ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
20 เมษายน คือวันเกิดของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มนุษย์ที่ไม่อาจมีใครเทียบเคียงได้ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แต่ฮิตเลอร์เป็นมนุษย์ เขาไม่ได้นำสัญลักษณ์พรรคนาซีมาจากครรภ์มารดา นอกจากลักษณะเฉพาะตัว รหัสพันธุกรรม พฤติกรรมของมนุษย์ถูกขึ้นรูปจากแม่พิมพ์ทางสังคม และ ‘ไวมาร์’
สาธารณรัฐไวมาร์ คือเยอรมนีในช่วงปี 1919-1938 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ไวมาร์ คือรูปแบบการปกครองที่เปลี่ยนโฉมไปจากยุคก่อนหน้า หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐที่ได้ชื่อว่า ‘เป็นประชาธิปไตย’ แห่งนี้ มีความน่าสนใจอยู่มากมาย
หลังจมอยู่กับความสนใจไวมาร์จนทำออกมาเป็นเพจบนเฟซบุ๊ค ‘ในไวมาร์เยอรมัน’ มาหลายปี ภาณุ ตรัยเวช นักเขียนวรรณกรรม เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์ และ คดีดาบลาวยาวแดง ผันตัวมารวบรวมประวัติศาสตร์ของเยอรมนีในยุค ‘ไวมาร์’
ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หนังสือที่รวบรวมเกร็ดทางประวัติศาสตร์ ที่ผู้เขียนบอกว่า ลักษณะของหนังสือเล่มนี้คือ “ภาษาอังกฤษเรียกว่า Popular History ซึ่งหนังสือฝรั่งมีอย่างนี้เยอะมาก ประวัติศาสตร์สำหรับให้คนทั่วไปอ่าน โดยที่ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องเป็นนักประวัติศาสตร์ เหมือนที่คนบอกกันว่า เมืองไทยไม่มี Popular Science วิทยาศาสตร์ที่ใช้สื่อสารกับคนทั่วไป”
หลายสิ่งอย่างในสาธารณรัฐไวมาร์คือปัจจัยส่งให้ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ แต่ฮิตเลอร์ไม่ใช่ตัวละครเดียวในสาธารณรัฐไวมาร์ แต่ยังมีชีวิตและเรื่องราวอีกมากมายที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในคาบสมัยประชาธิปไตยที่มีอายุเพียง 14 ปี
1.
หนังสือที่ภาณุให้นิยามว่า เป็น ‘Popular History’ ประวัติศาสตร์อ่านง่าย แต่งานลักษณะนี้ไม่ค่อยมีปรากฏในเมืองไทย ผู้เขียนจึงใช้ทักษะการเขียนมาจัดเรียงกลายเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า เป็นประหนึ่งงานวรรณกรรม มีลักษณะของความเป็นนิยาย เป็นเรื่องสั้น มากกว่าเป็นงานประวัติศาสตร์หรือสารคดี
“รู้สึกว่ามันไม่ใช่งานวิชาการแน่ๆ ถ้าเป็นงานประวัติศาสตร์วิชาการ ก็ต้องมีการตีความ อาจจะมีข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่นี่ไม่ได้มีข้อมูลใหม่ ไม่ได้พยายามนำเสนออะไรที่มันแหวกแนวหรือว่าขยับขยายความเข้าใจทางประวัติศาสตร์มากไปกว่าเดิม”
ประวัติศาสตร์คือการย้อนไปศึกษาอดีต แต่เครื่องย้อนเวลายังไม่ถูกประดิษฐ์ขึ้น และคงไม่มีข้อมูลชั้นต้นจากปากคำของผู้เคยอยู่อาศัยในไวมาร์หลงเหลือ วัตถุดิบสำคัญ ไม่ว่าสำหรับนักประวัติศาสตร์มืออาชีพหรือมือสมัครเล่น ก็คือการค้นข้อมูลชั้นสองที่เคยรวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษรจากหนังสือและตำรา
“ในทุกเรื่องที่เขียนถึง ก็จะมีข้อมูลอ้างอิงมากกว่าหนึ่งแหล่ง จะมีข้อมูลที่ตัดกันอยู่ หรือมาช่วยเสริมกัน อย่างน้อยสองเล่มขึ้นไป ยิ่งถ้าเป็นประเด็นหลักมากๆ อย่างเรื่องฮิตเลอร์ เรื่องทางการเมือง ก็จะพยายามหาข้อมูลให้เยอะที่สุด ไม่ค่อยมีที่อ้างแค่เล่มเดียว”
แต่ภาณุไม่ได้มีพื้นฐานภาษาเยอรมันแบบเต็มร้อย ข้อมูลที่ว่าส่วนใหญ่จึงมาจากภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาเชี่ยวชาญมากกว่า
ฮิตเลอร์ คือภาพจำของสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของสงครามโลกผูกติดกับฮิตเลอร์ สถานีโทรทัศน์ทางเคเบิลบางช่องยังถูกเรียกเป็น ‘Hitler Channel’ ขณะที่ไวมาร์คือฉากหลังขนาดใหญ่ ก่อนที่ฮิตเลอร์จะเริ่มก้าวขึ้นสู่บันไดแห่งอำนาจ
“ตอนแรกก็คิดว่าจะเล่าเรื่องฮิตเลอร์ ที่มาที่ไป แต่เป็นคนชอบอ่านวรรณกรรมเยอรมัน ปรัชญาเยอรมัน ก็ไม่อยากเล่าแค่ทางการเมือง อยากเล่าสังคมและวัฒนธรรมด้วย
“จริงๆ ก็สนใจเยอรมนีในหลายแง่ อย่างนักเขียนที่ชอบก็เป็นเยอรมัน ชอบ โธมัส มานน์ เฮอร์มัน เฮสเส พอเรียนจบก็ได้ไปทำงานที่นั่นหกเดือน ชอบประเทศ ชอบงานปรัชญาเยอรมัน ฟุตบอลก็เชียร์ทีมเยอรมัน ที่ปรึกษาตอนเรียนก็เป็นเยอรมัน มันมีความสนใจตั้งแต่แรก สาเหตุหนึ่งที่คิดว่าเขียนเล่มนี้ได้ เพราะรู้สึกว่าทางด้านวรรณกรรมหรือปรัชญา เราพอมีพื้นอยู่แล้วบ้าง ไม่ถึงกับสิ้นไร้เสียทีเดียว ก็เสริมประวัติศาสตร์เข้ามา ก็รู้สึกว่าเป็นงานที่เราทำได้”
ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่า สาธารณรัฐไวมาร์ คือรูปแบบการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยของเยอรมนี ผู้นำของประเทศถูกเปลี่ยนจากเชื้อพระวงศ์ในระบอบราชาธิปไตย มาสู่ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญ แต่ประวัติศาสตร์ด้านหนึ่งก็บอกว่า ประชาธิปไตยแบบไวมาร์ได้กัดกินตัวมันเองจนเกิดหายนะขึ้นในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ระหว่างทาง 14 ปีของไวมาร์ ก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่แห้งแล้งและเต็มไปด้วยวิกฤติยาวนาน
“หนังสือประวัติศาสตร์เยอรมนีส่วนใหญ่จะมีเซนส์ว่า ไวมาร์เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว ฮิตเลอร์ถึงขึ้นมาครองอำนาจได้ แต่เราอยากจะเล่าอีกด้านหนึ่งว่า จริงๆ แล้วไม่หรอก คนที่อยู่ในไวมาร์ไม่ใช่คนที่อยู่ภายใต้ความยากจนข้นแค้น มีแต่เงินเฟ้อ คนตกงาน จนสุดท้ายก็ต้องไปเลือกฮิตเลอร์ มันไม่ใช่ เราอยากแสดงให้เห็นว่า ไวมาร์มีเสรีภาพเยอะมาก เต็มไปด้วยสีสัน มีงานวิชาการ ดนตรีก้าวหน้า วรรณกรรม ปรัชญาต่างๆ มันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ไม่ได้ด้อยกว่าหรือดีกว่าประชาธิปไตยในปัจจุบัน”
และเรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกนำมาย่อยเป็นส่วนต่างๆ ของหนังสือที่กล่าวถึง ‘ไวมาร์’
2.
