นลัทพร ไกรฤกษ์: สิทธิคนพิการ บนความพิการซ้ำซ้อนของระบบประกันสังคม

ใกล้เข้ามาแล้วกับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หรือคณะกรรมการประกันสังคม ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลกองทุนสวัสดิการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือ ‘ผู้ประกันตน’ ที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในทุกๆ เดือน จะเป็นผู้ตัดสินชี้ชะตาผลการเลือกตั้งครั้งนี้

ในจำนวนผู้ประกันตนนับ 12 ล้านคน ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทุนประกันสังคม ไม่ได้เพียงแค่มนุษย์เงินเดือน แรงงานในระบบ หรือแรงงานอิสระทั่วไปเท่านั้น หากยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มักถูกภาครัฐมองข้ามไปอย่างกลุ่ม ‘คนพิการ’ ที่ต้องเผชิญกับความพิการซ้ำซ้อนของระบบสวัสดิการจากรัฐ จนกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงสิทธิอันพึงมี

เราได้พูดคุยกับ นลัทพร ไกรฤกษ์ กองบรรณาธิการเว็บไซต์ ThisAble.me ผู้เคลื่อนไหวผลักดันเรื่องสิทธิคนพิการในหลากหลายประเด็นและเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์สิทธิของคนพิการในปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคตในการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อคนพิการให้เกิดขึ้นจริง

-1-

การเข้าถึงสวัสดิการของผู้พิการในปัจจุบัน

ภาพรวมสถานการณ์สิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของคนพิการในประเทศไทยเป็นอย่างไร

เรื่องสิทธิและสวัสดิการของคนพิการในประเทศไทย ถ้าดูตามกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ จะพบว่ามีสิทธิต่างๆ ที่เอื้อต่อคนพิการพอสมควร ไม่ได้ถือว่าแย่ ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีสำหรับคนพิการเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซึ่งนโยบายประเทศเราไม่ได้อ่อนด้อยกว่า

แต่ในแง่ของการปฏิบัติ ถามว่ามันใช้ได้จริงตามนโยบายหรือกฎหมายที่เขียนไว้ไหม เราก็ต้องบอกว่าในแง่การบังคับใช้มันยังมีข้อจำกัดอยู่ ถึงแม้เราจะมีกฎหมายและนโยบายที่ดี แต่ก็ไม่ได้มีการบังคับใช้ที่ดีด้วย มันจึงดูเหมือนว่าคนพิการในบ้านเรายังเข้าไม่ถึงสิทธิ โดนละเมิดสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ทั้งที่มีอยู่ในกฎหมาย เรามีกฎหมาย มีนโยบาย มีแนวทางปฏิบัติ รวมถึงมีการไปดูงานต่างประเทศ แต่พอใช้จริง มันยังเป็นไปไม่ได้ คนพิการอาจจะมีสิทธิ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเข้าถึงสิทธินั้นได้

อะไรเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของคนพิการ

เราคิดว่าหลายปัจจัยมาก ปัจจัยแรกคือเขาไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง บัตรคนพิการสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง อาจจะด้วยการประชาสัมพันธ์ของรัฐที่ไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้นคนพิการจึงไม่รู้ว่าต้องเรียกร้องสิทธิอะไรให้ตัวเอง 

ปัจจัยที่สอง แม้คนพิการจะมีสิทธิรักษาพยาบาลที่ไหนก็ได้ มีสิทธิในการเข้าเรียน มีสิทธิในการทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคมเหมือนคนทั่วไป แต่พอสภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้เขาเดินทางได้สะดวก เขาก็ไปไม่ได้ ถึงแม้ภาครัฐและรัฐธรรมนูญจะบอกว่า เด็กไทยทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงเด็กพิการด้วย แต่ก็ไม่สามารถหารถไปโรงเรียนได้ หรือโรงเรียนไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกจนไม่สามารถใช้ชีวิตในโรงเรียนได้ เช่น มีแต่ตึกเรียนที่เป็นบันได คุณครูก็ไม่เข้าใจ สื่อการสอนก็ไม่ได้มีอักษรเบรลล์ที่จะช่วยให้คนตาบอดไปเรียนได้ เขาเลยถูกตัดสิทธิเหล่านี้ไปโดยปริยาย 

อีกปัจจัยหนึ่ง เขามีสิทธิอื่นที่มันซ้อนทับกับสิทธิคนพิการ อันนี้ก็เป็นปัจจัยที่เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างเราเป็นคนพิการที่มีทั้งสิทธิคนพิการ ซึ่งสิทธินี้เกิดขึ้นอัตโนมัติจากความพิการของเรา แล้วเราดันเป็นคนพิการที่ทำงานด้วย กลายเป็นว่าเรามีทั้งสิทธิคนพิการและประกันสังคม แต่พอเราไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาล กลายเป็นว่าสิทธิคนพิการหายไปเลย อันนี้ก็เป็นปัญหาของเพื่อนๆ คนพิการหลายคน เพราะเขามีหลายสิทธิทับซ้อนกัน กลายเป็นว่าสิทธิพื้นฐานที่เขาควรได้ มันใช้ไม่ได้ 

ในมิติทางกฎหมายมีการนิยามคนพิการไว้อย่างไร

กฎหมายนิยามว่า คนพิการหมายถึงคนที่มีอุปสรรคในการใช้ชีวิต แบ่งนิยามเป็น 7 ประเภท แต่ละโซนยังแบ่งไม่เหมือนกันว่าจะแบ่ง 6-7 หรือ 8 ประเภท แล้วแต่ว่าเป็นกระทรวงไหน แต่คร่าวๆ คือ 7 ประเภท เราคิดว่านิยามมีผลอย่างมาก อย่างในเมืองไทยจะนิยามว่าคนพิการเป็นคนที่มีอุปสรรคในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ต้องได้รับการช่วยเหลือ และการสนับสนุนตามความเหมาะสม แล้วหลังๆ กฎหมายยังเขียนด้วยว่าตามดุลยพินิจ ซึ่งอันนี้ต้องเคลียร์ให้ชัดว่า คนพิการเป็นคนที่มีอุปสรรคในชีวิตจนทำอย่างอื่นไม่ได้จริงหรือเปล่า หรือสภาพแวดล้อมต่างหากที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เขาใช้ชีวิตไม่ได้ เราคิดว่าการเขียนแบบนี้มันการโยนภาระให้ความพิการ กลายเป็นปัญหาปัจเจก คือถ้าเราเดินไม่ได้หรือขึ้นตึกไม่ได้ มันกลายเป็นภาระของเรา แต่ถ้ามีลิฟต์เราก็สามารถขึ้นตึกได้ ไม่ต่างจากคนปกติ 

เราคิดว่าการนิยามมีผลมากๆ ในบางประเทศเขาไม่ได้นิยามว่าความพิการคืออุปสรรคที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงอะไร แต่เขานิยามว่าสภาพแวดล้อมต่างหากที่เป็นอุปสรรคทำให้คนพิการไม่สามารถมีชีวิตเหมือนคนอื่นได้ รวมทั้งการเขียนว่า ‘ตามความเหมาะสม’ อันนี้หมายถึงความเหมาะสมของใคร 

