จะด้วยเวทมนตร์กลใดก็ตามที่ทำให้พรรคไทยรักไทย กระทั่งพรรคพลังประชาชนต้องมีอันเป็นไปทางการเมือง ส่งผลให้นักการเมืองในซีกนี้แตกฉานซ่านเซ็นครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนก่อร่างสร้างตัวเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
นับจากจุดเริ่มต้นของพรรคไทยรักไทยถึงพรรคเพื่อไทย วันนี้หลายคนที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง บ้างถอยฉากไปเล่นบทบาทอื่น บ้างแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ภายใต้อุดมการณ์เดิม ขณะที่ไม่น้อยทนแรงต้านไม่ได้ จึงถือโอกาสย้ายข้างไปเข้าร่วมกับอีกฝ่ายเลยก็มี
ในจำนวนนักการเมืองรุ่นก่อตั้งพรรค มีหนึ่งในคนจำนวนน้อยอย่าง ดร.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ซึ่งยังร่วมเดินกับพรรคตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวปัจจุบัน และนี่ก็เกิน 20 ปีแล้ว
ผ่านร้อนนั่นก็มาก ผ่านหนาวนั่นก็สุดจะนับนิ้วไล่จำนวน ได้เห็นและมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองในภาวะวิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นหนึ่งในเงาที่อยู่เคียงข้างแสงของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ว่าจะชังหรือชอบ ก็ต้องพูดถึงบทบาทและวิธีการบริหารของคนที่เป็นผู้นำประเทศอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากแหงนมองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ที่หลายคนบอกว่า มันอดเปรียบเทียบไม่ได้
จากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังต้มยำกุ้ง การบริหารประเทศในเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ กระทั่งต้องสร้างความเชื่อมั่นเมื่อเกิดโรคระบาด ทั้งซาร์สและไข้หวัดนก ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศอย่างไร การฟัง สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็เพื่อหาคำตอบให้ชัดมากขึ้น แน่นอน มันเกี่ยวโยงโดยตรงกับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะคู่เทียบ
คุณเป็น ส.ส.มหาสารคาม เรียกได้ว่าลงเลือกตั้งครั้งไหนก็เบอร์หนึ่งตลอด อะไรทำให้คุณเป็น ส.ส. ต่อเนื่องยาวนานได้ขนาดนี้
ผมคิดว่าตัวผมเองก็เป็นลูกชาวบ้าน ซึมซับรับรู้ปัญหาชาวบ้าน มีวิถี มีพฤติกรรมที่เรียกว่าติดดิน ชาวบ้านพูดว่าเราเข้าถึงง่าย และสารคามเป็นเมืองการศึกษา เขาก็จะได้ ส.ส. ที่มีเอกลักษณ์ออกมาในเชิงวิชาการบ้าง ค่านิยมทางการเมืองของคนสารคามคือ ชอบนักพูด ถ้าเป็นรุ่นก่อนก็ จำลอง ดาวเรือง ผมเองก็มาจากมหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการ มีความรู้อยู่หน่อย อย่างน้อยคนก็เชื่อว่าถ้ามาจากมหาวิทยาลัยก็เป็นคนมีความรู้ล่ะ ชาวบ้านเขาเคยเจอแต่กับนักวิชาการที่เขาเข้าไม่ถึง ส่วนมากจะมีช่องว่าง แต่เผอิญผมไม่มีช่องว่าง พูดก็พูดภาษาชาวบ้าน กินอยู่ก็แบบชาวบ้าน อันนี้สำคัญมาก หลายคนอาจไม่เคยเห็นผมพูดปราศรัยกับชาวบ้าน เวลาอยู่ในหมู่บ้าน ผมพูดภาษาชาวบ้าน ชาวบ้านนั่งฟังที่ผมพูดเหมือนฟังหมอลำ เหมือนดูหนังกลางแปลง เสร็จจากหมู่บ้านนี้ ผมไปพูดอีกหมู่บ้านหนึ่ง เขาก็ยังขี่มอเตอร์ไซค์ตามไปฟัง เพราะฟังเพลิน แล้วก็เข้าใจง่าย มีความรู้ให้เขา
พอมาเป็น ส.ส. อยู่ในสภา เราก็หมั่นลงพื้นที่ ผมทำจนเป็นวิถีชีวิตอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นความพยายามที่จะต้องทำ ชาวบ้านมาหาก็ไม่มีช่องว่างกับเขา มันอยู่ที่ค่านิยมทางการเมืองของแต่ละพื้นที่ด้วย คนสารคามเป็นคนที่มีค่านิยมทางการเมืองแบบนี้
คุณได้อยู่ในรัฐบาลที่ประเทศมีวิกฤติครั้งใหญ่อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่คุณทักษิณมาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณเห็นวิธีการทำงานของรัฐบาลครานั้นอย่างไรบ้าง
ผมเป็นนักการเมืองปี 2544 ซึ่งเป็นรุ่นแรกของพรรคไทยรักไทยพร้อมคุณทักษิณนี่แหละ ตอนนั้นมีวิกฤติต้มยำกุ้ง สถานะการเงินการคลั่งย่ำแย่ ติดหนี้ติดสินเยอะ แล้วเราเข้ามาวันนั้นท่ามกลางโจทย์ใหญ่มาก คือต้องมาฟื้นเศรษฐกิจให้ได้ มีงานวิจัยบอกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่าโควิดนะ เพราะวิกฤติต้มยำกุ้งกระทบ 7 เปอร์เซ็นต์ โควิด 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่แน่ถ้ามีโควิดรอบที่สี่หรือห้ามาอีกอาจจะหนักกว่า
