เดิมทีวันเกิดปีที่ 28 ชินวางแผนจะไปฉลองเล็กๆ กินเบียร์ในผับกับเพื่อนชาวเวียดนามที่เกิดวันเดียวกัน ปีเดียวกันอีกต่างหาก
แต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชินฉลองวันเกิดด้วยการกินเบียร์เหงาๆ ในห้อง เพราะเพื่อนที่เกิดวันเดียวกันรวมถึงเพื่อนๆ อีกหลายชาติเกินครึ่ง บินกลับบ้านอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่คร่าชีวิต ‘ชาวบริติช’ ไปกว่า 13,000 คนแล้ว ผู้ติดเชื้ออีกกว่า 100,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2563) จนอังกฤษประกาศปิดเมืองไปแล้วตั้งแต่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา
หากแต่ ชิน-ชินธิป เอกก้านตรง นักศึกษาไทยวัย 28 ที่กำลังเรียนต่อด้าน MA Illustration ที่ Manchester School of Art เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ตัดสินใจไม่กลับบ้าน และเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อคนเดียวในหอพักกับห้องขนาด 4 x 5 เมตร มีห้องน้ำส่วนตัวแต่ครัวรวม
ทำไมถึงไม่กลับ? ทั้งๆ ที่ก็อยู่ในช่วงวันหยุดอีสเตอร์ (4-27 เมษายน)
“แรกๆ ก็สองจิตสองใจ แต่ต่อมาก็คิดว่าไม่กลับดีกว่า กลัวติดบนเครื่อง กลับไทย เราไม่ได้มีคอนโดหรือที่ให้เรากักตัว กลัวพ่อแม่ติดด้วย”
ธรรมชาติที่ไม่คุ้นของการพูดคุยผ่าน Zoom คือจังหวะที่ไม่ตรงกัน บางทีก็พูดชน หลายครั้งก็เดดแอร์ แต่พอไม่รีบ บางคำตอบที่ลึกกว่าก็ค่อยๆ เผยมาเอง
“แต่เอาจริงๆ นะ กลัวการอยู่บ้านกับพ่อแม่ตลอดทั้งวัน (หัวเราะ) นึกภาพตัวเองตอนอยู่บ้านออกเลย พ่อแม่มาบอกให้ช่วยทำนั่นนี่ ถูก distract ทั้งวัน เราไม่ไปช่วยเขาก็จะอารมณ์เสีย แต่อยู่นี่มันเหมือนอยู่หอพักไง เพื่อนผมหลายคนก็เป็นแบบนี้”
ยิ่งแพนิคยิ่งไม่เหลวไหล
ชายหนุ่มที่บอกว่าตัวเองเป็นคนไม่ค่อยมีระเบียบ แต่พอใช้ชีวิตอยู่คนเดียว กลับจัดตารางประจำวันแบบเป๊ะๆ
- 8.00 น. ตื่นนอน เช็คอีเมล เช็คข้อความต่างๆ
- 9.00 น. อาบน้ำ จัดการตัวเอง
- 10.00 น. เริ่มทำงาน – เหมือนพนักงานออฟฟิศเลย ชินบอก
- 11.30 น. มื้อกลางวัน (เข้าครัวทำเอง)
- 12.30 น. นั่งทำงานต่อแบบยิงยาว
- 17.00 น. เลิกงาน
- 18.00 น. เป็นต้นไป คือเวลาส่วนตัว เช่น คุยกับแฟน บอดี้เวทในห้อง เล่นเปียโนที่ซื้อมา ซ้อมกีตาร์บ้าง กันลืม (ชินเป็นหนึ่งในสมาชิกวง Wave and So)
“ชีวิตรูทีนมาก” ชินบรรยาย และบอกอีกว่าประพฤติปฏิบัติอย่างนี้มาเดือนกว่าแล้ว ตั้งแต่ COVID-19 เริ่มเข้ามา
