เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
สิงหาคมปี 2017 บทความหลายชิ้นจากเพจน้องใหม่ถูกแชร์อย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ท่วมฝีดจนหวั่นถูกปลิด แต่ก็เรียกว่าสร้างปรากฏการณ์ต่อการพูดถึง ‘เพศ’ ‘เซ็กส์’ และคำถามต่อคำว่า ‘consent’ ที่แปลว่า ความยินยอม อนุญาต ยอมให้ทำ
Thaiconsent คือเพจที่เปิดรับเรื่องเล่าประสบการณ์ทางเพศทุกรูปแบบจากทางบ้าน ส่วนใหญ่บอบช้ำจาก ‘เส้น’ แสนเบาบางที่กำหนดว่าพวกเขาจะ “Yes” “Maybe” หรือ “No” แบบนี้ทำได้หรือไม่ ความบังเอิญหรือคือความโรแมนติก ควันบุหรี่ เสียงเพลง ไม่รู้สึกต้องระวังเพราะเป็นคนใกล้ชิด
สิ่งที่ทำให้ Thaiconsent ได้รับความสนใจจากคนทั่วไป อาจเป็นการพูดเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา อยากฟังประสบการณ์จากคนอื่นเพื่อรู้ว่าสิ่งที่เกิดกับเราไม่ได้แปลก และเพราะท่าทีเป็นมิตร และกราฟิกที่พูดเรื่องเพศอย่างคนที่เข้าอกเข้าใจ
แต่ความน่าสนใจของ นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เจ้าของเพจ Thaiconsent ไม่ได้หยุดแค่ตรงนี้ หากเธอเป็นหนึ่งในสมาชิก Newground ‘กลุ่มเด็กไม่พอใจอะไรเลย’ องค์กรวิจัยเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ กับผลงานล่าสุดของเธอคือ ‘ประวัติศาสตร์เยาวชน’ โดยที่มีข้อสรุปว่า ความคิดเยาวชนเพิ่งเกิด และมันเกิดเพราะต้องการแรงงานทาส!
แน่นอนว่าเผ็ช แซ่บ ดุเดือด และมีอุดมการณ์ขนาดนี้ WAY Magazine ผู้มีสำนึกเรื่องเด็กและเยาวชน (แน่นอนค่ะ เราต้องแซวตัวเอง) ชวนเธอคุยว่านับแต่เปิดเพจมาตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว เรื่องเล่าในเพจเป็นอย่างไร มีปัญหาเรื่องเพศอะไรที่บ้างที่ถูกซุกไว้ใต้พรม และพอจะอนุมานได้ไหมว่าเราถูกหล่อหลอมมาจากสังคมแบบไหน ให้เข้าใจว่า “Maybe” เท่ากับ “Yes”
รับชมค่ะ ☺
Thaiconsent เปิดตัวช่วงเดือนสิงหาคม 2560 ถึงวันนี้เดือนกุมภาพันธ์ เข้าเดือนที่เจ็ดแล้ว พอจะเห็นภาพไหมว่า เรื่องที่ส่งเข้ามาส่วนมากเป็นแบบไหน
จริงๆ ยังไม่ได้สรุปเป็นตัวเลขสถิติ แต่จากที่มอนิเตอร์ก็มีหลายเฉดมาก ทั้งเฉดที่เราคาดไม่ถึง อ่านแล้วดิ่งไปเลยก็มี เช่น พริตตี้อายุ 18 ไปทำงานที่สิงคโปร์แล้วถูกลูกค้าข่มขืน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การถูกแฟนละเมิด แต่แฟนไม่รู้ว่านี่คือการละเมิด ถูกเพื่อนร่วมงานละเมิด แต่ทำอะไรไม่ถูก เพราะมีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้อง