สาธารณรัฐไวมาร์เป็นพื้นที่ของชีวิต ดังที่ภาณุบอกไว้ว่า ในยุครุ่งเรือง สังคมไวมาร์เต็มไปด้วยสีสันและผู้คนที่น่าสนใจ
“เพราะตัวเอกของเรื่องมันคือเมือง มันคือประเทศ ที่ชื่อว่า สาธารณรัฐไวมาร์ คนที่เด่นที่สุดในนั้นอาจจะเป็น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือ ไอน์สไตน์ แต่ยิ่งค้นก็ยิ่งพบว่ามีคนน่าสนใจเยอะในทุกวงการ วรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือดนตรี ก็เลยคิดว่า ถ้าจะเล่า ก็อาจจะต้องแยกเป็นส่วนๆ เน้นไปที่ผู้คนเหล่านั้น เพื่อสร้างภาพของสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น”
ทฤษฎีสัมพัทธภาพ คือสมการเอกของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และไอน์สไตน์ ก็คือตัวละครเอกตัวหนึ่งในสังคมไวมาร์ ซึ่งมีความคล้องจองและย้อนแย้งในตัวเอง
“เรารู้ว่าไอน์สไตน์ทำอะไร เราคุ้นเคยพอสมควร แต่ไม่เคยรู้ประวัติเขา ว่าเขาเป็นยังไง พอมาค้นจริงๆ จะเจอว่า เขามีงานและมีความคิดทางด้านการเมืองอยู่เยอะเหมือนกัน เขาเป็นนักสันติภาพนิยม เขาต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 เคยร่วมกับพรรคการเมืองที่ต่อต้านสงคราม มันมีอะไรอยู่เยอะมากในนั้น ที่คนทั่วไป พอนึกถึงไอน์สไตน์อาจจะไม่นึกถึงกัน
“ในบทไอน์สไตน์ เราพูดถึงว่า ทฤษฎีของไอน์สไตน์คือผืนผ้าของจักรวาล มันเป็นสิ่งที่อยู่ลึกลงไป ที่เป็นตัวอธิบายกฎของฟิสิกส์ ซึ่งจริงๆ แล้ว สิ่งที่เราทำในเล่มนี้ การเมืองมันเป็นผืนผ้าแห่งสังคม แม้แต่ในวิทยาศาสตร์เองก็ตาม ในแง่ที่มันไม่เกี่ยวอะไรกับการเมือง เอาเข้าจริงๆ มันมีอะไรที่เป็นการเมืองอยู่ในนั้นเยอะมาก มีทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่แบ่งข้างกัน คนที่มีแนวคิดทางการเมืองไม่เหมือนกัน”
แต่หนังสือเล่มที่เกี่ยวกับสาธารณรัฐหนึ่งนี้ เป็นเรื่องการเมืองทั้งหมดหรือเปล่า
ผมว่ามันเกี่ยวกับสังคมครับ ใช้คำพูดแบบไอน์สไตน์ การเมืองมันคือผืนผ้าแห่งสังคม เราไม่สามารถพูดอะไรในสังคมได้เลยถ้ามันไม่โยงไปหาการเมือง
3.
