จากกรณี สำนักประกันสังคมเพิ่มวงเงินค่าบริการทันตกรรมรายปีจากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาท และไม่ต้องสำรองจ่าย โดยมีผลบังคับใช้ 12 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ยังมีปัญหาตามมาและการใช้บริการที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
อันดับแรก สิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นมา 300 บาท ผู้ประกันตนที่ใช้บริการมทันตกรรมในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องทำฟันฯ กำหนดอัตราเบิกจ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 900 บาทต่อปี ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลรัฐ จะยึดตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ สถานพยาบาลเอกชน จะให้แจ้งอัตราค่าบริการทันตกรรมต่างๆ มายัง สปส. เพื่อจะได้แจ้งผู้ประกันตนให้ทราบ
ราคากลางกระทรวงสาธารณสุข
1. ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ (เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน) 400 บาท
2. อุดฟันด้วยวัสดุอะมัลกัม (Amalgam) 1 ด้าน 300 บาทอุด 2 ด้าน 450 บาท
3. อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน กรณีฟันหน้า 350 บาท กรณีฟันหลัง 400 บาท อุด 2 ด้าน กรณีฟันหน้า 400 บาท กรณีฟันหลัง 500 บาท
4. ถอนฟันแท้ 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท
5. ผ่าฟันคุด 900 บาท
ที่สำคัญยังเป็นโครงการนำร่อง เริ่มบังคับใช้กรุงเทพมหานคร 12 เขตพื้นที่ และ 18 จังหวัด (ปทุมธานี อ่างทอง สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ชุมพร พังงา สตูล จันทบุรี บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร ชัยภูมิ เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี) แต่เอาเข้าจริงกลับมีคลินิกเอกชนเข้าร่วมน้อยมาก
“ราคาราชการต่ำกว่าราคาเอกชน คลินิกเอกชนหลายแห่งก็ไม่เข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงค่ะ คือตอนแรกมีการสมัครเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจที่จะให้ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย พอมาทำฟันเสร็จก็ไปเบิกเงินจากประกันสังคม แต่ปรากฏว่าคนสมัครน้อยมากเพราะราคานี้เขาสู้ไม่ไหว มีประมาณสัก 5 คลินิก คือเราเห็นสถานการณ์เรารู้เพราะว่าในวงทันตแพทย์ที่คุยกันอะค่ะ รู้เลยว่าอันนี้สมัครลำบาก” ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์โรงพยาบาลลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุขที่มีส่วนร่วมผลักดันในการขอเพิ่มวงเงินค่าบริการทันตกรรมจนสำเร็จ
ถึงแม้ว่าคลินิกเอกชนจะได้ค่าบริการทันตกรรมตามราคาจริง แต่ส่วนที่เกินมาก็ต้องไปเก็บเงินกับผู้ประกันตน หมายความว่า การทำฟันจะเกิดขึ้นได้ หมอกับคนไข้จะต้องเจรจาหน้าห้องกันก่อน
“ก่อนที่จะเข้าทำ คลินิกต้องโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันสังคมก่อน เพื่อเช็คว่าผู้ประกันตนเลขที่นี้ มีสิทธิ์เหลืออยู่เท่าไร จากนั้นก็ต้องบอกว่าวันนี้จะทำอะไร เพื่อให้สายด่วนเช็คแล้วแจ้งกลับมาว่า ทำได้หรือไม่ได้ กับอีกประเด็นคือ ถ้าตกลงค่าใช้จ่ายกันแล้วเกิดผู้ประกันตนบอกว่าวันนี้ไม่สะดวกขอเอาไว้ก่อนยังไม่ทำ หมอจะต้องโทรศัพท์ไปยกเลิกสิทธิ์ที่ 1506 สิ่งที่ควรกังวลก็คือ หนึ่ง หมอจะลืมโทรไหม สอง ถ้าโทรแล้วไม่ติดสักทีเขาจะพยายามโทรให้ไหม
ถามต่อว่าถ้าไม่โทรไปยกเลิกสิทธิ์เกิดอะไรขึ้น สิทธิ์นี้ติดตัวผู้ประกันตนคนนั้นไปแล้วค่ะว่าใช้สิทธิ์ไปแล้ว ที่สำคัญต้องยกเลิกภายในสองทุ่มครึ่งของวันนั้นด้วย ตรงนี้เลยกลายเป็นข้อจำกัด”
จึงเป็นหน้าที่ของทันตแพทย์ที่ต้องอธิบายรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ให้คนไข้รับฟัง
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไม่รู้ในรายละเอียดข้อนี้ ทราบแต่เพียงว่าได้เขยิบเพดานขึ้นมาอีก 300 บาท
“เขาก็ดีใจว่าเพิ่มเป็นเก้าร้อย แต่ว่ามีราคากลางนั้น ส่วนใหญ่มารู้เอาตอนที่มาเข้าคลินิกค่ะ” ทพญ.มาลี ทิ้งท้าย
ติดตามรายละเอียดที่ซ่อนไว้และเรายังไม่รู้ในสิทธิ์ทันตกรรมประกันสังคมต่อใน Consumer Channel ตอน: ข้อแม้ที่ซ่อนไว้ใน ‘ทำฟันประกันสังคมปีละ 900 บาท’ ปลายสัปดาห์นี้