มีผู้ชายที่ส่งเรื่องมาเหมือนกัน แต่รายละเอียดต่างกันหน่อยหนึ่งตรงที่ผู้ชายจะเล่า performance เยอะกว่าหน่อยหนึ่ง เล่าว่ามีความไม่มั่นใจบางอย่างเกี่ยวกับ performance แต่ถ้าเป็นเรื่องของผู้หญิง จะเป็นความรู้สึกสูญเสียทางอำนาจ (power) คร่าวๆ จะประมาณนี้ คือมีเรื่อง performance และ power อยู่ในเรื่องเซ็กส์
ดิ่งไปเลยนี่คือขั้นไหน
ไปหาหมอเลยจ้า เดือนแรกหลังจากเปิดเพจ เป็นช่วงที่มีข่าวแอคทิวิสต์คนหนึ่งถูกละเมิด ซึ่งเป็นเรื่องคอนเซ็ปต์ของ consent พอดี คล้ายเป็นความผิดหวังว่าทำไมคนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนถึงไม่เข้าใจเรื่องสิทธิทางเพศ ที่ดิ่งมากกว่าก็เพราะอ่านคอมเมนต์ของนักเคลื่อนไหวด้วยกันต่อเรื่องนี้แล้วยิ่งเฟลหนักกว่าเก่าด้วย เลยไปหาหมอ เพราะไม่ไหวแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ดีขึ้น แยกแยะได้ อาจเพราะเราคาดหวังไปเองว่าคนอื่นจะเข้าใจ ทั้งที่จริงมันก็ยังเป็นเรื่องใหม่
มีคนบอกว่า คนที่เป็นซึมเศร้าไม่ควรเป็น helper ให้คนอื่น
ตอนที่เด็กกว่านี้มากๆ สัก 10 หรือ 12 ขวบ เราก็มีความคิดเรื่องฆ่าตัวตายนะ และสิ่งที่ช่วยเราคือการที่รู้ว่ามีคนอื่นเป็นเหมือนเราอยู่ ไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แล้วเข้ามาช่วย เรารอดเพราะเราอ่านเรื่องของคนอื่น อ่านแจ๊คเกอลีน วิลสัน (Jacqueline Wilson นักเขียนวรรณกรรมเด็กชาวอังกฤษ งานส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาครอบครัว ตัวเอกในเรื่องมักมีปัญหากับความผิดปกติทางจิต การหย่าร้าง และเด็กกำพร้า) เรารู้ว่ามีเด็กคนอื่นที่ซัฟเฟอร์เหมือนเรา รู้ว่ามันไม่แปลก ล่าสุดที่เราก้าวข้ามความอยากฆ่าตัวตายมาได้เพราะว่าไปอ่านบอร์ด Reddit แล้วก็รู้ว่ามีคนอยากฆ่าตัวตายเพียบเลย เลยรู้สึกว่า เออ… เราก็เป็นหนึ่งในคนส่วนมากที่มันซัฟเฟอร์อยู่นะ
บางครั้งการช่วยเหลือไม่ได้มาจากคนสมบูรณ์ แต่คือการรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นเอเลี่ยนของโลกก็พอแล้ว อันนี้ส่วนตัวนะ ไม่ได้วิชาการอะไร
ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการทำเพจด้วย?
ใช่ แล้วก็มาจากเรื่องส่วนตัว คือตอนที่อยู่มหาวิทยาลัย เราได้รู้ว่าเพื่อนอีกเจ็ดคนเจออะไรแบบนี้ มันเยอะมากนะสำหรับผู้หญิงอายุ 22 ที่รู้ว่าเพื่อนสนิท เพื่อนในห้องเดียวกันต้องเจอเหตุการณ์ที่เขาไม่ตั้งใจจะมีเซ็กส์ ไม่ว่าจะจากความเมา ปาร์ตี้ เมายาซึมเศร้า หรืออะไรก็แล้วแต่ ตอนนั้นเลยคิดว่าเราจะมาไล่ช่วยป้องกันให้เป็นเคสๆ แบบนี้ต่อไปไม่ได้ มันต้องมีอีกแน่ๆ
จุดประสงค์ของ Thaiconsent คืออยากทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์นี้ หรือว่ามี agenda อื่นๆ ด้วย
