ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า บทความนี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะชี้ผิด-ถูก หรือทำให้เกิดการขยายประเด็นความขัดแย้งต่อเรื่องดังกล่าวในสังคมวงกว้าง แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาถึงมูลเหตุและรากเหง้าของปัญหาเชิงระบบในสังคมไทย และอยากให้ผู้อ่านได้ก้าวข้ามกระแสวิพากษ์วิจารณ์และถกแถลงกันเพียงประเด็นสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยที่ไม่พยายามเข้าใจเรื่องราวและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อันเป็นมูลเหตุหรือรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง
ผู้เขียนเป็นเพียงเป็นนักวิชาการบ้านนอกคนหนึ่ง ที่ได้รู้จักและสัมพันธ์กับคนไทยที่เป็นแรงงานถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ทั้งในเกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน กลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ลูกหา คนรู้จัก เพื่อนฝูง คนในครอบครัว หรือญาติพี่น้องที่เคยไปทำงาน และกำลังทำงานอยู่ต่างแดน ผู้เขียนเชื่อว่ามีใครอีกหลายคนที่มีสถานะแบบผู้เขียน เพราะสังคมอีสานนั้น การไปทำงานต่างแดนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับแทบทุกครอบครัว
เท้าความสักนิด ตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นที่ค่ายทหารอเมริกาปิดตัวลง แรงงานมากมายที่ทำงานในค่ายฯ ได้เดินทางไปทำงานตะวันออกกลางผ่านบริษัทจัดหางานที่เคยจัดหาแรงงานมาทำงานในค่ายทหาร มากที่สุดคือแรงงานจากจังหวัดอุดรธานี โดยมีปลายทางคือ ซาอุดีอาระเบีย ก่อนกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง
ต่อมาสถานการณ์ในตะวันออกกลางเกิดปัญหา ทั้งจากกรณีเพชรซาอุฯ ในปี 2532 และสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2533 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายปลายทางไปทำงานประเทศอื่นแทน เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ซึ่งแน่นอนว่า มีทั้งแบบถูกกฎหมายและแบบตรงกันข้าม และอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น เราคงเห็นข่าวคราวมาอย่างต่อเนื่องแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานไทยในเกาหลีใต้
แรงงานถูกกฎหมาย แม้ไม่อาจรับประกันว่าจะปลอดภัยจาก COVID-19 แต่หากมีปัญหาขึ้นมาก็ยังมีหลังพิงอยู่ แต่สำหรับแรงงานผิดกฎหมายแล้ว ทุกลมหายใจคือความเสี่ยงที่ต้องแบกรับเพียงลำพัง
การกลับบ้านอาจเป็นคำตอบที่ดี แต่หากพิจารณาถึงรากเหง้าของปัญหาแล้ว เราอาจต้องตั้งคำถามอีกคำรบว่า ก็บ้านหลังเดียวกันมิใช่หรือที่ผลักให้เขาต้องออกไปใช้แรงแลกเงินในต่างแดน
การที่ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับคนไทยในเกาหลีใต้ เป้าใหญ่จึงไม่ใช่การสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ขณะเกิดโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเงื่อนไขในชีวิตที่ทำให้คนหนึ่งๆ เลือกเดินทางเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายในบ้านอื่นเมืองอื่น ใช่หรือไม่ว่าอีกแง่หนึ่ง บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาก็กำลังเกิดโรคเหลื่อมล้ำระบาดเช่นกัน
