ฉันฝึกงานในยุคไฟป่า โควิด PM2.5: กลุ่มนักศึกษาที่ Hot! สุดในประเทศไทย

ภาพ: มูลนิธิกระจกเงา

1: ทำงานไม่มีวันหยุด เพราะไฟมันไม่หยุดด้วย

เหมือนเป็นภัยพิบัติที่คาดเดาได้ ในฤดูแล้งแสงสีเหลืองแดงจะอาบทั่วท้องฟ้า ทัศนียภาพที่เคยระบายด้วยสีเขียวขจีของป่าไม้ จะถูกแทนที่ด้วยทะเลเพลิง หมอกควันที่โอบทั่วบริเวณนั้นล้วนเป็นพิษ ไฟป่ามาเยือนอีกครั้งดั่งเช่นทุกปี และไม่มีทีท่าว่าความรุนแรงจะลดลงแม้แต่น้อย

อาจเป็นความเคยชินของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่สำหรับ มัง-อุสมาน สาคอ เด็กหนุ่มมุสลิมวัย 23 ปี ที่ดั้นด้นโดยสารรถไฟในตู้นอนแคบๆ กว่า 2 วัน ระยะทางราว 1,800 กิโลเมตร จากจังหวัดปัตตานีสู่จังหวัดเชียงราย ปลายทางคือมูลนิธิกระจกเงา สถานที่ที่เขาจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในฐานะ ‘เด็กฝึกงาน’

“ผมนั่งรถไฟ 2 วันเต็มๆ จากปัตตานี ถึงสถานีเชียงใหม่ แล้วจึงต่อรถทัวร์มาที่เชียงรายครับ จริงๆ ถ้าไม่มีโควิดเราต้องฝึกงานถึงวันที่ 24 เมษายน แต่พอเกิดโควิด ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ส่งเอกสารยุติการฝึกงาน ทำให้เวลาการฝึกงานสั้นลงครับ”

มัง-อุสมาน สาคอ

6 มกราคม 2563, มังกลายเป็นเด็กฝึกงานเต็มตัว สังกัดทีมภัยพิบัติ โดยมี ณัฐพล สิงห์เถื่อน หรือ พี่โจ้ ของน้องๆ ฝึกงานเป็นหัวหน้าทีม ขณะนั้นสถานการณ์ยังปกติ COVID-19 ยังไม่มา ไฟป่ายังไม่มี หน้าที่ของมังในฐานะ intern มือใหม่ จึงเป็นสารพัดงานที่เขาพอจะทำได้ เช่น สร้างสะพาน ตัดไม้ไผ่ ทำซุ้ม ไปจนถึงซ่อมของใช้จิปาถะในมูลนิธิ

ณัฐพล สิงห์เถื่อน

ทว่าไม่นาน ข่าวคราวการเกิดไฟป่าก็มาถึง

“วันแรกที่ต้องไปเป็นอาสาดับไฟป่า พี่โจ้บอกพวกเราว่าทางชาวบ้านอยากให้ไปช่วยทำแนวกันไฟ ล้อมเขาเป็นวงกลมเลยครับ เพื่อไม่ให้มันลามไปที่เขาลูกอื่น สัปดาห์ต่อมาก็มีทีมสายฟ้า เป็นทีมดับไฟของกรมอุทยานแจ้งมาว่ามีไฟ พวกเราก็ออกไปกับพี่ๆ ทีมสายฟ้าเลย ไปช่วยกันดับไฟ”

หลังจากนั้น ทุกๆ วันของการฝึกงาน คือการตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อทำการละหมาด ก่อนจะแบ่งงานกันอย่างแข็งขันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างดี คนนี้ไปเตรียมของ คนนั้นไปเตรียมอาหาร เสร็จสรรพจึงกระโดดขึ้นรถ มุ่งหน้าไปยังดอยใดดอยหนึ่งที่เขาก็จำชื่อไม่ได้ ภาคกิจเพื่อพิชิตเปลวไฟที่ใช่ว่าไม่น่ากลัว

“ช่วงแรกๆ นอนเร็วมากเลยครับ สามสี่ทุ่มก็หลับแล้ว เมื่อย ปวดไปหมด เพราะเราต้องแบกน้ำ แบกเครื่องเป่าขึ้นเขาไปด้วย เวลานอนก็จะเร็วขึ้นจากปกติ เพราะเรารู้ว่าช่วงนี้คือช่วงดับไฟป่า ก็ต้องพักร่างกายกันครับ

“เราไปกันเกือบทุกวันครับช่วงไฟป่า วันหยุดของเด็กฝึกงานอย่างเสาร์อาทิตย์เราก็ต้องไป เพราะไฟมันไม่หยุดด้วยครับ” (หัวเราะ)

