ปฏิบัติการนองเลือดของ IS เพื่อพยายามยึดครองไซนาย

สุเหร่า อัล-รอว์ดา

รัฐบาลอียิปต์ใช้กำลังทางอากาศออกตอบโต้กลุ่มผู้ถืออาวุธ หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่โดยการโจมตีด้วยระเบิดและกราดยิงที่สุเหร่าแห่งหนึ่งในคาบสมุทรไซนายตอนเหนือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเหตุการณ์โจมตีนองเลือดครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของอียิปต์ ที่ยังไม่มีกลุ่มใดออกมายอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ปฏิบัติการทางทหารดำเนินไปแบบฉับพลันตามคำสั่งของ ประธานาธิบดี อับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี (Abdel Fattah al-Sisi) แห่งอียิปต์ ประกาศตอบโต้ด้วยการใช้กำลังเต็มที่

กองทัพแถลงว่า การโจมตีตอบโต้ด้วยเครื่องบินรบได้สังหารกลุ่มผู้ถืออาวุธจำนวนหนึ่งบริเวณใกล้กับรถยนต์หลายคันเสียชีวิตไปทั้งหมด

อัยการใหญ่แห่งอียิปต์ นาบิล ซาเดค (Nabil Sadeq) ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นนักรบติดอาวุธใช้ระเบิดและอาวุธปืนก่อเหตุโจมตีสุเหร่า อัล-รอว์ดา (al-Rawdah) ใกล้เมือง บีร์ อัล-อาเบด (Bir al-Abed) ในคาบสมุทรไซนายทางตอนเหนือของอียิปต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่นับได้ล่าสุด 305 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 27 ราย และยังมีผู้บาดเจ็บอีก 128 คน

ขบวนการ IS ในไซนาย

การสังหารโหดโดยกลุ่มเครือข่าย IS

เหตุการณ์สังหารโหดเกิดขึ้นขณะมีการทำละหมาดวันศุกร์ที่สุเหร่า อัล-รอว์ดา นับว่าเป็นการโจมตีสุเหร่าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในครั้งเดียว นับตั้งแต่กลุ่มนักรบของ ‘ขบวนการรัฐอิสลาม’ (Islamic State: IS) บนคาบสมุทรไซนายยกระดับก่อความไม่สงบในภูมิภาคมากขึ้นเมื่อปี 2013

และแม้ว่าไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างตนเป็นผู้ก่อเหตุ แต่เจ้าหน้าที่ของอียิปต์ผู้สอบสวนเหตุการณ์ระบุว่ามือปืนบางคนที่เข้าโจมตีได้ถือธงสัญลักษณ์ของขบวนการ IS ด้วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นรายงานว่า หลังจากการระเบิดเกิดขึ้นในสุเหร่า ผู้ไปร่วมละหมาดและยังรอดชีวิตก็พากันแตกตื่นออกมา ขณะที่ชายถืออาวุธหลายสิบคนใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นพาหนะเปิดฉากยิงใส่ผู้คนที่กำลังแตกตื่น

ทางการแจ้งว่า ผู้ก่อเหตุจุดไฟเผารถยนต์จำนวนหนึ่งที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อขัดขวางไม่ให้รถพยาบาลและเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตเข้าถึงสุเหร่า

ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ที่เกิดเหตุเต็มไปด้วยร่างและเลือดของผู้เคราะห์ร้ายเรียงรายเป็นแถวอยู่ในสุเหร่า ผู้คนในพื้นที่เปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า “พวกมือปืนยิงใส่คนที่กำลังวิ่งหนีออกมาจากสุเหร่า และยิงใส่รถพยาบาลที่มาช่วยด้วย”

ผู้ก่อการร้ายติดอาวุธได้ก่อการโจมตีในพื้นที่ไซนายหลังจากกองทัพอียิปต์ล้มล้างรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีแนว Islamist โมฮัมเหม็ด มอร์ซี (Mohammed Morsi) ต่อเนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่เมื่อ กรกฎาคม 2013