ที่นั่น แม้พวกเขาจะถูกขนานนามว่าเป็น ‘ผีน้อย’ แต่เขาเหล่านั้นมีชื่อ มีชีวิต อย่างไรก็ตามผู้เขียนขออนุญาตไม่เปิดเผยตัวตนคู่สนทนา
ทำไมต้องจ้างแรงงานผิดกฎหมาย
เธออายุประมาณ 34 ปี นี่คือปีที่ 3 แล้วในดินแดนโสมขาว ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เศรษฐกิจครอบครัว รายรับไม่พอรายจ่าย รวมถึงหนี้สินครัวเรือน เป็นเหตุให้ตัดสินใจมาทำงานที่เกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย หากเลือกเข้ามาแบบถูกต้อง จะมีค่าจัดการผ่านบริษัทจัดหางานค่อนข้างแพง แน่นอน เธอไม่มีเงินจ่าย
เธอจึงเลือกซื้อตั๋วเครื่องบินแบบนักท่องเที่ยวเดินทางมาช่วงฤดูร้อนของเกาหลีใต้ เพราะค่าตั๋วถูกกว่าช่วงเวลาอื่น ก่อนหน้านั้นเธอได้สอบถามข้อมูลจากเพื่อนที่ทำงานเกาหลีใต้ และทราบข้อมูลว่านายจ้างขาดคนทำงาน ประจวบเหมาะกับเธอกำลังหางานทำอยู่พอดี จึงตัดสินใจเดินทางมาพร้อมเพื่อนอีก 1 คน แต่เพื่อนที่มาด้วยกันทำได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ก็กลับเมืองไทย
เมืองคิมแฮ อยู่ภาคใต้ของประเทศ มันคือโรงงานขนาดเล็กซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ระดับโลกอีกทอด เธอมาถึงที่นั่น นายจ้างก็จัดแจงหาที่พักให้ฟรี ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ไม่ต้องจ่าย ทำงานเป็นกะ มีเลี้ยงอาหารกลางวัน และให้หยุดทุกวันอาทิตย์ แต่ไม่มีสวัสดิการอย่างอื่น เธอต้องเข้างานตั้งแต่ 08.00-19.00 น. หากเป็นกะดึกจะเริ่มตั้งแต่ 19.00-08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
“แรงงานหนึ่งคน ดูแลเครื่องจักร 2-3 เครื่อง ไม่มีเวลาพักจนกว่าจะถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน นิสัยและพฤติกรรมของนายจ้างแต่ละคนก็แตกต่างกันไป จะพบเจอคนแบบใดแรงงานไม่สามารถล่วงรู้ได้เลย และเธอเองก็เคยอยู่กับนายจ้างที่เป็นคนเห็นแก่ตัวมาก พอเขารู้ว่าไม่เข้าใจภาษาเกาหลีก็พยายามเอาเปรียบทุกอย่าง ทั้งเรื่องเงินเดือนและอื่นๆ”
เธอรับเงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 1,800,000 วอน หรือประมาณ 48,000 กว่าบาท นี่คือค่าจ้างแบบเหมาจ่าย เปลี่ยนเป็นเงินไทยได้มากน้อยขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน และค่าเงินของเกาหลีใต้ที่สูงมากขึ้นในช่วงนี้ก็ทำให้ค่าครองชีพของเธอมากขึ้นตามไปด้วย
