10 เรื่องเล่าจากเวที TEDxYouth ที่จะทำให้เข้าใจพวกเขามากขึ้น

เมื่อ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา บริเวณชั้น 5 ของ The Street Ratchada มีเวทีเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ออกมาส่งเสียงของตัวเองให้ทุกคนฟัง สะท้อนความคิดของพวกเขาผ่านเรื่องเล่า นั่นคือเวที TEDxYouth@Bangkok ซึ่งเป็นหนึ่งเวทีที่ให้เยาวชนได้มาปล่อยของในทุกๆ ปี และยังสนับสนุนให้ทุกคนส่งเสียงออกมาโดยไม่จำกัดเฉพาะบนเวทีเท่านั้น แต่สามารถแสดงออกได้ด้วยตัวเองตามแพลตฟอร์มที่สะดวกและรวดเร็วตามยุคสมัย เพื่อให้เสียงเหล่านั้นดังขึ้นได้ในทุกๆ ที่

ในคำว่า Youth มี You อยู่ด้วย ไม่เพียงแต่เด็กและเยาวชนเท่านั้นที่สำคัญ แต่เพราะทุกคนล้วนสำคัญ เช่นเดียวกับธีมของงานในปีนี้ที่ใช้ชื่อว่า You(th) Matter! สปีกเกอร์มีทั้งรุ่นเล็ก 8 คน และรุ่นใหญ่อีก 2 คน มาร่วมกันเล่าเรื่องที่พวกเขาอยากให้ทุกคนฟัง และคิดตาม ซึ่งหลายคนก็ได้เตรียมสูตรลัดต่างๆ มาแนะนำเพื่อเป็นแนวทางให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

เอ๊ะ!

เอิร์น-ชุติกาญจน์ กนกกันทรากร

ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารที่ทุกอย่างเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งต่อข่าวสารได้ง่ายๆ  รวมถึงเป็นผู้ผลิตข่าวสารได้ด้วยตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน ท่ามกลางข่าวสารมากมายนั้นก็มีข่าวปลอมเกิดขึ้นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน เอิร์น ในฐานะเยาวชนที่มีประสบการณ์การทำสื่อมา 2 ปี และได้รับบทเรียนในการ ‘รู้เท่าทันสื่อ’ จึงนำเสนอ เครื่องกรองสื่อ ‘เอ๊ะ’ ด้วยคีย์เวิร์ด ‘นั่นใครทำไมเหมือนเดิม’ 

เครื่องกรองสื่อ ‘เอ๊ะ’

นั่น เขาจะสื่ออะไร
ใคร เป็นคนทำสื่อ
ทำไม เขาทำสื่อนี้ขึ้นมา
เหมือน กันไปหมด
เดิม เชื่ออย่างไรตอนนี้ก็เชื่ออย่างนั้น

เอิร์นฝากไว้ว่าการรู้เท่าทันสื่อคือการรู้ทันจุดประสงค์ของผู้ทำสื่อ เนื่องจากสื่อมีพลัง ซึ่งจะเห็นได้จากพาดหัวข่าวต่างๆ ที่เสนอข่าวออกมาได้ทั้งเชิงบวกและลบ บวกกับสมองของเราที่ต่างมีอคติส่วนตัว จึงต้องมีสติในการรับข่าวสาร เพื่อที่จะไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตซ้ำหรือส่งต่อข่าวปลอมและข่าวที่แฝงจุดประสงค์ด้านลบต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“อย่าให้สื่อมากำหนดความคิดเรา แต่เราต่างหากที่ต้องรู้เท่าทันมัน”

วันสุดท้ายกับเรื่องไร้สาระ

มายด์-ธวัลรัตน์ วงษ์นุ่ม

การดูคลิปแคสต์เกมอาจจะดูไร้สาระในมุมมองของบางคน โดยเฉพาะในสายตาผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับมายด์ที่เคยถูกพ่อมองว่าวันๆ เล่นแต่โทรศัพท์ แต่ในมุมของมายด์มันคือ safe zone หรือพื้นที่ปลอดภัยของเธอที่ทำให้เธอมีความสุขได้

มายด์เล่าเรื่องราวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในวันที่เธอขึ้นไปบนดาดฟ้าด้วยความรู้สึกที่อยากกระโดดลงไปข้างล่างจากความทุกข์ใจส่วนตัวที่สะสมมา และในเวลานั้นทันทีที่ได้เห็นแจ้งเตือนขึ้นมาว่า ‘พี่เอก Heartrocker’ นักแคสต์เกมที่เธอชื่นชอบทวีตข้อความว่า ‘ฝันดีฮับ’ ข้อความสั้นๆ นั้นทำให้เธอฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าอยากจะมีชีวิตต่อ เพื่อดูแคสต์เกมไปอีกเรื่อยๆ 