เราอยากให้คนรู้มากกว่าว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้าง และเป็นเรื่องที่อาจไม่ได้เกิดกับเขา เพราะเซ็กส์เป็นเรื่องที่คนเราจะลองทุกแบบเองไม่ได้ นึกออกปะ? (หัวเราะ) สมมุติเราชอบผู้ชาย เราก็จะไม่รู้ว่าความสัมพันธ์แบบชาย-ชายมันเป็นยังไง และก็ไม่สามารถเอามาตรฐานของเราไปจับกับคนกลุ่มอื่นได้ด้วย หรือคนที่เป็นสายทินเดอร์ เขาก็จะมีประสบการณ์ชุดหนึ่ง แต่สายคบแฟนคนเดียวนานๆ มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
คือกับเรื่องเซ็กส์ คนเรามันจะเอาเวลาไหนไปลองทุกรูปแบบในชีวิตเดียว มันไม่ได้ แต่อะไรเป็นเหตุผลที่เราไม่ควรรู้ ว่ามันมีตัวเลือกอื่นๆ ในสังคม
เช่น polyamory (การมีคนรักหลายคน) หรือ open relationship ความสัมพันธ์อย่างไม่ต้องหึงหวง มันก็ทำได้ แต่ทำไมคนถึงไม่รู้ว่ามันมีตัวเลือกแบบนี้อยู่
ความรู้เรื่องการละเมิดเป็นพอยท์หนึ่ง แต่เราอยากให้คนรู้ว่าความสัมพันธ์มันปัจเจกมากนะ มันไม่ใช่เรื่องที่อ้างถึงคนส่วนมากได้
มีคนทักเข้ามาในเพจว่า อยากรู้ว่าผู้หญิงส่วนมากหรือคนส่วนมากคิดยังไง เราก็ถามว่า อ้าว… แล้วคุณรู้ได้ไงว่าแฟนคุณเป็นคนส่วนมาก ถ้าแฟนคุณเป็นส่วนน้อยล่ะจะทำไง มันอยู่ที่คนคนนั้นมากกว่า คุณต้องศึกษาคนนั้นก่อน ว่าเขาเป็นคนยังไง
ความแตกต่างระหว่างการละเมิด (consent) กับการข่มขืน ซึ่งผิดกฎหมายแน่ๆ คืออะไร หรืออาจจะยกเคสประกอบ
ถ้าเทียบกับกฎหมายเราไม่แม่น เพราะที่ทำอยู่ เรายืนอยู่ในเฉดของวัฒนธรรมมากกว่า แต่ถ้าให้อธิบายในแบบของเรา ข่มขืนก็คือละเมิด ถึงเนื้อเรื่องจะต่างกัน แต่ปลายทางคือมีคนเจ็บปวด มีคนรู้สึกว่าถูกคุกคาม
อะไรที่ทำให้คนถูกละเมิดไม่กล้าแจ้งความ หรือทวงความยุติธรรมให้ตัวเอง
ไม่รู้ว่าเราตอบแทนทุกคนได้ไหม แต่ลองคิดว่าถ้าเราไม่รู้จักคนที่ละเมิดเลย แจ้งความง่ายปะ? แต่ถ้าเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนที่คบกันมานาน แต่เหตุการณ์วันนั้นเราไม่ได้คิดมาก่อน มันยากไหม? ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องที่เราไม่ได้คิดมาก่อนนะ คือคนหนึ่งมโน คนหนึ่งก็ไม่ทันได้คิด แล้วสิ่งที่สังคมบังคับ คือไปโทษว่าทำไมคนที่ไว้ใจถึงไม่ระวังตัว แต่ก็ไม่สอนว่า คนที่มโน มึงมโนไม่ได้นะ
อีกหนึ่งประเด็นคือ เวลาที่เกิดเรื่องแบบนี้ กองเชียร์หรือคนที่สามจะมองหาความยุติธรรมก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะเชียร์ใครดี แต่สำหรับคนที่เพิ่งเจอมา จะรู้สึกว่ากู below zero นะ ไม่มีใครซัพพอร์ตอารมณ์เขาให้กลับมาพร้อมก่อน แต่ทุกคนและแม้แต่คนที่ไว้ใจก็จะมองหาว่า เขาต้องเล่าความจริงออกมาทุกอย่าง นึกออกปะ… เพิ่งถูกกระทำมานะ