คำว่า ‘ตามดุลยพินิจ’ ก็เช่นกัน เราต้องมาตีความกันอีกว่าเป็นดุลยพินิจของใคร หรือการเขียนว่าต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก 10 อย่าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็เพียงพอแล้ว ทั้งๆ ที่คนพิการแต่ละประเภทใช้สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เหมือนกัน ถ้าไปถามคนตาบอด เขาอาจจะบอกว่าไม่ต้องการลิฟต์ เพราะเขาเดินได้ ขอแค่มีแผ่นนำทางที่ดี เขาก็สามารถใช้ไม้เท้าขาวเดินขึ้นบันไดได้เหมือนกัน ในขณะที่คนพิการนั่งวีลแชร์ การมีแผ่นนำทางก็ไม่ช่วยอะไร เพราะเขาต้องการลิฟต์ หรือคนหูหนวกอาจจะบอกว่ามีทั้งสองอย่างไม่ช่วยอะไร เพราะไม่มีป้ายบอกทางที่เขาจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าสิ่งอำนวยความสะดวกมันลดหย่อนไม่ได้ มันไม่สามารถเขียนว่ามีอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะแปลว่าครบสมบูรณ์ มันจำเป็นจะต้องมีเพื่อให้คนพิการทุกประเภท ไม่ว่าเขาจะพิการแบบไหนก็ต้องสามารถใช้งานได้ มันไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วคนพิการทุกคนจะใช้งานได้จริง

หมายความว่า ถ้าจะแก้ไขให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้ ควรแก้ไขตั้งแต่การให้นิยามทางกฎหมาย?

กฎหมายไทยไม่ได้มองว่า คนพิการเป็นคนที่มีสิทธิหรือเป็นผู้ทรงสิทธิ์ และไม่ได้มองว่าความพิการเกี่ยวข้องเรื่องสภาพแวดล้อมแต่มองว่าความพิการเป็นเรื่องปัจเจกที่คุณต้องไปแก้ไขความพิการของตัวเองก่อนแล้วค่อยกลับมาใช้ชีวิต ซึ่งค่อนข้างเป็นแนวคิดทางการแพทย์ แต่สำหรับเรามันล้าหลัง 

ในสมัยก่อน ช่วงที่มีสงคราม แน่นอนว่าคนพิการจะถูกมองเป็นผู้ป่วย เพราะเขาบาดเจ็บจากสงครามกันเยอะ แล้วแนวคิดที่มีต่อความพิการมันก็ยังเป็นแนวคิดการแพทย์มากๆ เช่น ถ้าคุณเป็นคนพิการ คุณต้องไปรักษาให้หายก่อน หรือทำยังไงก็ได้แล้วค่อยกลับมาใช้ชีวิตในสังคม ค่อยกลับมามีแฟน ไปโรงเรียน ไปเที่ยว 

แต่เมื่อแนวคิดของทั่วโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คนมองเรื่องสิทธิมนุษยชน มองเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานมาก่อน การมองเรื่องสิทธิคนพิการก็เปลี่ยนไป ไม่ว่าร่างกายคุณจะเป็นอย่างไร คุณไม่ต้องรอให้หายก่อนถึงจะกลับมาใช้ชีวิตได้ แต่สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำให้ เพราะฉะนั้นฐานคิดมันเปลี่ยน ไม่ใช่จะต้องเปลี่ยนที่ตัวคนพิการก่อน แต่ต้องเปลี่ยนที่สังคม เพราะสังคมไม่มีทางลาด คนพิการเลยเดินทางไม่ได้ 

ในอีกแง่หนึ่ง โครงสร้างเหล่านี้ในเมืองไทยยังไม่เปลี่ยน เราจึงเห็นบ่อยมากว่าคนพิการเป็นคนสู้ชีวิต แล้วทำไมเราต้องสู้ชีวิต มันเกิดคำถามแบบนี้ตลอดเวลา ว่าทำไมคนพิการต้องเป็นคนสู้ชีวิต เราก็อยากจะมีชีวิตที่มันสะดวกสบายเหมือนคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ใช่ว่าต้องให้เพื่อนแบก 4 ชั้น เพื่อขึ้นไปเรียน ทำไมเราไม่สามารถขึ้นไปเรียนบนตึกด้วยตัวเองได้ แล้วถ้าเพื่อนหยุดเรียน เราก็ต้องหยุดด้วย เพราะไม่มีคนพาขึ้นตึก เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ 

รัฐควรทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการสำหรับคนพิการอย่างทั่วถึงมากที่สุด 

รัฐไม่ใช่แค่ต้องสนับสนุนหรือส่งเสริม แต่เป็นหน้าที่ของเขาเลยที่ต้องทำให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้แบบสะดวก ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภาครัฐอาจจะบอกว่าได้ลดค่าใช้จ่ายให้คนพิการขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ขึ้นรถเมล์ก็ลดราคา หรือไปไหนก็ลดราคา แต่ถามว่าสิ่งเหล่านั้นมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไหม เช่น รถเมล์ก็ขึ้นไม่ได้ ต้องให้คนมายก รถไฟฟ้าก็ไม่สามารถขึ้นได้เหมือนคนอื่นๆ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าไปซื้อบัตร ไปสแกนบัตรแล้วก็เข้าได้เลย แต่คนพิการต้องไปร้องขอให้ รปภ. มาช่วยเปิดประตู เปิดเสร็จต้องไปกดลิฟต์ให้ พอจะเข้าขบวนก็ต้องให้ รปภ. มาช่วยกระดกอีกที เพราะพื้นทางเข้ามันมีสเต็ป สิ่งเหล่านี้มันถูกคิดบนฐานว่าเราช่วยแล้ว เราสงเคราะห์แล้ว แต่ถ้าถามความคิดเห็นเรา เรามองว่ามันควรเป็นการให้โดยไม่ต้องคิดว่าเป็นการช่วย เรามีสิทธิ คนพิการมีสิทธิ 

ภาครัฐต้องทำให้พลเมืองทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่การสงเคราะห์ให้คนพิการอยู่แบบตามมีตามเกิด ด้วยเบี้ยยังชีพ 800 บาทต่อเดือน มันเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องทำเพื่อเป็นตัวชี้วัดว่า คนพิการก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ถ้าคนพิการยังถูกปฏิบัติแบบนี้ ถูกทำให้ต้องเป็นพลเมืองที่จะทำอะไรทีต้องร้องขอ แต่ภาครัฐกลับมาชมว่าคนพิการสู้ชีวิต สำหรับเรามันตลก และเราคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่า ถ้าภาครัฐทำไม่ได้ แล้วคนพิการยังถูกขังอยู่ที่บ้าน ออกจากบ้านไม่ได้ เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เราคิดว่ารัฐต้องพิจารณาตนเองว่าทำสิ่งที่ผิดพลาด 

เราจะเห็นว่ารัฐชอบโปรโมตเวลาเขาทำอะไรสักอย่างเพื่อคนพิการ เช่น ไปเปิดสวนสาธารณะแล้วมีทางลาด เขาก็จะโปรโมตว่านี่คือการออกแบบเพื่อให้คนพิการมีส่วนร่วมในสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้วมันควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ต้องโปรโมต คุณควรทำอยู่แล้ว แต่ถ้ามากกว่านั้นเขาจะต้องเพิ่มไปอีกว่า ทุกคนจะมีความสุขในส่วนนี้ได้อย่างไร เราจะมีฟังก์ชันอะไรในการใช้ มันไม่ต้องเอาคนพิการมาขาย 