งานหนักไม่ใช่ปัญหา เพราะเมื่อต้องเดินขึ้นลงเขาทุกวัน ร่างกายของมังและเพื่อนก็เริ่มชินงานหนักโดยอัตโนมัติ

“อุปสรรคเดียวที่ผมเจอ คืออิสลามต้องละหมาด 5 เวลา พอเราต้องไปดับไฟอยู่บนเขาบนดอย เราละหมาดไม่ได้ เพราะต้องอาบน้ำก่อนละหมาดทุกครั้ง ผมต้องขาดละหมาดเลยครับ ไปละหมาดชดเชยเอา มันทำได้เหมือนกันครับ แต่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่”

ไม่ใช่ออกไปดับไฟสุ่มสี่สุ่มห้า มังและเพื่อนฝึกงานคนอื่นๆ มีทีมสายฟ้า และทีมลำน้ำกก ไปจนถึงเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาคอยเป็นพี่เลี้ยงและระวังภัย

“ความที่เป็นเด็กใต้ไปอยู่เหนือ มันก็ท้อนิดนึงนะครับในช่วงแรก พยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เราไม่คุ้น ภาษา วัฒนธรรม มีความรู้สึกแวบหนึ่งตอนเราเหนื่อยมากๆ ว่า อยากกลับบ้าน ตอนเราเหนื่อยมากๆ โทรหาที่บ้าน เขาก็ยุให้เราทำต่อ ไหนๆ ก็ไปแล้ว ไปเอาประสบการณ์ใหม่ๆ บ้าง”

กี่ดอยที่ขึ้นไป – มังจำไม่ได้แม้กระทั่งชื่อและจำนวน เพราะเมื่องานเสร็จไปหนึ่งวัน ร่างกายของเขาก็อ่อนล้าเกินกว่าจะนั่งนับนั่งจำ เขาและเพื่อนต้องนอนพักเอาแรง เพื่อพร้อมลุยงานต่อไปในวันรุ่งขึ้น

“มีครั้งหนึ่งที่ขึ้นดอยทางชันและลื่นมาก ไฟมันอยู่ด้านล่างภูเขาและแรงมาก ถ้าเราพลาดลื่นลงไป ก็คงตกเข้าไปในกองไฟเลย เราต้องระมัดระวังมากๆ ตอนนั้นก็จะมีกลุ่มอาสาสมัครหลายกลุ่มมาช่วยกัน บางคนก็รุ่นหกสิบกว่าๆ เลยครับ แต่ละคนเสี่ยงชีวิตกันมาก”

อาสาสมัคร เด็กฝึกงาน เจ้าหน้าที่ดับไฟ และอาสาสมัครจากมูลนิธิ เปรียบเสมือนครอบครัวไปแล้วสำหรับมัง ต่างคนต่างระวังภัยให้กัน แบ่งปันอาหาร ถามไถ่และให้กำลังใจกันอยู่เสมอ

“พี่ๆ ทีมสายฟ้าใจดีมาก วันนั้นผมไปดับไฟกับพี่ๆ แล้วได้กินอาหารเที่ยงพร้อมกัน พี่เขาก็จะแบ่งอาหารให้ผมเพิ่ม แต่ผมบอกว่า ผมกินหมูไม่ได้ เขาก็เอาปลากะป๋องมาให้พวกเด็กมุสลิม 4-5 คนที่ดับไฟอยู่ พี่เขาใจดีมากครับ ถ้าขึ้นเขากับทีมสายฟ้า เขาจะคอยแบ่งน้ำ แบ่งอาหาร ถามไถ่ตลอดเลยครับ พวกพี่เขาทำงานโคตรหนักเลย เวลานอน เวลาพักก็น้อย

“พี่ทีมสายฟ้า ทีมลำน้ำกก เขาจะคอยสอนเรา ถ้าเราถือเครื่องที่มีน้ำมันเบนซิน ห้ามเข้าใกล้ไฟเกินไป มันอันตราย ไฟมันจะลาม หรือถ้าเราเดินๆ ไปแล้วเหนื่อย เขาก็จะรอเรา ค่อยๆ เดินไปพร้อมกัน

“ส่วนพี่โจ้จะคอยเช็คพวกเราตลอดว่าไหวไหม ถ้าไฟแรงให้ยืนตรงไหน ถ้ามีไฟโหมใกล้ๆ ให้เราไปอยู่ในแนวดำที่เชื้อเพลิงหมดแล้ว”

