ฝันสิบราตรี: ความจริงกบดานตอนตื่น จำแลงกายฟื้นคืนตอนฝัน

 

ข้าพเจ้าฝันเช่นนี้

ข้าพเจ้าฆ่าคนตายไป 1 คน และต้องหาทางซ่อนศพของเขา ในฝันข้าพเจ้ารู้สึกผิดบาปมาก ไม่สบายใจเพราะกลัวความจริงถูกเปิดเผย ข้าพเจ้าฝันเช่นนี้หลายครั้ง แต่ละครั้งจำนวนศพจะเพิ่มมากขึ้น และศพเดิมก็ยังตรึงในสำนึกในฝัน ผิดบาปทบทวีตามจำนวนศพที่พอกพูนขึ้นตามจำนวนคืนที่ฝันถึง

 

ข้างต้นคือการทดลองเขียนความฝันของข้าพเจ้า คุณผู้อ่านมองเห็นอะไรไหมผ่านความฝันเช่นนี้ ศาสตร์ของความฝันลี้ลับและน่าหลงใหลเสมอ และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ถูกใช้ในโลกของศิลปะในโลกของการประพันธ์มาทุกยุคทุกสมัย

 

ฝันสิบราตรี คือเรื่องชุดของ นัตสึเมะ โซเซกิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้มีผลงานช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1900 งานเขียนชุดนี้เคยลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ในปี ค.ศ. 1908 นักประพันธ์ผู้นี้เป็นปูชนียบุคคลของวรรณกรรมญี่ปุ่น หลักฐานก็คือรูปของเขาปรากฏบนธนบัตรหนึ่งพันเยนของญี่ปุ่นระหว่างปี 1984-2004 แต่ที่เหนือไปกว่านั้น ผลงานเขียนเรื่อง ฝันสิบราตรี เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง Dreams ค.ศ. 1990 ของ คุโรซาวะ อากิระ

 

ฝันสิบราตรี ฉบับภาษาไทยจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ JLIT ประกอบด้วยเนื้อหาสองส่วน ส่วนแรกคืองานเขียนชุด ฝันสิบราตรี ประกอบด้วยเรื่องเล่าขนาดสั้นจำนวน 10 เรื่อง ตั้งแต่คืนที่หนึ่ง ถึงคืนที่สิบ ส่วนหลังคือเรื่องสั้นชื่อ นกกระจอกชวา ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับงานเขียนชุด ฝันสิบราตรี คณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้จึงนำเรื่องสั้น นกกระจอกชวา จัดพิมพ์เพิ่มในส่วนท้ายหนังสือด้วย

 

เมื่อความฝันเป็นคอนเซ็ปต์หลักของเรื่องชุดนี้ เรื่องเล่าทั้งสิบเรื่องจึงไม่มีที่มา เพราะเรามักจดจำตอนจบของความฝันได้ดีกว่าจุดเริ่มเรื่องในความฝัน เรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่องต่างเป็นเอกเทศจากกันและกัน แต่ก็มีเอกภาพเป็นงานเขียนที่มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับความฝันชัดเจน

 

ถ้าเราอ่านว่าความฝันทั้ง 10 คืนนี้ เป็นความฝันของบุคคลเดียวกัน ก็ยิ่งสนุกในการอ่านและตีความเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตยามตื่นผ่านความฝันของเขา สำรวจบุคลิกและสถานการณ์ที่บุคคลผู้นั้นกำลังพบเจอในโลกความจริง เพราะความฝันย่อมสะท้อนชีวิตในช่วงลืมตาตื่น

 

ฉากและเหตุผลและเหตุการณ์ในฝันทั้ง 10 เรื่อง เป็นเหตุการณ์แปลกประหลาดแต่สมจริง พิลึกแต่ยอมรับได้ มหัศจรรย์แต่เป็นสัจจะ ในฝันทั้ง 10 เรื่อง ผู้ฝันเปี่ยมล้นด้วยความปรารถนาถึงสิ่งใดสักสิ่ง แต่ไม่สมปรารถนาเลยสักเรื่อง

 

ความฝันทั้ง 10 คืนถูกเล่าอย่างสั้นและกระชับ แต่บรรจุไว้ด้วยปริศนา ข้าพเจ้าอ่านมันเป็นประหนึ่งปริศนาธรรมจากดาบของซามูไร กลิ่นและรสของ ฝันสิบราตรี เป็นแบบนั้น อย่างน้อยที่สุดเมื่อเรื่องสั้นผ่านตาไปทีละเรื่อง เราจะยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก แต่มันดึงดูดและมันตรึงหมุดอะไรสักอย่างไว้ที่เรา

 

