ทุนไทยในเมียนมา ผลประโยชน์ค้ำคอจนไม่อาจถอนตัว

ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา กลายเป็นประเด็นถกเถียงและจับจ้องของผู้คนอย่างต่อเนื่องหลังศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากเหตุเครื่องบินรบเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าไทย ลามไปถึงประเด็นกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาโดยไม่ได้ให้ความสนใจปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความเลวร้ายที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลคณะรัฐประหารเมียนมาชุดนี้เท่าที่ควร 

สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งแรงกดดันจากเวทีนานาชาติในหลายระดับ ทั้งแบบทางการ อาทิ เวที ASEAN-US Summit ที่กลุ่มผู้นำประเทศอาเซียนได้รับเชิญให้ไปเยือนทำเนียบขาวในช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา เวทีของสหประชาชาติ (UN) ที่มักส่งผู้แทนทางการทูต (envoy) มาพูดคุยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนต่อเมียนมาอยู่เนืองๆ หรือแม้แต่การเลือกส่งตัวแทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีแนวคิดสายเหยี่ยว (hawkish) อย่างทูต โรเบิร์ต โกเดค (Robert Godec) เอกอัครราชทูตคนใหม่มาประจำการที่ไทย เพื่อเดินหน้าบีบคั้นไทยอย่างเปิดเผยมากขึ้นในปี 2023 

ส่วนการกดดันรูปแบบไม่เป็นทางการ ก็อย่างที่เห็นกันผ่านสำนักข่าวหลายๆ สำนัก เช่น การที่สำนักข่าว Reuters เปิดเผยรายได้ของรัฐบาลเมียนมาในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พร้อมพาดพิงไปถึงกลุ่มทุนไทยที่ยังเดินหน้าค้าขายกับเมียนมาโดยไม่สนทิศทางของกลุ่มทุนต่างชาติที่พากันตบเท้าคว่ำบาตร คว่ำขัน ถอนตัวออกตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เมื่อปีก่อน

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ชวนให้ติดตาม และต้องยอมรับว่าปลายทางอาจเป็นสิ่งที่ไม่สวยงามนัก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีความข้องเกี่ยวกับความซับซ้อนที่วางเรียงรายกันอยู่หลายระดับ กล่าวคือ ไทย-เมียนมานั้นมีสายสัมพันธ์ทางด้านการทูต การเมือง การทหาร หรือแม้แต่การค้าขายที่ดีต่อกันมาตลอด หากติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมาจะทราบกันดีว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเองก็เป็นหนึ่งในบุตรบุญธรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตรัฐบุรุษคนสำคัญของไทย มิพักกล่าวถึงการแลกเปลี่ยนและการเยือนประเทศระหว่างผู้นำทางทหารไทย-เมียนมาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ (ล่าสุดแม่ทัพภาคของไทยท่านหนึ่งก็เพิ่งจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้เอง) 

ยิ่งโดยเฉพาะในเรื่องกิจการชายแดน สิ่งที่เป็นไปได้น้อยที่สุดสำหรับประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกัน การจะไม่มีช่องทางสื่อสาร พูดคุย สนทนากันเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ผู้คนที่ไม่เคยลงพื้นที่หรือศึกษาการติดต่อสัมพันธ์ในบริเวณชายแดนอาจไม่สู้จะเข้าใจ แต่ลักษณะของการปฏิสัมพันธ์ติดต่อกันระหว่างรัฐหรือทหารบริเวณชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน บริเวณชายแดนเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ และไทย-เมียนมานั้นไม่แตกต่างกันมากเท่าใด ‘Communication Channel’ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีเป็นปกติอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีช่องทางวิทยุสื่อสารระดับพื้นฐาน 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและจีน มีช่องทางติดต่อสื่อสารไล่เลียงกันมาตั้งแต่ห้องทำงานของประธานาธิบดี ทีมเลขานุการของประธานาธิบดี ไปจนถึงกระทรวง กรม กองต่างๆ นี้คือแค่เฉพาะฝ่ายบริหารระดับสูง (top level) หากมองลึกลงไปในระดับปลายของห่วงโซ่ ในเรือรบ-เรือลาดตระเวนกลางทะเลที่สัญจรในทะเลแปซิฟิก ก็มีช่องทางติดต่อระหว่างกันในกรณีมีเหตุบังเอิญพบกันกลางทะเล