คราวนั้นสถานะการเงินการคลังย่ำแย่ ชาวบ้านก็ลำบาก จึงท้าทายมากเมื่อเราเข้ามา แต่ที่ท้าทายมากกว่านั้นก็คือการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาของประเทศ เพราะเป็นรัฐบาลแรกหรือพรรคการเมืองแรกที่เสนอนโยบายแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ตัวคุณทักษิณเองก็ท้าทายด้วยความที่ไม่เคยมีนักธุรกิจขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ
ปรากฏว่าประสบความสำเร็จสูง แต่ก็เป็นความสำเร็จและการทำงานบนจุดเปลี่ยนผ่านทางความคิดที่เราต้องฝ่าฟันพอสมควร เพราะฝ่ายการเมืองด้วยกันเขาไม่เชื่อว่านโยบายที่ท้าทายแบบนี้จะทำได้ ประชาชนเองก็จับจ้องมาก จึงเป็นเดิมพันด้วยชีวิตทางการเมืองที่สูง เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงสงสัยกันว่าจะทำได้ยังไง 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ ชาวบ้านก็สงสัย นักการเมืองก็ปรามาส ต่างชาติก็จับตาดู หรือนโยบายกองทุนหมู่บ้านละล้าน พักหนี้เกษตรกร หนี้คุณก็จะพักไว้ แล้วคุณจะเอาเงินไหนมาให้หมู่บ้านละล้าน จะเอาเงินจากไหนมาทำ 30 บาทรักษาทุกโรค มองยังไงก็ไม่มีทางเป็นไปได้
แต่ก็อย่างที่รู้ พอเข้ามาในสมัยแรกก็ทำได้ ด้วยวิธีคิดและด้วยความเป็นนักบริหารของคุณทักษิณจึงทำได้และเห็นผลชัดเจน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของทั้งคนในชาติและสังคมการเมืองครั้งใหญ่ จากที่คนคิดว่าถ้าทำได้จะเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าเดิม แต่ตรงกันข้าม ฐานะการเงินการคลังกลับดีขึ้น การเก็บรายได้เริ่มเข้าเป้า ตัวเลขการขาดดุลในปีงบประมาณต่อมาก็เริ่มดีขึ้น GDP เริ่มดีขึ้น อยู่ไปอยู่มาปลายสมัยแรก GDP ขึ้นเป็นเลขสองหลักเลยนะ จาก 1 หรือ 2 ขึ้นมาเป็น 9 เป็น 12 การดำรงตำแหน่งสมัยแรกจึงผ่านไปได้โดยสำเร็จ
เมื่อเข้าสู่สมัยที่ 2 ช่วงปี 2548-2549 ผลการเลือกตั้งได้คะแนนมาท่วมท้น ทีนี้ตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว 370 กว่าเสียงเลย เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาด แล้วก็เดินหน้าต่อ ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆ คือ 4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง ซึ่งในสมัยที่ 2 เราก็เริ่มใช้หนี้ IMF ได้
พอใช้หนี้ได้ หลายอย่างก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการสร้างความเข้มแข็งขึ้น มีนโยบายที่ท้าทายหลายเรื่องต่อจากสมัยแรกคือ เรื่องปราบยาเสพติด ซึ่งก็สำเร็จเหมือนกัน แต่มันเกิดผลข้างเคียง คือมีนักสิทธิมนุษยชนมองเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อฐานะการคลังประเทศเริ่มนิ่ง เศรษฐกิจก็ไหลต่อ หนี้ IMF ก็ใช้แล้ว ตัวเลขมีแนวโน้มดีขึ้น เราก็เริ่มเข้าสู่นโยบายใหม่ๆ คือสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านหลายเรื่อง และสิ่งที่คนไม่คิดว่าจะทำได้ เช่น หวยใต้ดิน เราก็เอาขึ้นมาบนดิน กองทุนส่งเด็กไปเรียน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เริ่มสร้างคนและฐานในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน แต่ในระหว่างนั้นเกิดสึนามิ เศรษฐกิจกำลังไปได้ดีก็เกิดสึนามิโครมเข้ามา มีคนเสียชีวิตกว่า 7,000 มากกว่าโควิดตอนนี้อีกนะ ซึ่งวันนั้นถ้าผู้นำไม่ถึงลูกถึงคน สึนามิก็จะฉุดประเทศดำดิ่ง
วันก่อน ส.ส. พรรครัฐบาลก็อภิปรายเรื่องนี้เหมือนกันว่า วิธีการแก้ปัญหาให้ SME ช่วยเหลือนักธุรกิจที่ล้มไปกับสึนามิด้วยวิธีของคุณทักษิณก็สามารถฟื้นธุรกิจกลับมาอย่างรวดเร็วได้ นอกเหนือจากนั้น เมื่อเราทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับ ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เราสามารถใช้หนี้ IMF ได้ และสามารถจัดงบประมาณสมดุลในปี 2548-2549 ได้โดยไม่ต้องกู้ใคร เงินจึงหมุนเวียนในตลาดเยอะมาก ชาวบ้านมีอาชีพ แม่ค้าแม่ขายเฟื่องฟู หาเงินง่าย เงินนักธุรกิจก็ดีขึ้น
