โลกาภิวัตน์ของการค้าเสรีและการโต้กลับทางการเมือง

โครงการ Thailand Economic Students Assembly (TESA) หรือ ‘ค่ายยุวชนนักเศรษฐศาสตร์’ ซึ่งนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาสาธารณะเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ภายใต้คำถามสำคัญในปัจจุบันว่า เหตุใดกระแสเสรีนิยมใหม่ รวมถึงเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี จึงไม่ตอบโจทย์กระแสการพัฒนา จนต้องพัดกลับไปยังด้านอนุรักษนิยม หรือกระแสขวาจัด ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1998 นำมาสู่หัวข้อเสวนาเรื่อง ‘โลกาภิวัตน์: ความท้าทายทางเศรษฐกิจและการโต้กลับทางการเมือง’ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองเสรีนิยมและประวัติศาสตร์ร่วมวงเสวนา

ศาสตรจารย์กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

รัฐสยามกับจุดเริ่มต้นการค้าเสรี

ย้อนกลับไปยังสมัยรัฐสยามภายใต้ระบอบปกครองแบบศักดินา กับจุดเริ่มต้นของคำว่า ‘การค้าเสรี’ หรือ free trade ครั้งแรก รองศาสตรจารย์กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงวิวัฒนาการของระบบทุนนิยมในรัฐไทย ซึ่งเริ่มต้นจากสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4

“ประเทศไทยเจอกับทุนนิยมจากสนธิสัญญาเบาว์ริงของอังกฤษมาเคาะประตู แล้วบอกว่ายูต้องเปิดประเทศ ตอนนั้นคอนเซ็ปท์ที่เขาใช้ก็คือการค้าเสรี แล้วเราไม่เสรียังไง ทั้งๆ ที่เราก็ส่งสินค้าไปขายผ่านทางเรือสำเภาไปยังประเทศจีน การค้าที่ถูกมองว่าไม่เสรี ในทัศนะของอังกฤษก็คือ เรามี ‘กำแพงภาษี’ โดยเฉพาะเราเก็บภาษีจากพ่อค้าสัญชาติต่างๆ ตรงนี้เองที่อังกฤษบอกว่าเราจะต้องทลายกำแพงภาษีลง ดังนั้น หัวใจของการเข้ามาทำสนธิสัญญาการค้าก็คือ การเรียกร้องให้ไทยลดกำแพงภาษี ซึ่งเป็นหัวใจของสนธิสัญญาเบาว์ริง แล้วใครอยู่เบื้องหลังการทำสนธิสัญญาฉบับนี้?”

อาจารย์กุลลดาเริ่มต้นด้วยการมองถึงบริบทของคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ ที่อยู่ภายใต้คำที่มาก่อนหน้าคือ ‘ทุนนิยม’ ก่อนจะพาย้อนกลับไปยังสนธิสัญญาเบาว์ริงในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 เพื่อตั้งคำถามต่อว่าใครที่อยู่เบื้องหลังการทำสนธิสัญญาฉบับนี้

คำตอบของคำถามนั้น กุลลดากล่าวว่า คือกลุ่มของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ขณะเดียวกัน เมื่อมีกลุ่มที่ให้การสนับสนุนก็มีกลุ่มที่ทำการต่อต้าน ซึ่งก็คือกลุ่มของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จองค์น้อย ซึ่งมีหน้าที่คุมพระคลังสินค้า ดูแลการเก็บภาษีอากรทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น ผู้ที่จะเสียผลประโยชน์จากสนธิสัญญาเบาว์ริงก็คือบรรดาเจ้าภาษีอากรทั้งหลาย ขณะที่ผู้ได้ประโยชน์ก็คือผู้ที่ต้องการจะเปิดการค้าใหม่ ซึ่งในที่นี้ก็คือกับอังกฤษ

บุกตลาดค้าข้าว

กุลลดากล่าวอีกว่า ‘ข้าว’ เป็นสินค้าสำคัญ และเป็นความต้องการของระบบทุนนิยมในระดับโลก ดังนั้น เมื่อข้าวเป็นสินค้าสำคัญ จึงก่อให้เกิดการผลิตข้าวในแถบลุ่มแม่น้ำที่สำคัญ 3 ลุ่มแม่น้ำ คือ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำอิระวดี และลุ่มแม่น้ำโขง โดยความต้องการข้าวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สืบเนื่องมาจากแหล่งผลิตข้าวที่ป้อนตลาดยุโรปแต่เดิมคือ อเมริกาและอิตาลีตอนบนกำลังเผชิญสภาวะสงครามกลางเมืองทั้งสองประเทศ นำไปสู่การขาดแคลนข้าว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของแรงงานในตลาดยุโรป ที่มีประเทศอังกฤษในยุคสมัยนั้นเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก ทำให้เกิดความต้องการข้าวจากทั้งภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทยหรือรัฐสยามเท่านั้น

ความหวาดกลัวต่อสนธิสัญญาเบาว์ริงนำไปสู่ข่าวลือขนาดที่ว่า มีการลากโซ่เส้นใหญ่ขึงกลางลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อกั้นขวางเรืออังกฤษไม่ให้เข้าสู่ราชอาณาจักร ทว่าในที่สุดแล้ว สนธิสัญญาเบาว์ริงก็เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนที่สำคัญของกษัตริย์รัชกาลใหม่ คือ รัชกาลที่ 4 ซึ่งในตอนนั้น ‘ตัวเลือก’ ในการขึ้นครองราชบัลลังก์ นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แล้ว ยังมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ด้วย โดยปรากฏหลักฐานจากพงศาวดารว่า ตระกูลบุนนาคเลือกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ในขณะที่ทรงผนวชในฐานะวชิรญาณภิกขุให้ทรงขึ้นครองราชย์ เนื่องจากไม่มีผลประโยชน์ในโครงสร้างเศรษฐกิจขณะนั้น

“ผลกระทบที่ตามมาทันทีหลังจากที่เราต้องลดอัตราภาษีอากรลง รายได้รัฐก็ตกไป บรรดาเจ้าจอมทั้งหลายที่เป็นลูกหลานของนายภาษีอากรก็ไปป่าวร้องต่อรัชกาลที่ 4 จนกระทั่งมีข่าวว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยะวงศ์เข้าหน้ารัชกาลที่ 4 ไม่ติดไปพักใหญ่ และในพงศาวดารก็มีคำบ่นของรัชกาลที่ 4 ที่บอกว่า free trade นี่มันอะไรกัน? แล้วมันเป็นประโยชน์อย่างไร? ตอนนั้นเศรษฐกิจก็ยับเยินไปเพราะ free trade นี้ แต่ไม่ช้าไม่นานการค้าขายที่เติบโตขึ้นจากสนธิสัญญาเบาว์ริงก็ทำให้ประเด็นนี้ตกไป”

โดยประเด็นที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็คือ ความต้องการด้านแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการค้าข้าว ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 เพื่อให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่ติดขัดข้อจำกัดภายใต้ระบบศักดินา ไพร่-ทาส

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญของรัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูปทั้งหมด การปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ใช่เพราะการสนับสนุนของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยะวงศ์ แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ต้องการไปไกลกว่านั้น ท่านต้องการที่จะรวมศูนย์อำนาจเข้ามาสู่สถาบันกษัตริย์ จนกระทั่งสามารถคุมทรัพยากรที่สำคัญของสังคม รวมทั้งขยายอำนาจของรัฐไปแตะบริเวณต่างๆ ซึ่งรัฐสยามไม่เคยมีอำนาจมาก่อน นี่คือการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นจากรัฐศักดินามาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่เรามีรายได้มากพอที่จะทำให้พระมหากษัตริย์สร้างรัฐรวมศูนย์ขึ้นมาได้เป็นครั้งแรก

บทบาทของทุนนิยมสหรัฐ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกแทนที่อังกฤษ ผ่านการเติบโตของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งก่อเกิดจากความคิดที่สหรัฐต้องการนำไปขยายในประเทศด้อยพัฒนา โดยปรากฏขึ้นครั้งแรกผ่านการปราศรัยของประธานาธิบดีทรูแมนในปี 1948 ก่อนประเทศไทยจะรับเข้ามาผ่านการ development ซึ่งเป็นคำที่ประเทศไทยในทศวรรษที่ 1950 ยังไม่รู้จัก โดยสหรัฐในห้วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ มองประเทศไทยในฐานะ area ที่จะเข้ามาขยายแนวคิดทุนนิยมอุตสาหกรรม ดังนั้น ในมุมมองของกุลลดา สหรัฐจึงไม่มองประเทศไทยซึ่งเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศคู่สงคราม ทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในเงื่อนไขของประเทศแพ้สงคราม