ตั้งแต่นั้น เกิดเหตุการณ์โจมตีที่ทำให้ตำรวจ ทหาร และพลเรือนหลายร้อยคนถูกสังหารไป ส่วนใหญ่เป็นการโจมตีที่ดำเนินการโดยเครือข่ายติดอาวุธที่เกี่ยวข้องกับขบวนการรัฐอิสลาม ในจังหวัดไซนาย

บริเวณสุเหร่า อัล-รอว์ดา

การโจมตีครั้งนี้น่าจะเป็นการเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งสำคัญของหน่วยเครือข่ายภายใต้ขบวนการ IS ในไซนาย ที่หันมาโจมตีกลุ่มศาสนิกต่างนิกาย นอกเหนือไปจากที่เคยลอบโจมตีบุคลากรแห่งหน่วยงานความมั่นคงของอียิปต์

แต่พวกญิฮาด (jihadists) เหล่านี้ยังได้ก่อการโจมตีชนเผ่าในไซนายที่ให้ความร่วมมือทำงานกับกองกำลังของทางการ เพราะถือว่าเป็นผู้ทรยศ

สุเหร่าแห่งนี้เป็นของศาสนิกนิกายซูฟี (Sufi) สาขาค่อนข้างลึกลับของศาสนาอิสลาม ซึ่งสาวกของนิกายถูกมองโดยกลุ่มอิสลามเคร่งครัดสุดโต่งว่าเป็นพวกนอกรีต เพราะมีการนับถือบูชาพวก ‘นักบุญ’ และ ‘ศาลศักดิ์สิทธิ์’

ก่อนหน้านี้ไม่นาน หน่วยโฆษณาชวนเชื่อของรัฐอิสลามได้ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้า ‘ตำรวจศีลธรรม’ ใน ‘จังหวัดไซนาย’ ของตนที่ตั้งขึ้นเอง กล่าวว่า “ความสำคัญอันดับแรกคือการต่อต้านและทำลายการสำแดงพหุเทวนิยม (polytheism) รวมทั้งลัทธิซูฟีด้วยอย่างแน่นอน”

กลุ่มติดอาวุธของรัฐอิสลามปฏิบัติการทางตอนเหนือของคาบสมุทรไซนายมาแล้วหลายปี ส่วนใหญ่มุ่งโจมตีกองกำลังของทางการ นี่เป็นครั้งแรกที่เจาะจงสังหารพวกศาสนิกภายในสุเหร่า

สื่อมวลชนไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าไปบริเวณตอนเหนือของไซนายในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รวมถึงสื่อที่รัฐให้การสนับสนุนด้วย

จำนวนการโจมตีหลายครั้งทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของทางทหาร กองทัพออกแถลงการณ์อยู่เสมอ โดยอ้างถึงชัยชนะในหลายพื้นที่ของไซนาย แต่ก็ดูเหมือนว่าการสู้รบระหว่างกองทัพและกลุ่มติดอาวุธที่ดำเนินอยู่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้เมื่อใด

นักรบจังหวัดไซนายของ IS ก่อการโจมตีขบวนรถใกล้กับเมือง เอล อาริช (el-Arish) เมื่อเดือนกันยายน ทำให้ตำรวจ 18 นายเสียชีวิต

การโจมตีโบสถ์คอปติก

ตลอดหลายปี กลุ่มนี้พยายามแผ่อิทธิพลจากคาบสมุทรไซนาย ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลทรายทุรกันดาร เข้าสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ของอียิปต์ ซึ่งมีประชากรหนาแน่นกว่า เคยก่อเหตุโจมตีสังหารชาวคริสต์นิกายคอปติก (Coptic church) แห่งอียิปต์หลายครั้งในพื้นที่อื่นของประเทศ