มายด์พบว่ากิจกรรมเพื่อความบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแคสต์เกม การฟังเพลง หรือการติดตามศิลปินที่ชื่นชอบก็ตาม ล้วนเป็น safe zone ช่วยระบายสิ่งแย่ๆ และเติมเต็มพลังใจให้ตัวเอง ซึ่งช่วยฟื้นฟูทั้งด้านความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจของมายด์ 

แต่ก็ยังคงมีคนบางกลุ่มที่มักตัดสินคนอื่นด้วยมุมมองของตัวเอง และไม่พยายามที่จะเข้าใจ ซึ่งมายด์มองว่า safe zone ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ อยากให้ทุกคนลองเปิดใจเพื่อรับรู้เหตุผลของคนคนนั้น บางเรื่องที่ดูไร้สาระสำหรับบางคน อาจจะเป็นสิ่งที่มอบความสุขให้กับอีกคนหนึ่งให้อยากมีชีวิตต่อ 

“ขอให้วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะมันไม่เคยเป็นเรื่องไร้สาระเลยสักครั้งเดียว”

เพศศึกษาเริ่มได้จากครอบครัว

ไออุ่น-แพรพิไล ชัยมงคลงาม

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคำขวัญวันเด็กที่พูดถึงการ ‘ใฝ่เรียนรู้’ เป็นจำนวนมาก และสิ่งที่ไออุ่นใฝ่เรียนรู้ก็คือเรื่องเพศศึกษา 

ความสนใจของเธอเริ่มจากการดูรายการ ‘ถกกระจู๋’ จากแชนแนล OuixZ ทางยูทูบ ซึ่งทำให้ไออุ่นรู้เรื่องเพศศึกษาบางเรื่องที่โรงเรียนไม่ได้สอน แม้ทุกวันนี้สังคมจะยอมรับการพูดเรื่องเซ็กส์อย่างเปิดเผยมากขึ้นก็ตาม แต่ไออุ่นกลับพบว่าการที่ผู้หญิงพูดเรื่องเพศศึกษา ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่สมควรและไม่เหมาะสม 

หลายคนคงเคยเจอประสบการณ์ดูหนังกับครอบครัว เมื่อฉากเลิฟซีนปรากฏก็เกิดอาการเลิ่กลั่กถึงกับทำตัวไม่ถูก ไออุ่นมองว่าครอบครัวควรเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดเรื่องเพศศึกษากันได้ โดยเสนอวิธีการสื่อสาร 3 หลัก คือ 

ไม่ด่วนตัดสิน ไม่ด่วนตัดสินตัวตนจากคำถามที่เด็กถาม 
เรื่องอื่นถามได้ – จากนั้นเด็กก็จะกล้าพูดคุยเรื่องอื่นมากขึ้น 
เขินอายใช้โค้ด – ใช้โค้ดแทนคำที่ไม่กล้าพูดเพื่อให้เข้าใจตรงกัน 

เมื่อทำตามสามข้อข้างต้น เพศศึกษาก็จะเป็นเรื่องทั่วไปที่สามารถให้ความรู้และพูดคุยกันได้ปกติ และไออุ่นยังมองว่าเพศศึกษาไม่ใช่การสนับสนุนให้เด็กอยากลองมีเซ็กส์ แต่เป็นการสนับสนุนให้รู้เท่าทันเรื่องเพศ 

“สังคมไทยชอบมองว่าการสนับสนุนเรื่องเพศศึกษาคือสนับสนุนการมีเซ็กส์”

เข้าใจ… ยากไปหรือเปล่า

น้ำ-บุษกร​ เลาเฒ่า

น้ำชวนให้ทุกคนตระหนักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ในบางครั้งที่เราไม่เข้าใจคนอื่น แต่เพียงแค่รับฟังความรู้สึกของเขา และ ฟังเหตุผลของความรู้สึกนั้น โดยที่ไม่ไปคาดคั้นอะไร แค่ให้คู่สนทนาเล่าเท่าที่อยากจะเล่า เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ที่จะทำให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

น้ำได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเพื่อแลกเปลี่ยนให้ทุกคนลองรับฟังและเข้าใจน้ำ โดยเล่าเรื่องราวการเลิกกับแฟนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งแฟนคนนั้นเป็นผู้หญิง ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้โลกเรากำลังขับเคลื่อนและเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่น้ำเป็นชาวม้งคนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ และในวัฒนธรรมของชาวม้งมีข้อปฏิบัติถึงการห้ามรักเพศเดียวกัน รวมถึงศาสนาที่ปิดกั้นความสัมพันธ์ของน้ำ ทำให้สุดท้ายแล้วน้ำต้องเลือกครอบครัวและเลิกกับแฟนไป 

