การงานของ อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์: คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือนจากปากคำของนักเขียน

เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่น ได้รับรางวัลการประกวด Young Thai Artist Award ครั้งที่ 3 ในปี 2549 ตามด้วยรางวัลใหญ่ เซเว่นบุ๊คอะวอร์ด ปี 2551 และรางวัลหนังสือดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในปี 2552

เหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถเรียก อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ ได้ว่า ‘นักเขียน’

แต่ชีวิตจริงกลับไม่ง่ายแบบนั้น จาก เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่น ผลงานสร้างชื่อ ปี 2555 อดิศรมีผลงานรวมเรื่องสั้น อนาคต กับสำนักพิมพ์มติชน จากนั้นเขาก็เงียบหายไป

และหายไปอยู่ในโลกของชีวิตจริง ที่ไม่ใช่ ‘นักเขียน’ ในฐานะผู้มีอาชีพการงานเป็น ‘มนุษย์เงินเดือน’

ราวห้าปี อดิศรเข้าๆ ออกๆ จากองค์กรสู่อีกองค์กร มีชีวิตในฐานะพนักงาน เป็นชายหนุ่มในระบบที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เขาคือชายหนุ่มผู้หยิบยืมถ้อยคำในอากาศมาโปรยลงแป้นพิมพ์ออกมาเป็นนวนิยาย คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน ผลงานเล่มล่าสุด แต่หัวข้อที่จะสนทนากับอดิศรไม่ใช่ คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน ประเด็นที่เราสนใจอยู่ในขอบข่ายของนิยาม กับการจัดสรรความรู้สึก คุณค่าของการทำงาน ระหว่างงานประจำ ‘มนุษย์เงินเดือน’ กับงานที่เขารัก ‘นักเขียน’

นี่คือคำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน ในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง

ปัจจุบันคุณทำงานอะไร

ผมทำงานแผนกวิจัยการตลาดอยู่ที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง โดยหลักๆ จะเป็นการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามกับกลุ่มลูกค้า เพื่อเข้าใจถึงมุมมองที่มีต่อแบรนด์ของบริษัทและคู่แข่ง นำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลข้อมูลอะไรแบบนั้นแหละครับ

ในบทบาทนักเขียน คุณมีผลงานเล่มใหม่ที่ชื่อ คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน ทำไมถึงอยากเขียนเรื่องนี้

ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เงินเดือนคือรูปแบบชีวิตที่ผมรู้จักดี ทำงานวันละไม่ต่ำกว่าแปดชั่วโมง ห้าวันต่อสัปดาห์ ทำอย่างนี้แปดเก้าปีแล้ว ย้ายที่ทำงานมาก็หลายครั้ง เติบโตในสายงานพอประมาณ สิ่งหนึ่งที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับมันมานานขนาดนี้ จะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจหรือมุ่งมั่นอะไรกับมันคงเป็นไปไม่ได้หรอก อย่าว่าแต่ถ้าผมไม่ตั้งใจหรือพยายามทำ โดยลักษณะของบริษัทที่มีเป้าหมายทางธุรกิจ ก็จะมีกลไกเค้นเอาผลงานจากผมไปจนได้นั่นแหละ

ถึงผมรู้จักชีวิตแบบนี้ ก็อาจไม่ได้มีประเด็นเขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา จริงๆ มันมีสิ่งจุดประกายจากชีวิตผมในปีหนึ่ง เป็นปีที่ย่ำแย่พอสมควรครับ เกือบทุกๆ ด้านเลย มันเกือบๆ เหมือนต้องกลับมาทำความเข้าใจชีวิตตัวเองใหม่ ครุ่นคิดถึงอะไรต่างๆ ในชีวิต อยากเขียนถึง

