หาก ‘เซิ้ง โปรดักชั่น’ คือบทหนังสักเรื่อง คุณคิดถึงหนังแบบไหน
“มันอาจจะเป็นหนังดรามาด้วยซ้ำ ดรามามากๆ ค่อนข้างดรามาเลย”
ในแต่ละปี หนังไทยที่ทำเงินได้มีจำนวนเพียงหยิบมือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยห่างไกลคำว่าขาขึ้น ผู้สร้างภาพยนตร์อยู่ในสภาวะกระเสือกกระสนหาทุนทำงานกันถ้วนหน้า ยังไม่นับว่าเมื่อสร้างภาพยนตร์เสร็จแล้ว การหาตลาดและที่ทางให้งานของตนถูกมองเห็นก็ยังแทบเลือนราง
ความดรามาที่ อวิรุทธ์ อรรคบุตร ประธานกรรมการบริหารบริษัท เซิ้ง โปรดักชั่น แอนด์ ออร์แกไนเซอร์ กล่าวถึง คงอธิบายสถานการณ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และความสิ้นไร้ไม้ตอกของคนทำหนังในประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี
“เราอยากเห็นหนังของตัวเอง ฉายในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่”
‘ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์’ คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่เปรียบดั่งหมากเปิดทางให้กับเซิ้ง โปรดักชั่น ได้โลดแล่นในสนามอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทย พวกเขาเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเพื่อนที่รักในการทำหนัง และต่างมีภูมิลำเนาในจังหวัดศรีสะเกษ มาผลิตซีรีส์ผ่านช่องทางโทรทัศน์ ทว่าก็คว้าน้ำเหลว เราต่างรู้ว่าลำพังการมีฝีมืออาจไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ หากไร้ซึ่งเงินทุนและแหล่งอำนาจคอยหนุนหลัง ก็เท่ากับติดลบตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
เมื่ออกหักจากช่องทางโทรทัศน์ เซิ้ง โปรดักชั่น จึงหันหัวรถอีแต๊กพ่วงสาลี่ ที่บรรทุกมิตรสหายเต็มคัน มุ่งหน้าสู่การทำภาพยนตร์ขนาดยาวเพื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์อีสานฟีเวอร์ในเวลาต่อมา
เซิ้ง โปรดักชั่น เติบโตบนเส้นทางภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง แตกแขนงธุรกิจจากภาพยนตร์สู่วงการเพลง ขยับขยายโครงสร้างธุรกิจ และสร้างสรรค์เนื้อหาทางเลือกใหม่ ตีตลาดสื่อบันเทิงเกือบทุกรูปแบบ เพื่อละลายภาพจำของคำว่า ‘อีสาน’ ในโลกของสื่อใหม่ หลังถูกแช่แข็งโดยอำนาจรวมศูนย์มาหลายทศวรรษ
‘แรกตั้งใจฮัก’
ปัจจุบัน คุณคิดว่า ‘เซิ้ง โปรดักชั่น’ ประสบความสำเร็จหรือยัง
ถ้าพูดถึงธุรกิจขนาดเล็ก เราประสบความสำเร็จแล้วนะ แต่ในระดับตลาดขนาดกลาง ยังถือว่าไม่ถึงกับประสบความสำเร็จ เพราะมันยังอยู่ในระดับของภูมิภาค เรารู้สึกว่า พองานของเราไปถึงภาคใต้หรือภาคเหนือ เขาอาจจะยังไม่รู้จักเรา
ถ้าเปรียบเทียบที่ระดับความตั้งใจของเรา นับแต่ธงแรกที่เราตั้งใจไว้ ถือว่าเกินความคาดหมายมานานแล้ว เกินมาตั้งแต่ภาพยนตร์ภาคแรกเข้าฉาย เพราะตอนแรกเราคุยกันว่า พอหนังฉายเสร็จ เราจะแยกย้ายกันนะ แต่พอเราจะแยกย้าย มันก็เกิดคำถามว่าน้องๆ ทีมงานที่มากับเรา จะยังไงต่อ
