เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
“ในการปกครองชั้นเยี่ยมผู้คนจะไม่รู้สึกตัวว่าถูกปกครอง ในการปกครองชั้นดีผู้คนจะชื่นชอบในการปกครองชั้นต่ำผู้คนจะเกรงกลัว ในการปกครองชั้นต่ำสุดผู้คนจะชิงชัง ผู้ที่ไม่นับถือราษฎรจะไม่ได้รับการนับถือ…”
ถ้อยคำข้างต้นมาจากคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งซึ่งเป็นผลงานทางปัญญาของมหาปราชญ์เหล่าจื๊อ
แม้ข้อความดังกล่าวจะถูกจดจารไว้นานนับพันปีแล้ว แต่ก็ยังคงซึ่งพลังแห่งสัจจะ อีกทั้งสามารถอธิบายเรื่องของอำนาจและการนำได้อย่างกระทัดรัดชัดเจนยิ่ง
ตำรารัฐศาสตร์นับร้อยเล่มอาจถูกย่อไว้ในถ้อยคำสองสามบรรทัดเหล่านี้ คู่มือการปกครองทั้งหลายไม่มีเนื้อหามากไปกว่าข้อสรุปรวบยอดเหล่านั้น เพราะมันคือความจริงที่ทั้งอยู่เหนือและอยู่ในทุกระบอบการเมืองการปกครอง ความจริงว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่แทงทะลุข้ออ้างและอุปาทานรวมหมู่ทั้งปวง
อำนาจคืออันใดหากมิใช่ความสามารถในการทำให้ผู้อื่นทำตามเจตจำนงของตน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ต่อต้านหรือคล้อยตามโดยดีแค่ไหน ถึงที่สุดแล้วปรากฏการณ์แห่งอำนาจคือการทำตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ใช้อำนาจกำหนดขึ้น
เช่นนี้แล้วอำนาจจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอันสลับซับซ้อนยิ่ง เพราะการที่ผู้หนึ่งจะทำตามเจตจำนงของอีกผู้หนึ่งล้วนมาจากสาเหตุแตกต่างหลากหลาย บางทีอาจเนื่องด้วยเชื่อถือรักเคารพ หรือบางทีอาจเกิดจากหวาดกลัวผลของการไม่ยินยอม กระทั่งในหลายๆ กรณีอาจเกิดจากความคาดหวังเรื่องผลประโยชน์ลาภสักการ ฯลฯ
ดังนั้น คนผู้หนึ่งจะมีอำนาจได้จึงจำต้องมี ’ของวิเศษ’ บางอย่างหรือหลายอย่างอยู่ในมือ เพื่อให้ผู้อื่นเกรงใจ เช่น มีปืน มีเงิน มีความรู้ มีชื่อเสียงเกียรติภูมิ รวมทั้งการมีคุณงามความดีก็เป็นทรัพยากรแห่งอำนาจได้เช่นกัน
แต่ก็แน่ละ ผู้คนในสังคมใดจะยอมรับแหล่งที่มาของอำนาจแบบไหนย่อมขึ้นต่อความคิดความเชื่อและศาสนาวัฒนธรรมของคนในสังคมนั้น ในหมู่ชนที่นับถือเงินเป็นพระเจ้าคนมีเงินมากกว่าผู้อื่นย่อมมีอำนาจ ในสังคมที่บูชาความกล้าหาญนักรบย่อมได้รับความเชื่อถือ ส่วนในสังคมที่ยึดหลักคุณงามความดีและความรู้ นักปราชญ์นักพรตย่อมมีผู้น้อมรับคำชี้นำ ครั้นว่าในสังคมเดียวกันผู้คนยอมรับนับถือคุณค่าหลายอย่าง ผู้มีอำนาจและอิทธิพลก็ย่อมมีหลายกลุ่ม กระทั่งอาจแตกแยกขัดแย้งเนื่องจากมีความเชื่อเรื่องอำนาจไม่ตรงกัน
กล่าวสำหรับบรรดาผู้อยู่ใต้อำนาจนั้น มีบ่อยครั้งที่มวลชนอาจต้องขึ้นต่ออำนาจหลายแบบและถูกกดดันจากหลายทิศทาง ในทางกลับกัน ขณะที่อำนาจแบบหนึ่งใช้ได้กับคนบางคน แต่ก็อาจใช้ไม่ได้กับคนบางคน เพราะความสัมพันธ์ทางอำนาจเป็นการจราจรสองทาง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการยอมรับของผู้อยู่ใต้อำนาจด้วย ในบางกรณีแม้แต่การคุกคามด้วยความรุนแรงก็ไร้ผล “หากผู้คนไม่กลัวตายจะมีประโยชน์อันใดเล่าที่จะเอาความตายไปขู่เข็ญเขา”
ตรงนี้แหละที่ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างอำนาจดิบๆ กับอำนาจที่ชอบธรรม และนำไปสู่ความแตกต่างระหว่างผู้กุมอำนาจธรรมดาๆ กับผู้นำที่แท้จริง
โดยหลักการแล้ว อำนาจที่ชอบธรรมคืออะไรนับว่าตอบยาก เพราะจินตนาการมนุษย์ในเรื่องนี้มีมากมายสารพัด แต่ถ้าเราจะถือว่าความชอบธรรมของอำนาจมาจากการยอมรับอย่างแท้จริงและกว้างขวางของผู้อยู่ใต้อำนาจก็พอจะพูดได้
กระนั้นก็ตาม เรื่องที่เข้าใจผิดกันมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ การคิดว่าความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมเป็นประเด็นที่ผูกติดอยู่กับแหล่งที่มาของอำนาจเท่านั้น เช่น มาจากการเลือกตั้ง มาจากรัฐประหาร มาจากสงครามปฏิวัติ มาจากสนับสนุนของอำนาจภายนอก หรือมาจากการปราบดาภิเษก เป็นต้น