“สหรัฐมองภูมิภาคนี้ในฐานะที่จะเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับญี่ปุ่น โดยสหรัฐมองว่าญี่ปุ่นจะกลายเป็นป้อมปราการของทุนนิยมในการยันจีนที่กำลังจะเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งในที่สุดจีนก็เป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1949 โดยมีความคิดว่า Southeast Asia ควรจะมีการรวมตัวกันในทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะมารองรับทุนนิยมญี่ปุ่น แต่แนวคิดนี้ก็ตกไป เนื่องจากประเทศในภูมิภาคนี้ต่างก็ถูกญี่ปุ่นปู้ยี่ปู้ยำ จนทำให้การรวมตัวเป็นภูมิภาคทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นไม่เป็นผล แต่สหรัฐก็ยังมองว่าภาคเกษตรของไทยก็ยังสามารถรองรับผลประโยชน์ของญี่ปุ่นได้ เพราะฉะนั้นโครงการที่ธนาคารโลกให้กับประเทศไทยจึงเป็นโครงการที่จะส่งเสริมภาคเกษตรกรรม และเป็นการส่งเสริมให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถลงเรือออกสู่ภายนอกได้ ผ่านโครงการชลประทานที่จะนำสินค้าไปสู่ท่าเรือ จึงมีโครงการให้เงินกู้พัฒนาท่าเรือในประเทศไทย

เราถูกกำหนดบทบาทโดยระบบทุนนิยมโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ที่สำคัญที่สุดเมื่อความคิดเรื่อง development ปรากฏตัวชัดเจนขึ้น world bank ก็มีการเดินสายในภูมิภาคนี้ เพื่อเข้าไปบอกว่าการที่คุณยากจนนั้นเป็นเพราะคุณเป็นประเทศเกษตรกรรม การที่คุณจะพ้นจากความยากจนคุณต้อง development พัฒนาอุตสาหกรรม และในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นต้องเป็นการพัฒนาโดยเอกชน หรือ private capital เพราะฉะนั้นคุณจะต้องเลิกรัฐวิสาหกิจที่คุณทำมาทั้งหมด แล้วเปิดภาคอุตสาหกรรมให้เอกชนเข้ามาลงทุน อันนี้เป็นสิ่งที่สหรัฐต้องการ

อาจารย์กุลลดากล่าวอีกว่า ยุคแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีฐานกำลังสำคัญเป็นรัฐวิสาหกิจนั่นเอง ทว่าการกรุยทางของทุนนิยมสหรัฐ ผ่านแนวคิดเรื่อง development หลังทศวรรษ 2500 ต้องมาหยุดชะงักลงเมื่อเกิดสงครามเวียดนาม ส่งผลให้ทุนนิยมญี่ปุ่นที่เริ่มก้าวเข้ามาในประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ไปจากการพัฒนาด้านทุนนิยมอุตสาหกรรมในที่สุด

กำไรสูงสุด…หัวใจของทุนนิยม

ประเด็นต่อมา กุลลดาอธิบายถึงเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมภายหลังสงครามโลกที่ 2 กลไกของระบบทุนนิยมเองได้สร้างข้อจำกัดที่ทำให้นายทุนไม่อาจได้รับผลประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้เกิดการแสวงหาแนวความคิดใหม่ในการรองรับการขยายตัวของตลาดทุนนิยม จึงนำไปสู่การเปิดรับระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่

“กฎเกณฑ์ที่สำคัญของระบบทุนนิยมแบบสหรัฐ ก็คือ การควบคุมการไหลของเงิน ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้ในด้านการเงินมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ เมื่อเกิดลัทธิเสรีนิยมใหม่ เงื่อนไขสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายนี้อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงก็คือ การเปิดเสรีทางการเงิน โดยหัวใจสำคัญของลัทธิเสรีนิยมใหม่ คือ financial legalization ซึ่งดิฉันก็เข้าใจไม่ผิด แต่พอมองเข้าไปจริงๆ ดิฉันก็พบว่าหัวใจสำคัญของลัทธิเสรีนิยมใหม่ คือ maximize profit ทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด นั่นคือหัวใจของลัทธิเสรีนิยมใหม่ แต่ภายใต้ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมย่อมไม่สามารถ maximize profit ได้ ถ้ายังอยู่ในประเทศที่มีการตั้งกำแพงภาษีสูงๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น ลัทธิเสรีนิยมใหม่จึงสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนย้ายไปลงทุนในประเทศที่มีแรงงานราคาถูก”

การเปลี่ยนถ่ายของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมาสู่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในมุมมองของกุลลดาเกิดขึ้นในห้วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของวิกฤติสงครามเย็น นำไปสู่การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ที่มีจุดประสงค์สร้างการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ตลาดภายนอก ไม่ใช่ตลาดภายประเทศดังที่เคยเป็นมาอีกแล้ว