เจ้าตัวบอกกับเราว่า เหล่านี้คือประสบการณ์ที่ไม่มีวันหาได้ในห้องเรียน ด้วยความที่มังเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่แล้วจึงหมดไปกับตำรากองโต

แต่ภาพที่มังได้มาเห็นกับตา คือชีวิตจริงของชาวบ้านตรงหน้าที่กำลังมะงุมมะงาหราดับไฟแบบตามมีตามเกิด

“เขาไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีงบช่วยเหลือ ผมเห็นเขาแก้ปัญหากันตามมีตามเกิด ไม่มีเงินซื้อเครื่องเป่าหรืออุปกรณ์ดับไฟต่างๆ เขาเอาไม้กวาดมากวาดเป็นทางแนวกันไฟ ไม่มีเครื่องเป่าใบไม้ ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มาสนับสนุนพวกเขาเลย

“ถ้าอยู่บ้านเราก็คงได้ดูแต่ข่าวว่ามีไฟป่าที่ภาคเหนือ เราไม่รู้ถึงบรรยากาศ ไม่รู้ถึงความร้ายแรงของมันจริงๆ ก็คงไม่รู้สึกอะไรกับมันมาก แต่พอมาสัมผัส เรารู้เลยว่าพี่ๆ ทีมดับไฟเขาเหนื่อยกันขนาดไหน เขาต้องพยายามดับไฟทั้งภูเขา เรารู้สึกได้เลยจริงๆ”

2: เดินไปข้างหน้า ยังง่ายกว่าเดินถอยหลัง

ไฟป่า, โคโรนาไวรัส, PM2.5 ไม่รู้ว่าธิดาควรจะกลัวอะไรก่อนกัน กับชีวิตฝึกงานครั้งนี้

เธอเริ่มงานที่มูลนิธิกระจกเงาในทีมภัยพิบัติเช่นเดียวกับมัง ว่ากันตามตรงแล้ว ธิดารัตน์ ป่านแก้ว สิ้นสุดสถานะเด็กฝึกงานตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ทว่าล่วงเข้าปลายเดือนเมษายน เธอก็ยังคงยืนตระหง่านดับไฟบนดอยในฐานะอาสาสมัคร แม้ว่าครอบครัวจะรบเร้าให้เธอกลับบ้านเพราะกลัวการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ธิดายังคงยืนยันเดินหน้าดับไฟต่อ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

ธิดารัตน์ ป่านแก้ว

‘อยากช่วยตรงนี้ก่อน ยังกลับไม่ได้ ให้หมดไฟป่าก่อนแล้วค่อยกลับนะ’ ธิดากล่าวกับแม่

‘ถ้าอย่างนั้นต้องดูแลตัวเองดีๆ’ เป็นอันว่าแม่ไฟเขียว เธอจึงลุยงานต่อกับทีม จนถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าเดือนที่ 5 แล้ว

“ตอนแรกทำอะไรไม่เป็น พี่ๆ เริ่มสอนทำแนวกันไฟว่าต้องกว้างถึง 2-3 เมตร ไฟมันจึงจะไม่ข้ามแนว ถ้าเราเป่าแคบ ไฟมันจะข้ามแนวที่เราทำไว้ได้ แล้วจะลุกลามไปอีกฝั่งหนึ่ง”

ธิดาทำงานตั้งแต่ขนน้ำขึ้นเขา ทำแนวกันไฟ ดับไฟ ไปจนถึงเรียนรู้ลักษณะไฟและแรงลมที่พัดโหม

“มีครั้งหนึ่งที่ไปดับไฟ ตอนแรกไฟใกล้ดับแล้ว สักพักลมพัดแรง ไฟมันเปลี่ยนทิศเลย แล้วไฟก็ลุกขึ้นบริเวณใกล้ตัวเราเลย ตกใจกันมากเพราะเพื่อนๆ ที่ไปด้วยกันไม่เคยเจอแบบนี้ เราก็ต้องรีบใช้เครื่องเป่า เป่าไฟให้มันดับ กว่าจะดับได้ก็พักใหญ่เลย”

มีครั้งหนึ่ง พี่ๆ ทีมสายฟ้าคอยเตือนด้วยความเป็นห่วงว่า ‘อย่าเห็นไฟเป็นของเล่น’ คำพูดนี้ธิดาจำขึ้นใจ ทำให้ทุกครั้งที่เธอออกปฏิบัติงาน ความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งแรกที่เธอให้ความสำคัญ

