เปิดโลกหนังสือโป๊เกย์: ชีวิตเร้นรักของ LGBTQIA+ ไทยในยุค 1980-1990

ปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียและประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย กล่าวได้ว่าสังคมไทยได้คืบคลานก้าวหน้ามาอีกขั้น เปิดรับและให้การยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) มากยิ่งขึ้น อันเกิดจากการผลักดันเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมตั้งแต่หลายทศวรรษก่อนหน้า 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกนับเป็นบุคคลชายขอบ (marginal people) ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย พวกเขาจึงถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด มีความผิดปกติ เป็นตัวตลกโปกฮา กระทั่งถูกมองเป็น ‘โรคภัย’ ที่ต้องรักษา หรือข้อกล่าวหาต่างๆ นานาว่าเป็นพาหะนำ ‘โรคเอดส์’ (HIV) หรือถูกกล่าวในเชิงเหยียดหยามว่า ‘โรคเกย์’ 

ในประเทศไทย ยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1980-1990 นิตยสาร จุลสาร และสมุดภาพ กลายมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ให้ทั้งความบันเทิง เริงเร้าอารมณ์ ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเพศที่หลากหลาย ปลอบประโลมเสมือนเพื่อน และให้คำปรึกษาผ่านการตอบจดหมายของกองบรรณาธิการ ที่แสดงให้เห็นสภาพแวดล้อมและทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อพวกเขา ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีความฝัน ความหวัง และความผิดหวัง เฉกเช่นมนุษย์โดยทั่วไป แม้ต้องดำรงอยู่ในสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างมากพอ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชุมชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้เงียบงันไปตามกระแสต่อต้านของสังคม แต่พวกเขาแข็งขืนและขับเคลื่อนงานใต้ดินที่สังคมและรัฐมองสิ่งที่พวกเขาทำว่าคือ ‘สื่อลามก’ 

แม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้จะถูกตีตราว่าเป็นสื่อลามก แต่อีกแง่หนึ่งก็มีคุณค่าในการศึกษา เติมเต็มประวัติศาสตร์ของ ‘สามัญชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ ในสังคมไทย สิ่งพิมพ์ที่ถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982-2009 ได้ถูกเก็บรวบรวมโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน (Emeritus Professor Peter A. Jackson) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ศาสนา และเพศวิถี แห่งสำนักวิชาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภาษา วิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (College of Asia and the Pacific’s School of Culture, History and Language, Australian National University: ANU) โดยได้สแกนสิ่งพิมพ์ทั้งหมดเป็นไฟล์ดิจิทัล จำนวน 32 หัวนิตยสาร รวม 652 ฉบับ ที่สามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของ British Library ภายใต้ชื่อคอลเลกชันดิจิทัลว่า ‘Thai Rainbow Archives Collection’ โดยนิตยสารฉบับจริงนั้นยังคงถูกเก็บเอาไว้ในที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งอยู่กับมูลนิธิฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย 

ไฟล์ทั้งหมดนี้สามารถเข้าไปอ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในหลายทศวรรษก่อนหน้า ท่ามกลางสังคมที่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับพวกเขา

ความก้าวหน้าในการนำเสนอแนวคิดผู้มีความหลากหลายทางเพศ

จากการสำรวจคอลเลกชัน Thai Rainbow Archieves พบว่ามีนิตยสารทั้งสิ้น 32 หัว รวม 652 ฉบับ แต่มีเพียงไม่กี่หัวนิตยสารที่ได้รับความนิยมและมีอายุในการพิมพ์และจัดจำหน่ายยาวนาน เช่น มิถุนาจูเนียร์ (1984-1997) นีออน (1984-1996) มรกต (1985-1998) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นนิตยสารเกย์ ทั้งยังรวมไปถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่นๆ เช่น ’นะยะ (N’YAH: 1996) ของทรานส์ อัญจารีสาร (1994-1999) ของกลุ่มเลสเบี้ยน