แต่อุปสรรคและแรงเสียดทานตอนนั้นคือ โรคซาร์และไข้หวัดนก คล้ายๆ กันกับวิฤติโควิด ซึ่งก็ฉุดเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นอย่างหนัก ตอนนั้นถ้าสังเกตดีๆ คุณทักษิณจะมีเทคนิคคือเรียกความเชื่อมั่นไว้ ไม่ให้คนแตกตื่นตกใจ แกจะไปกินข้าว จะไปทำอะไร แกก็ทำเลย (กินไก่โชว์) ใช่ เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นจึงไม่หายไป
จำได้เลยว่า ยุคคุณทักษิณอยู่ได้เพราะความเชื่อมั่น เพราะมีเทคนิคในการสร้างความเชื่อมั่นสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันเมื่อการเมืองกำลังไปได้ ก็เกิดแรงเสียดทานครั้งใหญ่ เกิดแนวต้านอันเป็นผลข้างเคียงจากนโยบายหลายอย่างที่ไปกระทบกับธุรกิจมืดและกลุ่มทุนทุกระดับ เพราะมันเป็นการย้ายทรัพยากรประเทศจากมือคนเก่าไปสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มีการย้ายอำนาจครั้งใหญ่ จากอำนาจที่เคยรวมศูนย์ก็เริ่มไปอยู่กับประชาชน ประชาชนเริ่มเสียงดัง งานข้าราชการ คุณทักษิณก็ปฏิรูปเยอะ ข้าราชการตอนนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เลย คือต้องมารับใช้ชาวบ้านมากขึ้น แล้วมีคนจำนวนหนึ่งเสียประโยชน์เยอะ เลยก่อตัวกันขึ้นมาช่วงปลายรัฐบาลไทยรักไทยสมัยที่ 2
เป็นแรงต้านที่เกี่ยวข้องกับนโยบายผู้ว่าฯ CEO ในตอนนั้นด้วยไหม
อันนี้ก็ใช่ เพราะมีการปรับรูปแบบการบริหารใหม่เยอะเลย กรณีผู้ว่าฯ CEO ชัดเจนว่าเป็นการถ่ายอำนาจจากรัฐบาลกลางไปยังรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการตัดสินใจและมีงบประมาณ นอกจากนี้การต่างประเทศมีการปรับเปลี่ยนการทูต นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศแล้วก็ใช้ทูตเป็นพ่อค้า ไม่ใช่ว่าทูตจะมีหน้าที่ไปเจรจาต้าอวยอย่างเดียว ต้องทำการตลาดด้วย ทูตตอนนั้นจึงเป็นตัวแทนทางการค้าทั้งหมดเลยในนามทีมไทยแลนด์ ทูตและทุกคนที่อยู่ต่างประเทศต้องเป็นทีมทำการตลาดให้กับประเทศ การส่งออกก็เพิ่มขึ้น แต่พอมาเจอแรงต้านในประเทศก็เลยต้องสู้กัน ถ้าสู้กันโดยวิธีการธรรมดาภายใต้ครรลองก็จะไม่เสียหายมาก แต่พอสู้กันโดยวิธีการนอกเหนือครรลอง ทุบระบบประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบยุติธรรมหรือระบบอะไรก็ล่อจนป่นปี้ จึงทำให้คุณทักษิณมีอันต้องถอยไป
พอประเทศเดินไปสู่การต่อสู้กันสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งตามขจัดระบอบทักษิณ กับฝ่ายชาวบ้านที่ต้องการคงระบอบทักษิณไว้ เกิดเป็นเสื้อเหลืองมาไล่รัฐบาลระบอบประชาธิปไตย ไล่ไปไล่มา ฝ่ายหนึ่งก็ลุกขึ้นมาต่อสู้โดยเอาเสื้อแดงมาใส่ ก็เลยเกิดเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ประเทศแบ่งเป็นสองซีก สู้กันทั้งเวทีการเมือง ทั้งเวทีนอกสภา เวทีข้างนอกเสื้อแดงก็ว่ากันไป เวทีข้างในก็เกิดพรรคพลังประชาชน เพราะไทยรักไทยถูกยุบ ก็เป็นพลังประชาชนสู้กับกลุ่มเดิม ประชาธิปัตย์อะไรก็ว่าไป ส่วนนอกสภาก็กลายเป็นแดงกับเหลือง สู้กันไปสู้กันมาก็ยังแพ้พลังประชาชน
ต่อมาเข้าสู่ยุคการบริหารภายใต้รัฐบาลคุณสมัคร สุนทรเวช ผมก็อยู่ในพรรคพลังประชาชนที่มีคุณสมัครเป็นหัวหน้าพรรค เราก็ทำงานได้ดีนะ แต่ถูกขบวนการล้มอีก ณ เวลานั้นมันจึงไม่มีเวลาทำเรื่องเศรษฐกิจแล้ว กลายเป็นเล่นการเมืองมาตั้งแต่ปลายยุคสมัยที่ 2 ของไทยรักไทย เมื่อมาถึงยุคพรรคพลังประชาชน ยิ่งชัดเจนเลยว่าเล่นทางการเมืองอย่างเดียว ปี 2550 ผมจำได้เลยว่าตั้งแต่เริ่มเป็น ส.ส. ก็ไม่ได้เข้าสภาเลย ข้างนอกเหลืองกับแดงก็ชนกัน ในสภาก็ซัดกัน เวลาในการสร้างบ้านสร้างเมืองแทบจะไม่มี
สู้กันไปสู้กันมาก็หนักเข้าไปใหญ่ มีการลากกระบวนการยุติธรรมลงมาเป็นเครื่องมือจนปลดคุณสมัครได้ เท่านั้นไม่พอ ยังปลดคุณสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) ต่อ เป็นนายกฯ พเนจร 2 เดือน ไม่ได้เข้าทำเนียบ เพราะพวกนั้นไปปิดทำเนียบ เกิดเหตุการณ์ปิดล้อมสภา จนนายกฯ สมชาย ต้องปีนรั้วสภาหนี จากนั้นก็มีการล้มตายหน้าสภาจนเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด การทำงานเศรษฐกิจให้ประเทศจึงได้ทำแค่สมัย 1 และ 2 ของทักษิณ พรรคพลังประชาชนทำไม่ได้ พอวันที่ 4 ธันวาคม 2551 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถูกปลด พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ผมก็ถูกตัดสิทธิ์ นักการเมืองรุ่นบ้านเลขที่ 109 ถูกตัดสิทธิ์เยอะ ก็ไปสู้กันบนท้องถนนอีก เสื้อแดงก็เข้มข้นขึ้น ล่อกันจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ บ้านเมืองตอนนั้นก็เลยอยู่ในยุคที่เกิดสงครามประชาชน ชาวบ้านก็ซัดกัน แล้วในสภาก็สู้กันอีก
