“ฉันมีชีวิตรายล้อมด้วยคำชมของผู้คน
ฉันถูกฝึกให้มีความสุขกับสิ่งนั้น มันคือทุกสิ่ง
ฉันกลายเป็นคนที่ทุกคนอยากให้เป็น”
นี่คือเสียงของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) กับการแนะนำตัวเองอย่างย่นย่อ ผ่านสารคดี Miss Americana สารคดีที่ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวของ เทย์เลอร์ ในมุมของปุถุชนธรรมดา แต่เป็นเทย์เลอร์ในฐานะบุคคลสาธารณะที่ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองเพื่อยืนหยัดในความเชื่อและหลักการของสังคม
“พื้นเพของการเป็นศิลปินคันทรี คือการไม่ยัดเยียดความเห็นทางการเมืองให้ผู้คน ให้พวกเขาใช้ชีวิตของเขาไป”
เทย์เลอร์กล่าวในช่วงหนึ่งของสารคดี ถึงเหตุผลที่ก่อนหน้านี้ เธอไม่เคยแสดงออกต่อมุมมองทางการเมือง เพราะในแวดวงดนตรีนั้น มีข้อแนะนำหนึ่งว่า ถ้าหากอยากยืนระยะให้ยาวในเส้นทางนี้ คุณต้องทำเพียงร้องเพลง โบกมือและยิ้มหวานในที่ทางของคุณเท่านั้น
เทย์เลอร์ฝังใจเช่นนั้นไม่ต่างกับศิลปินอีกมากมาย
“ฉันไม่รู้ว่าจะมีคนอยากฟังความเห็นทางการเมืองของฉันจริงๆ ฉันคิดว่าพวกเขาอยากฟังเพลงอกหักและความรู้สึกต่างๆ เท่านั้น” เทย์เลอร์ในวัย 22 ปีให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์
ในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลงอเมริกา เรื่องราวของวงดนตรีคันทรีทรีโอนามว่า ‘ดิกซีชิกส์’ (Dixie Chicks) คือหนึ่งในวงดนตรีที่ถูกตราหน้าว่า ‘คนทรยศ พวกต่อต้านอเมริกา’ จากการกล่าวกลางเวทีคอนเสิร์ตถึงเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งกองกำลังทหารบุกข้ามทวีปไปยังประเทศอิรักในข้อหาว่าอาจจะเป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธร้ายแรงต่อโลกหลังเหตุการณ์ 911
“เราไม่ต้องการสงคราม ความรุนแรง และเรารู้สึกขายหน้าที่ประธานาธิบดีบุชมาจากเท็กซัส”
ดิกซีชิกส์ ได้รับกระแสด้านลบอย่างรุนแรง ทั้งจดหมายขู่ฆ่า การถูกแบนจากรายการวิทยุ สื่อมวลชน และแฟนเพลง
เรื่องราวของ ดิกซีชิกส์ ถูกนำมาใช้เป็น ‘ตัวอย่าง’ ในการตักเตือนกลายๆ เพื่อให้ศิลปินปิดปากและเร้นทัศนคติทางการเมืองต่อสาธารณะให้มิดชิด เทย์เลอร์กล่าวในช่วงหนึ่งของสารคดีว่า “ผู้บริหารค่ายเพลงและนักหนังสือพิมพ์จะพูดแค่ว่า อย่าเป็นเหมือนดิกซีชิกส์”
จุดเปลี่ยนสำคัญของเทย์เลอร์ เกิดขึ้นในปี 2013 เมื่อ เดวิด มุลเลอร์ (David Mueller) อดีตนักจัดรายการวิทยุท้องถิ่นใช้มือจับก้นเธอระหว่างโปรโมตคอนเสิร์ตในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด นำไปสู่การฟ้องร้องในปี 2016 ด้วยการเรียกค่าเสียหายเป็นเงินเพียงดอลลาร์เดียว
การฟ้องร้องครั้งนั้นยืดเยื้อและกินเวลานาน ท้ายที่สุด เทย์เลอร์ยืนหยัดต่อสู้ในชั้นศาลกระทั่งชนะคดีในปี 2017
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เธอยังสนับสนุนและช่วยเหลือ เคชา (Kesha Rose) นักร้องสาวชาวอเมริกันที่ยื่นฟ้องศาลกรณีถูกโปรดิวเซอร์ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เทย์เลอร์ปรากฏตัวในฐานะบุคคลแห่งปีของนิตยสาร TIME ปี 2017 โดยเธอได้ออกมาเล่าประสบการณ์การโดนคุกคามในครั้งนั้นว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ใครหน้าไหนมาทำให้ฉันรู้สึกว่านี่เป็นความผิดของฉันหรอกนะ”
“เมื่อก่อนฉันหมกมุ่นอยู่กับการหนีให้ห่างจากปัญหาต่างๆ แต่ถึงจุดหนึ่งฉันก็ไม่สามารถจะทนฟังคนอื่นบอกว่า ‘ไม่ อย่าไปยุ่งกับเรื่องนี้’ ได้อีกแล้ว”
ชัยชนะในคดีความครั้งนั้นไม่เพียงกู้คืนสิทธิบนเรือนกายของสตรีเท่านั้น แต่ยังจุดประเด็นการละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงให้ถูกพูดอย่างจริงจังอีกครั้งในสังคมอเมริกัน และนับแต่นั้น เทย์เลอร์กล่าวในสารคดีว่า เธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เธอรู้ร้อนรู้หนาวต่อความเป็นไปของบ้านเมืองและผู้คน เธอไม่อาจนิ่งเฉย หรือเป็นเพียงเด็กหญิงแสนดีที่เพียงโบกมือและระบายยิ้มเหมือนเมื่อครั้งก่อน เทย์เลอร์ในวัย 30 ปี ตัดสินใจที่จะลุกขึ้นมาประกาศจุดยืนทางการเมืองของตนอย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรกผ่านอินสตาแกรม