นับประสาอะไรกับไทย-เมียนมาที่มีพรมแดนติดกันและมีการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาช้านาน หากไทยคิดจะกดดันเมียนมา ย่อมทำได้ตั้งแต่ระดับผู้นำรัฐบาล ไปจนถึงช่องทางของกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีเครื่องมือให้ใช้มากมาย แต่เหตุใดไทยจึงเลือกไม่ทำ และนิ่งเงียบมาจนถึงขณะนี้? คำตอบคือ ปัญหาไม่ใช่เพราะไทยไม่ต้องการกดดัน แม้มีหลายภาคส่วนในไทยที่ต้องการกดดัน แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่มีความเสียหายใดๆ ตามมา

กล่าวคือ นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมือง-การทหารแล้ว ยังมีเรื่องการค้าการลงทุนตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นว่าบริษัทไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมาคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ทั้งธุรกิจด้านพลังงาน อุปโภคบริโภค สุขภาพ หรือแม้แต่วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงการค้าขายแลกเปลี่ยนบริเวณชายแดน รวมมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่าไทยเป็นระดับคู่ค้ารายใหญ่ของเมียนมาในภูมิภาคนี้ เป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น อีกทั้งสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาที่ใช้ในไทยยังสูงถึงร้อยละ 14 

ด้านการทูต ไทยก็มีการจัดพื้นที่สำหรับรองรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ต้องหนีภัยสงครามและความขัดแย้งภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่องเต็มกำลังที่จะทำได้มาตลอด โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือผลักไสคนกลุ่มดังกล่าว ทั้งคนไทย คนเมียนมาเดินเข้าๆ ออกๆ ระหว่างสองประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติอย่างเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็นำไปสู่อีกด้านที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ ด้านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรบุคคลในหลายพื้นที่ของไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากแรงงานชาวเมียนมา เกือบทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่การบริการ การก่อสร้าง ไปจนถึงการผลิต ล้วนมีแรงงานเมียนมาเข้ามาโอบอุ้มทั้งสิ้น คิดเป็นจำนวนมากกว่า 2,000,000 คน เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทย-เมียนมานั้นพึ่งพาอาศัยกันอย่างแยกไม่ขาดในเกือบทุกระดับ

การจะให้ไทยแยกตัวทางเศรษฐกิจ หรือถอนการลงทุนบางส่วนออกจากเมียนมาเป็นไปได้ยากพอๆ กับการที่อเมริกาพยายามจะเลิกค้าขายกับจีนในช่วงสงครามการค้านั้นแล ในทางทฤษฎี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ใช้แคมเปญบอกฐานเสียงของตนเองว่าจะทำสงครามการค้าด้วยการไม่ค้าขายกับจีน ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ นานาเพื่อปิดกั้นสินค้าจากจีน แต่ในทางปฏิบัติ สหรัฐอเมริกากับจีนก็ยังค้าขายกันปกติเหมือนเดิม เพียงแค่เปลี่ยนช่องทางการขนส่ง ไม่ซื้อของจากจีนโดยตรง แต่อาศัยผ่านประตูสินค้าทางฮ่องกง ส่งต่อและแลกเปลี่ยนสินค้ากันเป็นทอดๆ (แค่เอาของไปซื้อขายกันผ่านทางฮ่องกงก็ถือว่าไม่ได้ผิดคำพูดที่จะไม่ค้าขายกับจีนแล้ว) 

การแยกตัวทางเศรษฐกิจ (economic decoupling) แม้จะเป็นเพียงมิติเล็กๆ หรือเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งระหว่างไทย-เมียนมา แต่จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือ ผลประโยชน์ทางการค้าของไทยจะเสียหายในทันที ส่วนระยะยาวคือ ความไว้วางใจระหว่างกันที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีใครประเมินได้ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะเถลิงอำนาจไปได้อีกกี่ปี หากไทยทำลายความไว้วางใจเมียนมาในวันนี้ วันข้างหน้าเมื่อไทยเปลี่ยนรัฐบาลแล้วคิดจะกลับมาสานสัมพันธ์ หรือสมานแผลในอดีต อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เหมือนครั้งที่ทรัมป์สะบั้นข้อตกลง JCPOA ที่มีต่ออิหร่านลง การที่โจ ไบเดน (Joe Biden) จะกลับไปซ่อมแซ่มความสัมพันธ์นั้นย่อมไม่ใช่งานที่จะสำเร็จได้ง่ายๆ