เมื่อเรารับฟังแล้วอาจจะเกิดความรู้สึกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งนั่นไม่เป็นไร เพราะเราไม่สามารถเข้าใจใครได้ร้อยเปอร์เซ็นต์  

“การพยายามรับรู้ รับฟังเหตุผลของเขาคือสิ่งสำคัญ” 

Design Your Education with Self-learning

อาร์ม-สรสิช สิรวัฒนากุล

เมื่อการเรียนในห้องเรียนตามระบบการศึกษาไทยไม่อาจพาให้เราไปถึงความฝันที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ เราจึงต้องสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือ self-learning เพื่อให้ความฝันนั้นไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป 

อาร์มได้เผยเทคนิคการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นวิธีที่เริ่มต้นได้เอง โดยขั้นแรกคือ Fantasy หมายถึงการที่เราปรับเปลี่ยนวิธีคิดก่อน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และเป็นการสร้างแรงกระตุ้น ขั้นถัดมาคือ Reality โดยแบ่งเป็น What is your goal? เพื่อกำหนดเป้าหมาย และ How can you achieve your goal? เพื่อหาวิธีที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ข้อสุดท้ายคือ Then, what is next? เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือการสรุปผลสิ่งที่ได้เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มจนจบ ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ด้วยตัวเองและสามารถนำไปต่อยอดต่อไปได้ ทั้งนี้ เราไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แค่ได้เรียนรู้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว

“Think of a goal that is so big. You might not be able to achieve it now, but with ‘Self-learning’ you will get there someday.”

ขึ้นรถกลับบ้านผ่านเส้นทางสู่ความตาย

แซก-ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม

“ถ้าวันนึงชีวิตผมเดินทางมาถึงช่วงอายุเดียวกับอากง ผมจะเป็นยังไง จะมีความสุขดีรึเปล่า เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมสงสัยและเริ่มเปิดบทสนทนาเรื่องความตายกับครอบครัวครับ”

ความตายมักเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกนำมาพูดคุยกันในครอบครัวนัก โดยเฉพาะครอบครัวคนจีนอย่างแซกที่มีความเชื่อส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นว่าถือเป็นเรื่องอัปมงคล ไม่ควรพูดถึง แต่ความสงสัยใคร่รู้ ชอบตั้งคำถามและอยากจะหาคำตอบของแซก เป็นการมองความตายด้วยสายตาที่เปิดกว้าง การพูดเรื่องความตายจึงไม่ใช่เรื่องอัปมงคล แต่เป็นการยกเรื่องที่กังวลใจมาพูดคุยเพื่อให้สบายใจขึ้น 

แซกได้แนะนำถึงวิธีการสื่อสารที่จะช่วยให้สามารถพูดคุยกันได้โดยไม่ทำลายความเชื่อเดิมด้วย 4 ขั้นตอนที่แซกพาเราขึ้นรถเดินทางไปด้วยกัน คือ 

ไฟ – แดง เหลือง เขียว เป็นสีของไฟจราจรแทนการบ่งบอกความพร้อมในการสนทนา เช่น กำลังอารมณ์ไม่ดี (ไฟแดง) ไม่รู้อารมณ์ไหน (ไฟเหลือง) หรือว่าอารมณ์ดี (ไฟเขียว) สังเกตเพื่อประเมินหาจังหวะที่เหมาะแก่การคุย 

ฟัง – เป็นการสำรวจตัวเองว่าจะฟังอย่างไม่ตัดสิน และเราจะเปิดหัวใจรับฟังไปถึงความรู้สึกของเขา 

ถาม – ถามสิ่งที่เราสงสัย เช่น อยากให้ธีมงานศพเป็นอย่างไร หรือจะจัดการกับร่างกายด้วยวิธีใด จะฝัง เผา หรือว่าบริจาค 

และสุดท้าย 

หย่อน – คือการค่อยๆ ถามคำถามที่เราเตรียมไว้ เหมือนเป็นการหย่อนทีละคำถามลงกล่องจนเต็ม

ทั้ง 4 ขั้นตอนนี้เป็นแนวทางที่จะช่วยให้สามารถพูดคุยเรื่องความตายได้อย่างปกติ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าเราจะมีชีวิตไปถึงวันที่จะได้ ไฟ ฟัง ถาม หย่อน หรือไม่

ห้องเรียนไทย ทำไม…?