งานที่แรงงานผิดกฎหมายทำอยู่ เป็นงานที่คนเกาหลีใต้ไม่ทำแล้ว พวกเขามองว่าเป็นงานของพวกใช้แรง เป็นงานชั้นต่ำ ซึ่งก็คล้ายกับที่ประเทศไทยใช้แรงงานเพื่อนบ้านทำงานประเภทหนึ่ง หรือถ้ามีคนเกาหลีใต้ยอมทำงานแบบนี้ ค่าจ้างจะแพงมาก เงินเดือนขั้นต่ำประมาณ 5,000,000 วอน (ประมาณ 130,000 บาท/เดือน) และเมื่อถึงเทศกาลชูชก หรือชูก้า หรือตุรษจีน ก็ต้องมีโบนัสให้เขาไม่ต่ำกว่าเงินเดือน 10 เท่าขึ้นไป ซึ่งนายจ้างต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก การจ้างแรงงานผิดกฎหมายทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้ เงินที่จ้างคนเกาหลีใต้สามารถเอามาจ้างแรงงานผิดกฎหมายได้หลายคน ยิ่งถ้าเป็นงานสวน งานในฟาร์ม หากแรงงานเป็นคู่ผัวเมียทำด้วยกันจะถูกจ้างที่ 3,200,000 วอน (ประมาณ 85,000 บาท) เท่านั้น ซึ่งถูกกว่ามาก
จากคำบอกเล่าของเธอ ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้ก็เห็นปัญหานี้ แต่ไม่ได้เข้มงวดมากนัก เพราะแรงงานขาดแคลน เศรษฐกิจประเทศก็ต้องขับเคลื่อน การแข่งขันในตลาดโลกก็จำเป็น การลดต้นทุนการผลิตด้วยการลดค่าจ้างจึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น
“แรงงานที่มารู้จักกันที่นี่ส่วนมากเป็นคนอีสาน มากที่สุดมาจากอุดรธานี ที่นี่มีคนไทยจำนวนมาก การใช้ชีวิตก็เหมือนคนเกาหลีทั่วๆ ไป แค่ไม่ทำผิดกฎหมายตำรวจก็ไม่จับหรือไม่มายุ่งวุ่นวายอะไร ส่วนที่จับคือ ตม. หรือเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัดอะไรมาก หากทำงานอยู่ในพื้นที่ไม่ไปไหนไกลก็ไม่เป็นปัญหา”
เธอเล่าอีกว่า รู้สึกว่างานหนัก คิดถึงบ้านมาก แต่ต้องอดทน และเวลาโพสต์รูปลงโซเชียลก็จะมีแต่รูปสวยๆ ไปเที่ยวที่ต่างๆ ซึ่งเบื้องหลังแล้ว การออกไปท่องเที่ยวเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง แต่เป็นแบบนานๆ ครั้ง
“ไม่มีใครจะโพสต์รูปตอนตัวเองลำบากให้คนอื่นเห็น เพราะกลัวว่าครอบครัวที่เมืองไทยจะเป็นห่วง ส่วนสถานการณ์ของโรค COVID-19 ก็เหมือนที่กำลังเป็นข่าว แต่ที่เกาหลีใต้หากมีคนติดเชื้อเขาจะจำกัดพื้นที่คนในไม่ให้ออกไปไหน คนนอกก็ไม่ให้เข้า การส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือเขตใดที่มีคนติดเชื้อเขาจะไม่ให้ส่งของไป รถโดยสารก็ไม่มีการเดินรถ ถ้าโรงงานใดพบมีผู้ติดเชื้อจะสั่งปิดทันที ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอยากกลับประเทศไทย เพราะเขาไม่มีงานทำ ไม่รู้จะไปอยู่ไหน และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตจะสูงมากและกลัวติดเชื้อด้วย
“กลับไปอยู่เมืองไทยอย่างไรเสียก็มีข้าวกิน แต่อยู่ที่นี่ต้องซื้อแทบทุกอย่าง ส่วนคนที่ยังอยู่ที่นี่แม้ว่าเขาจะกลัวก็ต้องป้องกันตัวเองอย่างดีและไม่ไปพื้นที่เสี่ยง”
ณ ขณะนี้ การกลับบ้านยังไม่ใช่ทางออกสำหรับเธอ เพราะยังต้องหาเงินช่วยทางบ้านอยู่ และสถานการณ์การจัดการของไทยก็ยังไม่น่าไว้ใจมากนัก เมื่อเทียบกับมาตรการที่เข้มงวดเอาจริงเอาจังของเกาหลีใต้
“คือถ้าไม่มีอะไรก็คิดว่าจะทำงานอีก 2-3 ปี จึงจะกลับ เพราะเป็นห่วงแม่ที่ต้องอยู่คนเดียวและอายุก็เริ่มมาก ถึงเวลาก็คงต้องกลับ ถ้าที่บ้านมีงาน มีรายได้ หรือถ้าทำอาชีพส่วนตัว อย่างเกษตรกรรม หรืออาชีพอื่นแล้วมีรายได้ดี ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐ ก็คงไม่มาลำบากมาต่างบ้านต่างเมืองแบบนี้”