“ยุทธศาสตร์นี้ไปได้ดีในประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจที่บูมขึ้นมาจากสงครามเวียดนามส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการขายสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ขายข้าวได้ในห้วงปี 1960 แต่ในประเทศที่ตลาดแคบอย่างมาเลเซียอาจไม่เหมาะ ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุในการทำให้ตลาดใหญ่ขึ้นด้วยการเอามาเลเซียมารวมกับสิงคโปร์เสีย และเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมถึงมีการรวมประเทศระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ในห้วงระยะเวลาสั้นๆ แต่หลังจากนั้นก็อยู่กันไม่ได้ทางการเมืองจึงแยกกันออกไป แล้วสิงคโปร์ก็หันมาเป็นหัวหอกสำคัญในการเป็น export industrial ประเทศแรกๆ และนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเสือของเอเชีย รวมถึงเกาหลีใต้และไต้หวัน”

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์กุลลดาต้องการชี้ให้เห็นคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ๆ ของสังคมไทยจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีการไล่รื้อระบบเก่าเสียก่อน เพื่อเปิดทางให้กับระบบใหม่ แต่ผลที่ตามมาคือ การที่ผู้นำรัฐไทยไม่ได้มีความคิดในการกลั่นกรองระบบแบบใหม่ หากเห็นแต่เพียงผลประโยชน์ จนนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างผู้นำรัฐไทยที่เสียผลประโยชน์จากระบบแบบเก่าและผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากระบบแบบใหม่ ดังนั้น พัฒนาการของระบบทุนนิยมในประเทศไทยจึงล่าช้า โดยมีผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในทุกๆ การเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล

ศาสตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร

การก้าวขึ้นเป็นกระแสนำของลัทธิเสรีนิยมใหม่

ในประเด็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมนุษย์ ศาสตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การต่อสู้ระหว่างคนตัวเล็กกับคนตัวใหญ่เพื่อจุดมุ่งหมายในทางเศรษฐกิจหรือปากท้องเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งนำมาสู่การต่อสู้ทางความคิดของนักคิดเศรษฐศาสตร์ในแนวทางต่างๆ มาตลอด นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของระบบทุนนิยม จนกระทั่งในปัจจุบันที่ดูเหมือนกระแสแนวคิดของลัทธิเสรีนิยมใหม่จะกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักของทั้งโลกไปแล้ว

“ข้อเสนอของลัทธิเสรีนิยมใหม่คือ ทำอย่างไรให้ทุนนิยมเบ่งบาน แต่ก็อาจทำให้เกิดปัญหาที่มองไม่เห็นหรือไม่คาดคิด เรื่องที่สอง คือ การดูบริบทการต่อสู้ตามแนวคิดของเคนส์กับรัฐสวัสดิการ ซึ่งนำไปสู่เรื่องที่สาม คือ แนวคิดที่ส่งผลสะเทือนต่อโลก และเรื่องที่สี่ พูดถึงความท้าทาย”

อาจารย์ผาสุกมองว่า ระบบที่กำกับหรือพันธนาการเศรษฐกิจทุนนิยมก่อนทศวรรษ 1980 คือ บทบาทของสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองกับระบบรัฐสวัสดิการ ทำให้ทุนนิยมมองว่าทั้งสองส่วนนี้เป็นภาระที่ต้องยกเลิก ซึ่งทั้งอังกฤษและอเมริกาที่สมาทานแนวคิดนี้จึงพยายามผลักดันให้เป็นกระแสของโลกผ่านธนาคารโลก ตลอดจนการผลักดันนักคิดเศรษฐศาสตร์ในด้านนี้ให้ได้รับรางวัลโนเบล

แนวคิดของเคนส์

ผาสุกอธิบายถึงบริบทที่แนวคิดเสรีนิยมขึ้นมาเป็นแนวคิดนำ ผ่านการเริ่มต้นของยุคทองของทุนนิยมในทศวรรษ 1930-1980 ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ที่เน้นอุปสงค์ด้วยการสร้างการมีงานทำ การสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งส่งผลให้บางส่วนในสหรัฐมองว่าเคนส์อาจจะเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ กระทั่งมาถึงข้อเสนอในเรื่อง free market thinkers ของ Friedman Hayek ที่ฟื้นฟูทุนนิยมไปสู่ Globalization ที่ผาสุกมองว่าแนวคิดของ Hayek ยังพอรับได้มากกว่าแนวคิดทุนนิยมของนักคิดคนอื่นๆ