เมื่อเดือนพฤษภาคม มือปืนโจมตีผู้แสวงบุญชาวคริสต์คอปติกขณะเดินทางไปยังโบสถ์แห่งหนึ่งในภาคใต้ของอียิปต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย นอกจากนี้ยังเคยอ้างว่าได้วางระเบิดเครื่องบินของรัสเซียที่บรรทุกนักท่องเที่ยวจากไซนายเมื่อปี 2015 ทำให้คนบนเครื่องเสียชีวิต 224 ราย

ส่วนใหญ่ปฏิบัติการของแนวร่วม IS นี้จะอยู่ที่บริเวณตอนเหนือของคาบสมุทรไซนาย ซึ่งรัฐบาลอียิปต์จัดให้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ ตุลาคม 2014 เมื่อเจ้าหน้าที่ 33 นายถูกสังหารในการโจมตีที่ทางกลุ่มอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุ เชื่อกันว่าต้องการเข้าควบคุมคาบสมุทรไซนาย เพื่อเปลี่ยนให้เป็นจังหวัดอิสลามภายใต้การควบคุมของขบวนการ IS

อิหม่ามใหญ่ของมัสยิด อัล-อัซฮาร์ (al-Azhar mosque) ในกรุงไคโร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ของชาวมุสลิมสุหนี่ประณามการโจมตีว่าเป็น “ความพยายามเพื่อแพร่กระจายความโกลาหล”

“หลังจากจองล้างจองผลาญชาวคริสต์มาแล้ว คราวนี้เป็นการเล่นงานสุเหร่า” อิหม่ามกล่าวในแถลงการณ์ “ดูเหมือนว่าพวกก่อการร้ายต้องการมุ่งผสานชาวอียิปต์ไว้ด้วยกันโดยใช้ความตายและความสับสนวุ่นวาย อย่างไรก็ตามมันจะต้องพ่ายแพ้และความตั้งใจมุ่งมั่นของชาวอียิปต์จะมีอยู่เหนือกว่า”

เสียงประณามจากนานาชาติ

ภายในไม่นาน เสียงประณามระหว่างประเทศต่อการโจมตีดังขึ้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเลขาธิการ อันโตนีโอ กูแตร์เรส (António Guterres) ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีว่าเป็น “การโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่น่ารังเกียจและขี้ขลาด” และเรียกร้องให้นำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“ชาวโลกต้องไม่อดทนต่อการก่อการร้าย เราต้องใช้กำลังทางทหารเข้ากำราบและทำลายอุดมการณ์สุดโต่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำรงอยู่ของคนเหล่านี้” ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เขียนข้อความลงในทวิตเตอร์ เรียกการโจมตีว่าเป็นสิ่ง “น่าสยดสยองและขี้ขลาด”

นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของอังกฤษ ทวีตข้อความ “รู้สึกตกใจกับเหตุโจมตีที่น่ารังเกียจที่สุเหร่าทางตอนเหนือของไซนาย ขอแสดงความเสียใจกับทุกคนในอียิปต์ที่ได้รับผลกระทบจากพวกปีศาจและการกระทำแบบขี้ขลาดนี้”

รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ประณามว่าเป็นการโจมตีแบบ “ป่าเถื่อน” ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอง อีฟ เลอแดรง (Jean-Yves Le Drian) แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากการโจมตีที่น่ารังเกียจ

อาเมด อาบูล เกอิต (Ahmed Aboul Gheit) เลขาธิการสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงไคโรกล่าวประณาม “อาชญากรรมที่น่าสยดสยองซึ่งแสดงให้เห็นอีกครั้งว่าอิสลามไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกที่ยึดมั่นในแนวคิดก่อการร้ายสุดโต่ง”

ประธานาธิบดีซิซีแห่งอียิปต์ประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลาสามวัน


อ้างอิงข้อมูลจาก:
BBC / bbc.co.uk
Reuters /reuters.com
The Guardian / theguardian.com

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า