ฝันยังอีกไกล ไทยแลนด์ 4.0

เรื่อง/ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

 

‘ไทยแลนด์ 4.0’ ภายใต้นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่โปรยความหวังให้กับคนไทยว่า เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่จะนำพาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income Trap) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หากแต่มีข้อสงสัยอยู่ว่า แนวทางปฏิบัติของรัฐบาลทหารจะผลักดันให้เป็นจริงได้อย่างไร ในเมื่อผลงานการบริหารราชการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านตัวเลขเงินคงคลังที่หดหาย

ที่สำคัญนอกเหนือจากการมุ่งเน้นมิติทางเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นทางสังคมต่างๆ ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม จะถูกนับรวมไว้ในนโยบายนี้ด้วยหรือไม่ และผลพวงที่ตามมาหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร

ข้อสงสัยดังกล่าว นำมาสู่การเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘ประเทศไทย 4.0 ผลกระทบเชิงสังคมและวัฒนธรรม’ จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรประกอบไปด้วย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิตติรัตน์ กิตติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC และ ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสถาบัน พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.)

คำถามตั้งต้นมีอยู่ว่า เป้าหมายของไทยแลนด์ 4.0 อยู่ตรงไหน มีวิธีใดในการนำไปสู่เป้าหมาย และเอาเข้าจริงแล้ว เราจะไปถึงไทยแลนด์ 4.0 อย่างที่ท่านผู้นำตั้งใจไว้จริงๆ ไหม?

นวัตกรรมสร้างมูลค่า

เริ่มจากวิทยากรคนแรก รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ มองว่า ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลปัจจุบัน เป็นแต่เพียงโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ใช่การพัฒนาสังคม ไม่ใช่การปฏิรูปสังคม โดยรัฐพยายามขับเคลื่อนรายได้ประชาชนให้สูงขึ้นกว่า Middle-income Trap ซึ่งอยู่ที่ 360,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่รายได้ของคนไทยตลอดสิบปีที่ผ่านมาวิ่งอยู่ที่ประมาณ 260,000-270,000 บาทต่อคนต่อปี

“คำถามคือ จะทำอย่างไรเราถึงจะมีเศรษฐกิจที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะในขณะที่ประเทศอาเซียนรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียที่สมัยก่อนนั้นมีรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีเท่ากับประเทศไทย แต่หากสิบปีที่ผ่านมากลับมีรายได้แซงหน้าประเทศไทยไปหนึ่งเท่าตัว ไม่นับสิงคโปร์ที่มีรายได้มากกว่าถึงสิบเท่าตัว” วรากรณ์กล่าว

ภายใต้คำว่า ‘ไทยแลนด์ 4.0’ วรากรณ์อธิบายโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบอย่างมันสำปะหลังที่ประเทศไทยมีการเพาะปลูกมากที่สุดในโลก แต่กลับขายได้เพียงกิโลกรัมละ 1 บาท ดังนั้น ภายใต้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ economic ยุค 4.0 คือ ทำอย่างไรให้สามารถขายได้มากกว่ากิโลกรัมละ 1 บาท

“ย้อนกลับไปสมัยก่อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยมีความพยายามเอามันสำปะหลังมาทำเป็นกล่องบรรจุอาหารแทนโฟม แต่แล้วก็หายไป ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้กิโลกรัมละ 1 บาท กลายเป็นกิโลกรัมละ 40-50 บาท นั่นคือไทยแลนด์ 4.0 ครับ คือทำอย่างไรที่เราจะไม่เพิ่มเรื่องปริมาณ แต่เพิ่มที่มูลค่า เราภาคภูมิใจมากที่เราเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารามากที่สุดในโลก แซงหน้ามาเลเซียไปเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว แต่มูลค่ากลับน้อยกว่ามาเลเซียมาก มาเลเซียแม้จะผลิตน้อย แต่ก็มีพันธุ์ที่ให้น้ำยางมีคุณภาพ นี่คือความหมายครับ”