ที่ผ่านมาคนพิการเหมือนเป็นสิ่งที่ภาครัฐเอามาขายได้ แล้วดูเป็นคนดี ดูเป็นภาครัฐที่ใส่ใจ ทั้งที่จริงๆ เราอยากให้เซ็ตมาตรฐานใหม่หมดเลยทั้งประเทศ การออกแบบ การคิดนโยบาย โดยไม่ต้องเอาความพิการมาขาย คนพิการเหมือนเป็นขั้นพื้นฐานที่คุณต้องคิดตั้งแต่แรก แล้วไม่ควรต้องมานั่งซ่อมถึงทุกวันนี้ เราจะได้ยินคำนี้มาตลอด เช่น ลิฟต์ไม่เคยสร้าง มาสร้างทีหลังมันแพง ก็เพราะคุณไม่คิดมาตั้งแต่แรกมันก็เลยต้องออกมาแพง ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดเรา มันเป็นสิ่งที่คุณต้องแก้ไขและรับผิดชอบในเรื่องที่คุณทำให้เราสูญเสียสิทธิหรือโอกาสตั้งแต่แรก 

แนวโน้มการสร้างรัฐสวัสดิการสำหรับคนพิการในประเทศไทยเป็นอย่างไร

มันยังดูห่างไกลภาพฝันมาก เอาจริงๆ เรามองว่าเรื่องสิทธิคนพิการในบ้านเรายังเป็นรัฐสงเคราะห์ คนพิการยังมองภาพฝันของตัวเองไม่ออกเลยว่า ถ้ามีรัฐสวัสดิการหรือถ้ามีสวัสดิการที่เอื้อให้เราใช้ชีวิตได้เต็มที่ มันจะเป็นไปได้จริงเหรอ เพราะที่ผ่านมาเราอยู่กับการที่เขาให้เท่าไรก็เอาเท่านั้น เขาให้เท่านี้ก็พอใจ ที่ผ่านมาคนพิการได้เบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาท เน้นว่าเดือนละ ไม่ใช่วันละ คิดดูว่าเงิน 800 บาท มันจะทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร แค่กินข้าวต่อเดือนยังไม่พอเลย แล้วไหนคนพิการที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น บางคนใช้แพมเพิร์ส บางคนต้องใช้สายสวนปัสสาวะ ใช้อุปกรณ์ต่างๆ บางคนเป็นแผลกดทับต้องทำแผลทุกวัน 800 บาท ซื้อแพมเพิร์ส 2 ห่อ ก็หมดแล้ว 

เราคิดว่าคนไทยที่เป็นคนพิการไม่ค่อยมีภาพฝันของตัวเองมากนัก ว่าจะสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร ด้วยความที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และเราไม่เคยอยู่ในจุดนั้น แต่เรามั่นใจว่าเราจะสามารถเป็นคนที่มีชีวิตแบบมีศักดิ์ศรีได้ เรามั่นใจว่าเราจะไม่ต้องไปขอใคร ไม่ต้องขอรับบริจาค ไม่ต้องเป็นประเทศแห่งการทำบุญกับคนพิการหรือเป็นประเทศที่คนพิการต้องไปร้องขอตามรายการต่างๆ ในโทรทัศน์ เรารู้สึกว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการขึ้นมาจริงๆ เราก็มองว่าคนจะมีศักดิ์ศรีขึ้น

ส่วนเรื่องสิทธิอื่นๆ ก็ต้องมาพัฒนาร่วมกันว่าจะสามารถให้คนพิการได้มากแค่ไหน อย่างเราเคยคุยเรื่องการศึกษาว่าในบางประเทศ เช่น สวีเดน เคยมีปัญหาเดียวกับเรา เด็กพิการเข้าไม่ถึงการศึกษา ต้องถูกทิ้งไว้ที่บ้าน ทีนี้พอมันเป็นปัญหาเดียว เขาก็ดูงบประมาณที่ต้องใช้ว่า ถ้าเป็นคนพิการแล้วต้องมาเรียน ก็ต้องทำลิฟต์ ทำทางลาด ทำทุกอย่าง งบประมาณมันก็สูง อยู่ดีๆ จะเอางบประมาณไปลงกับตรงนั้นทำไม แต่เมื่อคำนวณดูแล้วปรากฏว่า ระหว่างงบประมาณที่ทำปีนี้เพื่อให้คนพิการเข้ามาเรียนได้ กับการที่อนาคตคนพิการไม่มีงานทำ แบบไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน ปรากฏว่าการทำให้คนพิการมีการศึกษาเพื่อให้เขาได้เข้าถึงการเรียนและเข้าสู่การทำงานได้ เขาก็จะเลี้ยงตัวเองได้ มันคุ้มค่ากว่า 

เราจะพบว่ามีอยู่ช่วงปีหนึ่งที่รัฐใช้งบเยอะมากๆ ในการทำให้คนพิการเข้าถึงทุกโรงเรียนได้ เขาใช้เยอะอยู่ปีเดียว ปรากฏว่ามันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ต้องทำทุกปี คุณทำลิฟต์ทีหนึ่ง ทำทางลาดทีหนึ่ง มันก็อยู่ได้หลายสิบปี เพราะฉะนั้นการอ้างว่ามันเป็นภาระงบประมาณก็อาจจะไม่จริง เพราะการปล่อยให้เด็กพิการนับ 10 ล้านคน หลุดจากระบบการศึกษา หรือหางานทำไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเข้าระบบพึ่งพาภาครัฐ หรือไม่ก็พึ่งพาครอบครัว ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่สร้างภาระให้กับสังคมมากกว่าการทำให้คนพิการมีอาชีพเป็นของตัวเอง

-2-

สิทธิประโยชน์ผู้พิการในกองทุนประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมเข้ามาช่วยหนุนเสริมคนพิการได้มากน้อยขนาดไหน

เราเข้ามาทำตรงนี้ตอนแรกเราแบลงก์มาก เพราะพอพูดเรื่องคนพิการกับประกันสังคมมันไม่ได้เป็นของคู่กันเลย การจ้างงานคนพิการตาม พ.ร.บ.คนพิการ ในบางมาตราไม่มีประกันสังคม เป็นการจ้างบางช่วง จ้างเหมารายวัน ซึ่งคนพิการจำนวนมากจัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือเป็นลูกจ้างที่ไม่มีประกันสังคม ไม่มีสิทธิอะไรเลย ส่วนคนพิการที่มีประกันสังคม ก็เป็นคนพิการที่ทำงานในบริษัททั่วไปที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีประกัน ก็ถือว่ามีจำนวนน้อยมากๆ 

พอเราได้รับคำชวนให้มาทำงานตรงนี้ เราก็ตั้งคำถามว่าไม่มีคนพิการเคยทำงานประเด็นนี้เลยนะ เพราะคนพิการค่อนข้างเป็นไม้เบื่อไม้เมากับประกันสังคม เนื่องจากพอเรามีประกันสังคม สิทธิคนพิการก็จะหายไป จากเมื่อก่อนเราเคยไปกายภาพได้ เคยใช้สิทธิคนพิการได้ เบิกอุปกรณ์อะไรต่างๆ ได้ แต่พอไปโรงพยาบาลเขาบอกเราไม่มีสิทธิแล้ว เพราะเรามีสิทธิประกันสังคมแทน อันนี้เป็นสิ่งที่เพื่อนๆ คนพิการหลายคนเจอ และที่สำคัญสิทธิประกันสังคมไม่สามารถเบิกอะไรเกี่ยวกับคนพิการได้เลย กายภาพก็ได้แค่ไม่กี่ครั้ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อคนพิการที่ต้องการกายภาพบำบัดเป็นประจำ รวมถึงไม่สามารถเบิกอุปกรณ์ความพิการได้ กลายเป็นว่าพอเข้าระบบนี้แล้วสิทธิเราหายไป ทั้งๆ ที่เราก็ยังพิการอยู่ แล้วเราก็เป็นคนที่ทำงานด้วย แล้วทำไมสิทธิคนพิการเราถึงหาย อันนี้ก็เลยกลายเป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมากัน

แต่คนพิการก็ส่งเสียงกันเยอะว่ามันมีปัญหาจริงๆ ภาครัฐก็บอกให้คนพิการไปทำงานสิ อย่างช่วงรัฐประหารมีการใช้มาตรา 44 สั่งให้ผู้ประกันตนที่เป็นคนพิการสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองรูปแบบ (สิทธิคนพิการ และสิทธิประกันสังคม) แต่ในความเป็นจริงมันใช้ไม่ได้ เพราะในระบบยังให้ใช้เพียงแค่สิทธิเดียว

ในปัจจุบันถ้าเราเป็นคนพิการที่มีทั้งสิทธิคนพิการและสิทธิประกันสังคมด้วย เราจะต้องไปที่สำนักงานประกันสังคมเพื่อบอกเขาว่าเราจะใช้สิทธิประกันสังคมแบบคนพิการ ก็คือเป็นการเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมมาเป็นสิทธิคนพิการ นั่นเท่ากับว่าแล้วประกันสังคมมีประโยชน์อะไรกับเรา ทั้งที่เราจ่ายเงินทุกเดือนเท่ากับคนอื่นเลย แต่เราต้องเปลี่ยนกลับมาใช้สิทธิคนพิการ คนพิการเลยไม่รู้สึกว่าประกันสังคมมันสำคัญ อย่างที่บอกว่าคนพิการจำนวนมากเขาทำงานแบบเหมาวัน เหมาช่วง เขาก็ไม่แคร์นะ ไม่มีประกันสังคมก็ไม่เป็นไร เพราะประกันสังคมไม่มีประโยชน์สำหรับเขา ในเมื่อจ่ายแล้วก็ไม่ได้ใช้ จ่ายแล้วก็ต้องเปลี่ยนกลับมาใช้สิทธิคนพิการเหมือนเดิม

อันนี้ก็กลายมาเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เราอยากจะทำคือ ทำให้สิทธิประกันสังคมใช้ได้จริงกับคนพิการ คนพิการจะต้องเห็นความสำคัญว่าเราเป็นแรงงาน เราควรมีสิทธิประกันสังคมตรงนี้ เพราะมันเป็นพื้นฐานของคนทำงาน

ปัจจุบันคนพิการได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้างในกองทุนประกันสังคม

ถ้าเป็นสิทธิของคนพิการในประกันสังคมมันเป็นลักษณะของการบาดเจ็บจากการทำงาน คือหมายถึงว่ามันไม่ได้มีสิทธิที่เขียนไว้ว่า ‘ถ้าคนทำงานเป็นคนพิการจะมีสิทธิอะไร’ มันไม่ได้มีอย่างนั้น แต่มันมีการเขียนไว้ว่า ‘ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ได้พิการ แล้ววันหนึ่งเราบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากการทำงานจนกลายเป็นคนพิการ เราจะได้รับการเยียวยาแบบไหน’ คือมันเป็นการเขียนในแง่ของการเยียวยาเท่านั้น หมายถึงว่าการเยียวยาแรงงานที่กลายเป็นคนพิการ 

ถ้ากลายเป็นคนพิการรุนแรง ไม่สามารถทำงานได้ ก็จะได้เงินชดเชยตลอดชีวิต และระบุว่าได้รับชดเชยเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน แต่ถ้าเราคุยกันในรายละเอียดก็จะพบว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ เพราะขั้นตอนกว่าจะได้มันยากมาก มันต้องเสียเวลา เสียหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ยกตัวอย่างเคสที่เราเพิ่งได้คุยกับเขามา พี่เขาประสบอุบัติเหตุตอนทำงาน ตกลงมาจากนั่งร้าน จนปัจจุบันพิการมา 1 ปีแล้วยังไม่ได้เงินเยียวยา เนื่องจากนายจ้างไม่มาเซ็นรับทราบ เราคิดว่าถ้าเกิดกรณีแบบนี้สำนักงานประกันสังคมก็ควรเข้ามามีบทบาทที่จะทำให้เขาได้รับสิทธิการเยียวยา ซึ่งในปัจจุบันนี้พี่เขาไม่กล้าขาดส่งเงินประกันสังคม เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับสิทธิเงินเยียวยา เขาเลยต้องจ่ายเงินมาเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้มีงานทำ เพื่อรักษาสิทธิ และกลัวว่าจะโดนเพิกถอนคำร้องที่จะขอเงินเยียวยา

คนพิการมีความยากลำบากหรือข้อจำกัดอย่างไรบ้างในการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม

เราในฐานะคนพิการคนหนึ่งที่เป็นคนทำงาน เราก็อยากมีหลักประกันในการทำงานของเราที่มันใช้ได้จริง และคุ้มครองชีวิตของเราในฐานะคนทำงาน แต่สิทธิประกันสังคมยังไม่สามารถทำอะไรเหล่านั้นได้

เพราะพอเราเป็นคนพิการ เราไม่มองเลยว่าสิทธิประกันสังคมเป็นเรื่องสำคัญ คิดดูว่าในหนึ่งวันเราต้องออกไปทำงาน และต้องมีอุปกรณ์ เดิมเราเคยใช้วีลแชร์ธรรมดาปั่นในบ้านอย่างเดียว แต่พอออกไปทำงานเราต้องปั่นเยอะมาก เราก็ไปขอเปลี่ยนเป็นวีลแชร์ไฟฟ้า เพราะต้องเดินทางบ่อยด้วยเรื่องงาน ถามว่าไอ้วีลแชร์อันนี้เราต้องไปเบิกที่ไหน มันก็ต้องใช้สิทธิคนพิการ ประกันสังคมกับคนพิการมันเหมือนสิ่งที่ถูกมองข้ามไปเลย ไม่สามารถเบิกอะไรได้เลยจากประกันสังคมที่เกี่ยวกับคนพิการ หนำซ้ำยังเลือกปฏิบัติอีก

และในความเป็นจริง สิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมจะมีสิ่งที่สิทธิคนพิการไม่มี เช่น คนพิการไม่มีสิทธิทำฟัน ไม่ได้มีสิทธิไปตรวจสุขภาพ แต่ในประกันสังคมมันมี แต่คนพิการต้องไปเลือกว่าจะใช้สิทธิคนพิการหรือจะใช้สิทธิประกันสังคม ตรงนี้มันก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนพิการเข้าถึงประกันสังคมน้อยมากๆ

กลับกันถ้ามีทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิคนพิการ มันทำให้ถ้าคนพิการเบิกอุปกรณ์ได้อยู่ อยากไปรักษาที่ไหนก็ไปได้ อยากไปทำฟัน หรือสิทธิต่างๆ ที่มีอยู่ในประกันสังคมก็ใช้ได้ เราคิดว่าคนพิการจะเห็นคุณค่าของการมีประกันสังคม แต่ปัจจุบันพอมันกลายเป็นปัญหา เราเคยรักษาได้อยู่ๆ ก็รักษาไม่ได้ หรือเคยรักษาอยู่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็ต้องเปลี่ยนมารักษาโรงพยาบาลที่รับสิทธิประกันสังคม มันเลยกลายเป็นปัญหาสำหรับคนพิการ สร้างภาระให้เราต้องเดินทางไกลๆ เพื่อหาหมอประจำ ซึ่งถ้าเราสามารถใช้สิทธิได้โดยไม่โดนตัดสิทธิใดสิทธิหนึ่ง คนพิการก็จะเห็นคุณค่าประกันสังคมมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งเรามองว่ามันเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนพิการ คือการจ้างงานแบบเหมารายวัน แต่จ้างทั้งเดือน โดยที่ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย มันเป็นการเอารัดเอาเปรียบ เราเลยคิดว่าถ้าคนพิการมองเห็นว่าการจ้างแบบนี้มันไม่ได้สิทธิ มันสูญเสียประกันสังคม ซึ่งการจะทำให้คนพิการตระหนักถึงตรงนี้ได้ คงจะต้องเริ่มจากการทำให้สิทธิมันใช้ได้จริง แล้วก็ต้องไปเปลี่ยนระบบการจ้างงานคนพิการที่มันเอาเปรียบ