ความรู้เรื่องการรับมือกับเหตุละเมิดทางเพศของคนรอบข้างก็ไม่มี ยากที่จะเตรียมใจให้พร้อมแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้แปลว่าถูกลงโทษเพื่อให้คนถูกกระทำสะใจ มันไม่เหมือนกองเชียร์ บางคนแค่เห็นอีกฝ่ายสำนึกจริงๆ ก็พอแล้ว แต่บางคนอาจอยากเห็นเขาถูกลงโทษ
มีเคสหนึ่งของบ้านกาญจนาฯ เขาเขียนสารภาพแบบลูกผู้ชายว่า เขารู้สึกผิดที่กระทำเหตุรุมโทรม รู้สึกผิดที่ทำไปเพราะเขาเด็ก ตามเพื่อน เขาทำให้พ่อแม่ลำบากและตัวเองต้องติดคุก เหมือนจะดีใช่ไหม? แต่ก็มีคนมาคอมเมนต์ว่า ไม่เห็นความสำนึกผิดต่อเหยื่อเลย แต่เป็นความสำนึกผิดเพราะถูกจับ มันไม่ใช่ความเห็นใจอีกฝ่ายนะ คือมันมีอะไรแบบนี้อยู่
แล้วสำหรับคุณ คิดยังไง อยากเห็นการสำนึกผิด พื้นที่การขอโทษ หรือแค่ในแง่ผ่านกระบวนทางกฎหมาย
เราว่ามันหลากหลายมากๆ เลย อยู่ที่ว่ามีโครงสร้างมารองรับความปัจเจกนั้นไหม ถ้าเป็นเมืองนอก ถ้าคุณติดคุกคดีทางเพศ ต้องผ่านกระบวนการ rehab (บำบัด) ถึงจะออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้ แต่ที่ไทยเราไม่แน่ใจว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ศูนย์พึ่งได้ (ศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง) แต่ไม่รู้ว่าสาขาไหนดีไม่ดีอีก ไม่มีสแตนดาร์ดหรือรีวิวขนาดนั้น
ข้อความหลังบ้านต่อวัน มีประมาณเท่าไร
ขอตีเป็นช่วงนี้นะ ที่ค้างอยู่มีประมาณสามร้อยกว่าเรื่อง แต่ช่วงนี้เราหายตัวไปอยู่ (หัวเราะ) เพราะคิดอยู่ว่าจะทำยังไงให้เกิดความต่อเนื่องในสิ่งที่ทำไปแล้ว และเราก็ได้ไปทำเรื่องอื่นที่มันก้าวหน้ากว่านี้ เช่น มีคนเสนอว่าอยากให้มีชุดความรู้ในเชิงหลักการว่า อะไรใช่-ไม่ใช่ อะไรคือ consent ขอบเขตของการละเมิดอยู่ตรงไหน เราว่าเราควรไปทำ แล้วหาคนมามอนิเตอร์เรื่องจากทางบ้าน แล้วส่งให้นักวาดแทนเรา อะไรแบบนี้มากกว่า
กลัวไหมว่าเสน่ห์ของความไม่เป็นวิชาการ จับต้องได้ของเรื่องเล่าจะหายไป และจะกลายเป็นความขึงขังทางวิชาการอย่างตอนที่เปิดเพจ Thaiconsent ครั้งแรกในปี 2015 แล้วคนเข้าไม่ถึง จนสุดท้ายต้องเลิกไป
เราว่าเราไม่ได้ทำในฐานะนักวิชาการ ไม่ได้ทำในทางกฎหมาย เราแค่ขอให้คุณคิด ใส่ใจอีกคนหนึ่งในฐานะที่เขาเป็นคน เราคิดว่าสังคมน่าจะดีขึ้นในทาง soft power หรือในทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่กลัวซวย ไม่ละเมิดอีกคนเพราะกลัวกฎหมาย แต่อยากให้เห็น mindset ว่าอีกคนเป็นมนุษย์ มีความต้องการที่แตกต่างจากเขา มีที่มาที่ไป มันเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม
มันเป็นอย่างไร เซ็กส์ในฐานะวัฒนธรรม?
