เวลาเกือบหนึ่งเดือนหลัง โจ ไบเดน เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นจนทำให้เขาเป็นที่น่าจับตาคือท่าทีและความตั้งใจที่ ‘เอาจริง’ ในการฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อม
ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ประธานาธิบดีไบเดนเอาจริงคือการลงนามเพื่อกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายหลักคือการแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก หลังสหรัฐประกาศถอนตัวตั้งแต่ 17 มิถุนายน 2017 ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลนำมาสู่การสนทนากับ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย และผู้คลุกคลีอยู่กับการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ปี ในประเด็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการเข้ารับตำแหน่งของไบเดน และชวนวิเคราะห์แนวโน้มของสิ่งแวดล้อม รวมถึงมูฟเมนท์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ในฐานะคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด คุณมองเห็นอะไรในประเด็นสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์โควิด-19
ในสถานการณ์โรคระบาด ตั้งแต่ 2019 จนกระทั่ง 2020 โลกมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่นเดียวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม หนึ่งสิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือเมื่อมนุษย์ไม่สามารถเดินทางได้ มลพิษทางอากาศโดยรวมจึงดูเหมือนลดลง ช่วงการระบาดจึงช่วยสะท้อนความหวังของคนทำงานเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะการที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทะเล หรือเขตอุทยานต่างๆ ทำให้ธรรมชาติได้รับผลพวงที่ดีขึ้น แต่มันไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน เพราะความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศถูกสะสมมาตลอดนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน จึงไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่มนุษย์หันมาอยู่บ้านมากขึ้นจากการหลบไวรัส
เดิมทีการคาดการณ์จากข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจากสำนักกรมอุตุวิทยาทั่วโลก พบว่า ในปี 2020 อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกมีแนวโน้มจะสูงเท่ากับปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกร้อนที่สุด แต่ปรากฏว่าจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญาเข้ามามีส่วนช่วยให้อุณหภูมิโลกเย็นลง ไม่เช่นนั้นปี 2020 อาจจะขึ้นแท่นเป็นปีที่ร้อนที่สุดก็เป็นได้
ถึงแม้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงของคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการหวังผลเพียงในระยะสั้น เพราะถ้าเราดูในระยะยาว ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนภูเขาที่ถูกทับถม
และแน่นอนที่สุดช่วงโรคระบาดที่ผ่านมาเปิดให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น กรณี #Saveบางกลอย หรือ กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตัวอย่างนี้สะท้อนว่ากลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจและกลุ่มคนที่มีอำนาจก็ยังคงใช้ช่องทางในการหาผลประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม เกิดการตักตวงทรัพยากรอยู่
โควิด-19 เหมือนเหรียญ 2 ด้าน บางคนบอกว่ามนุษย์เป็นไวรัสของโลก ดังนั้นต้องถูกโรคระบาดปราบ แต่นี่เป็นคำอธิบายที่ตื้นเขิน ไม่ได้ให้ทางออก สิ่งแวดล้อมจึงกลายเป็นเรื่องอื่นที่แยกไม่ออกจากทุกเรื่องของมนุษย์ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นแค่โจทย์หนึ่งของโลกแค่นั้น มนุษย์ไม่ได้ตระหนักถึงบทเรียนอะไรมากมายนัก โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในเหตุที่เราอยากพูดคุยกับคุณคือนโยบายของ โจ ไบเดน ที่จะกลับเข้าลงนามในคำสั่งผู้บริหารหลายฉบับเพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม คำถามก็คือในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประเด็นหรือนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร
เมื่อพูดถึงนโยบายในสหรัฐช่วงประธานาธิบดีทรัมป์ก็มีประเด็นมากมายหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อม เช่น ปกติแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องทำรายงานถึงการปล่อยปรอทของโรงไฟฟ้าในประเทศ แต่ในยุคทรัมป์ไม่ต้องทำ หรือในวงการอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการผลิตจะต้องรายงาน แต่กลับได้การละเว้นในยุคทรัมป์
ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับบ้านเราในยุค คสช. ช่วงนั้นมีกฎหมายหลายฉบับที่เปิดช่องทำให้เกิดการผ่อนคลายกฎระเบียบในสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายผังเมืองที่เอื้อให้สร้างโรงไฟฟ้าขยะโดยไม่ต้องทำรายงานเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สมมุติผมเป็นนักลงทุนจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งสามารถสร้างที่ไหนก็ได้ถ้ามีใบอนุญาตโครงการ โดยที่ไม่ต้องผ่านการประเมินด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่นเดียวกันกับกรณีการถอดถอนชื่อสหรัฐออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement)
ความตกลงปารีส (Paris Agreement) สำคัญอย่างไร
ความตกลงปารีส เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน
มีความเป็นมาและเป้าประสงค์จากที่ประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ได้รับรองความตกลงปารีส ในปี 2005 โดยเป็นตราสารกฎหมายที่รับรองภายใต้กรอบอนุสัญญา สหประชาชาติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) ฉบับล่าสุด ต่อจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และข้อแก้ไขโดฮา (Doha Amendment) เพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความเข้มข้นขึ้น สำหรับการมีส่วนร่วมของภาคีในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่ผ่านมาโลกเรามีความพยายามในการเจรจาปัญหามาหลายครั้งแต่มันก็ล้มเหลว เรามีพิธีสารเกียวโต ที่มีเป้าหมายผูกพันคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นเครื่องมือหลักที่รัฐบาลทั่วโลกต้องใช้เพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ในโลก เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม แต่มันก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยหัวใจของระเบียบฉบับนี้บังคับให้ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยเทียบกับระดับในปี 1990 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2008-2012 แต่ละประเทศต้องบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซของตัวเอง คือสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นที่ 6 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ โดยตัวเลขของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต แต่การมุ่งเน้นบังคับให้แต่ละประเทศตั้งตัวเลขขึ้นมาเป็นวิธีการจากข้างบนลงข้างล่าง (top to down) ผลลัพธ์จึงไม่ค่อยมีความคืบหน้ามากนัก
จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทุกคนเห็นแล้วว่าการผลักดันนโยบายจากบนลงล่าง โดยการกำหนดตัวเลขเช่นนั้นทำให้เกิดผลได้ยาก เพราะฉะนั้นเมื่อถึงการประชุม COP21 ในปี 2005 ณ กรุงปารีสจึงมีแนวคิดที่สลับกัน โดยให้ภาคีแต่ละประเทศวางแผนและนำเสนอตัวเลขของแต่ละประเทศมาว่า จะกำหนดเป้าหมายอุณหภูมิระยะยาวที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกในระดับสูงที่สุด (global peaking) อยู่ที่เท่าไหร่ โดยหัวใจหลักคือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
พูดให้ง่าย ความตกลงปารีส เงื่อนไขอันหนึ่งก็คือเราไม่ต้องการให้โลกวิกฤติไปกว่านี้ ต้องมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดความเป็นกลางหรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ผิดที่ให้เหลือ 0 ภายในกลางศตวรรษ ก็คือ 2050 ไปจนถึงกลางศตวรรษที่ 21 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกโดยสุทธิเป็น 0 (คำว่าการปล่อยสุทธิเป็น 0 ไม่ได้หมายความว่าหยุดปล่อย ยังปล่อยได้ แต่ต้องมีกระบวนการดูดกลับในอัตราที่สมดุล) ซึ่งเดิมทีแผนทบทวนของการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contribution: NDC) จะเกิดขึ้นในทุกๆ 5 ปี ซึ่งปีที่แล้ว (2020) ติดวิกฤติโควิด-19 พอดี จึงต้องเลื่อนการพิจารณาไป
โดยประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมในความตกลงปารีสเช่นกัน โดยมีเป้าหมาย NDC ตามความตกลงปารีส คือ ประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ในหมวดพลังงาน การคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย
ซึ่งถ้าเราเอาเป้าหมาย แผนปฏิบัติการของประเทศหลักๆ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นประมาณเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้โอกาสที่เราจะไปถึงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่ 1.5 ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่เป็นไปได้มากขึ้น
อีก 9 ปีก็เข้าสู่ปี 2030 โดยการประเมิน ไทยน่าจะทำได้ตามเป้าหมายไหม
ถ้าดูจากตัวเลขว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ผมว่ายังไงก็ทำได้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นตัวเลขที่เซ็ตมาว่าเราทำได้ ผมว่าหน่วยงานรัฐของประเทศไทยเป็นพวก conservative เราตั้งเป้าไว้แค่นี้พอ มากกว่านี้เราจะลำบาก เราเอาเท่าที่ทำได้
การที่ไบเดนกลับไปลงนามความตกลงปารีส จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร
ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัดมาก แต่ผมคิดว่าสิ่งที่มันน่าจะเกิด สมมุติถ้า โจ ไบเดน ทำได้จริงและเริ่มอยู่ตัว เพราะเขามีคณะทำงานที่สามารถช่วยเหลือเขาได้ดี
อันดับแรกเลยคือเรื่องพลังงาน ในนโยบายของ โจ ไบเดน เขาบอกว่าจะปฏิวัติระบบคมนาคมขนส่งในสหรัฐอเมริกาให้ low carbon คือรถไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เป็นฐานส่งออกรถยนต์ จะส่งผลให้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันถูกตีตก และอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้น
ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในตลาดประเทศไทยมีกี่เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรายังคงมีกำแพงเป็นอุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องภาษีและระบบนิเวศในการใช้งาน แต่ถ้าเราไม่ปรับตัวหรือฉวยโอกาสในเชิงธุรกิจ ผมคิดว่าการ disruption ครั้งนี้ อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์
นอกจากนี้อย่างต่อมาที่อาจจะได้รับผลกระทบคือ หลังจาก โจ ไบเดน เข้ามาเป็นประธานาธิบดี เขาอาจจะสานต่อเรื่อง Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงเขตการค้าเสรี จากยุค บารัค โอบามา มันอาจจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องอัตราภาษีของสินค้านำเข้า หรือการเพิ่มเพดานการนำเข้าสินค้าเกษตร รวมถึงมาตรการการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การขยายสิทธิบัตรยา ประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม
การที่ทรัมป์ถอนตัวออกจาก TPP จึงเกิดประเด็น CPTTP ผมคิดว่าสงครามการค้าที่มันเกิดขึ้นในช่วงทรัมป์เขาสู้กับจีนก็อาจจะทำให้ประเทศเล็กๆ โดยเฉพาะแถบบ้านเราเจ็บตัวไปด้วย
ส่วนในเชิงสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนถึงแม้ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงมากแต่ก็มี เช่น กรณีการส่งขยะพลาสติกที่มาจากสหรัฐไปยังประเทศต่างๆ ปกติคู่ค้าใหญ่คือจีน แต่เมื่อ 2 ปีก่อน จีนบอกว่าเขาไม่เอาแล้ว มันก็เลยไหลมาแถบบ้านเรา
และที่สำคัญเมื่อไบเดนเข้ามาดำรงตำแหน่ง ในมิติทางสิ่งแวดล้อมและประเด็นสิทธิมนุษยชนอาจทำให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นและไม่ย้อนแย้งเท่ายุคทรัมป์อีกแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู
จีนในฐานะประเทศยักษ์ใหญ่และใกล้ไทยมากกว่าสหรัฐอเมริกา แนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมจีนเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลกแซงสหรัฐอเมริกาแล้วในบางมุม การจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของจีน หรือการจัดการปัญหาด้านความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเขาก็จะมาแบบนิ่มๆ เพราะไม่มีใครกดดันเขาได้ ถ้าเขาบอกว่า ‘ฉันทำได้นะ ฉันลดก๊าซให้คุณได้นะ ลดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้โลกได้นะ’ ซึ่งเขาทำได้จริงๆ
และไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ออกมาประกาศเป้าหมาย Carbon Neutral ของจีนในปี 2060 หนึ่งในนั้นคือแผนลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะมันเป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะมาก ก็น่าจับตาดูว่าหน้าตาของนโยบายเป็นอย่างไร จีนจะสามารถทำได้จริงไหม หรือบอกว่าจะลดโรงงานถ่านหินในบ้านของตัวเอง แต่กลับไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในบ้านคนอื่นหรือเปล่า?
แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่จีนแสดงจุดยืนต่อเป้าหมาย Zero CO2 Emissions ซึ่งหากเป้าหมายของจีนครอบคลุมถึงก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ผลลัพธ์ที่เกิดกับโลกคือเราจะเข้าใกล้เป้าหมายของความตกลงปารีส หากเป้าหมายของจีนครอบคลุมเฉพาะ CO2 จีนจะต้องบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ในช่วงปี 2050 การรักษาระดับของอุณหภูมิตามความตกลงปารีสจึงจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากจีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 1 ใน 4 ของโลก การบรรลุเป้าหมายของจีนในฐานะ key player ของโลก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก
ประเด็นที่กรีนพีซดำเนินการอยู่ในปัจจุบันคือเรื่องอะไร
เรื่องพีคๆ ในปีที่ผ่านมาคือเรื่องฝุ่น กำลังผลักดันเรื่องฝุ่น เรื่องมาตรฐานฝุ่นที่จริงมีการทำเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด แต่ว่า… (นิ่งคิด)
อย่างที่รู้กัน กฎหมายในประเทศไทย ประชาชนต้องใช้เวลาขับเคลื่อนเป็นทศวรรษ เราพยายามขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดผ่านคน ที่ผ่านมาเราพยายามกดดันไปที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและหัวโต๊ะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้เซ็นให้เกิดมาตรฐานใหม่ที่เข้มข้นในการควบคุมฝุ่นพิษ PM2.5 แต่ดูแนวโน้มค่อนข้างยาก ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ยังไม่พร้อม มันน่าเศร้านะ สำหรับผมความท้าทายคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนตื่นตัว ไม่ใช่ตระหนักรู้ว่าเราต้องรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ตื่นตัวแบบออกมาตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ไม่ใช่เงียบหายน่ะ เพราะการลุกขึ้นมาโหวกเหวกของคนจะทำให้เรามีสิ่งแวดล้อมที่ดี
ผมมองว่าการขับเคลื่อนเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตาม มันเป็นเรื่องที่หลอมรวมคนเข้าด้วยกัน แบบไม่แบ่งแยก แน่นอนมันมีความเหลื่อมล้ำในมิติทางสังคมหรือเศรษฐศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตามเรายังอยู่ในโลกที่มีทรัพยากรเดียวกัน เรายังคงอยู่ในโลกและสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ลองสังเกตดูได้ว่ากระบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมประเทศไทย มันเคยรุ่งโรจน์ในช่วงเดียวกับที่ประชาธิปไตยผลิบาน
ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เด็กรุ่นใหม่’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร ที่ผ่านมา เราจะเห็นตัวละครอย่าง เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงจัง
จริงๆ เกรตาเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นขบถคนรุ่นใหม่
เพียงแต่บริบทที่เกรตาอยู่อาจจะไม่เหมือนบริบทของบ้านเราทีเดียว เราก็มีเยาวชนในประเทศไทยเยอะที่ลุกขึ้นมาเพื่อที่จะต่อสู้กับอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ เยาวชนในภาคเหนือที่สู้เรื่องเหมืองถ่านหิน ในอีสานที่สู้หลายเรื่องมาก แม้กระทั่ง ‘ไผ่ ดาวดิน’ ที่เป็นแอคทิวิสต์เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย แน่นอนพวกเขาก็มีความกล้าหาญในแบบฉบับของเขา ผมต้องออกตัวว่าบ้างครั้งก็ตามไม่ทัน เพราะว่ายุคนี้มันเป็นยุคที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ยุคที่เราทำกิจกรรมขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีทวิตเตอร์ แต่วันนี้มันมีแฮชแท็ก มีเครื่องมือต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นโซเชียลมีเดียมีบทบาทสูงมากที่ทำให้เรามองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและกลายเป็นเรื่องของทุกคนมากขึ้น
คุณคิดว่าเด็กๆ มองเห็นอะไรจึงทำให้เขาออกมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม
คนรุ่นใหม่ถูกกดทับด้วยค่านิยมและทัศนคติอะไรบางอย่างมาตลอด คุณต้องเป็นเด็กดีของพ่อแม่ คุณต้องเรียนจบ ต้องทำงานแล้วก็มีครอบครัว พอมาถึงจุดหนึ่งเขารู้สึกว่ามันไม่ใช่ และส่วนหนึ่งผมคิดว่าสำคัญคือเขามองเห็นความไม่เป็นธรรมที่มันเกิดขึ้นในสังคมที่อยู่ในทุกระดับเลย เฮ้ย ฉันเลือกตั้งเป็นครั้งแรกแล้วทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ? มันจึงทำให้เขาเริ่มตั้งคำถาม ซึ่งนี่แหละคือ ‘ราก’ ของการมองเห็นปัญหาต่างๆ
สิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องโดดเดี่ยว แต่มันถูกผนวกเข้าไปกับการตื่นขึ้นของจิตสำนึกของมนุษย์
ดังนั้นความท้าทายของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา คือการปฏิรูปโครงการสร้างการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าร่างประกาศมาตรฐานใหม่ในการจัดการฝุ่น PM2.5 จะไปถึงมือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อไหร่
ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่ดีๆ สักฉบับหนึ่งมันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ได้แก้โดยไปปลูกต้นไม้ล้านต้น
ตลอดเวลา 20 ปี ของการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรบ้าง
ขออนุญาตเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นที่เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมคือช่วงมัธยมปลาย ตอนนั้นก็มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Earth Summit) ครั้งแรกที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เราเห็นการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมระดับโลกเป็นครั้งแรก มันจุดประกายให้เรา
แต่ตอนแรกๆ ผมยอมรับว่าเรามีอัตตาเยอะมาก ผมเคยคิดว่าตัวเราเป็นพวกผู้พิทักษ์โลก แค่เพราะคนที่รักสิ่งแวดล้อม ใช้กระดาษสองหน้า ถือถุงผ้า กินอาหารมังสวิรัติ ใส่รองเท้าแตะ ถือถุงย่าม เสื้อแบบโคร่งๆ ไว้ผมยาวๆ เป็นพวกสายลมแสงแดด
แต่พอเวลาเปลี่ยนไป เราก็รู้สึกว่าเราต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เฮ้ย สังคมมันมีความหลากหลายขึ้นนี่หว่า เราไม่ได้เป็นฮีโร่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งแวดล้อมนะเว้ย
ที่ผ่านมาสิ่งที่เราเห็นชัดคือความเติบโตของกระบวนการประชาชน แน่นอนแหละเมื่อมีอุปสรรคเยอะ เจอความท้าทายเยอะ คำหนึ่งที่ชาวประจวบคีรีขันธ์ (ที่เราเคยลงพื้นที่ไปทำงานด้วย) บอกกับชาวกรีนพีซ “เราต้องก้าวข้ามความกลัว” และเราเพิ่งมาเห็นคำคำนี้ในกระบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชน เพราะพวกเขาก้าวข้ามความกลัวกัน มันมีหลายอย่างที่เป็นเรื่องร่วมสมัยและเราเลือกหยิบใช้ เช่น แนวคิดการทำงานในเชิงโครงสร้างอำนาจเพื่อจะเปลี่ยนหรือเขย่านโยบายต่างๆ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สังคมดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีความเป็นธรรมมากขึ้น อีกด้านหนึ่งคือการทำงานกับคน สร้างกระบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมที่มาจากตัวของเขาเอง
กรีนพีซมี 2 บทบาทคือ บทบาทที่เป็นองค์กรเป็นมูลนิธิที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีโครงสร้างที่ชัดเจน มีคณะกรรมการ มีการทำงาน แต่อีกนัยหนึ่งก็คือ เราจะต้องทำงานรณรงค์ในแง่ที่มันเป็นการสร้างความเคลื่อนไหวที่ทำให้เสียงโหวกเหวกด้านสิ่งแวดล้อมขยายดังขึ้น
20 ปีที่ผ่านมา มันจึงเป็นเวลาที่ผมได้เรียนรู้และต่อสู้ จุดกำเนิดของกรีนพีซก็มาจากจุดเล็กๆ แต่ในอีก 10-20 ปีก่อนจะถึง 2030 กรีนพีซอยากเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวที่อยู่กับทุกๆ คน ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง
คุณคิดอย่างไรกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ในประเด็นสิ่งแวดล้อม
(หัวเราะ) ทำไมต้อง 20 ปีล่ะ?