ต่อมาก็เข้าสู่ยุคเพื่อไทย ยุคท่านยงยุทธ วิชัยดิษฐ ท่าน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ แล้วก็มาได้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เข้ามาหลังจากเลือกตั้งเสร็จ ต่างฝ่ายต่างปรับกลยุทธ์ คุณยิ่งลักษณ์ก็รีบฟื้นฟูประเทศ รีบแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ผมไม่ได้เป็น ส.ส. แล้วล่ะ เพราะถูกตัดสิทธิ์ จึงไปสู้นอกสภา เป็นแกนนำเสื้อแดงและลุยทั่วประเทศ อีกทางหนึ่งฝ่ายค้านก็ได้เสื้อเหลืองหนุน เสื้อเหลืองก็แปลงร่างมาเป็น กปสส. โดยมีคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ
ในที่ประชุมสภา เราอยู่ข้างนอกก็เห็น ผมก็ยังถือว่าผมเป็นนักการเมืองนะ ผมยังรู้สึกว่าผมทำการเมืองแล้วทำเข้มข้นด้วย กระบวนการล้มล้างระบอบทักษิณที่แปลงร่างมาเป็นเพื่อไทยก็เข้มข้นขึ้น ในที่สุดบ้านเมืองเละไม่เป็นชิ้นดี ล้มยิ่งลักษณ์ได้ จนมาสู่คุณประยุทธ์ ประยุทธ์มายึดอำนาจแล้วรัฐบาล คสช. ก็ต่ออำนาจมาจนถึงทุกวันนี้ ผมที่ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี ก็ได้วกกลับมาในการเลือกตั้ง ก็ชนะ แต่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ผมก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ต่อ คุณประยุทธ์ก็อยู่อีก 5 ปีกว่า แล้วไม่มีเลือกตั้ง ก็เท่ากับแถมให้ผมอีก 5 ปี ผมถูกตัดสิทธิ์รวมเกือบ 11 ปี แล้วค่อยมาได้เลือกตั้งปี 2562 เลือกตั้งก็ชนะอีก จึงได้กลับเข้ามาเที่ยวนี้แหละ
กลับมาเที่ยวนี้ มันเป็นการกลับมาที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ไปสร้างกลไกในการต่อสู้บนวิถีประชาชน ยึดเพียวๆ ในสภาก็แพ้เรา วิถีประชาชนเพียวๆ ก็แพ้ คราวนี้จึงเอาให้เบ็ดเสร็จโดยใช้ตุลาการภิวัฒน์ เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางกับดักไว้หมด เราชนะเลือกตั้งรอบใหม่ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เหมือนกลไกรัฐธรรมนูญอันนี้ถูกถักทอไว้ เพื่อกันพวกเราไว้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ คุณประยุทธก็ได้เป็นนายกฯ ต่อไป
พอคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็มาสู้กันในระบบสภาอย่างที่เห็น เป็นฝ่ายค้านเราก็คงจะทำอะไรได้บ้าง แต่เอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญหลายมาตราก็วางแผนปิดกั้นไว้ ทำให้เราทำงานยาก เราทำงานภายใต้ข้อจำกัดเรื่ององค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม ระบอบประชาธิปไตยแบบ banana ก็มาซื้อมือ ส.ส. ไปพอกทางโน้นเสียจนเต็ม ไอ้เราจากฝ่ายค้านมีเยอะๆ วันนี้ก็น้อยลง แต่เราน้อยด้วยมือ เราพยายามปรับสาระ ปรับเนื้อหา ปรับความเข้มข้นในกระบวนการฝ่ายค้าน คิดว่าวันนี้เราเป็นฝ่ายค้านที่ทำงานได้พอสมควรเทียบกับฝ่ายค้านในอดีต แม้จะมีกลุ่มไทยสามัคคี ไทยไม่ทน ที่ออกมาพูดว่าเราทำงานตรวจสอบไม่ได้ แล้วกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการ
ที่คุณจตุพรไปหาคุณสุทินเมื่อวาน (9 มิถุนายน) ใช่ไหม
ถูก ในมุมหนึ่งก็เข้าใจเขาได้ เขามองแบบนั้นได้ แต่ถ้าเราวิเคราะห์ตัวเองให้ดี ผมเองในฐานะแกนนำฝ่ายค้านคนหนึ่ง พอใจในการทำงาน แล้วทำไมล้มรัฐบาลไม่ได้ ทำไมหยุดโครงการแย่ๆ ไม่ได้ ทำไม่หยุด พ.ร.บ.งบประมาณ ที่แย่ๆ ไม่ได้ ทำไมหยุด พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านไม่ได้ ทำไมหยุดไม่ได้ ก็เพราะว่ามือมันน้อยไง มือน้อยไม่พอ องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมยังไม่เอื้อให้เราทำงานได้ ประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านที่บอกเก่งๆ เขาเช็คบิลรัฐบาลได้ที่ไหน ที่ศาล ที่ล้มคุณสมัครก็ศาลรัฐธรรมนูญล้มนี่ เรื่องทำกับข้าว ล้มคุณสมชายก็ศาลรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์เก่งที่ไหน ประชาธิปัตย์ปลดได้ที่ไหน เรายื่นไปกี่เรื่องก็แห้ว ถ้าทุกคนมองด้วยใจเป็นธรรมว่าทำไมฝ่ายค้านล้มรัฐบาลไม่ได้ เราก็ส่งไปไม่รู้กี่เรื่อง พอส่งไม้ต่อ คนก็เอาไม้ไปทิ้ง แล้วพอมาดูที่มือ (ของ ส.ส.) มือเขาก็ซื้อไปหมด