แต่ด้วยความที่ผมเป็นนักเขียนเรื่องแต่ง มันจะมีความคิดอยากแต่งโน่นนี่เข้ามาตลอดอยู่แล้ว รวมทั้งจริงๆ แล้วเรื่องราวทั้งหมดนั่นก็เป็นเพียงความจริงผ่านมุมมองของผมอยู่แล้วด้วย มันไม่ใช่ความจริงแบบที่เป็นจริง ทีนี้ก็เลยคิดว่ามันมีอะไรน่าสนใจอยู่เหมือนกัน น่าเอามาใช้เป็นสารตั้งต้น น่าจะเขียนออกมาเป็นนวนิยายได้

การเขียนตอบโจทย์อะไรในชีวิต

ต้องบอกว่าชีวิตมนุษย์เงินเดือนตอบโจทย์เรื่องความเป็นอยู่ มีรายได้เลี้ยงชีพแบบที่ไม่มีปัญหา ซึ่งผมก็แลกมันมาด้วยวันและเวลากับแรงงาน แต่มันไม่เคยตอบโจทย์ความสำเร็จในใจให้กับตัวเอง เป็นเหมือนแค่งานที่ผมทำได้ แต่ไม่ได้มีความภาคภูมิใจอะไรเป็นพิเศษ แต่ผมต้องทำนะ เพราะต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเอง เป็นที่พึ่งให้กับที่บ้านได้บ้าง

แต่กับการเขียนต่างออกไปครับ มันเป็นสิ่งที่อยู่ในใจผมมาตลอด อ่านหนังสือมาตลอดตั้งแต่ที่รู้ตัวเองว่าชอบทางนี้ ฝึกเขียนมาเรื่อยๆ เขียนบางบทตอนได้ดีก็รู้สึกดีกับตัวเองแล้ว เวลาได้ตีพิมพ์ก็รู้สึกดีใจแบบที่ไม่มีอะไรในงานประจำเทียบได้

จริงๆ เคยตั้งใจจะเขียนหนังสือเป็นอาชีพ แต่มีข้อจำกัดที่ต้องยอมรับ มีช่วงที่ได้ทดลองทำเหมือนกัน ช่วงที่ตกงานประมาณครึ่งปี หรือช่วงระหว่างเรียน ป.โท แต่ก็รู้ตัวว่าผมเองเขียนงานที่มีมาตรฐานได้ไม่ต่อเนื่องขนาดนั้น เขียนงานได้ไม่มาก ไม่ต้องพูดถึงว่าโดยแนวการเขียนของผมเองก็ไม่ใช่กระแสหลักอยู่แล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาจึงไม่ได้เพียงพอกับการใช้ชีวิต แต่ถึงอย่างไรก็อยากเขียน มันตอบโจทย์ทางใจ เหมือนคนที่เสพติด

กับคนอื่นอาจตอบได้ง่ายหน่อย แต่คุณมีงานที่ตอบสนองทั้งจิตวิญญาณและชีวิตสองด้านแบบนี้ ดีลกับมันอย่างไร

โชคดีหน่อยที่ผมชอบงานเขียนครับ เป็นงานที่เมื่อถึงเวลาลงมือทำจริงๆ มันใช้เวลาไม่ได้มากขนาดนั้น เรื่องสั้นบางเรื่องอาจเขียนจบได้ในเวลาสักสองถึงสามชั่วโมง ทยอยเขียนตามเวลาว่างวันหยุด แต่วันธรรมดาไม่ต้องพูดถึงนะครับ ทำงานประจำ กลับบ้านก็หมดแรงทำอะไรแล้ว แต่ด้วยการเขียนในวันหยุด สักครึ่งปีหรือปีหนึ่งก็อาจมีชิ้นงานเป็นเล่มได้ ไม่ได้แปลว่ามันง่ายหรือเขียนสั่งได้อะไรนะครับ ไม่เคยง่าย และก็ไม่เคยเขียนแบบสั่งได้ มันมีระยะเวลาสะสมและบ่มเพาะไอเดียอยู่ ซึ่งผมก็ควบคุมได้ยาก ไม่แน่นอนว่าจะนานแค่ไหน กว่าจะมีสิ่งตั้งต้นจุดประกายให้เขียน แต่ถ้านานแล้วที่ไม่ได้เขียนเลย ผมอาจพยายามเร่งมัน โดยการไปนั่งหน้าคอมพิวเตอร์พยายามพิมพ์อะไรลงไปบ้างตามแต่จะนึกออกตอนนั้น พยายามคิดฟุ้งๆ จับนั่นโยงนี่ ซึ่งก็ได้ผลบ้างบางครั้ง