เมื่อถามว่าตอนนี้เธอคาดหวังอะไรจากรัฐบาลไทย เธอตอบว่าไม่ค่อยคาดหวังนัก นอกจากอยากได้รัฐบาลที่บริหารประเทศเก่งกว่านี้
เกษตรกร คนจนในไทย คนรวยในเกาหลีใต้
ปีนี้เธออายุ 23 ปี พ่อกับแม่เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ นับนิ้วมือซ้ายขวาแล้วมูลค่าของหนี้สูงนับล้านบาท แม้จะมีหนี้ก้อนโตแต่พ่อกับแม่ก็สนับสนุนให้เธอเรียนจนจบปริญญาตรี หลังจบการศึกษาจึงคิดเสมอว่าจะช่วยครอบครัวอย่างไร กอปรกับพ่อกับแม่ก็ทำงานที่เกาหลีใต้อยู่ก่อนแล้วถึง 4 ปี ตนจึงอยากช่วยครอบครัวทำงานหาเงินใช้หนี้สร้างตัว เพื่อวันหนึ่งจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันที่เมืองไทย
เมืองมอคโพยังไม่ถูกประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยง COVID-19 ที่นั่นมีโรงงานประกอบชิ้นส่วนเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ในนั้นมีแผนกเชื่อมโลหะ มันเป็นที่ทำงานของผู้หญิงวัย 23 ปี ซึ่งเดินทางมาเองโดยไม่ได้ผ่านการจัดหางานจากใคร เธอจึงมีค่าใช้จ่ายเพียงค่าเครื่องบิน ขณะที่คนอื่นที่มากับบริษัทจัดหางาน (คนจัดหางานส่วนใหญ่คือคนที่มีแฟนเป็นคนเกาหลีใต้ และได้สัญชาติเกาหลี หรือมีวีซ่าทำงาน) ต้องจ่ายเงินก่อนบิน 70,000-100,000 บาท เงินก้อนนั้นจ่ายโดยไม่รับประกันว่าจะผ่าน ตม. หรือไม่ หากผ่านไปได้ก็ต้องจ่ายค่าเข้าทำงาน ค่ารถไปรับที่สนามบิน ค่าที่พัก ค่ากินอยู่ระหว่างรอทำงาน รวมแล้วเกือบ 200,000 บาท บางคนมาแล้วถูกลอยแพไม่ได้ทำงาน และไม่มีใครรับผิดชอบอะไร ลักษณะเช่นนี้มีหลายกรณีมาก
“ส่วนใหญ่เขาจะให้ค่าจ้างวันละ 60,000-130,000 วอน (ประมาณ 1,500-3,400 บาท/วัน) แล้วแต่ชนิดงาน คนไทยค่าแรงค่อนข้างถูกกว่าชาติอื่น”
ตอนนี้เธอได้ค่าแรง 90,000 วอน/วัน (ประมาณ 2,500 บาท/วัน) เช่าห้องอยู่เอง ในห้องมีครัว มีเครื่องซักผ้า แอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น ฮีทเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าพื้นฐานครบ ค่าห้องเดือนละ 320,000 วอน (ประมาณ 9,000 บาท) ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สต้องจ่ายต่างหาก ค่าน้ำฟรี ค่อนข้างสบาย อยากกินอยากเที่ยวจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ไม่ลำบาก เดินทางไปไหนก็สะดวกสบายมาก
“ระบบขนส่งสาธารณะ ขนส่งมวลชนที่นั่นดีมาก คนเกาหลีแทบไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวกันเลย จะชนบทบ้านนอกเพียงใดก็มีรถโดยสารประจำทางที่มีคุณภาพดี สะดวก สะอาด และตรงต่อเวลา แต่ปัญหาคือตัวเราเองที่ไม่เก่งภาษาพอจะสื่อสารกับเขา”
เธอพบนายจ้างที่ดี ให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้ตอนนี้จะกังวลกับ COVID-19 อยู่บ้าง แต่ยังไม่คิดที่จะกลับประเทศไทย ขณะที่คนรอบข้างบ้างอยากกลับ บ้างก็กลับไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่มีเหตุผลอื่นประกอบด้วย เช่น มาอยู่นานแล้ว ใช้หนี้หมดแล้ว มีบ้าน-รถ มีเงินเก็บ มีที่ดิน หรือป่วยด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่ COVID-19