ในส่วนต่อมา วรากรณ์อธิบายถึงการเปลี่ยนสินค้าธรรมดาไปสู่สินค้าที่เป็นนวัตกรรม เป็นสินค้าที่ผู้คนยอมจ่ายในราคาแพงขึ้น เนื่องจากคุณค่าของตัวสินค้า ยกตัวอย่างเช่นการขายข้าว หากขายเป็นตัน ราคาที่ได้กลับน้อยกว่าขายเป็นถุง ไม่นับรวมแพ็คเกจ สายพันธุ์ข้าว อย่างเช่นข้าวไรซ์เบอรี่ที่มีคนปลูกน้อยก็สามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้ รวมไปถึงสินค้าที่มีการใส่เรื่องราวลงไป ทำให้สินค้ามีความน่าค้นหามากกว่าสินค้าธรรมดาทั่วไป

“พอสินค้ามีสตอรี่แล้วมันมีคุณค่า คนจะรู้สึกว่ามันขลัง”

อีกส่วนหนึ่งคือในแง่ของการบริการ คือการเปลี่ยนสินค้าพื้นบ้านทั่วไปอย่างเช่นยาสมุนไพร ให้เป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการ เพื่อสุดท้ายแล้วจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าต่างๆ นั่นเอง

“เพราะฉะนั้นไทยแลนด์ 4.0 เราต้องการความคิดสร้างสรรค์ เราต้องการนวัตกรรม การวิจัยจากมหาวิทยาลัย ถ้าไม่มีการวิจัยเราไม่สามารถผลิตของที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นได้ และที่สำคัญแทนที่เราจะผลิตแต่อาหารธรรมดา เราก็ผลิตอาหารออร์แกนิก ผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น”

วรากรณ์ยังบอกอีกว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้มากมาย เช่น ถ้าเราทำให้แม่นาคพระโขนงเป็นผีประจำอาเซียนได้ ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง เนื่องจากตัวเรื่องเล่าของแม่นาคนั้นมีความน่าสนใจ ไม่นับการผลิตตุ๊กตา ภาพยนตร์ ฯลฯ

“ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่เรื่องการปฏิรูปสังคม แต่หมายความอย่างเดียวคือ จะทำอย่างไรให้มีรายได้ต่อหัวต่อปีเพิ่มมากขึ้น เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เปลี่ยนสินค้าธรรมดาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น”

เศรษฐกิจคู่ความสร้างสรรค์

เพื่ออธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น กิตติรัตน์ กิตติพานิช ได้ขยายขอบเขตของคำว่าความคิดสร้างสรรค์ด้วยการอธิบายว่า ความเข้าใจทั่วไปคือความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเรื่องของพรสวรรค์ ซึ่งไม่เป็นความจริง หากแต่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีได้ ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของการฝึกฝน ลองผิด ลองถูก

“การสร้างสรรค์ที่ถูกต้องคือ คุณต้องไปลองคิด ลองคุยกับคนโน้นคนนี้ เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ความคิดสร้างสรรค์ในมุมมองของเรา มันมีสิ่งที่เรียกว่า ขั้นตอน วิธีการคิดที่จะนำพาไปสู่ทางออกหรือการแก้ปัญหาได้”

แกนหลักของคำว่าไทยแลนด์ 4.0 สำหรับกิตติรัตน์คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการรวมของคำสองคำ คือ ‘เศรษฐกิจ’ และ ‘สร้างสรรค์’ ทำอย่างไรจึงจะบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างถูกต้องและมีเหตุผล

“ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จะแก้อย่างไร สุดท้ายก็ขึ้นอยู่ที่คน คำถามง่ายๆ คือเราเข้าใจคนแค่ไหน เข้าใจความต้องการของเขาขนาดไหน ถ้าเราเข้าใจมนุษย์จริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร แล้วเราก็สร้างสิ่งนั้นออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจเพื่อคุณจะเอาเงินเขา เพื่อให้เขาสุขสบายยิ่งขึ้น มีชีวิตที่ดีมากขึ้น”