หัวใจของ Free Market Thinkers ทั้งหลาย ก็คือเสนอว่าทุนนิยมจะเติบโตต่อไปได้ต้องให้อิสรภาพแก่ทุนนิยม ด้วยการยกเลิก เพิกถอนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พันธนาการทุนอยู่ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่กำกับทุนนิยมไว้ ที่สำคัญสวัสดิการต้องเป็นศูนย์ ลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด อย่างที่ Hayek เรียกว่าเป็น free market thinkers อย่างไรก็ตาม Hayek ก็ยังดีกว่าบางคนที่ยอมรับว่าระบบรัฐหรือข้อกฎหมายในรัฐสามารถคอร์รัปชันได้ แต่ Hayek ยังยอมรับว่าสาธารณูปโภคบางอย่างที่ตลาดไม่สามารถจัดหาให้ได้ แล้วถ้ารัฐเป็นคนจัดการก็ยังพอจะรับได้บ้าง แต่จริงๆ แล้วไม่อยากให้รัฐบาลมีบทบาท หรือให้มีบทบาทน้อยที่สุด เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน

เมื่อพูดถึงการเปิดเสรี ผาสุกกล่าวว่า จะไม่พูดถึงการเปิดตลาดเสรีแรงงานไม่ได้ เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งนโยบายของแนวคิดนี้คือ ‘การทำลายที่สร้างสรรค์’ ด้วยการทำให้สัดส่วนของค่าจ้างลดลง แต่ผลกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดตลาดเสรีแรงงานจะลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำกับตลาดแรงงาน เช่น การให้สิทธิของสหภาพแรงงานที่จะเจรจากับนายจ้าง ซึ่งลัทธิเสรีนิยมจะไม่ชอบแนวคิดแบบนี้ ไม่ชอบสหภาพ ไม่ชอบการเจรจาต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ค่าจ้างตลาดแรงงานจะต้องถูกกำหนดด้วย supply และ demand เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ข้างฝ่ายที่รับเอาแนวคิดของเคนส์ก็จะมองว่าฐานเพดานของค่าจ้างจะต้องไม่ถูกลดลงต่ำกว่าเดิม เนื่องจากแรงงานคุ้นชินกับค่าจ้างไปแล้ว ขณะที่แนวคิดแบบ Hayek จะมองว่าต้องรับให้ได้ แรงงานจะต้องผ่านความเจ็บปวดเพื่อที่จะเบ่งบานขึ้นมาให้ได้

“เพราะฉะนั้นการต่อสู้ระหว่าง Hayek กับ Keynes จึงเป็นสงครามที่ดุเดือด”

วิกฤติแรงงาน-ความเหลื่อมล้ำ

อีกประเด็นที่อาจารย์ผาสุกกล่าวถึงคือ การส่งผลสะเทือนต่อโลกที่ทำให้กลุ่มประเทศ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) นำไปปรับใช้คือ ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความเครียด ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงจนถึงขนาดในบางประเทศตกลงกันไม่ได้ว่าจะร่วมมือกันพัฒนาประเทศไปในทิศทางใด

“คุณคงจะนึกออกว่าเป็นประเทศไหน”

ปัญหาช่องว่างรายได้ของกลุ่มคนต่างๆ ที่ถ่างกว้างขึ้น ผาสุกมองว่าเกิดขึ้นจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ประเทศสมาชิก 35 ประเทศ รับเอาแนวคิดนี้เข้าไปแล้วก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ จากช่วงปี 1980-2000 พบว่า ค่า GDP เพิ่มโดยเฉลี่ย 0.29 ในปี 1980 เป็น 0.32 ในปี 2000

“ซึ่งที่จริงก็เพิ่มเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ของไทยเรารู้ไหมคะเพิ่มเป็นเท่าไหร่? ค่า GDP 0.4 กว่าๆ และสมัยที่เราสูงมากๆ คือ 0.45 เมื่อปี 1992 ตอนนี้เราลงมาเหลือ 0.40-0.41 แต่จากการศึกษาของ OECD ที่ตัวเลขเพิ่มจาก 0.29 เป็น 0.32 ในช่วง 20 ปี บ่งบอกให้เห็นการพัฒนาที่ช้าลง ซึ่งไม่ใช่ว่าหยุดเติบโต แต่เป็นการพัฒนาที่ช้าลง และยังได้ประมาณการต่อไปว่า GDP ของทั้งกลุ่มจะลดลงต่อไปปีละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ และในปีสุดท้าย GDP จะหดตัว 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก 25 ปี เพราะเขาได้พบว่าความเหลื่อมล้ำมักมีการตกทอดจากรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูก มามองดูเมืองไทย ของเราเพิ่มขึ้นจากปี 1960 ประมาณ 0.4 เพิ่มขึ้นเป็น 0.45-0.46 ในปี 1992 ตอนนี้ค่อยๆ ลดลงมาหลังจากเกิดวิกฤติ 1997 เราก็กลับไปที่ 0.4 กว่าๆ แต่ก็ยังสูงอยู่ แล้วนัยยะต่ออนาคตจะเป็นอย่างไร?