มีเพื่อนเราคนหนึ่ง แฟนเขาชวนมีเซ็กส์ ผู้หญิงก็ “แล้วแต่ๆ ยังไงก็ได้” แฟนเขาก็บอกว่า “ไม่ได้ คุณต้องเต็มใจเท่านั้นเราถึงจะมีด้วย” เพื่อนผู้หญิงเราก็เลยแบบ เออว่ะ… ตลอดชีวิตที่กู ‘ยังไงก็ได้’ มาตลอด คือการที่กูไม่ได้เลือกเลย
หรือการคิดเองเออเองในความสัมพันธ์ คุณไม่ถามว่าคนอื่นต้องการอะไร แต่ยัดเยียดสิ่งที่คุณต้องการให้ด้วยความหวังดี หรืออยากอำนวยความสะดวกให้อีกฝ่าย เช่น ถ้าเขาทำแบบนี้ เขาอ่อยกูแน่เลย กูต้องตอบสนองเขา คือเหมือนจะมีสัญญาณจากอีกฝ่ายหนึ่งนะ
หรือความคิดแบบ… ‘ไม่แน่ใจ’ เท่ากับ “เยส” คุณต้องเอาไว้ก่อน ตื๊อไว้ก่อน convince ไว้ก่อน มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเปลี่ยน mindset ให้ชัดว่า “maybe” แปลว่า “No”
ซึ่งการตีความว่า ‘maybe’ ว่าจะเยสหรือโน มันคือวัฒนธรรมนะ ซึ่งในวัฒนธรรม consent คำว่า ‘ไม่แน่ใจ’ แปลว่า “ไม่” คุณต้อง “Yes” เท่านั้น ถึงจะได้เยส แต่ถ้าแค่ maybe แล้วคุณตีความเอาเองว่าเขาเยส มันคือการ convince ให้เขาเข้ามาทางเรา
ยกตัวอย่างชัดๆ เราเคยไปกินข้าวเย็นที่บ้านครั้งหนึ่ง เวลาผู้ใหญ่จะเทเหล้าให้เด็กเพิ่ม เขาจะถามเสมอว่าเอาเพิ่มไหม ถ้าพอก็พอนะ อย่าเกรงใจ อันนี้คือตัวอย่างของวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของคน แต่มันไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกที่
คือปัญหามักเกิดจากการมโนด้วยการยึด norm ของสังคมว่าคนส่วนมากเป็นแบบนี้ แต่ไม่ได้คิดว่า อ้าว… แล้วถ้าเขาเสือกเป็นคนส่วนน้อยล่ะ?
อาจจะมีคนบอกว่า “ก็ยูอ่อยเอง”?
เราคิดว่าผู้อ่านจะรู้คำตอบอยู่แล้ว (หัวเราะ) สังคมไทยตอกย้ำเด็กชัดเจนมากว่า ถ้าคุณพลาด คุณจะถูกลงโทษยังไง แต่ไม่เคยบอกว่าถ้าคุณพลาด จะมีการช่วยเหลือยังไง
คอมเมนต์แบบนี้ก็มีบ้างในเคสที่ดูแล้วเป็นอย่างนั้นในสังคมของเขา ซึ่งเราพูดเลยว่า สังคมแบบนั้นคือสังคมที่กลัวการไม่ได้เอา นึกออกปะ… เราคิดว่ามันเป็นเรื่องความแมนที่กดขี่กันเอง แบบ… ‘คือมึงมีโอกาส แต่มึงไม่เอา มึงโง่ว่ะ’ พูดแบบนี้แปลว่าอะไร แปลว่ามีโอกาสก็ต้องเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไว้งี้เหรอ
หรืออาจเพราะแสงไฟพาไป เป็นความบังเอิญที่โรแมนติก?
