หนังสือเรียนมันแห้งแล้ง

artboard-2

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพประกอบ: antizeptic

 

 

หนังสือเรียนอย่างนี้มันแห้งแล้ง มันเลยทำให้ครูต้องทำงานหนักมากขึ้น

เกื้อกมล นิยม สำนักพิมพ์สานอักษร กางหนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาของไทย และเปิดพลิกหนังสือแบบเรียนต่างประเทศในวิชาเดียวกันวางเทียบให้ดู

“หนังสือเรียน คือหนังสือเพื่อสร้างการเรียนรู้ ไม่ใช่ ‘ตำราเรียน’ หรือ ‘text book’ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วมันจะทำให้เด็กยึดโยงสิ่งนั้นกลับไปยังเรื่องอื่นได้อย่างไร”

ก่อนอื่น เกื้อกมลอธิบายความหมายของ ‘แบบเรียน’ ในความหมายใหญ่ๆ เพื่อลบความทรงจำและความเชื่อผ่านประสบการณ์การเรียนของกลุ่มผู้ปกครอง ครู บรรณารักษ์ และคนทำหนังสือ ที่เข้ามาสนทนากันในห้องติดป้ายไว้ว่า ‘เปิดปุ๊บติดปั๊บ หนังสือแบบไหนที่จุดไฟให้กระบวนการเรียนรู้’ ภายใต้ธงใหญ่ ‘สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเปลี่ยนแปลงอนาคตเด็กไทย จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หนังสือที่ไม่สั่งสอน

เป้าหมายหลักแห่งการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยอนุบาลจนถึงปฐมวัย คือความต้องการให้พวกเขามีความสามารถ ‘ยึดโยงตัวเอง’ กลับไปยังเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมได้

ฟังดูแล้ว ‘ผู้ใหญ่’ อย่างเราอาจรู้สึกคัดง้างกับความเชื่อของตัว เพราะ ‘เด็กตัวเล็กๆ’ จะมีความคิดอ่านลึกซึ้งที่ให้กลิ่นอวลเรื่องการเมืองอย่างนั้นได้อย่างไร หากเกื้อกมลค่อยๆ อธิบายความหมายของการยึดโยงนี้ ผ่านตัวอย่างแบบเรียนของเด็กเล็กในแต่ละประเทศ แต่เหนืออื่นใด เธอกล่าวกับผู้ที่ต้องทำงานกับเด็กๆ ในห้องนั้นว่า

 

เราต้องมองเด็กในฐานะปัจเจก ที่มีความหลากหลายก่อน และเพราะเขามีความหลากหลาย หน้าที่ของพวกเราคือการส่งเสริมให้เขาได้ลองชิมทุกอย่าง เพื่อดูว่าเขาจะค้นเจออะไรในตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

 

keurkamol

 

เริ่มต้นด้วยการเปิดแบบเรียนวิชาต่างๆ ของประเทศไทย ที่หากเปิดเข้าไปดูหน้าตาข้างในจะพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงและเห็นความพยายามปรับความคิดของคนทำหนังสือมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เกื้อกมลชวนคิดและถามว่า มันยังคงทำหน้าที่ในการ ‘ให้ข้อมูล’ มากกว่าการสร้างการเรียนรู้ไหม

ตัวอย่างเช่นแบบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ย่อหน้าแรกของแบบเรียนไทยจะอธิบายว่านักวิทยาศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ข้างตัวอักษรนั้นมีการ์ตูนนักวิทยาศาสตร์น่ารักสวยงาม หน้าถัดไปและตลอดไปจนจบเล่มก็จะเป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลทางวิชาการในโลกวิทยาศาสตร์อย่างที่เราๆ คุ้นชิน