อาจารย์ผาสุกกล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาทั้งประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน แม้ตัวเลข GDP จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ทุกประเทศต่างก็มีปัญหาคล้ายคลึงกัน คือมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น และไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างเต็มที่ ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างประเทศต่างๆ จึงมีอยู่สูง

“การที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่เสนอที่จะให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้ผ่าน financial legalization แล้วก็ไปแสวงหากำไรในประเทศต่างๆ แล้วก็สร้างความเหลื่อมล้ำในประเทศนั้นๆ แต่ไม่ยอมให้มี free labor movement ทำให้เกิดวิกฤติแรงงานอพยพจากประเทศที่อยู่ใกล้ๆ ยุโรป หนีปัญหาในประเทศตัวเอง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง การอพยพเข้า OECD ซึ่งไม่ใช่มีปัญหาแค่โรฮิงญาในพม่า แต่เราจะเห็นว่าในยุโรป ตะวันออกกลาง ขบวนการแรงงานเหล่านี้เป็นวิกฤติที่ OECD ต้องตอบรับ เพราะเขาไม่มีมาตรการที่จะรับผู้คนเหล่านี้”

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น นำมาสู่ข้อสรุปที่ผาสุกมองว่า ทุนนิยมไม่ได้ส่งเสริมหรือขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ เนื่องจากหากพิจารณาจากพื้นฐานของแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ที่มองว่าหากขาดไร้ฐานแรงงานในการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สุดแล้วระบบทุนนิยมก็จะเดินไปพบทางตัน ทางออกที่รัฐจะต้องทำคือ 1) แทรกแซงเศรษฐกิจในระดับโลกเพื่อควบคุมแนวโน้มสู่เศรษฐกิจวิกฤติ และเพื่อลดทอนแนวโน้มสู่ความเหลื่อมล้ำสูง 2) รัฐจะต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจที่ดำเนินตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ และประเทศต่างๆ จะต้องมาร่วมมือกันรับมืออย่างมีมนุษยธรรมในเรื่องแรงงานข้ามชาติมากกว่านี้

ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

โลกหลังศตวรรษที่ 21 กับสิ่งที่เสรีนิยมใหม่นึกไม่ถึง

หัวข้อสุดท้าย จากมุมมองด้านประวัติศาสตร์ ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยบทความจาก Bangkok Post ในประเด็นจุดจบของลัทธิเสรีนิยมใหม่ผ่านผู้นำด้านเศรษฐกิจและการเมืองของโลกเสรี 3 คน หรือ three liberal prophets of doom ประกอบไปด้วย จอร์จ โซรอส (George Soros) ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครอง (Emmanuel Macron) และอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา (Barack Obama)

“หากจะวิจารณ์โซรอสตรงๆ คือ ถ้าดูจากประวัติของเขา เขาหนีภัยคอมมิวนิสต์มาตั้งรกรากในยุโรป จนกระทั่งเป็นมหาเศรษฐีของโลก คือเล่นการเงินตลอด นี่คือตัวอย่างของทุนการเงินที่มีส่วนทำให้ neoliberalism หรือเสรีนิยมใหม่เติบโตขึ้นมา แต่ว่าเขาก็ดีกว่าพวกสาวก neoliberalism คนอื่นๆ ที่เอาแต่กำไรอย่างเดียว โซรอสอุตส่าห์เก็บเงินตั้งกองทุน open society เพื่อที่จะให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกฟื้นจากระบบเผด็จการ จากระบบโง่ๆ ทั้งหลาย เข้าสู่ระบบที่เรียกว่า enlightenment คือส่องสว่าง นี่คือแนวคิดหรืออุดมการณ์ของ neoliberalism ยุคแรกที่ต้องการให้คนมีสติปัญญาสว่างไสว โซรอสลงทุนหลายพันล้านจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังให้ไปทั่ว ถึงตอนนี้ เขาบอกว่า EU อยู่ในภาวะ an existential crisis everything that could go wrong has gone wrong คือ หลายปีที่ผ่านมา EU ยังพอเอาตัวรอด โซรอสก็นึกว่า EU ไปรอดได้ อเมริกาก็น่าจะไปรอดได้ แต่ตอนนี้เขาทะเลาะกับโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เหลือแต่ EU ที่เขายังมองว่าป่วย ดูท่าแล้วไปไม่รอดแน่ โอบามาก็ไปพูดที่ พูดถึงความฝันต่างๆ ค่านิยมอันสวยงามต่างๆ ของโลก แล้วก็สู้มาตลอดจนได้เป็นประธานาธิบดี คือ ถ้าคุณอยากฟังสุนทรพจน์ดีๆ ควรหาสุนทรพจน์ของโอบามามาฟังสักครั้ง เพราะบ้านเราฟังแต่คนโง่ๆ ทุกวันศุกร์ ควรจะฟังคนฉลาดเขาพูดเสียบ้าง”