นิตยสาร นีออน ฉบับที่ 48 ปี 1990

นิตยสารเหล่านี้ไม่ใช่หนังสือโป๊ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีเพียงภาพนู้ดพอได้หวาดเสียวเริงรมย์สมฤดี อาจมีเรื่องราวการแชร์ประสบการณ์ทางเพศหรือเรื่องเสียว การสัมภาษณ์บุคคล LGBTQIA+ ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและได้รับการยอมรับจากสังคมในขณะนั้น เช่น ดร.เสรี วงศ์มณฑา ‘เกย์นที’ นที ธีระโรจนพงษ์ เจินเจิน บุญสูงเนิน เป็นต้น พร้อมด้วยการอัปเดตข่าวสารของสถานให้บริการ คลับบาร์ ตามย่านเกย์ต่างๆ เช่น สีลม พัฒน์พงษ์ สะพานควาย อารีย์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ รายได้หลักของนิตยสารเหล่านี้ นอกเหนือไปจากยอดขาย การสมัครสมาชิก ยังมีรายได้จากการลงโฆษณาของสถานบริการ คลับบาร์ รวมไปถึงภาพลับเฉพาะ exclusive ของนายแบบต่างๆ ภาพยนตร์วิดีโอโป๊จากต่างประเทศ ที่สนนราคาถึงหลายร้อยบาทต่อม้วนเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการแปลบทความให้ความรู้ต่างๆ และการป้องกันโรคเอดส์ (HIV) ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในช่วงนั้น เพราะสังคมไทยได้เคยตราหน้าว่าเป็น ‘โรคเกย์’

แต่สิ่งที่ก้าวหน้ามากที่สุดสำหรับนิตยสารเหล่านี้คือ การเผยแพร่แนวคิดความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย สร้างความเข้าใจให้นักอ่านได้มองเห็นว่า การเป็นเกย์ ทอม เลสเบี้ยน หรือเพศที่หลากหลายอื่นๆ ในยุคนั้น ไม่ใช่โรคภัยที่ต้องรักษา ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต หรือเป็นตัวประหลาด แต่คือเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ และการแสดงออกทางเพศแบบหนึ่ง ไม่ใช่อย่างที่สังคมตีตราพวกเขาหรือสังคมกำหนดให้เพศสภาพ (gender) มีเพียงสองเหมือนเพศกำเนิด (sex) เท่านั้น

บทความแปลจาก The Advocate ฉบับเดือนกรกฎาคม 1985 ในนิตยสาร มรกต ฉบับที่ 1 ปี 1985 ซึ่งเป็นบทความแปลจากภาษาอังกฤษว่าด้วยการทำความเข้าใจเกย์

‘เซฟโซน’ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

นิตยสารเกย์ เลสเบี้ยน หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในยุคนั้น ไม่ได้จัดพิมพ์มาเพื่อความบันเทิงจากภาพถ่ายนายแบบหรือเรื่องเล่าประสบการณ์เสียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างบทสนทนา ผ่านคอลัมน์ตอบจดหมายจากกองบรรณาธิการ ถึงปัญหาสารพันต่างๆ ของนักอ่าน ทั้งปัญหาต้องการที่ระบาย บอกเล่าเรื่องราวในชีวิต ต้องการคำปรึกษา หาเพื่อนหรือหาคนรัก แม้กระทั่งติดตามกิจกรรมความเคลื่อนไหวของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นที่พักใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาเหล่านี้พึ่งพาได้เมื่อเจอปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว สังคม ความผิดหวังในความรัก หรือรักต้องห้าม ปัญหาทางเพศ หรือแม้กระทั่งการหาคำตอบให้กับคนที่กำลังสับสันในตัวเอง