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

ครูทิว หนึ่งในสปีกเกอร์รุ่นใหญ่ในงาน ชวนเราสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเด็กไทย โดยชี้ให้เห็นในห้องเรียนนั้น นักเรียนอยู่กับความกลัว ทำให้ไม่กล้าที่จะตอบคำถาม เพราะกลัวตอบผิด กลัวครูว่า ซึ่งคนเรามักจะกลัวสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง นี่จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘อำนาจ’ 

นักเรียนกลัวครูเพราะว่าครูมีอำนาจของความเป็นครูที่จะกำหนดความถูกหรือผิดได้ ยกตัวอย่างเช่นกฎระเบียบเรื่องทรงผม ที่ครูใช้อำนาจควบคุมนักเรียนตั้งแต่อดีตจนเกิดเป็นวัฒนธรรม ‘อำนาจนิยม’ 

ครูทิวไม่ได้บอกให้ล้มล้าง แต่เสนอวิธีการใช้อำนาจอีกแบบด้วยการใช้อำนาจร่วม โดยลดอำนาจเหนือที่เป็นการเอาเปรียบหรือบังคับ และเพิ่มการใช้อำนาจในการช่วยเหลือ เปิดโอกาส สนับสนุน รวมถึงรับฟังทุกคนมากขึ้น

“มีดไม่คมหรือเป็นผมที่ลับมีดไม่เป็น เราไม่ต้องควบคุม เขาคิดเองได้ แค่ต้องพาเขาไปอย่างที่ควร”

ในเมื่อครูเป็นผู้มีอำนาจในห้องเรียนอย่างชัดเจน ครูจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะสามารถช่วยดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาให้ได้มากที่สุด มากกว่าการใช้อำนาจเหนือเพื่อบังคับหรือกำหนดความคิดของนักเรียน

“เพราะการศึกษาคือการปลดปล่อย ไม่ใช่การกดขี่”

เพื่อนสนิทที่ชื่อ… Passion

พราว-พราว ธำรงรัตน์

พราวเปรียบความหลงใหลหรือแพสชั่น (passion) ว่าเป็นเหมือนเพื่อนสนิท ซึ่งเราสามารถมีเพื่อนได้มากกว่า 1 คน และเราจะเจอเพื่อนใหม่ๆ เสมอ 

บางคนสนิทมากก็อยู่ด้วยกันยาวๆ แต่บางคนเข้ามาไม่นานแล้วก็แยกย้ายกันไป เหมือนความสนใจในด้านต่างๆ ที่เมื่อได้ลองแล้วอาจจะชอบก็จะสนใจไปอีกนาน หรือถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยนไปมองหาอย่างอื่นแทน 

พราวเป็นคนที่มีเพื่อนสนิทคือการวาดรูป แม้บางช่วงอาจไม่มีเวลาให้เพราะมีหน้าที่อื่นๆ ต้องทำ แต่เมื่อกลับมาอยู่ด้วยก็ยังคงสนิทกันเหมือนเดิม และเคยเกือบเลิกเป็นเพื่อนกันเพราะมีหลายอย่างที่เปลี่ยนไป พราวเจอความยากในการวาดรูปจากทฤษฎีต่างๆ แต่สุดท้ายก็พยายามไปกับเพื่อนคนนี้จนผ่านมาได้ 

นอกจากนี้พราวยังแนะนำ TENM Checklist เพื่อช่วยตรวจสอบว่าสิ่งนั้นๆ ใช่แพสชั่นหรือไม่ โดยถ้าหากมีมากกว่า 3 ข้อจะถือว่าเป็นแพสชั่น 

นั่นคือ

Time Flow – เมื่อทำสิ่งนั้นแล้วรู้สึกว่าสนุกจดจ่ออยู่กับมันจนลืมเวลา
Excite – รู้สึกตื่นเต้นและเฝ้ารอที่จะได้ทำ
No Fear – ทำให้เราทำต่อไป ไม่ย่อท้อต่อความยาก ไม่กลัวความล้มเหลวและคำวิจารณ์ และสุดท้าย 
Money – สิ่งที่ทำให้เรายอมทุ่มเงินเพื่อที่จะได้ทำ

“แพสชั่นก็เหมือนกับเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับเราในช่วงเวลาหนึ่ง อาจมีบางคนที่เราสนิทมากและอยู่กับเขาไปได้ยาวๆ หรือบางคนอาจจะได้ใช้เวลาร่วมกันสั้นๆ และแยกย้ายกันไป”