ปัญหาเรื่องแรงงานผิดกฎหมาย เธอมองว่ามันเป็นเรื่องปลายเหตุ อยากให้รัฐบาลจัดการที่รากเหง้าของปัญหามากกว่า คนไทยส่วนมากที่มาเป็นแรงงานในเกาหลีใต้ก็เป็นเกษตรกร หรือเป็นลูกหลานเกษตรกร ทำนา ทำไร่ กรีดยาง ปลูกอ้อย ปลูกมัน ทำสวน ผลผลิตที่ได้กลับขายไม่ได้ราคา ระบบกลไกตลาดแบบคนกลางและการผูกขาดโดยกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ทำให้เกษตรกรถูกกดราคาสินค้า เป็นเพียงผู้ผลิตวัตถุดิบราคาถูกป้อนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปัจจัยการผลิตต่างๆ มีแต่ราคาสูงขึ้น ปุ๋ย สารเคมี เครื่องจักร ฯลฯ แพงมากขึ้นทุกวัน
“ที่เกาหลีใต้ หากใครมีที่นา มีสวน มีบ้าน ถือว่ารวยมาก เกษตรกรที่นี่เขาทำนาปีหนึ่งๆ มีรายได้เป็น 100,000,000 วอน (ประมาณ 2.5 ล้านบาท/ปี) หัวหน้างานที่เป็นคนเกาหลีแปลกใจมากที่พบว่าพ่อมีที่ดินในเมืองไทย 50 ไร่ แต่ต้องมาเป็นแรงงานราคาถูกในเกาหลี ทำไมไม่ทำนาทำสวนที่ประเทศไทย”
ส่วนกรณีการแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้ เธอให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบนั้นคงยาก เพราะที่เกาหลีใต้ต้องการแรงงานมาก รัฐบาลเขาไม่เข้มงวด เปิดให้เข้ามาได้ และที่จับได้แล้วส่งกลับก็มีเหมือนกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ได้ห้ามอย่างเข้มงวด แต่ก็ไม่ถึงกับเปิดเสรีโดยไม่ควบคุม
เกาหลีใต้ กระจายความเจริญ
หญิงวัย 28 ปีให้เหตุผลว่าต้องมาทำงานเกาหลีใต้เพราะมีรายจ่ายในครอบครัวจำนวนมาก ทั้งรายจ่ายของทางบ้าน และค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่เกิดจากการสร้างครอบครัว เช่น ค่าผ่อนรถ หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และอื่นๆ
“แต่ก่อนทำงานอยู่ที่บ้านไม่มีเงินเก็บในบัญชีเลย จึงตัดสินใจมาเป็นแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ชีวิตดีขึ้นมาก มีเงินเก็บ มีเงินไปจ่ายในสิ่งที่ครอบครัวต้องการ เช่น ซื้อที่ดิน ต่อเติมบ้านให้แม่ รถยนต์ก็ผ่อนหมดแล้ว ถ้ายังทำงานอยู่ไทยสมบัติทรัพย์สินที่มีคงถูกยึดไปแล้ว ตอนนี้ส่งเงินมาให้แม่ใช้ทุกเดือน เดือนละประมาณ 10,000 บาท”
เธอเป็นหนึ่งในแรงงานผิดกฎหมายซึ่งมากับกรุ๊ปทัวร์ และมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจัดการเพื่อมาทำงาน 160,000 บาท สำหรับเธอและแฟนซึ่งมาทำงานพร้อมกัน การมาที่นี่จะมีคนจัดการให้ตั้งแต่อยู่ประเทศไทย โดยจะคอยประสานโรงงานที่เกาหลีใต้ไว้
“เขาจะจัดแจงให้ไปกับกรุ๊ปทัวร์พอถึงสนามบินก็มีคนมารับ เดินทางไปกันเต็มลำ คนไทยทั้งนั้น แต่ไม่รู้กลับตามกำหนดกันเท่าไหร่”
เธอและแฟนได้รับค่าจ้างเดือนละ 70,000 บาท หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทั้งสองคนแล้วก็จะมีเงินส่งทางบ้านเดือนละ 60,000 บาท การกินอยู่สำหรับที่นี่ไม่ได้ลำบากเลย มีรถขายสินค้าข้าวของที่มาจากไทยเร่ขายถึงที่