สิทธิประโยชน์ของคนพิการในกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ครอบคลุมแล้วหรือยัง

น่าจะเรียกว่ายังไม่มีการออกแบบประกันสังคมที่เหมาะกับลูกจ้างที่มีความพิการ คือมันถูกออกแบบบนฐานของลูกจ้างทั่วไป ที่มองเห็นว่าการมีความพิการคือไม่สามารถทำงานได้แล้ว เขามองแบบนั้นจริงๆ ไม่งั้นมันจะไม่มีการคิดวิธีชดเชยเยียวยาในฐานะของคนที่ทำงานไม่ได้ขึ้นมาหรอก

ถ้าเราไปอ่านเงื่อนไขของประกันสังคม เราจะพบว่าการเยียวยาเดียวที่มีคือ กรณีพิการแล้วทำงานไม่ได้ แต่เขาไม่ได้คิดถึงคนพิการที่ยังทำงานอยู่ว่าจะได้รับสิทธิอะไร อันนี้ไม่มี จนกว่าคุณออกจากงานแล้วเท่านั้นถึงจะได้รับการเยียวยา มันจะไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าจะออกแบบให้สิทธิประกันสังคมเอื้อต่อคนพิการที่ยังทำงานอยู่จริง ไม่ใช่ว่าพอพิการแล้วต้องถูกเลิกจ้าง พอถูกเลิกจ้างแล้วถึงจะได้เงินชดเชย

อีกสิ่งหนึ่งที่มีปัญหาก็คือการกำหนดเกณฑ์ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับเงินชดเชยเยียวยาอีกนะ มันจะต้องเป็นคนที่ถูกตัดสินว่า ‘จัดเป็นคนพิการ ที่มีความพิการรุนแรง’ รุนแรงจนไม่สามารถทำงานได้ถึงจะได้รับเงินชดเชย เราคิดว่าประโยคเหล่านี้มันอ่อนไปหน่อยสำหรับเรา เพราะเขาไม่ได้ดูบริบทรอบข้างแวดล้อมในประเทศเราเลย ว่าแค่คุณเป็นคนพิการคุณก็โดนไล่ออกแล้ว สมมติวันหนึ่งคุณประสบอุบัติเหตุแขนขาด ถามว่าบริษัทจะเอาคุณไว้ไหม เราเชื่อว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ถูกบอกให้ออก และถูกบอกให้ออกขณะที่รักษาตัวเลย เนื่องจากมันเกินระยะเวลาของการลาป่วย ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาสามารถทำงานได้นะ เขาสามารถกลับมาเป็นแรงงานได้ ไม่มีแขนข้างเดียวทำไมจะทำงานไม่ได้ บางงานไม่ได้จำเป็นต้องใช้แขนทั้งสองข้าง บางงานใช้หัวนะ บางงานใช้ขา

เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เขาไม่ได้คำนึงเลยว่า ประเทศเรามันมีบริบทแบบนี้อยู่ การที่จะบอกว่าต้องพิการรุนแรง ทำงานไม่ได้ ถึงจะได้เงินเยียวยา มันไม่ใช่ เราคิดว่าการเยียวยาความพิการในประกันสังคม จะต้องเยียวยาทุกความพิการที่เกิดขึ้น เพราะประเทศเรามันเซนซิทีฟเหลือเกิน พิการนิดเดียวก็เอาคนออกแล้ว คนพิการนิดเดียวเขาก็ได้รับผลกระทบแล้ว ยังไม่ต้องถึงขั้นรุนแรงเลย 

ถ้าสังคมเราเอื้อต่อคนพิการจริงๆ อย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้ เช่น โรงงานเข้าใจ รับกลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม ไม่ได้ไล่ออก เราจะไม่มีปัญหาเรื่องการเยียวยาเลย ซึ่งก็ต้องสนับสนุนให้มีการแก้ไขทั้งเรื่องการพิจารณาหลักเกณฑ์การเยียวยาว่าเหมาะสมกับบริบทบ้านเราไหม และป้องกันการเอาคนพิการออกจากบริษัท คือถ้างานนั้นไม่เกี่ยวกับความพิการ หรือความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เขาต้องไม่ถูกให้ออก เพราะอย่างนั้นมันคือความไม่เป็นธรรม

ก่อนหน้านี้เคยได้ยินว่าระบบผู้ช่วยคนพิการสำคัญอย่างมาก กองทุนประกันสังคมสามารถเข้ามาซัพพอร์ตตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้เราจะขอตอบเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกสวัสดิการเรื่องผู้ช่วยคนพิการตาม พ.ร.บ.คนพิการ ซึ่งเป็นสิทธิที่คนพิการจะต้องได้รับ คือคนพิการมีสิทธิที่จะใช้ผู้ช่วยของภาครัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ปัญหาตอนนี้คือไม่มีผู้ช่วยของภาครัฐ ถึงแม้คนพิการจะมีสิทธิ ทำคำร้องขอใช้ผู้ช่วย แต่รัฐกลับไม่มีผู้ช่วยให้คุณ ขอไปเป็นปีก็ไม่เคยได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันรอไม่ได้ ทั้งที่มีนโยบายอยู่แล้ว มีกฎหมายอยู่แล้ว ถ้ามันใช้ได้จริงคนพิการก็จะมีผู้ช่วย คนพิการรุนแรงก็จะสามารถมีผู้ช่วยได้ และถ้าเขามีผู้ช่วย เขาก็จะสามารถออกไปทำงานได้ ตอนนี้สิทธิและนโยบายมันมีอยู่แล้ว แต่มันใช้ไม่ได้จริง เพราะฉะนั้นคนพิการเลยจำเป็นต้องจ้างผู้ช่วยเอง เพราะกลไกรัฐไม่สามารถใช้ได้จริง

อีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นคือ ต้องทำให้ผู้ช่วยคนพิการมีประกันสังคมด้วย ที่ผ่านมาอาชีพผู้ช่วยคนพิการไม่ถือว่าเป็นอาชีพ เราจะเห็นว่าคนพิการหลายคนจ้างแรงงานข้ามชาติมาเป็นผู้ช่วย แต่ในใบจ้างงานไม่มีให้กรอกว่าอาชีพผู้ช่วยคนพิการ มีแค่อาชีพแม่บ้าน ซึ่งถามว่ามันเหมือนกันเหรอ คำตอบคือไม่เหมือนกัน การเป็นผู้ช่วยคนพิการต้องมีสกิลเพิ่มเติม เช่น เขาจะต้องยกตัวคนพิการ ต้องช่วยอาบน้ำ บางคนต้องสวนปัสสาวะ บางคนต้องเปลี่ยนแพมเพิร์ส เพราะฉะนั้นทักษะเหล่านี้มันไม่ใช่ทักษะเดียวกับแม่บ้าน และกลายเป็นว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยคนพิการ เขาก็ไม่ได้สวัสดิการอะไรเลย 