เพราะฉะนั้น ผมว่าสิ่งที่เราทำได้เต็มที่ก็คือ ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่รัฐบาลทำผิด ให้ประชาชนได้เห็นเต็มที่ แล้วทำไมรัฐบาลไม่เกรงกลัวเรา เพราะเขารู้ว่าเราทำอะไรเขาไม่ได้ ถ้าองค์กรอิสระมั่นใจในตัวเขา เขาก็ไม่กลัวอะไร ดูง่ายๆ พูดในสภาไม่รู้กี่ประเด็น พอต้อนเข้ามุมแล้วเขาก็เฉย วันก่อนผมอภิปราย ตอบผมไม่ได้สักคำ แต่เขาก็อยู่ได้ แล้วไม่ปรับปรุงด้วย เพราะมั่นใจว่าเครือข่ายของเขาสนับสนุนเขาได้
วันนี้ผมจะบอกว่า การเมืองมาสู่จุดที่น่าเป็นห่วง เป็นห่วงว่าในที่สุดระบบในสภามันจะง่อย ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องแก้ แก้อย่างไร ต้องแก้กติกา เพราะฝ่ายโน้นเขาวางแผนเล่นงานเราด้วยการเขียนกติกา เราถึงดิ้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาก็ป้องกันรัฐธรรมนูญเขาเต็มที่ จะเปลี่ยนประเทศวันนี้ มันต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ บางคนก็บอกว่าไปแก้ทำไมรัฐธรรมนูญ แก้ที่นักการเมืองสิ แก้ที่สภามันก็ถูก แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญมันเป็นตัวกติกา มันเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมนักการเมืองนะ ไปเขียนไว้ให้ขายตัวได้มันก็ขาย เขียนไว้ให้กินกล้วย เปิดช่องให้กินกล้วย มันก็กินกัน เขียนให้ฝ่ายค้านทำงานไม่ได้ มันก็ทำอะไรไม่ได้ เขียนให้นักการเมืองทะเลาะกันเละ เขียนให้นักการเมืองอยู่ในวินัย เขียนให้เกิดรัฐบาลผสม เขียนไว้ให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียวก็เขียนได้ ซึ่งเคยมีแล้วเมื่อปี 2540 ที่เกิดรัฐบาลเพื่อไทยพรรคเดียว แต่วันนี้เขียนให้เป็นเบี้ยหัวแตก เป็นรัฐบาลผสม 19 พรรค ครั้งหน้าถ้าคุณอยากให้มีรัฐบาลพรรคเดียว คุณลองเขียนใหม่แบบปี 2540 สิ
เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นปัญหา เป็นเครื่องมือในการเล่นงานกัน เป็นพิมพ์เขียวที่จะทำให้ประเทศออกมาแบบไหนยังไง เป็นเบ้าหลอมที่ทำให้นักการเมืองมีหน้าตาอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร ฉะนั้นต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญแล้วจึงจะไปต่อได้ แต่วันนี้การเมืองมันย้อนกลับหรือมันเดินหน้า ทุกคนก็รู้
แบบนี้เพื่อไทยเองก็กลายเป็นลูกไล่ของเนติบริกรสิ
ถูก เพราะว่ารัฐธรรมนูญเขียนให้เนติบริกรทำงานได้สบาย ฝ่ายค้านกลายเป็นลูกไล่ ไล่อย่างที่ว่าเราต้องเดินตามเกมเขา ใครเขียนเกม ก็รัฐธรรมนูญมันเขียนไว้แล้ว ที่พูดมาทั้งหมดเหมือนเราจะไม่มีความหวัง แต่จริงๆ มี เราเชื่อว่าประชาชนรู้แล้ว หูตาสว่าง ถ้าให้เผด็จการพิสูจน์ตัวเองจนครบเทอม ใช้ความสามารถจนหมดแม็ค เผด็จการตอบโจทย์ประชาชนได้ไหม วันนี้มันรู้เช่นเห็นชาติ
ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่หนักหน่วงสำหรับรัฐบาล การสู้กับโควิดสัมพันธ์กับการสู้กับปัญหาเรื่องปากท้อง มองย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ แล้วต้องบริหารประเทศในภาวะวิกฤติ เทียบกับคุณประยุทธ์ตอนนี้แล้วเป็นอย่างไร
สองคนนี้มีความคิดต่างกันแบบอวกาศกับบาดาล อย่างแรกวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คุณทักษิณใช้วิธีการรดน้ำต้นไม้ใส่ราก เขาเชื่อว่าต้นไม้จะดูดน้ำจากรากมาเลี้ยงลำต้นไปที่ใบ ดอก ผล นั่นคือการทุ่มไปที่เศรษฐกิจฐานราก ให้ชาวบ้านอยู่ได้ด้วยนโยบายที่ทุกอย่างมุ่งสู่ชาวบ้าน แล้วเอาเงินไปหมุนในระดับชาวบ้าน เศรษฐกิจชาวบ้านก็จะเข้มแข็ง ชาวบ้านได้กองทุน นักธุรกิจรายย่อยได้ SME ไป ก่อตัวขึ้นมาจากฐานให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็ง
แต่คุณประยุทธ์มีความคิดตรงข้าม เขาคิดว่าต้องเริ่มจากยอด เขามีความเชื่อในทฤษฎีน้ำหยด ถ้าน้ำข้างบนเต็มมันจะหยดลงไปให้ข้างล่าง เพราะฉะนั้นเมื่อคุณประยุทธ์เข้ามา ก็คบกับนักธุรกิจใหญ่ 24 ตระกูลทันที ให้นักธุรกิจใหญ่ไปนั่งวางแผน เกิดชื่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งประชารัฐของเขาคือ รัฐ + นักธุรกิจ + ประชาชน เอานักธุรกิจใหญ่มาเป็นตัวกำหนด เขาเชื่อว่าถ้าธุรกิจใหญ่อยู่ได้ มันจะซึมลงไปในฐานราก ฉะนั้น 24 ตระกูลใหญ่จึงเข้าไปนั่งในทำเนียบ เป็นประชารัฐใหญ่ของประเทศร่วมมือกับรัฐ แล้วก็มีประชารัฐระดับจังหวัด ระดับหมู่บ้าน เป็นโครงสร้างของเขา นักธุรกิจเหล่านี้จึงกลายมาเป็นคนวางแผนพัฒนาประเทศ