ชีวิตที่ดีขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องของการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ด้านคุณค่าเช่นความสวยงามเท่านั้น กิตติรัตน์ยังกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้เราไม่ค่อยถามกันด้วยซ้ำว่ารถคันนี้ออกแบบมาปลอดภัยไหม แต่กลับสนใจเรื่องภายนอกตัวรถมากกว่า นั่นเพราะเราเข้าใจกันอยู่แล้วว่ารถทุกคันออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนเป็นที่ตั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจมนุษย์ในเบื้องต้นก่อนเพื่อเอาไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ

“ในการออกแบบ สาขาที่ทำงานกับความคิดสร้างสรรค์ได้มากที่สุดก็คือ มานุษยวิทยากับสังคมศาสตร์ เพราะเป็นศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น นักธุรกิจก็อยากเรียนรู้เพื่อเข้าใจว่านักท่องเที่ยวจีนต้องการอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็น value base ที่คุณต้องเรียนวิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์”

กิตติรัตน์ยังวิพากษ์ไปถึงวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย แม้แต่ในองค์กรด้านการออกแบบก็ยังมีลำดับชั้น มีการเกรงใจ และความหวาดกลัวของคนตัวเล็กที่ไม่กล้าทักท้วง หรือนำเสนอต่อคนตัวใหญ่ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว บ่อยครั้งที่ความคิดสร้างสรรค์มาจากคนตัวเล็กๆ ในองค์กรด้วยซ้ำ นอกจากนั้น ยังพูดถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การทำงานให้สอดคล้องกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง โดยกิตติรัตน์ระบุว่า หากการลงทุนเรื่องเหล่านี้ไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมของผู้คน จะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ไม่มีประโยชน์

“เช่นเดียวกัน มันเป็นเรื่องของข้างใน เราต้องกลับมาเข้าใจมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนให้มันเดินไปได้” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์จาก TCDC กล่าว

การเติบโตบนความเหลื่อมล้ำ

ต่อเนื่องมายัง ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ให้ข้อสังเกตว่า ประเทศไทยมักตั้งต้นที่เรื่องของการตลาดนโยบาย เน้นการหาเงินมากกว่าเรื่องการพัฒนามนุษย์ ดังนั้น เพื่อจะตอบคำถามภายใต้บริบทของคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 ฆัสราจึงกลับไปดูแผนพัฒนา 20 ปีของรัฐบาล แล้วได้ข้อสรุปมาว่า ในแผนพัฒนาฯ ที่ครอบคลุมถึงหนึ่งเจเนอเรชั่นนั้นประกอบไปด้วย 4 ส่วนสำคัญๆ หนึ่ง-การค้นหาว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไรบ้าง สอง-ความฝันของประเทศนี้คืออะไร สาม-เราจะบรรลุความฝันนั้นด้วยวิถีทางแบบไหน และสี่-เราจะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร

สิ่งที่ฆัสราพบในนิยามเรื่องปัญหาของประเทศในแผนพัฒนา 20 ปี ก็คือ ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสูง ปัญหาเรื่องผู้สูงอายุ ไปจนถึงปัญหาบุคลากรในประเทศด้อยคุณภาพ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาในเชิงนโยบายที่ผ่านมาคือ การเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เน้นการเข้าถึง wifi เน้นแต่เรื่องในเชิงสิ่งของหรือวัตถุ แต่กลับมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค เป็นผู้นำในเรื่องดิจิตอล ด้วยการมองว่าเราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ผ่านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่ 20 ปี คือการเป็นผู้นำระดับโลก

ทว่าฆัสรากลับสงสัยและชี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยจะเป็นได้จริงไหม?

