นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่สนามการต่อสู้ทางการเมืองครั้งใหม่ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้า หมุดหมายสำคัญคือการผลักดันประเด็นอุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเสรี โดยเฉพาะคำว่า ‘เสรี’ ที่อาจจะวัดได้ง่ายกว่าสิ่งนามธรรมที่ลื่นไหลอย่างประชาธิปไตย ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง The Freedom House จากสหรัฐคอยจับตาและจัดอันดับประเทศต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผลสำรวจปรากฏออกมาไม่สวยงามนัก
The Freedom House มีเป้าหมายในการวัดผลและสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยที่บางประเทศอาจไม่ได้มีความเสรีอย่างแท้จริง ภารกิจของ The Freedom House ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเสรีภาพทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอย เช่น เหตุการณ์รัสเซียรุกรานยูเครน การอ้างอธิปไตยเหนือประเทศไต้หวันโดยจีน การสังหารหมู่ประชาชนโดยเผด็จการเมียนมา และปัญหาทางการเมืองในซูดานและลิเบีย แน่นอนว่าประเทศไทยที่กำลังหมิ่นเหม่อยู่ปากเหวก็ได้ร่วงสู่ความ ‘ไม่เสรี’ เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยหลายสาเหตุประกอบกัน
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 219 คน จาก 238 คดี เป็นเยาวชนผู้มีอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 17 ราย มีผู้ถูกออกหมายจับแล้วอย่างน้อย 86 คดี และส่วนใหญ่มาจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มากถึง 124 คดี ขณะเดียวกันการสลายการชุมนุมหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 จากเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมม็อบ APEC ที่มีผู้ถูกจับกุมถึง 25 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 9 คน บางรายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการดิ่งเหวของคำว่า ‘เสรี’ ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
แนวคิด วิธีการ และการจัดอันดับสิทธิเสรีภาพ
ดัชนีชี้วัดว่าประเทศใดมีความเสรีมากน้อยแค่ไหน The Freedom House จะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ 1) สิทธิทางการเมือง จากคะแนนเต็ม 40 คะแนน และ 2) เสรีภาพพลเมือง จากคะแนนเต็ม 60 คะแนน ซึ่งจะถูกคำนวณทุกปีโดยมีที่ปรึกษาจากนักวิเคราะห์ของสถาบันวิชาการ คณะทำงานด้านข้อมูล และกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยใช้ข้อมูลประกอบจากหลายแหล่ง เช่น ข่าว ผลวิเคราะห์ทางวิชาการ ข้อมูลขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐ รวมไปถึงการลงพื้นที่ทำแบบสำรวจจำนวนมาก
The Freedom House ใช้วิธีการวัดผล 2 ระบบ คือ ‘คะแนน’ และ ‘สถานะ’ ซึ่งแต่ละประเทศจะได้ 4 คะแนน จากทุกๆ 10 เกณฑ์ที่ได้ในหมวดสิทธิทางการเมือง และทุกๆ 15 เกณฑ์ที่ได้ในหมวดเสรีภาพพลเมือง โดยเกณฑ์ชี้วัดในหมวดสิทธิทางการเมือง ประกอบด้วย กระบวนการเลือกตั้ง (3 ข้อ) ความหลากหลายและการมีส่วนร่วมทางการเมือง (4 ข้อ) และการทำงานของรัฐบาล (3 ข้อ) ขณะที่เกณฑ์ชี้วัดเสรีภาพพลเมือง ประกอบด้วย เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในความเชื่อ (4 ข้อ) สิทธิในการรวมกลุ่มและจัดตั้งองค์กร (3 ข้อ) หลักนิติธรรม (4 ข้อ) และสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล (4 ข้อ)
สถานะของแต่ละประเทศ จะถูกคำนวณออกมาได้เป็น ‘เสรี’ ‘เสรีบางส่วน’ และ ‘ไม่เสรี’ โดยเป็นการนำผลคะแนนจากทั้งสิทธิการเมืองและเสรีภาพพลเมืองมารวมกัน ก่อนที่จะถ่วงน้ำหนักคะแนนเพื่อประมวลผล และมีขั้นการจัดอันดับลดหลั่นกันไปดังที่ตารางข้างต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลคะแนนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา พบว่า ประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่ในระดับ ‘เสรีบางส่วน’ และ ‘ไม่เสรี’ เป็นส่วนใหญ่ ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยสอบตกในหลายเกณฑ์ชี้วัดที่ถูกนำไปคำนวณข้างต้น