ข้าพเจ้าอยากยกตัวอย่างถึงความฝันในเรื่องชุดนี้

ในฝันคืนหนึ่ง ชายผู้หนึ่งฝันเห็นอุงเค นักบวชผู้มีชื่อเสียงในทางช่างฝีมือแกะสลักสร้างพระพุทธรูป เขามีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 794-1185 ในฝันนั้นเขากำลังดูอุงเคแกะสลักเทพทวารบาลที่ซุ้มประตูวัดอย่างวิจิตรบรรจง และได้รู้จากคำบอกเล่าว่า รายละเอียดและรูปร่างต่างๆ ที่อุงเคแกะสลักได้ฝังอยู่ในเนื้อไม้นั้นอยู่แล้ว เขาแค่ใช้สิ่วกับค้อนขุดขึ้นมาต่างหาก “เหมือนกับขุดหินออกจากใต้พื้นดิน จึงไม่มีทางผิดพลาดไปได้” ได้ยินดังนั้น ชายผู้นี้จึงกลับมาแกะเนื้อไม้ แต่แกะเท่าไรก็ไม่พบรูปร่างของเทพองค์ใดเลย

 

ในฝันคืนหนึ่ง ชายผู้หนึ่งฝันว่าเพื่อนของตนได้หายตัวไป 7 คืน สาเหตุเพราะเพื่อนของเขาติดตามผู้หญิงคนหนึ่งไปตามนิสัยเจ้าสำราญของเขา จนไปถึงยอดผาที่ที่ซึ่งมีหมูเป็นกองทัพอยู่ และเขาก็เกลียดหมูเป็นอย่างยิ่ง เขาใช้ไม้ตีหมูที่จู่โจมเข้ามาหาเขาตกหน้าผาไปเป็นจำนวนไม่ถ้วน ตีอยู่แบบนั้น 7 คืน

 

ในฝันคืนหนึ่ง ชายผู้หนึ่งฝันว่าลูกชายของตนตาบอด ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ตาบอด ในฝันลูกชายตาบอดกลับมองเห็นและล่วงรู้ถึงสิ่งต่างๆ ล่วงหน้ายิ่งกว่าคนตาดี และสุดท้ายเขาก็พบว่าลูกชายตาบอดได้นำทางเขาจนไปพบเรื่องราวในอดีต ว่าตนคือฆาตกรที่ฆ่าชายตาบอดเมื่อชาติภพก่อน

 

อ่านเรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่องในงานเขียนชุด ฝันสิบราตรี จบ ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มเอมในรสชาติของความลี้ลับของความฝันและกระหายหิวที่จะตีความปริศนาที่อยู่ในมัน เมื่ออ่านเนื้อหาในส่วนหลังคือเรื่องสั้น นกกระจอกชวา เราก็จะพบการส่องสะท้อนกันระหว่างเรื่องชุด ฝันสิบราตรี กับเรื่องสั้น นกกระจอกชวา เพราะเรื่องสั้น นกกระจอกชวา เล่าเรื่องชีวิตประจำวันของนักเขียนคนหนึ่งที่เพิ่งรับเลี้ยงนกกระจอกชวาตัวหนึ่ง ตัวเรื่องมีฉากผลัดเปลี่ยนกลางวันกลางคืนอยู่หลายคืน และเราก็รู้ว่านักเขียนผู้เลี้ยงนกผู้นี้ตื่นขึ้นมาจากราตรีหลายคืนในช่วงเวลาของเรื่อง

 

แน่นอนว่า เรื่องสั้น กกระจอกชวา ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องชุด ฝันสิบราตรี งานเขียนทั้งสองชิ้นต่างเป็นเอกเทศจากกันอย่างเด็ดขาด ไม่เกี่ยวกันอย่างสิ้นเชิง แต่การจัดพิมพ์ในภาษาไทยครั้งนี้ก็ทำให้งานเขียน 2 ชุดของนักเขียนผู้ล่วงลับ ได้มีโอกาสล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ของกันผ่านการอ่านในโลกภาษาไทย เพราะในงานชุด ฝันสิบราตรี ชีวิตยามตื่นของตัวละครดูเหมือนจะเป็นเงารางเลือนในความฝันที่เขาเล่า ขณะที่ นกกระจอกชวา เราพบร่องรอยความฝันได้ในชีวิตยามตื่นของตัวละครที่เป็นนักประพันธ์

 

ฝันสิบราตรี
นัตสึเมะ โซเซกิ เขียน
น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ, ปฐมพร แย้มสุขเสรี, พิมพิชา วานิชศิริโรจน์, สายัณห์ ทิพรส และ กัลยาทรรศน์ วงษ์จันทร์ แปล
สำนักพิมพ์ JLIT

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า