อันที่จริง อำนาจจำเป็นต้องอาศัยการยอมรับหรือมีความชอบธรรมถึงอย่างน้อย 3 มิติด้วยกัน คือที่มาของอำนาจ จุดหมายของอำนาจ และวิธีการใช้อำนาจ
ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากสังคมหรือประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจเสมอ ไม่ใช่ผ่านการเลือกตั้งแล้วเอาไปอ้างเป็นความชอบธรรมในเรื่องอื่นๆ ทุกขั้นตอน
อย่างไรก็ดี ที่มาของอำนาจนั้นแม้จะสำคัญแต่ก็เป็นแค่บทเริ่มต้นแห่งการปกครอง ที่เหลือจะเป็นเช่นใดยังถูกกำหนดด้วยความรู้ความเข้าใจหรือความไม่รู้ไม่เข้าใจอีกหลายประการ
ทำไมเหล่าจื๊อจึงสอนว่า ”ในการปกครองชั้นเยี่ยมผู้คนจะไม่รู้สึกตัวว่าถูกปกครอง” คำตอบเบื้องต้นคือเป็นเพราะในกรณีเช่นนี้ผู้นำประเทศไม่ได้แยกตัวออกจากมวลชนที่ตนเองรับผิดชอบ อย่างน้อยในเรื่องจุดหมายแห่งการใช้อำนาจ และในเมื่อราษฎรเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้อำนาจ ความรู้สึกเห็นดีเห็นงามย่อมเกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากความรู้สึกที่ถูกบังคับฝืนใจ
อย่าว่าแต่เต๋าแห่งอำนาจเป็นเช่นนี้ แม้คำสอนของพุทธศาสนานิกายเซ็นก็เป็นเช่นเดียวกัน ดังคำพูดของท่านหลิงหยวนซึ่งกล่าวไว้ว่า “ผู้นำที่ดีถือจิตใจของชุมชนเป็นจิตใจของตน…ดีและเลวสำหรับผู้นำก็คือดีและเลวต่อชุมชน”
พูดกันสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ กฎข้อแรกของ ’การปกครองชั้นเยี่ยม’ คือผู้นำจะต้องไม่มีผลประโยชน์แยกต่างหากออกจากผลประโยชน์ของส่วนรวม ลำพังแค่นี้ก็ช่วยอธิบายได้แล้วว่าทำไมใครต่อใครถึงหมดอำนาจไป ทั้งๆ ที่เริ่มต้นคล้ายจะขึ้นสู่อำนาจด้วยวิถีอัน ’ชอบธรรม’
เท่านั้นยังไม่พอ ท่านเหล่าจื๊อบอกว่า ”ปกครองบ้านเมืองต้องใช้วิธีการบริสุทธิ์ยุติธรรม ส่วนทำสงครามต้องใช้กลอุบายพลิกแพลง” คำสอนดังกล่าวเท่ากับยืนยันว่าผู้นำประเทศจะต้องมองประชาชนเป็นมิตรและต้องจริงใจต่อประชาชน จะใช้เล่ห์เพทุบายหลอกล่อประชาชนเหมือนยุทธวิธีทางการทหารที่ดำเนินต่อข้าศึกไม่ได้
กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ การรับใช้และรับผิดชอบต่อประชาชน กับการครอบงำมุ่งพิชิตประชาชนให้อยู่ในกำมือนั้นไม่เหมือนกัน
แน่นอน ถ้าเอ่ยเฉพาะวิธีการใช้อำนาจแล้ว แนวคิดเต๋ายิ่งไม่เชื่อในการใช้ความรุนแรงบังคับคนและกล่าวเตือนทุกฝ่ายไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
“บ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นของเทพเจ้า ไม่อาจเข้าครองได้ด้วยกำลัง ไม่อาจยึดถือเป็นของส่วนตัวได้ ผู้ที่ใช้กำลังเข้าครองจะต้องพ่ายแพ้ ผู้ที่ยึดถือเป็นส่วนตัวจะต้องสูญเสียอำนาจไป”
ประเด็นที่น่าสนใจคือประเทศไทยเรามีบทเรียนทั้งเคยถูกยึดเป็นของส่วนตัวและถูกปกครองโดยกำลัง จนนึกไม่ออกเหมือนกันว่าผลภายหน้าจะออกมาแบบไหน เราเห็นคนสอบตกในวิชาว่าด้วยอำนาจและการนำมามาก จนต้องทบทวนทุกอย่างกันใหม่ทุกๆ ไม่กี่ปี
หรือว่าในยุคปัจจุบัน ‘การปกครองชั้นเยี่ยมที่คนไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง’ แท้จริงคือระบอบที่ประชาชนปกครองตนเอง …ระบอบที่ลดอำนาจของรัฐลงแล้วเพิ่มอำนาจตรงให้ประชาชน
ในกรณีนั้น คงไม่มีผู้กุมอำนาจใดเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อยู่ใต้อำนาจเท่านี้แล้ว
ส่วน ‘การปกครองชั้นดีที่ผู้คนชื่นชอบ’ ถึงอย่างไรก็ยังมีเส้นแบ่งระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง
หมายเหตุ
ข้อความในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งเรียบเรียงมาจากงานแปลของ ล.เสถียรสุต (2533) งานแปลของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ สมเกียรติ สุขโข (ไม่ระบุปีที่พิมพ์) กับฉบับที่แปลและตีความโดยประชา หุตานุวัตร (2548) ส่วนคำสอนเซ็นอ้างอิงจากงานแปลของเดชา ตั้งสีฟ้า (2545)
************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Here and Now มีนาคม 2550)