รวมๆ ก็นั่นแหละครับ มันมีเวลาที่ทิ้งช่วงอยู่ ระหว่างนั้นผมก็จะทำงานประจำไปเรื่อยๆ มันก็ตอบโจทย์ได้ดีทั้งสองส่วน แต่ก็คงต้องยอมรับเหมือนกัน ว่าการทำงานเขียนลักษณะนี้อาจไม่ได้ทำให้ชิ้นงานออกมาได้สม่ำเสมอมาก แต่ด้วยอะไรต่างๆ เวลานี้ผมทำได้อยู่ประมาณนี้

พอจะบอกได้ไหม ความสุขในชีวิตการงานคืออะไร

ความสุขในชีวิตคงเป็นความสมดุล ไม่ใช่แค่ด้านใดด้านหนึ่งดีอยู่เพียงด้านเดียว แต่ด้านอื่นแย่ มันคงจะอยู่อย่างมีความสุขได้ยาก เขียนหนังสือมีความสุขมากเลย แต่ถ้ายังต้องกังวลเรื่องความเป็นอยู่ตลอด คงไม่สนุกเท่าไร ถ้าทำแต่งานประจำอย่างเดียว ทิ้งการเขียนไปเลย คงอยู่อย่างซึมๆ หน่อย แบบนั้นก็ไม่ได้ มันคงต้องอยู่อย่างมีชีวิต แล้วก็ยังมีด้านอื่นๆ อีก สุขภาพ การเงิน ครอบครัว ก็ต้องดูแล แล้วในความสมดุลพอดี ทั้งหมดก็คือความสุขสำหรับผมครับ

วันหนึ่งข้างหน้า ถ้าการทำงานประจำเอาเวลาไปหมดจะทำอย่างไร

ถ้าถึงวันนั้นจริงๆ ผมคิดว่าตัวเองคงประเมินว่าภาวะนั้นจะอยู่ชั่วคราวหรือถาวร ถ้าชั่วคราวคงถามตัวเองว่าทนได้ไหม ถ้าถาวรคงต้องประเมินทางเลือก หรือถ้าชั่วคราว แต่ทนรอไม่ไหว ก็คงต้องประเมินทางเลือกเหมือนกัน มีทางเลือกไหนบ้างที่จะยังคงทำงานเขียนได้อยู่ ถ้าจำเป็น อาจต้องย้ายงานใหม่ เพื่อให้ตัวเองมีเวลามากขึ้น งานที่ผ่อนยืดหยุ่นให้กับผมมากกว่า หรือการเติบโตในหน้าที่การงาน ต้องยอมแล้วหรือเปล่าว่าไม่โตไปกว่านี้ หรือกระทั่งถอยลงมา เงินเดือนก็คงไม่สูงไปกว่านี้สักเท่าไรแล้ว แต่ก็จะได้มีเวลาเขียนอย่างที่อยากทำอยู่