“คือในแผนนี้ เขาบอกแต่ว่าเราจะต้องแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่จะทำอย่างไรนั้นเขาไม่บอก คืออะไร ยังไง ไม่บอก หรือว่าจะมีการบริการเครือข่ายดิจิตอลชุมชน ให้บริการเชื่อมต่อเน็ตจากภาครัฐเป็นจุดเชื่อมต่อชุมชน แต่ที่เราเห็นกลับเป็นที่อ่านหนังสือพิมพ์ คือเขานึกถึงแต่กายภาพมากกว่าดิจิตอล ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมีศูนย์ดิจิตอลชุมชนก็ได้”

อีกมุมมองของฆัสราคือ เรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในแผนพัฒนาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของประเทศ โดยมีการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาไว้ในช่วงต้นของแผน แต่พอกลับไปดูในช่วงท้าย ความเหลื่อมล้ำที่ว่ากลับกลายไปสู่เป็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิตอลแทน เหมือนเป็นการเริ่มแบบหนึ่ง แล้วไปจบอีกแบบหนึ่ง

“มันเหมือนเวลาเรานึกถึงดิจิตอลทางเลือกอื่นๆ อย่างเช่นการทำถนน คือเหมือนเมื่อก่อนที่เราเชื่อว่าถ้ามีถนนไปทุกหมู่บ้าน การพัฒนามันก็จะตามไปเองถูกไหม เพราะคนเข้าถึงบริการพื้นฐาน นี่เป็นวิธีคิดเดียวกันก็คือว่า ถ้าสมมุติคนมี wifi เข้าถึงทุกหมู่บ้าน คนเข้าถึงความรู้ คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แล้วเราจะฉลาดเอง เราจะสามารถคิดวิเคราะห์เอง เราจะรวยเอง คือ ตรงกลางที่เป็นข้อต่อ มันไม่รู้อยู่ตรงไหนในแผนฉบับนี้”

นอกจากในเรื่องข้อต่อที่ขาดหายไปของการเข้าถึงดิจิตอลของประชาชน อีกสิ่งที่ฆัสรามองเห็น คือในตัวแผนระบุจุดมุ่งหมายในการอยากเห็นบุคลากรของประเทศฉลาดและเท่าทันโลก แต่กลับต้องให้มีการรณรงค์เรื่องเท่าทันสื่อในวงกว้างและอันตราย ต้องมีการรณรงค์เรื่องการเฝ้าระวังข้อมูล

“ทั้งหมดนี้ไม่อาจนำไปสู่พลเมืองที่มีการคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ เพราะว่าคนจะเท่าทันโลกได้ จะต้องอยู่ในนิเวศทางปัญญาที่มันเปิดกว้าง ไม่ใช่แบบที่คุณคิดได้แต่ความดีแบบเดียว คุณคิดได้แต่แบบศีลธรรมแบบเดียว”

สุดท้าย ฆัสรากล่าวว่าแม้ในแผนไทยแลนด์ 4.0 จะระบุให้เป็นแผนการใช้ดิจิตอลเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม แต่สิ่งที่ปรากฏในข้อกำหนดต่างๆ กลับมุ่งเน้นแต่เรื่องการสร้างวัตถุและเศรษฐกิจมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในตัวแผน ขณะที่ส่วนของสังคมอีก 20 เปอร์เซ็นต์ กลับไม่มีทิศทางชัดเจน แม้จะระบุให้การเข้าถึงดิจิตอลครอบคลุมทั่วประเทศ แต่นั่นก็เป็นการเข้าถึงเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มากกว่าจะเป็นการเข้าถึงเพื่อการแก้ปัญหาสังคม

“มันตอกย้ำความฝันแบบไทยๆ คือ อยากเป็นผู้นำ อยากเป็นศูนย์กลาง อยากเป็นต้นแบบ เพราะว่าเราเชื่อว่าเราเป็นศูนย์กลาง เราเชื่อแบบนั้น แต่ว่าในความจริงแล้ว ประเทศไทยเรากลับมีครัวเรือนเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเสียอีก” ฆัสรากล่าว

การค้าต้องเป็นธรรม

ความเห็นจากมุมมองของภาคประชาชน รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง มุ่งเน้นไปที่เรื่องของข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักไว้ว่า ปัจจุบันราคาข้าวตกต่ำลงอย่างมาก และความเข้าใจจากทั้งคนทั่วไปและภาครัฐ กลับมองเกษตรกรเหล่านี้อย่างไม่ไยดี ทั้งที่เมื่อก่อนพวกเขาคือกระดูกสันหลังของชาติ แต่ผู้นำประเทศกลับมาบอกว่า ถ้าปลูกแล้วอยู่ไม่ได้ก็ไปปลูกอย่างอื่น

