กระแสข่าวกดดันรัฐบาลเปิดให้มีการแข่งขันมวยอีกครั้งจากคนวงการมวย โดยขอให้เปิดการแข่งขันในรูปแบบปิดเพื่อบันทึกเทปเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ สะท้อนการเปลี่ยนภูมิทัศน์วงการมวยไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งการขยายตัวของแฟนมวยไปยังต่างประเทศ และผลประโยชน์มหาศาลที่สูญเสียระหว่างมาตรการยับยั้งไวรัสร้ายระบาด
การปิดเวทีมวยเกิดขึ้นหลังจากมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการดูมวยในสนามมวยชื่อดัง 2 แห่ง คือ เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งนำมาสู่การแถลงปิดการดำเนินการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น กรณีนี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศว่าสนามมวยของไทย ไม่เพียงเป็นพื้นที่การแข่งขันกีฬาเท่านั้น หากยังเป็นขุมทรัพย์ของกองทัพไทยด้วย
31 มีนาคม 2563 สำนักข่าวนิกเคอิของญี่ปุ่นรายงานว่า คลัสเตอร์หลักของการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ในไทยเกิดขึ้นในสนามมวยลุมพินีที่กองทัพบกเป็นผู้ดูแล การแข่งขันเกิดขึ้นวันที่ 6 มีนาคม 2563 ฝืนข้อเรียกร้องของหน่วยงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งให้ยกเลิกการแข่งมวยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เพียง 2 วัน
หลังเหตุการณ์ดังกล่าวกองทัพออกมาเปิดเผยว่า การจัดงานชกมวยในวันนั้นเพื่อระดมทุนให้กับชั้นเรียนนายร้อยที่ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เรียนจบมา ผู้เข้าร่วมงานจึงมีทั้งคนดังทางการเมือง ชนชั้นนำ ดารานักแสดง รวมถึงนายทหารระดับสูงและกลุ่มผู้บริหารธุรกิจที่ทำการค้าขายกับกองทัพ หนึ่งในบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยลุมพินีที่ถูกตรวจพบว่าติดโควิด-19 คือ พลตรีราชิต อรุณรังษี (เป็นเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกในเวลานั้น) และเป็นนายสนามมวยลุมพินีก่อนจะถูกสั่งย้ายหลังเหตุอื้อฉาวเกิดขึ้น
นอกจากผลสอบข้อเท็จจริงที่สาธารณชนยังรอคอยอยู่ว่าเหตุอันใดสนามมวยจึงเปิดได้ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้านหนึ่งสนามมวยยังเป็นหนึ่งในธุรกิจกองทัพที่ควรพิจารณาด้วย ดังที่ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ประกาศให้กรมธนารักษ์มาบริหารจัดการโครงการสวัสดิการเชิงพาณิชย์ของทหารเดิม หลังเกิดเหตุการณ์ทหารกราดยิงประชาชนที่นครราชสีมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ลืมภาพศิลปะการต่อสู้แบบเดิมไปก่อน
มวยไทยร่วมสมัย ไม่ได้เป็นเพียงศิลปะการต่อสู้ที่ประเทศไทยยึดเอาเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมมาสักพักแล้ว เพราะปัจจุบันมวยไทยถูกนับเป็นสินค้าอีกประเภทที่สร้างรายได้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องมหาศาล ซึ่งไม่ใช่เพียงนักมวย พี่เลี้ยง กรรมการ หรือแม้แต่โปรโมเตอร์มวย ฯลฯ อีกต่อไป
การแข่งขันมวยประกอบด้วย นายสนามมวย โปรโมเตอร์ หัวหน้าค่ายมวย นักมวย สปอนเซอร์ และผู้ชม แต่การทำหน้าที่ต่างๆ ในสนามยังสะท้อนความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่กว้างไกลไปมากกว่าคนในวงการกีฬา หากแต่เกี่ยวดองหนองยุ่งไปยังผู้มีอำนาจในวงการต่างๆ