มันคงฟังดูใจไม่สู้นักสำหรับความเป็นพนักงาน แต่ส่วนตัวผมว่าทุกคนที่ทำงานก็ประเมินกันอยู่ตลอดเวลา ว่าเราทำงานแล้วสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มไหม ซึ่งคำว่าคุ้มของแต่ละคนต่างกัน เงินไหม หรือเวลา หรือการประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในงานที่ทำอยู่ หรือก็แค่การได้มีรายได้เพียงพอ ชีวิตมีความสุข และมีโอกาสได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักบ้าง และด้านบริษัทเองก็ประเมินอยู่ตลอดเหมือนกันแหละ ว่าจ้างเราแล้วคุ้มไหม อย่างน้อยมันต้องคุ้ม บริษัทถึงจะยังจ้างเราอยู่ ผมยอมแลกเพื่อให้ได้มานะ กับงานประจำก็ทำเต็มที่ แต่การยอมแลกก็มีขอบเขตของมัน คงไม่ใช่การให้เวลาทั้งหมดไป

ถ้าความเป็นนักเขียนกลายเป็นส่วนเกินของการเลี้ยงชีพ?

จริงๆ ในจุดหนึ่งผมก็ยอมรับนะ ว่าถ้าพูดถึงการเลี้ยงชีพ ความเป็นนักเขียนนี่เป็นส่วนเกิน เป็นตัวถ่วงด้วยซ้ำ ถ้าเทียบเงินที่ได้จากการเขียนกับงานประจำแล้วคนละเรื่องกันเลย เทียบกันไม่ได้เลย ไม่รู้ต้องเขียนเรื่องสั้นกี่สิบเรื่องต่อเดือนเพื่อให้ได้เงินเท่าเงินเดือน นั่นสมมุติว่าทุกเรื่องผ่านและดีพอที่จะได้ค่าเรื่อง และมีที่ที่จะตีพิมพ์ให้ตลอดด้วยนะ คือมันเป็นไปไม่ได้เลยจริงๆ

สำหรับผมในการทำให้ได้อย่างนั้น ไม่ได้ตั้งแต่จะให้เขียนปริมาณขนาดนั้นในระยะเวลาแบบนั้นแล้ว แล้วการที่ทำงานประจำ แต่มีฝันอยู่นอกเส้นทางนี่ มากๆ น้อยๆ มันก็ฉุดรั้งผมเหมือนกันให้ไม่สามารถไปได้ไกลเต็มศักยภาพความเป็นมนุษย์เงินเดือน

จริงๆ ในนวนิยาย คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน ผมเขียนประโยคหนึ่งผ่านมุมมองของหัวหน้าแผนก ประโยคที่พูดถึงลูกน้องที่ชอบเขียนหนังสือคนนั้น “และนั่นคือคำสาปที่ติดตัวเขา” เพียงแต่ถึงอย่างไรผมก็ยังอยากเขียนหนังสืออยู่ดี

ถ้าไม่เขียนชีวิตเหมือนขาดสิ่งสำคัญไป มันมีคุณค่าทางใจ ในวันนี้ผมยังจะโอบกอดคำสาปนั้นต่อไปเรื่อยๆ

การที่ไม่ได้ไปเต็มศักยภาพมนุษย์เงินเดือน มันทำให้คุณตั้งคำถามไหม “ฉันทำอะไรอยู่” มันมีมากกว่าการเลี้ยงตัวเองหรือเปล่า

บ้างนะครับ บางวันที่ถามตัวเองว่าทำอะไรอยู่ทุกวันแบบนี้ เพื่อให้มีเงินเท่านั้นเหรอ และก็มีหลายๆ วันที่ไม่มีเวลาถามตัวเองใดๆ แค่เร่งส่งงานออกก็จะไม่ทันแล้ว

หลักๆ แล้วก็เข้าใจ ถึงอย่างไรก็เป็นผมที่เลือกใช้ชีวิตแบบนี้เอง และผมก็ยังต้องพยายามทำมันให้ดี และถึงอย่างไรมันก็คือชีวิตนะ มันก็มีสุขมีทุกข์คละเคล้าปนไปในนั้น ทำงานบางชิ้นเสร็จก็โล่งใจ ถึงไม่ได้ภูมิใจเหลือเกินแบบงานเขียน แต่ก็สบายใจขึ้นที่มันลุล่วง ถูกหัวหน้าว่าด้วยคำพูด สิ่งที่ผมรู้สึกก็อาจติดอยู่ในใจไปเป็นวัน คือก็ไม่ใช่ว่าไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับสิ่งที่ทำ ยังมีความรู้สึกดีแย่ไปกับมัน และเพราะอย่างนั้นผมถึงยังทำงานได้อยู่