เสน่ห์ของ ในสาธารณรัฐไวมาร์ อาจอยู่ที่ความแปลกแยก ตั้งแต่ประเภทหนังสือที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สารคดี ที่มีบทสัมภาษณ์ มีรูปถ่ายดึงดูด ไม่ใช่งานวิชาการ เพราะผู้เขียนไม่ได้เป็นนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์เยอรมัน และไม่ใช่ประวัติศาสตร์ทางตรงที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย นอกจากเราๆ ท่านๆ แล้ว ภาณุถือเป็นผู้อ่านสายตาแรกที่ต้องพบกับข้อมูลก่อนนำมาเรียบเรียงและขึ้นรูป ในส่วนผสมนี้ สุ่มเสี่ยงหรือไม่ที่จะมี ‘เสียง’ หรือรสนิยมผู้เขียนปะปนลงไป
“มันก็คงมีแทรกอยู่ เพราะเราเป็นคนเขียน ต่อให้พยายามไม่ตีความที่สุด แค่เราเลือกว่าจะหยิบเรื่องไหนมาเล่าหรือไม่เล่า มันก็เป็นการตีความอย่างหนึ่งแล้ว เลยไม่ได้รู้สึกว่าต้องพยายามเอาตัวเองออกจากหนังสือ กลับรู้สึกด้วยซ้ำว่า ถ้าจะเล่าให้สนุก มันก็ต้องมีเสียงของเราอยู่ด้วย เพียงแต่ว่า จะพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกประเด็นที่สุด คือถ้ามีประเด็นอะไรที่มองได้สองด้าน ก็จะพยายามใส่เข้าไปให้เยอะที่สุด ใส่ความเห็นทุกด้านที่จะนำเสนอได้”
ส่วนหนึ่งของชื่อหนังสือ ‘ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ ยังคงเป็นข้อถกเถียงในหลายวงสนทนา รายละเอียดของการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์มองได้หลายมุม มีทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง จากรูปแบบและขั้นตอนการเลือกตั้งที่ซับซ้อนจนมีช่องโหว่ให้ตีความได้หลายแบบ
“ผมใช้คำว่า ‘ข้อถกเถียง’ ก็แล้วกัน คืออยากให้อ่านเพื่อตีความ ว่าตกลงแล้ว คุณอ่านเล่มนี้จบ คุณยังเชื่ออยู่ไหมว่าฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง บางคนก็เป็นนะ อ่านจบก็ยังคิดว่าฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้งอยู่ดี ซึ่งผมว่ามันดีมาก มันแสดงให้เห็นว่า โอเค ขนาดคนเขียนมีจุดยืนอย่างหนึ่ง แล้วที่เราพยายามนำเสนอบางอย่างที่กลางที่สุดไป ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้อ่านจะต้องเชื่อตาม ผมคิดว่าอยากให้มันเป็นข้อถกเถียง เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่เราเอาไปตีความ แล้วก็อ่านกันมากกว่า”
การศึกษาประวัติศาสตร์ หากเชื่อในประวัติศาสตร์เพียงชุดเดียวเท่ากับปิดตาสองข้าง ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าแบนราบเหมือนกระดาษในหนังสือ จริงหรือไม่ว่าเราควรรื้อโครงสร้างของประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นชิ้นส่วน ทุกองคาพยพ ของที่มาที่ไปว่าไม่ได้มาจากเทือกเขาไกลๆ และหาคำอธิบายอื่นๆ มากกว่าหนึ่งชุด เพื่อสร้าง ‘ข้อถกเถียง’ อันจะทำให้อดีตมีมิติ มีชีวิต มีมุมมอง ให้รอบด้านมากขึ้น
เพราะประวัติศาสตร์คืออนาคต เพราะเราก็อยากจะเข้าใจทุกอย่างรอบตัวเรา เราอยากจะรู้ว่าสังคมเราเป็นยังไง เราอยากจะทำความเข้าใจสังคมเรา วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ศึกษาจากประวัติศาสตร์นั่นแหละ
“ผมพยายามตีออกมาเลยว่า เราก็เป็นลูกหลานไวมาร์คนหนึ่งเหมือนกัน ในเซนส์ว่าตะวันตกเขาเรียนรู้อะไรจากไวมาร์ ประเทศประชาธิปไตยที่ครั้งหนึ่งมันทำให้เกิด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นมาได้ คนตะวันตกเขาพยายามศึกษาเรื่องนี้ ทำไมปัจจุบันคนอเมริกันถึงอ่านเรื่องนี้ ทำไมคนอังกฤษ คนฝรั่งเศส ถึงต้องมาดูเรื่องนี้ ผมคิดว่า มันก็ด้วยสาเหตุเดียวกันที่ว่า ทำไมคนไทยเราถึงต้องการรู้จักไวมาร์ด้วย
“ประวัติศาสตร์มันเป็นประวัติศาสตร์ของโลก ไม่ว่าของประเทศไหนก็มีคุณค่าให้ศึกษาทั้งนั้น”