นายสนามมวยต้องเป็นผู้ที่กว้างขวางในวงการมวย การมีเงินทุนอย่างเดียวไม่สามารถเป็นนายสนามมวยที่ประสบความสำเร็จได้ หากแต่ต้องมีทั้งบารมีและเครือข่ายในวงการมวยไทย
เฉพาะการจัดแข่งขันชกมวยแต่ละครั้ง ทางสนามมวยจะมีรายได้จากส่วนแบ่งของการจำหน่ายบัตรผ่านประตู เช่น เวทีมวยราชดำเนินจะเก็บเงินจากผู้จัด 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากค่าบัตรผ่านประตู ทางสนามมวยจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ยกเว้นค่าตัวนักมวย ทั้งเงินเดือนของกรรมการ พนักงานจำหน่ายบัตร เจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ ขณะที่สนามมวยลุมพินี ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามมวยที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ จะเก็บ 80,000 บาท และร้อยละ 5 ของค่าผ่านประตู ส่วนภาษีนั้นไม่ต้องเสีย เพราะเป็นการจัดมวยในนามกรมสวัสดิการทหารบก ภายใต้การแบ่งโควตาให้โปรโมเตอร์มวยจำนวน 13 คน นับตั้งแต่เปิดสนามในปี 2557 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
นั่นจึงเป็นที่มาว่าโปรโมเตอร์ค่ายมวยไม่ใช่เพียงจัดการแข่งขัน นายพีรพงษ์ ส่วนเกียรติเพชร เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง กระบวนการที่ทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า: กรณีศึกษามวยไทยผ่านสื่อโทรทัศน์ เขียนโดย ทรายทิพย์ ธีระเดชพงศ์ ระบุว่า
นอกจากฝีมือในการประกบคู่มวยและการบริหารจัดการสนามแข่งขันแล้ว การที่จะทำหน้าที่โปรโมเตอร์ให้ประสบความสำเร็จและอยู่ในวงการอย่างยาวนาน ยังจะต้องมีการสร้างสายสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายที่กว้างขวางทั้งวงการราชการ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ เพื่อที่จะทำให้การจัดการชก หรือหากลุ่มผู้สนับสนุนราบรื่นไปด้วยดี
สนามมวยลุมพินีภาพแทนผืนผ้าใบยุคหลัง คสช.
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบรรยากาศรายรอบเวทีมวยจึงคลาคล่ำไปด้วยผู้มีอิทธิพลและบารมีมาทุกยุคทุกสมัย และหากกล่าวเฉพาะเวทีมวย 2 สนามที่สำคัญคือราชดำเนินและลุมพินี จะเห็นว่ามีพัฒนาการที่เกี่ยวโยงกับผู้มีอำนาจในแวดวงกองทัพและราชการอย่างแนบแน่น
สำหรับสนามมวยราชดำเนิน จดทะเบียนในนามบริษัท มี นายเฉลิม เชี่ยวสกุล เป็นประธานบริหาร กลุ่มบริหารจะมาจากผู้ที่ถือหุ้นบริษัท หรือมาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และใช้การบริหารงานเหมือนกับบริษัทเอกชน
ขณะที่สนามมวยลุมพินี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2499 โดย พลตรีประภาส จารุเสถียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายธุรกิจของกองทัพบก ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก โดยตอนแรกตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 4 บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาสัญญาเช่าดังกล่าวหมดลง จึงย้ายไปเวทีแห่งใหม่บริเวณศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา มีการทุ่มงบสวัสดิการกองทัพบก 380 ล้านบาท สร้างเวทีมวยติดแอร์ มาตรฐานเทียบเท่าสเตเดียม บนเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน
เวทีแห่งนี้ประกอบด้วย 3 อาคารขนาดใหญ่ที่แยกสัดส่วนอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของเวทีจุผู้ชมได้กว่า 8,000 คน อาคารสำนักงานและห้องวีไอพี พิพิธภัณฑ์ และอาคารจอดรถกว่า 300 คัน โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานลั่นระฆังเปิดใช้สนามอย่างเป็นทางการ (21 สิงหาคม 2555) และเริ่มมีการแข่งขันชกมวยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
สู่อุตสาหกรรมกีฬายุคดิจิตอล
ข้อมูลจากเว็บไซต์สนามมวยลุมพินี ก่อนเกิดเหตุการณ์ ‘Super Spreader’ ที่ ‘วิกทหาร’ ระบุว่า พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เป็นประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี พลตรีราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก เพื่อนร่วมรุ่นของอภิรัชต์เป็นนายสนามมวยเวทีลุมพินี โดยมี พันเอกวสันต์ พึ่งสำเภา เป็นรองนายสนามมวยคนที่ 1 พันเอกกฤษดา จินดาลัทธ เป็นรองนายสนามมวยคนที่ 2 ส่วนหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ที่เหลือเป็นนายทหารยศ ‘พันเอก’ ทั้งหมด
ความเข้าใจที่ว่าการเปิดสนามมวยจะนำมาสู่การสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้สนามแข่งขันอาจจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด เพราะหากมองผลประโยชน์ของสนามมวยตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 พบว่า สนามมวยลุมพินี มีรายได้ทั้งสิ้นมีประมาณ 463 ล้าน รายได้เข้าสู่กรมสวัสดิการทหารบก ในรูปแบบ ‘กองทุนสนามมวยลุมพินี’
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560 อ้างกรมสวัสดิการทหารบก ระบุถึงตัวเลขเม็ดเงินในการบริหารจัดการสนามมวยลุมพินี ระหว่างปี 2556-2559 ดังนี้
- ปี 2556 มีผลประกอบการ 144,197,880 บาท
- ปี 2557 มีผลประกอบการ 152,521,470 บาท
- ปี 2558 มีผลประกอบการ 90,324,532 บาท และ
- ปี 2559 มีผลประกอบการ 76,725,950 บาท
เมื่อรวมรายได้ตลอดทั้ง 4 ปี จึงมีเงินเข้า ‘กองทุนสนามมวยลุมพินี’ จำนวน 463,769,842 บาท แต่หากนับตลอด 4 ปีนั้น พบว่า รายได้ของสนามมวยกลับลดลงอย่างมาก ปี 2556 – 2558 จะมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท และในปี 2559 รายได้ลดลงเหลือ 76 ล้านบาท
ด้วยเหตุไม่แน่ชัดระหว่างฐานะทรัพย์สินของราชการกับผลประโยชน์สาธารณะ การบริหารของคณะกรรมการอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี ตลอดปี 2559 จึงพบว่า มีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมการถ่ายทอดสด และกิจกรรมต่างๆ เช่นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 พลตรีเกษม เบญจนิรัติศัย นายสนามมวยเวทีลุมพินี (ในยุคนั้น) เซ็นสัญญากับพันธมิตรผูกพันยาวนานถึง 10 ปี โดยมีคู่สัญญา ได้แก่ นายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา ประธานบริหาร บริษัท เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด บริษัทย่อย บมจ. ดีเอ็นเอ 2002 (DNA) ประกอบด้วย ททบ.5, ไบรท์ทีวี และ CTH พร้อมด้วยโปรโมเตอร์มวยยอดนิยม ‘ชุ้น เกียรติเพชร’ เข้ามา ‘บริหารสิทธิประโยชน์สนามมวยเวทีลุมพินี’ โดยมีการถ่ายทอดสดทุกวันเสาร์ 3 รอบ ผ่านสถานีโทรทัศน์ 3 ช่อง ตั้งแต่เวลา 12.00 – 20.30 น. เป็นเวลา 10 ปี