“แรกๆ ยากนะ ยังมีแอบดูคลิปบริษัทฮาไม่จำกัดบ้าง หลังๆ ง่ายมากขึ้น เพราะทำทุกวัน ตอนนี้ถ้านั่งลงทำงานคือทำเลย มือถือไม่ค่อยเล่นด้วย”
เรียกว่าใช้ชีวิตอย่างเคร่งครัดกับตัวเองมากขึ้นในวันที่อิสระมากที่สุด
เพราะอะไร? คนไร้ระเบียบถึงควบคุมตัวเองได้
“เพราะอยากรีบทำงานให้เสร็จ จะได้เอาเวลาไปเล่นกีตาร์ เปียโน อยากรีบเอาเวลาไปทำงานอดิเรกอย่างอื่น” ประโยคนี้ชินตอบทันที
พอคำถามต่อไปยังไม่เกิดขึ้น เหมือนเดิม…คำตอบลึกๆ ก็ค่อยๆ ทยอยออกมา
“คิดว่าตัวเองโชคดีมาก มีงานให้ทำทุกวัน ไม่มีนี่น่าจะประสาท เราแบ่งสัดส่วนให้งานวันละ 9 ชั่วโมงต่อวันเลยนะ โหดอยู่ ไม่ได้หยุดเลย แต่ก็ดีกว่าไม่มีงานทำ สงสารคนไม่มีงานทำ เพราะตอนนี้ปิดเทอม priority เราคือหาเงิน เอาชีวิตให้รอด แต่เราก็โหยหาเวลาว่างนะ อยากทำนั่นโน่นนี่ ถึงได้ซื้อเปียโนมาเล่นไง”
“ดีใจมาก ที่ไม่ตาย”
ป่วยหนักเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ชินคิดว่าตัวเองจะต้องตายอย่างโดดเดี่ยวซะแล้ว
“เป็นไข้อ่อนๆ ตลอดสัปดาห์ นอนเหงื่อแตก หายใจยากขึ้นนิดนึง ตอนนั้นคิดว่าเอาแล้วกู ถ้าตายก็บ๊ายบายนะทุกคน” ตอนนั้นชินป่วยทั้งกายป่วยทั้งใจ ฝนก็ตกตลอด บวกกับอาการแพนิคก่อนหน้านั้น ถึงขั้นอ่อนไหวกับไอจามของทุกคน
จนแล้วจนรอด ชินก็ไม่ได้บอกลาทุกคน รุ่งขึ้นอาการกลับดีขึ้น ไข้ลด การหายใจที่ว่ายากก็ง่ายขึ้นเพราะตอนป่วยไม่ได้สูบบุหรี่อย่างที่เคย ที่สำคัญ ต่อมรับรสยังปกติดี
“ดีใจมากที่ไม่ตาย” ชินบอกผ่าน Zoom
ทุกวันนี้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร ชินจะทำอาหารกินเองทุกมื้อ อาศัยว่าครัวรวมตอนนี้ว่างเพราะเพื่อนร่วมหอพักบินกลับกันเกือบหมด
พลเมืองบริติชได้รับอนุญาตให้ออกจากที่พักไปออกกำลังกายได้วันละ 1 ครั้ง แต่ชินไม่เคยใช้โควตาครบสักที เพราะ ‘ขี้เกียจ’
“แต่ก็ซิทอัพ 20 ครั้ง แพลงค์ 1 นาทีครึ่ง สควอทบ้าง” ชายหนุ่มใช้วิธีบอดี้เวทในห้องเอา
ส่วนวิธีป้องกันตัวเองภายนอก ชินเพิ่งได้แมสก์ที่สั่งมาจากฮ่องกงหลังสั่งไปกว่าหนึ่งเดือน ก่อนหน้านั้นก็ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และอาศัยเดินห่างอย่างมาตรการ Social Distancing เอา เวลาต้องเดินไปซื้อของข้างนอก
ใส่แมสก์แปลว่าป่วย ค่านิยมฝั่งตะวันตกนี้เพิ่งถูกสะกิด ประชาชนชาวแมนเชสเตอร์ก็เริ่มปรับตัว หลายคนพกเจลล้างมือ แต่แมสก์ยังไม่มากเพราะไม่มีที่ให้ซื้อ และไม่มีชนิดที่ made in UK
“คนเอเชียแห่ตุนกันหมด ไปไม่ทันเขา”
แล้วเวลาป่วย ดูแลตัวเองอย่างไร?