สก็อตต์ สวิฟต์ (Scott Swift) พ่อของเธอไม่เห็นด้วยในการที่เธอแสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมือง ด้วยความเป็นห่วงด้านความปลอดภัย และจำนวนแฟนเพลงที่อาจหายไปกว่าครึ่งฮอลล์
ฉากอันทรงพลังของการประกาศเลือกข้าง
เทย์เลอร์พยายามอย่างสุดกำลัง เพื่ออธิบายถึงเหตุผลในการต่อต้านนโยบายของ มาร์ชา แบล็คเบิร์น (Masha Blackburn) นักการเมืองหญิงพรรครีพับลิกัน ผู้สมัครวุฒิสมาชิกในรัฐเทนเนสซี บ้านเกิดของเธอ
เพราะในปี 2009 มาร์ชาเคยโหวตค้านกฎหมาย Paycheck Fairness Act กฎหมายที่ว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างอย่างเท่าเทียมระหว่างเพศ, ปี 2010 โหวตค้านกฎหมาย Don’t Ask, Don’t Tell ซึ่งเป็นนโยบายห้ามให้เจ้าหน้าที่ทหารเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งชาว LGBT ในกองทัพ
นี่เป็นฉากที่ทรงพลัง เพราะมันคือวินาทีของการประกาศซึ่งอิสรภาพจากพันธนาการที่รัดรึงเธอไว้มาแทบทั้งชีวิต การเป็นซูเปอร์สตาร์นั้นไม่ง่ายพอๆ กับการเป็นตัวของตัวเอง และเธอเลือกที่จะเป็น เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในแบบที่เธอต้องการ
“ฉันจะขี้ขลาดตาขาวมาก หากฉันขึ้นไปบนเวทีแล้วพูดว่า ‘สุขสันต์เดือนไพรด์ (Pride Month: เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ) นะทุกคน’ แต่ไม่พูดถึงเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อพวกเขา”
เทย์เลอร์กล่าวอย่างฉะฉานและมั่นคง ก่อนโพสต์ข้อความลงในอินสตาแกรม สนับสนุน จิม คูเปอร์ (Jim Cooper) และ ฟิล เบรเดเซน (Phil Bredesen) ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 ในรัฐเทนเนสซี
นั่นเท่ากับเป็นการประกาศตัวยืนอยู่คนละฟากฝั่งกับชาวพรรครีพับลิกันทันที
แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นดีเห็นงามกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ แฟนเพลงหลายคนออกมาเผาเสื้อ ซีดีเพลง รวมทั้งแสดงความไม่พอใจที่เห็นศิลปินคนโปรดผู้เคยอยู่ห่างจากเรื่องการเมืองและความขัดแย้ง ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนจนเกิดแฮชแท็ก #BoycottTaylorSwift
นอกจากนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์โต้กลับอย่างรวดเร็วว่า “เอาเป็นว่าตอนนี้ผมชอบเพลงของเทย์เลอร์น้อยลง 25 เปอร์เซ็นต์” ทั้งยังสนับสนุน มาร์ชา แบล็คเบิร์น ว่า “เธอทำงานได้ดีนะครับ เธอเป็นผู้หญิงที่ทรงพลังมาก ผมแน่ใจว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเธอเลยสักนิดเดียว”
ฝุ่นควันตลบอยู่พักใหญ่ในช่วงก่อนวันเลือกตั้งกลางภาคในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2018 เทย์เลอร์ได้ทำลายกฎไม่พูดเรื่องการเมืองที่ใช้มายาวนานในวงการเพลง เธอไม่อาจรู้ได้ว่าหลังการตัดสินใจนี้ กระแสที่วกกลับมาจะออกหัวหรือก้อย จะซ้ำรอยวงดิกซีชิกส์หรือเปล่า บัตรคอนเสิร์ตของเธอจะยังขายได้หรือไม่ หรือแฟนเพลงมหาศาลนั้นจะลดจำนวนลงไปมากน้อยขนาดไหน
แต่ที่แน่ๆ ผลลัพธ์หนึ่งที่เธอได้รับจากความพยายามในครั้งนั้น นั่นคือ 24 ชั่วโมงหลังโพสต์นี้แพร่ออกไป มีคนอเมริกันอายุ 18-29 ถึง 65,000 คนมาลงชื่อร่วมโหวต และเที่ยงวันถัดมายอดพุ่งขึ้นเป็น 102,000 คนโดยร้อยละ 70 คือหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปี
วินาทีก่อนกดโพสต์ข้อความ เธอและเพื่อนนั่งอยู่บนโซฟาขาว
“อย่างแรกเลย ประธานาธิบดีต้องออกมาเล่นงานเธอแน่”
เทย์เลอร์ตอบกลับอย่างรวดเร็ว “Fuck that, I don’t care”
แปลว่า “ช่างแม่ง ฉันไม่สน!”
อ้างอิง
- สารคดี Miss Americana กำกับโดย ลานา วิลสัน ออกฉายทาง Netflix เมื่อปลายเดือนมกราคม 2020
- theguardian.com