มันเหมือนกับเรามีลูกน่ะ เราจะทิ้งเขาไว้ตรงนี้เลยเหรอ เราจะไม่สานต่อความสำเร็จบางอย่างให้เขาเลยเหรอ เราเลยรวมตัวกันผลิตงานเพิ่มขึ้น มันคือฝัน มันคือธงอีกธงหนึ่ง ถามว่ามันประสบความสำเร็จไหม เราว่ามันมีความท้าทายไปเรื่อยๆ ในวงการนี้มันไม่มีที่สิ้นสุดนะ เรายังต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ
หากเอาเรื่องราวของ เซิ้ง โปรดักชั่น มาทำเป็นภาพยนตร์ ฉากแรกจะมีเนื้อเรื่องอย่างไร
ถ้าเอาเรื่องราวของเซิ้งมาทำเป็นหนัง ผมคิดว่าฉากเริ่มอาจจะเกิดจากความลำบาก นั่นเพราะเราลำบากกันมามากพอสมควร ผมอาจจะไม่ได้ลำบากเท่ากับผู้กำกับที่เขาคิดบท และไปคลุกตัวอยู่มหาสารคามเป็นปีๆ พวกเราเริ่มต้นจากการชวนน้องๆ จากนิเทศศาสตร์มารวมตัวกัน เริ่มต้นจากคนไม่รู้นี่แหละ เรามาคุยกัน เอานักแสดงมาคุยกัน มาเตรียมประสบการณ์ เหมือนเราเขียนบทจากตัวเด็กเอง คงจะเริ่มด้วยประมาณนั้น เริ่มเรื่องด้วยความลำบาก แล้วพอเรามองไปข้างนอก เราก็มีความรู้สึกว่าอยากไปอีกจุดหนึ่ง เหมือนความฝันมันจะเริ่มขยับเมื่อเราเติบโตขึ้น
วันแรกที่คุณเดินขายโมเดลธุรกิจตามช่องโทรทัศน์และองค์กรต่างๆ มันเป็นช่วงเวลาแบบไหน รู้สึกอย่างไร
มันคนละอารมณ์นะ ตอนเราไปหาช่องโทรทัศน์ แทบจะใช้คำว่าเอาเอกสารไปให้เขาดู และไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะอธิบายโมเดลหรือแผนงานด้วยซ้ำ และไม่รู้คำตอบว่าเขาตัดสินใจแบบไหน หรือถูกปล่อยเบลอไปเลย
เราก็พยายามทำ หาทุน จนได้เงินมาก้อนหนึ่ง กระทั่งได้หนังที่เสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว เราก็ยังไม่มีโรงฉายนะ ไม่ใช่ว่าสุ่มสี่สุ่มห้ากูจะเอาหนังไปฉายได้เลย มันมีค่าใช้จ่ายในโรงหนัง ซึ่งสถานการณ์โรงหนังตอนนี้กับตอนนั้นคนละเรื่อง
จำได้ว่าเราเคยไปคุยกับโรงฉายในเครือแห่งหนึ่ง เขาพูดกับเราว่า “น้องจะเอาหนังมาฉายเหรอ เอาอย่างนี้พี่ช่วยได้อย่างเดียวคือ น้องเหมาโรงฉายเลยที่นวนคร เหมาโรงฉายที่เดียว พี่ให้ได้แค่นั้น” เรารู้สึกแบบ อะไรวะ นี่กูซื้อโรงภาพยนตร์สองสามหมื่นเพื่อให้คนมาซื้อบัตรต่อจากกูเพื่อไปดูอะไร มันเป็นอารมณ์แบบว่า “มึงต้องมีเงินมากพอ มึงถึงจะได้ฉาย” เขาไม่มีความมั่นใจเลยว่าหนังของเราจะมีคนไปดู นี่น่าจะเป็นจุดตกต่ำที่สุดแล้ว
ท้ายที่สุด หนังของพวกเราได้รับโอกาสจาก MVP (บริษัท มูฟวี่ พาร์ทเนอร์ จำกัด) เขาดูแลดีมาก ตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้ เขาแฟร์กับเรา เขาทำให้เราโตมาได้ขนาดนี้ เมื่อเงินไม่พอเขาก็หยิบยื่นให้ทุกอย่าง เพราะเขามีความรู้สึกว่าอยากโตไปกับเรา
‘บ่เป็นหยัง เค้าเข้าใจ’
การครอบครองตลาด และการผูกขาดของโรงหนังไม่กี่เจ้า ส่งผลกระทบอะไรต่ออุตสาหกรรมหนังไทย และคนทำหนังตัวเล็กตัวน้อย