“ตอนนั้นเราถือเครื่องเป่าที่มีน้ำมันเบนซิน เราอยู่ใกล้เปลวไฟ เขาก็เลยกลัวว่าไฟจะมาโดนเครื่องแล้วพวกเราจะเป็นอันตราย ตอนไปครั้งแรกเรากลัวนะ กลัวไฟมันโหม เราไม่เคยเจอ แต่หลังๆ พี่ๆ สายฟ้าเขาคอยแนะนำวิธีทำแนวกันไฟ ก็เลยรู้สึกว่าโอเคขึ้น”

ไปจนถึงพี่โจ้ หัวหน้าทีมภัยพิบัติมูลนิธิกระจกเงา ที่จะคอยบินโดรนและส่งข้อมูลบอกทีมถึงความอันตรายจากไฟข้างหน้า และคอยเช็คพลังใจของลูกทีมอยู่เสมอ

“เอาจริงๆ เลยนะ ตอนเดินขึ้นเขา เราเหนื่อย ท้อมาก อยากกลับบ้าน!”

เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นบนดอยจระเข้ จังหวัดเชียงราย ไฟป่าได้ลุกลามต่อเนื่องร่วมสัปดาห์ ธิดาและทีมดับไฟต้องเดินเท้าขึ้นดอยชันไปกลับกว่า 24 กิโลเมตร พร้อมทั้งแบกเครื่องเป่าลมหนักราว 4 กิโลกรัม!

“ทางมันโคตรชัน! คิดในใจเลยว่า ‘กูมาทำอะไรวะเนี่ย’ แต่พอเดินๆ ไป เห็นเปลวไฟอยู่ข้างหน้า ความเหนื่อยตอนเดินมันหายไปเลยนะ จะเอาไฟตรงนี้ให้ดับให้ได้!

“อันไหนที่ทำได้ ยกไหว เราอยากช่วย บางทีก็ไถลลงมาพร้อมกับเครื่องเป่าเลยเหมือนกัน แต่มั่นใจว่าถ้าเราอยู่ที่นี่ต่อ เราต้องช่วยอะไรได้แน่ๆ ไม่มากก็น้อยแหละ

“พอมาช่วยงานที่นี่ถึงได้รู้สึกจริงๆ ว่า ไฟป่ามันร้ายแรงมากเลย ไฟมันลุกขึ้นได้ตลอดทั้งๆ ที่เราดับไปแล้ว เพราะว่ามันมีความร้อน อยู่ดีๆ ไฟมันก็ลุกพรึ่บขึ้นมา ต้นไม้ก็หายไปเรื่อยๆ ไฟกินพื้นที่ไปเรื่อยๆ เราก็พยายามกันไม่ให้ไฟมันกินพื้นที่กว้างกว่านี้”

ช่วงที่ฝนยังไม่เริ่มตก ธิดาและทีมต้องออกไปทำงานทุกวันตั้งแต่เช้ายันเย็น บางวันก็เจอดอยเดินยาก บางวันง่าย และบางวัน เธอและเพื่อนต้องพยุงกันเดินต่อไปแม้ขาจะก้าวแทบไม่ไหวแล้วก็ตาม

“ตอนนี้ฝนตกค่ะ ดีใจ แต่อีกใจหนึ่ง พอเราเว้นช่วงไปสักพักแล้วต้องกลับไปทำงานอีกรอบ มันเหนื่อยง่ายมาก เหมือนกล้ามเนื้อมันไม่แข็งแรงเหมือนเดิมเพราะก่อนหน้านั้นเราเดินกันทุกวัน พอฝนหยุดแล้วเริ่มออกไปทำงานอีกครั้ง เหมือนนับหนึ่งใหม่เลยค่ะ

“แต่เดินไปข้างหน้ายังง่ายกว่าเดินถอยหลังนะพี่” ธิดาเล่าพลางหัวเราะ

ในการทำงาน ธิดามีคุณพ่อเป็นต้นแบบ เขาคือผู้ใหญ่บ้านที่ทำงานเพื่อชุมชนอย่างเสียสละ และเธอมักจะติดสอยห้อยตามคุณพ่อไปทำงานด้วยเสมอ นั่นทำให้เธอเลือกเรียน สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

“พอได้มาฝึกงานที่กระจกเงา เราเหมือนได้ออกนอกกรอบมากๆ ความรู้ใหม่เยอะเลย อย่างเช่นเรื่องแผนที่ เราไม่เคยรู้เลยว่าต้องปักหมุดแผนที่ใน Google map ยังไง เพราะตอนเรียนก็ได้แต่วาดแผนที่เดินดิน ไม่เคยรู้เรื่องของชาติพันธุ์ ความเป็นอยู่ หรือปัญหาไฟป่า

