วัคซีนกำมะลอต่อเกียรติภูมิของกองทัพไทย

การส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ยังผลให้กองทัพไทยได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ อันถือเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สากล จากองค์การสหประชาชาติ ทั้งเจ้าหน้าที่และกองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ ทั้งหมดถือเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2531 จึงเป็นเกียรติประวัติและสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับอย่างยิ่ง

อีกทั้งไทยยังได้ส่งกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน หรือ United Nations Mission in South Sudan (UNMISS) ไปดูแลความสงบเรียบร้อยที่เซาท์ซูดาน และปฏิบัติหน้าที่ด้านงานช่าง ทั้งก่อสร้างฐานปฏิบัติการและอาคารที่พัก รวมถึงดำเนินการด้านกิจการพลเรือน อย่างการจัดชุดแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยให้แก่ประชาชนในพื้นที่

เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 มีการส่งกำลังพลจากกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน ผลัดสอง จำนวน 273 นาย ไปช่วยสร้างโรงพยาบาลสนามในค่ายเมืองจูบาเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในภารกิจเฉพาะหน้า

กระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 พลโทเชาวลิตร สังฆฤทธิ์ โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วย พลตรีณัฐพล แสงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพ กรมยุทธการทหาร แถลงข่าวกรณีพบนายทหารสัญญาบัตรยศร้อยโท ตำแหน่งนายแพทย์โรงพยาบาลสนามระดับ 1 กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ ไทย/เซาท์ซูดาน ประพฤติผิดวินัยร้ายแรง โดยนำวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักเกรดต่ำ มาสวมรอยแทนวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์แอฟริกา เพื่อบรรเทาอาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

การนำวัคซีนกำมะลอมาฉีดในครั้งนี้นับเป็นเรื่องอื้อฉาว สร้างความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของกองทัพไทยและประเทศไทยเป็นที่สุด จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน พร้อมรายงานให้ผู้บังคับบัญชากองกำลังภารกิจสหประชาชาติในเซาท์ซูดานและกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยต้นสังกัดให้ทราบ พร้อมทั้งให้กำลังพลดังกล่าวยุติภารกิจและส่งตัวกลับประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2563

ผลการสอบสวนสรุปว่า นายแพทย์ทหารคนดังกล่าวได้กระทำผิดจริง เนื่องจากมีพฤติกรรมหลอกลวงผู้บังคับบัญชาและนำสารอื่นมาฉีดแทนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งยังเรียกเก็บเงินจากกำลังพลเป็นค่าวัคซีนอีกด้วย แสดงถึงเจตนาทุจริตหลอกลวง พฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายฉ้อโกงและประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยผู้กระทำการยอมรับกับ ผบ.ร้อยทหารช่างฯ ว่าได้จัดซื้อวัคซีนจากประเทศอินเดีย และมีกำลังพลเข้าร่วมฉีดวัคซีนจำนวน 268 นาย แต่มีเพียง 211 นาย ที่ได้ดำเนินการฉีดวัคซีน โดยมีการคิดค่าวัคซีนเป็นจำนวนเงินคนละประมาณ 500 บาท

ในระหว่างการสอบสวน นายแพทย์ทหารคนดังกล่าวไม่มาปฏิบัติราชการ และไม่สามารถติดต่อได้ หน่วยต้นสังกัดจึงดำเนินการในความผิดฐานหนีราชการในเวลาประจำการ และถูกเสนอให้ปลดออกจากราชการ ทั้งยังมีหนังสือถึงแพทยสภาให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขอเรียนว่าเป็นการกระทำผิดส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่ผิดวินัยทหารและกฎหมาย รวมทั้งสร้างความเสื่อมเสียร้ายแรงต่อชื่อเสียงของกองทัพและประเทศชาติ กองทัพไทยได้ดำเนินการตามกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ดำเนินการเรื่องจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนทั่วไป” โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทยกล่าว

แม้ว่าโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทยจะพยายามชี้แจงว่า การกระทำนี้เป็นความผิดส่วนบุคคล แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพไทย และความผิดครั้งนี้ก็เกิดขึ้นต่อสายตาของนานาชาติ

ความภาคภูมิใจและเกียรติภูมิของกองทัพไทยที่มีในตอนแรกนั้นจะยังดำรงอยู่หรือไม่ และเปลี่ยนไปอย่างไรในสายตานานาชาติ หรือแม้แต่คนไทยเองก็ตาม

อ้างอิง

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า