“ก็ปรึกษาหมอในกลุ่มไลน์คนไทย” ชินตอบ
แต่ถ้าหนักหนากว่านั้น ก็ต้องจองคิวพบแพทย์ รอราวสองสัปดาห์ถึงจะได้พบ
“ยกเว้นยอมจ่ายแพงแล้วไปคลินิกเอกชน แต่ที่นี่แพงจริงๆ แพงขนาดว่าขอใบรับรองแพทย์ ต้องจ่าย 8,000 บาท (ค่านัด 2,000 บาท ใบรับรองแพทย์อีก 6,000 บาท) เพื่อเอาใบนี้ไปยื่นขอ fit to fly ที่ลอนดอน เพื่อบินกลับประเทศ”
แค่ประโยคเดียว “เราจะชนะไปด้วยกัน”
ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะรูปแบบที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า Housing ซึ่งแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่และครอบครัวขนาดเล็กที่เพิ่งสร้างเนื้อสร้างตัว
Housing คือ บ้านหนึ่งหลังที่ปล่อยให้หลายคนเช่าห้อง แต่ใช้ครัว ห้องอาหาร ห้องน้ำ สวน และพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ ร่วมกัน
“มันเป็นที่อยู่อาศัยที่คนจ่ายได้ และกลายเป็นวัฒนธรรมของคนที่นี่ ซึ่งผมคิดว่าชีวิตความเป็นอยู่แบบ ‘ใช้ส่วนกลางร่วมกัน’ แบบนี้มีส่วนทำให้ไวรัสมันกระจาย”
ช่วงนี้ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อยังน่าเป็นห่วง แต่ถามถึงกำลังใจของผู้อาศัยประเทศเขาอยู่ ชินบอกว่ารู้สึกอุ่นใจมากกว่าถ้าเทียบกับบ้านเกิด
แม้ บอริส จอห์นสัน เพิ่งจะออกจากห้องไอซียูหลังจากติดเชื้อ COVID-19 ก็ตาม ชินก็ยังย้ำคำเดิม
“เราไม่ได้รู้สึกอยากแช่งชักหักกระดูกให้เขาตายไวๆ … หายไวๆ เด้อ เราคิดอย่างนี้” ชินพูดถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
และแม้ตัวเลขหรือมาตรการรับมือของอังกฤษจะไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จ แต่ท่าที การออกสื่อ และลงมือทำ ทั้งหมดนี้ชินบอกว่า “มันดูพึ่งพาได้”
“พูดอะไรมาเราเชื่อได้ หรือตอนที่ควีนออกมาพูดและย้ำว่า เราจะชนะไปด้วยกัน ประโยคนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เออ เราจะชนะจริงๆ ว่ะ เราเป็นคนต่างประเทศได้ยินแล้วรู้สึกดี ไม่รู้คนบริติชเขาคิดยังไงนะ แต่มันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเลย คนเราพออยู่ในสภาวะกลัวมากๆ ก็ต้องหาที่ยึดเหนี่ยวเป็นธรรมดา แต่ถ้าเจอคนที่เดี๋ยวนั่น เดี๋ยวนี่ โลเล มันก็ยึดเหนี่ยวไม่ได้”
“การอยู่ห่างกัน จะทำให้เราปลอดภัยไปด้วยกัน”
“เราจะชนะไวรัสไปด้วยกัน และเราจะได้พบกันอีก”
ในความคิดของชิน อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนอังกฤษไม่แพนิคมาก เพราะมาตรการทางการเงินของภาครัฐต่อภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยการลดภาษีและให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินสดได้มากถึง 25,000 ปอนด์ (ราว 9.77 แสนบาท) และพักการเก็บภาษีบางธุรกิจ 1 ปีเต็มๆ
“ที่แปลกใจมากคือ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดรีบปิดก่อนเพื่อนเลย แต่จ่ายค่าจ้างพนักงานนะ ทั้งที่จริง ช่วงปิดเมืองน่าจะเป็นช่วงทำเงินของเขา แต่เพราะเขาเป็นห่วงพนักงาน แล้วพนักงานก็รับออเดอร์ผ่านตู้คีออสนะ ไม่ค่อยได้สัมผัสกับลูกค้าเท่าไหร่”