ธเนศกล่าวถึงประเด็นต่อมาคือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่มีความคิดเช่นไร โดยสรุปออกมาเป็น 3 ประเด็น 1) เสรีภาพของปัจเจกบุคคล 2) บทบาทของรัฐต้องมาจากรัฐ และ 3) ตลาดเสรี หรือสัมพันธภาพทางตลาด ซึ่งเสรีนิยมแต่เดิมไม่เคยมีนิยาม จนกระทั่งนักคิดรุ่นหลังมาจำแนกประเภทของแนวคิดปรัชญาการเมือง จึงได้เกิดการจำกัดแนวคิดเสรีนิยมที่เชื่อในอิสรภาพที่ได้เริ่มต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยนักคิดคนแรกๆ ก็คือ โธมัส ฮอบบ์ ที่เสนอแนวคิดอย่างเป็นระบบ ให้หลักการอะไรต่างๆ มากมายจนเป็นหมุดหมายสำคัญของแนวคิดเสรีนิยม

“สิ่งที่ liberal รุ่นแรกสู้ คือ เรื่องอำนาจทางกายภาพ อำนาจทางการเมือง กับอำนาจทางจิตวิญญาณ อำนาจทางการเมืองอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ อำนาจทางวิญญาณอยู่กับศาสนจักร แล้วของยุโรปก็คือองค์กรศาสนาคาทอลิก เพราะฉะนั้นสองอำนาจเขาก็พึ่งพากันไปพึ่งพากันมา คนที่พูดง่ายๆ ตกเป็นข้าราชบริพารต่างๆ คือ คนที่ไม่มีปากเสียง ไม่มีอะไร สู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะมาถึงรุ่นนี้ พูดง่ายๆ ก็มีการแตกตัวทางความคิด ซึ่งทำให้สังคมยุโรปมีความแตกต่างจากสังคมเอเชียแบบเราๆ จากยุคบุพกาล จะมีทาสหรือไม่มีทาสอะไรต่างๆ คือ เกิดการตั้งเมือง แล้วเมืองก็คือการรวมพวกช่างฝีมือ จากนั้นเริ่มมีการศึกษา เริ่มสร้างอาชีพ นี่คือฐานที่ส่งต่อจากคนในเมืองมาเป็นชนชั้นกลาง ช่างฝีมือเหล่านี้ในเอเชียไม่เกิด ยกเว้นญี่ปุ่น อย่างที่โอซาก้าในศตวรรษที่ 17 มีพ่อค้าเต็มเมือง แล้วก็มีศูนย์กลางอะไรต่างๆ เป็นระบบมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมญี่ปุ่นในยุคเมจิจึงเกิดการปฏิรูปที่ก้าวหน้า ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นในยุคเมจิกับไทยปฏิรูปใกล้ๆ กัน แล้วบางอย่างเราก็ทำก่อนญี่ปุ่นด้วย แต่ตอนนี้คุณไปดูสิว่าญี่ปุ่นกับไทยเป็นอย่างไร เอาแค่รถไฟ ญี่ปุ่นปฏิรูปการศึกษาในยุคเมจิ การศึกษาฟรีหมดทุกชนชั้น แต่ของไทยเราจนมาถึงรัชกาลที่ 7 ยังบังคับอยู่เลย และที่ตลกคือไปบังคับที่ปัตตานี ไปบังคับที่หัวเมืองอะไรต่างๆ เพราะปัญหาทางการเมือง”