เรารู้สึกว่ามันต้องมีพื้นที่บางอย่างให้เราได้โชว์ของบ้าง ตอนนั้นเรายังงงอยู่ว่า พวกหนังอินดี้ต้องไปฉายที่ไหน เราเรียนรู้แค่ว่าเราเป็นคนไม่รู้ เข้าไปในโลกนั้นแบบไม่รู้ เมื่อไม่รู้ เราก็เลือกที่จะถาม เราต้องการอะไร เราบอกเขาไปหมด ตอนนั้นเรายังไม่มีผลงาน แต่พอมาเจอเรื่องการผูกขาดบางอย่าง ทุกวันนี้มันก็ยังไม่ค่อยแฟร์นะในมุมมองเรา
เรารู้สึกว่า ตอนนี้คนทำหนังมันได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าสมมุติว่าทำหนังแล้วรวย พวกเราคงไม่กระจายกันออกไปทำอย่างอื่นเพื่อมาหนุนรายได้ ถามว่าตอนนี้รายได้ของเซิ้งมาจากหนัง 100 เปอร์เซ็นต์ไหม เราก็จะตอบว่า ไม่ใช่เลย มันแค่ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ที่เราได้มาจุนเจือส่วนกลางองค์กร แต่เปอร์เซ็นต์ที่เหลือมันมาจากผลผลิตงานเพลงออนไลน์ หรือมาจากการขายลิขสิทธิ์มากกว่า
คุณมองสถานการณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนต์และการผูกขาดโรงหนังในสังคมไทยอย่างไร
เราคิดว่า พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปมาก บวกกับสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาด้วย จริงๆ แล้วมันต้องมีภาครัฐเข้ามาช่วย แต่ตอนนี้สังคมมันเปลี่ยนตัวเองแล้ว คนเสพออนไลน์กันค่อนข้างเยอะ เม็ดเงินเข้าไปโตในนั้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เราวัดจากหนังที่เคยขาย แต่ก่อนเราอาจจะขายได้ 2 ล้าน ทุกวันนี้มันกลายเป็น 4-5 ล้าน เพราะคนกำลังเปลี่ยนพฤติกรรม
เราไม่รู้ว่าตอนนี้โรงฉายภาพยนตร์เอา VPF (Virtual Print Fee) หรือค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนระบบฉายจากระบบฟิล์มเป็นระบบดิจิทัลออกหรือยัง แต่ได้ยินมาว่าเหมือนเอาออกแล้ว สิ่งที่จะกล่าวก็คือ ค่าฉายต่อรอบมันจะไม่มีแล้ว เรามองว่าคนน่าจะเสพสื่อออนไลน์เยอะขึ้น ทำให้ตลาดคนดูในโรงหนังน้อยลง
ส่วนภาครัฐ เรามองว่า รัฐไม่ค่อยมีบทบาทช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่าไร ณ เวลานี้นะ เหมือนอย่างตอนโควิดระบาด บริษัทสื่อภาพยนตร์ต้องปิดตัวกัน 2-3 เดือน ออกกองก็ไม่ได้ รัฐก็ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วย แต่คนที่ยื่นมือกลับเป็น Netflix เราเลยรู้สึกว่า ภาครัฐไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจนี้เลย แล้วก็ไม่ได้มีความเข้าใจจริงๆ ขณะที่ Netflix เข้ามาจ่าย 10,000-20,000 บาท ต่อผู้ประกอบการหนึ่งรายในช่วงที่วิกฤตมากๆ ซึ่งตอนนั้นรัฐยังไม่ได้ออกนโยบายอะไรเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนทำงานในธุรกิจสื่อเลย
‘มันบ่แม่นของง่าย’
การสร้าง ‘เซิ้ง มิวสิค’ ส่งผลอย่างไรต่อการดำรงอยู่ของบริษัท