แบบบุหรี่และแสงควันในผับบาร์ แสงควันพาไปในวันวานแห่งความเหงา มีความงงอยู่ในความโรแมนติก อันนี้ก็เหมือนเสี่ยงดวงว่าเราเดาถูกหรือเดาผิด เดาถูกก็แฮปปี้ เดาผิดก็คือคุกคาม
เรื่องเพศเป็นอะไรที่พูดทีไรก็ลงเอยที่เพศศึกษา หรือ ‘เพราะบ้านเราไม่เปิดให้พูดเรื่องนี้’ ทุกที แม้จะเป็นคำถามซ้ำซากแต่ก็ยังต้องถามอยู่ คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้เราเป็นบ้านเมืองที่พูดเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ก็รู้ว่าใครๆ ก็เจอกับปัญหาแบบนี้
ขอยกตัวอย่างโพสต์หนึ่ง เล่าเรื่องการมีเซ็กส์ครั้งแรกตอนมัธยม เขารู้ว่าใส่ถุงยางจะไม่ท้อง รู้เรื่องการคุมกำเนิด แต่ใจอ่อนเมื่อผู้ชายขอสด อันนี้ไม่ใช่เรื่องรู้ไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์ แต่เป็นเรื่องของ power ที่คุณไม่เคยถูกทำให้มี ทุกวันนี้เยาวชนรู้ว่าใส่ถุงยางจะไม่ท้อง แต่เลือกจะไม่ใส่เพราะเรื่องของ power ในการจะปฏิเสธ
รวมทั้งการรณรงค์ให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบเรื่องการไม่ท้องคือ ไม่ให้เอา แต่ไม่ได้รณรงค์ว่าผู้ชายต้องใส่ถุงยางนะ หรือรณรงค์ให้ผู้ชายเคารพในคำปฏิเสธของผู้หญิง
หรืออย่างตอนเราเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนบางคนไม่รู้ว่ารูฉี่กับรูเมนส์ มันคนละรู มันมีนะโว้ย คือเราไม่เคยดูจิ๋มตัวเองด้วยซ้ำ ความรู้เรื่องเพศไม่มีแล้วคุณจะเอายังไงต่อ เราว่ากลับไปเรื่องเดิม คือสังคมเรามีแต่การสอนให้ระวังตัวเอง แต่ไม่มีการสอนเรื่องการปฏิเสธ ถามจริงๆ ผู้หญิงถูกสอนให้ปฏิเสธไหม ถ้าคุณเผลอยุ่งไปแล้ว ถูกละเมิดแล้วต้องทำยังไง ก็คนมันไม่เคยรู้มาก่อน
หมายถึงว่า ในการสอนเรื่องเพศ ไม่ต้องบอกแล้วว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ แต่เป็นเรื่องของอำนาจในการตัดสินใจ?
คือต้องเป็นการสอนที่ให้ข้อมูลและให้เขาคิดเอง ไม่ใช่บอกว่าอันนี้ดี-ไม่ดี เลว-ไม่เลว เชื่อนะ
อีกเรื่องคือเพศศึกษาในไทย มีแต่เรื่องก่อนการมีเซ็กส์ แต่หลังจากนั้น ถูกลอยแพเลยจ้า (ผายมือทิ้ง) มียังไงให้ดี มียังไงให้เคารพคนอื่น ยังไงให้เคารพตัวเอง ไม่มี… ไม่มีการพูดถึงตรงนี้ มี แม้กระทั่งคนอายุสามสิบสี่สิบก็ยังไม่มี หรือไม่ก็พูดแต่เรื่อง performance การทำให้มันเสียว ให้มันสุดยอด ทำยังไงถ้านกเขาไม่ขัน แต่เราไม่พูดเรื่องปัญหาเฉพาะหน้า หรือพวกอีโมชั่น ความเครียด ความกังวล ไม่มี ไม่มีพูดถึง
ก็เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องที่เด็กจะมาพูด เป็นเรื่องส่วนตัว สกปรก เดี๋ยวมีผัวก็รู้เอง?
ไม่แปลกใจ ผู้ใหญ่ยุคหนึ่ง ถ้าลูกมีปัญหากับผัวแม่ก็บอกให้ทน เขารู้สึกว่าเซ็กส์คือหน้าที่ ซึ่งมันก็เป็นของวัฒนธรมหนึ่ง และเราไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัฒนธรรมนั้น
ถ้าบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพูด คำถามคือ มีใครพูดเรื่องแบบนี้ในสังคมและถูกสนับสนุนให้รู้ทั่วกัน ขณะที่การห้ามไม่ให้ท้องกลับรู้กันทั่วไป ต้องไม่ท้องเท่านั้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าถ้าถูกละเมิดจะทำยังไง มันไม่แฟร์