ก่อนที่วันที่ 7 กันยายน 2559 ช่อง 9 MCOT HD ประกาศคืนสังเวียนมวยตู้ จับมือ ‘เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป’ (WSG) ผู้บริหารสิทธิประโยชน์ สนามมวยเวทีลุมพินี ร่วมถ่ายทอดสดมวยไทยเต็มรูปแบบอีกครั้ง ในรายการ ‘The King of Lumpinee’ ทุกวันเสาร์ เวลา 16.30 – 18.00 น. โดยเริ่มเมื่อ 17 กันยายน 2559 เป็นต้นไป โดยทางสนามมวยได้มอบหมายให้ โปรโมเตอร์ ‘ชุ้น เกียรติเพชร’ ทำหน้าที่บริหาร และล่าสุดจับมือ ‘เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป’ ทำสัญญาถ่ายทอดสดผ่านทีวีดิจิตอลช่อง NOW 26 เครือเนชั่นทีวี
คำถามคือ เมื่อรายได้ที่เข้าสู่สนามเป็นจำนวนเงินไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมมวยขนาดใหญ่ แล้วผลประโยชน์ของวงการมวยไปปรากฏอยู่ ณ ที่ใด
เมื่อศิลปะการต่อสู้เพิ่มมูลค่าการเงินอย่างมหาศาล
รายงานการวิจัย 2 ฉบับต่อไปนี้ชี้ให้เห็นว่าการพนันมวยไทยถูกกฎหมาย คือขุมทรัพย์หลักในการแข่งขัน จากการประเมินของผู้วิจัยของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า วงเงินการพนันมวยไทยมีมูลค่าประมาณ 14,420 ล้านบาท ส่วนวงเงินการพนันมวยไทยผิดกฎหมายมีมูลค่าประมาณ 2.8-3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี การพนันมวยไทยถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย จะมีมูลค่ารวมกันโดยประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี
มูลค่าทางเศรษฐกิจคิดจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดมวยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวมแล้วจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 756-1,296 ล้านบาทต่อปี และเงินหมุนเวียนสำหรับการโฆษณาของอุตสาหกรรมมวยตู้โดยประมาณ 251 ล้านบาทต่อปี ทั้งสองส่วนดังกล่าว จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยประมาณ 1-1.5 พันล้านบาทต่อปี
มูลค่าที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากประสิทธิภาพการทำงานของระบบการพนัน การพนันสามารถควบคุมผู้เล่นพนันที่เล่นเสียให้จ่ายเงินได้ การพนันจึงเป็นตัวหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมมวย เนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่จะเข้าไปเล่นการพนัน ในสัดส่วน 90:10 มีวงเงินการพนันหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อรายการ
มากกว่านั้นการพนันเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของสนามมวย โปรโมเตอร์มวย หัวหน้าค่ายมวย และนักมวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรโมเตอร์มวยจะต้องประกบมวยสูสีเป็นที่พอใจเซียนมวย เพราะนอกจากจะดูสนุกแล้วจะทำให้มีปริมาณการเล่นการพนันมากเนื่องจากราคาต่อรองสูสี ทางด้านสนามมวยก็ต้องการโปรโมเตอร์มวย ที่ประกบคู่มวยได้สูสีเนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากผู้ชมที่เข้ามาเล่นการพนันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะทำให้การพนันมวยไทยอยู่ในกรอบที่ถูกกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าของเงินการพนัน มวยไทยถูกกฎหมายที่มีมูลค่าโดยประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่การพนันมวยไทยผิดกฎหมายมีมูลค่าโดยประมาณ 2.8-3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี เงินที่จะเข้าสู่ระบบตกเป็นรายได้แผ่นดินก็ยังถือว่าน้อย