แล้วเกิดอะไรขึ้น? ความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกภายในเวลาเพียง 5 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ เศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศเคยมีเงินอยู่ 2 แสนล้าน ทรัพย์สินภายใน 5 ปี เพิ่มขึ้นมาเป็น 9 แสนล้าน เกิดเป็น 24 ตระกูลขึ้นมา ใบเสร็จที่ชัดเจนจึงเป็นความเหลื่อมล้ำ ทรัพย์สินของเศรษฐีเมืองไทยพุ่งขึ้นกว่า 200 เท่า แต่เมื่อไปสำรวจชาวบ้าน หนี้ครัวเรือนท่วมหัว แสดงว่าทฤษฎีน้ำหยดของเขาเนี่ย น้ำหยดไปไม่ถึงราก มันค้างอยู่บนใบไม้หมด
ส่วนวิธีคิดในการเผชิญวิกฤติที่คุณทักษิณกับคุณประยุทธ์ต่างกัน ผมพูดในสภาไว้ว่านักรบผู้ยิ่งใหญ่จะแสดงความยิ่งใหญ่ให้เห็นในสถานการณ์ที่คับขัน เมื่อคุณทักษิณทราบว่าเกิดสึนามิ ในขณะขึ้นเวทีปราศรัยที่โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม คุณทักษิณโดดลงจากเวทีเลยเพื่อขึ้นเครื่องบินไปภูเก็ต เราก็จะเห็นภาพผู้นำถลกแขนเสื้อ พับขากางเกง เดินลุยเข้าไปถึงลูกถึงคน แกแทบจะไปชันสูตรศพเอง แล้วแกก็จัดการเรื่องทุนเพื่อฟื้นนักธุรกิจที่เซไปกับสึนามิ แกอัดเงินเข้าไปที่ตรงนั้นโดยตรง ในขณะที่คุณประยุทธ์อัดโดยการเอาเงินของประเทศไปให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับ SME วิธีคิดของธนาคารพาณิชย์คือ หากำไรอยู่แล้ว แล้วเขา play safe ที่สุด เพราะกลัวหนี้เสีย ตามเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ คนที่จะตายอยู่แล้วจึงไม่มีทางได้กู้ แต่วิธีที่ท่านทักษิณฟื้นฟูนักธุรกิจที่เจอสึนามิ คือให้เงินโดยตรง มันถึงฟื้นได้เร็ว
อีกหนึ่งปัญหาที่คุณทักษิณเจอคือ กัมพูชา มีการเผาสถานทูต คุณทักษิณต่อสายโดยตรงกับนายกฯ ฮุน เซน แล้วขึ้นเครื่องบินไปเจรจาเองว่า ถ้าไม่ปล่อยทูตก็จะขึ้นไปเอง แล้วส่งเครื่อง C-130 บินไปรับคนไทยที่นั่นมาเลย แต่คุณประยุทธ์แกใช้วิธีสั่งการตามระบบราชการ เพราะแกเป็นข้าราชการ ที่เห็นชัดที่สุดคือโควิด ดูวัคซีนสิ วิธีการหาวัคซีน ให้ไปยื่น อย. ตามขั้นตอน แต่ถ้าเป็นคุณทักษิณ ไม่มีทาง แกคงจะบินไปเอาเลย เขาไม่คิดตามกรอบราชการ บางเรื่องเขาก็บายพาส บางเรื่องเขาก็คิดนอกกรอบโดยใช้ระบบเอกชน ส่วนคุณประยุทธ์จะซื้อวัคซีนก็ติดกฎหมาย ไปมัดจำไม่ได้ ถ้าเป็นคุณทักษิณจะแก้กฎหมายทันที ออก พ.ร.ก. แก้กฎหมาย จากขั้นตอนยื่น อย. ใช้เวลา 30 วัน ก็เอาเข้า ครม.วันเดียว ทำไมต้องขึ้นอยู่กับ อย. ในเมื่อองค์การอนามัยโลกรับรองแล้ว คิดว่าอนามัยโลกรับรองแล้ว อย. กล้าไม่รับรองหรือ แต่คุณประยุทธ์บอกว่าติดข้อกฎหมาย มัดจำไม่ได้ ระเบียบวัสดุเอาเงินไปจ่ายเอกชนก่อนไม่ได้ ผมพูดในสภาว่า มันมีกฎหมายอะไรก็ต้องเอามาแก้ ภาวะวิกฤติแบบนี้คุณจะบริหารแบบภาวะปกติได้อย่างไร ต้องเป็นแบบพิเศษสิ อย. คุณก็ไปนอนสักช่วงหนึ่ง องค์การเภสัชกรรมไม่ต้องวิจัย องค์การอนามัยโลกเขาวิจัยแล้ว อยากเอาก็วิ่งไปเจรจากับเขาสิ คนหนึ่งยึดระบบราชการเป๊ะ อีกคนกล้าคิดนอกกรอบ ถึงลูกถึงคนในภาวะวิกฤติ นี่คือข้อแตกต่างที่ผมนำเสนอได้
สิ่งหนึ่งที่จะเห็นคือ เมื่อคุณทักษิณพูดถึงวัคซีนสปุตนิก เดี๋ยวสปุตนิกก็มา พูดถึงรัสเซีย รัสเซียก็มา พูดถึงการลัดคิวลัดขั้นตอน ต่อไปนี้เอกชนนำเข้าได้
ถ้าคุณทักษิณทำ เอกชนนำเอามาขายกันแล้วป่านนี้ แล้วเขาก็มีวิธีกด เช่น เครื่องบินก็มี low-cost เมื่อก่อนคนบ้านนอกไปขี่เครื่องบินได้ที่ไหนล่ะ ทุกวันนี้ชาวบ้านนั่งเครื่องบินได้ในราคา 700-800 บาท ผมเชื่อว่าถ้าคุณทักษิณอยู่ เขาจะลดราคาวัคซีนลงมาได้ เขาเป็นนักธุรกิจ เขามีเทคนิคการเจรจา แล้ววันนี้กว่าเอกชนจะเอาเข้ามาได้ก็คางเหลือง แต่ก็ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรม ต้องซื้อผ่านสำนักงานวัคซีน ต้องผ่านกรมควบคุมโรคติดต่อ ยังมาติดขั้นตอนราชการอีกเยอะ