แต่ก็นั่นแหละ ถ้าต้องการความภาคภูมิใจจริงๆ ให้กับตัวเอง ก็ยังเป็นงานเขียนอยู่ดี

ในทางกลับกัน คุณเคยคิดจะไปหางานที่เกี่ยวข้องกับการเขียน หรือผลิตงานเขียนในหลากหลายแนวไหม เช่น แนวแมส แนวตลาด ที่สามารถเลี้ยงตัวได้

ผมเคยทำงานบรรณาธิการนวนิยายแปลแนวสืบสวนที่สำนักพิมพ์นะ เป็นงานแรกๆ ในชีวิตการทำงานเลย ตอนเรียนจบใหม่ๆ ดื้อจะทำงานเกี่ยวกับหนังสือให้ได้ เพราะชอบ อยากทำ แต่วุฒิที่ผมจบมานี่ก็สมัครได้ยากมากเลย เพราะมันไม่ตรงสายเลย เรียนบริหารธุรกิจมา สุดท้ายมาได้งานเพราะต้นฉบับรวมเรื่องสั้นประกวดได้รางวัล แล้ววันที่ไปเซ็นสัญญาพิมพ์หนังสือก็ไปของานทำด้วยเลย ทำทีแรกก็ยังไปทำด้านการตลาดอีก ทำไปไม่กี่เดือนก็ทำไม่รอด ด้วยความที่เพิ่งจบไม่นาน ทำงานยังไม่เป็น และมีคนสอนงานน้อย เจ้าของบริษัทก็ยังให้โอกาสย้ายไปทำกองบรรณาธิการ และในที่สุดผมก็ทำงานได้ ได้ทำงานตรงนั้น

ผมอยู่ที่นั่นประมาณสองปี มีความสุขพอสมควร แต่ถึงอย่างไรก็ยังชอบการเขียนเองมากกว่า และเงินเดือนไม่ได้ดีมาก เดือนๆ หนึ่งแทบไม่เหลือเงินเลย ทั้งที่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากมาย มันก็รู้สึกว่าต้องหาทางขยับขยาย ถ้าไปในธุรกิจอื่นเลย มันน่าจะมีเงินเดือนที่มากกว่านี้ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทแล้วย้ายงานไปในแวดวงอื่น

ส่วนการผลิตงานหลากหลายแนว เคยคิดทำนะครับ แต่เขียนอย่างไรก็เขียนไม่ได้ คงเพราะจริงๆ ความสามารถผมก็จำกัดด้วยแหละมั้ง อาจจะอ่านเรื่องแนวอื่นบ้างและก็สนุกกับมันนะ แต่พอถึงเวลาเขียน ผมกลับเขียนได้แนวเดียว การปรับแนวการเขียนสำหรับผมยากครับ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือพอทำงานประจำแล้ว ชีวิตต้องตามอะไรต่อมิอะไรมากพอแล้ว งานเขียนที่อยากทำ ขอให้มันเป็นอย่างที่ตัวเองอยากทำจริงๆ ไม่ต้องฝืนแล้วกัน

เป็นเรื่อง Gen หรือเปล่า ที่คนคิดว่าคนรุ่นอายุ 30-40 ไม่สู้งาน หากเทียบกับรุ่นพ่อรุ่นแม่