ทำเพจที่พูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา ได้รับกระแสกดดันจากฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟบ้างไหม
เขาอาจจะรู้สึกว่าการมั่วเซ็กส์ไม่ดี อาจจะต่อต้านเมื่อเราพูดเรื่องการมั่วเซ็กส์อย่างปัจเจกก็ได้ แต่โดยรวมก็ไม่มีนะ ส่วนใหญ่บอกว่าในที่สุดก็มีคนทำเพจแบบนี้และพูดในท่าทีที่เขาพอจะรับได้ กลายเป็นคนที่มาคอมเมนต์เพจเราคือฝั่งลิเบอรัลที่มองว่าเรากำลังทำให้เซ็กส์โรแมนติก เซ็กส์ต้องรักต้องทะนุถนอม อ่านแล้วอ้าว กูกลายเป็นคอนเซอร์ฯไปเฉยเลยจ้า (หัวเราะ) จริงๆ เราแค่ดองเรื่องแนวฮาร์ดคอร์ไว้อยู่ไง เดี๋ยวเพจปลิว (หัวเราะ) แต่วาเลนไทน์นี้คงเริ่มเห็นมั่งแล้วล่ะ
ไม่พูดถึงการมีเซ็กส์แบบละเมิด เพราะมันคือเรื่องเส้นที่ไม่ถูกทำให้ชัดอย่างที่กล่าวไป แต่เฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่า Thaiconsent กำลัง romanticize เซ็กส์อยู่รึเปล่า มีคนที่มีอะไรกันเพื่อความสุขสมหวังของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกโรแมนติก เซ็กส์คือเซ็กส์ มีความหมายก็ได้ ไม่มีความหมายก็ไม่ใช่เรื่องผิด
ไม่ได้ romanticize แต่คนส่วนใหญ่ใช้ไม่ได้กับปัจเจก คุณรู้ได้ไงว่าเขาโตมายังไง มันอาจจะไม่มีความหมายเลยก็ได้กับบางคน แต่กับบางคนมันมีมาก แล้วคุณก็ไปยัดเยียดความหมายของคุณให้กับคนอื่นไม่ได้ มันลำบากขนาดไหนในการ study คนอีกคน
คนที่ชอบบอกว่ามันเป็นแค่อารมณ์เหมือนกินขี้ปี้นอน นี่ก็คิดว่ามันเหมือนขี้ยังไงวะ? มันไม่เหมือนสำหรับเราเลย (เสียงงอแง) นี่คือการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัว คุณจะมีเซ็กส์แบบขี้ก็ได้ ก็เรื่องของมึง แต่มันก็มีคนที่มีเซ็กส์ด้วย meaning บางอย่าง ซึ่งมันแล้วแต่ปัจเจกปะ ซึ่ง… โอเค ไม่ต้องเห็นด้วยกับเรา คุณจะมีเซ็กส์แบบขี้ก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเอามาครอบคนอื่น
ทำไมเวลามีเหตุล่วงละเมิด หรือถูกทำร้าย ต้องเป็นฝ่ายหญิงที่ออกมาสู่แสงไฟ คล้ายๆ พวก #metoo ในขณะที่ผู้กระทำไม่ต้องพูดอะไรเลย แค่อยู่เฉยๆ ไม่ต้องยอมรับด้วยคำพูด เดี๋ยวก็จบ ใช้ชีวิตในสังคมต่อไป แต่ผู้หญิงตายฟรี
เขาไม่รู้มั้งว่าต้องขอโทษยังไง ขอโทษแล้วจะเท่ากับรับผิดไหม รับผิดแล้วจะซวยไหม เงียบหรือพูดก็โดนด่าเลือกเงียบดีกว่าไหม อันนี้ก็เข้าใจ แต่ก็คือการคิดบนฐานที่ว่าจะทำยังไงให้ตัวเองลำบากน้อยที่สุด ไม่ได้คิดจะรับผิดชอบความรู้สึกอีกฝ่ายหรอก
คำถามทิ้งท้าย มีโควทเกี่ยวกับความรักที่คุณชอบเป็นพิเศษไหม เรียกว่าบอบช้ำเมื่อไหร่ โควทนี้ขึ้นมาเป็นแรงบันดาลใจอันดับแรก
ไม่มี ดูเอาตามบริบท ถ้าให้ฝาก อยากฝากว่าปีที่ผ่านมาเราคุยกันในมุมผู้หญิงที่ถูกกระทำ แต่ 2018 นี้จะเริ่มขยายแล้วว่าเพศไหนก็ซัฟเฟอร์กับการละเมิดทั้งนั้น ทางออกที่ควรจะเป็นคือการหาทางออกที่เสมอภาคให้ทุกคน เราพยายามอยู่ ฝากติดตามด้วยค่ะ มีทวิตเตอร์แล้วนะ @thaiconsent #ฝากร้าน (ผายมือ โค้งคำนับ และกลิ้งจากไปอย่างงดงาม)