การเรียนรู้ที่ฉันเป็นเจ้าของ

พี่ตุ้ม-อินทิรา วิทยสมบูรณ์

คนส่วนใหญ่ใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตหมดไปกับระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ ไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไป และไม่พบศักยภาพของตัวเอง พี่ตุ้ม สปีกเกอร์รุ่นใหญ่อีกคนหนึ่ง จึงหาทางออกด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง โดยรวมกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 17-65 ปี จากหลายอาชีพและหลายพื้นที่ ออกเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ เพื่อค้นหาตัวเองและเข้าใจโลกมากขึ้น โดยพี่ตุ้มเองก็ได้ออกเดินทางเพื่อตามหาคุณค่าของชีวิต ทำให้ได้เจอสิ่งที่ห้องเรียนไม่ได้สอน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจริงจากการติดตามและทำความเข้าใจผู้อื่นอีกด้วย

“เพื่อสร้างการเรียนรู้ของตัวเอง เริ่มต้นจากการตั้งคำถามและลุกออกไปหาคำตอบ อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เราพูด แต่อยากให้ออกไปลงมือทำ”

พี่ตุ้มได้แนะนำถึง 4 ขั้นตอนการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง โดยเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ ด้วยการตั้งคำถาม พาตัวเองไปแสวงหาคำตอบ ลงมือทำจริง และสะท้อนความคิดว่าได้เรียนรู้อะไร

“การเรียนรู้มีอยู่ในตัวเรา ในความสัมพันธ์ ในการเดินทาง ในเรื่องเล่า ในที่อื่น และสิทธิที่จะเรียนรู้อยู่ที่ตัวเรา อยากให้ทุกคนลงมือทำ”

ถึงเวลาคืนค่าเกรดเฉลี่ย

แพร-แพรนวล จอนบำรุง

‘เกรดเฉลี่ย’ เป็นสิ่งที่สังคมยังคงให้ค่าอยู่เสมอ เด็กที่เรียนได้เกรดดีๆ มักจะเป็นผู้ถูกเลือกและได้รับคำชื่นชม

แพรคือหนึ่งในนักเรียนที่ได้เกรด 4.00 ซึ่งทำให้เธอได้รับโอกาสดีๆ มากมาย แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขนั้นก็มาพร้อมกับการถูกตัดสินจากความคาดหวังของคนอื่นด้วยเช่นกัน

“ประเทศไทยให้ค่ากับเกรดเฉลี่ย ‘มากกว่า’ ที่ควรจะเป็น นำมาเป็นภาพสะท้อนในอนาคตว่าเด็กคนนี้ควรเป็นอะไร”

นอกจากเกรดเฉลี่ยแล้ว ในระบบการศึกษาไทยยังมีการจัดลำดับ เพื่อแบ่งแยกนักเรียนตามความสามารถ ซึ่งจากผลสำรวจของ PISA Thailand 2015 พบว่าประเทศไทยมีการแบ่งแยกนักเรียนอยู่ที่ 77 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในทวีปเอเชียด้วยกัน และการแบ่งแยกนักเรียนนี้ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากยิ่งขึ้น เนื่องจากเด็กเก่งก็จะได้รับโอกาสทำให้ยิ่งเก่งขึ้นไปอีก ส่วนเด็กที่เหลือก็ถูกละเลย 

เกรดเฉลี่ยจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญทางการศึกษา ทำให้เด็กต้องซื้อคอร์สเรียนพิเศษเพิ่ม และเรียนเพื่อสอบ ซึ่งแพรมองว่าเป็นการเรียนที่รู้สึกเหมือนอยู่ในเกมการแข่งขันกันเพื่อเป็นผู้ชนะ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การศึกษา ที่ควรจะเป็นการเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนมากกว่า จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะคืนค่าเกรดเฉลี่ยให้ไปอยู่ในสมุดพก ไม่เอามาตัดสินใคร

“แท้จริงแล้วเกรดเฉลี่ยไม่ใช่ตัวร้าย แต่เป็นค่านิยมของคนในสังคมที่กำลังเป็นปัญหา”

Author

กัลยรัตน์ ธีรกฤตยากร
ฝึกเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ดีๆ ก็หยุดพักมาฝึกงาน เรียนสื่อสารมวลชนใกล้จะจบในไม่ช้า ชอบออกกอง เป็นผู้อ่านมานาน อยากเป็นผู้เขียนที่ดีบ้างจึงมาฝึกกับกองบรรณาธิการ WAY สนใจงานสารคดี มักจะเติมพลังด้วยการไปดูหนัง ไปงานเทศกาลดนตรี และฟังเสวนา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า