คนจำคำว่า ‘เซิ้ง โปรดักชั่น’ ยากมาก เนื่องจากคนที่จะรู้จักเซิ้ง โปรดักชั่น คือคนที่สนใจโปรดักชั่น หรือคนดูหนังเราจริงๆ ก็อาจจะจำแค่เซิ้ง หรือจำแค่คำว่า ‘ไทบ้าน’ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนจะจำเซิ้ง โปรดักชั่น ไม่ค่อยได้ เขาจะจำได้แต่ ‘เซิ้งมิวสิค’ เพราะส่วนมากกลุ่มตลาดเราชอบเสพงานเพลงและคอนเทนต์ ซึ่งออนไลน์ถี่กว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์ พอปล่อยเพลงถี่ขึ้น ทำให้ผู้คนจดจำแบรนด์เซิ้งมิวสิคได้มากกว่า และทำให้เขารู้สึกว่า ไอ้ตัวมิวสิคมันเป็นตัวเปิดทางหลายๆ อย่าง เช่น การที่เพลงเป็นกระแส ทำให้คนฟังเพลงเชื่อมโยงไปสู่ภาพยนตร์ของเรา หรือการที่เราสามารถทำหนัง ‘ไทบ้าน x BNK48’ มันก็เกิดจากการที่เขาเห็นเพลงเราดัง เขาเลยอยากร่วมงานกับเรา จึงกลายเป็นตัวเปิดให้อะไรหลายๆ อย่าง
รายได้จาก ‘เซิ้ง มิวสิค’ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ขององค์กร
เซิ้งมิวสิคอยู่ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เลยนะ ส่วนคอนเทนต์อยู่ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์มาจากภาพยนตร์ เพราะว่าหนังมันเหมือนกับการลงพนัน เวลาเราลงทุนกับมันก้อนหนึ่ง ถ้าวางไทม์ไลน์ผิด ฉายผิดช่วง ช่วงนั้นกระแสไม่ได้ มันก็ accident หมดเลย เพราะรายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ของหนังไม่ได้เข้าบริษัททั้งหมด แต่โดนหักจากโรงฉายภาพยนตร์ เช่น บัตรตั๋ว 100 บาท โรงหนังเอาไปแล้ว 55 บาท ส่วนอีก 45 บาท ค่อยตกมาถึงผู้ผลิต ซึ่งผู้ผลิตก็ต้องจ่ายค่าเช็กเกอร์ (คนเช็กตั๋ว) ต้องจ่ายตัวแทนจำหน่าย เหลือแล้วประมาณ 30 บาท ประมาณนี้
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการมาของค่ายเพลงใหญ่ๆ หรือ Content Creator ช่องดังๆ มาร่วม X กับทีมไทบ้าน คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับคำว่า หนังอีสานกำลังจะครองเมือง
อันนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับช่องเพลงและผู้กำกับที่ทำให้คนกรุงเข้าถึงได้ง่าย ไม่ทิ้งความเป็นอีสานเลย ส่วนในการทำงานนั้น ช่องเพลงจะสามารถเข้าถึงองค์กรอื่นๆ ได้ง่ายกว่า มีการคุยที่ประนีประนอม แบ่งรับแบ่งสู้ มี license ที่ชัดเจน มีการคุยที่ดี หลายๆ ค่ายเพลงใหญ่ที่ชื่นชอบ license แบบนี้ ก็เลยมาทำดนตรี มาทำเพลงอะไรอย่างนี้ในพื้นที่ของศรีสะเกษ
เรารู้สึกว่ามันอาจจะเป็นเทรนด์ก็ได้ พอเอาอะไรก็ตามมาจับกับความเป็นอีสาน มันก็ไปต่อได้ ต้องยอมรับว่าคนอีสานอยู่ทุกพื้นที่จริงๆ เขาไปอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แล้วมันเป็นความภูมิใจบางอย่าง เวลาเขาอยู่พื้นที่ไหน เขาก็จะยกขึ้นมาว่า อันนี้บ้านกู อันนี้ผลงานการผลิตของอีสานนะ มันเลยสร้างกระแสได้เร็ว คนเลยชอบติดตาม
ในมุมมองผู้บริหารองค์กร คุณคิดว่าอัตลักษณ์อีสานสามารถทลายกรอบอิทธิพลสื่อ ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางได้แล้วหรือยัง