เส้นทางสู่ก้นเหว จาก ‘เสรีบางส่วน’ สู่ ‘ไม่เสรี’ ของประเทศไทย
“เฉลี่ยแล้วทุกๆ 7 ปี จะมีรัฐประหารในไทย 1 ครั้ง”
ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในรายงาน The Thai Military’s Bid to Control Democracy Is Floundering ของ The Freedom House ในปี 2019 ที่ชี้ให้เห็นว่า การก่อรัฐประหารในไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งการแสดงข้อมูลของไทยบนหน้าเว็บเริ่มต้นในปี 2017 อันเป็นช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ใต้การปกครองโดยนายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหาร ทำให้คะแนนของประเทศไทยอยู่ในอันดับต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
ปี 2007-2010 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในหมวด ‘เสรีบางส่วน’ เสมอมา โดยได้คะแนนรวมอยู่ที่ 59, 56, 57 และ 58 คะแนนตามลำดับ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีการขยายตัวของสื่อมวลชนมากขึ้น และยังไม่มีการปราบปรามสื่อและปิดกั้นการทำงานของสื่ออย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นประเทศไทยก็เข้าสู่สถานะ ‘ไม่เสรี’ ต่อเนื่องยาวนาน เนื่องจากมีการปราบปรามการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น โดยพบว่าภาครัฐไทยได้บล็อกเว็บไซต์ถึง 2,200 เว็บ และขอร้องให้ Youtube ถอดคลิปกว่า 220 คลิป ออกจากระบบตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ปี 2017 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในหมวด ‘ไม่เสรี’ โดยได้คะแนนในหมวดสิทธิทางการเมืองเพียง 7 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 40) คะแนนในหมวดเสรีภาพพลเมืองเพียง 25 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 60) จนส่งผลให้คะแนนอันดับเสรีภาพของประเทศไทยได้มาเพียง 32 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม
ปัญหาสำคัญที่ฉุดคะแนนเสรีภาพในประเทศไทยต่ำลง คือการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังคงใช้อำนาจอย่างไร้การตรวจสอบถ่วงดุล และมีการควบคุมจำกัดสิทธิทางการเมือง รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำคัญในการประเมินของ The Freedom House
ปี 2018 ประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในหมวด ‘ไม่เสรี’ เช่นเดิม โดยคะแนนในหมวดสิทธิทางการเมืองตกลงมาจากเดิมอยู่ที่ 6 คะแนน และคะแนนในหมวดเสรีภาพพลเมืองคงอยู่ที่ 25 คะแนน ทำให้คะแนนโดยรวมของประเทศอยู่ที่ 31 คะแนนเท่านั้น
ปัญหาสำคัญที่ The Freedom House มองเห็นในปีนี้ คือ การที่มีการจับกุมนักกิจกรรม นักวิชาการ หรือสื่อมวลชนจำนวนมาก ที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ คสช. และสถาบันกษัตริย์ ตัวอย่างสำคัญคือการดำเนินคดีกับไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) นักสิทธิมนุษยชน จากการแชร์บทความของสำนักข่าว BBC ลง Facebook ที่ถูกรัฐตีความว่ามีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์
ปีเดียวกันนี้เอง ยังมีการร้องขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญบางส่วน ซึ่ง The Freedom House ระบุว่าสถาบันกษัตริย์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และ คสช. ก็ได้ตอบรับอย่างรวดเร็ว
ปี 2019 เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในหมวด ‘ไม่เสรี’ โดยครั้งนี้คะแนนในหมวดสิทธิทางการเมืองร่วงลงไปอยู่ที่ 5 คะแนน หมวดเสรีภาพพลเมืองยังคงอยู่ที่ 25 คะแนน โดยไม่มีท่าทีว่าจะขยับขึ้น ทำให้ภาพรวมของคะแนนจึงอยู่ที่ 30 คะแนนเท่านั้น
นอกจากประเทศไทยจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปแล้ว ปีนี้ยังเป็นปีที่ภาครัฐดำเนินการทางกฎหมายกับประชาชนมากกว่า 130 คน เนื่องจากการชุมนุมอย่างสงบในปีก่อนหน้า และยังเป็นปีที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกฟ้องร้องในคดีจำนวนมากที่มีนัยยะทางการเมืองอีกด้วย
ปี 2020 ประเทศไทยได้รับการประเมินและจัดให้อยู่ในหมวด ‘เสรีบางส่วน’ เนื่องจากคะแนนหมวดสิทธิทางการเมืองกลับขึ้นมาเป็น 6 คะแนน หมวดเสรีภาพพลเมืองกลับขึ้นมาเป็น 26 คะแนน คะแนนโดยรวมของประเทศจึงเพิ่มขึ้นมาเป็น 32 คะแนน
ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกกำกับควบคุมอย่างมากจากรัฐธรรมนูญที่ คสช. มีส่วนในการร่าง ขณะเดียวกันนักกิจกรรมหลายคนเริ่มถูกลอบทำร้ายจากกลุ่มสวมหน้ากาก เช่น กรณีลอบทำร้ายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่นายธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากคดี ‘หุ้นสื่อ’
ปี 2021 ประเทศไทยตกอันดับลงมาที่ ‘ไม่เสรี’ อีกครั้งหลังมีท่าทีที่ดีขึ้นเพียงไม่นาน โดยคะแนนในหมวดสิทธิทางการเมืองตกไปอยู่ที่ 5 คะแนน หมวดเสรีภาพพลเมืองตกไปอยู่ที่ 25 คะแนนตามเดิม ทำให้คะแนนโดยรวมของประเทศอยู่ที่ 30 คะแนนเท่านั้น
ปัจจัยสำคัญที่ The Freedom House ระบุในปีนี้ คือการสั่งยุบพรรคฝ่ายค้านที่เกิดใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองต่างถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องทั้งทางกฎหมายและทางร่างกาย อีกทั้งการผลักดันแนวคิดปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประชาชนก็ถูกตอบโต้ด้วยกฎหมายมาตรา 112 เรื่อยมา
ปี 2022 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในหมวด ‘ไม่เสรี’ เช่นเคย โดยครั้งนี้คะแนนในหมวดสิทธิทางการเมืองอยู่ที่ 5 คะแนน หมวดเสรีภาพพลเมืองกลับลดลงไปอยู่ที่ 24 คะแนน ทำให้คะแนนโดยรวมของประเทศเหลือเพียง 29 คะแนนเท่านั้น
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับคะแนนหมวดดังกล่าว คือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ และแนวร่วมกลุ่มราษฎรอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของเยาวชนวัย 15 ปีที่ถูกยิงบริเวณแยกดินแดงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และปีนี้ยังเกิดการสร้างวาทกรรม ‘ปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง’ และการดำเนินคดีอาญามาตรา 112 จำนวนมากอีกด้วย
ในปีนี้คะแนนในหมวดเสรีภาพพลเมืองลดลง เนื่องจากการดำเนินการสืบสวนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จำนวน 22 คน และเกิดการฟ้องร้องกันเนื่องจากการประท้วงหยุดงานที่จังหวัดหาดใหญ่เมื่อปี 2009 (พ.ศ. 2552)
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยใช้เวลาถึง 6 ปี กับการจมอยู่ในหมวด ‘ไม่เสรี’ ซึ่งแม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่สามารถรักษาคะแนนเอาไว้ได้นาน ขณะเดียวกันกลับไม่สามารถทำคะแนนโดยรวมให้ผ่านครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็มได้ โดยคะแนนรวมสูงสุดทำได้แค่เพียง 32 คะแนน จากทั้งหมด 100 คะแนน ขณะที่คะแนนรวมต่ำที่สุดอยู่ที่ 29 คะแนน บ่งชี้ว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพขนาดหนัก
เสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตไทยไม่เคยเสรี เมื่อถูกเผด็จการครอบงำ
The Freedom House ไม่ได้ประเมินแค่ความ ‘เสรี’ ของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเสรีของการใช้อินเทอร์เน็ตอีกด้วย เนื่องจากในโลกยุคปัจจุบันอินเทอร์เน็ตส่งผลโดยตรงต่อชีวิตคนในแง่มุมที่หลากหลาย การครอบงำหรือปิดกั้นอินเทอร์เน็ตจึงนำมาสู่การใช้อำนาจในเชิงละเมิดอยู่เสมอ ตัวอย่างสำคัญคือ คดีอาญามาตรา 112 ส่วนมากมักมีเหตุฟ้องร้องจากการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
เกณฑ์การคำนวณเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ต The Freedom House จะแบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ การกีดขวางการเข้าถึง (25 ข้อ) การจำกัดเนื้อหา (35 ข้อ) และการละเมิดสิทธิผู้ใช้ (40 ข้อ) โดยข้อมูลประเทศไทยที่ปรากฏบนเว็บของ The Freedom House หัวข้อ Freedom on the Net ปี 2016 ระบุว่า ประเทศไทยได้คะแนนโดยรวมเพียง 34 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม ประกอบด้วย หมวดการกีดขวางการเข้าถึง 15 คะแนน หมวดการจำกัดเนื้อหา 12 คะแนน และหมวดการละเมิดสิทธิผู้ใช้ 7 คะแนน