เทียบกับหนังสือที่อธิบายคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์แบบเดียวกันของหนังสือต่างประเทศ เล่มที่เกื้อกมลหยิบมาให้ดู คือหนังสือที่เปิดหน้าด้วยการชวนเด็กๆ มาร่วมกันเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยการให้เด็กๆ ลองตั้งคำถามง่ายๆ แล้วทดลองทำ เช่น จะเทซอสมะเขือเทศออกจากกระปุก สามารถทำด้วยวิธีใดได้บ้าง ซึ่งในหนังสือเล่มนั้นแทบไม่ได้สอนสั่งหรือให้ข้อมูลเลยว่า คุณสมบัติที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ต้องมีอะไรบ้าง

แต่หากตีความให้ลึกลงไป เรื่องเล่าที่อยู่ในหนังสือทำให้เด็กหรือคนที่มาอ่าน เชื่อมโยงไปยังสิ่งที่เป็นนามธรรมได้หลายสิ่ง และมันอาจทำให้เขาอยากรู้อยากเข้าใจสิ่งที่อยู่บนโลกใบนี้อื่นๆ ต่อไป

artboard-1

การต่อสู้เพื่อเด็กและครูในห้องเรียน

คำถามหนึ่งในวงสนทนาก่อนการพูดคุยจบลง คือคำถามที่ว่า

หนึ่ง-เพราะการเรียนรู้ด้วยหนังสือแบบนี้ ต้องใช้หนังสือจำนวนมาก ยิ่งหนังสือแยบคายและลึกจนสร้างภาพให้เด็กๆ เข้าใจสิ่งนามธรรมเท่าไร หนังสือหนึ่งเล่ม ก็สามารถที่จะเล่าหรืออธิบายได้แค่ประเด็นเล็กๆ หรือเพียงเรื่องเดียว มากขึ้นเท่านั้น

สอง-การเรียนรู้ด้วยหนังสือแบบนี้ ตามมาด้วยทุนทรัพย์ของผู้ปกครองที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ขยับได้ยากและช้ามาตลอดหลายปี

สาม-การเรียนรู้ลักษณะนี้ ดีต่อครูผู้สอนก็จริงอยู่ แต่หลักสูตรการเรียนที่ถูกกำหนดมาจากกระทรวง ก็ยากจะที่ปฏิบัติตามได้

นี่เป็นเพียงเหตุผลและข้อเท็จจริงของข้อจำกัดการศึกษาไทยที่พอจะคิดได้เร็วๆ ในห้องนั้น ซึ่งในความจริงแล้วยังคงมีอุปสรรคอีกหลายชั้นหลายระดับให้คำนึงถึง อย่างไรก็ตาม เกื้อกมลตอบคำถามเรื่องการเรียนรู้ด้วยหนังสือที่ต่างประเทศให้เห็นว่า หนังสือเหล่านี้จะถูกใช้เป็นส่วนกลาง ซึ่งแต่ละห้องเรียนก็จะมีชั้นหนังสือเป็นของตัวเอง และนักเรียนไม่จำเป็นและไม่ได้รับอนุญาตให้นำกลับบ้าน ยกเว้นแต่หนังสือที่เรียนที่เป็น ‘ตำราข้อมูล’ (พูดให้เห็นภาพก็คือหนังสือเรียนของไทย) ที่อนุญาตให้หยิบยืมกลับบ้านเพื่อศึกษาเรื่องเฉพาะทางได้

“ปัญหาเรื่องการศึกษามันซับซ้อนและมีหลายระดับ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ คืออยากผลักให้มองเห็นว่าการเรียนรู้มันมีฐานมาจากหลายอย่าง ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือเรื่องแบบเรียนในหนังสือ อย่างไรก็ตาม คิดว่าครูสามารถออกแบบการเรียนรู้ที่อยู่ในห้องเรียนได้

“หรืออาจต้องฝากความหวังไว้กับผู้ปกครอง ที่มีชั่วโมงใกล้ชิดกับเด็กๆ มากที่สุด” เกื้อกมลกล่าว

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า