เราคิดว่ามันใกล้แล้วล่ะ เท่าที่ดูข้อมูลและจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราเลยรู้สึกว่า ถ้าใครครองอีสานได้ ก็เท่ากับเป็นศูนย์กลางอำนาจแล้ว ไม่ต้องมองไปไกล มองการเมืองเรานี่แหละ พรรคไหนได้คะแนนจากอีสานเยอะก็มีสิทธิ์ได้เก้าอี้นายกฯ ไปแล้ว หมายความว่า ถ้าวันหนึ่งอีสานมีความพร้อม เราอาจจะเป็นคนกำหนดทิศทางในหลายอุตสาหกรรมได้
อีสานอาจจะต้องได้รวมตัวกันอีกรอบหนึ่ง อย่างตอนนี้หลายๆ ค่ายเพลงก็ไปกันคนละทิศละทาง ยังไม่ถึงกับรวมกลุ่มกันมากนัก แต่ก็มีการจับกลุ่มกันอยู่บ้าง แต่ยังไม่กว้างมากพอ แต่ถ้าถึงเวลาช่วงหนึ่ง ช่วงที่กระแสอินดี้ไม่ไป เราอาจจะต้องกลับมาคุยกัน เพราะตอนนี้หลายค่ายที่ทำเพลงอินดี้ก็ทางใครทางมัน แต่ถ้าเขาได้มารวมกลุ่มกัน แล้วกำหนดหรือวางมาตรฐานร่วมกัน อย่างนี้ก็อาจจะเข้าที่เข้าทาง
การรวมตัวกันของกลุ่มอินดี้ มีผลต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายอำนาจของอุตสาหกรรมบันเทิงไหม
ในด้านภาพยนตร์เราคิดว่ายังอีกไกล ในด้านค่ายเพลงก็ยังต้องขับเคลื่อนอะไรอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บลิขสิทธิ์ การสร้างรายได้ให้ผู้ที่ร้องเพลงจริงๆ ผู้ที่แต่งเพลงจริงๆ คือบางอย่างมันก็ยังมีการผูกขาด ซื้อขายเพราะเหตุผลที่ว่าด้วยความสบายใจของนายทุนอยู่ ซึ่งมันจะแตกต่างจากระบบที่เซิ้งเคยวางไว้ในปัจจุบัน
คนแต่งเพลงทุกวันนี้ ตั้งแต่เพลงแรกของค่ายเซิ้งก็ยังได้เปอร์เซ็นต์อยู่ทุกวันนี้ ทำให้ศิลปินเลี้ยงชีพได้ ถึงมันจะน้อยหรืออาจจะเป็นเม็ดเงินที่ไม่ได้มากเลย ซึ่งเราคงต้องไปนั่งคุยกันให้ตกผลึกว่า อยากให้มันเป็นโมเดลไว้ใช้กันต่อไป และอยากเป็นต้นแบบให้ค่ายเพลงในกรุงเทพฯ ได้ทำในแบบที่เราทำกัน นี่เรามองในมุมเพลงนะ แต่ในมุมหนังเรายังมองไม่ออกว่าจะแบบไหนได้บ้าง เพราะในอีสานเรายังมีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ คนผลิตยังไม่เยอะมาก ยังเป็นแบบทุนภาคกลาง ทุนเจ้าใหญ่ๆ ลงมาทำคอนเทนต์อีสานอยู่เรื่อยๆ
“เดี๋ยวนี้เหลือแต่เฮือนฮ้าง ให้ผู้เฒ่าเฝ้าแอ่ว
เป่าแปนไปเบิ้ดแล้ว บ่มีผู้มาสืบสาน
อีสานยังถ่าเจ้า มาปัดเป่าให่ฮุ่งเฮือง
ออกจากเมือง…กลับมาก่อน”
ถ้านับถึงวันนี้ เซิ้ง โปรดักชั่น เดินทางมาไกลแค่ไหนจากจุดเริ่มต้น
เราอยู่ในจุดที่กำลังค้นหาอะไรบางอย่าง ซึ่งก็หามาเป็นปีแล้วล่ะ ตัวอย่างเช่น ทางออกเรื่องการต่อยอดธุรกิจ ในช่วงโควิดเรามีโอกาสย้อนมองตัวเองมากขึ้น คือก่อนนั้นเราไม่เคยคิดเลยว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดฉายหนังไม่ได้ขึ้นมาจะทำยังไง แต่เมื่อมันเกิดวันนั้นขึ้นจริงๆ เราก็ได้ทบทวนหลายๆ อย่าง ต้องมานับเงินในกระเป๋าว่าจะไปต่อแบบไหน เริ่มระมัดระวังในการใช้เงินและการสร้างโปรเจกต์ใหม่ๆ มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราทำโปรเจกต์เยอะมาก เช่น คอนเสิร์ต ‘ไทบ้านแลนด์’ เราทำทุกอย่างที่เราใฝ่ฝันและอยากทำมาหมดแล้ว เราก็เลยมานั่งทบทวนกันใหม่