เมืองแทจอน ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง COVID-19 เธอทำงานในโรงงานผลิตผ้าห่มซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก มีคนงาน 4 คนเท่านั้น 2 คนในนั้นเป็นคนเกาหลีใต้ แน่นอนที่เหลือ – เป็นคนไทย
เธอมองสถานการณ์ตอนนี้ซึ่งมีคนอยากกลับมาประเทศไทยด้วย 2 เหตุผล คือ เรื่อง COVID-19 ซึ่งเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ของคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และอีกส่วนหนึ่งคือหลายคนมีเงินเก็บมากแล้ว เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดเกิดขึ้นจึงถือโอกาสกลับบ้านเสียเลย
“จะว่าไปแล้วไม่ว่าคนเกาหลี หรือคนไทยก็กลัวติดเชื้อทั้งนั้น ก็ต้องป้องกันตนเองใส่หน้ากาก ปฏิบัติตามคำแนะนำ แล้วก็ปรับตัวช่วยเหลือกันดีในการควบคุมป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ การทำความสะอาดร่างกาย
“คนเกาหลีเขาไม่ได้อาบน้ำบ่อยเหมือนบ้านเรา เพราะบ้านเมืองเขาหนาว ตอนนี้เขาก็อาบแล้วก็เตือนว่าอย่าออกไปไหน หรือหากต้องการไปไหนเขาจะพาเราไป แต่สำหรับเมืองนี้ยังปลอดภัย และก็ค่อนข้างมั่นใจในมาตรการของทางการเกาหลีใต้ ทุกคนก็กลัวแต่ก็ระมัดระวังกันดี รัฐก็เข้มงวด และเขาก็ต้องการแรงงานบ้านเรามาก จึงไม่อยากให้เรากลับเพราะคนเกาหลีส่วนมากไม่ทำงานแบบนี้แล้ว”
หลังจากอยู่เกาหลีใต้ 2 ปี 10 เดือน เธอใช้หนี้หมดแล้ว ซื้อที่ดินเป็นของตัวเอง ปรับปรุงบ้าน มีรถ มีอะไรที่ต้องการพอแล้ว หากมีเงินเก็บไว้ลงทุนพอก็จะกลับมาบ้าน และเมื่อกลับบ้านอาจทำร้านขายของชำอยู่ที่บ้าน และทำเกษตรควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้อยู่พร้อมหน้า และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ปี 2564 คือปฏิทินที่ปักหมุดว่าจะกลับมาสร้างฝันที่จินตนาการไว้
เกาหลีใต้สามารถมีอุตสาหกรรมในชนบทที่เข้มแข็ง มีแหล่งงาน และการประกอบการที่สามารถทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าเพราะมีรัฐบาลเกื้อหนุนทุกอย่าง เธอยกตัวอย่างว่า ระบบแบ่งงานกันทำช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยในชนบทผลิตชิ้นส่วนให้โรงงานขนาดใหญ่ แหล่งงานก็กระจายไปอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ อีกทั้งมีกองทุนเพื่อเป็นเงินประกันกิจการ การเข้าถึงแหล่งทุนที่ง่าย กรณีการประกันกิจการทำให้ผู้ประกอบการไม่เสี่ยงมาก ถ้าเกิดปัญหาต้องปิดโรงงานด้วยเหตุผลต่างๆ เขาก็มีเงินประกันมาช่วยชดเชยทำให้ไม่ขาดทุน หรือถ้าขาดทุนก็ไม่มากเกินไป
“คนเกาหลีใต้หากทำเกษตรกรรมก็ไม่กลัวขาดทุน เพราะเขามีระบบประกันความเสียหายหมด และรัฐมีระบบชดเชยที่สมเหตุสมผล เช่น น้ำท่วม เขาก็ได้เงินชดเชยที่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เขาควรจะได้รับ เขาจึงมีความมั่นคงในอาชีพค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเกษตรกรเมืองไทย และระบบโครงสร้างต่างๆ ที่รองรับการเกษตรกรรมก็ดีมาก เช่น ระบบการส่งน้ำ ปัจจัยการผลิตและอื่นๆ อยากให้ประเทศไทยใช้บทเรียนจากเขาในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น”