กลับมาที่ประเด็น ธเนศกล่าวว่าแนวคิดเสรีนิยมที่เฟื่องฟูขึ้นมา เกิดขึ้นจากโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมืองสนับสนุนให้คนที่ไม่มีเชื้อสาย บรรดาศักดิ์ หรือฐานันดรต่างๆ มีชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เสรีนิยมจึงต้องการระบบที่มาหนุนเสริม เช่น ระบบการตลาดเสรี ระบบปลอดภาษี ระบบการค้าต่างๆ เพื่อป้องกันชนชั้นศักดินาที่อาศัยเครือข่ายในตระกูลชนชั้นสูงหาประโยชน์เข้าพรรคพวกตนเอง

อะไรที่เสรีนิยมใหม่คาดไม่ถึง

สิ่งที่เสรีนิยมใหม่คาดไม่ถึงในมุมมองของธเนศแบ่งออกเป็นปัญหาชนชั้น ทุนบริหารจัดการ (managerial capital) และทุนการเงิน (finance capital)

“สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า neoliberalism คิดไม่ถึงหรอก ถึงแม้คิดถึงก็หยุดไม่ได้ เพราะพลังของมันมาจากพวกฉลาด พวกที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ คุณจะไปขยายตลาด ขยายการเป็นลูกหนี้ของคนได้มากกว่ารุ่นพี่รุ่นพ่อ อันนี้ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่า neoliberalism ไม่มีทางไปแก้ได้”

ประเด็นที่สอง ธเนศมองในส่วนของปัญหาศาสนาการเกิดและขยายของศาสนาในทางการเมืองและสังคม แย่งพื้นที่ทางการเมืองจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ ท้าทายรัฐเสรีนิยม รัฐสภา ศาล สื่อมวลชน โลกไม่โลกานุวัตร

“จุดเริ่มต้นของ liberal ที่โดดเด่นขึ้นมาเพราะเขาชนะความคิดทางศาสนาที่เอาคนมาเป็นผู้เชื่อ หรือศรัทธาทางศาสนาแบบไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้น liberal จึงมองว่าจากนี้ไปศาสนาคุณไม่มีทางขึ้นมาเหนือเราได้แล้ว อย่างดีที่สุดก็คือเสมอกัน เป็นพันธมิตรกันในบางครั้ง แต่ว่าตอนนี้คุณดูสิมันเกิดอะไรขึ้น? มันมีขบวนการศาสนา radical ที่เผอิญไปโยงกับศาสนาอิสลาม แต่จริงๆ แล้วกลุ่ม radical มาจากความคิดทางศาสนาทั้งนั้น ซึ่งในตอนนี้เรากำลังเจอกับปรากฏการณ์ Islamic radical movement แล้วเขาสู้ด้วยกำลัง คือ ไม่ต้องมาประนีประนอม ไม่ต้องต่อรอง สร้างรัฐอิสลามขึ้นมา”

ประเด็นสุดท้าย ธเนศมองว่าการที่แนวคิดของ liberal และ neoliberalism อยู่มาได้เพราะเป็นคำตอบต่อชีวิตคนทุกระดับได้ แต่คำถามสำคัญคือ ต่อไปสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะยังดำรงอยู่ได้ไหมเมื่อลัทธิเสรีนิยมใหม่เผชิญความท้าทายดังที่ได้กล่าวมา

“neoliberalism คือ แนวคิดที่อำนาจของประชาชนกำกับอำนาจรัฐ democracy คือ อำนาจการปกครองที่อาศัยเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ระบบ neoliberalism เป็นพระเอกมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม และหลังอาณานิคม จนมาถึงหลังระบบสังคมนิยมพังไปแล้ว แรกๆ เราก็เชื่อว่าเสรีนิยมคือคำตอบ ผมคิดว่าโลกในตอนนั้นยอมแพ้แล้วว่าสังคมนิยมไม่ใช่คำตอบ หลังจากนั้นประเทศเกิดใหม่ที่เข้าสู่เสรีนิยมเริ่มล้มลุกคลุกคลาน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ผมมานั่งคิดย้อนกลับไป ขบวนการพันธมิตรฯ ที่ออกมาต่อต้านระบบทักษิณมาจนถึง กปปส. อะไรต่างๆ จะเรียกว่าเป็นแนวคิดที่ต่อต้าน liberalism ได้ไหม? แต่ตอนนั้นพวกผู้นำคงไม่ได้คิดขนาดนั้น คงคิดแค่ว่าจะขจัดผู้นำที่คอร์รัปชันหรือระบบการเลือกตั้งที่พูดง่ายๆ ว่าไม่แฟร์ แล้วก็แทนที่ด้วยระบบที่ถ้าเขากำกับ ว่าจะต้องดี ลองดูสิครับ ปีหน้าว่าจะดีไหม?”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า