การวางแผนในจีน เขายังวางแค่ 5 ปีเลย บางประเทศสั้นกว่านั้นอีก คือโลกมันเปลี่ยนไปไวนะครับ หรือแผนชาติ 20 ปีคือศาสดาพยากรณ์?
ประเด็นแรกคือแผนชาติ 20 ปีไม่ได้คำนึงถึงโรคอุบัติใหม่เลย ตอนคุณเขียนมีโควิด-19 ไหมล่ะ หรือแม้กระทั่งเรื่องโลกร้อน เรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศ การต่อกรกับความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศ ความสามารถรับมือยืดหยุ่นจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ถามจริงมันต้องทำถึง 20 ปีเหรอ ผมคิดว่าเราจะต้องลืมแผนชาติฯ ไปเลยนะ แล้วมาตั้งต้นใหม่บนหลักความจริง
ผมขอยกตัวอย่างเคสของชาวประจวบคีรีขันธ์ที่เราเคยไปทำงานด้วย พอเขาสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินสำเร็จ เขาออกแบบจัดทำเรื่องแผนสิ่งแวดล้อมเป็นของจังหวัดเอง ไม่ได้ให้ผู้ว่าฯ ทำนะ แต่เขาบอกว่าผู้ว่าฯ มานั่งฟังแผนที่ชาวบ้านเสนอ มาฟังว่าชาวบ้านอยากทำอะไร อยากเห็นอะไร เศรษฐกิจ การเกษตร ท่องเที่ยว เพื่อให้คนอยู่ได้
สิ่งแวดล้อมไทยจัดว่าโคม่าลำดับไหน
ผมคิดว่ามันเป็นโรคเรื้อรัง เรามีแผลนู่นแผลนี่เต็มไปหมดเลย ฝุ่น ขยะ มลภาวะ
เขาเรียกว่าอยู่ในอาการเรื้อรังน่ะ มันเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายเพราะเราไม่ได้ไปแก้ที่รากเหง้าของมัน ตราบที่เรายังไม่มีการรื้อโครงสร้างข้างบน ต่อให้ปลูกต้นไม้สิบล้านต้น พันล้านต้น ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา ต่อให้เรามีรถไฟฟ้าเชื่อมเครือข่ายทั่วเมืองแล้วคนเดินทางด้วยระบบสาธารณะโดยที่โครงสร้างมันยังกุมเราไว้ยังไม่ถูกขยายเลย
การเมืองดี สิ่งแวดล้อมจะดีจริงไหม
มันอาจจะไม่ใช่สมการที่ตรงไปตรงมาเท่าไหร่
‘ถ้าการเมืองดี’ สามารถตีความหมายได้เยอะมาก ซึ่งมันมีความหมายแฝงอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือถ้าการเมืองดีเราจะคิดกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะมันจะทำให้สิ่งแวดล้อมถูกมองเห็นมากขึ้น