ผมว่าเรื่องนี้แน่นอนอยู่แล้วนะ จริงๆ ถ้าแนวคิดของต่างชาติเรื่องการแบ่ง Gen มันก็จริง แล้วมันก็มีแรงผลักดันอื่นๆ อีก เช่น เมื่อก่อนการจ้างงานของบริษัทจะมีแนวคิดเรื่องการจ้างงานตลอดชีวิต ทำเต็มที่ สู้เพื่อบริษัท บริษัทตอบแทนคุณด้วยการจ้างงานไปตลอดชีวิต ให้ความก้าวหน้าบ้างตามความสามารถ Gen X จริงๆ ในกลุ่มที่อายุ 30-40 ปีตอนนี้ก็จะมีสอง Gen กลุ่มที่อายุเกิน 37 ขึ้นไปนี่เป็นกลุ่ม Gen X คติประจำใจคือ work hard play hard ซึ่งแน่นอน ถ้ารุ่นพ่อรุ่นแม่เรามีคติอีกอย่างไปอีก ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน อาจเป็นทำงานหนัก ประหยัดและอดออมหรือเปล่า แต่มี Gen X นี่แหละที่จำได้ เพราะใกล้ๆ ช่วงอายุตัวเอง

แล้วพอกลุ่มช่วงอายุตัวเอง จะเป็น Gen Y จริงๆ คติประจำใจก็เป็น work-life balance อยู่แล้วด้วย ยิ่งมารุ่นหลังจากรุ่นผมไป ก็จะมีคติประจำใจเป็น now oriented หรืออะไรไปแล้ว ความสู้ความอดทนมันก็ยิ่งน้อยลงแต่ละรุ่น แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นเองนะครับ มันมีแรงผลักดันขับเคลื่อนอยู่ อย่างเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการเร็วขึ้น ไม่แปลกเลยที่คนจะใจร้อนขึ้น อดทนน้อยลง และการสู้งานทำงานหนักก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ ความสำเร็จก็มีจำนวนจำกัด คนที่แพ้เยอะกว่าที่ชนะอยู่แล้ว ผมว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของคนในแต่ละ Gen

ถ้าวันใดวันหนึ่งตื่นขึ้นมาพบว่าเขียนไม่ได้ คุณจะบอกตัวเองอย่างไร

มันคงรู้สึกแย่นะครับ ถ้าถึงวันนั้นจริงๆ แต่คิดอีกที ผมไม่ใช่คนที่เขียนหนังสือเป็นอาชีพอยู่แล้ว ไม่ได้เขียนทุกวัน กว่าผมจะรู้ตัวจริงๆ ว่าเขียนไม่ได้คงใช้เวลานานอยู่เหมือนกัน เพราะอย่างปกติถ้าช่วงนี้ไม่ได้เขียนสักสองสามเดือน หรือบางทีเกือบครึ่งปีก็เคยเหมือนกัน ไม่มีเรื่องอยากเขียนถึง ไม่ได้อยากเค้นอะไรเลย รอจนค่อยมีความรู้สึกอยากเขียนกลับมาเอง

ทีนี้ถ้าวันนั้นเกิดขึ้น ไม่มีวันที่กลับมาเขียนได้ ตอนแรกคงแค่อึดอัดๆ ที่ทำไม่ได้ ทิ้งช่วงมานานมากๆ แล้วด้วย ผ่านไปหลายๆ วันที่พยายามเขียนแล้วก็ยังทำไม่ได้ ทีนี้คงเสียใจแล้ว คงเศร้า รู้สึกแย่กับตัวเอง แต่มันก็คงทำอะไรไม่ได้มั้งครับ ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่ไปกับมัน กับความไร้ความสามารถนั้น

แต่ก็ยังหวังให้ตัวเองได้มองงานเขียนที่ผ่านมาของตัวเอง แล้วบอกตัวเองได้ว่าอย่างน้อยเราก็พยายามมาได้ขนาดนี้นะ ทำได้ดีแล้ว ไม่เป็นไรนะ ปลุกปลอบตัวเองไป

ต่อจากนั้นก็คงใช้ชีวิตต่อไปครับ และคงยังอ่านหนังสือต่อไป

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า