การตอบจดหมายของผู้อ่านท่านหนึ่งที่กำลังมีความสับสนในตนเอง ซึ่งทางกองบรรณาธิการได้ตอบจดหมายกลับว่า “แม้ว่าการเป็นเกย์จะขมขื่น สังคมไม่ยอมรับ มือถือสากปากถือศีลว่ายอมรับแต่ลับหลังก็นินทาว่าร้าย แต่ก็ขอให้คุณนั้นอย่าเพิ่งเซ็ง เป็นตัวของเองนั่นแหละ เรียนรู้ ยอมรับตนเองเสียก่อน ไม่มีใครไม่เคยผิดหวัง”
(ที่มา: นิตยสาร มรกต ฉบับที่ 1 ปี 1985)
นอกจากการตอบจดหมายโดยกองบรรณาธิการแล้ว ยังมีคอลัมน์ ‘เพื่อนปลอบเพื่อน’ สำหรับให้ผู้อ่านส่งจดหมายเข้ามาให้กำลังใจกัน สำหรับเพื่อนที่ผิดหวัง มีปัญหา ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว แสดงความห่วงใยที่มีต่อกัน แม้จะไม่มีใคร แต่เพื่อนก็ยังอยู่ข้างๆ
(ที่มา: นิตยสาร มรกต ฉบับที่ 1 ปี 1986)
คอลัมน์ ‘ล้อมวงคุยกัน’ จากนิตยสาร มิถุนาจูเนียร์ ฉบับที่ 60 ปี 1990 ซึ่งถือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยของชุมชนหลากหลายทางเพศในสมัยนั้น
คอลัมน์ ‘สโมสรมิถุนา’ จากนิตยสาร มิถุนาจูเนียร์ ฉบับที่ 49 ปี 1988 สำหรับการหาคนรักหรือหาเพื่อน สามารถแนะนำตัวด้วยการระบุรสนิยมทางเพศได้ หลายคนเลือกที่จะระบุลงไปว่า ‘ไม่แสดงออก’ อันน่าจะหมายถึง การไม่แสดงออกว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในช่วงเวลานั้น

นอกจากการตอบจดหมายความคับข้องใจของผู้อ่านแล้ว นิตยสารเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการสร้างชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในยุคแรกเริ่มของไทย ทำหน้าที่กระจายข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงการเคลื่อนไหวทางสังคม 

ขณะที่กลุ่มหรือชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ก็ได้ออกจุลสารต่างๆ ของตนเองออกมาด้วยเช่นกัน โดยทำหน้าที่กระจายข่าวสารกิจกรรม ตอบจดหมาย ให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ 
จุลสาร กุลเกย์ (F.A.C.T. Sheet) เป็นจุลสารของกลุ่มภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย หรือ The Fraternity for AIDS Cessation in Thailand (F.A.C.T.) ตีพิมพ์ระหว่างปี 1989-1995 มี ‘เกย์นที’ นที ธีระโรจนพงษ์ เป็นบรรณาธิการ มุ่งหมายให้จุลสารนี้สร้างสรรค์สังคมเกย์ที่มีคุณภาพ (กุลเกย์) ช่วยสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม สามารถยืดอกและภูมิใจในความเป็นเกย์ มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ขององค์กรในการต่อต้านหยุดยั้งโรคเอดส์

จุลสาร กุลเกย์ ฉบับที่ 1 ปี 1989 มีการเผยแพร่กิจกรรมเดินขบวนต้านภัยเอดส์ และการก่อตั้งสำนักงาน ‘กุลเกย์’ ซึ่งถือเป็นสำนักงานเกย์แห่งแรกของไทย เพื่อการต่อต้านโรคเอดส์และทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์

ขณะที่กลุ่ม ‘อัญจารี’ กลุ่มหญิงรักหญิงได้ออกจดหมายข่าว อัญจารีสาร เพื่อสนับสนุนสิทธิความหลายหลายทางเพศในระหว่างปี 1994-1999 โดยชื่อ ‘อัญจารี’ หมายถึง แนวทางที่แตกต่างและหลากหลาย มุ่งเน้นไปที่กลุ่มหญิงรักหญิง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกำลังใจ สนับสนุนหญิงรักหญิงให้ดำเนินชีวิตตามทางที่ตนเองเลือก เผยแพร่ความคิด ความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้องบนหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงการสร้างความเป็นธรรมในสังคมด้านต่างๆ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาจาก Thai Rainbow Archieve ของ British Library ที่ได้เก็บรวบรวมสื่อสิ่งพิมพ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศของไทยในช่วงทศวรรษ 1980-2000 ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อการศึกษาทำความเข้าใจกลุ่ม LGBTQIA+ ของไทย 

สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้สามารถช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ของสามัญชนที่มีความหลากหลาย ซึ่งในทางประวัติศาสตร์แล้วถือเป็นหลักฐานชั้นต้นก็ว่าได้ เพราะเต็มไปด้วยข้อมูล ความรู้สึกนึกคิดของกลุ่ม LGBTQIA+ และภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ยังไม่ได้เปิดกว้างต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ในยุคนั้น ทำให้เห็นพัฒนาการทางความคิดและการต่อสู้ของพวกเขาที่ดำเนินมาถึงปัจจุบัน ในห้วงเวลาที่สำคัญที่สุดคือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า