เราเลยมองว่าสิ่งที่ประกันสังคมจะทำได้ คือสนับสนุนแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ให้เขามีสวัสดิการที่ดี คนเหล่านี้เป็นคนที่ใช้กำลังแรงกายในการทำงาน และแน่นอนว่าคนที่ใช้กำลังแรงกายมันมีเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยว การที่เขาไม่มีหลักประกันอะไรเลยมันก็ไม่แฟร์กับเขาเช่นกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกันกับที่แรงงานเหล่านี้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่มีโอกาสได้สมัครเป็นผู้แทนในบอร์ดประกันสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประกันสังคมจะทำได้ คือทำให้ระบบนี้เป็นที่พึ่งของแรงงานทุกกลุ่มจริงๆ ไม่ใช่ประกันสังคมดาดๆ ที่บอกว่าทุกคนเท่ากัน มันไม่ใช่ ประกันสังคมที่ดีมันก็ต้องเหมาะกับงานของเราด้วย

ดังนั้น ในกรณีของผู้ช่วยคนพิการคงจะต้องมาพิจารณาทั้งระบบว่า ค่าแรงเขาเหมาะสมกับงานแล้วหรือไม่ สวัสดิการที่เขาได้คืออะไร และสุดท้ายปัญหาที่คนพิการหาผู้ช่วยไม่ได้จะถูกแก้เองถ้าระบบหลังบ้านมันดี ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาช่วยแก้ไขเพราะงานมันพ่วงกันหมด ตอนนี้เขาคิดแค่ว่าถ้าขาดผู้ช่วยก็ไปหาคนมาอบรมสิ แต่พออบรมออกมาทำงานวันละ 6 ชั่วโมง ได้วันละ 300 บาท ใครจะทำ 

มีกรณีพี่คนหนึ่งที่เขาจ้างแรงงานข้ามชาติมาเป็นผู้ช่วย แล้วเขาก็เห็นว่ารัฐมีระบบผู้ช่วยคนพิการ จึงยื่นคำร้องเข้าไปเพื่อเอามาช่วยสลับกันดูแล 24 ชั่วโมง เนื่องจากเขาเป็นคนพิการรุนแรง ปรากฏว่าเขียนคำร้องมา 2-3 ปีแล้ว ยังไม่ได้รับการตอบรับ และผู้ช่วยคนพิการที่เป็นแรงงานข้ามชาติไม่เคยได้หยุดเลยสักวันเดียว

อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจลงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในทีมประกันสังคมก้าวหน้า

มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราเหมือนกันนะ สิ่งที่ทำให้เราสนใจเข้ามาทำ เราคิดว่ามันคือการชิงพื้นที่ ถ้าอยากทำให้ประกันสังคมเอื้อต่อคนทุกกลุ่มจริงๆ คนพิการเองก็ต้องแย่งชิงพื้นที่ในการเข้าไปทำนโยบายที่เอื้อกับกลุ่มของเพื่อนๆ เราด้วย

ที่ผ่านมาเราอาจจะมองว่าการต่อสู้หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องคนพิการมันต้องใช้การล็อบบี ใช้การช่วยแบบ case by case คนไหนได้ออกทีวีถึงจะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทำให้นโยบายมั่นคงถาวร ไม่ใช่เป็นนโยบายแบบประชานิยมซึ่งไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อรัฐบาลเปลี่ยน นโยบายเหล่านี้ก็ถูกเปลี่ยน เราไม่ได้ต้องการให้ซ้ำรอยแบบนี้ เราก็เชื่อว่าไม่มีใครควรมาคิดแทนคนพิการ ถ้าเราหวังว่านโยบายประกันสังคมในประเด็นเรื่องคนพิการจะต้องดีขึ้น มันก็ต้องมีคนพิการเข้าไปทำจริงๆ ซึ่งก็คงเป็นเป้าหมายที่คล้ายกับเพื่อนทุกคนในทีม ที่เราเห็นว่าเพื่อนๆ พี่น้องเรายังเข้าไม่ถึงสิทธิ เราก็ต้องทำ

ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นทีมประกันสังคมก้าวหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความไว้ใจ เรามองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่เรารู้จัก เรารู้ว่าเขาทำงานอะไร และเราเชื่อมั่นว่าอุดมการณ์ของเขาเป็นอุดมการณ์เดียวกัน อย่างอาจารย์จั๊ก (รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี) เราก็เจอกันตั้งแต่สมัยที่ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก็เห็นว่าเขาเป็นคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จริง และเป้าหมายของเราคือทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

คาดหวังอย่างไรกับการลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้

ก็คงคาดหวังว่าต้องได้ (หัวเราะ) 

เราก็คาดหวังว่าจะสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประกันสังคมที่เป็นแบบนี้มาอย่างยาวนาน 

เราคุยกันในทีมว่านี่คือการเลือกตั้งครั้งแรก มันอาจจะเป็นเรื่องยาก ผู้ประกันตนหลายคนยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีการเลือกตั้ง หรือถึงแม้จะรู้ก็อาจจะยังมองไม่เห็นความสำคัญ แต่เราเชื่อว่านี่เป็นก้าวแรกที่จะประกาศให้ทุกคนรู้ว่ามันสำคัญและเราก็หวังว่าจะเป็นก้าวแรกสำหรับก้าวต่อๆ ไป เป็นหมุดหมายแรกที่ปักธงว่ารัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมสำหรับแรงงานควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วก็ยังหวังว่าเราจะได้รับเลือกตั้งกันยกทีม 

สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองที่คนพิการจะต้องได้รับในกองทุนประกันสังคมควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ปัจจุบันนี้เรามองคนพิการในแง่ของฟังก์ชันร่างกาย ถ้าเป็นคนพิการแบบนั้นแบบนี้จะไม่สามารถทำงานได้ แต่ว่าในส่วนของประกันสังคม ชื่อมันก็บอกว่าเป็นหลักประกันที่จะทำให้คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันในยามที่เราไม่มีงานทำ หรือในยามที่เราทำงานไม่ไหว 

ในแง่ของคนพิการ เราคิดว่าต้องมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น เช่น ถ้ามีคนทำงานแล้วเกิดอุบัติเหตุพิการขึ้นมา เขาอาจต้องการทักษะใหม่ๆ เพื่อจะเปลี่ยนงานเนื่องมาจากความพิการของเขา ซึ่งประกันสังคมมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เขาไม่หลุดออกจากงาน ต้องสนับสนุนเขาในแบบที่เพียงพอต่อการโยกย้ายงานใหม่ 

เรามีข้อเสนอหนึ่งที่จะให้เงินสนับสนุนกรณีว่างงานเพราะความพิการ ซึ่งจะมีช่วงที่เขาไม่สามารถหางานได้ หรือไม่สามารถเข้าถึงงานใหม่ได้ บางคนจึงควรถูกตีความว่าเป็นคนว่างงานที่กำลังรองานใหม่ ไม่ควรไปตีความแค่ว่าตลอดชีวิตของเขาจะไม่สามารถทำงานได้แล้ว จึงจะได้เงินเยียวยา

ในแง่หนึ่งประกันสังคมก็ต้องเข้าไปตรวจสอบสิทธิด้วย ว่าที่เขาถูกเลิกจ้างด้วยความพิการมันยุติธรรมจริงหรือเปล่า คนพิการคนนี้สามารถทำงานได้ต่อหรือเปล่า เราคิดว่าตรงนี้ประกันสังคมต้องมีส่วน