แล้วมาปูพรมฉีดวัคซีนวันที่ 7 ปูไม่กี่วันก็รื้อพรมแล้ว ไม่มีฉีดทั่วประเทศเลย ที่สำคัญที่สุดบางครั้งคุณประยุทธ์อาจจะคิดได้แบบคุณทักษิณ แต่เขาทำไม่ได้ เอาแค่เรื่องวัคซีน คุณประยุทธ์ไปติดทุนใหญ่ เกรงใจนายทุน วัคซีนซิโนแวคเป็นของใครรู้ใช่ไหม ใครถือหุ้นรู้ใช่ไหม แล้วเจ้าของหุ้นพวกนี้ ก็เป็นหุ้นส่วนประชารัฐ 24 ตระกูลที่เข้าไปนั่งคุมยุทธศาสตร์ประเทศ อันนั้นที่เป็นทางการนะ
เขาไปแคร์อยู่กับทุนใหญ่ เวลาจะแก้ปัญหาเพื่อชาวบ้าน แน่นอน ชาวบ้านกับทุนใหญ่มันขัดกัน ไม่มีวันที่คุณจะไปเอาใจชาวนา แล้วโรงสีพอใจ ไม่มีวันที่คุณจะไปช่วยโรงสี แล้วชาวนาจะพอใจ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าคุณจะเลือกใคร ถ้าคุณเลือกโรงสี คุณก็ปล่อยชาวนาทิ้ง แต่คุณทักษิณเขาเลือกชาวนา แล้วปล่อยโรงสีทิ้ง โรงสีก็ไม่พอใจ อยู่ที่ว่าจะเลือกคนส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย แต่คุณประยุทธ์ไปเลือกคนส่วนน้อย ไทยชนะ บัตรคนจน คนละครึ่ง ก็เอาเงินไปเข้าห้างใหญ่ เพราะพวกนี้มานั่งเขียนด้วยกัน คนที่คิดเรื่องธงฟ้าและบัตรสวัสดิการคนจนก็คือเจ้าของห้าง เงินก็หมุนเข้าห้าง นายทุนใหญ่มีเงินอยู่แล้วก็ไปฝากจนล้นแบงก์ รู้ไหมทุกวันนี้แบงก์แบกเงินฝากแทบหลังแอ่น แบงก์เดี๋ยวนี้บอกประเทศไทยไม่มีตังค์ ไม่ใช่นะ มันมีเยอะ แต่มันอยู่แบงก์พาณิชย์ แบงก์วันนี้แบกเงินฝากแล้วต้องมาเสียค่าจ่ายดอกเบี้ยให้กับแบงก์ พวกที่จะไปกู้ติดหนี้ NPL เต็มเลย เงินมันก็ล้นอยู่แบงก์แล้วไม่หมุน เพราะคุณไปเลือกนายทุน เฉพาะปีที่แล้วกู้ 1 ล้านล้าน ยิงไปมันก็หาย หายทีมันก็เข้าห้าง ห้างก็ไปนอนอยู่แบงก์
แต่ทักษิณอัดฉีดลงไปในหมู่บ้าน เงินในหมู่บ้านมันก็หมุนสิ ชาวบ้านจนจะตาย ได้เงินแล้วก็ใช้ ใช้ก็หมุน มีวิจัยว่าทักษิณหมุน 7 รอบ แต่ครั้งนี้รอบครึ่ง แล้วมันจะฟื้นฟูได้อย่างไร จะเก็บภาษีได้อย่างไร ก็เก็บไม่ได้ ขาดเป้าอยู่ทุกปี แล้วกู้เพิ่ม หนี้มันต่างกัน เพราะคุณประยุทธ์วันนี้ไปเกรงใจทุนใหญ่
คุณทักษิณอยู่ตรงไหนของพรรคเพื่อไทยในตอนนี้
กองเชียร์คนหนึ่ง เป็นกองเชียร์ที่ในอดีตเคยเป็นผู้ก่อตั้ง แล้วบางครั้งก็อาจจะฝากคำแนะนำมาบ้าง
ระยะหลังมานี้คุณทักษิณออกมาพูดบ่อยๆ ทั้งคลับเฮ้าส์และแพลตฟอร์มอื่นๆ จนเป็นข่าวในสื่อเรื่อยๆ การออกมาพูดของคุณทักษิณมีนัยยะสำคัญอะไรไหม
ผมว่านัยยะสำคัญคือคุณทักษิณคงอยากเสริมสร้างฝ่ายประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง วันนี้มันถูกทำลาย บั่นทอน โดยกำแพงของรัฐธรรมนูญ คุณทักษิณอาจจะกลัวฝ่ายประชาธิปไตยท้อแท้ หมดกำลังใจ ผมคิดว่าแกคงมาเติมให้มีกำลังใจ มีพลัง มาเติมให้ใครไม่รู้ แต่เป้าหมายของแกอยู่ที่ประชาชน ให้ประชาชนมีพลัง มีความหวัง
กระแสของคนติดตามจำนวนมากมาจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งหากคนพูดเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ อย่างคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไร แต่สำหรับทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีระยะห่างค่อนข้างมาก ทำไมช่องว่างของคนพูดกับคนฟังดูเหมือนแทบไม่มีเลย หลายครั้งก็กลายเป็นคุยเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำไป
จริงๆ สมมุติฐานนี้ถูกต้อง ตลาดเพื่อไทยคือชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา หรือคนมีอายุ ส่วนเด็กวัยรุ่นก็ต้องก้าวไกล หัวหน้าก้าวไกลก็วัยรุ่น แต่คุณทักษิณวันนี้แก่ แต่เด็กสนใจฟัง เพราะเด็กเขาเจอปัญหา เขามองไม่เห็นอนาคต เขาเป็นเด็กก็จริง แต่อนาคตข้างหน้ามีหนี้มาให้เขา จะเรียนจบยังมองไม่เห็นที่ทำงาน หันไปมองผู้ปกครองก็จนลงทุกวัน เด็กก็คือคน เขาควานหาทางรอด เหมือนคนจะจมน้ำ เจอขอนผุๆ ก็ต้องคว้าไว้ก่อน ถ้าทักษิณเป็นขอนผุ เขาก็คว้า คิดว่าพึ่งคนแก่ได้ เขาก็เอาคนแก่ แต่ถ้าเด็กด้วยกัน พูดจาดี แต่ดูแล้วพึ่งไม่ได้ เขาก็ไม่เอา
ที่เขาชอบฟังคุณทักษิณ เพราะเวลาคุณทักษิณพูดมันมีความหวัง มองเห็นอนาคตเขาและอนาคตพ่อแม่ อย่าลืมว่าเด็กก็มีพ่อแม่ พ่อแม่เจ็บ ตาย ก็เป็นภาระของเด็ก มันเลยเป็นตัวบีบให้เด็กต้องดิ้นรนหาทาง แก่ขนาดไหนก็เอา ถ้ามันเป็นทางออกให้เขาได้
ผมเคยไปพูดอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกับเด็กมหาวิทยาลัยปี 1 ปี 2 ที่มหาสารคาม เรื่องบำนาญประชาชน คิดหรือว่าเด็กมันจะสนใจเรื่องบำนาญ สุทินมาพูดผิดที่แล้ว (หัวเราะ) บำนาญต้องไปพูดชมรมผู้สูงอายุ ต้องไปพูดกับคนวัยกลางคน เอาซิ ผมจะพูดเรื่องบำนาญประชาชน ปรากฏว่าเด็กมาเต็มเลย พูดแล้วเด็กไม่หนี ผมถามตรงๆ ว่าทำไมมาฟังบำนาญประชาชน เพราะคุณอยู่อีกตั้งนาน โลกของคุณวันนี้ คุณคิดเรื่องทำงาน ภาษี คู่ครอง แล้วไปคิดอะไรเรื่องบำนาญ เขาบอกว่ามาฟังเพื่อให้รู้ว่าพวกหนูจะช่วยพ่อแม่หนูได้อย่างไร ถ้ามีระบบบำนาญแบบที่คุณสุทินพูด พวกหนูก็จะโล่งนะ วันนี้พวกหนูยังไม่รู้เลยว่าจะเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้อย่างไร พวกหนูยังเอาตัวไม่รอดและรู้เลยว่าจะเลี้ยงพ่อเลี้ยงไม่ได้ แต่ถ้ามีบำนาญอย่างที่คุณสุทินพูด พวกหนูก็โล่ง พวกหนูก็เอาตัวรอดของหนู ส่วนพ่อแม่มีหลักประกันแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมเอาไปพูดในขณะที่ผมก็อายุ 60 แล้ว ก็แก่ แต่เด็กมาฟังตรึมเลย เพราะเด็กมาหาทางออกของชีวิต ไม่แปลกหรอกที่เด็กจะชอบลุงโทนี่ (หัวเราะ)
นึกว่าเปลี่ยนชื่อเป็น Tony Woodsome แล้วก็เลยมีแฟนคลับเยอะ
(หัวเราะ) ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมคิดว่าเป็นอย่างที่ผมคิดนี่แหละ เด็กเขาหาความหวัง หาอนาคต
พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลมีกลุ่มฐานเสียงทางการเมืองใกล้เคียงกัน การทำงานในฐานะฝ่ายค้านด้วยกันเป็นอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกัน หนึ่ง-เราอยู่ในแนวทางประชาธิปไตย สอง-มีเป้าหมายล้มเผด็จการ สาม-ทำเพื่อคนยากจน ก็เลยทำให้การทำงานอยู่ร่วมกันได้ แต่อาจจะมีเห็นต่างอยู่บ้างเหมือนกัน เขาเป็นคนหนุ่ม เขาอาจจะเรียนรู้สังคมมาอีกแบบหนึ่ง สิ่งที่เขาขาดคือ วิถีชาวบ้าน คติชาวบ้าน วิธีคิดแบบชาวบ้าน และความใจร้อนที่บางเรื่องเขาก็อยากได้ทันที บางครั้งที่ขัดแย้งกันเพราะเขาจะต้องเอาให้ได้ทันที ต้องเปลี่ยนให้ได้ทันที แต่เราคนแก่ผ่านโลกมามาก อย่างเช่นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เราก็มองว่ายังไม่ได้ ทำไปก็ตกเปล่า แต่หลักๆ คือล้มอำนาจ ส.ว. และเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเหมือนกัน แต่ความเร็วและวิธีการ เราบอกว่ามันต้องเดินอ้อมหน่อย การเข้าใจชาวบ้าน วิถีชาวบ้าน บางเรื่องเขาต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น อยากเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ เราคิดว่ามันยังไม่ใช่ ยังไม่ถึงเวลา
ดูเหมือนว่าความแตกต่างอยู่ที่การมองกรอบเวลาใช่หรือไม่
เวลาและรายละเอียดหลายเรื่อง และกลยุทธ์ในสภา เช่น การโอนกำลังทหาร เขาอาจจะมองว่าเป็นการโอนอำนาจไปไว้ที่จุดหนึ่งจุดเดียว ส่วนเรามองว่าเป็นการเอาอำนาจออกจากมือพวกนั้น กองทัพซึ่งสามารถยึดอำนาจได้ง่ายๆ เพราะสั่งไปที่ราบ 11 และ พล. 1 รอ. แล้วทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเอาออกมาไว้อีกที่หนึ่งก็ทำได้ยากขึ้น เป้าหมายเดียวกันคือไม่ให้มีการยึดอำนาจ แต่ก็มีการแย้งว่าเอาไปอีกที่หนึ่งก็ยึดได้ ผมว่ายังมีรายละเอียดที่ต่างกัน แต่ยังทำงานด้วยกันได้
เพื่อนเก่าๆ ที่ออกไปตั้งพรรคใหม่ อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ที่ออกไปสร้างพรรคไทยสร้างไทย สมมุติว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าให้คุณสุทินประเมินจากสภาพตอนนี้ คิดว่านี่เป็นพันธมิตรทางการเมืองหรือเป็นคู่แข่ง
ผมคิดว่าเป็นพันธมิตร เพราะอะไรรู้ไหมครับ? ผมคิดว่าการที่อยู่ด้วยกันมานาน สร้างด้วยกันมานาน มันรู้แนวคิดกัน อย่างไรเสียเขาคงไม่กล้าข้ามไปซีกเผด็จการแน่นอน เราเชื่อว่าเขายังอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่รายละเอียดอาจและวิธีการทำงานอาจจะต่างกันบ้าง พอถึงวันหนึ่งที่เราจะต้องรวมพลังฝ่ายประชาธิปไตย เราเชื่อว่าเขาจะมาอยู่กับเรา แล้วจะยิ่งเป็นการดีที่ว่าวันนี้มีหัวขบวนประชาธิปไตยที่หากวันหนึ่งถูกทำลาย แต่ถ้ามีเพื่อนอีกพรรคหนึ่งไปตั้งสำรองไว้ ก็ยังมีคนอยู่สานต่อแทน ผมว่าการกระจายความเข้มแข็ง และกระจายความเสี่ยงออกไปดีกว่ารวมความเสี่ยงไว้ที่เดียว ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันได้ แต่ถ้ายังมีเพื่อนเราออกไปอยู่เซฟโซน อย่างน้อยที่สุดพี่น้องของเราก็จะยังมีที่หวังที่พึ่ง