สำรวจปากท้องครัวเรือนไทย ของแพง-ค่าแรงไม่ขึ้น เงินเก็บไม่มี-ใช้หนี้ไม่ได้ 

“ในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป”

แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายในที่ประชุมวิสามัญพรรค เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

แต่ทันทีประกาศออกมา นโยบาย ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ก็เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทันที ตัวอย่างเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้อนถามว่า นโยบายดังกล่าวทำได้จริงหรือไม่ รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย สอดคล้องกับความเห็นในโลกออนไลน์จำนวนมากที่ย้ำว่า นโยบายค่าแรงจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ผู้ประกอบการ นักลงทุน และภาคเอกชนจะรับมือไหวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม อีกฟากหนึ่งของสังคมไทยเห็นว่า ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยถูกแช่แข็ง และปรับตัวไม่ทันค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และอื่นๆ อีกมาก การขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เรื่องขายฝันแต่อย่างใด หากเป็นเรื่องสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องการ ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส’ เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า รากแก้วที่สำคัญของเศรษฐกิจคือ ครอบครัว จึงเสนอให้ใช้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ดึงศักยภาพของสมาชิกอย่างน้อย 1 คนในทุกครอบครัว ผ่านการอบรม บ่มเพาะ และพัฒนาทักษะด้านแรงงานให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มอบทุนการศึกษาต่อแก่คนที่มีศักยภาพ โดยคาดหวังว่าสมาชิกคนนั้นจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า  200,000 บาทต่อปี ตามคำกล่าวของแพทองธาร

“ประเทศไทยมี 20 ล้านครอบครัว สามารถสร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง และมีรายได้รวมกันถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท”

แล้วปัจจุบัน ครอบครัวหรือครัวเรือนไทยมีรายได้เท่าไร?

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนประจำปี พ.ศ. 2564 เก็บข้อมูลตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคม จากครัวเรือนตัวอย่างทั่วประเทศ 55,986 ครัวเรือน พบว่า ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ย 27,352 บาท/เดือน ขณะที่มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 21,616 บาท/เดือน นับเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 79 ของรายได้ นอกจากนี้ ครัวเรือนทั่วประเทศเกินครึ่ง (ร้อยละ 51.5) เป็นครัวเรือนที่มีหนี้สิน โดยมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ย 205,679 บาท

รายได้

รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 27,352 บาท แบ่งเป็น

  • รายได้จากการทำงาน 18,255 บาท ได้แก่
  • ค่าจ้างและเงินเดือน 11,639 บาท
  • กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจ 4,319 บาท
  • กำไรสุทธิจากการทำการเกษตร 2,297 บาท
  • รายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน 4,650 บาท เช่น
  • เงินที่รัฐอุดหนุน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ นมโรงเรียน อาหารกลางวัน เงินในแอปเป๋าตัง การลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
  • รายได้จากแหล่งอื่น/เงินช่วยเหลือ 3,869 บาท
  • เงินประกันชีวิต เงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน เงินเยียวยาโควิด-19 เงินชดเชยออกจากงาน เงินชดเชยโควิด เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด การเพิ่มเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ และการเพิ่มเงินสงเคราะห์ผู้พิการที่ยากจน เป็นต้น
  • รายได้ไม่ประจำและจากทรัพย์สิน 577 บาท

รายจ่าย

ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 21,616 บาท แบ่งเป็น

  • ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค 18,802 บาท ได้แก่
  • อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ 7,660 บาท
  • ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ภายในบ้าน 4,632 บาท
  • การเดินทาง ยานพาหนะ 3,467 บาท
  • ของใช้ส่วนตัว เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า 1,060 บาท
  • การสื่อสาร 860 บาท
  • ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล 364 บาท
  • การศึกษา 337 บาท
  • การบันเทิง จัดงานพิธี 226 บาท
  • กิจกรรมทางศาสนา 196 บาท
  • ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค 2,814 บาท เช่น
  • ภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ดอกเบี้ย สลากกินแบ่ง/หวย ฯลฯ

หนี้สิน

ปี 2564 ครัวเรือนทั่วประเทศเกินครึ่ง (ร้อยละ 51.5) เป็นครัวเรือนที่มีหนี้สิน โดยมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 205,679 บาท จำแนกเป็น

  • หนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน 155,166 บาท ได้แก่
  • เพื่อการอุปโภคบริโภค 78,204 บาท
  • ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและ/หรือที่ดิน 73,808 บาท
  • การศึกษามีเพียง 3,154 บาท
  • หนี้เพื่อการลงทุนและอื่นๆ 50,513 บาท
  • การเกษตร 32,379 บาท
  • ทำธุรกิจ 17,144 บาท
  • หนี้อื่นๆ 990 บาท

เมื่อพิจารณาตัวเลขเหล่านี้อย่างหยาบๆ ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ย 328,224 บาท/ปี (27,352×12) และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 259,392 บาท/ปี (21,616×12) นั่นหมายความว่า เงินเก็บหรือเงินออมโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 68,832 บาท/ปี หรือตกประมาณเดือนละ 5,736 บาทเท่านั้น* ซึ่งน่าสนใจว่ามีความสัมพันธ์กับหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยที่มากถึง 205,679 บาท

กล่าวโดยสรุป ครัวเรือนไทยกำลังประสบสภาวะค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคแพงขึ้น แต่รายได้ถูกตรึงให้คงที่ เงินเก็บในแต่ละเดือนจึงแทบไม่มี เงินใช้หนี้ก็แทบจะหาไม่พอ ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 เป็นผลมาจากนโยบายการช่วยเหลือต่างๆ ที่รัฐอุดหนุน ไม่ใช่รายได้ที่มาจากการทำงาน (ค่าจ้างและเงินเดือน) ซึ่งลดลงจากปี 2562 ด้วยซ้ำ

*หมายเหตุ: ชุดตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยของครัวเรือนในประเทศไทยเท่านั้น ไม่จำแนกความแตกต่างของระดับรายได้ ชนชั้น ตลอดจนภูมิลำเนาของกลุ่มตัวอย่าง

ที่มา

สำนักงานสถิติแห่งชาติ shorturl.at/adkL9

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า