สิ่งที่ต้องไม่ลืมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา คือ ปัจจุบันในแวดวงการทูตมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การทูตแบบเงียบๆ’ (quiet diplomacy) ที่รัฐบาลคู่เจรจาสามารถพูดคุยและสื่อสารกันอย่างเงียบๆ โดยไม่เปิดเผยให้สาธารณะได้รับรู้ เครื่องมือชุดนี้เปิดโอกาสให้ไทยสามารถโน้มน้าวเมียนมาได้โดยไม่จำเป็นต้องประณามกันผ่านสื่อหรือเวทีนานาชาติให้เสียน้ำใจกัน ในเมื่อไทยสามารถใช้ไม้อ่อน (carrot) ได้ ใยจึงจะต้องใช้ไม้แข็ง (stick) ให้เสียเรื่องตั้งแต่แรก 

หากประชาคมโลก (หรือพูดตรงๆ คือ สหรัฐอเมริกา) ต้องการให้รัฐบาลไทยคุยกับรัฐบาลทหารเมียนมา ก็ต้องให้โอกาสไทยเลือกใช้เครื่องมือด้วยตัวเอง เพราะประเด็นที่ไทยก้าวข้ามไม่ได้ คือ ไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมา และเป็นพรมแดนที่ยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร หากก้าวพลาดเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลต่อความมั่นคงของไทยได้ง่ายๆ อีกทั้งอุปสรรคในการเข้าถึงรัฐบาลทหารเมียนมายังมีหลายประการ 

ไทย (ในที่นี้หมายรวมถึงทั้งภาคกลาโหม การต่างประเทศ และพาณิชย์) จึงอาจต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เอาแค่หลักการไม่แทรกแซงการเมืองภายในซึ่งกันและกัน อันเป็นหลักปฏิบัติกันมานานของอาเซียน ก็ยากเกินกว่าที่จะให้ไทยเดินตรงเข้าไปคุยกับเมียนมาเรื่องสิทธิมนุษยชน วันดีคืนดีจะให้บริษัทไทยบางบริษัทไปเลิกค้าขายกับเมียนมาเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงรัฐบาลทหาร ยิ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แม้แต่ญี่ปุ่นที่มีสถานะเป็นรัฐตัวแทนของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคก็ยังไม่อาจถอนตัวออกจากเมียนมาได้ 

การพูดในเชิงทฤษฎีอาจจะเป็นสิ่งที่ง่าย เพราะผู้พูดส่วนใหญ่มีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล หรือแยกขาดออกจากพื้นที่พิพาท บางประเทศตั้งอยู่ห่างไกลคนละทวีป อยู่บนเกาะเอกเทศจากพื้นที่ความขัดแย้ง การจะเสนอแนวคิดใดจึงเป็นสิ่งที่เสนอได้ง่าย ไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยและความเคลื่อนไหวในภูมิภาคเจ้าปัญหา จึงสามารถประกาศนโยบายกดดันใครก็ได้ตามใจคิด 

ต่างจากไทยที่เป็นผู้เล่นในสนามโดยตรง การจะดำเนินนโยบายต่างประเทศรูปแบบใดย่อมต้องคำนึงถึงผลลัพธ์มากเป็นพิเศษ หากมองจากมุมภายในประเทศ หลายฝ่ายอาจจะเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลไทยควรจะแสดงบทบาทในการกดดันเมียนมา แต่จากหลักคิดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศย่อมไม่อาจใช้วิธีคิดที่เถรตรงเช่นนั้นได้เสมอไป เพราะมีปัจจัยที่ถ่วงรั้งอยู่มาก 

ประเด็นนี้จะว่าเป็นสัจนิยมแบบไทยที่เน้นเรื่องผลประโยชน์ และการเอาตัวรอดของตนเองเป็นสำคัญก็คงไม่ผิดนัก…

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า