อิทธิพลข้างสังเวียน
ประเทศไทยซึ่งมีค่ายมวยที่มีการเปิดสอนจำนวนทั้งสิ้น 1,762 ค่าย เป็นค่ายมวยมาตรฐานที่พร้อมรับทัวร์ 443 ค่าย กระจายตัวอยู่ในภาคกลาง 75 ค่าย ภาคเหนือ 116 ค่าย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 147 ค่าย และภาคใต้ 115 ค่าย นำมาสู่ระบบกลไกความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ และระบบพวกพ้องในวงการมวยนี้ยังคงเป็นพลังสำคัญด้านหนึ่งต่ออุตสาหกรรมมวยไทย ทำให้การพนันในวงการมวยดำรงอยู่ได้ และระบบดังกล่าวยังมีผลต่อทิศทางการพัฒนามวยไทยให้ก้าวขึ้นสู่ระดับนานาชาติ
งานวิจัยเรื่อง โครงสร้างและพฤติกรรมการพนันมวยไทย (2560) โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ เสนอว่า วงการธุรกิจสีเทาที่เกี่ยวข้องกับการพนัน มักจะมีขาใหญ่ในวงการมาเกี่ยวข้อง ขาใหญ่มีอำนาจอย่างไม่เป็นทางการในการควบคุมและจัดการวงการมวยไทยให้เลื่อนไหลไปได้ จะคู่ขนานไปกับอำนาจที่เป็นทางการในแง่ผลประโยชน์รวม
คุณลักษณะของขาใหญ่ในวงการมวยมักจะเป็นบุคคลที่ผ่านการสะสมทุนในวงการมาก่อนเป็นผู้ที่มีอิทธิพล มีบารมี-อำนาจ (ทั้งในระบบและนอกระบบ) และมีเครือข่ายกว้างขวางทั้งคนวงใน เช่น นายสนามมวย โปรโมเตอร์ หัวหน้า ค่ายมวย และตัวนักมวย และคนวงนอก คือ กลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักการเมืองหลายคน
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ดิจิตอลทีวีทำให้ต้นทุนในการถ่ายทอดมวยถูกลง มีกำไรของช่องและผู้จัดมากขึ้น ในขณะที่มวยไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของมวยไทย 3 ยก และการต่อสู้กันระหว่างมวยไทยกับต่างชาติ ซึ่งเป็นการขยายตลาดในอุตสาหกรรมมวยไทยสู่ตลาดโลก ทําให้ผู้บริหารทีวีช่องต่างๆ หันมาถ่ายทอดกัน และมีธุรกิจซื้อโฆษณาในรายการมวยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาค่าโฆษณาจะขึ้นกับเรตติ้งความนิยมของรายการจากทีวีช่องนั้นๆ เป็นหลัก
ตัวอย่างเช่น ศึกมวยไทย 7 สี ค่าโฆษณาประมาณ 250,000-300,000 บาทต่อนาที โดยเรตติ้งของช่อง 7 สี อยู่ระหว่างร้อยละ 4.8-5.8 ตามด้วย แม็กซ์มวยไทย ช่อง 8 เรตติ้งอยู่ระหว่างร้อยละ 3.9-5.1 ส่วน ศึกจ้าวมวยไทย ช่อง 3 เรตติ้งอยู่ระหว่าง ร้อยละ 2.3-2.8 จากเรตติ้งดังกล่าว อัตราค่าโฆษณาของธุรกิจร้านค้าต่างๆ จะลดหลั่นกันไป กรณีศึกมวยไทย 7 สี เวลาโฆษณาจะถูกซื้อล่วงหน้าและเต็มเวลาโฆษณาแล้วทั้งปี จะเห็นได้จากการจัด 10 อันดับรายการมวยไทยที่มีเรตติ้งสูงสุดในปี 2559
โดยไม่ทราบว่าสถานการณ์ของวงการมวยจะเป็นอย่างไรหลังวิกฤติโควิด ทั้งข้อเท็จจริงจากการสืบสวนเหตุการณ์ ‘Super Spreader’ ยังไม่ได้รับการคลี่คลายต่อสาธารณะอย่างเพียงพอ แม้จะมีข่าวว่าพลเอกอภิรัชต์สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ความก้าวหน้าจากกรณีนี้ยังไม่มีบทสรุป หรือมีผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการออกมาให้สาธารณชนได้เห็นแต่อย่างใด