ไม่รวมการแจกอาหารให้กับผู้ยากจน คนไร้บ้านที่มีเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี COVID-19 ก็ตาม
ทั้งหมดนี้ทำให้ชินยังชั่งใจอยู่ว่า เรียนจบตุลาคมนี้ จะกลับเลยหรืออยู่ต่อดี แต่ใจตอนนี้ชักจะเอนเอียงไปอย่างหลัง
“ไม่ได้อยากเรียนต่อนะ อยากอยู่ บอกไม่ถูก รู้สึกว่า อยู่ที่นี่มีความพุ่งทะยาน (outstanding) ได้ง่ายกว่าอยู่ไทย คนที่นี่แสดงออกตรงๆ เลยว่าชอบงานเรา มันมีวัฒนธรรมการชื่นชม ที่จุดไฟ สร้างแรงบันดาลใจ แต่ของไทยไม่ค่อย”
อาจารย์ที่ปรึกษาเองก็เชียร์ให้ลูกศิษย์ไทย ยิงยาวอยู่ที่นี่ โดยให้เหตุผลว่างานที่นี่ต้องการความ diversity หรือความหลากหลาย
“อย่ากลับเลย ยูจะกลับทำไม ประเทศยูเองก็ถูก charge โดยทหาร (หัวเราะ) เราก็โห… รู้เยอะจัง รู้เยอะเหลือเกิน”
นโยบายช่วยเหลือของสหราชอาณาจักร
- เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดอยู่ที่ 104,148 ราย และผู้เสียชีวิตมากถึง 13,729 ราย นับว่าสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก (ข้อมูลเมื่อ 17 เมษายน)
- มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดตั้งแต่ 23 มีนาคม – 7 พฤษภาคม 2563 เรียกร้องให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน โดยอนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านด้วยเหตุจำเป็นเท่านั้น เช่น ออกไปซื้ออาหารและของใช้ หรือไปโรงพยาบาล อนุญาตให้ออกกำลังกายนอกบ้านและสวนสาธารณะได้ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
- รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศแผนมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจให้รอดพ้นจากช่วงวิกฤติ COVID-19 ด้วยการจัดสรรกองทุนให้กู้ยืมจำนวน 3.3 แสนล้านปอนด์ (12.8 ล้านล้านบาท)
- ส่วนหนึ่งสำหรับให้ความช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยการลดภาษีและให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยธุรกิจขนาดเล็กสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินสดได้มากถึง 25,000 ปอนด์ (ราว 1 ล้านบาท)
- รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้แรงงานแต่ละคน ร้อยละ 80 ของค่าจ้างล่าสุดที่ได้รับ อย่างน้อย 3 เดือน แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ หรือราว 1 แสนบาท มาตรการนี้จะใช้กับสถานประกอบการทุกขนาด
- ผู้ประกอบการจะได้รับการลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 1.14 ล้านล้านบาท และเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยอีก 12 เดือน
- พักการเก็บภาษีท้องถิ่นสำหรับกิจการภาคค้าปลีก ภาคบริการและท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 12 เดือน
- ผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยตกลงจะพักชำระหนี้ไปก่อน 3 เดือนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19