จริงๆ อยากให้ธุรกิจของเราสามารถช่วยต่อยอดธุรกิจในพื้นที่ได้มากกว่านี้ อยากให้ชุมชนบ้านโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านที่คนเข้ามาเที่ยว แล้วซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชนกลับ อยากให้มีเม็ดเงินกลับเข้าชุมชนจากการท่องเที่ยวเหล่านี้ ไม่ใช่เม็ดเงินที่เราหยิบยื่นให้ เราอยากให้พัฒนากลายเป็นหมู่บ้านถ่ายหนังด้วยซ้ำ เรามองไกลไปถึงเรื่องคริปโตฯ หรือบิตคอยน์เลยนะ ให้คนที่เข้ามาถือเหรียญพวกนี้มีส่วนร่วมหรือเป็นเจ้าของหนังได้ เรามองไกลขนาดนั้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมจะมาถึงเมื่อไหร่
จากวันแรกที่รวมทีมกันในฐานะบัณฑิตจบใหม่ จนกระทั่งขึ้นมาบริหารองค์กรในวันนี้ มองภาพรวมของเซิ้งอย่างไร
อย่างที่บอกว่าเราโตเร็ว เร็วมากจนบางทีเราโฟกัสไม่ทัน เราแทบไม่ได้คุยกันว่าเราพลาดจุดไหนบ้าง กว่าจะได้คุยกันก็คือ ก่อนที่หนังจะเริ่มฉาย เราถึงได้นั่งจับเข่าคุยกันว่า มันมีประเด็นอะไรบ้างที่เป็นปัญหา เรามองข้ามอะไรกันไปบ้าง เราคุยกระทั่งว่าต้องปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการใหม่ เพราะถ้าจะทำธุรกิจเต็มตัวก็ไม่ควรมีคำว่า ‘พี่น้อง’ เข้ามาเกี่ยว
ถามว่าการทำธุรกิจมันไปคู่กันกับคำว่าพี่น้องได้ไหม ในมุมของซีอีโอ เรามองว่ามันยาก คำว่าพี่น้องอาจจะใช้ได้ในช่วงแรกๆ เราช่วยกันคนละไม้คนละมือ แต่ปัจจุบันนี้ทุกอย่างกลายเป็นเม็ดเงินทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเราจะเอาเปรียบเขา แต่เขาก็มองเราเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนเหมือนกัน
เรามองว่าพอเราโตขึ้น มุมมองหรือเป้าหมายของแต่ละคนก็เริ่มเปลี่ยนไป ในที่นี้เปลี่ยนไปไม่ใช่เรื่องผิดนะ เพราะในตอนเริ่มต้น เราตั้งใจทำตามความฝัน พอทำสำเร็จแล้ว เราพบว่ามีปัจจัยหลายๆ อย่างตามมาระหว่างทาง บางคนเริ่มมีครอบครัว บางคนเริ่มอยากทำอย่างอื่นบ้าง อยากใช้ชีวิตแบบอื่นบ้าง แต่ละคนต่างก็เติบโตไปในทิศทางของตัวเอง แต่สิ่งที่สร้างร่วมกันมา เราก็ไม่ได้ทิ้ง เพียงแต่อาจไม่ได้โฟกัสกับตรงนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราพยายามผลักดันให้คนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ เข้ามาทดแทน
เราทำหนังมาแล้ว 3-4 ปี ไม่ใช่ว่าเบื่อหรือเซ็งนะ แต่โลกหมุนเร็วขึ้น สิ่งต่างๆ เปลี่ยนตลอดทุกๆ 3 เดือนก็ว่าได้ บางอย่างเราตามทัน แต่บางอย่างก็ไม่ แรกๆ ก็ยากนะที่เราจะปรับเปลี่ยนตัวเองจากคนที่ดูแลรายละเอียดทุกอย่าง เลยต้องขยับออกมาคอยมองจากระยะไกล ทุกวันนี้เราค่อนข้างไว้ใจเด็กๆ ให้เขาลองทำ ถึงจะทำออกมาได้ไม่เท่าเรา แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะมีคนมาช่วยผลักดันคอนเทนต์อีสานในอนาคต เรามองว่ามันเป็นโอกาสในการส่งไม้ต่อ