลายฤดูฝนแล้ว ปลูกยาก”

ปัญหาคือ ปลูกแล้วไม่มีคนคอยดูแล? “ไม่ต้องดูหรอก ปลูกแล้วก็หันหลังให้เลย เดี๋ยวมันโตเอง แค่ดูว่าดินตรงนั้นพอจะมีความชื้นไหม มีน้ำไหม ถ้าขุดดินได้ก็แสดงว่าดินมีความชื้นอยู่ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ดูอย่างนก ไม่เห็นมันต้องดูแลอะไร ต้นไม้ก็โตเอง”

คำบอกเล่าของพ่อเลี่ยมฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายที่เข้าใจยาก แต่เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา เขาได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยประสบการณ์และสองมือ ดังเช่นที่ ‘บ้านสวนออนซอน’ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา สวนป่าผสมผสานของพ่อเลี่ยมที่ร่มครึ้มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ทั้งไม้ผล ไม้ล้มลุก ไม้คลุมดิน ไม้ยืนต้น จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาแนวทางการทำเกษตรแบบยั่งยืน

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น เดิมทีพ่อเลี่ยมเคยมีวิถีชีวิตไม่ต่างไปจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งต้องประสบปัญหาหนี้สิน ค่าปุ๋ย ค่ายา และหนี้เงินกู้ที่พอกพูน จนต้องขายที่ดินที่บ้านเกิดจังหวัดบุรีรัมย์ แล้วอพยพครอบครัวมาอยู่ฉะเชิงเทราเพื่อตั้งหลักชีวิตใหม่

วันหนึ่งถูกชักชวนให้เข้าร่วมอบรมสัมมนากับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์ชาวบ้านผู้บุกเบิกวนเกษตรแห่งฉะเชิงเทรา ทำให้พ่อเลี่ยมได้หันกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง

“ผู้ใหญ่วิบูลย์ถือเป็นอาจารย์ปู่ของผมเลย เมื่อก่อนเราไม่รู้จักพืชพรรณอะไรมากมาย เราก็แวะไปหาพ่อผู้ใหญ่ ไปถาม ไปขอความรู้ เพราะสวนของแกมีพันธุ์ไม้หลากหลาย ก็ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เราได้ บางอย่างท่านก็บอก ท่านก็แนะ แต่บางอย่างเราต้องไปค้นหาวิธีการเอาเอง”

การสั่งสมความรู้ในการทำเกษตรของพ่อเลี่ยมมาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยน สอบถามผู้รู้ อ่านหนังสือ แต่เหนืออื่นใดคือ การลงมือทำด้วยตัวเอง

บทเรียนบทแรกที่พ่อเลี่ยมเรียนรู้คือ การทำบันทึกรายรับรายจ่ายครัวเรือน เมื่อตัวเลขเหล่านั้นสะท้อนภาพความเป็นจริง จึงนำไปสู่การลด ละ เลิกอบายมุข และหันกลับมาสู่วิถีการพึ่งพาตนเอง เริ่มจากการปลูกพืชผักที่เป็นอาหารในชีวิตประจำวันเพื่อลดรายจ่าย อย่างที่พ่อเลี่ยมบอกไว้ว่า “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก”

หลังปลูกพืชผักสวนครัวจนเกิดความชำนาญ ทำให้รู้จักพืชผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดมากขึ้น และสามารถตอบโจทย์ข้อแรกในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ เมื่อผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคแล้ว ที่เหลือจึงค่อยจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งแชมพู สบู่ สมุนไพร รวมถึงทำปุ๋ยไว้ใช้เอง

ช่วงปี 2542 หลังจากตั้งหลักชีวิตใหม่ด้วยการพึ่งพาตนเองได้แล้ว วันหนึ่งพ่อเลี่ยมหวนนึกถึงแนวพระราชดำรัส ‘ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’ ที่เขาเชื่อว่าจะเป็นทางออกไปสู่ความยั่งยืนในยามแก่เฒ่าได้

ตอนปลูกผักปลูกพืชล้มลุกพวกนี้มันต้องใช้แรง ต้องถางหญ้า ต้องหาบน้ำรดผักทุกวัน ทำให้นึกไปถึงว่า ถ้าวันหนึ่งเราแก่ตัวลงจะอยู่อย่างไร เราเป็นเกษตรกร ไม่ใช่ข้าราชการ จะเอาบำนาญจากไหนมาเลี้ยงตัวเองตอนแก่ ผมเลยนึกไปถึง ‘ต้นไม้’ ว่าเป็นสิ่งที่น่าจะตอบโจทย์บำนาญชีวิตได้

“ก่อนหน้านี้ผมเคยฟังผู้ใหญ่วิบูลย์ ดร.สุเมธ (ตันติเวชกุล) อาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ท่านพูดถึงแนวพระราชดำรัสในหลวงเรื่องปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ จากนั้นก็ลงมือทำ พอลงมือทำแล้วก็พบว่าแนวทางนี้แหละที่ตอบโจทย์ชีวิตในบั้นปลายได้”

หากถามว่าเหตุใดเกษตรกรส่วนใหญ่จึงยากจน พ่อเลี่ยมให้คำตอบว่า “เพราะเขาปลูกเพื่อขาย ปลูกเพื่อเอาเงินมาซื้อข้าวกิน ซึ่งมันกลับหัวกลับหาง ถ้าทำแบบนี้ยังไงก็ไม่พอ ยังไงก็เป็นหนี้ ฉะนั้น ต้องปลูกเพื่อกินเองก่อน ที่เหลือค่อยเอาไปขาย”

ตัวแปรสำคัญอีกอย่างคือ การใช้สารเคมี ในอดีตนั้นพ่อเลี่ยมเองก็เคยใช้สารเคมีเมื่อครั้งปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะต้องการให้ได้ผลผลิตในปริมาณมาก แต่ผลพวงที่ตามมากลับกลายเป็นหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ ลุกลามไปถึงปัญหาครอบครัว

พอเราปลูกกินเองก็ทำให้เลิกใช้สารเคมีไปเลย เพราะเราต้องกินเองใช้เอง พอเลิกใช้ สุขภาพก็ดีขึ้น ไม่มีหนี้เพิ่ม ครอบครัวก็อบอุ่น”

สำหรับพ่อเลี่ยม อาชีพเกษตรกรเป็นคำยิ่งใหญ่สำหรับเขาเสมอ

“เกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมั่นคงด้วย ถ้ารู้จักทำเป็น ถามว่ารวยไหม ไม่รู้ เพียงแต่ตื่นขึ้นมามีอาหารกินครบ 3 มื้อ มีกิน มีใช้ มีหลักประกันในชีวิต”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า