การออกแบบนโยบายเพื่อคนพิการของทีมประกันสังคมก้าวหน้ามีหลักการอย่างไร

เราก็มีการถกกันว่าการพิสูจน์ความพิการแบบที่รัฐชอบใช้พิสูจน์สิ่งต่างๆ มันเหมาะสมจริงๆ หรือเปล่า มันฟังก์ชันกับการทำงานจริงไหม นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่ามันต้องเอาออก อย่างเรื่องเงินเยียวยา ไม่ว่าคุณจะพิการหรือไม่พิการ แต่ถ้าคุณเป็นลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน คุณก็ควรจะได้รับเงินส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องมาพิสูจน์ว่าเป็นคนพิการรุนแรง และเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณหลุดออกจากการทำงาน คุณไม่สามารถทำงานต่อได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ เงินเยียวยาจะต้องมี เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่จำเป็นต้องมานั่งพิสูจน์

เกณฑ์การพิสูจน์คนพิการ ที่บอกว่าพิการจนทำงานไม่ได้นั้น เงื่อนไขมันต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากเลยนะ อย่างเรา เราพิการ เรานั่งวีลแชร์ ถามว่าทำไมเราจะทำงานไม่ได้ มันยังมีงานอีกมากมายเลยที่เรานั่งทำได้ แต่สภาพสังคมบ้านเราอาจจะตีความว่าเป็นความพิการรุนแรงไปเลย เพราะว่าเราออกจากบ้านไม่ได้ เราไม่สามารถขึ้นรถเมล์ไปทำงานได้ 

เพราะฉะนั้นเกณฑ์เหล่านี้จะต้องถูกปรับให้เหมาะสมด้วย คือถ้าเป็นเมืองนอกเขาจะไม่ตีความว่าเรามีความพิการรุนแรงนะ เรายังเป็นคนที่ทำงานได้ ภาคเอกชน หรือภาครัฐที่เห็นเราพิการแบบนี้แล้วเลิกจ้างเรา เขาควรมีความผิดนะ และควรมีมาตรการปกป้องเราจากการที่เขาเลิกจ้างทั้งๆ ที่เรายังทำงานได้อยู่

ก้าวแรกของรัฐสวัสดิการเพื่อคนพิการภายใต้บทบาทบอร์ดประกันสังคมควรทำอะไรก่อน

อย่างแรกเลยที่เรามองว่ามันได้ประโยชน์และแทบไม่ต้องทำอะไรเลยด้วยซ้ำ ก็คือการทำให้คนพิการสามารถใช้ทุกสิทธิที่เขามีได้อย่างเต็มที่ เช่น เขาเป็นคนพิการที่มีสิทธิคนพิการ และมีสิทธิประกันสังคมด้วย มันจะต้องไม่มีเงื่อนไขที่มาจำกัดให้ใช้เพียงแค่สิทธิใดสิทธิหนึ่ง เราจะเข้าไปเคลียร์ระบบตรงนี้ ให้สามารถประกันได้ว่าคนพิการจะสามารถใช้ได้ทุกสิทธิ

อีกสิ่งหนึ่งที่เริ่มง่ายๆ คือ การรับฟังผู้ประกันตนที่เป็นคนพิการ ให้เขาได้สะท้อนปัญหา เพราะที่ผ่านมาเราไม่มีสหภาพแรงงานคนพิการที่จะมีข้อเรียกร้องอะไรเกี่ยวกับการทำงานหรือสิทธิของเขาเลย

เราเลยคิดว่าเบื้องต้นในฐานะของบอร์ดประกันสังคม เราก็น่าจะต้องรับรู้ปัญหา และพยายามผลักดันให้เกิดข้อเสนอของคนทำงานที่เป็นคนพิการให้ได้ เราเข้าใจว่ารัฐไม่ชอบให้ตั้งกลุ่มอะไรแบบนี้หรอก เพราะเขากลัวว่าเราจะมีอำนาจต่อรองขึ้นมา แต่เรามองว่าสิ่งเหล่านี้มันจำเป็นมากๆ ที่จะต้องมี และคนพิการเองก็ควรจะต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อบอกว่าตัวเองยังขาดอะไร ต้องการอะไร หรืออะไรที่ยังเข้าไม่ถึง คิดว่าส่วนนี้น่าจะเป็นก้าวแรกที่เราจะทำงาน เพราะเราคงนั่งเทียนทำงานไม่ได้ว่าคนพิการต้องการอะไร ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นตัวแทน เสียงของเขาจึงสำคัญที่สุด

ปัญหาอะไรบ้างที่ควรจับตามองสำหรับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้

ในฐานะที่ตัวเราเองเป็นตัวแทนกลุ่มคนพิการ จริงๆ เราก็ทำงานได้กับทุกกลุ่ม เพราะการเป็นบอร์ดประกันสังคมก็ไม่ได้แบ่งประเภทว่าเราต้องทำงานเพื่อคนพิการอย่างเดียว เราทำงานเพื่อคนทุกคนที่เป็นแรงงานที่มีประกันสังคม แต่ที่สำคัญคือคนพิการจำนวนมากไม่มีประกันสังคม เพราะฉะนั้นมันยากมากๆ ที่เราจะหาฐานเสียงจากคนพิการในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ แต่เราก็ต้องทำงานต่อไป เพื่อให้เขารู้ว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้น

อีกข้อหนึ่งที่ท้าทายก็คือ ในวันเลือกตั้งอย่างที่เราเห็นจากการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง ทั้งเลือกตั้งใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ หรืออะไรก็แล้วแต่ คนพิการเหมือนเป็นกลุ่มคนที่ภาครัฐลืมไปว่ามีเขาด้วย หน่วยเลือกตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวกมันแย่มาก บางหน่วยเลือกตั้งอยู่บนอาคารชั้น 3 หรืออีกกรณีคือไม่มีอักษรเบรลล์อำนวยให้กับคนตาบอด อันนี้เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก ถึงแม้คนพิการจะมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็อาจเข้าไม่ถึงหน่วยเลือกตั้ง และไม่สามารถไปเลือกตั้งได้อยู่ดี

อย่างบัตรเลือกตั้งจะใช้วิธีเขียนตัวเลข 7 เบอร์ คนตาบอดจะเขียนอย่างไรล่ะ แค่เขียนให้ตรงช่องมันก็ยากแล้วนะ แล้วอันนี้ต้องเขียน 7 เบอร์ลงไป ในใบรายชื่อผู้รับสมัครมีถึงเบอร์ 200 กว่าเลยนะ เท่ากับว่าในหนึ่งช่องอาจจะต้องเขียนเลขถึง 3 ตัว แล้วมี 7 ช่อง แล้วเราก็ยังไม่แน่ใจในเรื่องวิธีการจัดการในหน่วยเลือกตั้ง ว่าเขาจะจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไร

หน่วยเลือกตั้งเองก็มีน้อยมาก ต่างจังหวัดมีแค่ไม่กี่ที่เอง คนก็อาจจะต้องใช้เงินเยอะในการเดินทาง พอมาถึงแล้วก็ไม่รู้จะเข้าถึงได้ไหม จะเลือกได้ไหม

ในการทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่อาจมีแนวคิดและจุดยืนเรื่องรัฐสวัสดิการแตกต่างจากเรา จะทำอย่างไรให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

เราคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นอยู่แล้วที่เราจะได้รับเลือกตั้งไม่ครบทีม บางคนเขาก็จะมีฐานเสียงของเขาเป็นตัวเต็งเลย แต่สุดท้ายเราคิดว่ามันก็ต้องทำงานได้ เพราะเป้าหมายหนึ่งที่มีร่วมกันของคนที่เข้ามาเป็นบอร์ดประกันสังคมในฐานะลูกจ้าง คือเราอยากทำให้คุณภาพชีวิตของลูกจ้างดีขึ้น เพียงแต่ว่าวิธีการและความเชื่อของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน

ในแง่หนึ่งถ้าเราได้ฟังเสียงคนพิการมากพอ ไม่ได้คิดแทนเขา ในการทำนโยบายประกันสังคมประเด็นคนพิการ คณะทำงานคนอื่นๆ ก็น่าจะต้องเห็นตรงกัน แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือฝั่งของนายจ้าง เราเองเป็นฝั่งลูกจ้าง เราก็จะคำนึงถึงสิทธิของลูกจ้าง แต่มันอาจจะไปขัดกับสิ่งที่นายจ้างเขาต้องการ เขาอาจจะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันมากเกินไปที่ลูกจ้างจะมาเรียกร้อง

-3-

อนาคตรัฐสวัสดิการเพื่อผู้พิการ

สำหรับคนพิการที่เคยมีงานทำ ถ้าวันหนึ่งไม่สามารถทำงานได้แล้ว รัฐควรจะเข้ามาซัพพอร์ตอย่างไร

คิดว่ามีองค์ประกอบหลายส่วนมาก อย่างแรกคือถ้าเรามีผู้ช่วยคนพิการที่เป็นระบบที่ดี สามารถใช้บริการได้จริง เป็นสวัสดิการที่เข้าถึงได้จริง คนพิการก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพราะมีระบบผู้ช่วยคนพิการมาซัพพอร์ต หรือถ้าเขาเป็นแรงงานที่มีประกันสังคม แล้ววันหนึ่งทำงานไม่ได้ เขาก็ยังมีเงินเยียวยาต่อไป ถึงแม้อาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาใช้ชีวิตได้ 

เราเชื่อว่าถ้ามีโครงสร้างรัฐสวัสดิการที่ดี ถึงแม้คนพิการจะอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีลูกให้พึ่งพา เราก็จะมั่นใจว่าอยู่ได้ แต่ทุกวันนี้จะเห็นข่าวเยอะมากๆ ตามอินเทอร์เน็ตหรือข่าวในโทรทัศน์ที่หลายครอบครัวเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง เพราะมองไม่เห็นทางออก แต่ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการที่ทุกคนสามารถมีชีวิตปกติได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ข่าวแบบนี้มันก็จะน้อยลง 

กองทุนประกันสังคมควรพัฒนาไปในรูปแบบใด เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและไม่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนพิการ

ถ้าจะทำให้กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีศักดิ์ศรี และเป็นกองทุนที่คนรู้สึกพึ่งพาได้ มันต้องเริ่มจากการบริหารจัดการแบบโปร่งใสก่อน ที่ผ่านมาเราต้องจ่ายสมทบประกันสังคมทุกเดือน แต่เราก็ไม่รู้เลยว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรบ้าง แล้วเราจะได้กลับมาจริงๆ หรือเปล่า เรารู้แค่ว่ามันมีกองทุนนี้อยู่ ซึ่งสุดท้ายเราคิดว่าการบริหารที่โปร่งใส มีนโยบายที่เห็นคนทำงานจริงๆ และเป็นหลักประกันให้คนทำงานจริงๆ จะเป็นสิ่งที่ทำให้กองทุนมีความยั่งยืนและเป็นที่พึ่งของคนทำงานได้ 

เคยมีข่าวลือว่าเดี๋ยวกองทุนนี้จะล่ม เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องถูกพิจารณาใหม่ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร เพราะไม่สามารถเป็นที่พึ่งของคนได้หรือเปล่า หรือว่ามันไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้มันโปร่งใสตรวจสอบได้ ว่าเงินถูกเอาไปใช้แบบที่มีประโยชน์กับคนทำงาน เราคิดว่าในอนาคตคงมีทิศทางที่ดีขึ้น

กลไกอะไรที่จะช่วยวางรากฐานให้สังคมมีรัฐสวัสดิการสำหรับคนพิการได้อย่างถ้วนหน้า

เราคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิม ต้องรื้อระบบสงเคราะห์ ระบบอุปถัมภ์ที่เคยมีอยู่ เราจะมองคนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันได้ก็ต่อเมื่อความคิดแบบสงเคราะห์หรือความคิดเชิงทำบุญ เชิงเวทนานิยมมันหมดไป เราต้องหลุดออกจากกรอบความคิดแบบนี้ให้ได้ก่อน แล้วถ้ามีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องสิทธิ ทำให้คนพิการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีตัวตน สามารถทำทุกอย่างเองได้ คนในสังคมจะได้ไม่ต้องมาแสดงความสงสารอีก

ถ้าถึงจุดหนึ่งคนพิการสามารถมีชีวิตที่เท่าเทียมกับคนอื่นได้ เมื่อนั้นคนในสังคมก็คงไม่มองคนพิการแบบสงสารอีกต่อไป เราอาจสงสารกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่ไม่ใช่สงสารแค่เพราะว่าเขาเกิดมาเป็นคนพิการ ทั้งที่จริงแล้วสภาพแวดล้อมโครงสร้างสังคมเรามันบังคับให้คนพิการเป็นคนที่ดูด้อยโอกาสกว่าคนอื่น 

อย่างเราเรียนร่วมกับเพื่อนที่ไม่ได้มีความพิการ วันแรกๆ ที่เข้าไปเรียน เขาก็จะสงสาร แบบโอ๊ยสงสารมากเลยต้องมานั่งรถเข็นตั้งแต่เด็ก หรือบอกว่าน่าสงสารเมื่อไหร่จะหาย มันจะมีคำพูดแบบนี้อยู่เสมอ เนื่องจากเขาไม่เคยมีคนรอบตัวเป็นคนพิการ แต่พอเราอยู่กันไปเรื่อยๆ เขาเริ่มเห็นว่าเราก็เรียนได้เหมือนเขา เพียงแค่เราเดินไม่ได้ เพื่อนๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าความพิการมันไม่ได้เป็นปัญหาของตัวเรา ถ้าโรงเรียนมีทางลาด มีลิฟต์ เราก็ขึ้นไปเรียนได้ทุกตึก ทุกห้อง เหมือนกับคนอื่น 

เพราะฉะนั้นการได้เห็นตัวตน การได้ใช้ชีวิตร่วมกัน มันจะทำให้คนในสังคมเปลี่ยนความคิดได้เอง อย่างที่ออฟฟิศเรามีทางลาด พื้นที่ก็เรียบ ก็ไม่เห็นมีใครในออฟฟิศสงสารเราสักคน เขาก็ปฏิบัติกับเราเหมือนกับคนอื่น แต่ลองคิดสภาพว่าถ้าออฟฟิศมีแต่บันได เขาก็ต้องมาช่วยยกครั้ง มันก็เกิดความรู้สึกทั้งสงสาร ทั้งรำคาญด้วย 

เราคิดว่าถ้าอยากให้คนในสังคมเปลี่ยนความคิด มันต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก่อน ทั้งในแง่สิทธิขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ถ้าโครงสร้างเปลี่ยน คนในสังคมก็จะเปลี่ยนตามเอง

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

อชิรญา ดวงแก้ว
ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบแลกเปลี่ยนเรื่องราว

Photographer

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า