ปัญหาสำคัญของปีนี้ คือการดำเนินคดีกับผู้ที่กด ‘ถูกใจ’ (Like) เนื้อหาที่มีลักษณะต่อต้านระบอบการปกครองของไทย รวมถึงความพยายามในการจัดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตแบบ Single Gateway จนทำให้เป็นที่ถกเถียงอย่างมากในสังคมไทย รวมถึงการจำกัด แบน และบล็อกเนื้อหาที่ภาครัฐไม่เห็นด้วยจำนวนมาก
ปี 2017 ประเทศไทยได้คะแนนเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตโดยรวมเพียง 33 คะแนน โดยคะแนนในหมวดอื่นๆ ยังคงเดิม แต่หมวดการจำกัดเนื้อหากลับลดลงเหลือเพียง 11 คะแนน เนื่องจากรัฐมีการจำกัดเนื้อหาจำนวนมากหลังกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และการกดดันเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาดังกล่าวมีความเข้มข้นสูงยิ่งขึ้น
ปี 2018 ประเทศไทยได้คะแนนโดยรวมกลับขึ้นมาเป็น 35 คะแนน แบ่งเป็นหมวดการกีดขวางการเข้าถึง 16 คะแนน หมวดการจำกัดเนื้อหา 11 คะแนน และหมวดการละเมิดสิทธิผู้ใช้ 8 คะแนน การเพิ่มขึ้นครั้งนี้เป็นผลมาจากการลดการคุกคามทางตรงต่อสื่อมวลชน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีการฟ้องร้อง ม.112 จากการแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ต การขอข้อมูลชีวมาตร (biometric data) ใน SIM Cards และการพยายามครอบงำอินเทอร์เน็ตโดยอำนาจรัฐอยู่เช่นเดิม
ปี 2019 ประเทศไทยได้คะแนนโดยรวม 35 คะแนน เช่นเดียวกับปีก่อนหน้า ไม่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ปีเดียวกันนี้เองยังมีการใช้ข้อมูลปลอม การชักจูง และสร้างกระแสบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยมีเป้าหมายโจมตีพรรคการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลและกองทัพ ขณะเดียวกันภาครัฐก็เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้มากยิ่งขึ้น ด้วย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มาตรา 68 ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลหรืออุปกรณ์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล
ปี 2020 ประเทศไทยได้คะแนนโดยรวมเท่าเดิม คือ 35 คะแนน แบ่งเป็นหมวดการกีดขวางการเข้าถึง 16 คะแนน ส่วนหมวดการจำกัดเนื้อหาเพิ่มขึ้นมาเป็น 12 คะแนน ขณะที่หมวดการละเมิดสิทธิผู้ใช้ลดลงเหลือเพียง 7 คะแนนเท่านั้น คะแนนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้มาจากกรณีที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถใช้สื่อออนไลน์ในการจัดการรวมตัวได้สำเร็จบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันการละเมิดสิทธิผู้ใช้กลับมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่ออกภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อนุญาตให้รัฐละเมิดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ง่ายกว่าเดิม
ปี 2021 ประเทศไทยได้คะแนนโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน แบ่งเป็นหมวดการกีดขวางการเข้าถึง 16 คะแนน ส่วนหมวดการจำกัดเนื้อหาได้รับคะแนนเพิ่มเป็น 13 คะแนน ขณะที่หมวดการละเมิดสิทธิผู้ใช้ได้คะแนนเท่าเดิมที่ 7 คะแนน เนื่องจากปีนี้ศาลอาญาได้ยกคำร้องขอของรัฐบาลในการปิดแพลตฟอร์มข่าวออนไลน์ 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Voice TV, The Standard, The Reporters และประชาไท รวมถึงบัญชีออนไลน์ของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่าง ‘เยาวชนปลดแอก’ (Free Youth) และศาลได้ยกคำร้องขอของรัฐบาลในการบล็อกวิดีโอคลิปที่อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการฉีดวัคซีน COVID-19 ของรัฐบาล อย่างไรก็ตามยังมีการจับกุม กลั่นแกล้ง และคุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันกษัตริย์อยู่อย่างต่อเนื่อง
ปี 2022 ประเทศไทยได้คะแนนโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 39 คะแนน แบ่งเป็นหมวดการกีดขวางการเข้าถึง 16 คะแนน โดยหมวดการจำกัดเนื้อหาได้รับคะแนนเพิ่มเป็น 14 คะแนน และหมวดการละเมิดสิทธิผู้ใช้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 9 คะแนน แม้ว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะพยายามร้องขอให้มีการจำกัดเนื้อหาบนหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับตามที่คาดหวังเท่าที่ควร และแม้จะมีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยมากที่ถูกสั่งจำคุกขั้นสูงสุด
แม้จะดูเหมือนทิศทางของเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตไทยกำลังค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับ ทว่าข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยหลุดพ้นจากหมวด ‘ไม่เสรี’ เลยสักครั้งเดียว รวมถึงคะแนนโดยรวมที่ดีที่สุดกลับทำได้เพียง 39 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม ขณะที่ช่วงเวลาที่คะแนนต่ำที่สุดกลับได้ไปเพียง 33 คะแนน ตัวเลขนี้กำลังชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงดิ้นรนอย่างหนักหน่วง และเสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ตยังคงไม่เสรีเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว
ประเทศไทยยังไร้เสรีภาพแม้จะผ่านการเลือกตั้ง
จากการย้อนดูประวัติคะแนนข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพโดยรวมที่ยึดโยงอยู่กับสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมือง หรือเสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลและสิทธิของผู้ใช้งาน จะพบว่าการรัฐประหารคือชนวนเหตุที่ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตกต่ำลง ทว่าหลังการรัฐประหารไปแล้วและเกิดการเลือกตั้งขึ้นภายในประเทศ ประเทศไทยก็ไม่ได้มีเสรีภาพมากขึ้นเท่าใดนัก แม้ในบางปีจะสามารถไต่ระดับขึ้นเป็นประเทศที่ ‘เสรีบางส่วน’ แต่ก็ไม่อาจนับว่าเป็นเสรีภาพที่แท้จริง และไม่สามารถทำคะแนนเกินครึ่งหนึ่ง หรือทำได้ไม่ถึง 50 คะแนนของเกณฑ์ชี้วัดทั้งหมด ประกอบกับเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตก็ยังคงต่ำกว่าเส้นมาตรฐาน เนื่องจากกฎหมายจำนวนมากยังคงเอื้อให้รัฐบาลใช้อำนาจคุกคามประชาชนได้อย่างง่ายดายและต่อเนื่อง
ดังนั้นเพียงแค่ข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไปจึงอาจจะไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องทั้งหมดหากต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวออกจากกลุ่มประเทศ ‘ไม่เสรี’ เนื่องจากการคำนวณคะแนนของ The Freedom House จะใช้ข้อมูลจากข่าวการจับกุม การคุกคามของรัฐ หรือจำนวนคดีที่รัฐละเมิดปัจเจกทั้งในชีวิตจริงและบนอินเทอร์เน็ต การจะผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่มีเสรีภาพเต็มใบ จึงต้องมุ่งไปที่การแก้ไขกฎหมายจำนวนมากที่บังคับใช้ทั้งในชีวิตจริงและบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะทำให้การคุกคามลดลงและอาจทำให้คะแนนของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกขยับขึ้นมาได้บ้าง
เมื่อประเทศไทยเลือกแล้วว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 แต่กลับใช้เวลาหลายทศวรรษในการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยเสรี การจัดอันดับและประเมินสิทธิเสรีภาพในช่วงกว่าสิบปีให้หลังของ The Freedom House จึงชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยยังคงวนเวียนกับการถกเถียงในหัวข้อเดิมๆ ว่า ประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน มีความเป็นประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิกันมากขึ้นหรือลดลงอย่างไร ขณะที่ผู้กุมอำนาจรัฐไทยยังคงแข็งกร้าวอยู่เช่นเดิม และอาจจะเข้มข้นมากขึ้นในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้ง่ายกว่าในอดีต
การแปะป้าย ‘ไม่เสรี’ ของประเทศไทย จึงเป็นการย้ำเตือนถึงความล่าช้าในการพัฒนาระบบการเมือง ความอ่อนแอในการปกป้องระบอบการปกครอง และแสดงให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นแก่สังคมไทย ว่าการที่จะไปสู่ความเป็นประเทศเสรีนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องบรรลุสิ่งใดบ้างเพื่อที่จะไปถึง
ที่มา
- The Freedom House, Thailand
- ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน
- พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มาตรา 68