คำถามของประภาสต่อมาคือ ใครกันที่เป็นคนทำลายโครงสร้างราคาข้าว

จากการพูดคุยกับเกษตรกรและจากประสบการณ์ตรง ประภาสยอมรับว่า การปลูกข้าวแบบที่เป็นมาในอดีตนั้นอยู่ลำบากแล้ว แต่ทว่าการแก้ปัญหาด้วยการนำอย่างอื่นมาปลูกทดแทนอาจยิ่งลำบากกว่า

“เวลาเราพูดถึงการปรับตัวของชาวนา ชาวนาไม่รู้เรื่อง 4.0 อะไรแบบนั้น แต่เราไม่เคยไปดูว่าเขาไม่ปรับตัวอย่างไร เขาตั้งต้นชีวิตมาแบบไหน ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ได้ปรับตัวอะไรเลย”

SONY DSC

ประภาสกล่าวอีกว่า เราต้องมองเห็นร่วมกันในแง่ของความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง โดยจะเรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 หรือสุดแท้จะนิยามนั้น มันไม่ได้ง่ายแค่เพียงการเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น เพราะหากไม่มีระบบรองรับ ก็เท่ากับเป็นการผลักภาระไปให้ประชาชน หัวใจสำคัญในทัศนะของประภาสที่จะทำให้ผู้คนอยู่ได้ก็คือ กลไกการตลาดและการค้าที่เป็นธรรม

“เวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แน่นอนว่าเราเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนโครงสร้าง แต่สิ่งที่ผมยังไม่เห็นเลย คือเรื่องการค้าที่เป็นธรรม เรื่องตลาดทางเลือกที่พูดๆ กัน ชาวนาเขาไม่เลือกหรอก ฉะนั้น เวลาจะพูดถึงเรื่องพวกนี้ แต่เราไม่พูดถึงการผูกขาด การเข้าถึงของชนชั้นล่าง ผมคิดว่าไม่ต้องไปพูดหรอก ไทยแลนด์ 4.0”

ประภาสยังเสริมในประเด็นเรื่องอำนาจต่อรอง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมามีการผลักดันผ่านระดับนโยบาย ผ่านกลไกการกระจายอำนาจท้องถิ่น แต่กลับถูกละเลย และเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไม่อยู่ในจินตนาการของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่เคยพูดถึง หากแต่อำนาจการต่อรองของชนชั้นล่างในการกำหนดชีวิตพวกเขาเองกลับถูกมองข้ามไปเสียด้วยซ้ำ

“อีกเรื่องที่จะต้องพูดถึง นอกจากกลไกที่ว่า เวลาเราพูดถึงการปรับโครงสร้างไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไหม ถามว่ามาตรการในการที่เราจะเข้าไปสนับสนุน ปรับเปลี่ยน มันนำไปสู่เงื่อนไขในการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องของอาหารที่ปลอดภัย อะไรบ้าง ถามว่าจำนำข้าวมีการรองรับการจำนำข้าวอินทรีย์ต่างหากไหม การสั่งปุ๋ยยาเข้ามา พวกยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า บางทีมันสวนทางกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่เราต้องมองในเชิงโครงสร้าง มันเกี่ยวข้องกับเรื่องรายได้ของเกษตรกร เกี่ยวข้องในเชิงกติกา เกี่ยวข้องกับเงื่อนไข เรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องของการสนับสนุนในเชิงนโยบาย ถ้ามองแบบนี้ ผมคิดว่าไทยแลนด์ 4.0 ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่”

สุดท้าย ประภาสกล่าวว่า ไทยแลนด์ 4.0 จะไปถึงได้ก็ด้วยมุมมองจากคนข้างล่างไปสู่ระดับภูมิภาค ให้ภาครัฐเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วม และรับฟังเสียงของคนชั้นล่างที่ไม่เคยมีโอกาสได้พูด

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า