“พอมาทำงานที่นี่ เราก็ยิ่งแน่ใจว่าชอบทางนี้จริงๆ” ธิดาว่า

3: มากกว่าฝึกงาน คือฝึกทักษะชีวิต

“ทำไมบนดอยไม่มีสัตว์ป่าเลย แม้กระทั่งลิงหรือกระรอกก็ไม่มีเลย มันเป็นพื้นที่ป่า ก็น่าจะมีสัตว์ป่าให้เห็นบ้าง แต่ไม่มีเลย”

เป็นหนึ่งในหลายๆ ความสงสัยเมื่อหงส์ได้เห็นภาพภูเขาตรงหน้า

ว่ากันตามตรง หลายๆ คำถามหงส์เองก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ปัญหาไฟป่านั้นซับซ้อนเกินกว่าจะไปชี้นิ้วประณามใครคนใดคนหนึ่ง

หงส์-วิภาวดี ช่วยสองเมือง เดินทางมาจากนครศรีธรรมราช เพื่อมาเป็นเด็กฝึกงานในมูลนิธิกระจกเงาเชียงราย ทว่ายังไม่ทันครบกำหนดดี ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ส่งจดหมายยุติการฝึกงาน และให้เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส

‘หนูยังไม่กลับบ้านนะ มันเสี่ยงตอนเดินทาง แถมถึงบ้านก็ต้องกักตัว ขออยู่ที่นี่ต่อดีกว่า’ หงส์ต่อรองกับครอบครัว เพื่อขออยู่ช่วยดับไฟกับทีมอาสาสมัคร

“วันแรกที่ขึ้นไป… เหนื่อยค่ะ! แบกน้ำขึ้นดอยวิ่งขึ้นวิ่งลง ถนนหนทางก็ลำบาก พะรุงพะรังไปหมดทั้งสายยาง ทั้งถังน้ำที่เราต้องลากขึ้นไปช่วยสมทบกับทีมด้านบน เราเป็นทีมสนับสนุน ต้องขนน้ำขึ้นไปให้ทีมอาสาสมัครที่เขาอยู่แนวหน้าไฟค่ะ”

อาจเพราะความตั้งใจและชอบการเดินป่าเป็นทุนเดิม หงส์จึงไม่หวั่นใจมากนัก ทว่าหน้างานที่มาพบ ล้วนแล้วแต่รายล้อมไปด้วยความอันตรายถึงชีวิต

หงส์-วิภาวดี ช่วยสองเมือง

“พี่ๆ จะสอนเรื่องการเซฟตัวเองเป็นหลักเลย ทั้งการใส่เสื้อผ้า ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากอนามัย เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า รองเท้า สอนหมดเลยว่าเราต้องป้องกันตัวเองอย่างไรบ้างจากสัตว์มีพิษ จากไฟ จากกิ่งไม้ใบไม้ข่วน”

ตั้งแต่ขนถังน้ำและสายยางขึ้นลงเขา ทำแนวกันไฟล้อมรอบดอย ไปจนถึงดับไฟ หงส์ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ แม้กำลังผจญกับปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะฝุ่นควัน เปลวไฟ ความเหนื่อยล้า และทางเดินที่สูงชัน

“ความที่มันมีทั้งปัญหา PM2.5 เข้ามาด้วย มันเลยรุนแรงกว่าเดิม ทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บางหมู่บ้านเขามีไฟลุกขึ้น แต่เขาจะไม่ให้ทางมูลนิธิเข้าไป เพราะเขาก็ต้องการป้องกัน COVID-19 จากคนภายนอกด้วย บางหมู่บ้านเราเลยไม่ได้เข้าไป”

ความที่อยู่กับตำรามาตลอดการเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ช่วงฝึกงานจึงเป็นเวลาที่หงส์รอคอย แม้จะไม่คาดคิดว่าต้องมาเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ แต่หงส์ก็ใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการเรียนรู้ โดยมีครูเป็นชาวบ้าน ธรรมชาติ และพี่ๆ อาสาสมัคร ที่ร่วมผจญเพลิงไปด้วยกัน

สถานการณ์ไฟป่าในภาคเหนือดูเหมือนว่าจะยังไม่จบลงง่ายๆ และคำถามที่ว่า ใครเป็นคนจุดไฟ ก็คงไม่อาจหาความจริงได้ในคำตอบเดียว ทว่าเปลวเพลิงที่ลุกโชนนั้น คือข้อเท็จจริง และเบื้องหน้านั้น ยังคงมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยืนตระหง่านดับไฟ และคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรัง

ทั้งหงส์ มัง และธิดา คงเป็นหนึ่งในนักศึกษา (บ้า) ฝึกงานที่ร้อนแรงที่สุด ณ ขณะนี้แล้วกระมัง

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า